Tag: กิเลส
เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร
เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร
ชีวิตที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง นิสัย ความเชื่อ ความเข้าใจ ความคาดหวัง แม้แต่ฝันในวัยเด็ก หรือสิ่งที่เราเคยยึดมั่นว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง กลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราเคยสังเกตกันบ้างไหมว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนแปลง แล้วอะไรทำให้เราเปลี่ยน…
ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดได้จากแรงกระตุ้นทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือครอบครัว มิตรสหาย คนรัก สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ส่วนภายในก็คือ ความตั้งใจของตัวเอง
เปลี่ยนเพราะกิเลส….
การเปลี่ยนแปลงในบางครั้งเกิดจากแรงผลักดันของกิเลส ความอยากได้อยากมีอยากเป็น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดันนั้น ผลย่อมออกมาไม่สวยงามอย่างแน่นอน
เช่น บางคนเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดี ด้วยการออกกำลังกาย แต่งตัวสวย กินอาหารดี กินผักผลไม้ เปลี่ยนบุคลิก โดยมีความตั้งใจของตัวเองอันเกิดจากความอยากจะพ้นสภาพทุกข์ใจของความไม่สวย ไม่งาม ไม่แข็งแรง ดูไม่ดี ไม่มั่นใจ ฯลฯ บวกกับแรงของกิเลสที่อยากสวยอยากงาม ดูดี ในเวลาเดียวกัน รวมถึงมีแรงกระตุ้นจากภายนอก เช่น สังคมบอกว่าผอมจึงจะสวย แต่งหน้าจึงสวย ต้องมีรูปร่างแบบนี้จึงจะดูดี เพื่อนทักว่าโทรม ครอบครัวทักว่าดูแลตัวเองหน่อย แฟนชอบแซวว่าอ้วน… ดูเผินๆอาจจะเป็นเพราะแรงกระตุ้นจากภายในและภายนอก แต่ความจริงมันคือแรงกระตุ้นของกิเลส
เพราะมีกิเลสจึงมีทุกข์ เก็บเอาคำพูดของคนอื่นมาเป็นทุกข์ของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนเพื่อหนีจากทุกข์แบบหนึ่งไปเจอทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น
ทุกข์ใหม่ที่จะเจอหลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบมีกิเลสนี้จะมีอะไรบ้าง เช่น เราต้องเสียเวลาแต่งหน้า ต้องลำบากออกกำลังกายเกินความจำเป็น ต้องเสียเงินซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอางใหม่ โดยไม่รู้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อกิเลสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีสาระ ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะการหนีจากทุกข์หนึ่งไปเจออีกทุกข์หนึ่งก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้
กิเลสมักจะหลอกให้เราหลงทางว่าเราเปลี่ยนไปในทางที่ดี เราจึงควรตรวจสอบให้ดีว่าความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นจริงหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสหรือลดกิเลส แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ลองปรึกษาเพื่อนหรือถามผู้รู้เพิ่มเติมก็ได้
เปลี่ยนเพราะเข้าใจในกิเลส….
๑…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของตัวเอง
เมื่อคนเราเจอทุกข์เข้ามากๆ และทนกับทุกข์นั้นๆไม่ไหว ก็จะเป็นไปดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เมื่อถึงจุดที่เราได้เข้าใจทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ วิธีดับทุกข์ จนกระทั่งเข้าใจวิถีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เช่น วิธีคิด วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมไปจากเดิม เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่าสิ่งเดิมที่เคยคิด เคยมี เคยเป็นนั้นเป็นทุกข์ และก็จะไม่ยินดีที่จะไปสร้างทุกข์ใหม่อีกด้วย เป็นการดับทุกข์ที่เหตุ คือการดับกิเลสของตัวเองแทนที่จะไปหาสุขลวงมาแก้ทุกข์ที่มี หรือจะเรียกได้ว่าไม่ไปหาทุกข์ใหม่มากลบทุกข์เก่า
การออกจากทุกข์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคิดแล้วจะหลุดพ้นจากทุกข์นั้นได้ทันทีเสมอไป ต้องปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นจนกระทั่งเกิดผล คือเข้าใจเหตุปัจจัยในการเกิดทุกข์ จนกระทั่งถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้ เมื่อเราไม่ได้ยึดสิ่งเดิมไว้ เราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ด้วยความเต็มใจ พอใจ และเป็นสุขจากการเปลี่ยนแปลงนั้น
๒…เปลี่ยนตัวเองจากการเห็นทุกข์ของผู้อื่น
สำหรับบางคนก็ไม่จำเป็นต้องเจอทุกข์เอง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เช่นเห็นคนเมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็สามารถใช้ทุกข์ของคนอื่นมาพิจารณา จนตัวเองเลิกกินเหล้าเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ไม่กินเหล้าได้ โดยไม่ต้องรอให้เจออุบัติเหตุแบบนั้น
เห็นคนชิงดีชิงเด่นในที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าพวกเขาทุกข์และชีวิตวุ่นวาย เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์ ก็สามารถออกจากความอยากเด่น อยากดัง อย่างแย่งชิงตำแหน่งได้โดยไม่ต้องลงสนามไปเล่นกับเขาให้ตัวเองทุกข์
คนที่เห็นความโหดร้ายของอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองว่าถ้าเรายังกินเขาอยู่ ต่อไปชาติใดชาติหนึ่งเราก็ต้องโดนแบบนั้นบ้าง ก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ ออกจากกิเลสนั้นๆได้โดยไม่ต้อง เสียเวลาทุกข์เพราะวิบากกรรมที่ไม่อยากจะทำ
บางคนเห็นคนอื่นเป็นมะเร็งจากสาเหตุที่กินเนื้อสัตว์มาก โดยเฉพาะการปิ้งย่าง เมื่อรับรู้และเห็นถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินผักได้
หรือคนที่ติดบุหรี่ แต่ไปเห็นอาการป่วยของคนที่ติดบุหรี่เหมือนกัน เห็นความทุกข์ ทรมาน อันเกิดจากบุหรี่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตัดบุหรี่ออกจากชีวิตได้โดยไม่ต้องรอให้ตัวเองป่วย
หรือกระทั่งคนที่เคยอยากมีคู่ พอเห็นคนอื่นเขาทุกข์จากเรื่องคู่ เรื่องครอบครัว ก็ไม่อยากมีเอาเฉยๆ ยอมเปลี่ยนแปลงมาเป็นคนโสดอย่างเต็มใจ
ลักษณะนี้ก็เรียกว่าเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม แต่ดีตรงที่ไม่ต้องเจอทุกข์หนักกับตัวเอง คือผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมา เป็นสิ่งที่เคยบำเพ็ญเพียรกับเรื่องเหล่านั้นมานาน แค่มีเหตุปัจจัยมากระตุ้นให้ระลึกได้ ก็เพียงพอที่จะสามารถเห็นและเข้าใจความเป็นจริงได้โดยไม่ต้องทนทุกข์ เพียงแค่เห็นคนอื่นทุกข์ก็สามารถเข้าใจและละเหตุแห่งทุกข์ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดตัวเองได้
และผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่านั้นคือไม่มีอาการติดสิ่งเหล่านั้นมาตั้งแต่เกิดเลย ไม่ว่าใครจะพาทำ เติม เสริมแต่ง ยั่วเย้า จะมอมเมาอย่างไรก็ไม่ไปติดเหมือนคนอื่นเขา ถึงจะติดก็ติดแค่เปลือก ใช้เวลาสักพักก็หลุดจากกิเลสเหล่านั้นได้ไม่ยาก ต่างจากคนทั่วไปที่เวลามีกิเลสแล้วก็ยิ่งจะยึดมั่นถือมั่น ยิ่งพอกพูนสะสมกิเลสเข้าไปเรื่อยๆ
๓…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของผู้อื่น
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือความคิดที่อยากทำสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นเป็นตัวผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในให้เปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นประโยชน์ภายนอกอีกที
เช่น เราอยากจะช่วยเหลือคนอื่น เราอยากจะเป็นคนดีให้พ่อแม่ภูมิใจ เราอยากเก่งขึ้นเพื่อผู้อื่น เราอยากจะเสียสละเพื่อให้สังคมดีขึ้น เพราะเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ครอบครัว คนรัก คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นตัวกระตุ้นจิตสำนึกของเราให้อยากจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองเพื่อผู้อื่น
และเมื่อเรามีปัญญาที่เห็นปัญหา เห็นทุกข์ของผู้อื่น มีเมตตามากเพียงพอที่จะเห็นใจผู้อื่น มีความตั้งใจมากพอที่จะกรุณา เราจะยอมเสียสละ ยอมลดอัตตาตัวตนของตัวเอง ยอมลดกิเลสที่ตัวเองมีเพื่อคนอื่น เพื่อที่จะขยายขอบเขตที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศลได้มากกว่าเดิม เหมือนการลอกคราบเก่าทิ้งไป ให้ตัวเองเติบโตขึ้นเพื่อไปช่วยคนอื่นได้มากขึ้น
เช่น เด็กที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองมาเป็นเด็กขยัน ทั้งเรียนหนังสือและดูแลพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เจ็บป่วยทำงานไม่ได้ มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในสังคมไทย
คนทั่วไปที่ยอมสละเงิน ไปช่วยคนอื่นที่ตกยากลำบาก ยอมเปลี่ยนตัวเองจากคนตระหนี่ถี่เหนียว หรือใช้เงินเหล่านั้นเพื่อสนองกิเลสตัวเอง มาเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สละของตนให้กับผู้อื่น เพราะเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเหตุ
ผู้ทำงานจิตอาสา เสียสละเวลา ทุน สุขภาพ ฯลฯ ของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือสังคม ก็เกิดจากคนธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจปัญหาของสังคมจนเปลี่ยนแปลง ปลุกตัวเองขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม
ผู้นำทางการเมืองหลายคนก็เคยเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตน ดังคำที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”
พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เสียสละประโยชน์คือความสงบของตัวเอง เปลี่ยนตัวเองออกจากฐานที่มั่น มาช่วยเหลือคนและโลก โดยการเผยแพร่ธรรม บางท่านมีเวลาอิสระ ส่วนตัว พักผ่อน น้อยกว่าคนที่ทำงานออฟฟิศทั่วไปเสียอีก หรือแม้แต่ท่านที่อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับศาสนา ให้กับสังคมและโลกก็มีให้เห็นเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่าในขณะที่คนเหล่านี้เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อให้โลกได้ประโยชน์แล้ว ตัวของเขาเองก็ได้รับคุณค่า ได้บุญกุศลไปในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงและสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกอีกด้วย
…สรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุใดนั้นก็คงไม่ได้สำคัญเท่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีปลายทางไปทางไหน ไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ ไปสู่สิ่งที่ดีงามหรือจะตกต่ำลงไปอีก การรู้ถึงผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557
มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม
มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม
หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? จะเรียกว่าการถือศีลได้อย่างไร? แค่เมตตาสัตว์ละเว้นสัตว์ก็สามารถกินมังสวิรัติได้แล้วไม่ใช่หรือ?
ความเมตตา…
การกินมังสวิรัติไม่ได้เป็นเรื่องของความเมตตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการปฏิบัติเพื่อ ลด ละ เลิก กิเลสได้อีกด้วย และในกระบวนการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์หรือล้างกิเลสนั้นจำเป็นต้องนำความเมตตามาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้นการมุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสไม่ใช่ว่าไม่เมตตา ไม่รักสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่ในความเป็นจริงคือยิ่งต้องเมตตาให้มาก เมตตาทั้งสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ เมตตากับกับทุกชีวิตกันเลยทีเดียว
ศีลมังสวิรัติ…
แล้วมังสวิรัติจะเรียกว่าศีลได้อย่างไร มีหลายคนที่ไม่ได้คิดว่าการกินมังสวิรัติคือศีล มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ศีลคือการละเว้นจากสิ่งที่เป็นภัย การตั้งศีลกินมังสวิรัติ คือ เว้นจากภัยที่จะเกิดจากการกินเนื้อเช่น เรื่องสุขภาพ ,วิบากกรรมที่ไปมีส่วนร่วมในการฆ่า ,ความทุกข์จากการที่ไม่ได้เสพเนื้อสัตว์สมใจ ดังนั้นการตั้งศีลกินมังสวิรัติ ก็เพื่อการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยเหล่านี้นั่นเอง
ถ้าจะบอกว่าไม่มีในศีลที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เรามาลองดูศีลข้อ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี คือเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้ว่าเราจะไม่ได้ฆ่าสัตว์โดยตรง แต่การกินเนื้อสัตว์ของเราก็ยังมีส่วนไปตัดชีวิต คือทำให้ชีวิตสัตว์อื่นตกร่วงอยู่นั่นเอง ถ้าเราไม่เสพเนื้อสัตว์มันก็ยังไม่ตาย การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเป็นการผิดศีลข้อ ๑ ในขั้นละเอียดขึ้นมามากกว่าการยึดถือปฏิบัติตามความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นการปฏิบัติอธิศีล คือการขยับฐานของการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยให้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ปลาเป็นในตู้ที่ร้านอาหาร ทางร้านแนะนำเมนูปลา ปลาสด ปลาอร่อย เราก็สั่งปลามากิน เราไม่ได้ฆ่านะ แต่เราไปสั่งให้เขาไปฆ่ามาให้เรา ผิดเต็มประตูอยู่แล้ว ถ้าไม่สั่งปลามากิน ปลามันก็ยังมีชีวิตได้ต่อไปอีกตามกรรมของมัน ถ้ายกตัวอย่างไปถึงปลาที่ตายมาแล้ว ชำแหละมาแล้ว นั่นเขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น เขาก็ฆ่ามาตามอุปสงค์ อุปทาน มีคนซื้อเขาก็ฆ่ามาขายสิ ถ้าไม่มีคนซื้อ เขาก็ไม่รู้จะฆ่าให้เมื่อยทำไม
มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม…
คงเป็นประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุด คือมังสวิรัติมันเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? ภาพของการปฏิบัติธรรมที่มีในใจของหลายๆคนคือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่จะเข้าใจ
อย่างที่ยกตัวอย่างในเรื่องของศีลมังสวิรัติ ศีลนี้แหละจะเป็นตัวทำให้เห็นกิเลส เป็นตัวทำให้เห็นผีในตัวเรา ลองตั้งศีลนี้ขึ้นมาดูจะพบว่ากิเลสจะดิ้น ความอยากกินจะชัดเจน กิเลสจะให้เหตุผลมากมายในการทำลายการถือศีลนี้ เช่น…ไปกินเนื้อสัตว์สิไม่มีใครรู้หรอก,เกิดมาครั้งเดียวกินให้เต็มที่,เขาเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา,เรากินสัตว์เขาก็จะได้บุญนะ,เรากินเขาก็ยินดีนะ,ร่างกายเราต้องการสารอาหารนะ ….นี่ก็เป็นตัวอย่างคำสั่งของกิเลส เมื่อเห็นกิเลสดังนี้แล้ว เราก็จะต้องพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอย่างตั้งมั่น ไม่ลดละ เป็นการปฏิบัติไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ทั้งหมดนี้เพื่อที่เราจะละกิเลสในสามภพ คือ ๑. กามภพ คือสภาวะที่ยังเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อยู่ , ๒. รูปภพ คือสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังมีความอยากที่ชัดเจนแต่อดกลั้นไว้ได้ และ ๓. อรูปภพ คือสภาวะที่ไม่มีความอยากให้เห็นเป็นรูปร่างแล้วแต่จะเหลือแค่อาการที่เบาบาง อารมณ์ขุ่นมัว ไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ฯลฯ ถ้าสามารถละกิเลสจนข้ามสามภพนี้ได้ก็คือว่าประสบความสำเร็จ
ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะเห็นได้ว่าการกินมังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน เพราะการลด ละ เลิกการมีกิเลสนั้นๆ ทำให้เข้าใกล้ความสุขแท้ ดังในบทสวดมนต์ที่เราสวดมนต์กันอยู่บ่อยๆ “อะระหะโต : เป็นผู้ไกลจากกิเลส” ถ้าเราไกลจากกิเลสขึ้นอีกนิด ก็เข้าใกล้ความสุขแท้ขึ้นอีกหน่อย ถ้าไม่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมแล้วจะเรียกว่าอะไร…
– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2557
ความงามกับความรัก
ความงามกับความรัก
ในสังคมปัจจุบัน ความงามกับความรักปนเข้าไปด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกันจนแทบจะแยกไม่เอาว่า เรารักเพราะความงามหรือรักเพราะอะไรกันแน่…
ในบทความนี้ได้แรงบันดาลใจจากเพลง… หน้าจริง : ALARM9(http://www.youtube.com/watch?v=eqPSUAWuaZc ) เรื่องราวในเพลงเป็นเด็กผู้หญิงอ้วนๆคนหนึ่งที่พยายามแต่งเติมเพราะเข้าใจว่าอีกฝ่ายจะชอบในสิ่งนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงผู้ชายที่เธอบอกชอบนั้น ไม่ได้ชอบเธอที่รูปร่างหรือการแต่งตัว แต่ผูกพันกันด้วยคุณค่ามากกว่าความงามแค่รูปกาย
คงปฏิเสธได้ยากว่าความงามนั้นเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนหมู่มากให้เข้ามาหา ไม่ว่าจะหญิงสวยชายหล่อก็เรียกว่ารูปงามทั้งนั้น คนทั้งหลายก็เลยพากันแต่งเสริมเติมสวย เพิ่มความงามขึ้นไป ไม่เว้นแม้แต่ผู้ชายในสมัยนี้ก็ไปศัลยกรรมเพื่อความงามเหมือนกัน ไม่ต้องห่วงเลยสำหรับผู้หญิง การเสริมความงามกลายจนถึงการศัลยกรรมก็เป็นเรื่องที่ปกติ ใครไม่ทำสิแปลก…
ก็คงจะดีถ้าความงามนั้นดึงเอาคนที่ดีเข้ามาใกล้ตัว แต่ในความจริงแล้ว ความงามนั้นก็ดึงเอาเฉพาะคนที่ต้องการสิ่งสวยงาม คนที่เสพรูปกาย หลงติดในรูป กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งนั่นหมายความว่าคนที่เขาเข้ามา เขาจะเข้ามาเอาแต่ความงามเท่านั้น
ในความจริงแล้วความงามไม่ได้มีผลอะไรต่อความรักเลย จะมีผลก็เฉพาะต่อความหลง จะทำให้หลงรัก ให้ลำเอียงเพราะรักใคร่ ความยึดมั่นถือมั่น การเสพสมใจในรูปที่สวยงาม เรียกได้ว่ายิ่งงามเท่าไหร่ก็จะยิ่งดึงคนที่มากด้วยกิเลสเข้ามาใกล้ตัวมากเท่านั้น แล้วมีคนที่มีกิเลสมากๆอยู่ใกล้ตัวจะดีไหมล่ะ? ความรักที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหามันดีไหมล่ะ? แรกแบบหลงในรูปมันดีไหมล่ะ?
จริงๆความรักที่เรามีคืออะไรกันแน่ เรารักในอะไรกันแน่ ในความสวยหล่อของเขา ในความรวยของเขา ในบุคลิกของเขา หรือในคุณค่าของเขา ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เสื่อมลงไป สลายไปได้ตามกาลเวลา ความงามนั้นไม่มีทางยั่งยืนตลอดกาล ความรวยก็ไม่แน่นอน นิสัยก็ยังเปลี่ยนได้ แต่คุณค่าจะไม่มีวันเปลี่ยนไปมีแต่จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ
หากเรามีความรักในคุณค่าแท้ของอีกฝ่าย เข้าใจว่าจริงๆคนหนึ่งคนตรงหน้าเรามีความหมายเพื่ออะไร เข้าใจคุณค่าที่มากกว่าการเสพสมกิเลสร่วมกันแล้ว ก็จะเข้าใจถึงประโยชน์แท้จริงๆของสิ่งที่เขามี จะเห็นคุณค่าจริงๆที่เขามี ไม่ใช่เห็นตามที่กิเลสของตัวเราเองที่อยากให้เขาเป็นอยากให้เขามีดั่งใจเรา หรือเห็นไปตามที่กิเลสของเขาปั้นแต่งภาพลวงหลอกให้เราเห็นว่าเขาเป็นเช่นนั้นเช่นนี้
เมื่อเข้าใจคุณค่าแท้ของความรัก จะสามารถเข้าใจและหลุดพ้นสภาพที่หลงรักจากรูป กลิ่น เสียง สัมผัส ความรวย ความมีชื่อเสียง ฐานะ หน้าที่การงาน บุคลิก นิสัย อุดมการณ์ ภาพลักษณ์ต่างๆ จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายเลย จะเหลือแต่คุณค่าแท้ของคนหนึ่งคนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา เป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สอดร้อยไปในความสัมพันธ์จนเกิดเป็นคุณค่าร่วม แม้จะเรียกว่าความรักเหมือนกันกับคนทั่วไป แต่ก็เป็นความรักที่ไม่ได้ปนเปื้อนด้วยกิเลส ไม่ได้ปนเปื้อนด้วยเสน่หา ไม่ได้ปนเปื้อนด้วย อบายมุข กามอารมณ์ โลกธรรม อัตตา ใดๆเลย เป็นความรักที่หลุดพ้นจากรักเพราะความงามไปไกล เป็นความรักแท้ที่ประเมินค่าไม่ได้ หาซื้อไม่ได้ ต้องสร้างเอาเอง
เมื่อเห็นดังนี้แล้ว ก็อย่ามัวหลงไปเติมความงามเพื่อหาความรักอยู่เลย รักแท้ไม่มีอยู่ในกองกิเลสหรอกนะ เอาเวลามาเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองจะดีกว่า ทำตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณค่าต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อโลกนี้ แล้วคุณจะถูกห้อมล้อมด้วยคนที่มาเกื้อกูลกันด้วยคุณค่า ถ้าวันนั้นมาถึงแล้ว ก็คงจะรู้ได้เองว่าคุณค่าของความรักแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร
– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2557
กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร
กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร?
หลายคนคงจะสงสัยว่ากินมื้อเดียวนั้นดีอย่างไร? กินแล้วเป็นอย่างไร? จะมีแรงไหม? จะเป็นโรคกระเพาะไหม? จะขาดสารอาหารจนป่วยไหม?
ในโลกปัจจุบัน การกินอาหารมื้อเดียวนั้นดูจะขัดกับความรู้ที่เราได้เรียนหรือใช้ชีวิตมา ซึ่งส่วนใหญ่เราก็กินสามมื้อกัน แล้วเราก็เชื่อว่ามันดี อันนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อะไรก็ว่ากันไป แต่เมื่อ 2600 กว่าปีก่อนพระพุทธเจ้าท่านได้บอกไว้ว่า กินมื้อเดียวดีที่สุดในโลก (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก : จุลศีล ข้อ 9 และประโยชน์ของการกินมื้อเดียว ๕ )
รู้ขนาดนี้แล้วมันก็ต้องลองทำตามกันหน่อย!! เพราะมีข้อมูลจากพระไตรปิฎกว่ากินมื้อเดียวจะทำให้ เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง อยู่อย่างผาสุก
เมื่อลองบากบั่น พากเพียร พยายามจนสามารถเข้าใจถึงผลของศีลข้อนี้ได้ ก็พบว่ามันดีอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าจริงๆ ผลที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ น้ำหนักลด มีเวลาเพิ่ม ประหยัด สบายตัว ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือกิเลสก้อนใหญ่ก็ลดลงไปด้วย
สุดท้ายก็จะรู้สึกไม่ลำบากใจที่จะไม่ได้กินหลายมื้อ ยินดีเต็มใจที่จะได้กินมื้อเดียวอย่างมีความสุข ถึงจะมีคนจัดมาให้ก็จะยินดีที่จะไม่กิน ความอยากกินหลายมื้อจะหายไป มีความตั้งมั่น มั่นคงว่ามื้อเดียวนี่แหละดีที่สุดในโลก กินตลอดชีวิตกันไปเลย รู้ได้ตามจริงเลยว่ากินหลายมื้อนี่มันลำบากจริงๆ รู้สึกเบื่อ ลำบาก ขยาด…ที่จะต้องไปกินหลายมื้อ และรู้ได้เองว่าเรานี่แหละพ้นความลำบากที่จะต้องกินหลายมื้ออย่างไม่มีวันที่จะกลับไปกินแบบนั้นอีกแล้ว
อันนี้ก็เป็นผลจากการพากเพียรปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ถ้าเราทำมากก็สำเร็จไว ทำน้อยก็ช้าหน่อย บางคนไม่ทำก็ไม่ได้เลย แล้วก็มานั่งสงสัยว่าคนกินมื้อเดียวอยู่ได้อย่างไร? คนกินมื้อเดียวเขาไม่หิวหรอ? เขาจะมีแรงหรอ?อันนี้ก็ตอบให้เลยว่าดีกว่ากินสามมื้อทุกอย่าง
แต่บางคนทำก็ผิดๆถูกๆ ไม่มาไม่ไป เดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนั้น กินมื้อเดียวได้แต่ก็ยังอยากกินหลายมื้ออยู่ เห็นเขากินก็ยังอยากกินอยู่ ไม่มีความสุข ได้แต่กดข่มความรู้สึกไว้ หรือไม่ก็ชอบหาข้ออ้างให้ตัวเองได้กินหลายมื้อก็ว่ากันไป ถือศีลบ้างไม่ถือบ้างตามเหตุปัจจัยของสังคมและโลก ถ้าเกิดอาการนี้ก็คงต้องหาที่ปรึกษา หาผู้รู้ หาโค้ชกันหน่อย เพราะการปฏิบัติที่ไม่มีผู้รู้นี่ก็เหมือนคนไปเที่ยวป่าไม่มีคนนำทาง หลงทางกันเข้ารกเข้าพง เสียเวลาเปล่าๆแต่ใครชอบชมนกชมไม้ก็ไม่ว่ากัน
แต่ก็อย่างว่า… บางคนเขาไม่รีบก็ไม่เป็นไร สบายๆกันไป แต่ก็ต้องบอกตามจริงว่าความสุขที่มากกว่ากินสามมื้อก็คือกินมื้อเดียวนี่แหละ ดีที่สุดในโลก
– – – – – – – – – – – – – – –
29.7.2557
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์