การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)
การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)
พระพุทธเจ้าได้ให้หลักการเลือกคบคนไว้หลายหลักหลายประเด็น ในชิคุจฉสูตรนี้ (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466) จะแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คนที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ 2. คนที่ไม่ควรใส่ใจ ไม่ควรคบ 3.คนที่น่าคบหา
1).คนที่น่าเกลียดเป็นอย่างไร? คือคนที่ทำผิดศีลเป็นประจำ ทำผิดจากคุณงามความดีที่ตนได้ประกาศไว้ มีใจสกปรก เน่าใน ปฏิบัติตนไม่ดี มีกิจกรรมที่ลึกลับปิดบัง ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติดีแต่บอกคนอื่นว่าเป็นคนที่ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ใช่คนที่มุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ แต่บอกคนอื่นว่าตนนั้นมุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เต็มไปด้วยความอยาก เป็นเหมือนคราบสกปรกเหนียวหนืดกลิ่นเหม็นกำจัดได้ยาก พระพุทธเจ้าบอกว่าคนแบบนี้ “ควรเกลียด”(คือไม่ไปยินดีในสิ่งที่เขาเป็น) ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าไปใกล้ แม้นั่งใกล้ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตน แม้เราจะไม่ได้ทำตัวแย่เหมือนเขาก็ตาม แต่ชื่อเสียงด้านไม่ดีของเขา นิสัยที่ไม่ดีของเขา จะทำให้คนเข้าใจเราว่าคบคนชั่ว ก็เป็นเหมือนกับคนชั่วนั้น ทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ เหมือน พระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนงูตกถังขี้ ถ้าเราเข้าใกล้ แม้มันจะไม่กัดเรา แต่ไปใกล้ชิดกัน ก็ทำให้เปื้อนขี้ได้
พระพุทธเจ้าท่านได้เตือนไว้ให้ระวัง คนผิดศีล คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมแต่สร้างภาพว่าปฏิบัติเหล่านี้ แม้เราจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้ทำชั่วอย่างเขา แต่เข้าไปใกล้ ไปคบหา ไปพูดคุย ก็จะทำให้มีภัยเกิดแก่ตัวเอง คนเช่นนี้จริง ๆ ก็รู้ได้ยาก เพราะเขาจะจะแสร้งว่าตนเป็นคนดี ปกปิดบิดเบือนความจริง เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า “เน่าใน” อ้าว แล้วอย่างนี้เขาเน่าในแล้วเราจะไปรู้ได้อย่างไร ก็ต้องคอยสังเกตกันไปว่าเขาดีจริงอย่างที่เขากล่าวอ้างไหม เช่นอ้างว่าจะช่วยสืบสานศาสนา เข็นกงล้อธรรมจักร แต่เขาได้ลดกิเลสไหม ได้ปฏิบัติตนเพื่อลดกามหรืออัตตาไหม ถ้าไม่ใช่ก็แปลว่าตอแหล เพราะการสืบสานศาสนาคือการลดความโลภ โกรธ หลง ถึงจะคงเนื้อแท้ของศาสนาไว้ได้ หรือคนที่มีการงานลึกลับปิดบัง ทำอะไรก็จะต้องแอบคิดแอบทำ ทำกิจกรรมด้วยกันแต่ก็แอบเสพผลประโยชน์มาเพื่อตน ยักยอกประโยชน์ไว้ที่ตนหรือกลุ่มของตน ไม่ชี้แจงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบทั้งหมด พวกนี้ก็ฝังอยู่ในหลาย ๆ กลุ่มที่มีผลประโยชน์มาก มีโลกธรรมมาก
การจะรู้จักคนผิดศีลหรือคนเน่าในนี้ได้ จะต้องใช้แว่นคือธรรมะในการส่อง การเรียนรู้ปริยัติและปฏิบัติจะทำให้สามารถรู้จักความเป็นพาลในคนพาลเหล่านี้ได้ เพราะโดยทั่วไปในสังคมนั้น คนพาลมักจะแสร้งว่าตนเป็นคนดีเสมอ ที่เจ็บปวดกันมามากมายก็เพราะหลงเชื่อคนเหล่านี้นี่แหละ แต่ก็ผิดที่เราเองที่ดูเขาไม่ออก คนพาลมีมากมายกว่าคนดีอยู่ ยังไงชีวิตก็ต้องเจอ เพียงแต่เราจะรู้ทันหรือไม่ทันเขาเท่านั้นเอง ซึ่งพอคบหาคนพาลไป แม้เขาจะแสร้งทำเป็นคนดีได้ แต่ไม่นานเขาก็จะหลุดทำชั่ว ผิดศีล เริ่มจะเน่าใน(มีความเห็นผิด) เมื่อรู้แล้ว จึงไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ แต่ถ้าหากเราไม่มีปัญญา เราไม่รู้ทันกลอุบายของเขา เราก็ติดกับดักเขาเลย แย่น้อยที่สุดก็เหมือนงูตกถังขี้เลื้อยผ่าน แต่ถ้ามันกัดขึ้นมาก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งเจ็บปวด ทั้งเหม็น ทั้งติดเชื้อ เอาจริง ๆ แค่ถังเก็บขี้หรือบ่อขี้ก็ไม่มีคนอยากเข้าใกล้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นงูยิ่งไม่น่าเข้าใกล้ไปใหญ่ เป็นภาษาที่นำมาสื่อสภาวะ คือบ่อขี้และงูน่าเกลียด ไม่น่าคบ ไม่น่าใกล้ ยิ่งรู้สึกว่าน่าห่างไกลสองสิ่งนี้เท่าไหร่ กับคนพาลเช่นนี้ก็ควรจะรู้สึกอยากห่างไกลเท่านั้นเช่นกัน การห่างไกลสิ่งที่เน่าเหม็นและอันตราย คือความปลอดภัยและเป็นอยู่ผาสุก พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า การห่างไกลคนพาลคือมงคลชีวิตนั่นเอง
2).คนที่ไม่ควรใส่ใจเป็นอย่างไร? ในพระไตรปิฎกจะใช้ภาษาว่า “คนที่ควรวางเฉย” แต่จะปรับมาเป็นภาษาที่น่าจะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น แต่สภาวะใกล้เคียงกัน วางเฉย คือไม่เอาภาระ ไม่ต้องหยิบขึ้นมา ไม่ต้องไปสนใจ จึงปรับคำเป็นคนที่ไม่ควรใส่ใจ
คนที่เราไม่ควรใส่ใจ คือคนที่ขี้โกรธ อะไรนิดอะไรหน่อยก็น้อยใจ ถูกต่อว่า ตำหนิ ติเตือนแม้เล็กแม้น้อยก็โกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาต พยาบาท โกรธแบบเน่าในหมักหมม สะสมความโกรธเกลียด ชิงชังอยู่เสมอ คนเช่นนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปคบ ไม่ควรแม้จะไปนั่งใกล้ ๆ คบไปก็พาให้เจอแต่เรื่องน่าปวดหัว เดี๋ยวก็ด่าคนนั้น เดี๋ยวนินทาคนนี้ ไป ๆ มา ๆ ก็วนมาด่าเรา นินทาเรานี่แหละ จะคบหาหรือเข้าใกล้ไป ก็มีแต่พลังลบ พลังกิเลสพุ่งพล่านเต็มไปหมด เคยเจอไหม คนที่ถูกติหรือมีคนทำไม่ถูกใจนิดเดียว แผลเล็กนิดเดียว แต่เอามาขยายกันใหญ่เท่าตึก และแม้เหตุการณ์จะจบไปนานแล้วก็ตาม เขาก็มักจะพูดต่อไปยาวทั้งจำนวนครั้งและความยาวนาน คนแบบนี้อยู่ด้วยก็ซวยเปล่า ๆ คนพวกนี้ท่านเปรียบเหมือนบ่อขี้ ถ้ามีไม้ไปกวนหรือมีอะไรไปกระทบ ก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้ง ดังนั้นหากเจอคนที่เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ถือสาคนนี้ เอาง่าย ๆ ว่า ถ้าเขามักจะสนใจแต่ความผิดของคนอื่น ก็ให้ห่าง ๆ ไว้ เพราะคนโกรธนี่เขาจะไม่มองตัวเอง ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง เขาจะมุ่งแก้ปัญหาที่คนอื่น วันใดวันหนึ่งเขาก็จะมุ่งมาแก้ปัญหาที่เรา แม้บางทีความจริงมันจะไม่ใช่ปัญหาก็ตามที น่าปวดหัวไหมล่ะ?
การไม่ใส่ใจ การวางเฉยต่อท่าทีของผู้ที่มักโกรธ ก็เปรียบเหมือนการไม่ให้อาหารความชั่ว แม้เขาโกรธมา เราไม่ส่งเสริม(ไม่กอดคอไปนรกด้วยกัน) ไม่ผลักไส(เดี๋ยวจะเข้าตัว) แค่เราไม่ใส่ใจ ไม่ต้องไปเพิ่ม ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเอาภาระ คนขี้โกรธสอนกันไม่ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะตอนที่เขากำลังโกรธ หงุดหงิด หรือกำลังนินทาใคร ตอนนั้นพลังของกิเลสกำลังพลุ่งพล่าน จึงไม่ใช่เวลาที่ธรรมะจะเติบโตได้ แม้มีธรรมที่เลิศยิ่งกว่าน้ำทิพย์ ราดรดลงไปก็เหมือนราดน้ำไปบนเหล็กร้อนแดงฉาน น้ำก็จะระเหยหายไปหมดนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ ดังนั้นอย่าไปใส่ใจคนขี้โกรธ
3).คนที่น่าคบหาเป็นคนอย่างไร? คือ เขาเหล่านั้นเป็นคนที่มีศีล ประพฤติตามธรรม ไม่เบียดเบียน กล่าวแต่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ พูดเรื่องที่พาให้ละ หน่าย คลาย จากความโลภโกรธหลง ท่านว่าถ้าเจอคนอย่างนี้ ให้เข้าไปคบหา ไปศึกษา ไปใกล้ชิด เพราะแม้ว่าเราจะปฏิบัติตนได้ไม่ถึง ไม่เป็น ไม่เหมือนอย่างคนมีศีลเหล่านั้นก็ตาม แต่เราก็จะมีชื่อเสียงที่ดีกระจายไปไกล ว่าเราคบคนดี เราคบคนมีศีล มีคนปฏิบัติถูกตรงเป็นมิตร ก็จะเป็นพลังบวกที่จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต คนดีเขาก็จะไม่ระแวงเพราะเราก็คบคนที่ดีมีศีล เป็นการยืนยันธรรมะในตัวเราอีกชั้นหนึ่ง นอกจากเราจะพยายามทำดีแล้ว เรายังคบหาคนดีอีก มันจะเต็มรอบ รูปจะสวย จะเป็นกุศลสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ถ้าเราไปคบคลผิดศีล คนเน่าใน คนตอแหล เสแสร้ง แกล้งทำ และคนขี้โกรธ คนเหล่านี้ก็ทำให้เราเสียชื่อเสียงบ้าง สร้างปัญหาให้เราบ้าง คนอื่นเขาจะระแวงเรา ไม่มั่นใจในตัวเรานัก ทำอะไรก็ขัดข้องเพราะมีศรัทธาที่ไม่เต็มต่อกัน ความไม่มั่นใจจะดลให้เกิดความผิดพลาดและเสื่อมศรัทธาต่อกันได้ เพราะมีการคบหาคนพาลเป็นเหตุนั่นเอง
พระพุทธเจ้ายังสรุปไว้ในตอนท้ายว่า “บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ”
จะเห็นได้ชัดเลยว่าท่านให้เลือกคบคน ท่านก็ไม่ได้บังคับ ให้อิสระ อยากเลวก็คบคนเลว ถ้าจะประกันความผาสุกก็ให้คบหาคนที่เสมอกัน แล้วถ้าอยากได้ความเจริญรุ่งเรือง ก็ให้คบคนที่สูงกว่า มีศีลมากกว่า มีใจที่พ้นทุกข์ได้มากกว่า ก็จะมีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมเด่นขึ้นมาทันที ดังนั้น ท่านจึงและนำให้คบหาคนที่สูงกว่าไว้ในชีวิต
เพราะคนที่ไม่คบคนสูงกว่า ไม่มีคนสูงกว่าให้ศรัทธา ไม่นับถือว่าใครสูงกว่าตน คนพวกนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เขาจะไม่มีวันเจริญไปมากกว่าที่เขาเคยเป็นมา เรียกกันง่าย ๆ ว่า “โง่เท่าเดิม” ธรรมะหรือความเจริญในศาสนาพุทธนั้นจะเรียนรู้เองไม่ได้ มันจะติดเพดานกิเลส ต้องมีคนที่สูงกว่าคอยชี้นำเป็นลำดับ ๆ ไปตามฐานของแต่ละคน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตร(เล่ม 24 ข้อ 61) ว่าผู้ที่พ้นทุกข์ได้นั้นต้องเริ่มจากการคบหาสัตบุรุษ คือผู้ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่รู้ธรรมรู้ทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ และทำความพ้นทุกข์ พ้นกิเลส พ้นกาม พ้นอัตตา พ้นความมัวเมาในสิ่งเสพติดต่าง ๆ ตั้งแต่หยาบไปจนละเอียดโดยลำดับ เป็นที่นำพาไป การสัตบุรุษจึงเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญทางธรรม
จากเนื้อหาในชิคุจฉสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466 ) จะสรุปความได้ว่า เราจะต้องเลือกคบคน คนที่คบแล้วเป็นภัยก็อย่าไปคบหา อย่าไปสนิท อย่าไปนั่งใกล้ คนเหล่านี้มีแต่จะสร้างความฉิบหาย มีแต่จะทำความเดือดร้อนให้แก่เรา และเราควรจะแสวงหาคนดีมีศีล เพื่อคบหาและศึกษาเพื่อความเจริญ เพื่อความพ้นทุกข์และความไม่เสื่อมของเรา การพรากจากคนพาลและการเข้าใกล้คนดี คือประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่นในเวลาเดียวกัน
27.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
คนทุศีล เน่าใน น่าห่างไกลที่สุด
จากบทความที่ยก ชิคุจฉสูตร มาอธิบายก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า คนทุศีล หรือคนที่ผิดศีล แล้วไม่เปิดเผย ปิดบัง โกหก หลอกลวงผู้อื่นว่าตนเองปฏิบัติดี นั้นร้ายยิ่งกว่า คนขี้โกรธ ขี้งอน ขี้น้อยใจ ฯลฯ (แต่ก็ควรจะห่างไว้เช่นกัน)
ถ้าเราวิเคราะห์ ในประโยคที่ว่า “ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล เน่าในภายใน ”
เราจะรู้เลยว่าคนพาลเช่นนี้ ร้ายสุดร้าย เพราะเบื้องหน้าเราจะไม่รู้เลย คบกันแรก ๆ เราจะไม่รู้จักเขาเลย เพราะเขาเน่าใน มันจะมองไม่เห็นได้ง่าย ๆ แถมเขายังแสร้งให้ผู้อื่นเห็นว่าเขาปฏิบัติดีและเขาตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์
นี่คือเหตุที่ผมพยายามจะขยายเรื่องคนพาลให้ละเอียดขึ้นในช่วงนี้ เพราะถ้าเจอคนน่าเกลียดเช่นนี้ จะต้องเสียเวลามาก ตั้งแต่เวลาไปคบหาเขา เวลาเชื่อเขา ดีไม่ดีไปสนับสนุนเขาอีก
ทั้งหมดนั้นเพราะเรายังไม่มีปัญญา ภูมิธรรมไม่ถึง ดูเขาไม่ออก ยกตัวอย่างเช่น กรณีเณรคำ ไม่ธรรมดานะ หลอกคนได้ตั้งเท่าไหร่ คนเขาก็เชื่อนะ ใช่ว่าคนจะยอมมอบเงินมอบศรัทธากันให้ง่าย ๆ เขาก็แสวงหาคนดีมีศีลที่เขาจะสนับสนุนนั่นแหละ แต่สุดท้ายเขาก็โดนหลอกไง คือคนพาลเนี่ย เขาจะเนียนสุดเนียนเลย บางทีพูดธรรมะ 95% แทรกกิเลสที่ตนอยากเสพไปอีก 5 % เอากำไรนิดหน่อย ทำให้เพี้ยนไปทีละนิดละหน่อย แต่พูดทุกวัน มันก็ได้เยอะ
คนพาลเขาก็ใช้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสนี่แหละมาหากิน สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระนักบวชทุศีลที่เข้ามาปลอมปนมาเสพผลประโยชน์ในศาสนาพุทธออกไปเยอะ แต่ยุคนี้ไม่มีกิจกรรมนั้น ดังนั้นเราก็ต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะรู้ให้ทันคนพาล
เพราะเวลาในชีวิตเราสำคัญมาก บางคนเทไปให้คนผิด 1 ปี 5 ปี 10 ปี เสียไปแน่ ๆ คือเวลา แรงกาย ทรัพย์สิน โอกาส และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่วิบากกรรมไม่ใช่จบแค่นั้น เราหลงสนับสนุนคนพาล คนชั่ว คนทุศีลไปเท่าไหร่ เราต้องรับผลแห่งความเห็นผิดเหล่านั้น เขากิเลสโตเพราะเราสนับสนุน เขาไปหลอกคนได้อีกมากมายเพราะเราสนับสนุน คนหลงและไม่พ้นทุกข์เพราะเราเป็นหนึ่งในแรงผลักดันคนพาล เราต้องรับวิบากนั้น มันหนีไม่ได้
ดีที่สุดคือห่างไกลคนพาล ไม่คบคนพาล ไม่สนับสนุนคนพาล แต่ปัญหาคือคนพาลดันแสร้งว่าเป็นบัณฑิตเสียอีก แล้วจะเอายังไงล่ะทีนี้ ปลอมซะเหมือนเลย รูปนอกตรวจไปก็ใช่ ธรรมะพูดมาค่ารวม ๆ ก็ใช่อีก มันจะไปทางไหน ก็มีแต่หลงกลเขาเท่านั้นแหละทีนี้
ถ้าไม่มีคนมาคอยชี้นี่จบเลย จริง ๆ ผมหูตาสว่างได้ก็เพราะศึกษาตามครูบาอาจารย์ ไม่งั้นต้องหลงไปนาน แล้วยังมีความหลงสนับสนุนคนพาลไปเป็นลำดับด้วยนะ มันจะหลุดเป็นลำดับจากการที่เรามีปัญญามากขึ้น
หลุดแล้วยังไงล่ะ พอมารู้ทีหลังว่าเขาเป็นคนพาลก็เลิกคบนั่นแหละ เพียงแต่พอเห็นปริมาณกรรมที่เคยไปสนับสนุนเขาไว้ มันทำให้รู้สึกว่า เราควรจะเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปนะ คือสื่อสารโทษภัยของคนพาลนี่แหละ ไม่งั้นพลาดไปมันจะหนัก และนานมาก ก็น่าจะทำให้ผู้อ่านได้ตรึกตรองและทำตนให้พ้นภัยไปได้บ้าง
สนับสนุน คบหา เข้าใกล้คนพาลมีแต่เสียกับเสีย ประโยชน์ตนก็เสีย ประโยชน์ท่านก็ไม่มี เพราะคนพาลไม่ใช่เนื้อนาบุญ สนับสนุนไปก็กิเลสเพิ่มอีก มีแต่ความเดือดร้อนรออยู่
ดังนั้นจะคบใครอย่าเพิ่งรีบปักใจเชื่อ อย่าเพิ่งรีบลงแรงลงใจ ถ้าจะลงก็ดูศีลดูธรรมหน่อย ดูว่าเขาตั้งใจลดกิเลสไหม เขาลดโลภ โกรธ หลงได้แค่ไหน เขาพูดไปในทางลดหรือเสริม หรือไม่สนใจในการล้างกิเลส หรือดูกันไปนาน ๆ ผ่านไปปีหลายปี ดูพัฒนาการของเขาในการลดกิเลส ดูกลุ่มสังคม ดูเพื่อนของเขา ดูกิจกรรมของเขา ก็จะพอเห็นความจริงได้
แต่ถ้าดีที่สุด ก็ลองปฏิบัติตามแนวคิดของเขาดู ถ้าพ้นทุกข์ พ้นกังวลหวั่นไหวในเรื่องใด ๆ ขึ้นมาตามที่เขาสอน ก็ค่อยสนับสนุนเขาก็ยังไม่เสียหาย เพราะศาสนาพุทธเขาสอนกันฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว
ดังนั้นก็ไม่ควรรีบปักใจไว้ที่ใคร เพราะเหตุต่าง ๆ เช่น เขาว่ากันมาว่า… เขาพูดถูกตามหลักฐาน เขาพูดเหมือนที่เราคิด … ฯลฯ (ศึกษาต่อได้ที่ “กาลามสูตร”) ควรจะเอามรรคผลของตัวเองเป็นหลัก ถ้าปฏิบัติตามแล้วพ้นทุกข์ได้จริง ก็ค่อยหันไปสนับสนุนท่านเหล่านั้นอย่างเต็มกำลังก็ยังไม่สาย
คนพาลที่ไม่รู้จักคนพาล
ยิ่งได้ศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะยิ่งได้เห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านได้แจกแจงความเป็นคนพาล ในระดับต่าง ๆ ไว้ เช่นระดับที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ หรือแย่น้อยลงมาคือควรวางเฉย คือไม่ควรไปยุ่งนั่นแหละ ก็ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เช่นกัน
คนที่ปฏิบัติธรรมจนชัดเจน จะสามารถเห็นคนพาลได้ชัดเจน เพราะถ้าตนเองได้ล้างความพาลมาแล้ว ก็จะเห็นความพาล รู้จักความพาล ดังนั้น การเห็นความพาลในคนพาล จึงเป็นผลอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ จะเห็นลีลาอาการวาทะที่บ่งบอกถึงความพาล หรือที่เรียกกันว่าตาทิพย์หูทิพย์
ตาทิพย์ หูทิพย์ของพุทธนั้นไม่ใช่ตาที่เห็นผี เห็นเทวดา อันนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ หูทิพย์ก็ไม่ใช่ว่าได้ยินเสียงแปลก ๆ เสียงไกล ๆ เสียงใกล้ ๆ
แต่ตาทิพย์ หูทิพย์นั้นคือฟังชั่นหนึ่งของปัญญา ที่สามารถจำแนกความเป็นทิพย์และความเป็นพิษที่มีอยู่ในโลก นั่นคือสามารถแยกความเป็นบัณฑิตและคนพาลได้ แยกความเห็นที่ถูกออกจากความเห็นที่ผิดได้ ผ่านการรับรู้ด้วยการมองเห็นและการได้ยิน
ผู้ที่เป็นบัณฑิตจะเห็นคนพาลเป็นคนพาล เห็นบัณฑิตเป็นบัณฑิต ส่วนคนพาล จะไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้จักบัณฑิต ไม่รู้จักคนพาล ดีไม่ดีก็เดามั่วเอา หรือไม่ก็เล่นคำเล่นวาทะพางงไปอีก
สรุปเลยว่าคนที่ยังล้างความพาลในตนไม่ได้ จะไม่เห็นคนพาลชัดเจน ไม่รู้จักคนพาลหรอก เพราะแค่พาลที่สิงในตัวเองยังไม่รู้จักเลย ดังนั้นข้างนอกที่ไกล ๆ เป็นอื่นไปจากตัวเรา ยังไงก็มองไม่ชัด รู้ไม่จริง ได้แค่เดาเอา และส่วนมากจะเดาผิดเพราะตนเองไม่มีภูมิธรรม
พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งในความเป็นพาล จึงสามารถแจกแจงลีลาอาการของคนพาลไว้ชัดเจน แถมยังสอนให้ห่างไกลคนพาลด้วย คนจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต บูชาผู้ที่ควรบูชา
เป็นองค์ประกอบของการปิดทางชั่ว รู้จักสิ่งดี และปฏิบัติตามสิ่งดี ถ้าไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรชัดเจน วิถีแห่งการปฏิบัติก็จะมัว ๆ มั่ว ๆ ไปตามนั้นด้วย
ตั้งแต่พรุ่งนี้ก็จะเริ่มยกระดับการพิมพ์บทความเกี่ยวกับคนพาล โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เริ่มจากชิคุจฉสูตร (เล่ม 20 ข้อ 466) ถ้าได้ศึกษาแล้วรู้จักแยกแยะคนพาลออกจากชีวิตได้ ก็เป็นความเจริญ ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่เรียนรู้แล้วพาให้เกิดความรู้แจ้งทั้งโลกุตระและโลกียะไปด้วยกัน เติมเต็มปัญญาให้ปรากฏทั้งรูปทั้งนามไปด้วยกัน
ความเสแสร้งของคนพาล
ได้ดูคลิปของรายการหนึ่ง ที่ ceo ปลอมตัวไปศึกษาพนักงานนิสัยไม่ดีคนหนึ่ง ก็เป็นคลิปที่ทำให้เห็นตัวอย่างของความกร่างและความเสแสร้งได้ชัด (จะโพสไว้ในคอมเม้นให้ได้ดูกันก่อน)
คือคนนิสัยไม่ดีเนี่ย เวลาที่เขาทำไม่ดี เขาใช้อำนาจ เอาแต่ใจ ทำผิด ฯลฯ เขาไม่ค่อยบอกให้คนอื่นรู้หรอก เวลาเขาไปพบผู้บังคับบัญชาก็จะปิดบังข้อมูลจากปัญหาที่ตนก่อ ทำให้ผู้บังคับบัญชา หัวหน้า เจ้าของ ไม่ได้รับรู้ความจริง
ร้ายไปกว่านั้น คือถ้าคนพาลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เรียกได้ว่ามีอำนาจที่จะบิดเบือนข้อมูลข่าวสารได้มาก คือจะซ่อนปัญหาที่เกิดจากตัวเองไว้ แล้วก็รายงานเรื่องอื่น ๆ ให้ดูเป็นปัญหาใหญ่กว่าความเป็นจริง เป็นต้น
อย่างในเรื่องนี้ เจ้าของแฟรนไชส์สาขานี้ เขาก็ไม่ได้รู้ชัดเจนหรอกว่าผู้รับผิดชอบร้านเขาร้ายแค่ไหน แต่เขาคงพอได้ข้อมูลมาบ้างแหละ แค่ไม่ชัด ceo แฟรนไชส์นี้ก็เลยปลอมตัวไปสังเกตุการณ์ และพบว่าพนักงานคนที่ถูกชี้เป้านี้ ร้ายจริง ๆ ร้ายทั้งต่อพนักงานด้วยกันและร้ายต่อลูกค้า
เราจะได้เห็นตัวอย่างของความกร่าง อวดดี ถือดี ซึ่งส่วนมากก็แบบนี้แหละ อยู่มานาน สะสมอำนาจมานาน ใหญ่คับแผ่นดิน แต่พอโดนตรวจสอบเข้า โดนกล่าวหา ก็กลับกล่าวหาผู้ที่กล่าวหากลับ
ถ้าเราดูเฉพาะช่วงที่ ceo เอาข้อมูลมากล่าวหา ก็ดูจะเหมือนว่าไปรังแกพนักงานคนนี้ยังไงอย่างงั้น นี่คืออาการเสแสร้งแกล้งทำของคนพาล
บางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ คนพาลนี่เขาจะไม่ชอบให้ตรวจสอบ ไปชี้ประเด็นหรือไปทักอะไรเขา ถ้าเราไปทัก ไปถามอะไรที่เกี่ยวกับอำนาจ บารมี หรือการทำงานของเขา เขาจะย้อนกลับมาแรง ๆ จะกล่าวหากลับ เพื่อปกปิดข้อด้อยของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีของคนพาลอย่างชัดเจน คือเมื่อถูกกล่าวหา ก็จะกล่าวหาโจทย์กลับ
เคสนี้ก็เหมือนกัน เขาก็จะโจมตีกลับ ให้เหมือนถูกกระทำ ให้เหมือนโดนเข้าใจผิด ใครไปเจอกับคนพาลนี่คงจะต้องปวดหัวกันเกือบทุกราย เพราะเขาจะไม่ตรงไปตรงมา เหมือนจะตรงแต่ก็ไม่ตรง เหมือนจะจริงใจแต่ก็ไม่จริงใจ ลึกลับ แอบซ่อน กลับกลอก น่าปวดหัวเป็นที่สุด ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปยุ่งมาก
ในเรื่องเขาก็ต้องลงทุนในการหาหลักฐานอ้างอิง ถึงขนาดปลอมตัวเข้าไป จึงจะเอาอยู่ ถ้าไม่มีหลักฐาน จะกล่าวหาไปก็จะกลายเป็นการประชันฝีปากกันเฉย ๆ
จะปราบคนพาลนี่ปราบไม่ง่าย ต้องใช้พลัง ใช้แรง ใช้คนจำนวนมาก ไม่เหมือนปราบบัณฑิต ถ้าคนนั้นมีความเห็นถูก เป็นคนดี ไม่เพ่งโทษ ตินิดเดียว เขาก็ปรับปรุงแล้ว หรือถึงไม่ปรับก็จะไม่มีอาการชังกระแทกกลับมาให้เสียบรรยากาศ
แต่ถ้าไปติเตียนคนพาล จะกลายเป็นเหมือนไฟลามทุ่ง กลายเป็นเขามองว่าเราเป็นศัตรู เขาจะตั้งแง่กับเรา จับผิดเรา จองเวรเรากลับ ถ้าไม่มีบารมีที่มากพอ อย่าคิดจะไปชนกับคนพาลเชียว นอกจากจะใจเสียแล้ว ยังเสี่ยงมารพจญแบบไม่รู้จบอีกด้วย
นั่นเพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้นจะจัดการคนพาลไม่ต้องมากเรื่อง หาหลักฐานที่ชัด ๆ แล้วฟ้องผู้มีอำนาจ สืบสวน สรุปผล จบแล้วจับโยนออกไปเลยจะเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลามากที่สุด เพราะปล่อยให้พูดกันเปล่า ๆ ก็จะแถ เสแสร้ง แกล้งทำกันไปเรื่อย พาลจะสับสนเปล่า ๆ