ความเห็นความเข้าใจ

ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,334 views 0

เมื่อเผยแพร่บทความที่มีความเห็นชี้ชัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา ซึ่งเราควรพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ

ผมจะนำเสนอเนื้อความตอนหนึ่งให้เพื่อนๆที่ติดตามได้มั่นใจมากขึ้น

“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง”

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๙)

พระพุทธเจ้าเองท่านก็เป็นพระอริยะ และเป็นพระอริยะที่ระดับสูงที่สุดคือพระอรหันต์ และด้วยปัญญาระดับผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่เหนือกว่าผู้ใดในโลก

การมีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา การโต้วาทีก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนย่อมปกป้องทิฏฐิที่ตนยึดมั่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราชี้แจงได้ก็ชี้แจงไป แต่ถ้ามันหนักมากไปก็ให้ปล่อยวางเสีย

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ทะเลาะ ไม่ชวนทะเลาะ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปบีบบังคับให้ใครมาเห็นตามเรา บางคนเขาก็แค่มาบอกความเชื่อของเขา เราก็รับรู้ว่าเขาเชื่อแบบนั้น ถ้าเขาถามเราก็พิจารณาก่อนว่าจะตอบให้เกิดประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ตอบเพราะยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก

หากเราปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เราย่อมไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยการเถียงเอาชนะ การเบียดเบียนความเห็นผู้อื่นแม้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นจะผิดไปจากทางพ้น ทุกข์ก็ตาม ก็ยังเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วอยู่

เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ จนบางครั้งหมายถึงการปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา สุดท้ายวันใดวันหนึ่งเขาก็จะเรียนรู้ได้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียด ไปบังคับ หรือไปสั่งสอนผิดถูกแต่อย่างใด

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,340 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางสายกลางของพุทธ

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,009 views 0

ดูละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 35 เป็นบทที่แสดงการเทศนาครั้งแรก เนื้อหาที่สื่อมานั้นเข้าใจได้ง่าย ซึ่งผมจะหยิบยกในเรื่องของทางสายกลางในมุมทางโต่งสองด้านมาขยายกัน

อย่าให้ร่างกายอดอยาก หรืออย่าสนองกิเลสของมัน จงแน่วแน่อยู่ตรงกลาง” คือบทแปลในละครตอนนี้ เป็นสภาวะของทางสายกลางที่ถูกปั้นแต่งให้ดูเป็นบทพูดที่เรียบง่าย แต่ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก ปฏิบัติได้ยาก

ทางสายกลางของพุทธไม่ใช่การอยู่ตรงกลางระหว่างทางโลกและทางธรรม แต่เป็นกลางบนทางธรรม ไม่เข้าไปในส่วนสุดโต่งสองด้าน คือทางกามสุขัลลิกะ (อย่าสนองกิเลสของมัน) และ อัตตกิลิมถะ (อย่าให้ร่างกายอดอยาก)

นั่นคือไม่เสพทั้งกามและไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาที่ยึดดีถือดี นี่คือความโต่งที่ต้องเลี่ยง ซึ่งในทางปฏิบัติมันจะไม่ง่ายเพราะเดี๋ยวก็เซไปข้างหนึ่งที เซไปอีกข้างหนึ่งที หรือไม่ก็ไปติดอยู่ข้างใดข้างหนึ่งจนไปไหนไม่ได้

ผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงควรไม่เอาตัวไปหมกกับการเสพสุขทั้งหลาย (กาม) และไม่ยึดดีถือดีจนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับร่างกายและจิตใจของตน(อัตตา)

ผู้ที่ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หรือไตรสิกขานั้น จะสามารถเข้าใจสภาวะของทางโต่งสองด้านและทางสายกลางได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อถือศีลใดๆแล้ว จะได้เรียนรู้ขอบเขตของความโต่งและทางสายกลางว่าจุดใดคือโต่งไปทางกาม จุดใดคือโต่งไปทางอัตตา และจุดใดคือตรงกลาง ซึ่งเมื่อปฏิบัติศีลนั้นจนชำระกิเลสในใจได้แล้วก็จะเข้าใจสภาพของทางสายกลางในศีลนั้นๆอย่างถ่องแท้

– – – – – – – – – – – – – – –

4.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,373 views 0

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….

  • ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
  • ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
  • แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
  • ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
  • เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
  • . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที

ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ

1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ

ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้

2). กิเลสในคนดี

ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

3). กรรมเขากรรมเรา

ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย

แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี

4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้

การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป

5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์

การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ

การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง

การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที

6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส

การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ

การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม

การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

3.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)