ความเห็นความเข้าใจ

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,383 views 0

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

ยุคสมัยนี้ปฏิบัติ ศึกษาธรรมะกันแต่ไม่ค่อยสนใจศีล ลืมศีล ไม่เข้าใจศีล ถ้าไม่ยึดศีลแบบงมงาย ก็ตีทิ้งศีลไปเลย พอไม่มีศีลมันก็เลยไม่มีปัญญา แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมารู้แจ้งเห็นจริงในธรรม

ศีลกับปัญญานั้นเป็นคู่กัน ถ้าปฏิบัติศีลอย่างสัมมาทิฏฐิกันจริงๆ ยังไงก็หนีไม่พ้นการมีปัญญา

แต่เดี๋ยวนี้ถือศีลกันแล้วหมายเอาแค่ศีลมาคลุมแค่ร่างกาย กับคำพูดคำจา แต่ความจริงแล้ว ศีลก็ปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ นั่นแหละ ซึ่งก็อยู่ที่ความเห็นของผู้ที่ศึกษา ถ้าเข้าใจก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ จะติดอยู่แค่ร่ายกาย กับคำพูดเท่านั้น จะไปต่อถึงใจไม่เป็น

สรุปลงไปเลยว่า ศีลนี่แหละคือข้อปฏิบัติที่จะชำระกิเลสในใจ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “ศีลที่เป็นกุศล ยังอรหัตตผลโดยลำดับ” นั่นหมายถึงแค่มีศีลนี่แหละ พอแล้วจบกิจแน่ๆ แต่ต้องสัมมาทิฏฐินะ~

หลักพิจารณาในการแนะนำ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์จากความรักในคนโสดและคนคู่

October 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,369 views 0

หลักพิจารณาในการแนะนำ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์จากความรักในคนโสดและคนคู่

ข้อคิดเห็นของฉัน : หลักพิจารณาในการแนะนำ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์จากความรักในคนโสดและคนคู่

ในเพจนี้มักจะมีแต่บทความเกี่ยวกับความโสด พูดถึงแต่ในบริบทของคนโสด มักจะไม่ค่อยกล่าวถึงในมุมของคนมีคู่สักเท่าไหร่

บทความส่วนมากของผมเจาะจงลงไปที่ปัญหาความรัก ชี้ให้เห็นเหตุของปัญหา แต่ไม่เคยแนะนำให้หนีปัญหา หรือหักดิบทิ้งปัญหาเหล่านั้น แล้วเอาตัวรอดคนเดียว นั่นหมายถึงผมไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนให้คนมีคู่ หนีคู่ไปด้วยข้ออ้างที่ว่าโสดนั้นดีกว่า

ซึ่งผมเองไม่ได้มีเจตนาที่จะไปยุ่งเกี่ยว หรือไปมีอิทธิพลต่อชีวิตใครจนกระทั่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่จนเป็นทุกข์ เพราะเจตนาที่แท้จริงก็เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นโทษของกิเลสเท่านั้น และการจะแก้ปัญหาความรักที่มีความซับซ้อนน้อยที่สุด ก็คือการแก้ปัญหาตั้งแต่ยังเป็นโสด เพจนี้จึงมักจะมีบทความชวนให้เห็นโทษของการมีคู่ เห็นคุณของความโสด

เพราะการแก้ปัญหากิเลส ตอนโสดนั้นเป็นการแก้ต่อเดียว แก้ที่คนคนเดียว ปัญหามีความซับซ้อนน้อย สามารถจัดการได้ง่าย แต่การแก้ปัญหากิเลสในคนมีคู่นั้นยาก ซับซ้อน มีเรื่องปิดบังอำพรางมาก มีเรื่องส่วนตัวเยอะ มีเหตุแห่งทุกข์มากมายที่เป็นเรื่องลึกลับ ไม่สามารถไขความหมายหรือเข้าใจได้ ไม่ใช่ลักษณะแบบ (1+1 =2 ) แต่เป็น (กิเลส + กิเลส = อภิมหากิเลส)

เพียงแค่การแก้ปัญหากิเลสในคนๆเดียวก็ไม่รู้จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้ความเพียรแค่ไหน ผมเองก็ผ่านมาแบบแผลเหวอะหวะ ถ้าเป็นสงครามก็เสียแขนเสียขาไปอย่างละข้าง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเรียนรู้โดยไม่เจ็บช้ำ ไม่ง่ายที่จะเอาชนะกิเลสโดยไม่ต้องเสียอะไรไป ไม่ง่ายเพราะต้องแพ้กิเลสซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ก็ยังต้องสู้อยู่…นี่แค่ตัวคนเดียวนะ

แต่การแก้ปัญหากิเลสในคนคู่นั้นซับซ้อนยิ่งกว่า มันมีความผูกของกิเลสสองคน ถ้าเป็นเชือกก็เป็นเชือกสองเส้นที่สีเดียวกันบ้าง คนละสีบ้างในแต่ละเส้น พันกันเป็นปมใหญ่ ไม่รู้อันไหนต้นอันไหนปลาย ไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหน ไม่รู้จะแก้ปัญหาที่ใด

สำหรับคนคู่ผมจึงได้พิมพ์บทความไว้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในตนเองเท่านั้น ไม่ต้องไปมุ่งแก้ที่คู่ของตน เพราะลำพังแก้ที่ตนก็ยากพออยู่แล้ว ควรจะเอาตัวเองให้รอเสียก่อนแล้วค่อยไปช่วยคนอื่น ใครจะคิดไปแก้คู่ของตนด้วยก็ตัวใครตัวมัน

ซึ่งในความจริงมันก็ต้องลากกันไปแบบนั้น คนโสดแก้ปัญหาตัวเองได้ เรื่องก็จบ แต่คนคู่แค่แก้ปัญหาตัวเองได้นั้นยังไม่พอ ยังต้องช่วยคู่แก้ปัญหาอย่างมีศิลปะด้วย เพราะหากคู่ครองยังมีปัญหาอยู่ ก็สามารถลากกันไปลงนรก ลากกันไปทุกข์ได้เช่นกัน ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเปรียบคู่ เหมือนกับบ่วง จะเดินไปไหนก็ต้องลากกันไปด้วย ต้องลำบากเพิ่มขึ้น ใครมีลูกก็ต้องลำบากเพิ่มขึ้นอีกตามบ่วงที่สร้างมา

และผมก็ยังถือหลัก “ ผูกเองก็ต้องแก้เอง ” ตอนผูกพันก็สมยอมผูกกันมาเอง แล้วตอนจะแก้มาให้คนอื่นแก้ให้ เก่งแค่ไหนก็คงไม่สามารถแก้ให้ได้ เพราะไม่รู้ว่าผูกกันมายังไง มีแต่คนที่ผูกเท่านั้นที่จะรู้ว่าต้องแก้ปัญหายังไง

ถ้าจะให้แนะนำกันในส่วนตน เรื่องของตนเอง เฉพาะจิตใจตนเอง ไม่ว่าจะเป็นคนโสดที่ยังเร้าร้อนแสวงหาคู่ หรือคนคู่ที่ทุกข์มาจากเรื่องคู่ของตน การแนะนำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องส่วนบุคคลนั้นยังเป็นเรื่องที่พอจะทำได้

แต่ถ้าจะให้ไปวิเคราะห์กันถึงบุคคล ที่ 2 3 4 … ไปคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเรื่องนอกตัว เช่นว่า ทำไมเขาต้องทำกับฉันแบบนี้ , เขาจะต้องได้รับกรรมอะไร, เขาจะต้องทำอย่างไรถึงจะแก้นิสัย ฯลฯ ผมว่ามันจะเลอะเทอะ เสียเวลากันเปล่าๆ เอาแค่เวลาที่มีในชาตินี้ทั้งหมดจะแก้ปัญหาที่ตัวเองให้ได้หมดก็ดูท่าจะยังไม่พอกันเลย แล้วใครที่คิดจะไปแก้ปัญหาของคนอื่นแต่ไม่มุ่งแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อนนี่ ผมเองไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนแนวคิดแบบนี้

ในมุมธรรมะ คนที่มุ่งแต่จะแก้ไขคนอื่นนั้น ไม่มีทางที่เขาจะพ้นทุกข์ได้เลย พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้หมั่นทำนาของตนเอง อย่าไปทำนาคนอื่น ซึ่งถ้าใครมีความคิดเห็นในแนวทางมุ่งแก้ปัญหาคนอื่น ไม่มองว่าตัวเองมีปัญหา ผมก็คิดว่ายากที่เขาจะแก้ปัญหาในชีวิตได้

ส่วนคนที่น้อมปัญหากลับมามองตน กลับมาทบทวนว่าเหตุแห่งทุกข์ของเรานั้นอยู่ตรงไหนในจิตใจเรา คนที่มีความคิดในแนวทางนี้เจริญได้ง่าย แก้ปัญหาได้ง่าย ถ้าให้ผมเลือก ก็คิดว่าควรใช้เวลาให้กับคนที่มีความเห็นเช่นนี้ เพราะเขามุ่งแก้ปัญหาในตนจริงๆ ซึ่งการแนะนำต่างๆจะสามารถเข้าถึงปัญหาได้ง่าย เพราะไม่มีตัวแปรที่ซับซ้อนเหมือนคนที่ดึงเอาบุคคลที่ 2 3 4 … มาเกี่ยวด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นิยาม “คุณค่า” ของชีวิต

October 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,418 views 0

ฝ่ายหนึ่งมองว่าการไม่มีกิเลสคือคุณค่าของชีวิต
อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการตอบสนองกิเลสคือคุณค่าของชีวิต
และอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าจะมีหรือไม่มีกิเลสก็ช่างมัน เกิดมาใช้ชีวิตแล้วก็ตาย

…มันจะคุยกันรู้เรื่องไหมเนี่ย?

การที่เราคุยกันอยู่บนพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจ (ทิฏฐิ) ที่ต่างกัน แล้วแต่ละคนยึดมั่นในทิฏฐินั้น ต่อให้คุยกันทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เจริญหรอก เสียเวลาเปล่าๆ

อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์

September 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,141 views 0

อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์

อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์ : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงแก้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์

ความทุกข์ที่เกิดจากความรัก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนหนึ่งหันเข้าหาศาสนา เพื่อที่จะคลายทุกข์เหล่านั้น พวกเขาจึงเลือกธรรมะมาใช้เป็นเครื่องมือกำจัดทุกข์

แต่กระนั้นคนที่ทุกข์จากความรักส่วนมาก ไม่ได้ต้องการที่จะดับทุกข์ให้หมดสิ้น เขาเพียงแค่ต้องการให้ทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่นั้นได้จางคลายลง เปรียบเหมือนคนที่โดนปืนยิง แต่ไม่ต้องการผ่าเอาหัวกระสุนที่ฝังในออก เพียงแค่ต้องการให้รักษาทั่วไปแล้วเย็บแผลให้ดูหายเป็นปกติ นั่นหมายถึงเขาไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาทั้งหมดของความรัก เพียงแค่ต้องการแก้ทุกข์เท่าที่เป็นอยู่เท่านั้น

เขาเหล่านั้นเป็นทุกข์ แต่กลับไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็น “ความอยาก” ว่าเป็นความทุกข์ ไม่เห็นหัวกระสุนที่ฝังในอยู่นั้นคือปัญหา และเขาก็ไม่ได้อยากจะเห็นทุกข์ ไม่ได้อยากเห็นธรรม เขาแค่เพียงไม่อยากเป็นทุกข์ อยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ในขณะนั้น โดยไม่ได้ต้องการทำลายเหตุแห่งทุกข์

ซึ่งทุกข์จากความรักเหล่านี้แท้จริงแล้ว ก็เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส มันมีเหตุ และสามารถดับเหตุของมันได้ จึงเป็นทุกข์ที่เลี่ยงได้ ไม่จำเป็นต้องมีทุกข์เช่นนี้เกิดขึ้นในชีวิต

หาธรรม ให้ช้ำคลาย

การเข้าหาธรรม ด้วยความบีบคั้นของทุกข์จากความรักนั้น เกิดจากค่านิยมของคนส่วนใหญ่ว่าถ้าเข้ามาหาธรรมแล้วใจจะสงบขึ้น มีปัญญาขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้ว ทุกข์เหล่านั้นสามารถดับลงไปเองได้แม้จะไม่ได้ทำอะไรกับมัน ตามวงจรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่การดับเช่นนี้เป็นลักษณะทั่วไปของโลก เป็นสามัญ แต่เมื่อดับแล้วก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง

คนทั่วไปมักจะใช้วิธีเปลี่ยนเรื่องเพื่อช่วยในการออกจากความทุกข์ การใช้ธรรมะก็เช่นกัน เราสามารถนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อหยุดความฟุ้งซ่าน หรือถ้าแบบทั่วๆไป ก็ออกไปเที่ยว หากิจกรรมทำ หางานทำให้เรื่องมันเปลี่ยนจะได้ลืมๆความทุกข์ไป วิธีเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในลักษณะของ “สมถะ” คือการใช้อุบายเข้ามาบริหารจิต ให้เกิดความจางคลายจากสภาพหนึ่งๆ

การใช้ธรรมะเป็นทางเลือกก็เป็นโอกาสที่ดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เดินเข้ามาศึกษาธรรมะ ซึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาหาความรู้เพื่อการหลุดพ้นอย่างแท้จริง ตามขอบเขตของผู้ที่ต้องการศึกษา หรือจะใช้ธรรมะแค่คลายทุกข์ไปวันๆก็ตามแต่จะประสงค์

หาหมอ แต่ไม่ยอมรักษา

คนที่เลือกใช้ศาสนา ใช้ธรรมะในการคลายทุกข์จากความรัก น้อยคนนักที่จะยอมรักษาให้ถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยส่วนมากก็ขอแค่ให้ทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคลาย พออาการดีขึ้นก็รีบหนีออกจากความดูแลของหมอ(ผู้ผ่าตัดกิเลส) ไปเสพสุขในโลกต่อ เหมือนกับคนที่รักษาโรคแบบขอไปที หรือคนที่อาบน้ำกลัวเปียก

ในกรณีที่ใจป่วยรักษายังไงก็ไม่หาย อาจเพราะไม่กินยา(ไม่ปฏิบัติตาม) ทุกข์จึงไม่หาย บางทีกินยาผิด ไม่ตรงตามที่แนะนำ หรือเข้าใจผิดก็ทำให้ทุกข์ไม่หายไปอีก หรือที่ซวยกว่านั้นคือไปหาหมอผิด เช่น ท่านเหล่านั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ แต่หลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นสามารถดับทุกข์ได้ เป็นอาจารย์หมอขั้นนั้นขั้นนี้ แล้วก็ออกมารักษาคน หายบ้างไม่หายบ้าง แต่ที่แน่ๆคือไม่มีวันหายอย่างถาวร และทุกข์จากความรักเช่นนี้ แม้ไม่รักษามันก็จะหายไปเอง ตามธรรมชาติ อาจจะทำให้หลงเข้าใจผิดว่ามันหายไปก็ได้…แต่ถ้ารักษาผิด ไม่ทำลายถึงเหตุแห่งทุกข์สักวันมันก็จะเกิดขึ้นมาใหม่

แท้จริงแล้วการที่คนเราไม่ยอมศึกษาให้ถึงเหตุแห่งทุกข์นั้นเกิดจากความหลง มันหลงในกิเลสจนหวงกิเลส รักกิเลส เสียดายกิเลส กลัวว่าจะมีคนมาล้วงลึก มาทำลายกิเลสของตัวเอง ไม่ยอมเผยธาตุแท้ของกิเลสให้ใครเห็นแม้แต่ตัวเอง เรียกว่ารักกิเลสมากกว่ารักธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่โดนกิเลสปั่นหัวจนหลงมัวเมา เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

หมอที่ตาดีบางท่านเขาก็สังเกตเห็นอาการกิเลสกันได้ตามบารมีที่สะสมมา แต่การจะไปทัก หรือจะเข้าไปรักษานั้น มันก็ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าเขาอยากจะให้รักษาไหม เขาอยากให้แนะนำไหม เขายังหวงกิเลส เขายังผลักไสธรรมะอยู่ไหม ถ้ายัง…ก็ต้องปล่อยเขาไปก่อน ไว้วันใดวันหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่งเขาเห็นทุกข์จนอยากทำลายเหตุแห่งทุกข์นั้นแล้วค่อยมาว่ากัน

ช้ำรัก แต่ไม่หยุดรัก

พอไม่ได้แก้ปัญหาที่เหตุ ไปแก้ที่ผล ไปดับทุกข์กันแต่ที่ผล พอความทุกข์นั้นจางลงไป แต่ความใคร่อยากไม่ได้ลด กิเลสไม่ได้ลดลง สุดท้ายก็จะเวียนกลับไปหาเหาใส่หัว ไปสร้างเหตุแห่งทุกข์ให้ตัวเองเพิ่ม ซึ่งมันจะไม่ทุกข์เท่าเดิม มันจะค่อยๆเพิ่มมากกว่าเดิมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเหตุจากความหลงที่เพิ่มขึ้น วิบากบาปก็มากตามที่หลงติดหลงยึดไปด้วย ติดนานเท่าไหร่ก็สะสมไปเท่านั้นและสุดท้ายก็ต้องชดใช้เท่าที่ทำมาไม่ขาดไม่เกิน

นี่คือความเป็นโลก ความวนเวียนอยู่ในโลก เป็นโลกียะ เป็นวิถีของผู้หลงผิด ที่มัวเมาในสุขลวง หลงว่าสิ่งที่เป็นทุกข์เหล่านั้นว่าเป็นความสุขจริงๆ เขาจึงวิ่งเข้าใส่ความทุกข์ด้วยความยินดี เปรียบเหมือนกับคนที่วิ่งเข้าไปในกองไฟแล้วรู้สึกว่ามีความสุขและเข้าใจว่า “ชีวิตมันก็ต้องสุขๆ ทุกข์ๆ เช่นนี้แหละ” นั่นหมายถึงเขาก็จะต้องวนเวียนไปเช่นนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์ เพราะเขายินดีในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นการไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือความวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ เสียแรง เสียทรัพย์ เสียเวลา เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ตัวเองก็ทุกข์แล้วไม่ยอมแก้เหตุแห่งทุกข์ ยังต้องไปเบียดเบียนคนอื่นเพื่อหาทางคลายทุกข์ นั่นหมายถึงว่า การไม่พยายามศึกษาและปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ คือการเบียดเบียนที่แท้จริง เป็นการใช้ชีวิตไปในทางที่ผิด เป็นทางไปสู่นรก เป็นไปเพื่อความฉิบหาย เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกัลปาวสาน

– – – – – – – – – – – – – – –

30.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)