ข้อคิด

ผ่าน พบ จบ จาก

April 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,119 views 0

ผ่าน พบ จบ จาก

ชีวิตดำเนินผ่านเหตุการณ์และผู้คนมามากมาย

ได้พบเจอกับใครสักคนเข้ามาในชีวิต

เข้ามาเป็นสีสัน เรื่องราว ความทรงจำ

ไม่ว่าจะดีหรือร้ายอย่างไร

สุดท้ายทุกความสัมพันธ์ก็ต้องจบลงไป

แต่เรามักจะไม่ยอมปล่อยให้มันจากไป

แม้ว่าสิ่งนั้นจะได้จบลงไปแล้วแต่เรายังเก็บเศษซากของมันไว้

ไม่ยอมปล่อยให้มันได้จากไปจากความทรงจำของเรา

เป็นซากแห่งความทรงจำที่ยังคอยตามมาหลอกหลอน

ให้เราต้องวนอยู่ในสุขและทุกข์อย่างไม่มีวันจบสิ้น

การยอมปล่อยให้ทุกความทรงจำจากไป

โดยไม่เหนี่ยวรั้งไม่ผลักไส ไม่ทุกข์ ไม่สุข

ปล่อยให้มันจางหายและจากไปตามที่มันควรจะเป็น

คือการให้อิสระกับตัวเองอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมไม่ลงเอย

March 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,202 views 0

ทำไมไม่ลงเอย

ถาม : มีความรักแล้วจบลงด้วยการเลิกราทุกครั้ง คนที่รักไปแต่งงานกับคนอื่น มีวิบากกรรมอะไร ทำไมถึงไม่ได้ลงเอย

ตอบ : เพราะไม่ได้มีกรรมร่วมกัน ก็เลยไม่ได้ลงเอย คนที่ไม่ได้ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาจนมีพลังงานที่พอเหมาะ คือไม่มีนามธรรมที่สมเหตุสมผล จึงไม่เกิดรูปธรรม คือไม่เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น

ถ้าตอบตามแบบทั่วไปก็จะตอบได้ว่าสะสมบุญบารมีร่วมกันมาไม่มากพอ แต่จริงๆแล้วการคู่กันจนกระทั่งได้แต่งงานนั้นคือ “บาปและอกุศล” ดังนั้นถ้ามองตามความจริง คนที่ได้คบหาดูใจกัน จนกระทั่งแต่งงานมีลูกด้วยกันนี่แหละคือคนที่มีเวรมีกรรมต่อกันจะต้องมาใช้หนี้กันและกัน แต่ในระหว่างใช้หนี้เก่าก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีครอบครัวผูกมัดไว้เพื่อใช้หนี้กรรมอย่างไม่จบไม่สิ้น

จะขอตอบขยายเพิ่มเติมเพื่อไขข้อข้องใจอื่นๆดังนี้

1). กรรม

ผลของกรรมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน ส่วนเราไปทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ก็คงพอจะนึกย้อนได้ แต่ของเก่าก็อย่าไปเดาให้เสียเวลา ให้รู้ชัดๆแค่ว่าสิ่งนี้แหละ ฉันทำมาเอง ฉันเป็นคนทำแบบนี้มา ก็แค่รับสิ่งที่ตัวเองทำมาก็เท่านั้นเอง

กรรมที่เห็นนั้นมีความซ้อนของกรรมดีและกรรมชั่วปนกันอยู่ หลายคนอาจจะมองว่าการไม่ได้แต่งงานเกิดจากกรรมชั่ว ซึ่งนั่นก็ไม่แน่เสมอไป แต่ที่แน่นอนคือกรรมชั่วทำให้เกิดความทุกข์ ส่วนการไม่ได้แต่งงานนั่นแหละคือกรรมดี เพราะทำให้เราแคล้วคลาดจากการผูกมัดด้วยบ่วงกรรมถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที

ในความไม่ดีมันก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ดังนั้นหากจะเหมาว่าเป็นกรรมชั่วทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่

2). ทุกข์จากการเสียของรัก

เมื่อสูญเสียสภาพของคู่รัก หรือคนที่หมั้นหมายว่าจะแต่งงานไป ก็คือการเสียของรัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหน

ถึงจะได้คบหาหรือแต่งงานไป สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียไปในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี ไม่ตายจากไป ความรักนั้นก็อาจจะตายจากไปแทนก็ได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆก็ตาม แม้ว่าจะรักและดูแลดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็จะต้องเสียมันไป

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากสภาพที่ไม่ได้เสพของรักอย่างเคย ซึ่งเกิดจากการเสพติดหรือการยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมาเป็นของตนแล้วหมายว่าจะได้เสพสิ่งนั้นตลอดไป พอโดนกรรมของตัวเองแย่งของรักไปก็ทุกข์ใจ โวยวาย ร้องห่มร้องไห้กันไปไม่ต่างอะไรจากเด็กโดนแย่งของเล่น

3). คุณค่าในตน

ความทุกข์จากการสูญเสียแท้จริงแล้วมาจากความพร่อง เราจึงใช้สิ่งอื่น หรือคนอื่นเข้ามาเติมเต็มความพร่องในชีวิตจิตใจของเราเอง อย่างเช่นว่าเราเหงา เราก็เลยอยากหาใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน หรือว่าเราอยากสบายเราก็เลยอยากหาใครสักคนที่จะฝากชีวิตไว้ฯลฯ

ซึ่งความพร่องเหล่านี้เองทำให้เราพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่มีวันที่จะหาใครที่พอเหมาะพอดีกับอัตตาของตัวเองได้ เว้นแต่ตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป แม้จะหาคนที่หมายมั่นได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งเสียไปก็ต้องเสียใจอยู่ดี

ดังนั้นการแก้ปัญญาจึงควรเพิ่มคุณค่าในตนเอง สรุปง่ายๆเลยว่าใช้การเพิ่มอัตตาเข้ามาบดบังพื้นที่ ที่เคยว่างเว้นให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มชีวิต คือทำให้ชีวิตตนเองนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าและความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ดังคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าไปหาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา อย่าเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ใช้อัตตาของเรานี่แหละทำเราให้เป็นคนที่เต็มคน

และต่อมาเมื่ออัตตาเต็มก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แข็งแกร่ง อดทน แล้วตอนนั้นก็ค่อยจัดการกับอัตตาในตัวเองต่อ จนกระทั่งกำจัดอัตตาหมดก็ถือว่าจบภารกิจในเรื่องคู่

4). อย่าหลงตามสังคม

ที่มาของคุณค่าลวงๆก็มาจากคำลวงในสังคมนี่แหละ ที่หลอกกันต่อๆมาว่าคนมีครอบครัวถึงจะมั่นคง คนมีคู่ถึงจะมีคุณค่า เรามักจะได้ยินคำว่า “ไม่มีใครเอา” หรือเข้าใจโดยสามัญว่าคนที่มีอายุสัก 30 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้แต่งงานคือคนที่กำลังจะขึ้นคานเพราะไม่มีใครเอา

ความเห็นความเข้าใจแบบโลกๆนี้เป็นความเข้าใจที่มาจากกิเลส มาจากความไม่รู้ มาจากความหลงผิด มาจากความโง่ ในความจริงแล้วเราควรจะสรรเสริญความโสด แต่คนผู้หนาไปด้วยกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะความโสดจะทำให้ไม่ได้เสพ ไม่ได้สมสู่ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าการแต่งงานมีคู่นี่แหละดี เพราะตนเองจะได้เสพอย่างไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะใครๆก็ทำกัน

สังคมอุดมกิเลสแบบนี้ก็จะมีความคิดไปในทางสะสมกิเลส สนองกิเลส สร้างวิบากบาป พาลงนรก ถ้าเรายังตามสังคมไปโดยไม่มีปัญญาก็จะเสื่อมไปตามเขาเป็นแน่ แต่ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นหลักไม่ปล่อยให้ชีวิตตกร่วงไปตามสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

5). ความเบื่อแบบโลกๆ

ความรู้สึกเบื่อกับปัญหา หรือเบื่อความรักจนไม่ยอมหาความรัก อย่าคิดว่านั่นคือกิเลสตาย เพราะความเบื่อนั้นก็แค่ความเบื่อแบบโลกๆ ที่มีเหตุผลอื่นเป็นตัวกดข่มความอยากหรือยังไม่ถึงเวลาที่ควรของกิเลสนั้นๆ

ตัณหา(ความอยาก)เมื่อไม่ได้แสดงอาการจะสั่งสมลงไปเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เก็บเป็นพลังบาปไว้อย่างนั้น เมื่อเจอคนที่ถูกใจจากคนที่เคยเบื่อๆก็อาจจะอยากมีความรักก็เป็นได้

ซึ่งในสภาพของการทำลายกิเลสนั้น จะต้องทำลายตอนที่มีความอยาก ไม่ใช่ปล่อยให้ความอยากสงบจนเป็นอุปาทานแล้วบอกว่าเบื่อหรือบอกว่ากิเลสตาย สภาพนี้เองที่ทำให้คนที่เจ็บจากความรัก คนป่วย คนแก่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจความรักทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นเป็นความเบื่อแบบโลกๆเท่านั้นเอง

คนที่แต่งงานแล้วเบื่อครอบครัวก็เช่นกัน เพราะมันได้เสพจนเบื่อแล้วมันก็เลยเกิดอาการเบื่อแบบโลกๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราหลงไปว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความรักแล้ว เลยทำให้ไม่ศึกษาเรื่องกิเลสให้ถ่องแท้ เกิดมาชาติหน้าก็มีคู่อีกแล้วก็เบื่ออีกเป็นแบบนี้วนไปมาเรื่อยๆ

6). ขอบคุณความโสด

ความโสดดำรงสภาพได้จนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมานะ คนที่เข้ามาคบหา คนที่เข้ามาบอกว่าจะแต่งงานกัน แม้ว่าสุดท้ายเลิกราหรือหนีไปแต่งงานกับคนอื่นก็ตาม

นั่นคือโอกาสที่เราจะไม่ต้องไปรับเวรรับกรรม ไม่ต้องไปทำบาป ไปสะสมบาป คอยสนองกิเลส ไม่ต้องเอาใครมาผูกเวรผูกกรรมกันอีกไม่ต้องมีสิ่งไม่ดีร่วมกันอีกเลย

แต่ที่เราไม่ขอบคุณความโสดเพราะเรามีกิเลสมาก กิเลสจะบังคุณค่าของความโสดจนมิด เรียกว่าโสดไร้ค่าไปเลยทีเดียว ถ้าได้ลองล้างกิเลสของความอยากมีคู่จนหมดจะรู้ได้เองว่า ความโสดนี่แหละคือคุณค่าแท้ๆที่เหลืออยู่ ส่วนความรู้สึกสุขของคนมีคู่นี่มันของเก๊ มันคือสุขลวงๆ ที่เอามาหลอกคนโง่ให้ทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

30.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศีลธรรมไม่ได้เสื่อมลง

March 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,603 views 0

ศีลธรรมไม่ได้เสื่อมลง
คนไม่ได้เสื่อมจากศีลธรรม

เพราะศีลธรรมนั้นไม่มีอยู่ในคนตั้งแต่แรก…
ความเจริญในศีลธรรม อยากได้ต้องสร้างเอง

……………………

ใกล้กลียุคนี้เอง คนดีค่อยๆตายจาก คนชั่วค่อยๆเกิดขึ้น สังคมไม่ได้เสื่อมจากศีลธรรมไปตามยุคสมัย แต่เสื่อมจากการค่อยๆสูญเสียคนดี และคนไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย

เป็นธรรมชาติของโลกที่จะหมุนวนเจริญและเสื่อมไปแบบนี้ สลับสับเปลี่ยนไปมาไม่รู้กี่ล้านล้านล้าน….รอบแล้ว

คนดีที่ยังยินดีอยู่กับเรื่องโลก วนอยู่ในโลกธรรม ยังยินดีเสพสุข ก็จะทุกข์จากความเสื่อมที่จะเข้ามา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะหันเหชีวิตมาแสวงหาทางออกจากโลก

…ออกจากโลกียะ ไปสู่โลกุตระ โลกใหม่ที่หยุดทุกการเคลื่อนไหว และทวนทุกกระแสโลกเดิม

– – – – – – – – – – – – – – –

29.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปตามโลก

March 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,301 views 0

เกิด ไปตามโลก
แก่ ไปตามโลก
เจ็บ ไปตามโลก
ตาย ไปตามโลก

…โลกหมุนไปทางไหนก็ไปทางนั้น
…สังคมเป็นเช่นไรก็เป็นไปตามเขา
…กิเลสจูงไปทางไหนก็ไปตามมัน

ในยุคสมัยที่กระแสโลกีย์รุนแรงเช่นนี้ ยากนักที่จะเอาตัวรอด ถึงจะมีโอกาสได้พบธรรมะแต่ก็มักจะประมาท ไม่ศึกษาเล่าเรียน มุ่งเอาแต่เรื่องโลกเป็นที่หมาย

ที่สุดของโลกแล้วยังไง ร่ำรวย มีหน้าที่การงานดี มีคนนับหน้าถือตา เป็นที่ยอมรับ มีความสุข…แล้วยังไง มันสุขอย่างนั้นได้ตลอดไปไหม? มันก็วนเวียนสุขทุกข์ไปตามโลกเขานั่นแหละ

คนที่หลงติดในโลกธรรมก็มัวเมาวนเวียนอยู่กับเรื่องแค่นี้ หลงสุขแล้วติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แม้จะรับรู้ว่าสิ่งดีกว่านี้ยังมีแต่ก็ไม่เชื่อ รู้นะแต่ไม่เชื่อ ฟังนะแต่ไม่ศรัทธา สนใจนะแต่ไม่พยายามศึกษา

เพราะยึดมั่นถือมั่นว่าสุขที่ตนมีนั่นแหละสุดยอด หลงยึดไปว่าชีวิตเป็นอยู่นั้นดีมากพออยู่แล้ว มีคุณค่ามากพออยู่แล้ว จึงใช้ชีวิตเสพสุขลวงรับทุกข์จริงไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

วนเวียนรับสุขและทุกข์เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน…จนกว่าจะมีปัญญาที่มากพอจะเห็นคุณค่าของการไขว่คว้าหาหนทางที่จะออกจากโลกีย์แห่งนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.

– – – – – – – – – – – – – – –

11.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)