การเพิ่มศรัทธา
วันก่อนได้คุยกับกลุ่มเพื่อนนักปฏิบัติธรรม มีประเด็นของความศรัทธาที่มีต่อกัน ว่าจะเพิ่มได้อย่างไร ต้องทำงานร่วมกัน?
ผมก็ให้ความเห็นว่า การจะเพิ่มศรัทธาได้แท้จริง มั่นคง ยืนยาวนั้น ต้องล้างกิเลสอย่างเดียว ถ้าล้างกิเลสได้จะมีอินทรีย์พละเพิ่มขึ้น ศรัทธาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น
การทำงานจะทำให้เพิ่มศรัทธาแก่กันได้ไหม?
เพิ่มได้ แล้วก็ลดได้เหมือนกัน คนมาใกล้กันจะเป็นได้ทั้งสองทิศทางคือเพิ่มศรัทธาต่อกันและเสื่อมศรัทธาต่อกัน ก็อยู่ที่ธาตุของคนนั้นจะเป็นธาตุของบัณฑิตหรือธาตุของคนพาล
ถ้าเป็นธาตุบัณฑิตก็จะศรัทธาคนได้ง่าย ส่วนถ้าเป็นธาตุคนพาลทำงานกับใครก็เสื่อมศรัทธาเขาไปหมด เพ่งโทษ นินทา ถือสา ฯลฯ
แต่การทำงานจะสร้างกุศล คือความดี คือกรรมดี ที่จะเป็นพลังส่งผลไปสู่สิ่งที่ดี ดั้งนั้น การทำงานร่วมกันก็เป็นองค์ประกอบที่จะสร้างศรัทธาให้กับผู้ที่มีจิตที่ดี
ส่วนคนพาล ให้ห่างไว้ ไม่ต้องไปทำงานด้วย ยิ่งทำด้วยยิ่งเสื่อม ยิ่งเชื่อมยิ่งต่ำ เหมือนทำนาบาป หว่านข้าวไปเท่าไหร่มีแต่หญ้าขึ้น ไม่ได้ผล เสียเวลา เสียทุน เสียแรงงาน ได้ทุกข์ โทษ ภัย เป็นผล มีความเสื่อมเป็นกำไร
ดังนั้นการจะเพิ่มศรัทธาหรือทำความเจริญ ก็ต้องขยันร่วมทำงานทำกุศลร่วมกับบัณฑิต คือผู้ที่พยายามปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และได้ผลโดยลำดับ จะไม่เสื่อมศรัทธา เพราะเป็นนาบุญ หว่านน้อยได้น้อย หว่านมากได้มาก ตามความเพียร มีผลเป็นทิพย์ เป็นความผาสุก เบิกบาน แจ่มใส
อยู่เป็นโสดดี หรือมีคู่ อยู่ที่การให้คุณค่า
ถ้าเราให้คุณค่ากับสิ่งไหน สิ่งนั้นก็จะสำคัญกับเรา แม้ว่าแท้จริงมันจะเป็นเพียงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิตก็ตามที เพียงแค่เราหลงให้คุณค่ากับมัน มันก็จะมีคุณค่า มีมูลค่า มีราคา ที่เราจะยอมจ่ายให้กับมัน
เรื่องคู่ก็เช่นกัน มันก็อยู่ที่ใครจะให้คุณค่ากับสิ่งนั้น ถ้าให้มาก ก็จะรู้สึกว่ามันมีค่ามาก ไม่ให้เลย มันก็ไม่มีค่าอะไรเลย
ตัวแปรที่จะส่งผลต่อการให้ค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ “กิเลส”
กิเลสไม่มีจุดจบ แต่ความไม่มีกิเลสมีจุดจบ ดังนั้นพระพุทธเจ้าและสาวกจึงพากันสละกิเลส ตั้งแต่วัตถุหยาบ ๆ ไปจนถึงขั้นสละตัวตนทิ้งไปเสีย
คู่นั้นคือวัตถุที่อยู่ระหว่างทางที่จะต้องสละต่อไปจนหมดกิเลส ก็เรียกว่าประมาณต้น ๆ ทางนั่นแหละ ไม่ได้ลึกลับอะไรมากมาย เพราะเป็นรูปของความเบียดเบียนที่เห็นได้ชัดอยู่ ยังไม่ถึงขั้นนามธรรมที่มองไม่เห็น
ถ้าเราลดกิเลสได้ตามลำดับ ละอบายมุข ถือศีล ๕ และพัฒนาไปเรื่อย ๆ การให้คุณค่าในการมีความรักแบบคนคู่จะลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะจะเริ่มเห็นว่ามีอะไรที่ดีกว่า สุขกว่า เบากว่า สบายกว่า
เมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการมีคู่ การไปแสวงหาคู่ครองหรือหมกมุ่นเรื่องความรักก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ในทันที
แต่การจะเห็นว่าสิ่งใดมีคุณค่ามากกว่าการมีคู่ เช่น เห็นว่าการอยู่เป็นโสดนั้นดีกว่าการมีคู่นั้นไม่ง่าย ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องชี้นำและอาศัยพุทธสาวกเป็นผู้ชี้ทาง
ซึ่งจะเป็นการกระทำที่สวนกระแสโลกอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกต่างชี้นำให้ไปมีคู่ มีคู่ให้เป็นตัวอย่าง พลอดรักกันเป็นตัวอย่าง ทำท่าทีเป็นสุขให้เป็นตัวอย่าง แล้วคนส่วนใหญ่เขาจะไปทางไหน เขาก็ไปตามกระแสโลกนั่นแหละ
ดังนั้นการสวนกระแสโลกมาให้คุณค่ากับการอยู่เป็นโสดจึงเป็นเรื่องยากจริง ๆ
คู่ดี ให้ฟรี แถมเงิน บ้าน รถ ยังไม่เอาเลย
พอปัญญามันเต็มรอบในเรื่องใด ๆ เนี่ย เราจะเห็นโทษของมันชัดเจน ขนาดที่ว่าเอาสินบนมาล่อขนาดไหนก็จะไม่ยอมทำตามกิเลส
เรื่องคู่ก็เช่นกัน คนเขาก็อยากได้คู่ดีนะ ยอมเสียเงินเสียเวลา ทุ่มเทให้กับเรื่องคู่
แต่ถ้าคนที่มุ่งประพฤติตนเป็นโสดจนได้มรรคผลตามลำดับ จะเริ่มเข้าใจได้ว่า การที่จะไปแสวงหาคู่ที่ดีหรือไม่ดีนั้นมันเป็นทุกข์ เพราะแค่ป้องกันผู้ท้าชิงที่เข้ามาก็เมื่อยหัวมากพออยู่แล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลาจีบหรือเกี้ยวพาราสีใครหรอก ป้องกันให้อยู่ก็พอ
คนทั่วไปเขายอมสารพัดเสียเพื่อให้ได้คู่มา แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมได้ดีมันจะกลับหัวเลย คือต่อให้เขายัดเยียดให้เราได้สารพัดได้ แถมคู่ดีให้ด้วย เราก็ยังไม่เอาอยู่ดี
พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีรัก 100 ทุกข์ 100 มีรัก 1 ทุกข์ 1 ไม่รักเลยไม่ทุกข์เลย และคนไม่มีรักนี่แหละสุขที่สุด
คนที่ไม่ล้างกิเลสจะไม่เข้าใจระยะห่างระหว่างทุกข์ 1 กับไม่มีทุกข์ ซึ่งความจริง มันทุกข์มาก มากขนาดที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยแนะนำให้ใครไปมีคู่เลย มีแต่แนะนำให้เห็นทุกข์จากคู่ เพราะแม้ว่าจะเป็นทุกข์ 1 มันก็เป็นทุกข์ที่มากอยู่ดี
คนที่ไม่รู้เขาก็ประมาทตรงนี้แหละ เขาเข้าใจว่า ก็แค่รัก 1 หน่วย คงไม่ทุกข์อะไรมาก แต่สาวกจะเข้าใจอีกอย่างคือ ทุกข์ตั้ง 1 ทำไมต้องไปแบกมาใส่หัวให้โง่ด้วย
ดังนั้นทิศทางของพุทธสาวก คือการสลัดออกไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่การเอาเข้ามา แม้จะทำไม่ได้ในทีเดียวก็จะค่อย ๆ เฉือนความเห็นผิด เอาความหลงผิดออกไปเรื่อย ๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจปฏฺิบัติจนหมดทุกข์ ไม่ใช่เหลือทุกข์ไว้ให้หนักหัว
อาจารย์หมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน
เมื่อใครถามถึงครูบาอาจารย์ทางธรรม ผมก็จะบอกว่าเป็นอาจารย์หมอเขียว เพราะเป็นคนแรกในโลกที่ผมยอมรับว่าเป็นอาจารย์ ยอมก้มหัวให้ด้วยใจจริง ยอมให้สอน ยอมให้ติ ยอมให้ด่า ใจมันยอมแพ้หมดรูปเลย เพราะรู้ว่าถ้าแพ้คนนี้แล้วจะเจริญ เอาชนะไปนรก
ก่อนเจออาจารย์หมอเขียว ก็เคยศึกษาธรรมะอยู่พอสมควร เจอคนมากมาย แต่ก็ไม่มีใครที่จะตอบคำถามเราได้ เรียกว่าไม่ตอบโจทย์ ไม่ทันเรา ไม่มีสิ่งที่เราต้องการให้ศึกษา แม้พยายามคลุกวงในบ้างแล้ว แต่ก็คว้าน้ำเหลว นึกว่าจะมีแก่นสารสาระ แต่โดยมากก็ต้องเสียเวลาไปฟรี ๆ
จนมาเจออาจารย์หมอเขียว ได้พบ ได้ฟัง ได้ถาม จึงรู้ว่าคนนี้แหละ เพราะท่านรู้จักความเป็นเรา และรู้จักสิ่งที่ดีกว่า เหมือนโดนดักหัวดักท้าย ไปไม่เป็น ไปได้ทางเดียว คือตามที่ท่านแนะนำ เพราะมันไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองคิดมันจะดีไปกว่าที่ท่านแนะนำ
ผมเองไม่ใช่สายศรัทธา ไม่ได้เลือกอาจารย์ด้วยศรัทธา แต่เลือกด้วยปัญญา แน่ล่ะ ครูบาอาจารย์ของผมก็ต้องมีปัญญามากกว่าผม ผมจะรู้เองว่าคนไหนทันผม คนไหนไม่ทันผม คนไหนล้าหลัง คนไหนปลอม พอมีปัญญามันก็จะดูคนออกง่าย แต่มันจะหาอาจารย์ยาก เพราะในโลกนี้คนที่มีปัญญาจริง ๆ มันจะน้อย แต่มันก็ดีอย่างคือมันจะไม่ไปเสียเวลาศรัทธาคนผิด
แต่สายปัญญาเวลาปัก จะแน่นกว่าสายศรัทธาหรือสายเจโต เพราะในปัญญานั้นจะมีทั้งปัญญาและศรัทธาผสมกันอยู่ในตัว และที่สำคัญคือได้ลองด้วยตนเองแล้วพบว่าได้ผลจริง แล้วจะวิ่งหนีไปไหนได้
เวลาที่ผมมีปัญหา มีคำถาม ก็ได้อาจารย์ช่วยไขความให้นี่แหละ ด้วยความที่เป็นผู้ชาย เลยเข้าถึงอาจารย์ได้ง่าย แต่นั่นก็ไม่ได้มีค่าเท่าความดีที่ได้เคยร่วมทำกันมา ผมสังเกตว่าถ้าผมมีปัญหาจริง ๆ จะไม่ค่อยมีอะไรกั้น แม้จะไม่ได้ถามก็จะได้คำตอบ
ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน เคยไปปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับการตัดสินใจไปรับคำเชิญไปบรรยายในงานมังสวิรัติ อาจารย์ได้ให้หลักพิจารณามาว่า เขาต้องการความรู้จากเราไหม และเรามีความรู้นั้นไหม ไม่มีการฟันธงใด ๆ แต่ผมก็สรุปเอาเองว่า ทั้งสองปัจจัยก็ไฟเขียว ที่เหลือคือสรุปว่าจะเอื้อหรือไม่เอื้อ ก็จบตรงที่ว่า การแบ่งปันมันก็ดีกับเราและผู้อื่น ก็ทำไป
ศึกษามาเรื่อย ๆ จนถึงปีที่ผ่านมา ก็ได้รับขุมทรัพย์กองใหญ่ ที่เรียกว่าหายากมาก ชนิดที่ว่าถ้าจะมุ่งศึกษาปัญญานี้ด้วยตัวเอง อาจจะใช้เวลาทั้งชีวิตเลยก็ได้ แต่ครั้งนี้ อาจารย์ก็รวบให้ในไม่กี่นาที
เรื่องก็ยังอยู่ในหมวดเดิม คือการประมาณในการช่วยคน ผมก็ติดปัญหาว่า เราก็ว่าเราเก่งแล้ว แต่ข้อผิดพลาดในการช่วยคนมันก็ยังเยอะอยู่
อาจารย์ก็ได้สอนว่า จริง ๆ มันไม่เกี่ยวกับเราเก่งที่เราไหร่ แต่เกี่ยวที่ว่าเขาศรัทธาเรารึเปล่า เราเก่งให้ตาย เขาไม่ศรัทธาเรา เราก็ช่วยเขาไม่ได้
อาจารย์ยังยกตัวอย่างย้ำว่า ขนาดพระอรหันต์ระดับเอตทัคคะ ยังสอนลูกศิษย์ข้ามสายกันไม่ได้เลย สอนไม่บรรลุ คนเขาจะเลือกคนที่เขาศรัทธาของเขาเอง
ฟังแล้วก็เข้าใจเลยว่า ปัญหาของเรา จริง ๆ มันไม่ใช่ปัญหาของเรา มันเป็นปัญหาของเขา แต่เราไม่รู้ เราก็เอามาแบกไว้ มันก็หนักใจอยู่แบบนั้น พอเราได้ฟังมันก็โล่งเลย เพราะเรื่องทิ้งภาระที่มันหนักนี่มันทิ้งไม่ยากอยู่แล้ว ไปโง่เอาภาระคนที่เขาไม่ได้ศรัทธาหรือศรัทธาไม่เต็ม มันก็เหนื่อยเปล่า
อาจารย์ยังนำเนื้อหามาย้ำสรุปในวันต่อมาว่า คนที่ศรัทธาจะไม่เพ่งโทษถือสาเอาความ ความไม่ถือสา ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่หยุมหยิม คือตัววัด ส่วนคนที่ไม่ศรัทธาแม้เราจะคิดดี พูดดี ทำดี แค่ไหน เขาก็จะสามารถเพ่งโทษถือสาหาเรื่องได้
ปัจจุบันแม้ผมจะไม่ได้ไปอยู่ช่วยเหลือใกล้ชิดอาจารย์ เพราะฟ้าหรือวิบากกรรมไม่เอื้ออำนวย ผมก็ยังติดตามฟัง ติดตามเรียนรู้อยู่เป็นประจำ ไม่ห่างหาย เพราะเชื่อเสมอว่าการฟัง ทบทวน หรือแม้กระทั่งซักถามตามที่มีโอกาส นี่แหละ จะทำให้พ้นจากทุกข์ได้ไวที่สุด
พิมพ์ไว้เป็นเครื่องระลึกถึง อาจารย์หมอเขียว เนื่องในวันครบรอบวันเกิด อาจารย์ 11 มิถุนายน 2563 ครับ