ทักทาย ๒๕๖๓ : 2020

March 2, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,445 views 0

ปี 2563 นี้เป็นปีที่ขยัน และใช้เวลาให้กับการเรียบเรียงบทความมากเป็นพิเศษในช่วง 1-2 เดือนแรก แต่ก็คิดว่าจะผ่อนลงในเดือนมีนาคมนี่แหละ เพื่อปรับสมดุลการงานในชีวิตให้เหมาะกับความเจริญในทุกทุกด้าน

ปีนี้เริ่มมีการพิมพ์ชุดบทความขึ้นมา เป็นบทความที่สังเคราะห์แบบกว้าง คือเกือบทุกประเด็นที่คิดได้ ก็คือ บทความเกี่ยวกับคนพาล จากที่ได้ทดลองพิมพ์เผยแพร่ พบว่าเป็นงานที่กินพลังงานมากพอสมควร ด้วยความต่อเนื่องของเนื้อหา ด้วยความหนักของเนื้อหาที่ต้องใช้พระไตรปิฎกประกอบ ไม่ง่ายเหมือนกับบทความที่เรียบเรียงจากสภาวธรรมที่มี

ปีนี้ตั้งใจว่าจะพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความรักขึ้นมาสักเล่ม ก็คงจะพิมพ์เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตไปพร้อม ๆ กัน ก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้เสร็จภายในปีนี้ ซึ่งทุกบทความจะเป็นบทความที่เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยผ่านประสบการณ์การพิมพ์บทความเกี่ยวกับความรักมามากมายหลายปีนั่นแหละ

ก็ติดตามกันต่อไปได้ว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร…

การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า

February 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,319 views 1

การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า

ถ้าการไม่คบคนพาลคือมงคล และการคบคนเลวทำให้เลวลง การะช่วยเหลือคนเหล่านี้ จะทำได้หรือไม่? และจะทำอย่างไร?

หลังจากที่นำ “ชิคุจฉสูตร” เกี่ยวกับการคบคนมาพิมพ์อธิบายเนื้อหา จะพบว่าคนที่เขาผิดศีล เน่าใน และพวกคนขี้โกรธ ขี้งอน ขี้น้อยใจนั้น เป็นบุคคลที่ไม่น่าคบหา ไม่ควรแม้แต่การเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ เพราะจะทำให้เกิดภัยในชีวิต ก็ได้มีคำถามเข้ามาว่า แล้วอย่างนี้เราจะช่วยคนอื่นได้ไหม คนที่เขามีศีลธรรมต่ำกว่า แต่เขาเดือดร้อน เรายังจะพอช่วยเหลือเกื้อกูลเขาได้หรือไม่?อย่างไร?

ถ้าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเร่งด่วนถึงแก่ชีวิตและความเดือดร้อนอื่น ๆ อันนี้เราก็ควรจะต้องช่วยเหลือกันให้ผ่อนและคลายจากสถานการณ์หนัก ๆ กันไปก่อน ส่วนที่จะกล่าวถึงนี้เป็นการช่วยแบบทั่วไป ไม่รีบเร่ง ไม่อันตราย มีเวลาที่พอจะใช้สติปัญญาพิจารณาความควรหรือไม่ควรพอเหมาะ

ใน “เสวิสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 465) พระพุทธเจ้าได้แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน แต่ในพระสูตรนี้แบ่งด้วยหมวดของศีล สมาธิ ปัญญา ท่านกล่าวถึงคนที่มีศีลสมาธิปัญญาที่เสมอกันหรือสูงกว่านั้น ควรคบหา ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อความไม่เสื่อมในเบื้องต้นและความเจริญในธรรมที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นเป็นกำไร

ส่วนผู้ที่ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้นั้น ท่านหมายถึงคนที่ “เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา”  มีศีลเลว คือ มีหลักปฏิบัติที่พาทุกข์พาหลง มีสมาธิเลว คือ วนอยู่กับเรื่องพาทุกข์ ไม่พ้นทุกข์จริง มีปัญญาเลวคือ พาแต่ให้ตัวเองและผู้อื่นเป็นทุกข์ เป็นคนมีความเห็นผิดในการปฏิบัติ คือมีการศึกษาศีลสมาธิปัญญาที่ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ละหน่ายคลายจากกิเลส  ความเห็นและการปฏิบัติเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อการหมดสิ้นซึ่งกิเลส แล้วท่านก็ยังตรัสต่อไปอีกว่า “บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน

ท่านก็เตือนเราไว้ว่าอย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยเขาไป แม้เขาจะรู้ผิด ๆ ปฏิบัติผิด ๆ แม้ศึกษาศีลสมาธิปัญญาแต่ก็ยังทำเลวอยู่ ก็ให้ห่างไว้ อย่าไปคบ แต่ก็มีข้อยกเว้นนะ

ท่านก็บอกว่า นอกเสียจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน คือแม้เขาจะเป็นคนไม่ดีเป็นคนหลงผิดอย่างนั้นก็ตาม เราก็ยังพอช่วยเขาได้เป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งจะมีจุดสังเกตในพระสูตรนี้เช่นกัน ในส่วนของการเข้าหาผู้ที่เจริญกว่า จะมีประโยคที่ว่า “บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ” หมายความว่าอย่างไร?

การที่เราทำความเคารพสักการะผู้ที่เจริญกว่า เป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า ให้เกียรติกัน ยกให้เหนือกว่า ยอมให้ทำหน้าที่สอน เป็นการบ่งบอกว่าพร้อมที่จะฟัง (แต่จะทำตามรึเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง) เราก็ใช้หลักการนี้แหละ มาตรวจความพร้อมของคนที่เราจะช่วยเหลือ ว่าเขาพร้อมให้เราช่วยหรือไม่ ใช่หน้าที่เราหรือไม่ เราไม่ควรทำเกินหน้าที่ ไม่ควรทำสิ่งที่เขาไม่ยินดีให้ทำ ไม่ใช่ว่าเราไปทึกทักเอาเองนะว่าเขาอยากให้ช่วย เราทำเพื่อช่วยเขา แต่พอไปถามเขา เขาก็ไม่ยินดี จะไม่ไปยุ่งกับเขา เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาไม่ได้ขอ จะกลายเป็นเบียดเบียนเขาเสียอีก

ในศีลข้อ ๒ อย่างละเอียด จะมีประโยคที่ว่า “รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้” โอกาสในการช่วยเหลือก็เช่นกัน มันจะต้องเกิดเพราะเขาให้เรามา ไม่ใช่เราไปขยันสร้าง แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลนั้น จะเริ่มต้นต่อเมื่อเขาส่งสัญญาณนั้นมาเท่านั้น คือเขาบอกเรานั่นแหละ ว่าให้เราช่วยเขาหน่อย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำได้ ไม่ผิดศีล ไม่บาป

ก็จะครบองค์ประกอบของเสวิสูตร คือคนต่ำว่าก็เคารพคนสูงกว่า คนสูงกว่าก็เอ็นดู อนุเคราะห์คนที่ต่ำกว่า ทำแบบนี้ก็ไม่ขัดในธรรม แต่ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้มีศีลสมาธิปัญญาที่เลิศกว่า เราก็อย่าไปทำเกินความจริงของเขาเลย เพราะจริงของเขาคือเราไม่ได้สูง ดีไม่ดีเขาเห็นเราต่ำกว่าเขาอีก ก็เขาเห็นแบบนั้น มันก็จริงของเขาแบบนั้น เราอย่าไปทำเก๊กท่าหรือทำทีว่าสูงกว่าเขา ก็เป็นแบบที่เราเป็นนั่นแหละ ถ้าเขาไม่ศรัทธา ก็ปล่อยเขาเป็นไปตามกรรมของเขาไป เว้นเสียแต่จะมีประโยชน์อื่น ๆ

ทางฝั่งเขาเราก็ต้องประมาณให้ดี ให้เขาบอก ให้เขาแจ้ง อย่าพยายามเดาเอา มันมักจะผิด บางทีมันจะเดาผิดเพราะเกิดจากตัณหาของเรา เกิดจากความยึดดีของเรา ความสำคัญตนว่าเก่งกล้าสามารถของเรา เราเลยไปทำเกินหน้าที่ กลายเป็นบาป เป็นผิดศีล แม้ผลจะสำเร็จ แต่ก็ขาดทุน เพราะตนผิดศีล แถมผลนั้นก็อยู่ไม่ได้นานหรอก เพราะเกิดจากความดื้อที่จะยัดเยียดสิ่งที่ดีให้เขา แต่เขาไม่ได้ยินดีจากใจเขา บางทีเขาก็รับเป็นมารยาท เพราะเกรงใจเรา เพราะสงสารเรา เพราะอยากตัดรำคาญจากเราก็มี

รู้เรา…

ทีนี้ถ้าฝั่งเขายื่นมือมาเต็มที่แล้ว ก็ต้องพิจารณาฝั่งเรา รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งแม้จะไม่ชนะทุกครั้ง แต่ไม่พลาดไปทำบาป ไม่ทำเกินตัว ก็เรียกว่าไม่ขาดทุนกำไร

การพิจารณาความพร้อมของฝั่งเราก็เหมือนกับ Supply & demand มีความต้องการ มีสินค้า ลูกค้าก็ไม่รอเก้อ ทางฝั่งเราที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นก็ต้องตรวจดูว่าเรามีความรู้ความสามารถที่จะช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ มันพอมือเราหรือมันตึงมือ ก็ต้องหัดเรียนรู้ตัวเองว่าตนเองนั้นมีความจริง มีธรรมะอยู่ระดับไหน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการช่วยเขาได้นั้นคือเรามีสิ่งนั้นจริง ๆ  เช่น เขาต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เรามีเงิน เราก็ให้เขายืมได้ หรือถ้าเขากำลังเจ็บป่วยหนัก เรามีความรู้จริง จึงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการเขาได้ (ถ้ารู้ไม่จริง แก้ผิด มันจะไปทิศตรงข้ามกับความสบาย) ธรรมะก็เช่นกัน เราก็ต้องมีของจริงในจิตตัวเอง ถ้าเราไม่มี เราก็ไม่ควรโกหก ทำวางท่าว่ามี มันจะเป็นบาปซ้อนไป ถ้าเราไม่มี เราก็บอกว่าไม่มี แต่ก็เคยได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ว่ามา พระพุทธเจ้าว่ามา ก็ลองพิจารณาดู เป็นการยืมพลังคนอื่นมาช่วย อันนี้ไม่ผิด เพราะเราไม่ได้โกหก และช่วยเหลือตามที่เป็นจริง

รบกันอีกสักครั้ง…

การลงมือไปช่วยเหลือคือของจริง ซึ่งผลอาจจะดีหรือร้ายก็ได้ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่มีศีลธรรมต่ำกว่านั้น จะต้องวางใจไว้ในเบื้องต้นเลยว่า เขาจะไม่สามารถเข้าใจที่เราสื่อสารได้ทั้งหมด เพราะเขามีความรู้น้อยกว่าเรา ดังนั้นศรัทธาที่เขามีให้เราตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จะช่วยเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดร้ายแรง ความศรัทธากันจะลดการเพ่งโทษถือสา แม้จะช่วยเหลือกันไม่สำเร็จ แต่ก็จะไม่ผิดใจกัน ตรงนี้เราจะต้องประมาณ ต้องสังเกตว่าเขาศรัทธาเราพอที่จะช่วยเหลือเขาไหม บางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้กำลังศรัทธามาก เชื่อถือ เชื่อฟัง เชื่อมั่นกันมาก จึงจะสำเร็จ

พอไปช่วยเข้าจริง อะไรจะเกิดก็ได้ จะดีจะร้ายก็ได้ ถ้ามันดีก็คงจะไม่มีอะไร แต่ถ้ามันร้าย หรือมีร้ายในดี เขาก็อาจจะแสดงอาการไม่พอใจออกมา ตรงนี้แหละที่เราจะต้องประเมินไว้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าเรารับความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จและจะควบคุมอาการตนเองไม่ให้โกรธเมื่อเขาทำไม่ดีกับเราได้ไหม เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย

ทีนี้บุคคลที่เขาเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาเนี่ย เขามีพิษทั้งนั้นแหละ แล้วแต่ว่าจะพิษแรงเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณกิเลสของเขา แล้วที่นี้เราจะไปช่วยคนที่เขามีพิษ แล้วตัวเราเป็นแผล ไม่กันพิษ เราจะรอดไหมล่ะ? ก็เหมือนกับคนที่ยังควบคุมกายวาจาใจไม่ได้ ทะลึ่งไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ เขาก็หันมาโทษเรา แล้วเราดันไปโกรธเขาอีก หาว่าเขาไม่เห็นบุญคุณ อุตส่าห์มาช่วย ฯ อะไรทำนองนี้ ถ้าคิดว่าตนเองไม่ไหว มีโอกาสที่จะออกอาการทุจริตทำนองนี้ อย่ารีบไปช่วยใครเลย รีบช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ดีกว่า เพราะไปช่วยคนอื่นแล้วจะกลายเป็นกอดคอพากันลงนรกเปล่า ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อย่าพรากประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก

คำตรัสนี้เอาไว้ป้องกันความเห็นผิดของเรา เอาไว้กันการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดของเรา เราควรจะจัดความสำคัญให้กับการทำใจตนเองให้ผาสุก ให้พ้นทุกข์ก่อนที่จะไปช่วยคนอื่น แม้ประโยชน์คนอื่นจะมากแค่ไหนก็ตามที กิเลสจะหลอกให้เราไปทำนาคนอื่น ไม่ทำนาตัวเอง ไปทำเรื่องที่ไม่พ้นทุกข์ โดยเฉพาะเรื่องช่วยคนที่ต่ำกว่านี่เป็นเรื่องที่พาลำบากเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง…

ก็มีคนที่เขาสงสัยเหมือนกันว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงยอมให้พระเทวทัตเข้ามาบวชปนอยู่ในหมู่กลุ่ม ทำไมไม่คัดออก ไม่เอาออกไปให้ห่างไกล  ความจริงเรื่องเหล่านี้คืออจินไตย เป็นเรื่องที่คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ไม่ควรคิดเพราะเป็นพุทธวิสัย คือเกินปัญญาของคนที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะเข้าใจได้

แต่ถ้าเราลองเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลาย ๆ สูตรมาศึกษาก็จะพอเห็นภาพได้ว่า มือท่านไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย คือคนที่หมดกิเลสแล้วเนี่ย ท่านจะมีพลังในการช่วยเหลือคน 100% ชีวิตเป็นไปเพื่อผู้อื่น 100% อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พบว่าตนเองรู้อยู่คนเดียวในโลก คนอื่นไม่รู้ นั่นหมายความว่าทุกคนในโลกล้วนเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาสำหรับพระพุทธเจ้าหมด ตอนแรกท่านก็ว่าจะไม่สอน แต่ด้วยจิตเมตตาของท่านและเห็นว่ายังมีคนที่กิเลสน้อย (มีธุลีในดวงตาน้อย) คือสอนให้เห็นจริงได้ไม่ยาก สอนให้พ้นทุกข์ได้ไม่ยาก

จะเห็นได้ว่า แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนทุกคน ไม่ได้ช่วยทุกคนได้นะ ท่านก็สอนแต่ผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อยกับผู้ที่ศรัทธาท่าน เคารพและยินดีจะฟังท่านเท่านั้นแหละ พระเทวทัตที่แม้แต่ชั่วที่สุด เน่าในที่สุด ก็ยังรู้จักปฏิบัติไปตามธรรม คือสร้างภาพลักษณ์ที่พอจะเกาะมาตรฐานไว้ได้ แล้วยังรู้มารยาที่จะเคารพพระพุทธเจ้า และที่สำคัญ พระเทวทัตไม่เป็นภัยต่อพระพุทธเจ้าเลย เพราะแม้พระเทวทัตจะพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์เท่าไหร่ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มีความโกรธ โลภ หรือหลงใด ๆ เกิดขึ้น นี่คือสภาพที่มือไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย คือถ้าเรารักษาใจให้ไม่พลาดได้แล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะเอื้อคนได้หลายฐานะมากขึ้น ทั้งคนดี คนบ้า คนมุ่งร้าย ก็จะสามารถให้เขาอยู่ร่วมกันไปได้ เกาะกลุ่มกันทำดีตามฐานะไปได้

แล้วหมู่สงฆ์จะคัดกรองคนออกไปเอง มันเป็นธรรมชาติที่คนชั่วจะปะปนเข้าไปในหมู่คนดี แต่กระนั้นภาพรวมก็เป็นหมู่ที่มีศีล เป็นพระอริยะ พระเทวทัตจึงทำอะไรศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย คือได้แต่ทำ แต่ไม่มีผลเสียกับส่วนรวม เสียแต่กับตัวเองและหมู่คนพาลที่ตนคบเท่านั้น

สรุปว่าคนที่หมดกิจตนอย่างพระพุทธเจ้า ท่านก็เหลือแต่งานช่วยคนอื่นนั่นแหละ ส่วนจะช่วยใครยังไง เพราะไรนั้น บางทีมันก็เกินจะเข้าใจ เพราะบางเรื่องเป็นเหตุที่สะสมมาหลายต่อหลายชาติ ใช่ว่าจะศึกษากันให้รู้ได้ง่าย ๆ ดังนั้นท่านจึงสรุปว่าพุทธวิสัยนั้นเป็นอจินไตย อย่าไปอยากรู้มันเลย รู้แค่มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย ก็พอแล้ว

ไม่รู้จริงแล้วฝืนรบ…

ถ้าเรารู้จักคนอื่น รู้จักตัวเอง ประมาณธรรมให้เหมาะ ช่วยคนให้เหมาะกับฐานะ จะไม่ผิด จะไม่เดือดร้อนมาก ถ้าเราไม่มีความสามารถจริง หลงไปช่วยแล้วบังเอิญผลออกมาดี แล้วเขาชมเรา เห็นว่าเราช่วยเขาสำเร็จ เราก็ขาดทุน เพราะจริง ๆ ความสำเร็จนั้นไม่เกิดจากความสามารถของเราจริง ๆ หรอก ยิ่งถ้าเราไม่มีความสามารถ ไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ จะพาลให้เพ่งโทษถือสา จองเวรจองกรรมกันไปอีก

แม้เราจะมีความสามารถจริง แต่ใจเขาไม่ได้ศรัทธา เขาไม่ได้ยินดีให้เราช่วย เราไปยัดเยียดดี ช่วยเขา แม้จะเหมือนว่าสำเร็จ แต่จริง ๆ จะไม่สำเร็จ เพราะความจริง หรือความศรัทธาของเขานั้นยังไม่เต็มรอบ เราไปเติมฝั่งเขาด้วยอัตตามานะของเรา ผลที่ได้มันก็จะเป็นภาพลวงเราไปแบบนั้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “เราเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ส่วนการเดินทางเป็นเรื่องของท่าน” เราก็ทำหน้าที่เดียวคือบอกทางเมื่อเขามาถาม ไม่ใช่ว่าไปชี้ ไปพาเขาเดิน เป็นผู้บีบคั้นหักคอให้เห็นทางและจ้ำจี้จ้ำไชให้เดินไปตามทางนี้ซะทีเดี๋ยวนี้ ทำทั้งที่เขาไม่ต้องการนะ เอาภาระแบบนั้น บำเพ็ญแบบนั้น ทำความดีแบบนั้น มันไม่พาพ้นทุกข์ทั้งเขาและเรานั่นแหละ

สรุปตอนท้ายไว้ว่า จะช่วยคนต่ำกว่าก็ช่วยได้ เพียงแต่ควรจะประมาณตนดี ๆ เอาตนเป็นหลักเลย ให้ตนไม่พ้นทุกข์ ไม่ทำบาป ไม่เบียดเบียน ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อันนี้ถือว่าได้สำเร็จผลเป็นส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเรามีใจที่บริสุทธิ์ จากความโลภ โกรธ หลง การช่วยเขาจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ดังประโยคทองของสมณะโพธิรักษ์ว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลก ในที่สุด” ดังนั้น มุ่งทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสไว้ก่อน แล้ววันใดวันหนึ่งข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้าเราก็จะช่วยเขาได้สำเร็จแน่นอน

29.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

บอกเล่า : ชุดบทความคนพาล (จบ)

February 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 879 views 0

ก็คิดว่าบทความเกี่ยวกับเรื่องคนพาลตามที่ได้คิดไว้ก็น่าจะจบลงที่เสวิสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มีการอนุโลมในการช่วยคนอยู่ ก็เรียกว่าเหมาะจะเป็นตัวจบ

เพราะตามโลกมันก็ต้องหลงไปคบคนพาลก่อน > แล้วก็ต้องพัฒนา ออกห่าง ไม่คบคนพาล > ล้างความชิงชังในคนพาล > แล้วก็ล้างความยึดมั่นถือมั่น ไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นอีกทีนั่นแหละ ที่เหลือก็จะเรียนรู้จากความพลาดไป ปรับถอยเข้าถอยออกไป หาจุดที่เป็นกุศลอาศัย

มันจะวนแบบงง ๆ ก็อาจจะมีคนสงสัย ว่าแล้วหลุดพ้นแล้วทำไมยังกลับมาอีก บางทีมันก็อธิบายยาก แต่ก็ยังดีที่มีคำว่า “พระโพธิสัตว์” คือผู้ที่ปัญญาพ้นจากความหลงแล้วกลับมาช่วยคนหลงนั่นเอง

แต่ที่พิมพ์กันหนัก ๆ เพราะว่าส่วนใหญ่ในสังคมเขาก็จะหลงไปคบคนพาลนั่นแหละ บางทีตั้งใจไปปฏิบัติธรรม ไปทำดี ยังพลาดไปคบคนพาล ไปเชื่อใจคนพาลได้เลย

แล้วโทษภัยนี่เขามีมาก อย่าไปเผินว่ามีโทษน้อย เป็นทุกข์น้อย เพราะจริง ๆ เป็นภัยมาก อันตรายเหมือนงู เหม็นเหมือนบ่อขี้ ยังไงก็อย่างนั้น

พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าการไม่คบคนพาล เป็นมงคลในชีวิต “เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

แต่ยุคนี้ยากมาก พลังความดีน้อย คนทำดีน้อย มงคลสูตรนี้มี 38 ประการ 3 ข้อแรกเปรียบเสมือนประตู แต่มาเจอข้อแรกก็ยากแล้ว เหมือนสะดุดขอบทางเดินก่อนเข้าประตูยังไงอย่างงั้น

เหมือนสัมมาทิฏฐิ ถ้าความเห็นผิด ที่เหลือจะผิดทั้งหมดเลย ปัญหาคือเขาก็แปะป้ายว่าสัมมาฯ กันหมดทั้งบ้านทั้งเมืองนั่นแหละ ไม่มีสำนักไหนที่จะแปะป้ายว่าตนเป็นสำนักมิจฉาทิฏฐิสักสำนัก

แล้วก็ปฏิบัติต่างกัน ความเห็นต่างกัน ไม่ไปทางเดียวกัน แต่ขึ้นป้ายสัมมาฯ เหมือนกัน คนเขาก็หลงกันไปตามภูมิล่ะทีนี้ ใครมีทุนเก่ามากก็เจอที่ถูก ใครทำบาปมามาก็เจอที่พาหลง คือไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นโลภ โกรธ หลง กลัว กังวล ระแวง หวั่นไหว ฯลฯ

ถ้าไม่คบคนพาลแล้วเข้าใกล้บัณฑิตไปปฏิบัติบูชานะจะเจริญได้ไวเชียวล่ะ เพราะถ้าทิศทางถูกก็เหลือแต่ความเร่ง ก็เร่งให้เต็มที่ ปฏิบัติธรรมให้เต็มกำลัง ! อ่านแล้วดูดี

ให้นึกภาพรถแข่งที่กำลังเร่งเครื่อง รอสัญญาณปล่อย พอได้สัญญาณแล้วทุกคันก็พุ่งกันไปเต็มที่เลย พุ่งทะยานสุดแรงเกิด แต่ภาพก็คือไปคนละทิศละทาง

8 ทิศก็ว่ายังน้อยไป เรียกว่าไปกันแทบทุกองศาเลยก็ว่าได้ นั่นแหละคือผลของการคบคนพาลในปัจจุบัน ซึ่งจริง ๆ ทางพ้นทุกข์ก็มีทางเดียวนั่นแหละ มรรค 8 ก็มีปฏิบัติแบบเดียว แต่คนเขาก็เข้าใจว่าเขาไป มรรค 8 มีรถ 360 คัน ไป 360 องศา ก็ไปมรรค 8 ทุกคัน

ก็เร่งปฏิบัติกันไป สุดท้ายเดี๋ยวไม่พ้นทุกข์ ก็ต้องเลิกอยู่ดีนั่นแหละ สุดท้ายแล้วเขาก็จะซึ้งใจ ว่าคบคนพาลนั้นพาฉิบหายแบบนี้นี่เอง

น้ำหนักของความรู้สึกในการห่างไกลคนพาล

February 28, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 722 views 0

จากชิคุจฉสูตร จะมีตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเปรียบโทษของการเข้าไปคบหา เข้าไปชิดใกล้คนพาล มีความเน่าในตน ผิดศีล ฯลฯ ว่าเหมือนกับการเข้าไปใกล้งูที่อยู่ในบ่อขี้ แม้ไม่กัดแต่ถ้าไปใกล้ก็จะทำให้เหม็นได้

คนทั่วไปถ้าไม่ได้ศึกษาและปฏิบิติธรรม เขาจะไม่เข้าใจน้ำหนักที่ควรจะห่างไกลคนพาลเหล่านี้ เขาก็คิดว่าไม่เป็นโทษขนาดนั้นล่ะมั้ง ไม่อันตราย ไม่ถึงขนาดต้องห่างไกลหรอกน่า หรือไม่ก็ทำเป็นไม่รู้จัก ไม่สนใจความเป็นภัยของคนพาลไปเลย

การที่พระพุทธเจ้าจะยกอะไรขึ้นมาเปรียบเทียบนั้น ท่านก็มักจะยกสิ่งที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันเพื่อเปรียบเทียบให้รู้สึก ให้เข้าใจ ให้พอเห็นภาร่วมกันได้ง่ายขึ้น

คนพาลนั้นก็เหมือนกับงูในบ่อขี้ ทั้งอันตราย ทั้งเหม็น แม้ไม่กัดแต่มาเข้าใกล้ก็เหม็น มงคลสูตรที่ว่า ห่างไกลคนพาลนั้น คือต้องมีปัญญาเข้าถึงสภาวะว่าคนพาลเป็นโทษดังนี้ คือเหมือนความอันตรายของงู และเหม็นเหมือนขี้

รู้สึกอย่างไรกับงู ก็รู้สึกกับคนพาลนั้นใกล้เคียงกัน คืออันตราย เป็นภัย ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่น่าเข้าไปยุ่งใด ๆ แม้มันจะมีหรือไม่มีพิษ หรือแม้จะกัดหรือไม่กัดก็ตาม คนทั่วไปเขาก็จะไม่อยากเข้าไปใกล้งู อันนี้คือสภาพจิตของคนที่คนใจภัยของคนพาล ก็จะห่างคนพาลไว้ เพราะพิษภัยอันตรายเหล่านั้น

ส่วนบ่อขี้ หรือขี้นี่ก็เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่รังเกียจอยู่แล้ว ยิ่งงูตกถังขี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะปกติขี้มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น จะเหม็นโชยขึ้นมาก็เพราะมีอะไรไปเขี่ยหรือทำให้ขยับ แต่ถ้ามีงูไปตกถังขี้แล้วเลื้อยมาทางเรา ก็คล้าย ๆ จะกลายเป็นขี้เดินได้ ทั้งอันตรายทั้งน่ารังเกียจ

ความเห็น ความเข้าใจและชื่อเสียงที่ไม่ดีของคนพาลเช่นกัน ก็เหมือนกับขี้นั่นแหละ คนทั่วไปรังเกียจอย่างไร กับความเน่าในของคนพาลก็มีน้ำหนักเท่านั้นเช่นกัน

ถ้าเห็นความพาลในคนพาล เห็นการโทษของการผิดศีลในคนผิดศีล เห็นความเน่าในตนของคนเสแสร้งได้ชัดเจนแจ่มแจ้งจริง ๆ จะเข้าใจน้ำหนัก ว่าควรจะรักษาระยะห่างในการคบหาเท่าไหร่จึงจะดี ควรจะห่างไปไกลเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย

มันก็เป็นเรื่องง่ายที่เข้าใจได้ยากมากถึงยากที่สุด เพราะคนพาลนั้นรู้ไม่ได้ง่าย ๆ ส่วนมากก็จะเสแสร้งแกล้งทำตัวเป็นคนดี หลอกคน ถึงขนาดว่าขี้ที่เปื้อนก็ยังเป่ามนต์ให้หอมได้ เป็นของวิเศษได้ แบบนั้นก็มีเหมือนกัน

แต่บางคนเขามีวิบากกรรมที่ต้องหลง เพราะเคยไปส่งเสริมมามาก มีกรรมก็ต้องรับกรรม แต่เมื่อรู้แล้ว ชัดแล้ว เห็นความเป็นพาล เห็นความผิดศีลเน่าในแล้ว ก็ควรจะถอยห่างออกมา