ความเห็นความเข้าใจ
การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก
การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก
หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา
เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…
(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)
หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ
แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา
ความดีที่เห็นและที่เป็น
หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย
แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว
ความชั่วที่เห็น
หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา
ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก
ความจริงที่ปรากฏ
การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน
แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก
ความจริงตามความเป็นจริง
หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่
ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558
กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่
กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่
กรรมชั่วนั้นหมายถึงเจตนาที่จะทำสิ่งไม่ดี และเมื่อทำกรรมที่ไม่ดีลงไปแล้ว ก็จะสั่งสมกลายเป็นพลังงานที่จะสร้างผลของกรรมนั้นในวันใดก็วันหนึ่ง
ความเข้าใจในเรื่องกรรมนั้นสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก เพราะการเข้าใจว่าสิ่งใดๆล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมา จะทำให้เรายอมรับความจริงตามความเป็นจริงได้ง่าย แต่นั่นหมายถึงส่วนของกรรมเก่า
กรรมเก่าที่ได้รับแล้วก็จะหมดไป ปัญหาคือกรรมใหม่ที่กำลังสร้างนั้นเกิดจากอะไร? การทำดีทำชั่วนั้นมีอะไรเป็นแรงผลักดัน? การทำดีนั้นมีจิตที่ใฝ่ดี มีศีลธรรมเป็นตัวผลัก แต่กรรมชั่วนั้นมีกิเลสเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงว่า หากเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างกรรมชั่ว ให้ต้องวนเวียนมารับผลกรรมชั่วนั้นไปอย่างไม่จบไม่สิ้น
ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำความเข้าใจที่จะรับต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นไปในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดกรรมชั่วด้วย คือสามารถใช้ได้ทั้งการรับและรุก
การรับกรรมอย่างเข้าใจจะทำให้เราไม่เป็นทุกข์มาก ส่วนการรุกก็คือการหยุดทำกรรมชั่ว แล้วสร้างกรรมดีขึ้นมาแทนที่ในแต่ละวินาทีของชีวิต ให้ละเว้นกรรมชั่วให้น้อยลง และสร้างกรรมดีให้มากขึ้น
ทีนี้ถ้ากรรมดีที่ทำนั้นยังไม่สามารถทำขนาดที่จะทำลายกิเลสได้ ก็จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ มีเชื้อชั่วทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะทำกรรมดีแค่ไหน แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ก็จะบังคับเราให้ทำกรรมชั่วด้วยเช่นกัน ทีนี้กรรมดีกับกรรมชั่วมันไม่ได้หักลบกัน ทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ดังนั้นใช่ว่าเราจะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้างปนกันไป ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเช่นนั้น แต่สอนให้เราหยุดชั่ว คือไม่ทำชั่วเลย แล้วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส
ถ้าเราไม่กำจัดกิเลส เราก็จะเป็นคนดีที่สร้างกรรมชั่วโดยที่ไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ แม้จะเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงขนาดที่ว่าเหตุเกิดแห่งกรรมดีและร้ายนั้นมีที่มาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะถามหาประสิทธิผลที่พอหวังได้ก็คงจะไม่มี
ผู้ที่ทำลายกิเลสได้หมดจะไม่สร้างกรรมชั่วอีกเลย แต่ผลของกรรมชั่วนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลของกรรมชั่วจะไม่มีวันหมดไปเพราะกรรมนั้นเมื่อทำแล้วจะถูกแบ่งส่วนของการรับไปทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่ากรรมใดๆที่เราได้รับอยู่ในชาตินี้ ล้วนแต่เป็นเศษกรรมที่เราทำมาทั้งนั้น นั่นหมายถึงทั้งดีและร้ายที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีผลของกรรมอีกมากมายที่รอส่งผลในภายภาคหน้า
เมื่อรู้ได้เช่นนี้เราก็ควรจะหยุดกรรมชั่วเสียทั้งหมด เพราะแม้เราจะไม่เห็นผลในชาตินี้ แต่แน่นอนว่ามันจะส่งผลไปต่อถึงชาติหน้า เหมือนกับเหตุการณ์ร้ายๆที่เราได้รับมาในชาตินี้โดยที่เราไม่สามารถสืบหาสาเหตุที่เหมาะสมได้เลย
พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก สะสมบารมี ทำดีมามากมายหลายกัป แต่ท่านก็ยังมีผลของกรรมที่ท่านเคยได้ทำชั่วมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้ ที่ยังต้องมารับกันในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักฐานว่ากรรมชั่วนั้นจะติดตามเราไป แม้ว่าเราจะดับกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงแล้วก็ตาม ในจักรวาลนี้คงมีวิธีเดียวที่จะพ้นจากผลของกรรมที่ทำมาได้นั่นคือปรินิพพาน
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการที่เราสามารถทำลายกิเลสได้หมดหรือไม่ ถ้ากิเลสยังไม่หมด ยังไม่จบสิ้น ก็อย่าไปกล่าวกันถึงเรื่องปรินิพพานที่สุดแสนจะไกลตัวให้เสียเวลากันเลย
เพราะแก่นของศาสนาพุทธคือการหลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าการที่เราหลุดพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือโลก เป็นโลกุตระ
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558
ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น
ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น
กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์
ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง
ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี
คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย
การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล
การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ
ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย
ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์
ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี
ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์
คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี
ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง
ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์
ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย
ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร
ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว
เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้
ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้
คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี
เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น
และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย
ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป
ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ
การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง
ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น
ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก
ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม
หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส
แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น
ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง
การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้
. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา
– – – – – – – – – – – – – – –
23.7.2558
คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม
คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม
เราต่างล้วนถูกพิพากษาให้เกิดมาในโลกนี้ ให้เป็นคนแบบนี้ ให้ต้องเจอเรื่องราวแบบนี้ และนี่คือการพิพากษาของศาลที่เที่ยงตรงที่สุดในโลกชื่อว่ากรรม
ในชีวิตของเราอาจจะเคยเจอคำสั่ง คำตัดสิน บีบบังคับ ยัดเยียด บทลงโทษ คราวเคราะห์ โชคดี หรือเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ ล้วนแต่เป็นคำพิพากษาของกรรม หรือที่เรียกกันว่า ผลของกรรม
เราไม่มีทางได้รับกรรมที่เราไม่ได้ทำมา เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เราได้รับจะต้องเป็นสิ่งที่เราทำมาแน่นอน เราถูกพิพากษาให้ได้รับทั้งสิ่งดีและสิ่งร้ายในชีวิตโดยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือเรียกร้องใดๆได้ เพราะคำพิพากษาของกรรมนั้นเป็นที่สุดของการตัดสินว่าเราจะต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้ายนั้น
แต่หลังจากได้รับการพิพากษามาแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นก็จะเป็นสิทธิ์ของเราที่จะเลือก ยกตัวอย่างเช่น เราถูกพิพากษาให้ถูกทำร้าย แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปโกรธหรือทำร้ายเขาตอบ หรือเราถูกพิพากษาให้ได้รับลาภก้อนโต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ทั้งหมด เราสามารถแบ่งปันแจกจ่ายไปในที่ที่สมควรแก่การได้รับประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้เช่นกัน
การพิพากษาของกรรมนั้นจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยจนเราหลงลืมไปว่าแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลานั้นเกิดจากผลของกรรมที่เราทำมา ซึ่งเมื่อหลงลืมก็อาจจะทำให้พลั้งเผลอประมาทในเรื่องของกรรมไปได้ เช่นไปทำกรรมชั่วโดยที่ไม่ได้ระลึกถึงภัยของสิ่งนั้น
ความถี่และความรุนแรงของผลการพิพากษานั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรมในตัวคน ถ้าเราเป็นคนดี มีความละอายต่อบาป โทษทัณฑ์เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เราเลิกทำชั่วได้แล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่มีความละอายต่อบาป การพิพากษาก็มักจะถูกเลื่อนไปจนกระทั่งสะสมพลังงานให้มากพอที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราได้
คนดีได้รับทุกข์เพียงเล็กน้อยก็สำนึกผิด รีบทบทวนตัวเองเพื่อละเว้นสิ่งชั่ว ส่วนคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็จะมองทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นเมื่อได้รับทุกข์ก็มักจะมองข้ามการปรับปรุงตนเอง มองข้ามโทษภัยของการทำกรรมชั่ว จึงประมาททำชั่วสะสมกรรมชั่วเหล่านั้นไว้ จนได้รับคำพิพากษาโทษที่หนัก ทำให้ทุกข์ทรมานมาก จึงจะเรียนรู้ผลของกรรมที่ทำมา
คำพิพากษานั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราทำกรรมอะไรมา เราจึงต้องโดนพิพากษาให้รับผลของกรรมเหล่านั้น เมื่อรู้ชัดแล้วว่าเราเคยทำชั่วมามาก ก็ควรจะละเว้นชั่ว ทำแต่ดี เพื่อที่เราจะไม่ต้องมาสร้างทุกข์เพื่อวนเวียนรับทุกข์ให้เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
22.7.2558