ความเห็นความเข้าใจ

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,639 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,345 views 0

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

…ความเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย ไม่ได้หมายความว่าต้องมักง่าย

การเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นเป็นการทำตัวให้เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญดังที่อ้างอิงในบทของวรรณะ ๙ ซึ่งในธรรมข้อนี้เอง มีหลายคนเอามาตีความว่าการเลี้ยงง่ายบำรุงง่ายหมายความว่าไม่เรื่องมาก เขาให้อะไรก็กิน…จนกระทั่งกลายเป็นมักง่ายในที่สุด

การที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่นั้นไม่ถือว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย หากว่าเรามองง่ายๆเพียงแค่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีขยายอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ถ้ามองเพียงแค่นั้นก็เป็นการมองที่ตื้นเขินไปมากทีเดียว

การจะได้เนื้อสัตว์มานั้นต้องเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพาะพันธุ์ให้มันออกลูกออกหลานมาแล้วต้องใช้ทุนใช้เวลาอย่างมากในการทำให้มันโตจนมีน้ำหนักที่ขายได้ และกว่าจะได้ขายก็ไม่ได้หมายความว่ามันโตแล้วจะกลายเป็นเบคอน เป็นชิ้นเนื้อได้เอง มันจะต้องถูกผูก ถูกจูงลากมา ถูกบังคับขืนใจ โดนเขาทำร้าย โดนเขาฆ่า เหล่านี้เป็นองค์ของการฆ่าทั้งนั้น ผิดศีลข้อ ๑ ในกระบวนการฆ่าตั้งแต่แรก จะฆ่ามันก็ไม่ง่ายนะเวลาสัตว์มันกลัวมันก็วิ่งหนี ลำบากทั้งสัตว์ทั้งคนฆ่านั่นแหละ ฆ่าเสร็จไหนจะต้องชำแหละอีก ก็มีขั้นตอนกันมากมายกว่ามันจะเติบโตจนมาถึงปากเรา แบบนี้มันง่ายไหม?

เรามาลองดูผักกันบ้าง ผักนี่ก็หยอดเมล็ด ฝังดินกลบแล้วก็รดน้ำ รอเวลาเติบโตตามชนิดของมัน บางชนิดครึ่งเดือนก็ได้กินแล้ว เวลาเด็ดผักนี่ก็สะดวก เดินเข้าไปเด็ดได้เลย มันไม่วิ่งหนีนะ ยิ่งเด็ดก็ยิ่งงอกมาให้เรากิน ทุนที่ใช้ก็มีแค่ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย ดีไม่ดีทำเองหรือหามาเองจะไม่เสียอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะดิน อากาศ และแสงแดดเป็นของฟรี แบบนี้มันง่ายกว่าไหม?

ความยากลำบากในการหาเนื้อสัตว์กับผักมันคนละเรื่องอยู่แล้ว ถ้าอยากรู้ก็ทดลองเองก็ได้ ลองเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมกับปลูกผักไปด้วยก็ได้ ลองสังเกตดูว่าอันไหนมันง่ายกว่า ผักนี่เราปลูกเองได้ไม่ยาก แต่เลี้ยงสัตว์นี่มันยาก เลี้ยงมาเอง ฆ่ากินเอง พึ่งตัวเองแบบนี้มันไม่ง่ายนะ ตลาดทั่วไปก็มีผักขายเสมอ ประเทศเราไม่เคยขาดแคลนผัก ดังนั้นที่เราคิดว่ากินเนื้อสัตว์คือการเลี้ยงง่ายบำรุงนี่มันมองอย่างมักง่าย มองแบบผิวเผิน ไม่มีปัญญา

เหตุที่ไม่มีปัญญาเพราะมันถูกบังไว้ด้วยกิเลสนั่นแหละ กิเลสมักจะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ ลองเอาเมนูผักกับเนื้อไปวางก็ได้ ให้เลือกกันเอง ลองดูซิว่ามีครบขนาดนี้จะเลือกกินอะไรก่อน การเลือกกินนี่จะบอกว่าไม่คิดไม่ได้นะ ไม่คิดนี่เป็นก้อนหินเลย คนเราจะขยับได้เพราะมีใจเป็นประธาน ใจมันนำพาให้ช้อนไปตักเนื้อเข้าปาก แบบนี้มันตามกิเลสแล้วเฉโก มันฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส จะหาวิธีหาทางสนองกิเลสให้ได้แบบนั้นเอง

เว้นแต่จะดูใจตัวเองไม่เป็น ไม่มีญาณรู้สภาพจิตตัวเอง ก็กินเนื้อกินผักไปแบบไม่รู้จักความอยาก มีความอยากก็ไม่รู้ว่ามีความอยาก แล้วก็มักจะตีกินด้วยคำว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย นี่เองคือพลังของกิเลสที่สามารถสร้างเหตุผลได้มากมาย แม้นมีข้อธรรมที่ยากปฏิเสธแสดงอยู่ ก็กลับไม่ยินดีฟังธรรมนั้น จะมัวเมาและยินดีในธรรมที่ทำให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ได้หลงมัวเมาอยู่กับกามในการกินเนื้อสัตว์ ยินดีในการเสพกิเลสต่อไป

ผู้มีปัญญาย่อมเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ ด้วยใจที่เป็นสุข เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นประกอบด้วยองค์แห่งบาป ซึ่งผลกรรมนั้นย่อมสนองต่อผู้สนับสนุนทั้งกระบวน เราเป็นผู้บริโภคก็อย่าคิดว่าจะรอด จะไปคิดง่ายๆว่าเราไม่ใช่คนฆ่าแล้วกินได้แบบนี้มันเฉโก มันฉลาดเพื่อที่จะให้ได้กินเนื้อ ฉลาดในการลงนรก ฉลาดในการทำบาป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เมื่อเรานับถือ ศรัทธาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ควรจะมีปัญญารู้ว่าสิ่งใดจะเกิดโทษกับตน สิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับตน เมื่อการกินเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนทำให้ตนเองมีโรคมากและอายุสั้น แล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไร เป็นคนมีโรคมากนี่มันเลี้ยงง่ายบำรุงง่ายไหม เป็นภาระของคนอื่นเสียอีก

ยิ่งถ้าผู้ศรัทธาในพระพุทธเจ้ายังไม่เชื่อเรื่องกรรมนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย ไปไกลเลย เพราะไม่เชื่อเรื่องกรรมมันฟังธรรมไม่รู้เรื่อง เพราะธรรมหลายบทหลายตอนที่ท่านสอนก็เกี่ยวกับกรรมทั้งนั้น การที่ท่านรู้ว่าการเบียดเบียนทำภัยมาให้นั้นเพราะท่านเห็นกรรมที่ทำมาหลายชาติจนแน่ใจแล้วว่า การเบียดเบียนนี่แหละคือเหตุที่ทำให้คนเรามีโรคมากและอายุสั้นอย่างแน่นอน เป็นเหตุเป็นผลที่ไม่มีทางผิดเพี้ยนไปได้ เพราะเป็นข้อมูลที่ท่านเก็บสะสมมาตลอดเส้นทางการบำเพ็ญเพียรของท่าน

ดังนั้นเหล่าสาวกผู้ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรจะเป็นผู้มีปัญญาแยกโทษแยกประโยชน์ได้ เป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายด้วยสิ่งของที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ไม่เป็นผู้มักง่ายจนหลงมัวเมาอยู่กับการเสพกามในการกินเนื้อสัตว์

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา)

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,084 views 0

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ

ศีล เหมือนดังเข็มทิศที่จะบอกว่าทิศทางที่เรากำลังจะไปนั้นต้องเดินไปทางด้านไหนเรากำลังมาถูกทางหรือผิดทาง

สมาธิ เหมือนดังกำลังที่จะพาให้เราปฏิบัติศีลไปจนตลอดรอดฝั่ง ให้เรามีความเพียรพยายามล้างกิเลสได้อย่างต่อเนื่อง

ปัญญา นั้นเหมือนดังเครื่องมือมีที่จะนำไปทำลายกิเลส เมื่อเราสามารถชำระกิเลสได้เท่าไหร่เราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลมากเท่านั้น

ในตอนที่เราเริ่มปฏิบัตินั้นเราจะเต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อเราปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญารู้แจ้งทำลายกิเลส ปัญญาเกิดกิเลสก็หาย แต่ปัญญาไม่หายไปไหนเพราะสุดท้ายจะได้ปัญญาที่เป็นผลจากการทำลายกิเลส เป็นจิตใหม่ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่เหมือนจิตตอนที่เริ่มปฏิบัติซึ่งตอนนั้นยังไม่มีปัญญา

1).มรรค

ในระหว่างที่เราถือศีล เพื่อปฏิบัติธรรม เราจะต้องใช้ปัญญาเท่าที่เรามีขุดกิเลส หากิเลส ทำลายกิเลสไปเรื่อยๆตามศีลที่เราได้ตั้งไว้ เช่น เราตั้งศีลว่าจะลดกาแฟ เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่แหละพิจารณาโทษของกาแฟ ด้วยสมาธิ ด้วยความตั้งมั่น มีขันติ อดทนต่อความอยากกาแฟ ดำรงสภาพของสมาธิให้นานเท่าที่จะนานได้เพื่อพิจารณาธรรมต่างๆ

เพราะเมื่อกำลังสมาธิหรือพลังจิตหมด เราจะหมดแรงต้านทานกิเลสหรือทนความอยากกินกาแฟไม่ไหว ก็กลับไปกินบ้าง พอพักแล้วมีกำลังใหม่ก็อดทนใหม่ ใช้ปัญญากะเทาะกิเลสต่อไปเรื่อยๆ จะใช้พลังสมถะเข้าช่วยเพิ่มกำลังบ้างก็ได้ ซึ่งจะทำให้ช่วงของการละเว้นกาแฟนั้นยาวนานขึ้น มีเวลาให้เราเห็นทุกข์จากความอยากและพิจารณาความอยากนั้นมากขึ้น

การปฏิบัตินี้เองเรียกว่ามรรค หรือทางเดิน ซึ่งการจะเดินไปในทางสายกลางได้อย่างไม่หลงไปซ้ายหรือไปขวานั้น ต้องพยายามละเว้นการกลับไปกินกาแฟ และประมาณตัวเองไม่ให้รู้สึกทรมานจนเกินไปเมื่อความอยากกาแฟเกินจุดที่จะกดข่มไหว ซึ่งในระยะที่ปฏิบัตินั้นจะเดินปัดซ้ายขวาไปมาระหว่างทางโต่งสองด้านอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อเจริญขึ้นจะเริ่มนิ่งขึ้น จะเดินตรงขึ้น

เราไม่สามารถเข้าใจสัมมาอริยมรรคได้เพียงแค่การคิดหรือท่องจำ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ดีเพียงใดแต่ในขณะที่เรายังมีกิเลสเราจะไม่สามารถเดินตามมรรคได้สมบูรณ์นัก ซึ่งก็ต้องปฏิบัติละเว้นทางโต่งสองด้านและใช้หลักสัมมาอริยมรรคเป็นตัวยึดอาศัยบนเส้นทางแห่งศีลนั้นเอง

2). ผล

ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ เราจะได้ผลเป็นระยะๆ มรรคผลจะเกิดขึ้นทีละนิดละหน่อย ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที

เราจำเป็นต้องปฏิบัติจนเห็นผลเจริญอย่างเป็นลำดับในจิตวิญญาณ ให้รู้ว่าวันนี้เราได้ผลเจริญขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราเห็นร้านกาแฟแล้วต้องแวะทุกทีเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้สัปดาห์หนึ่งถึงจะแวะ หรือไม่ก็แต่ก่อนเราต้องกินกาแฟทุกเช้าเลยนะแต่เดี๋ยวนี้ไม่กินก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกอยาก และไม่ได้รู้สึกว่ากาแฟจำเป็นอีกต่อไป

การที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นจะทำให้เราได้รับปัญญาที่เป็นผลโดยลำดับ และปัญญาเหล่านี้เองที่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติศีลที่สูงขึ้น หรืออธิศีลในส่วนย่อยของศีลที่เราตั้งไว้ได้ ยกตัวอย่างว่าเราสามารถลดกาแฟที่กินต่อวันจากสองแก้วเหลือหนึ่งแก้วเพราะเรามีปัญญารู้ว่ากินสองแก้วต่อวันไม่ดี อยากกินไปก็ทุกข์ ฯลฯ เมื่อปฏิบัติศีลจนได้ปัญญาเป็นผล ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นจะเป็นฐานให้เราขยับขึ้นไปในระดับลดกาแฟต่อสัปดาห์ หรือเลิกกาแฟได้ง่ายขึ้น

เราจำเป็นต้องใช้ผลเจริญของปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติศีลนี่แหละเป็นฐานให้เราขยับฐานการละเว้นต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถเลิกกาแฟ ชำระความอยากได้ทันที หรือไม่สามารถดับความอยากกินจนสิ้นเกลี้ยง แต่การที่เราสามารถถือศีลที่สูงขึ้น ยากขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะทนการบีบคั้นให้เห็นตัวกิเลสได้ดีขึ้น ยิ่งถือศีลที่ยากมากเท่าไหร่ก็จะสามารถเห็นกิเลสที่แอบหลบซ่อนอยู่ได้มากเท่านั้น

ก). ไตรสิกขากับกิเลสสามภพ

ความจริงจังในการปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าเราควรจะตั้งศีลเลิกตั้งแต่แรกแล้วยึดมั่นถือมั่นไว้ แบบนั้นอาจจะทำให้ทรมานจนโต่งไปด้านอัตตา จริงอยู่ที่ว่าเป้าของเราคือเลิกกาแฟ แต่เราควรตั้งใจลด ละ เลิกไปตามลำดับเพื่อเป็นไปตามหลักการปฏิบัติไตรสิกขา คือการเรียนรู้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นั่นก็คือการพัฒนาระดับศีล สมาธิ ปัญญา จากการ ลด ละ เลิกไปตามลำดับนี่เอง

ทั้งนี้การทำไปตามลำดับก็เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความหยาบ กลาง ไปจนถึงละเอียดของกิเลสชนิดนั้นๆ กิเลสนั้นมีสภาพอยู่สามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การที่เราถือศีลที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆจะค่อยๆทำให้เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละภพชัดเจนขึ้น เมื่อเห็นกิเลสจึงจะสามารถใช้สติปัญญาทำลายกิเลสได้ และศีลนี้เองคือสิ่งที่ควรประมาณให้เหมาะกับฐานะของตน

หากเรายังอยู่ในกามภพ คือสภาพที่เรายังไปกินกาแฟอยู่ เราก็ตั้งศีล ลด ละ เลิกกาแฟไปตามลำดับจนสามารถเลิกได้เด็ดขาดแล้ว จึงตั้งศีลในระดับของรูปภพ

สภาพของรูปภพคือยังมีความอยากกาแฟให้เห็นอยู่ มีความรู้สึกว่ายังอยากกินอยู่แต่ไม่กิน พอเข้ารูปภพจะต้องตั้งศีลที่ยากขึ้นอีกคือละเว้นความอยากกินกาแฟ แม้ความอยากกินกาแฟเกิดก็ผิดศีล เพราะความอยากที่เกิดเพียงในใจก็สามารถสร้างมโนกรรมได้แล้ว

เมื่อละรูปภพได้แล้ว เห็นกาแฟก็ไม่อยากกินเหมือนก่อนแล้ว ก็จะเข้าอรูปภพ หมายถึงสภาพที่ไม่สามารถเห็นกิเลสเป็นรูปได้อีกต่อไป ไม่มีความคิดว่าอยากกิน แต่เห็นกาแฟแล้วก็ยังไม่สบายใจ ยังแอบมอง ยังแอบสนใจ ยังรู้สึกดี มีคนจะซื้อมาฝากแม้จะปฏิเสธแต่ก็ยังแอบเสียดายอยู่ลึกๆ มีอาการที่ร่างกายเกิดขึ้นมาฟ้องบ้าง เช่นกลืนน้ำลาย น้ำลายไหล เราคิดว่าใจเรามันไม่อยากแล้วนะ แต่จิตใต้สำนึกมันยังอยากอยู่ มันยังมีอาการอยู่ ถ้าเข้าแบบนี้ก็ต้องตั้งศีลละเอียดขึ้น คือทุกอาการสั่นไหวของกายและจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกาแฟ ต้องละเว้นและทำลายกิเลสละเอียดที่แอบซ่อนนี้ให้ได้

3).มรรคผล

ถ้าเราตั้งศีลว่าเราอยากเลิกกาแฟนั้นอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย แต่อาจจะยังติดอยู่ภพใดภพหนึ่งของกิเลสอยู่ ดังนั้นการตั้งศีลที่ว่าอยากจะพ้นจากความอยากกินกาแฟทั้งกาย วาจา ใจ นี้เป็นศีลที่พาให้เกิดกุศลมากกว่า เข้าถึงกิเลสได้จริง เห็นกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงมีโอกาสที่จะถึงวิมุตติจริงๆ

เมื่อเราปฏิบัติศีลโดยลำดับจากง่าย กลาง ยาก จนสามารถผ่านกิเลสที่ดึงรั้งเราไว้ให้อยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพได้แล้ว ก็เหมือนว่าเราสามารถพาตัวเองออกจากถ้ำกิเลสได้ ออกมาพบความจริงตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับการทำลายกิเลสเมื่อเราสามารถหลุดพ้นจากกิเลส เราจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

เช่นถ้าเราทำลายความอยากกินกาแฟ เราก็จะรู้ทุกเหลี่ยมทุกมุมในกิเลสเกี่ยวกับเรื่องกาแฟที่ผ่านมาของเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้เรื่องกิเลสในกาแฟทั้งหมดในโลก แต่ก็เพียงพอที่จะรู้ว่ามันติดเพราะอะไรและจะออกจากกาแฟได้อย่างไร นั่นเพราะตลอดเวลาที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นเราก็จะได้ปัญญาและเจริญขึ้นมาโดยลำดับ สุดท้ายเมื่อเราทำลายกิเลสทั้งหมดเราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นไว้ใช้เพื่อเป็นธรรมทานให้คนอื่นใช้เป็นแนวทางในการทำลายความอยากกาแฟต่อไป

การปฏิบัติธรรมจนถึงผลนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่การทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่หากเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้และละเว้นสิ่งที่เป็นโทษออกจากชีวิต พัฒนาจิตใจโดยการใช้ ศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อเกิดความเจริญไปโดยลำดับ จนสามารถรู้แจ้งมรรคผลได้ด้วยตนเอง คือรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสเหล่านั้นและรู้ผลที่เกิดขึ้นเมื่อทำลายกิเลสเหล่านั้น

จึงกลายเป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในกิเลสเหล่านั้นเพราะรู้แจ้งเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จนสามารถดับความอยากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยง

– – – – – – – – – – – – – – –

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มเติมได้ที่ …

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นำบุญมาฝาก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,215 views 0

นำบุญมาฝาก

นำบุญมาฝาก

…ความหวังดี ที่พาให้หลงทางและห่างไปจากความเป็นพุทธ

ในปัจจุบันนี้คำว่า “บุญ” กับคำว่า “กุศล” นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก หรือกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว มิหนำซ้ำยังมีการทำบุญทำกุศลให้กันได้อีก เรียกว่าเตลิดกันไปไกล

หลักธรรมสั้นๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และในเรื่องของกรรมคือ “เรามีกรรมเป็นของของตน” เพียงแค่ธรรมสองข้อนี้ก็ยืนยันได้แล้วว่าไม่ว่าบุญหรือกุศลก็ไม่สามารถ “ทำให้” แก่กันและกันได้ เพราะศาสนาพุทธบอกว่า อยากได้ต้องทำเอง เราทำกรรมอะไรไว้เราจึงจะได้รับผลของกรรมนั้นเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้

คำว่ากุศลนั้นยังพออนุโลมให้ได้บ้าง เพราะกุศลคือความดีงาม สิ่งดีทั้งหลาย เมื่อเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์ จึงเกิดเป็นความดีหรือที่เรียกว่าได้กุศล คือได้กรรมดีเก็บไว้ในธนาคารกรรมของตัวเอง ทีนี้หากเราไปเล่าเรื่องในการทำดีของเราให้คนอื่นฟังแล้วเขามีมุทิตาจิต อนุโมทนากับสิ่งดีที่เราทำนั้นก็เรียกว่าเราได้ทำกุศลอีกต่อคือการพูดสิ่งที่ดี และเขาก็ได้สร้างกุศลด้วย กุศลนั้นไม่ได้เกิดจากเราให้เขา แต่เกิดเพราะเขาสร้างกุศลขึ้นมาเอง เขาสร้างกรรมดีขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของกุศลเท่านั้น

มากล่าวกันถึง “บุญ” บุญนั้นคือการชำระกิเลส การสละออก การนำสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออก ดังนั้นกิจกรรมใดที่พาลดกิเลสจะเป็นบุญทั้งหมด ดังที่ยกตัวอย่างว่าเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์แต่ถ้าเราให้เพื่อหวังว่าจะได้ลาภ ได้โชคดี ได้สิ่งดี ได้สวรรค์ ได้นิพพาน แบบนี้ไม่เป็นบุญเพราะให้เพื่อหวังผล กิเลสไม่ลด นอกจากกิเลสจะไม่ลดเผลอๆยังเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจในเรื่องบุญที่ผิดเพี้ยนไปมากในปัจจุบัน

แต่ถ้าเราบริจาคทรัพย์เพื่อลดความขี้งก ขี้เหนียว ลดความหวงแหนในสิ่งของ บริจาคเพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นลดลง สละของที่ตนรักให้ผู้อื่น แบบนี้เป็นบุญและการอนุโมทนาที่เป็นบุญนั้น จะยกตัวอย่างในกรณีที่เราไม่ชอบใจคนคนหนึ่ง ทีนี้พอเขาไปทำความดีแล้วเราก็ยังไม่ชอบอยู่ดีเพราะเรามีอาการผูกโกรธ การอนุโมทนา หรือสามารถทำจิตมุทิตาเห็นดีเห็นงามกับเขาที่เราไม่ชอบใจได้ คือการที่เราลดการผูกโกรธ ลดอัตตาตัวเองลงมา เมื่อสละกิเลสก็ถือว่าเป็นบุญ

ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเดียวกันสามารถเกิดบุญหรือไม่เกิดบุญก็ได้ ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับทิฏฐิหรือความเห็นความเข้าใจ คนที่มิจฉาทิฏฐิก็จะทำทานหวังได้บุญ ส่วนคนที่สัมมาทิฏฐิก็จะสละสิ่งของ สละแรงงาน ลดกิเลสเพื่อให้เกิดบุญ ซึ่งในส่วนของกุศลนั้นจะเกิดอยู่แล้วดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น

…ทีนี้พอเข้าใจได้ว่าบุญหรือกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง ดังนั้นการจะทำบุญให้ใครนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำกุศลเพื่อให้เขาได้รับกรรมดีไปเป็นของเขาก็ทำไมได้เช่นกัน ถ้าจะทำได้ก็เพียงทำความดีกับเขาโดยตรง เขาจึงจะได้รับผลดีนั้น

แต่การที่เราคิดจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลโดยใช้การอ้างอิงใครสักคนเช่น ถือศีลในวันพระให้พ่อแม่ พอเพียงเพื่อในหลวง ตรงนี้มันจะมีความซ้อนอยู่นิดหนึ่งคือเราใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำดี เพราะมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เราจึงคิดทำดี ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่คิดจะทำดี บุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็จะได้รับผลแห่งกุศลไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเห็นได้ทางรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเรามีความพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เมื่อไม่มีผลประโยชน์เราก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอคติลำเอียง ทำให้สามารถคัดคนชั่วออกได้มากขึ้น พอคนชั่วน้อยก็มีอำนาจทุจริตน้อยลงประเทศก็สงบสุขขึ้น ปัญหาน้อยลง พัฒนามากขึ้น นี้เองคือกุศลร่วมที่เกิดขึ้นจากการใช้บุคคลเป็นแรงบันดาลใจ คนทำก็ได้กุศล คนที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ผลแห่งกุศลที่ตนเองได้ทำไว้

ทั้งนี้ผลแห่งกุศลที่บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจได้รับนั้นก็มาจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เพราะเขาทำดีเป็นตัวอย่าง เช่นพ่อแม่ทำดีให้เราเห็น เข้าวัดฟังธรรม ให้ทานแก่ผู้อื่นเป็นประจำ นี่คือกุศลที่เขาทำ เมื่อเราได้เห็นจึงเกิดศรัทธาและซึมซับความดีเหล่านั้นมา การทำดีของเราก็กลายเป็นดอกผลของความดีจากเขาเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นวิธีสร้างกุศลให้กว้างไกลออกดอกออกผลงอกงามก็คือการทำความดีให้มาก วิธีทำความดีนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องรอโอกาสสำคัญหรือไปตามสถานที่สำคัญเสมอไป ผู้มีปัญญาย่อมไม่ประมาทโอกาสในการทำความดี

และการทำความดีที่ให้อานิสงส์หรือให้ประโยชน์สูงสุดก็คือการล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสก็คือการทำบุญ เมื่อชำระล้างกิเลสด้วยบุญจนหมดสิ้นแล้วมันก็จะไม่มีเชื้อชั่วอีกต่อไป เมื่อความชั่วไม่มีในจิตใจ เราก็จะไม่ทำชั่วอีก ทำแต่ความดี การชำระกิเลสจึงเป็นวิธีที่ปิดประตูนรกและเปิดสวรรค์ในเวลาเดียวกันและผลที่เหนือกว่านั้นก็ยังมีอยู่เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)