กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

August 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,361 views 0

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

การลดเนื้อกินผักนั้นสามารถทำได้ด้วยเหตุหลายอย่าง บางคนใช้กำลังใจ บางคนใช้ความเมตตา บางคนใช้เหตุและผล บางคนใช้กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และในที่นี้เราจะมาแนะนำวิธีการทำลายความหลงกัน

การที่เรายังหลงกินเนื้อสัตว์อยู่นั้น เป็นภัยเงียบที่มีผลต่อการวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอย่างแท้จริง เพราะเป็นการหลงติดหลงยึดในกาม คือการเสพสุข โดยทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ การหลงติดใจในเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยร้ายที่ยากจะมองเห็น เพราะกิเลสได้บังไว้มิดเสียจนคนแยกไม่ออกว่าอยากกินหรือจำเป็นต้องกิน เวลาที่เราหลงติดหลงยึดกับอะไร เราก็จะไม่อยากที่จะพลัดพรากไปจากสิ่งนั้น หาเหตุผล หาข้ออ้างให้ได้เสพสุขจากสิ่งนั้นตลอดไป มองไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่น มองไม่เห็นกิเลส จึงมักจะทำให้โดนกิเลสหลอกว่าไม่มีกิเลส เหมือนกับคนเมาที่บอกว่าตัวเองไม่เมา

ถ้ายังมีความอยากอยู่(ตัณหา) ก็หมายถึงยังมีความยึดมั่น(อุปาทาน) ถ้ามีความยึดมั่นก็ทำให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นั่นหมายถึงถ้ายังมีความอยากอยู่ ก็ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ไปได้

คนที่มีกำลังจิตมาก มีกำลังปัญญามาก หากจะทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์โดยทันทีก็สามารถทำได้ แต่การทำลายความอยากของพุทธนั้นไม่ใช่แค่หยุดกิน ไม่ใช่แค่ทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการปฏิบัติไปจนถึงใจ เรียกว่าถึงจะไปแตะเสพเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่เกิดทั้งอาการอยากและไม่อยากอีกเลย ดังนั้นจึงเป็นการลดเนื้อกินผักที่ปฏิบัติได้ยาก แต่ถึงแม้จะปฏิบัติได้ยากก็มีผลที่คุ้มค่า

ส่วนคนที่มีกำลังจิตน้อย มีกำลังปัญญาน้อย ก็ต้องค่อยๆ แบ่งงานทำ ค่อยๆกำจัดความอยากในขอบเขตที่กำหนด เช่นกำหนดว่าจะทำลายความอยาก ความหลงติดหลงยึดในเนื้อหมู ก็ให้ทำลายในหมวดหมู่ของเนื้อหมูทั้งหมดก่อน เมื่อสำเร็จเกิดผลว่า ไม่เสพเนื้อหมูก็ยังมีความสุขสบายดี ถึงจะเห็นเนื้อหมูในเมนูต่างๆที่เคยชอบอยู่ตรงหน้า ก็ไม่มีความอยาก ไม่น้ำลายสอ ไม่ต้องอดทน ไม่รู้สึกเสียดาย ถึงจะกินเนื้อหมูเข้าไปก็ไม่มีความสุขหรือทุกข์ ก็เรียกได้ว่าสามารถผ่านโจทย์ของเนื้อหมู ไปจัดการตัวอื่นๆ เช่น ความอยากในเนื้อวัว ความอยากในเนื้อไก่ ความอยากในเนื้อปลา เป็นต้น

ซึ่งเราอาจจะเลือกกำจัดความอยากในเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่พร้อมกันก็ได้หากว่าเราสามารถทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจนเกินไป ทั้งนี้การทำลายความอยากไม่ใช่ทำได้เพียงแค่การอดทน แต่เป็นการค้นให้ลึกถึงเหตุของความอยาก ว่าเราไปหลงติดหลงยึดในอะไร เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในอะไร เราเสพสุขอะไรในเนื้อสัตว์นั้น แล้วใช้ปัญญาพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่ารสสุขที่เราหลงเสพอย่างนั้นสร้างทุกข์โทษภัยให้ตัวเราและผู้อื่นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ความอยากนั้นจางคลายไปโดยลำดับ จนกระทั่งสิ้นเกลี้ยงได้ในที่สุด

ซึ่งการทำลายความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น สามารถทำลายด้วยการดับภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โดยใช้วิธี “ไตรสิกขา” นั่นคือการศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ซึ่งการศึกษาเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไปเป็นไปความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นที่สุดของการปฏิบัติในศาสนาพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

August 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,242 views 0

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่ากตัญญู สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติมานั้น ใช่ความเป็นที่สุดแล้วหรือยัง และต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้กระทำการตอบแทนคุณพ่อแม่ที่สมควรแล้ว

การกระทำบางอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่โลกให้การยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อกุศลสูงสุด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เช่นเดียวกับการตอบแทนคุณพ่อแม่ ในมุมมองของพุทธนั้นมีความลึกซึ้งและยากแท้ในการเข้าถึงคุณวิเศษเหล่านั้น

ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๘ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทดแทนคุณพ่อแม่ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะแบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้าง มีชีวิตยืนยาวดูแลท่านไปถึงร้อยปี อาบน้ำให้ท่าน นวดให้ท่าน ฯลฯ แม้ท่านจะขับถ่ายก็ให้ขับถ่ายลงบนบ่าทั้งสองของเรา แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย

และแม้ว่าบุตรจะให้อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญแก่พ่อแม่สักเท่าไหร่ ให้ความสุขความสบาย ให้ปัจจัยสี่อันหาประมาณไม่ได้ แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย นั่นเพราะพ่อแม่มีพระคุณแก่เรามาก บำรุงเลี้ยงดู ให้โอกาสเราได้เกิดมาเรียนรู้โลก

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของพ่อแม่ได้ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทดแทนได้ การทดแทนพระคุณในทางของพุทธที่ได้ชื่อว่าบุตรเป็นผู้ทดแทนพระคุณแล้วนั้นมีอยู่

นั่นคือการนำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำพาพ่อแม่ที่ไม่มีศีลให้ยินดีถือศีล นำพาพ่อแม่ที่ตระหนี่ให้เป็นผู้ที่ยินดีเสียสละ นำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่รู้จักโทษชั่วของกิเลสให้เกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส การกระทำเหล่านี้ ย่อมชื่อว่าลูกเหล่านั้นได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่แล้ว

ซึ่งสรุปความได้ว่านอกจากเราจะดูแลท่านด้วยปัจจัยสี่อันสมควรแก่กุศลแล้ว เรายังต้องพาท่านให้เจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาอีกด้วย ทางโลกเราก็ไม่ควรให้พร่องจนท่านต้องทุกข์ทรมาน ทางธรรมเราก็ควรทำให้เจริญยิ่งขึ้น ถึงแม้สุดท้ายต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เราก็สมควรจะเลือกทางธรรม เพราะเป็นทางเดียวที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้อย่างบริบูรณ์ที่สุดแล้ว

แต่การจะทดแทนคุณในทางธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ง่าย การจะเป็นผู้ชี้นำให้ท่านเจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาซีดีธรรมะให้ท่านฟัง เอาหนังสือธรรมะให้ท่านอ่าน พาท่านไปวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม ทำทานทำกุศลเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ให้เจริญขึ้นในตัวเองอีกด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงเราต้องทำตัวเองให้มีธรรมนั้นในตน เอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วจึงคิดช่วยผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเราว่ายน้ำไม่เป็นแต่กระโดดน้ำลงไปช่วยคนจมน้ำ ก็จะพากันตายทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับที่เรายังไม่ทำตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้น เราก็จะไม่สามารถช่วยใครได้

พ่อและแม่นั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก การจะทำให้ท่านศรัทธาในตัวของเรานั้นไม่ง่าย ถ้าเรายังใช้ชีวิตโดยไร้ศีลไร้ธรรม ไม่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของการปฏิบัติธรรม ท่านก็จะไม่ศรัทธาทั้งตัวเราและในธรรมเหล่านั้น เราจะกลายเป็นผู้ที่กล่าวแต่ในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ กล่าวแต่สิ่งที่จำเขามา ไม่ได้ตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แต่กลับไปพร่ำสอนผู้อื่นเพราะหวังว่าจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการให้ธรรมนั้น

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเราจะให้สิ่งที่ไม่มีในตน หากเราไม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา แล้วเราจะเอาธรรมเหล่านั้นจากไหนไปนำพาพ่อแม่สู่ความเจริญได้ ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งทำตนให้เจริญในธรรมเหล่านั้นเสียก่อน จึงค่อยชี้แนะผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ธรรมเหล่านั้นไม่มัวหมอง

แม้กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถทดแทนบุญคุณท่านได้โดยง่าย การพ้นทุกข์ การหลุดพ้นจากกิเลส ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะยึดถือและปฏิบัติกันโดยสามัญ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลับมาโปรดพ่อแม่ของท่านตั้งแต่แรก ท่านมีคุณธรรมที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในโลก แต่ท่านก็รอให้กาลเหมาะสม รอให้พระเจ้าสุทโธทนะเกิดศรัทธา จึงค่อยกลับไปโปรด

อีกตัวอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร แต่ท่านเลือกที่จะกลับไปหาแม่ของท่านในช่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขาร แสดงธรรมโปรดแม่ จนแม่ของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด

ดังนั้นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ในทางธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปยัดเยียด บีบคั้น บังคับ ด้วยความยึดดีถือดี แต่ต้องใช้การประมาณอย่างมาก ให้ถูกกาลเทศะ ให้มีศิลปะ สร้างศรัทธาแต่อย่าให้เสื่อมศรัทธา ให้เป็นไปเพื่อกุศล ไม่สร้างอกุศล การทำคุณอันสมควรในตนว่ายากแล้ว การนำพาผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นหากเรายังไม่สามารถทำให้ตัวเองเจริญในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาได้แล้ว ก็พึงสังวรระวังในการแสดงธรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะ พูดในเรื่องที่ตนเองยังไม่มีคุณเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียและมัวหมอง

เราจึงควรศึกษาและปฏิบัติให้เกิดธรรมเหล่านั้นในตนเอง ให้เจริญยิ่งขึ้นในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตนเอง เป็นของตนเองอย่างแท้จริง เราก็สามารถแจกจ่ายธรรมเหล่านี้เป็นทาน ในกาลที่เหมาะสมแก่ท่านเหล่านั้นได้ โดยไม่ปล่อยโอกาสในการทดแทนพระคุณพ่อแม่ให้หลุดลอยไป โดยเปล่าประโยชน์ไปอีกชาติ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,962 views 0

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักที่คิดจะครอบครองนั้น เป็นเหตุให้เราสร้างบาปและเป็นทุกข์ได้เสมอ เป็นทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ หรือการพ้นทุกข์ใดๆ

จากละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๖ หญิงสาวคนหนึ่งได้ตกหลุมรักพระอานนท์จนแสวงหาวิธีที่ผิดในการครอบครองสิ่งที่หลงรักนั้น ซึ่งความอยากที่จะครอบครองสิ่งที่ตนรักไว้เป็นของตนเพียงผู้เดียวนี้เอง คือความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง

ไม่ว่าเราจะคิดครอบครองด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะครอบครองแค่เสี้ยววินาทีหรือตลอดไปจนชั่วนิรันดร์ มันก็ยังเป็นความเห็นแก่ตัวอยู่ดี คนเรามักจะหาเหตุผลที่ดูดี น่าเชื่อถือ ดูเป็นที่น่ายอมรับให้เกิดการครองคู่ ได้ครอบครองโดยความชอบธรรม นั่นเป็นความเห็นแก่ตัวที่ละเอียดลึกลับซับซ้อน ซ่อนความชั่วไว้ในความดี เหมือนยาพิษที่แทรกลงไปในแต่ละอณูของเกล็ดน้ำตาล

นิยามความรักของพระอานนท์ ต่างจากความรักที่เจ้าคิด” เป็นเนื้อหาในบทพูดตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้าในละครตอนนี้ ความรักของพุทธนั้นมีอิสระ ไม่ถูกจำกัดไว้ในเรื่องของครอบครัว คู่รัก ญาติ มิตร ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่แผ่กระจายออกไปให้ทุกคนได้สัมผัส

เช่นเดียวกับในบทละครตอนที่พระพุทธเจ้าบอกกับพระนางยโสธราในตอนที่ ๔๑ ว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ในโลกนี้ที่ทนทุกข์เล่า

ดังนั้นความรักของพุทธคือความรักที่มีให้ทุกคน การนำความรักไปทุ่มเทให้กับคนใดคนหนึ่งจะทำให้คนอื่นๆเสียโอกาส และนั่นหมายถึงเราเองก็เสียโอกาสในการสร้างสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ เพียงเพราะไปหลงยึดมั่นผูกพันไว้กับความสัมพันธ์ที่ลวงโลกที่สุด

ความเป็นคู่รักนั้นไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงแปรผันได้ทุกเวลา พบ พราก จาก ลา แล้วก็แสวงหาใหม่ ไม่เคยหยุด ไม่เคยจบสิ้น ไม่เคยมั่นคง เมื่อมีรักก็ย่อมมีทุกข์ การจะหนีทุกข์ในขณะที่หลงรัก หลงผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ในเชิงคู่รักนั้นไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนสร้างขึ้นมาและหลงติดหลงยึดว่ามันดี ว่ามันเป็นสุข หลอกจิตตัวเองโดยสมบูรณ์ว่าได้เสพ ได้รัก ได้เป็นคู่กันแล้วจะเป็นสุข ทั้งที่จริงแล้วสุขเหล่านั้นมันไม่มีตัวตนอยู่จริงเลย มันเป็นเพียงมายาที่เราต่างสร้างขึ้นมาหลอกกันและกัน และหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตเหล่านั้นกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

11.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,499 views 0

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

*ควรศึกษาเนื้อหาในบทความ “สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย” เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ (การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถี)

เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อละเว้นสิ่งที่จะสร้างทุกข์และวิบากบาป ที่จะมาสกัดกั้นไม่ให้ตัวเราเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริง เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ

เมื่อเราได้เรียนรู้จากวณิชชสูตรแล้วว่า ไม่ควรค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ ดังนั้นภารกิจต่อมาคือการปฏิบัติสู่บทบัญญัตินั้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะใช้การหักดิบได้ตั้งแต่แรก เราจึงควรศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณประโยชน์เหล่านั้น

การค้าที่ผิด นั้นคือมิจฉาวณิชชา การจะเข้าสู่สัมมาวณิชชาหรือการค้าขายที่ถูกได้นั้น ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนด้วยข้อกำหนด แต่เป็นการเปลี่ยนไปถึงจิตวิญญาณ เปลี่ยนจากจิตที่มีความเห็นในทางมิจฉาไปสู่สัมมาโดยลำดับ ลดความผิดลง เพิ่มความถูกต้องทีละก้าว ทีละก้าว จนมีความเห็นที่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแนบเนียนสนิท

การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถีในบทความนี้ เราจะใช้สัมมาอริยมรรคเป็นทางปฏิบัติในการละความมิจฉาในเรื่องการค้าขาย เฉพาะสองข้อนี้เป็นหลัก

1). สัมมาทิฏฐิ – คือการทำความเห็นให้ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เห็นเหตุนั้น เห็นวิธีดับทุกข์นั้น และเห็นวิธีปฏิบัตินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นด่านแรก เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก เป็นเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของเรือ การมีความเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าจะต้องหมดกิเลส ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นว่า การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ทำให้สัตว์ต้องเป็นทุกข์ การทำสิ่งที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือทางแห่งทุกข์ การเบียดเบียนคนอื่นคือการเบียดเบียนตนเอง เห็นลงไปถึงเหตุว่าความอยากและความหลงติดหลงยึดในเรื่องใดที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด แล้วจะดับมันอย่างไรจะทำเป็นลืมว่าเคยมีบัญญัตินี้หรือจะทำลายความเห็นผิดนี้

แม้จะยังมีความอยากซื้อขายอยู่ แต่ถ้ามีความเห็นไปในทางลด ละ เลิก ก็เรียกได้ว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว ในขั้นนี้แม้เราจะยังออกจากการค้าขายไม่ได้ แต่ให้มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นทางแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่มีความเห็นเช่นนี้หรือเห็นค้านแย้งไปในทิศทางตรงข้าม ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนี้

ถ้าทิฏฐิยังไม่ตรง ก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะปฏิบัติไปก็จะผิด จะมีทิศทางไปทางมิจฉามรรค จะเนิ่นช้า จะหลงทาง มีแต่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ดังนั้นจึงควรเน้นหนักไปที่ทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นดีเห็นงามในการเข้าถึงประโยชน์นี้ให้ได้ก่อน ให้มีฉันทะก่อน จึงค่อยปฏิบัติมรรคองค์อื่นๆต่อไป

2). สัมมาสังกัปปะ – คือการคิดพิจารณาที่จะทำลายความเห็นผิดที่มีอยู่ไปโดยลำดับ คิดเรื่องประโยชน์ของการไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ และคิดเรื่องโทษของการจมอยู่กับสิ่งนั้น คิดย้อนแย้งกับกิเลส เถียงกิเลส ไม่เอาตามกิเลส มันอยากจะซื้อก็ไม่ซื้อ ไม่รีบซื้อ หรือซื้อให้น้อยกว่าปกติ

3). สัมมาวาจา – คือการเจรจาสื่อสารสิ่งที่ถูกตรง ถ้าต้องพูดกันในประเด็นเหล่านี้ ก็ให้พูดเรื่องการเบียดเบียนเป็นโทษ ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นโทษอย่างไร ถ้าไม่ค้าขายจะเป็นประโยชน์อย่างไร พูดให้เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่พูดตามที่กิเลสสั่ง

4). สัมมากัมมันตะ – ทำกิจกรรมการงานที่ถูกตรง สิ่งแรกคือไม่ไปค้าขาย เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนซึ่งอยู่ในกรอบของศีลข้อ ๑ ,เว้นขาดจากการลักขโมย ไม่รับของที่เขาขโมยมา ไม่รับของโจร ไม่รับของที่เขาฆ่ามา และเว้นขาดจากการลุ่มหลงในกามคุณของสัตว์และเนื้อสัตว์ พิจารณาก่อนเสพ ไม่หลงไปในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสัตว์และเนื้อสัตว์นั้น

5). สัมมาอาชีวะ– คือไม่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายชีวิตสัตว์และเนื้อสัตว์ ถึงจะมีอาชีพนั้นอยู่ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ลดการค้าที่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์และเนื้อสัตว์ ปรับเปลี่ยนให้มีส่วนผิดน้อยลง และเพิ่มส่วนที่ถูกให้มากเรื่อยๆตามลำดับ หาอาชีพหรือรายได้เสริมอื่นทำ หรือหาช่องทางอื่นในการดำรงชีพ ละเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ไม่ล่อลวงให้คนอื่นหลงในสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่เอาลาภที่ได้จากการเกี่ยวข้องกับสัตว์และเนื้อสัตว์มาสร้างลาภอื่นๆเพิ่มเติมให้กับตน

6). สัมมาวายามะ – เพียรทำสิ่งที่ถูกตรง สิ่งใดที่ผิดก็อย่าทำเพิ่ม เพียรแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป เพียรทำสิ่งดีที่ยังทำไม่ได้ให้เจริญขึ้น และรักษากระบวนการของความเพียรเหล่านี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนความเพียรนี้เอง แม้สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ในตอนแรก เราก็เพียรล้างความเห็นผิดของเราไปโดยลำดับ เพียรออกจากสิ่งชั่ว เพียรเข้าหาสิ่งดี เพียรที่จะลดการเบียดเบียน เพียรพยายามลดความยึดมั่นถือมั่นที่จะก่อให้เกิดทุกข์

7). สัมมาสติ – มีสติในการระลึกรู้กิเลส รู้ว่ากิเลสเข้ามาเมื่อใด ความเห็นใดเป็นความเห็นของกิเลส ความคิดใดเป็นความคิดของกิเลส คำพูดใดเป็นคำพูดของกิเลส กิจกรรมการงานและอาชีพใดเป็นไปเพื่อเสริมกิเลสสร้างอกุศล และความเพียรใดไม่เป็นไปเพื่อลดล้างกิเลส ให้มีสติจับอาการของกิเลสให้ได้ โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม คือจับอาการของกิเลสที่เกิดได้ รู้สุขทุกข์ที่เกิดมานั้นเพราะจิตมีกิเลสตัวใดปะปน และใช้ธรรมที่เหมาะควรมาพิจารณากิเลสนั้นซ้ำๆย้ำๆ ใคร่ครวญ ทบทวนจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คือสร้างธรรมใหม่ขึ้นมาบนธรรมเดิม เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ไม่ปะปนไปด้วยกิเลส ใสสะอาดกว่าธรรมเดิมที่เคยมีโดยลำดับ

8). สัมมาสมาธิ – ความตั้งมั่นในมรรคทั้ง ๗ องค์นั่นแหละ คือสัมมาสมาธิของพุทธ คือทำมรรคทั้ง ๗ ด้วยความตั้งมั่น นั่นคือความเป็นสมาธิที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

….เมื่อปฏิบัติดังนี้จะเกิดความเจริญขึ้นโดยลำดับ จะเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์มากขึ้น มีปัญญารู้หนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด มีความเห็นที่มีความชัดเจนในแนวทางการพ้นทุกข์มากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเองด้วยเหตุที่ปัญญานั้นเจริญขึ้น

เมื่อมรรคถูก ผลก็ถูก คือจะมีความเห็นไปในแนวทางที่เป็นข้าศึกต่อกิเลส เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติคือไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆมารบกวนจิตใจ

– – – – – – – – – – – – – – –

10.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)