Tag: กุศล

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

April 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,767 views 0

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสม สร้างบาปเสียกุศล

การสะสมสิ่งที่ไร้สาระไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตนั้น เป็นเพราะกิเลสพาให้หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวง ให้จมอยู่กับสุขลวงและเหลือทิ้งไว้แต่ทุกข์แท้ๆ

เราสามารถสะสมอะไรได้หลายอย่างทั้งที่เห็นเป็นรูปและไม่มีรูป ที่เห็นเป็นรูปก็เช่น ของสะสมต่างๆ แสตมป์ ตุ๊กตา ซีดี ต้นไม้ เสื้อผ้า บ้าน รถ เงิน ฯลฯ และที่ไม่มีรูปเช่น การยอมรับ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี ความสุข เป็นต้น

เมื่อเราหลงไปสะสมอะไรก็ตาม นั่นหมายถึงเรากำลังสะสมกิเลสไปทีละน้อย การสะสมกิเลสหมายถึงการทำบาป สรุปแล้วผู้ที่หลงมัวเมาสะสมสิ่งใดๆที่ไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตคือผู้ที่สร้างบาปให้แก่ตนเอง

เพราะยิ่งสะสม ก็ยิ่งอยากได้ เมื่ออยากได้ก็จะเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็ต้องไปหามาเสพ เอามาสะสมให้สมใจ เมื่อได้เสพก็สุขอยู่ชั่วครู่แล้วก็จางหายไป แล้วก็จะอยากได้สิ่งใหม่อีก เป็นทาสกิเลสแบบนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น จึงกลายเป็นผู้ที่สร้างบาป เวร ภัย ให้กับตน เพราะเอาแต่สิ่งที่ไม่มีสาระมาเป็นแก่นสารสาระในชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ชีวิตนั้นไร้สาระ

แม้ว่าสังคมจะให้การยอมรับผู้ที่สะสม ผู้ที่มีมาก แต่นั่นก็เป็นแค่เสียงสะท้อนจากสังคมอุดมกิเลส ผู้ที่หลงมัวเมามักจะชักชวนกันให้จมอยู่ในห้วงแห่งความหลงเสพหลงสุข พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครพรากความสุขไปง่ายๆ นั่นหมายถึงการไม่ยอมให้ใครได้หลุดออกจากนรกของการสะสมด้วย

สังคมที่พาให้สะสมกิเลสนั้นไม่ใช่สังคมของบัณฑิต แต่เป็นสังคมของคนพาล แม้ว่าผู้สะสมจะมีหน้าตาในสังคม มีฐานะดี มีการศึกษาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดีแท้ เพราะถ้าเขาเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลสแล้วล่ะก็… สามารถและคุณสมบัติที่มีก็จะกลายเป็นความสามารถที่จะสร้างนรกได้มากพอๆกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนธรรมดาสะสมต้นไม้ ก็คงจะไม่มีใครให้ความสนใจต้นไม้นั้นมาก แต่ถ้ามีดาราหรือผู้ใหญ่ในสังคมสะสมต้นไม้แล้วล่ะก็ ผู้คนก็จะให้ความสนใจกับต้นไม้นั้นมากขึ้น สิ่งนี้เองคือการสร้างบาป สร้างนรกที่มากกว่า ในผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคม

เมื่อเราให้เวลา ให้ทุน ให้ชีวิตไปกับการสะสม ไปสร้างบาป เวร ภัย ให้กับตัวเอง เราก็จะต้องเสียโอกาสในการทำกุศล แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สาระแท้ของชีวิต เอาไปทำประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่น เอาเงินที่ใช้สะสมเหล่านั้นมาบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ใช้ชีวิตไปเพื่อตนและผู้อื่น ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อสนองกิเลสในตน หรือมีชีวิตเป็นเพียงแค่ทาสกิเลส

เมื่อเสียโอกาสสร้างกุศล และใช้เวลากับการสร้างบาปที่เกิดอกุศลในเวลาเดียวกัน ก็หมายถึงการสะสมสิ่งชั่วและละเว้นการทำดี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราสร้างกรรมชั่วเพิ่มมากขึ้นและใช้กรรมดีเก่าที่ทำไว้เพื่อดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขด้วยการบำเรอกิเลส

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น

แต่การสะสมที่เป็นบุญและได้กุศลนั้นมีอยู่ นั่นคือการสะสมอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ทางนามธรรม ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนหนึ่งสามารถเกิดได้จาก “การไม่สะสม” การได้พบสัตบุรุษ การได้ฟังสัจธรรม การปฏิบัติสัมมาอริยมรรค และทรัพย์หรือคุณสมบัติที่จะติดตัวไปตลอดกาลนานทั้งหมดนั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ธนสูตร ข้อ ๖)

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โอวาทปาติโมกข์ ๓

March 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,121 views 0

โอวาทปาติโมกข์ ๓

๑. ไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. ทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส

– – – – – – – – – – – – – – – –
๑). การไม่ทำบาปนั้นหมายถึงการไม่ส่งเสริมและไม่สนองตามกิเลสใดๆเลย เพราะ “บาป” นั้นเองคือการสะสมกิเลส ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส

๒). การทำกุศลนั้นหมายถึงการทำความดี ทำสิ่งดีที่ ตรงข้ามกับการทำอกุศลคือการทำสิ่งที่ชั่ว แน่นอนว่าเมื่อเราไม่ทำบาป ไม่ทำตามกิเลสแล้ว เรายังต้องทำสิ่งที่ดีอีกด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ทำชั่วแล้วไม่ทำสิ่งดีอะไรเลย

๓). การทำจิตใจให้ผ่องใส ให้ขาวรอบ ไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีกิเลสปน ซึ่งหมายถึงการชำระกิเลสซึ่งเป็นที่ทำให้เกิคความเศร้าหมองและเป็นสิ่งไม่จำเป็นในชีวิตให้หมดไปจากใจ

….เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งชีวิตทำได้แค่ 3 อย่างนี้ก็เป็นยอดมนุษย์แล้ว

นำบุญมาฝาก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,202 views 0

นำบุญมาฝาก

นำบุญมาฝาก

…ความหวังดี ที่พาให้หลงทางและห่างไปจากความเป็นพุทธ

ในปัจจุบันนี้คำว่า “บุญ” กับคำว่า “กุศล” นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก หรือกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว มิหนำซ้ำยังมีการทำบุญทำกุศลให้กันได้อีก เรียกว่าเตลิดกันไปไกล

หลักธรรมสั้นๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และในเรื่องของกรรมคือ “เรามีกรรมเป็นของของตน” เพียงแค่ธรรมสองข้อนี้ก็ยืนยันได้แล้วว่าไม่ว่าบุญหรือกุศลก็ไม่สามารถ “ทำให้” แก่กันและกันได้ เพราะศาสนาพุทธบอกว่า อยากได้ต้องทำเอง เราทำกรรมอะไรไว้เราจึงจะได้รับผลของกรรมนั้นเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้

คำว่ากุศลนั้นยังพออนุโลมให้ได้บ้าง เพราะกุศลคือความดีงาม สิ่งดีทั้งหลาย เมื่อเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์ จึงเกิดเป็นความดีหรือที่เรียกว่าได้กุศล คือได้กรรมดีเก็บไว้ในธนาคารกรรมของตัวเอง ทีนี้หากเราไปเล่าเรื่องในการทำดีของเราให้คนอื่นฟังแล้วเขามีมุทิตาจิต อนุโมทนากับสิ่งดีที่เราทำนั้นก็เรียกว่าเราได้ทำกุศลอีกต่อคือการพูดสิ่งที่ดี และเขาก็ได้สร้างกุศลด้วย กุศลนั้นไม่ได้เกิดจากเราให้เขา แต่เกิดเพราะเขาสร้างกุศลขึ้นมาเอง เขาสร้างกรรมดีขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของกุศลเท่านั้น

มากล่าวกันถึง “บุญ” บุญนั้นคือการชำระกิเลส การสละออก การนำสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออก ดังนั้นกิจกรรมใดที่พาลดกิเลสจะเป็นบุญทั้งหมด ดังที่ยกตัวอย่างว่าเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์แต่ถ้าเราให้เพื่อหวังว่าจะได้ลาภ ได้โชคดี ได้สิ่งดี ได้สวรรค์ ได้นิพพาน แบบนี้ไม่เป็นบุญเพราะให้เพื่อหวังผล กิเลสไม่ลด นอกจากกิเลสจะไม่ลดเผลอๆยังเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจในเรื่องบุญที่ผิดเพี้ยนไปมากในปัจจุบัน

แต่ถ้าเราบริจาคทรัพย์เพื่อลดความขี้งก ขี้เหนียว ลดความหวงแหนในสิ่งของ บริจาคเพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นลดลง สละของที่ตนรักให้ผู้อื่น แบบนี้เป็นบุญและการอนุโมทนาที่เป็นบุญนั้น จะยกตัวอย่างในกรณีที่เราไม่ชอบใจคนคนหนึ่ง ทีนี้พอเขาไปทำความดีแล้วเราก็ยังไม่ชอบอยู่ดีเพราะเรามีอาการผูกโกรธ การอนุโมทนา หรือสามารถทำจิตมุทิตาเห็นดีเห็นงามกับเขาที่เราไม่ชอบใจได้ คือการที่เราลดการผูกโกรธ ลดอัตตาตัวเองลงมา เมื่อสละกิเลสก็ถือว่าเป็นบุญ

ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเดียวกันสามารถเกิดบุญหรือไม่เกิดบุญก็ได้ ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับทิฏฐิหรือความเห็นความเข้าใจ คนที่มิจฉาทิฏฐิก็จะทำทานหวังได้บุญ ส่วนคนที่สัมมาทิฏฐิก็จะสละสิ่งของ สละแรงงาน ลดกิเลสเพื่อให้เกิดบุญ ซึ่งในส่วนของกุศลนั้นจะเกิดอยู่แล้วดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น

…ทีนี้พอเข้าใจได้ว่าบุญหรือกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง ดังนั้นการจะทำบุญให้ใครนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำกุศลเพื่อให้เขาได้รับกรรมดีไปเป็นของเขาก็ทำไมได้เช่นกัน ถ้าจะทำได้ก็เพียงทำความดีกับเขาโดยตรง เขาจึงจะได้รับผลดีนั้น

แต่การที่เราคิดจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลโดยใช้การอ้างอิงใครสักคนเช่น ถือศีลในวันพระให้พ่อแม่ พอเพียงเพื่อในหลวง ตรงนี้มันจะมีความซ้อนอยู่นิดหนึ่งคือเราใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำดี เพราะมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เราจึงคิดทำดี ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่คิดจะทำดี บุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็จะได้รับผลแห่งกุศลไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเห็นได้ทางรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเรามีความพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เมื่อไม่มีผลประโยชน์เราก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอคติลำเอียง ทำให้สามารถคัดคนชั่วออกได้มากขึ้น พอคนชั่วน้อยก็มีอำนาจทุจริตน้อยลงประเทศก็สงบสุขขึ้น ปัญหาน้อยลง พัฒนามากขึ้น นี้เองคือกุศลร่วมที่เกิดขึ้นจากการใช้บุคคลเป็นแรงบันดาลใจ คนทำก็ได้กุศล คนที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ผลแห่งกุศลที่ตนเองได้ทำไว้

ทั้งนี้ผลแห่งกุศลที่บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจได้รับนั้นก็มาจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เพราะเขาทำดีเป็นตัวอย่าง เช่นพ่อแม่ทำดีให้เราเห็น เข้าวัดฟังธรรม ให้ทานแก่ผู้อื่นเป็นประจำ นี่คือกุศลที่เขาทำ เมื่อเราได้เห็นจึงเกิดศรัทธาและซึมซับความดีเหล่านั้นมา การทำดีของเราก็กลายเป็นดอกผลของความดีจากเขาเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นวิธีสร้างกุศลให้กว้างไกลออกดอกออกผลงอกงามก็คือการทำความดีให้มาก วิธีทำความดีนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องรอโอกาสสำคัญหรือไปตามสถานที่สำคัญเสมอไป ผู้มีปัญญาย่อมไม่ประมาทโอกาสในการทำความดี

และการทำความดีที่ให้อานิสงส์หรือให้ประโยชน์สูงสุดก็คือการล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสก็คือการทำบุญ เมื่อชำระล้างกิเลสด้วยบุญจนหมดสิ้นแล้วมันก็จะไม่มีเชื้อชั่วอีกต่อไป เมื่อความชั่วไม่มีในจิตใจ เราก็จะไม่ทำชั่วอีก ทำแต่ความดี การชำระกิเลสจึงเป็นวิธีที่ปิดประตูนรกและเปิดสวรรค์ในเวลาเดียวกันและผลที่เหนือกว่านั้นก็ยังมีอยู่เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดอย่างเป็นสุข

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,330 views 0

โสดอย่างเป็นสุข

โสดอย่างเป็นสุข

…เมื่อความโสดที่เคยเป็นเหมือนคำสาป กลับกลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดในโลก

ปลายทางสุดท้ายของความรักที่เป็นชานชาลาเป้าหมายของการเดินทางของทุกดวงวิญญาณ ไม่ว่าเราจะหลงเดินทางตามกิเลสมานานแค่ไหน แต่ในท้ายที่สุดเราก็จะมาลงตรงสถานีนี้ กับสถานีปลายทางที่ชื่อว่า “โสดอย่างเป็นสุข

เรามักจะเข้าใจกันไปว่าการมีคู่รักเป็นความสุข เมื่อเห็นผู้คนครองคู่กันแล้วมีความสุขเราก็หลงอยากมีสุขอย่างเขาบ้าง จึงเริ่มจะพยายามผลักไสความโสดออกจากชีวิต คนมากมายสามารถไล่ความโสดออกไปได้ ก็จะไปเจอกับชีวิตแบบหนึ่ง ส่วนคนอีกมากมายที่ยังคงครอบครองความโสดทั้งที่ไม่อยากจะครอบครองก็ต้องเจอกับชีวิตอีกแบบหนึ่ง

คนมีคู่ก็ทุกข์แบบคนมีคู่ คนโสดก็ทุกข์แบบคนโสด ไม่ว่าจะมีคู่หรือโสดก็ยังต้องทนทุกข์อยู่กับความอยากได้อยากมีอยากเป็นอยู่นั่นเอง

การมีความอยากแต่ไม่ได้เสพในสิ่งที่อยากเสพนั้นทรมานเหมือนตกนรกทั้งเป็น ความอยากจะทำให้เราเหงา ให้เราแสวงหา ให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ใครสักคนมาสนใจเรา มาหลงรักเรา มาครองคู่กับเรา นี่คือสิ่งที่ทำให้คนโสดบางพวกกลายเป็นคนมีคู่ และคนโสดบางพวกต้องจมอยู่กับทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมดังใจ

ถ้าเรามีโอกาสที่จะขอพรเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับตัวได้จริงๆ ส่วนมากก็คงจะขอคู่รักที่เหมาะสมกับใจของตัวเอง และคงจะมีน้อยคนที่จะเลือกว่าขอเป็นโสดตลอดทุกชาติ

คนที่ขอให้ตัวเองโสดมีด้วยหรือ? เขารังเกียจความรักอย่างนั้นหรือ? เป็นคนเย็นชาอย่างนั้นเชียวหรือ? ไม่มีใครรักเลยประชดหรือเปล่า? ….อาจจะเป็นเรื่องที่ดูขัดกับความเป็นจริงในสังคมสักหน่อย แต่ในบทความนี้เราจะมาขยายสภาพของ “โสดอย่างเป็นสุข” ความโสดในมิติที่แตกต่างออกไปจากความโสดที่โหยหาและเดียวดาย เป็นความโสดที่อบอุ่นชุ่มเย็น พิเศษ ล้ำลึก และทรงคุณค่ากันใน 9 หัวข้อดังต่อไปนี้

1). ไม่รักไม่ชัง

มากันที่ข้อแรกของความโสดอย่างเป็นสุข คือการไม่รักและไม่ชัง เป็นสภาพที่อยู่ตรงกลางระหว่างการดูดกับการผลัก เป็นตัวยืนยันการปฏิบัติอยู่บนทางสายกลางซึ่งไม่โต่งไปในทางทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือกาม อีกด้านหนึ่งคืออัตตา

ในมุมของกามก็คือการมีความรักแบบหลงรักหรือมีคนรักเข้าไปรักเข้าไปเสพสมในอารมณ์ต่างๆ ส่วนในมุมของอัตตาคือความขยาดในความรักทั้งๆที่ยังอยากมีความรัก การจะโสดอย่างเป็นสุขเราต้องพ้นจากสองสภาวะดังกล่าว

1.1)รัก

รัก ในแบบทั่วไปนั้นคือการพาตนเองไปสู่สิ่งที่หลง สิ่งที่ชอบ ไปคลุกคลี ไปเสพ ไปมัวเมาอยู่กับสิ่งนั้น โดยมากคำว่ารักนั้นมักจะถูกความหลงเข้าครอบงำ แม้ตนเองจะไม่ได้จะมีคู่รัก แต่ก็มักจะยังยินดีกับความรักในแบบคนคู่ ดูละครก็ชอบใจที่พระเอกนางเอกรักกัน เห็นคนครองคู่แต่งงานกันก็หลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย

1.2) ไม่รัก

ทีนี้เวลาจะออกมันก็ต้องไม่รัก คือไม่ไปหลงเสพอีกแล้ว สมมุติว่าเราชอบคนคนหนึ่ง เราก็จะพยายามลดการดูดดึงของกิเลสที่ทำให้เราเข้าไปเสพในความเป็นเขา ไม่ว่าจะความงาม น้ำเสียง ท่าทาง เหตุการณ์ เรื่องราว คำมั่นสัญญาต่างๆ ฯลฯ ซึ่งโดยปกติแล้วกิเลสจะพาให้เราหลงไปเสพสิ่งเหล่านี้ เป็นความสุขลวงที่ล่อเราไว้ให้หลงเสพอย่างมัวเมาไม่มีวันได้โงหัวขึ้นมาเห็นแสงเดือนแสงตะวัน

จนกระทั่งเราปฏิบัติจนถึงผลจนเกิดความเจริญขึ้นในจิตใจจริงๆ คือ “ความไม่รัก” เกิดขึ้นจริงแล้ว สภาพการดูดดึง ความชอบ ความหลงต่างๆจะถูกทำลายไปจนหมดสิ้น จะไม่มีความยินดีในการครองคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรู้สึกชิงชังการมีคู่

1.3) ชัง

เมื่อความรักไม่เกิดขึ้นดังใจหมายหรือผิดหวังจากความรัก เราก็มักจะเข็ดขยาดกับความรักจนสร้างความรังเกียจความรัก สร้างเหตุผลและข้อแม้มากมายเพื่อไม่ให้ตัวเองเข้าใกล้รัก ปิดประตูขังตัวเองไว้กับความอยากมีคู่ที่ฝังใจอยู่ลึกๆ

ความชังโดยทั่วไปไม่สามารถทำให้ตัวเองโสดอย่างเป็นสุขได้ เพราะนอกจะทำให้ทุกข์เมื่อต้องเห็นคนรักกันแล้ว ยังต้องทุกข์กว่าเมื่อพลาดกลับไปมีความรักอีกครั้ง

1.4) ไม่ชัง

ความไม่ชังนั้นเกิดจากการพากเพียรปฏิบัติจนล้างอัตตาหรือความยึดดีถือดีได้ คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะไม่ชังความรัก ไม่ชังคนที่มีรัก ไม่ชังแม้จะเห็นคนพลอดรักหรือไปงานแต่งงานของใคร ไม่มีอาการกดดันตัวเอง ไม่ผลักไสสิ่งใด ยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง เพราะเห็นว่าเป็นธรรมชาติของกิเลส คนมีกิเลสก็เป็นแบบนี้ อยากมีรักแบบนี้ แล้วสุดท้ายก็ต้องทุกข์แบบนั้น

ความไม่ชังคือจุดจบของความไม่รักไม่ชัง เราจำเป็นต้องทำลายความรักแบบหลงจนสิ้นเกลี้ยงก่อนแล้วค่อยมาทำลายความชัง ไม่เช่นนั้นมันก็จะพันกันไปพันกันมา แก้ไม่ได้สักอย่าง

แต่ถึงแม้ว่าเราไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด ไม่รักไม่ชังแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถไปมีคู่ได้ด้วยความเฉยๆ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าจะต้องเจอกรรมอะไรบ้าง คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะขยาดในกรรมของการมีคู่ เพราะรู้ว่าการที่ต้องมาใช้ผลกรรมที่กระทำต่อกันนั้นหนักหนาสาหัสกว่ามาก ยิ่งคนที่โสดอย่างเป็นสุขนี่จะไม่เหลือความสุขในการมีคู่แล้ว เพราะมองทะลุสุขลวงเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว เหลือแต่ทุกข์จริงๆ ดังนั้นเมื่อเราเดินบนทางสายกลาง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่เราต้องกลับไปมีคู่หรือรังเกียจคนมีคู่เลย

2). ไม่มีเงื่อนไขในการเป็นโสด

คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะเป็นผู้ที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆในการโสดเลย ไม่เป็นเหมือนอย่างชาวบ้านที่ตั้งข้อแม้ว่าถ้าเขาหรือเธอไม่สามารถสนองกิเลสหรือดีดังที่ใจฉันหวังได้ ฉันก็จะเป็นโสดต่อไป

มีคนจำนวนมากที่ยังโสดแต่ก็มักจะมีข้อแม้ว่า ถ้าหาคนดีกว่าไม่ได้ คนที่พาเจริญกว่าไม่ได้ ก็โสดเสียดีกว่า ลักษณะเหล่านี้คือผู้ที่ยังมีความหวัง ยังตั้งข้อแม้ มีเงื่อนไขในการโสดอยู่ กล่าวคือถ้ามีคนสามารถดีดังใจหวัง ปรนเปรอกิเลสได้สมใจก็จะยอมทิ้งความโสดซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนโสดทั่วไปที่ตั้งกำแพงกิเลสไว้สูงตามกิเลสของตนเอง

ซึ่งความโสดที่มีเงื่อนไขเหล่านั้นมักจะเป็นเงื่อนไขจากฝ่ายกิเลส เช่น เขาต้องรวย เขาต้องมีหน้าที่การงานดี เขาต้องมาขอเราด้วยเงินหลักล้านขึ้นไป ฯลฯ โสดฝันไกลแบบนี้ก็ยังคงต้องทนทุกข์กับความโลภของตัวเองต่อไป ในส่วนเงื่อนไขของฝ่ายศีลธรรมก็มีเช่นกัน เช่นเราถือศีล ๕ คู่ของเราต้องไม่ต่ำกว่าศีล ๕ หรือเรากินมังสวิรัติคู่ของเราก็ต้องมีบุญบารมีที่จะสามารถกินมังสวิรัติเหมือนเราด้วย อันนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งสุดท้ายก็จะได้คนประมาณศีลที่ตั้งไว้ แต่สุดท้ายก็ยังเป็นเงื่อนไขในการมีคู่อยู่ดี

คนที่โสดอย่างเป็นสุขจะไม่หาเรื่องใส่ตัว จะไม่สร้างเงื่อนไขใดๆให้เสียความโสด ไม่มีข้อแม้ ไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรอง เพราะความโสดนั้นเป็นที่สุดแล้ว

3). ไม่เหงา

ความเหงานี่แหละคือกิเลสที่ผลักดันให้เราไปมีคู่ ถึงจะไม่มีคู่เราก็มักจะไปหาเพื่อนหรือกลุ่มสังคม สุดท้ายก็จะวนมาเรื่องหาคู่อยู่ดี เพราะความเหงานั้นไม่ได้หายไปด้วยการมีใครสักคน แต่จะหายไปจากการทำลายกิเลสเรื่องความเหงาเท่านั้น

ความเหงาคือความพร่องในจิตใจ อยากหาใครมาเติมเต็มตัวตนของเรา เป็นเพราะเราไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่พึ่งตัวเอง ไม่ศรัทธาในตัวเอง เราจึงสร้างช่องว่างลวงๆ เพื่อให้ใครเข้ามาอยู่ในช่องว่างนั้น แท้จริงเราก็เอาเขามาเพื่อเสพให้สมใจเรา พอเขาทำไม่ได้ดังใจเรา เขาจากเราไป ช่องนั้นก็ว่าง เราก็เหงาอีก

เราไม่มีวันเติมเต็มความเหงาด้วยสิ่งอื่นนอกจากตัวเราเอง การจะออกจากความเหงาจำเป็นต้องกลับมายึดที่ตัวเองก่อน เอาตัวเองเป็นสรณะก่อน ต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเองก่อน เห็นคุณค่าในตัวเองเสียก่อนจึงจะออกจากความเหงาได้ แล้วเมื่อมีอัตตามากๆจึงค่อยล้างอัตตาที่มีทีหลัง เพราะถ้าเราเหยาะแหยะจะไม่สามารถทำลายความพร่องในใจนี้ได้เลย ถมไปก็หาย ถมไปก็ยังว่างเปล่าเหมือนเดิม

4). ไม่เรียกร้องสิ่งใด

ลักษณะที่เห็นได้ชัดของคนที่โสดอย่างเป็นสุข และยินดีจะโสด คือไม่มีการเรียกร้องสิ่งใด ไม่ส่งสัญญาณใดๆ ที่เปิดช่องให้คนอื่นเข้ามาในชีวิตเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ใดๆต่อไป ไม่เหมือนกับคนโสดทั่วไปที่ยังมีอารมณ์แอบเหงา อยากมีใครสักคน อยากให้คนอื่นเห็นคุณค่า

โดยเฉพาะเรื่องคุณค่าในตนเอง คนที่โสดอย่างเป็นสุขคือคนที่ถมช่องว่างที่เคยเว้นไว้ให้คนอื่นเข้ามาด้วยคุณค่าในตนเอง ดังนั้นจึงไม่คิดจะเรียกร้องให้ใครมาเห็นคุณค่าใดๆ เพราะรู้ว่าตนเองนั้นมีคุณค่าเช่นไร คนที่รู้ค่าในตนอย่างแท้จริงจะไม่ต้องการเรียกร้องให้ใครมายืนยันคุณค่าหรือเห็นคุณค่าใดๆ

คนที่ยังเรียกร้องความสนใจ เรียกร้องบางสิ่งอยู่คือคนที่ต้องการสิ่งเหล่านั้นมาเติมเต็มใจที่พร่อง เพราะขาดจึงต้องเติม เขาเหล่านั้นจึงต้องแสวงหาสิ่งภายนอกมาเติมเต็มตัวเองตลอดเวลาอย่างไม่จบไม่สิ้น

5). เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

เมื่อเราพากเพียรปฏิบัติจนสามารถล้างกิเลสในเรื่องความอยากมีคู่ได้หมดแล้ว จะพบว่าความโสดนี่เองคือสมบัติแท้ที่ตามหามานาน มันอยู่คู่กับเรามานานแล้วแต่เราไม่เคยเห็นค่าของมัน เพราะกิเลสมันบังเอาไว้ บังให้เราไม่เห็นของดีใกล้ตัว บังให้เราเห็นดอกบัวเป็นกงจักร ให้เราไปหาภาระ ไปหาทุกข์มาใส่ตัว โดยเอาสุขลวงมาล่อให้สร้างวิบากกรรมชั่วให้ตัวเอง

ความโสด นั้นเป็นสิ่งที่จะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม เป็นสมบัติที่ไม่มีสิ่งใดควรค่าที่จะแลก ไม่ว่าจะมีเงินทองกองไว้มากมายขนาดไหน ไม่ว่าจะมีคนมาคอยดูแลเอาใจ ไม่ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะงดงามเพียงใด และไม่ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเป็นคู่รัก คนรัก คนที่เคยรัก คนที่หลงรักมากมายสักเพียงไหน ก็ไม่สามารถที่จะแลกความโสดนี้ไปได้

เราไม่สามารถวัดคุณค่าของความโสดได้จากการเปรียบเทียบกับสิ่งใดทั้งสิ้น การได้โสดอย่างเป็นสุขนั้นมีค่ามากมายมหาศาล เป็นบรมสุข ถ้าเอาตามภาษาให้มันถึงใจก็ต้องบอกว่า “โคตรพ่อโคตรแม่สุข” ที่มันสุขเพราะไม่ต้องไปแบกทุกข์ให้มันลำบากตัวเองอีกต่อไป

ในทางเดียวกันคนที่โสดอย่างเป็นสุขก็จะหวงความโสด ไม่ยอมให้ใครพรากความโสดนี้ไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีคลุมถุงชน หรืออื่นๆก็จะพยายามใช้ปัญญาเพื่อหลีกหนีออกจากสภาพนั้นเพราะรู้ดีในใจว่าสุขที่มากกว่าโสดไม่มีอีกแล้ว

6). เป็นไปเพื่อกุศลเพียงอย่างเดียว

ความโสดอย่างเป็นสุขนั้นจะเกิดขึ้นจากจิตอันเป็นกุศลฝ่ายเดียว คือเกิดความดีอย่างเดียว เป็นไปในทิศทางบวกทางเดียว จะไม่หลงไปในทางอกุศล ไม่ใช่โสดเพื่อเสพอะไรบางอย่าง แต่เป็นโสดเพื่อสละความอยากในการเสพ

หากความโสดนั้นเป็นไปเพื่ออกุศล ยังมีความชั่วปนอยู่ ยังทำผิดศีลบางอย่างอยู่ ก็อาจจะยังเป็นความโสดที่ขาดๆเกินๆ ยังพร่องอยู่นั่นเอง ต่างจากความโสดที่เป็นไปเพื่อกุศล โสดอย่างเป็นสุข ความโสดนั้นเต็มไม่มีพร่องไม่มีขาด จึงไม่ต้องทำความชั่วหรืออกุศลใดๆ ไม่ให้ตัวเองได้เสพสุขตามกิเลสจนเกิดอกุศล

แม้จะมีความเต็มแต่ก็ยังทำความดีต่อ ทำกุศลต่อ สิ่งที่ดีเหล่านั้นก็จะเริ่มล้นออกจากตัว เป็นคลื่นของความดี เป็นกระแสแห่งกุศลที่กระจายออกไป คนที่โสดอย่างเป็นสุขนี้เองคือคนที่จะทำให้สังคมและคนรอบข้างดีขึ้นเรื่อยๆตามบุญบารมีที่เขาพอจะทำได้

7). ความรักแท้

ความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวคนที่ยินดีจะโสดนั้นคือเป็นคนที่ไม่มีความรัก ซึ่งก็อาจจะมีอยู่จริงๆในคนโสดประเภทที่ชังความรัก แต่คนที่โสดอย่างเป็นสุข โสดจากการทำลายกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้นเพราะนอกจากความรักนั้นจะไม่ถูกทำลายแล้ว รักที่มีนั้นจะเพิ่มความบริสุทธิ์ขึ้นไปอีก

เพราะทำลายความหลงสุขในความรักได้จนหมดสิ้น จึงสามารถแยกรักและหลงออกได้ทั้งหมดอย่างชัดเจน เมื่อสกัดความหลงซึ่งเป็นเชื้อร้ายแห่งทุกข์ออกก็จะเหลือความรักแท้ เป็นความบริสุทธิ์แท้ๆ ที่ไม่มีกิเลสปน

เป็นความรักที่มีประสิทธิภาพกว่าใครๆ เหนือกว่ารักของพ่อแม่ เหนือกว่ารักญาติ รักชุมชม รักสังคม รักประเทศ รักโลก และแน่นอนว่าเหนือกว่ารักตัวเองแบบเห็นแก่ตัวเพราะจะมีแต่ความเสียสละ เข้าอกเข้าใจ เห็นจริงรู้จริงทั้งในรูปธรรมและนามธรรมของความรัก

ความรักที่ไม่มีกิเลสนี้ จะรักคนอื่นไปพร้อมๆกับรักตัวเอง เพราะรักตัวเองก็เลยรักคนอื่น เพราะรักคนอื่นก็เลยรักตนเอง จึงมีความรักแท้ให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ

8.) เมตตาที่กว้างไกลกว่า

เมื่อมีความรักที่ไม่มีกิเลสปนแม้แต่น้อย หรือที่เรียกกันว่า “ความรักแท้” ก็สามารถที่จะเมตตาได้มากกว่าเดิม เพราะไม่เอาอะไรมาเสพเพื่อตัวเองแล้ว ไม่ทำกิจกรรมใดๆเพราะอยากจะได้รัก หรือได้รับความสนใจ ดังนั้นจึงกลายเป็นชีวิตที่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นมากขึ้น

เพราะรักที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั้น จึงสามารถแผ่ความรัก ความเมตตา ความเห็นใจ ความเข้าใจ ออกไปได้กว้างไกลกว่าเดิม

ความรักจะเหลือแต่อารมณ์ของการให้ ไม่ได้ยึดบุคคล เรา เขา สิ่งของหรือเหตุการณ์ใดๆเป็นที่ตั้ง จึงทำให้ไม่มีเงื่อนไขใดๆในการเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความเป็นพรหมอยู่ในตัวอย่างแท้จริง

เมื่อเมตตาได้อย่างไม่มีข้อจำกัดก็จะสามารถสร้างกุศล สร้างความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่นได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ความสุขที่ได้รับนั้นแตกต่างจากสุขจากการเสพ แต่เป็นสุขจากความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตใจ

เมตตาที่กว้างไกลนั้น เป็นไปเพื่อกุศล ลดการสร้างอกุศล คือทำแต่ความดี ความชั่วและบาปจะไม่ทำเลย เลี่ยงได้ก็เลี่ยงเพราะทำไปก็ไม่เกิดกุศล ไม่เกิดผลดี ถ้าเป็นเมตตาที่ดูเหมือนจะดีแต่ให้ผลร้ายก็จะไม่ทำ เพราะรู้ชัดเจนว่าผลเหล่านั้นจะนำมาซึ่งทุกข์

นั่นหมายถึงเมตตาที่มีนั้นประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ความเมตตาแบบศรัทธาที่ให้แบบไม่รู้คุณรู้โทษ ไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ไม่รู้เหตุไม่รู้ผล ไม่รู้นามรูป ซึ่งเมตตาแบบนั้นยังไม่ใช่เมตตาที่ถูกทางพุทธ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

9). รักข้ามภพข้ามชาติ

และความรักที่เกิดจากการโสดอย่างเป็นสุขนี้เองคือรักที่ยั่งยืน ไม่ผันแปร เพราะไม่ได้มีกิเลสมาเป็นแรงผลักดันอีกต่อไป มีแต่ความเมตตาล้วนๆมาเป็นตัวผลัก ดังนั้นความรักของคนโสดจึงยั่งยืนที่สุดในโลก ยั่งยืนขนาดข้ามภพข้ามชาติ

ยินดีที่จะเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องการรับอะไรมาตอบแทนเพื่อตนเองหวังดีกับผู้อื่นอยู่เสมอ และความหวังดีนั้นไม่มีขอบเขตของเวลามาเป็นตัวกำหนดจะชาตินี้หรือชาติไหนๆก็ยังหวังดีและยินดีที่จะให้อยู่เหมือนเดิม เกิดมากี่ชาติๆก็ยังให้อยู่เหมือนเดิม แม้ว่าจะมีโอกาสให้ได้เพียงเล็กน้อยก็จะอดทน รอคอยที่จะให้สิ่งดีอยู่เสมอ ไม่คิดโกรธหรือโทษใครที่เขาไม่ยินดีที่จะรับสิ่งดีนั้น เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ จึงให้อภัยกับทุกคนที่หลงผิดได้เสมอ

ความรักที่ยิ่งใหญ่จนข้ามภพข้ามชาตินี้ ไม่สามารถเกิดได้หากเรายังเห็นแก่ตัว ยังหาผู้คน สิ่งของ หรือเหตุการณ์ใดมาเสพเพื่อให้ตัวเองได้สุขจากความรักอยู่ หรือการมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองจนไม่กล้าที่จะมอบความรักความเมตตาให้กับใคร สภาวะเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ไม่ไหลไปกับโลก ทวนกระแสโลก จะเกิดขึ้นได้จากการเพียรอย่างถูกทางพ้นทุกข์เท่านั้น

สภาวธรรม หรือสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมจนเกิดสภาพ “โสดอย่างเป็นสุข” นี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดเอา คาดคะเนเอา เดาเอาได้ การจะเข้าถึงหรือเข้าใจสภาวะเหล่านี้ต้องเพียรปฏิบัติด้วยศีล สมาธิ ปัญญา จนสำเร็จมรรคผลในเรื่องของความรักจนเกิดความกระจ่างแจ้งในตนว่าโสดอย่างเป็นสุขนั้นสุขอย่างไร ดังที่ได้แจงมาทั้งหมด 9 ข้อนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

3.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)