ข้อคิด
โสดจนสูญพันธุ์?
โสดจนสูญพันธุ์
ถาม: ถ้าคนพากันโสดทั้งหมด ไม่มีคู่ครอง โลกจะเป็นอย่างไร คนจะสูญพันธุ์หรือไม่?
ตอบ: ในโลกนี้มีศาสนามากมายอยู่หลายศาสนา และศาสนาที่จริงจังกับการครองตนเป็นโสดเพราะรู้แจ้งในโทษชั่วก็คงจะมีแต่ศาสนาพุทธนี่แหละ ดังนั้นอัตราส่วนของคนที่ครองคู่และสืบพันธุ์ก็ย่อมมากกว่าคนที่คิดจะโสดในระดับหนึ่งแล้ว
ทีนี้มองย่อยลงมาที่พุทธศาสนิกชน แม้ว่าในประเทศไทยแห่งนี้จะมีธรรมในพระพุทธศาสนาประกาศอยู่แล้วก็ตาม การจะพาตนเองไปถึงธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าคนจะถือศีล ๕ ได้นั้นก็ยากสุดยากแล้ว การจะหวังคนให้ถือศีล ๕ ทั้งประเทศก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดหวัง และการครองตนเป็นโสดนั้นอยู่ในฐานของศีล ๘ ซึ่งกระทำได้ยากกว่าศีล ๕ มากมายนัก จึงทำให้อัตราส่วนของคนที่คิดจะโสดน้อยเข้าไปอีก
ทีนี้คนที่ถือศีล ๘ หรือมากกว่านั้น ก็มีทั้งถือแบบงมงายบ้าง ไม่รู้สาระบ้าง โอกาสที่กิเลสจะกำเริบจนทิ้งศีลไปหาคู่ก็มีมากมาย เรื่องดังเช่นว่าพระสึกไปมีคู่ ก็มีให้เห็นกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ที่ตัดสินใจโสดจึงมีอัตราส่วนน้อยลงไปอีก
ด้วยอัตราส่วนที่มีนัยสำคัญแบบเห็นกันได้ทั่วไปจนไม่ต้องไปทำงานวิจัยหาข้อมูลให้วุ่นวายจึงสรุปได้ว่ามนุษย์ไม่มีทางสูญพันธุ์ด้วยเหตุแห่งการถือศีล ครองตนเป็นโสดอย่างแน่นอน ซึ่งโอกาสที่มนุษย์จะสูญพันธุ์จากสาเหตุอื่นเช่น โลกแตก ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า
ตอบกันเชิงปริมาณไปแล้ว คราวนี้มาตอบเชิงคุณภาพกัน
เรื่องการครองตนเป็นโสดนี้ ขนาดพระพุทธเจ้าซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก ก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนละทิ้งความอยาก แล้วหันมาครองความโสดได้เลย แม้แต่ภิกษุที่บวชในสมัยพุทธกาลก็ยังมีคนสึกกลับไปมีครอบครัว แล้วในยุคนี้จะมีใครมีความสามารถที่จะสอนให้คนเห็นคุณค่าของความโสดขนาดที่ว่ายอมโสดกันทุกคนได้
ธรรมชาติของสัตว์คือเกิดขึ้นมาแล้วสืบพันธุ์ นี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ทำกัน แต่มนุษย์ที่จะมีปัญญาพอที่จะเห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการมีคู่ครองนั้นจะมีอยู่สักเท่าไหร่ ในเมื่อการไม่มีคู่ การไม่สืบพันธุ์ นั้นคือการฝืนธรรมชาติ การขัดธรรมชาติ การเป็นไปเพื่ออยู่เหนือธรรมชาติอย่างชัดเจน
ธรรมะของพระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อทวนกระแสโลก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คนอื่นเขามีคู่กัน ครองเรือนกัน สมสู่กัน แต่สาวกของพระพุทธเจ้าพยายามที่จะลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งการฝืนธรรมชาติคือกิเลสตัณหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย หากไม่มีทิฏฐิที่ตั้งตรงสู่การพ้นทุกข์ และการพากเพียรที่เรียกได้ว่าถวายชีวิตให้ธรรม ก็คงจะไม่สามารถผ่านไปได้
คนทั่วไปนั้นจะเข้าใจว่ามนุษย์ต้องดำเนินไปตามธรรมชาติ เกิดมาสืบเผ่าพันธุ์ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แนวความคิดของพุทธ เพราะพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราเกิดมาด้วยการสมสู่แต่เราไม่จำเป็นต้องไปสมสู่ ให้ละจากสิ่งนั้นเสีย นี้คือความเห็นสู่การพ้นทุกข์ เป็นเครื่องมือออกจากโลก (โลกียะ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงปัญญาอันรู้แจ้งในกิเลสเช่นนี้
ดังนั้น มนุษย์จึงพากันมีคู่ครองด้วยตัณหาและอุปาทาน คือมีความอยากในการได้เสพสมใจตามความหลงผิดที่ตนได้ยึดมั่นถือมั่นไว้ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ด้วยว่า การสมสู่คือการเสพที่ไม่มีวันอิ่ม ดังนั้นการที่มนุษย์จะหมดโลกนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสย่อมไม่มีวันอิ่มจากกามเมถุน เขาเหล่านั้นจะเสพไปเรื่อยๆ จะส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพไปเรื่อยๆ และเขาเหล่านั้นก็สร้างลูกหลานของเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆเอง
ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวลกับอนาคตของมนุษย์ เพราะความจริงแล้วหากกิเลสยังไม่ดับไป สุดท้ายเราก็ต้องเกิดขึ้นมาเสพอยู่ดี ไม่ว่าโลกไหน จักรวาลใด จิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยกิเลสจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อเสพอยู่เสมอและเป็นเช่นนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น
– – – – – – – – – – – – – – –
2.5.2558
การมีความรัก เพื่อขัดเกลากิเลส
การมีความรัก
เพื่อขัดเกลากิเลส
ก็ตกอยู่ภายใต้กิเลส
…ตั้งแต่แรกแล้ว
= = = = = = = = = = =
การที่คนเราจะไปหลงสุขในการมีคู่ครองนั้นคงจะไม่แปลกอะไรสำหรับคนทั่วไป
แต่คนที่หันหน้ามาหาธรรม เข้ามาปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมีทิศทางที่ไปสู่การมีคู่
โดยอ้างเหตุผลต่างๆนาๆ ให้การมีคู่มีน้ำหนัก มีคุณค่า มีเหตุมีผล น่าได้ น่ามี น่าเป็น
เป็นพลังของกิเลสที่พาให้หลงไป ให้หลงคิดว่าวิธีเรียนธรรมของตนนั้นดีเยี่ยม
เพราะได้ทั้งเสพสุขและปฏิบัติธรรมไปในตัว เป็นความโง่สุดโง่ที่หลงไปในกิเลส
โดนกิเลสจูงให้ไปเสพโดยที่คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้มีปัญญา สมดุลโลกและธรรม
กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชั่วแบบนี้ มันทำให้เราเป็นคนไร้เดียงสาที่คิดว่าตนฉลาดที่สุด
….ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการล่อลวงของกิเลส อยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลส
ทำให้จมอยู่ในความหลงผิด เชื่อในทางที่ผิด และเห็นทางที่ผิดเหล่านั้นเป็นทางที่ถูก
แล้วมันจะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ในเมื่อตนนั้นหลงอยู่ในกิเลส ขัดยังไงก็อยู่ในกิเลส
เหมือนคนที่คิดจะไปอาบน้ำขัดตัวโดยหวังความสะอาด แต่กลับลงไปขัดตัวในบ่อเก็บขี้
ขัดไปมันก็มีแต่เปื้อนขี้ปนเชื้อโรค แล้วมันจะสะอาดไหม? มันจะสุขไหม? มันจะดีไหม?
ท่านผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ก็ลองพิจารณากันดู ว่ามันจะคุ้มไหม?
มันจะได้มากกว่าเสียจริงไหม? ถ้าท่านเห็นว่าเป็นทางที่ไม่ควรก็พึงละเสีย พรากจากทางนั้นเสีย
อย่าได้เข้าใกล้ อย่าไปคลุกคลี อย่าปล่อยใจให้เผลอไปตามกลลวงของกิเลสที่คอยยั่วเย้า
แล้วเพียรพิจารณาให้เห็นโทษภัยตามความเป็นจริง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้กันเถิด
– – – – – – – – – – – – – – –
2.5.2558
รักไม่มีเงื่อนไข
รักไม่มีเงื่อนไข
นิยามของความรักนั้นมีมากมายตามแต่ใจของใครจะปั้นแต่งขึ้นมา และนิยามที่ว่า รักแท้นั้นไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ ก็เป็นนิยามหนึ่งที่มีความหมายลึกซึ้งมาก
ในมุมมองของคู่รัก คำว่า “รักไม่มีเงื่อนไข” นั้นดูเหมือนการเฝ้าดูแลเอาใจใส่ ยอมอดทนเสียสละ หวังดีให้กับคู่รักของตนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งก็ถือว่าดีแล้วในเบื้องต้น
แต่คำว่า “รักไม่มีเงื่อนไข” แท้จริงแล้วยังมีนัยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นซ่อนอยู่ นั่นคือการรักโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลย ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นคู่รัก ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นคนรู้จัก ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นมิตรหรือศัตรู ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนเสียด้วยซ้ำ จะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือต้นไม้ แม่น้ำ อากาศ ก็สามารถรักได้หมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆมากั้นขอบเขตของความเมตตาได้
ดังนั้นรักที่ไม่มีเงื่อนไขจึงมีทั้งความลึกและกว้าง ความลึกนั้นคือลึกซึ้งในเนื้อหาสาระ ส่วนความกว้างคือขอบเขตของรักที่กระจายออกไปโดยไม่มีกำแพงของความเห็นแก่ตัวใดๆมากั้นไว้
ถ้าเราสามารถรักได้แบบไม่มีเงื่อนไขได้จริง เราจะไม่ผูกใครไว้กับเรา เราจะไม่เจาะจงว่าจะรักใคร เราจะไม่สร้างเหตุให้เราได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะไม่ไปยึดมั่นสิ่งใดๆทั้งปวงในโลกเลย
การที่รักนั้นยังมีอยู่แค่ในคู่รัก จึงเป็นความรักที่คับแคบ เห็นแก่ตัว สร้างเงื่อนไขว่าจะรักแค่สิ่งที่ตนชอบใจเท่านั้น จะรักแต่คนที่สนองกิเลสให้ตนได้เท่านั้น จะรักแต่คนที่มีประโยชน์สร้างความสุขให้ชีวิตตนเท่านั้น
เมื่อรักนั้นถูกกำหนดกรอบด้วยตัวบุคคล วัตถุ สิ่งของ ความเชื่อ สังคม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ รักนั้นจึงได้ชื่อว่ายังมีเงื่อนไขอยู่นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
27.4.2558
เส้นบางๆของที่ขีดกั้นความหลงผิด
วันนี้ไปร้านหนังสือ เห็นหนังสือศาสนาพุทธกับหนังสือประเภทดูดวง อภินิหาร อำนาจวิเศษ ของขลัง ฯลฯ วางอยู่ติดกัน และนึกได้ว่าพวกมันมักจะถูกวางไว้ติดกันเสมอ เรียกว่ากลืนไปด้วยกันเลยก็ว่าได้
ในความจริงแล้ว พุทธไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย เรียกว่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำ แต่ความจริงในปัจจุบันกลับถูกปะปนจนเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียได้
เส้นที่แบ่งคนที่ถูกตรงกับคนที่หลงผิดอยู่ตรงไหน?
ขีดของคนที่รู้แจ้งกับคนที่หลงมัวเมาตัดกันตรงไหน?
โลกุตระกับโลกียะแบ่งกันด้วยฐานะอย่างไร?
สาระแท้กับสิ่งไร้สาระแบ่งแยกด้วยอะไร?
มาถึงยุคนี้ก็… ตัวใครตัวมันแล้วกัน…
…ศึกษาเพื่อเอาตัวรอดกันไป