ข้อคิด
ทางสายกลางของพุทธ
ดูละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 35 เป็นบทที่แสดงการเทศนาครั้งแรก เนื้อหาที่สื่อมานั้นเข้าใจได้ง่าย ซึ่งผมจะหยิบยกในเรื่องของทางสายกลางในมุมทางโต่งสองด้านมาขยายกัน
“อย่าให้ร่างกายอดอยาก หรืออย่าสนองกิเลสของมัน จงแน่วแน่อยู่ตรงกลาง” คือบทแปลในละครตอนนี้ เป็นสภาวะของทางสายกลางที่ถูกปั้นแต่งให้ดูเป็นบทพูดที่เรียบง่าย แต่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก
ทางสายกลางของพุทธไม่ใช่การอยู่ตรงกลางระหว่างทางโลกและทางธรรม แต่เป็นกลางบนทางธรรม ไม่เข้าไปในส่วนสุดโต่งสองด้าน คือทางกามสุขัลลิกะ (อย่าสนองกิเลสของมัน) และ อัตตกิลิมถะ (อย่าให้ร่างกายอดอยาก)
นั่นคือไม่เสพทั้งกามและไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาที่ยึดดีถือดี นี่คือความโต่งที่ต้องเลี่ยง ซึ่งในทางปฏิบัติมันจะไม่ง่ายเพราะเดี๋ยวก็เซไปข้างหนึ่งที เซไปอีกข้างหนึ่งที หรือไม่ก็ไปติดอยู่ข้างใดข้างหนึ่งจนไปไหนไม่ได้
ผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงควรไม่เอาตัวไปหมกกับการเสพสุขทั้งหลาย (กาม) และไม่ยึดดีถือดีจนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับร่างกายและจิตใจของตน(อัตตา)
ผู้ที่ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หรือไตรสิกขานั้น จะสามารถเข้าใจสภาวะของทางโต่งสองด้านและทางสายกลางได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อถือศีลใดๆแล้ว จะได้เรียนรู้ขอบเขตของความโต่งและทางสายกลางว่าจุดใดคือโต่งไปทางกาม จุดใดคือโต่งไปทางอัตตา และจุดใดคือตรงกลาง ซึ่งเมื่อปฏิบัติศีลนั้นจนชำระกิเลสในใจได้แล้วก็จะเข้าใจสภาพของทางสายกลางในศีลนั้นๆอย่างถ่องแท้
– – – – – – – – – – – – – – –
4.7.2558
ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง
ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง
หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?
ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….
- ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
- ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
- แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
- ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
- เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
- . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที
ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ
1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ
ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้
2). กิเลสในคนดี
ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง
3). กรรมเขากรรมเรา
ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย
แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี
4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้
การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป
5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์
การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ
การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง
การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที
6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส
การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ
การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม
การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้
– – – – – – – – – – – – – – –
3.7.2558
กินมื้อเดียวแล้วหน้าเด็ก
ช่วงนี้มีกระแส “กินมื้อเดียวหน้าเด็ก” ที่แชร์กันมากมายสังคมออนไลน์นี้
ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่มีนายแพทย์ชาวญี่ปุ่นทดลองแล้วเอามาบอกผลกัน ผมซื้อหนังสือ “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” ของเขามาแล้วแต่ก็ยังไม่มีโอกาสหยิบมาอ่านสักที แต่จากที่่ดูคร่าวๆก็เป็นการทดลองที่มีิทฤษฏีอ้างอิงและการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์นะ
มาเข้าเรื่องกันดีกว่า…
การกินมื้อเดียวในมุมของชาวพุทธเรานี่ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งผลประโยชน์ทางโลก อะไรเลยนะ ไม่ได้กินเพราะต้องการจะได้อะไรเลย แต่ก็รู้ว่ากินแล้วมีประโยชน์
จริงๆแล้วการกินมื้อเดียวนี่แหละ คือความพอดีที่สุดในโลก เหมาะสมที่สุด ทำให้ร่างกายแข็งแรงที่สุด แต่การเข้าถึงความพอดีนั้นก็ไม่ใช่ง่าย เพราะการกินมื้อเดียวถือเป็นศีลในระดับ “ยาก”
คำว่ากินมื้อเดียวนี่ไม่ใช่กินแค่วันพระนะ แต่กินไปตลอดชีวิตนั่นแหละ โดยเป้าประสงค์คือกำจัดกิเลสในการอยากกินอาหารหลายมื้อให้หมดสิ้นไป ความอยากนี่มันสร้างทุกข์อย่างมากนะ มันจะหาเหตุผลให้กินหลายมื้อท่าเดียว แถมไปหลอกจิตให้สั่งกายให้หลั่งน้ำย่อย อาการปวดท้อง ทำให้อ่อนแรง โอย…วุ่นวาย
แล้วก็ไม่ใช่กินอย่างยึดมั่นถือมั่นนะ คือกินอย่างมีปัญญารู้ว่ากินมื้อเดียวดีอย่างไร แต่ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องกินได้มื้อเดียวแบบพอดีตลอดชีวิต เอาเป็นว่าค่ารวมๆจะได้มากกว่า 90% ซึ่งอาจจะพลาดตรงการประเมินอาหารที่ต่างไปจากปกติ ความเจ็บป่วย ภาระหน้าที่ที่สำคัญ ฯลฯ
คนกินมื้อเดียวได้ ก็จะเข้าใกล้ความไม่มีเข้าไปทุกที อย่างน้อยก็ไม่มีความอยากจะไปกินหลายมื้อ กินมื้อเดียวได้โดยไม่ต้องมีศีลหรือมีกฎใดๆมาคุม เพราะมีปัญญารู้ในตนแล้วว่ามื้อเดียวนี่แหละดีที่สุดในโลก กินหลายมื้อสิเฟ้อ ทำให้ลำบากกาย และพาให้เจ็บป่วยอีก
สนใจแลกเปลี่ยนเรื่องกินมื้อเดียวก็ทักทายกันมาได้ครับ
ความหมายของบุญ
บุญ
บุญ…ไม่ใช่การได้มาหรือการสะสม
บุญ…คือการสละออก
ชำระกิเลสออกจากใจ
……………………………….
คำว่า “บุญ” ในทุกวันนี้ถูกใช้งานอย่างสะเปะสะปะจนมีความหมายที่ทำให้ชวนงง กลายเป็น ทานบ้าง กลายเป็นกุศลบ้าง กลายเป็นกรรมบ้าง กลายเป็นอานิสงส์บ้าง
แต่ก็ยังมีบ้างที่แปลคำว่าบุญ ว่าเป็นการชำระกิเลสในสันดาน เป็นการขจัดกิเลสออก แต่นั่นก็เป็นเพียงสัญญาที่จำภาษาได้เท่านั้น เวลาใช้กันจริงกลับเอาคำว่าบุญไปใช้แทนกุศลกรรมบ้าง ไปแทนทานบ้าง ไปแทนคำอื่นๆจนผิดนิยาม ผิดธรรมกันไปหมดเปรียบเหมือนว่ารู้จักว่าสิ่งนี้คือจอบ เรียนรู้มาว่าจอบเอาไว้ขุดดิน แต่ถึงเวลาใช้จริงกลับเอาจอบไปตักน้ำ สรุปคือในทางทฤษฏีถูก แต่ในทางปฏิบัติผิด
เมื่อบุญถูกให้ความหมายผิด แล้วการปฏิบัตินั้นจะเป็นบุญแท้จริงได้อย่างไร? เมื่อเรายึดเอาสิ่งที่เข้าใจนั้นเป็นหลักแล้ว บันทึกลงเป็นสัญญาแล้ว แต่สัญญานั้นผิดไปจากสัจจะ แม้มันจะถูกตามสมมุติที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มันผิดไปจากทางพ้นทุกข์ เรายังจะยึดมั่นถือมั่นในสัญญาเดิมอยู่อีกหรือ? ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่ได้พ้นทุกข์
บุญคือการชำระกิเลสออก ไม่ใช่การสะสมหรือได้อะไรมาเลย มีแต่นำออกไป เสียกิเลสออกไปจากตัวเรา สละความชั่วออก ส่วนความดีจะเรียกว่ากุศล ทำดีแล้วเก็บสะสมผลดีไว้เรียกว่ากุศลกรรม การทำทานครั้งหนึ่งอาจจะเกิดกุศลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดบุญ เพราะบุญต้องชำระกิเลส ทานใดที่ไม่ได้มีผลในการชำระกิเลสก็ไม่เกิดบุญ ยิ่งการทำทานโดยหวังจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญก็จะทำให้เกิดบาป หรือเกิดกิเลสด้วยซ้ำ
ถึงแม้จะทำทานด้วยใจบาป ก็ยังมีกุศลอยู่บ้างในส่วนที่ทำ แต่ก็มีอกุศลในส่วนของจิตที่เป็นบาป และก็มีอานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะเกิดตามธรรมต่อไปแต่บุญนั้นไม่เกิดขึ้นเลย
– – – – – – – – – – – – – – –
4.7.2558