ข้อคิด

ที่ว่ารักนักรักหนา สุดท้ายก็ฆ่ากันได้

February 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 663 views 0

ได้ยินว่ารักอย่างนั้น รักอย่างนี้อย่าเพิ่งไปรีบเชื่อกันว่าเขาพูดจริง หลายคนเขาก็ว่ารัก แต่เขาก็หักหลังคนรัก ทำร้ายคนรัก หรือฆ่าคนที่เขารักได้หน้าตาเฉย

จริง ๆ เขาก็เอาคำว่ารักมาหลอกกันนั่นแหละ เพื่อที่จะได้ครอบครองอีกฝ่าย เพื่อที่จะเอาชนะ ครอบงำจิตใจ ให้หลงงมงายแต่เขา ให้รักแต่เขา คนก็มอมเมากันด้วยคำว่ารักนี่แหละ

พอหลุดจากมนต์สะกด ไปมอมเมาเขา แล้วอีกฝ่ายไม่เมาด้วย เขาก็ขายหน้าไง ก็พ่นมนต์รักซะดิบดีสุดท้ายไม่รักเราได้อย่างไร? อย่างนี้มันเสียหน้า มันหยามอัตตากัน สุดท้ายก็ลงไม้ลงมือ หักหลัง ทำร้าย ฆ่ากันได้

ความรักของคนจึงมีองค์ประกอบของกามและอัตตาปนอยู่ด้วยกัน กามก็รูปร่าง หน้าตา กลิ่นหอม สัมผัสเสียดสี ฯลฯ ส่วนอัตตาก็ความได้ดั่งใจ ได้คนมาสนองความเป็นตัวตนได้สมใจ จริง ๆ มันก็มีเชื้ออยู่กว้าง ๆ แค่ประมาณนี้แหละ

ได้เสพสมใจก็กิเลสขึ้น ไม่ได้สมใจก็กิเลสขึ้น มีอยู่แค่นี้ ชีวิตที่หลงมัวเมากับความรักก็มีแต่ขาดทุน เพราะได้สมใจก็ทำบาป ไม่ได้สมใจก็ทำบาป มีทิศทางเดียวคือบาป ไม่มีบุญเลย เพราะมีแต่เพิ่มกิเลส ไม่ได้มีกิจกรรมใด ๆ ที่ล้างกิเลสเลย

ถ้าคนเขามีรักจริง ๆ หวังดีกันจริง ๆ เขาไม่ไปจีบ ไม่ไปล่อลวงใครมาให้เป็นคู่หรอก สุภาพบุรุษไม่จีบผู้หญิง ไม่สร้างโอกาส ไม่สร้างภาพ ไม่สนับสนุนให้ใครมาหลงรักด้วย

เพราะรักแล้วมันทุกข์ไง รักแล้วมันเป็นสารพัดทุกข์ จะไปทำให้เขามารักทำไมล่ะ ให้เขามาเป็นทุกข์นี่มันไม่ใช่ความหวังดี ไม่ใช่ความเมตตาเกื้อกูลแล้ว มันก็เป็นความเบียดเบียนนั่นแหละ

ทุกข์เรื่องความรักนี่มันเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก ขนาดมีข่าวฆ่ากันตายเพราะรัก เกือบทุกวัน ขนาดว่าเป็นทุกข์เพราะรักกันอยู่ ยังไม่รู้จักเลยว่านั่นทุกข์ ขนาดเป็นทุกข์กันอยู่คนยังไม่ตระหนักกันเลย ยังจะเอา ยังจะไขว่คว้าอยู่อย่างนั้น ถ้าคนรู้จักทุกข์ชัดเจนจริง ๆ จะไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเป็นทุกข์ แต่เพราะส่วนใหญ่เขาไม่รู้ว่ารักนั้นทำให้เป็นทุกข์อย่างไร ไม่ชัดเจน ไม่รู้แจ้ง ก็เลยพากันเมารักอยู่อย่างนั้น

มันจะมีโอกาสเห็นความจริงตอนผิดหวังนี่แหละ ที่เห็นว่ารักนั้นเป็นของหลอก ไม่สุขจริง ไม่สุขยั่งยืน แต่ก็ใช่ว่าจะเห็นได้ง่าย ๆ เพราะสั่งสมอัตตามามาก ตอนผิดหวังมันจะโกรธแค้นแทนที่จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง สรุป…แทนที่จะได้เข้าใจธรรมะ กลายเป็นกิเลสคาบไปกินหมด แค้น โกรธ เกลียด อาฆาต สุดท้ายก็ไปทำร้าย ไปฆ่าเขา เพื่อเสพรสรักนี่แหละ เพราะถ้าเราไม่รักนะ เขาจะไปมีใคร เราก็จะไม่โกรธ แต่ที่เราโกรธ เพราะเราไปรักนั่นเอง

ทันทีที่หันหลังไปจากธรรม เราก็ห่างกันไกลแล้ว

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 580 views 0

เมื่อชีวิตเราหันมาปฏิบัติธรรม สังคมและกลุ่มเดิม ๆ ก็จะจางไปเป็นธรรมดา ก็อาจจะมีบ้างที่มาสนใจเหมือนกับเรา แต่ถ้าเขาไม่ได้มีศรัทธาในธรรมที่เสมอกัน ไม่นานเดี๋ยวเขาก็จะหลุดไป

ผมก็เคยมีเพื่อนที่มีสนใจธรรมในทางเดียวกันนะ แต่ไม่นานเขาก็ห่างไป ก็เคยนึก ๆ เสียดายว่าพื้นฐานก็ดี ปัญญาก็มี วันใดวันหนึ่งเขาก็คงกลับมาล่ะมั้ง

แต่ในความเป็นจริงมันยากกว่าที่ผมคิด เมื่อได้คิดทบทวนไปว่า เราตั้งใจปฏิบัตินะ ชีวิตเราดำเนินไปตามทางปฏิบัติที่ถูกต้องนะ แล้วเขาหันหลังเดินไปคนละทิศกับเรา มันก็ห่างไปเรื่อย ๆ ล่ะซิ

เหมือนเราพยายามจะเดินขึ้นเหนือ เขาเดินลงใต้ เดินก้าวละวินาที ผ่านไปหนึ่งวินาทีก็ห่างกันสองก้าวแล้ว เขาก็ไปทาง เราก็ไปอีกทาง มันไม่มีทางที่จะกลับมาเจอกันหรอก

ก็คงเหมือนที่ครูบาอาจารย์ท่านได้ขยายข้อธรรมในเรื่องอนันตริยกรรมไว้ว่า ถ้าเจอหมู่มิตรดีแล้ว รู้ว่าคนนั้นกลุ่มนั้นเป็นคนดีจริง แต่ไม่ทำตาม ไม่ปฏิบัติตาม ทำตรงข้าม ก็เข้าข่ายมีกรรมหนัก

ผมเคยสังเกตอยู่เหมือนกันว่า คนจะเข้ามาหาเราได้ มาศึกษาร่วมกับเราได้ เขาจะต้องมีศีล หรือพยายามปฏิบัติศีลที่ใกล้เคียงกับเรา หรือทำความดีอะไรอย่างหนึ่งมาก ๆ อย่างชัดเจนอยู่ มันก็จะพาวนมาเจอกันได้ แต่พอเขาเสื่อมจากศีล เสื่อมจากความดี เขาก็จะหลุดไปเอง

ดังนั้นการจะมาพบกันได้อีกนั้น เขาจึงต้องหยุดชั่วและทำดีมาก ๆ ซึ่งมันจะยากกว่าเจอกันตอนแรกแบบมหาศาล เพราะมันมีวิบากบาปที่เคยหันหลังไม่เอาสิ่งดีแบบเรามาแล้ว จริง ๆ มันก็คือจิตดูถูกนั่นแหละ คือรู้ว่าเราดีนะ แต่ไม่เอาหรอก ไปเอาอย่างอื่นดีกว่า

ถ้าเราไม่ดีจริง มันก็จะไม่มีโทษมาก แต่ถ้าเราดีจริง ปฏิบัติถูกตรงจริง ก็เรียกว่าทำความฉิบหายให้กับชีวิตเลยล่ะ อาจจะกลายเป็นเกิดมาตายเปล่าไปชาติหนึ่งก็ได้ (โมฆะบุรุษ)

อันนี้แค่คนหันหลังเดินไปจากเรานะ ไม่นับคนเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก นินทา ฯลฯ พวกนี้ไม่ต้องห่วงนรกอยู่แล้ว นรกตั้งแต่วิบากจากกิเลสตัวเองเป็นชั้นแรก นรกชั้นที่สองก็ตามความจริงที่ได้ดูถูกไว้ ถ้าเรามีคุณค่าจริง แล้วเขาตีค่าว่าถูก เขาก็บาปมาก แต่ถ้าเราราคาถูกแล้วเขาตีค่าว่าแพง อันนี้เราขาดทุน (สรรเสริญโตเกิน) แต่ฝั่งยินดีกัน ศรัทธากันก็พอจะบอกจะปรับกันได้ แต่ฝั่งไม่ศรัทธานี่ลืมไปได้เลย ไม่ต้องเอาภาระ เพราะเขาไม่ศรัทธา บอกไปเขาก็หาว่าแก้ตัว ยังไง ๆ ถ้าเป็นคนพาล เขาก็ย่อมมีการเพ่งโทษเป็นประจำอยู่ดี อันนี้เราไปแก้เขาไม่ได้

ยังดีที่ชาตินี้ยังเหลือเพื่อนร่วมปฏิบัติธรรม ที่ยังพอพูดคุยกันเข้าใจอยู่ คือทันกัน เห็นตรงกัน ส่วนครูบาอาจารย์ก็ยกไว้ อันนั้นท่านทันอยู่แล้ว เพราะท่านไปไกลกว่าเรา ส่วนใหญ่ที่เจอมานี่นอกจากจะไม่ทันแล้วยังงงกันอีก ดีไม่ดีตีความผิดไปเพ่งโทษเราก็มี ถามวัวตอบควายก็มี มันก็ส่วนใหญ่ล่ะนะที่ความเห็นไม่ตรงกัน ความเร็ว(จิต)ไม่เท่ากัน จะหาเท่ากันและสูงกว่า มันก็คงจะเป็นส่วนน้อยนั่นแหละ

คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นอย่างไร?

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 837 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หรือแปลเป็นภาษาบ้าน ๆ ว่า คนพาลชอบเพ่งโทษ หรือ การเพ่งโทษคือพลังของคนพาล

ผมจะยกตัวอย่างให้อ่านกันกับเคสเพ่งโทษถือสา แบบมีอคติฝังใจ จะได้ศึกษาว่าถ้าแบบนี้ให้ห่างไว้

ก็เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมคุยกับกับเพื่อนอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นเพื่อนใหม่ คุยกันก็หลายเรื่อง จนเราพูดทักเพื่อนใหม่ไป เขาก็รีบสรุปเลยว่า เราเพ่งโทษในเรื่องที่เขาพูด เพราะเราไปทักในเรื่องที่เขาศรัทธา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีเจตนาเพ่งโทษ แต่เรามีเจตนาจะช่วยเพื่อน เห็นเพื่อนจิตใจฟุ้งฟูล้นปลี่ไปกับโลกธรรม ก็เห็นว่าเป็นเพื่อนนักปฏิบัติธรรม แล้วเขาสนใจมาศึกษาร่วมกับเรา ก็เลยช่วย เราทักกิเลสเขา แต่เขาไปตีความว่าเราเพ่งโทษเรื่องเขา

แต่อันนั้นเขาคิดคนเดียวนะ อีกสองเสียงไม่ได้เห็นตามเขา คือผมก็เห็นอย่างผม เพื่อนอีกคนก็เห็นอย่างผม ได้ฟังก็เข้าใจว่าไม่ได้เพ่งโทษอะไร เพียงแค่บอกกัน มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดประเด็นกัน แต่เพื่อนใหม่นี่พอเขาเข้าใจอย่างนั้น เหมือนจิตเขาหลุดเลย เขา”เดา“ไปว่าเราเพ่งโทษเขาอีก นี่มันเพ่งโทษซ้อนในเพ่งโทษ เป็นนรกตื้น ๆ ที่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิด ก็ยังเกิดได้

ปกติถ้าไม่มีใครขอไว้ ผมจะไม่ไปติหรือไปทักใครเป็นส่วนตัว หรือถึงจะขอไว้ แต่ก็จะดูอินทรีย์พละด้วยว่าไหวหรือไม่ ซึ่งปกติผมคุยกับเพื่อนสนิทก็ทักกัน วิเคราะห์เรื่องกิเลสประจำอยู่แล้ว เรียกว่าชินล่ะนะ

ทีนี้เอามาตรฐานที่เราทำประจำมาใช้กับเพื่อนที่เข้ามาใหม่ แล้วความเห็นมันไม่ตรงกัน แล้วเขาปรับไม่ทัน เขาเพ่งโทษไปแล้ว เขาปิดประตูไปแล้ว ไม่ฟังเสียงคนอื่นแล้ว เขาถอนความเห็นผิดไม่ได้แล้ว อธิบายไปก็ไม่ช่วยอะไร

ผ่านไปไม่กี่วัน เพื่อนสนิทผมไปคุยปรับใจให้ เพราะเห็นว่าเขาเพ่งโทษแค่ผม ไม่ได้เพ่งโทษเพื่อน น่าจะพอฟังกันได้อย่างไม่มีอคติ แต่ที่ไหนได้ เพื่อนสนิทผมมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า พูดไม่เข้าเลย เหมือนมีอะไรกั้น เขาไม่ฟัง แถมจิตเขาฝังความเข้าใจผิดไปอย่างยึดมั่นถือมั่นแล้วด้วย

โอ้โห! ผมนี่ซึ้งเลย เวลาคนจะโง่ นี่เขาโง่ได้หนักแน่นจริง ๆ คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลังจริง ๆ เดาเอาเอง สรุปเอง ชิงชังเอง ยึดเอง แล้วพาลมาข่มผมซ้ำด้วยนะว่าผมไปเพ่งโทษ ภูมิผมไม่ถึง ไม่น่าเล่าให้ผมฟัง

ทั้งที่จริง ๆ มันตรงกันข้าม เหมือนมีเด็กได้ของเล่นชิ้นใหม่มา แล้วตื่นเต้น เอามาอวด ผมก็ทักไปว่าความตื่นเต้นมันไม่งาม เด็กก็โกรธ ไม่พอใจ แล้วสรุปว่าไม่น่าเอาของเล่นมาโชว์เราเลย อะไรประมาณนี้ …

ก็เอานะ แบบนี้ก็ห่าง ๆ กันไว้ จริง ๆ เขาก็ห่างจากเราไปเพราะเขาเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก เขาก็ไม่ศรัทธาเราอยู่แล้วนั่นแหละ

เจอแบบนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า อย่าไปรีบปักใจเชื่อว่าเขาจะรับเราไหวนะ บางคนเหมือนจะแกร่ง แต่ก็ได้แค่ท่าดี อินทรีย์พละเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่ท่าที ไม่ใช่บุคลิก ดูเผิน ๆ ดูไม่ออกหรอก ต้องคบคุ้นกันนาน ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

ก็ได้เรียนรู้อีกว่าไม่ต้องไปเอาภาระมาก บางทีบางเรื่องมันก็ต้องดูกันไปยาว ๆ ก่อนจะตัดสินใจช่วย ไม่ช่วยนี่ไม่ยากเท่าไหร่ ไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าจะช่วย ศรัทธาเขาต้องเต็มที่ เต็มใจ ไม่ใช่มาแบบลองของ อันนั้นเสียเวลาสุด ๆ

จะมีอะไรเสียเวลาชีวิตเท่ากับไปคบคนพาล สร้างกุศลก็ได้น้อย ส่วนบุญนี่ไม่มีเลย เพราะคนพาลไม่ใช่เนื้อนาบุญ ไม่ต้องไปลงทุน ไม่ต้องไปยุ่งมาก

การติติงคนพาล

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 718 views 0

การติเตือนกันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่การติคนพาลแล้วหวังจะให้เกิดความเจริญนั้น ก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายลงในโอ่งที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ พาลจะมีภัยถึงตัวเปล่า ๆ ต้องดูบารมีตัวเองด้วย เขาไม่ศรัทธาอย่าไปเอาภาระ

คนพาลนั้นหมายถึง คนไม่มีศีลบ้าง คนเกเรบ้าง และยังหมายถึงคนที่โง่เขลาในธรรมด้วย

สังคมปะปนกันด้วยคนหลากหลาย การจะรู้และจำแนกความต่างคนนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาศึกษากันนาน บางครั้งการจะรู้ก็เพราะพลาดไปติติงกันนี่แหละ

ส่วนของบัณฑิตนี่ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะผู้ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา ฉลาดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้น หากเราติบัณฑิต เราจะรู้ได้เลยว่าเราจะไม่มีภัย บัณฑิตจะไม่ทำร้ายเรา คือไม่ทำให้กิเลสเราเพิ่ม และจะช่วยให้เราลดกิเลสไปด้วยกัน

แต่ถ้าไปติคนพาล ตัวใครตัวมันล่ะคุณเอ๋ย บางทีเขาก็ไม่ได้สวนกลับทันทีหรอก แต่เขาจะสะสมความแค้นไว้ เพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง บางทีเขาฝึกใจมาบ้าง ก็พอจะกดข่มได้เป็นพัก ๆ แต่พอติเข้ามาก ๆ ตบะแตกขึ้นมา อาจจะต้องย้ายที่อยู่หนีกันเลยทีเดียว

โดนคนพาลเพ่งโทษจองเวรจองกรรมคนเดียวก็ว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนเป็นสัตว์มีสังคม คนพาลเขาก็มีมิตรเป็นคนพาล เราติบัณฑิต ติถูก ติตรง บัณฑิตและเพื่อนก็สรรเสริญ ติผิดก็ไม่ถือสา แต่ถ้าไปติคนพาล จะติผิด ติถูก ติตรง ติแม่นแค่ไหน คนพาลก็จะถือสา เพ่งโทษ ผูกโกรธ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีเพื่อนคนพาลอีกชุด กลายเป็นว่ายกโขยงพากันเพ่งโทษเป็นหมู่ “รวมพลคนพาล” กันเลยทีเดียว

ใครอยากมีเจ้ากรรมนายเวรเยอะ ๆ ก็ให้ติไปตามใจ ตามที่เห็นควร ไม่ต้องประมาณ ไม่ต้องดูว่าคนไหนบัณฑิต คนไหนคนพาล

ส่วนใครอยากพ้นเวรพ้นกรรม ให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิตไว้

จริง ๆ การไปติคนพาลก็คือการใกล้คนพาลนั่นแหละ ถ้าเรารู้แล้วว่าเขาผิดศีล ไม่เอาธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมที่สมควรทำ เราก็เลิกยุ่งไปเลย ไม่ต้องไปเอาภาระ ไม่ต้องพยายาม เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกให้ห่างไกลคนพาล แล้วจะเป็นมงคลชีวิต อันนี้คนที่เก่งที่สุดแล้วยังยืนยันแบบนี้ เราไม่ต้องไปฝืนไปพยายามหรือไปยึดดีให้มันเหนื่อยเลย

วิธีจัดการกับคนพาล คือไม่ต้องไปทำอะไรกับเขา ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องติ ไม่ต้องชม ไม่ต้องสังเคราะห์อะไร ห่างไว้เป็นดี อย่าไปให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

ถ้าเราไปให้ความสำคัญ คนพาลนี่เขามีกิเลสมากอยู่แล้ว อัตตาเขาจะโตในปริมาณที่มากกว่าคนดีทั่วไป คือถ้าเราไปเสริมกำลังให้เขา ความชั่ว ความผิดที่เขาจะทำ จะเติบโตได้มากกว่าที่เราคิด ดังนั้น การจะช่วยคนพาล ก็คือการไม่ให้อาหารความพาล ปล่อยให้ความพาลมันตายไป ไม่ต้องไปเลี้ยง เสียเวลา เสียทรัพยากร