ธรรมะประยุกต์

การเดินทางที่แสนพิเศษ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,846 views 0

การเดินทางที่แสนพิเศษ

การเดินทางที่แสนพิเศษ

….การท่องเที่ยวผ่านอดีต ไปอนาคต จบลงที่ปัจจุบัน

ในชีวิตหนึ่งเราอาจจะเดินทางไปไหนต่อไหนก็ได้ ไกลเท่าไรก็ได้ อาจจะทั่วโลกหรือทั่วจักรวาลก็ยังได้ เราได้เห็นได้เรียนรู้สิ่งต่างๆระหว่างการเดินทางมากมาย จนถึงจุดหมายซึ่งทำให้เราพบกับสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ก็ยังมีการเดินทางที่พิเศษกว่านั้นเป็นการเดินทางไปที่ไหนก็ได้แม้ว่าจะนั่งอยู่บนม้านั่งตัวเก่า นอนอยู่บนเตียงเดิมเดิม แต่กลับงดงามอย่างหาอะไรมาเปรียบไม่ได้

จินตนาการสามารถพาเราไปที่ไหนก็ได้ ไกลแค่ไหนก็ได้ ละเอียดเท่าไรก็ได้ จะแวะพัก จะย้ายที่ จะทำอะไรก็ได้…

เราจึงใช้จินตนาการเหล่านั้นพาตัวเองผ่านอดีต ผ่านหลายภพหลายชาติที่เคยติดเคยยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมา เดินทางตรวจสอบจิตใจว่าเรายังเหลืออะไรให้หวนไปในอดีตเหล่านั้นหรือไม่ เรายังสุขยังทุกข์กับเรื่องราวในอดีตเหล่านั้นหรือไม่ ทุกเรื่องราวที่ผ่านมาสร้างรอยยิ้มและน้ำตามากมาย เป็นเหมือนเส้นทางที่มีแต่ความทรงจำที่ผ่านมามากมายขื่นขมและงดงามหาที่เปรียบไม่ได้

เรายังคงเฝ้าถามตัวเองว่ายังเหลือทุกข์เหลือสุขอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นหรือไม่ แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่าง เราอยากทำให้มันกลับมาหรืออยากลบมันทิ้งไปหรือไม่

หลังจากเราเดินทางไปในอดีต เราก็จะไปท่องเที่ยวกันต่อในอนาคต เราจะพาจินตนาการไปยังที่ที่อยากไป คนที่อยากพบ เหตุการณ์ที่อยากเจอ เป้าหมายในชีวิตของเราที่อยากมี ความฝันวันวานที่เราเคยมี เราใช้เวลาดื่มด่ำไปกับจินตนาการในอนาคต เรามีความสุขหรือไม่ที่เราคิดถึงมัน จะดีไหมถ้าเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นจริง เราใช้มันเป็นแรงผลักดันในชีวิตได้ไหม ถ้าถึงวันที่เราฝันจริงๆ แล้วเราจะมีความสุขจริงๆใช่ไหม?

เราเดินทางไปยังอนาคต ที่เวลาทั้งหลายจะเคลื่อนไปตามจินตนาการของเรา คนข้างๆเราเขายังจะอยู่กับเราถึงวันที่เราหวังหรือไม่ พ่อและแม่ของเราจะจากไปตอนไหน เราจะต้องอยู่คนเดียวอีกนานแสนนานไหม ถ้าเราต้องโดดเดี่ยวและสูญเสียจริงๆ เราจะทุกข์ เราจะเสียใจ เราจะทนได้ไหม เราจะไม่ร้องไห้ได้ไหม

หากเรายังคงยินดีในอดีตและอนาคต เราก็ยังคงต้องเดินทางต่อไป การเดินทางของเรานั้นยังไม่จบยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมัน เราต้องใช้เวลามากมายเดินทางข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นจากเดือนเป็นปี จากปีเป็นชีวิต เราตายและเกิดใหม่เพื่อเดินทางเรียนรู้บนถนนเส้นเดิม แม้ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่เราก็ยังจะเดินทางตามหาความฝันเหมือนเดิม

จนกว่าเราจะพบว่าเราพอแล้ว เราไม่ยินดีในสุขและไม่สนใจจะจมอยู่กับทุกข์ทั้งในอดีตและอนาคตแล้ว ไม่มีเรื่องใดๆให้เราต้องทำ ไม่ต้องไขว่คว้าฝันนั้นอีกต่อไปแล้ว เราจึงยินดีที่จะหยุดเดิน เราไม่กลับไปอดีต และจะไม่เดินต่อไปในอนาคต การเดินทางของเราจบลงที่ตรงนี้ ตอนนี้ เราอยู่กับปัจจุบัน อดีตคือความทรงจำดีๆ เรื่องราวมากมายที่ผ่านมานั้นยังคงมีอยู่ อนาคตต่อจากนี้ก็ยังมีอยู่แต่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเดินทางที่แสนพิเศษจะเกิดขึ้นเพราะมันมีตอนจบ มีเส้นทาง มีประสบการณ์ มีเรื่องราวมากมายที่ผ่านมาแล้วก็มีตอนจบ เป็นการสิ้นสุดของการเดินทางท่องเที่ยวที่ผ่านมานานแสนนาน ผ่านรอยยิ้มและน้ำตามากมาย บทสรุปนั้นงดงามด้วยเรื่องราวของทุกก้าวที่ผ่านมา

พระอาทิตย์กำลังขึ้นในเช้านี้ แต่ไม่มีการเดินทางอีกต่อไป ไม่ต้องท่องเที่ยวอีกต่อไป เหลือเพียงแค่คนหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตไปอย่างปกติ โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนอีก ไม่ต้องกลับไปอดีต ไม่ต้องไปอนาคต เพราะเขาอยู่กับปัจจุบัน

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,617 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วิธีปล่อยวางความรัก

December 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 103,241 views 11

วิธีปล่อยวางความรัก

วิธีปล่อยวางความรัก

…ทั้งในทางโลกและในวิถีทางแห่งพุทธศาสนา

ในบทความนี้จะมาไขรหัสการปล่อยวางความรัก ว่าปล่อยวางอย่างไรจึงจะวางได้จริง บางคนยอมปล่อยแต่ไม่ยอมวาง ถึงอยากวางก็วางไม่ลง มันยังขุ่นใจหงุดหงิดใจอยู่ นั่นเพราะการปล่อยวางของเรานั้นยังไม่ทำจนถึงที่สุดแห่งความรู้แจ้งนั่นเอง

วิธีที่เราใช้เพื่อปล่อยวางความรักนั้นมีหลายวิธี แต่ในบทความนี้จะสรุปรวมมาให้แบบกว้างๆ 3 วิธี คือ 1).เปลี่ยนเรื่อง 2).ปัดทิ้ง 3). เข้าใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1). เปลี่ยนเรื่อง

วิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปคือการหากิจกรรมทำ ท่องเที่ยวไปในที่ที่ไม่เคยไป ศึกษาเรื่องที่ไม่เคยรู้หรือแม้แต่การเน้นลงไปในเรื่องเดิมเช่น ชอบเที่ยวอยู่แล้วก็เที่ยวให้หนักขึ้น ก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่ควรจะสนใจอยู่ให้ไปสนใจเรื่องใหม่ที่เรากำลังทำอยู่นั่นเอง

จะเรียกว่ากลบเกลื่อนก็ว่าได้ หลายกิจกรรมนั้นมีสิ่งที่ดีและไม่ดีสอดแทรกอยู่ เช่นถ้าเราไปหาแฟนใหม่ เราก็จะสามารถปล่อยวางแฟนเก่าได้ เพราะเราเลิกยึดแฟนเก่ามายึดแฟนใหม่แทน แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้มันแค่ถูกกลบทำเป็นลืมเท่านั้น นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่ดี ส่วนกิจกรรมที่ดีเช่น เรากลับไปดูแลพ่อแม่และพบว่าความรักของท่านมีคุณค่ากับเรามากที่สุด ซึ่งทำให้เราปล่อยวางรักที่จากไปพร้อมกับอดีตคนรักได้ เพราะได้พบกับความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า นี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ดี แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของการเปลี่ยนเรื่องอยู่ดี

การเปลี่ยนเรื่องเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่หลายคนนิยมใช้เพราะเข้าใจได้ง่ายและทำได้ง่าย ซึ่งถ้าทำแล้วเป็นกุศลก็ยังถือว่าดี แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่เป็นอกุศลสร้างบาป เวร ภัยให้ตัวเองเช่น อกหักแล้วทำตัวเสเพล ใจแตก เที่ยวผับ เมาเหล้า บ้าผู้หญิง อย่างนี้มันก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่พาลงนรกได้เช่นกัน

2).ปัดทิ้ง

ในมุมของการปัดทิ้งจะมีรายละเอียดค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่วิธีสามัญธรรมดาคือการพยายามไม่พูดถึง ไม่ใส่ใจ ใครทักก็ทำเฉยๆ เห็นภาพเก่าๆก็ทำลืมๆไป จนมาได้ศึกษาธรรมะบ้างจึงได้พบกับวิธีการทางธรรมซึ่งเรียกว่าสมถะวิธี

สมถะคืออุบายทางใจ มีไว้เพื่อพักจิตพักใจ ใช้กดข่ม ใช้ตบ ใช้แบ่งเบาผัสสะที่เข้ามา ผู้ที่ฝึกสมถะได้มากๆจะสามารถกดข่มอาการหวั่นไหวในใจจากอาการปล่อยแต่ยังไม่วางได้ ถึงกระนั้นก็ตามสมถะก็ยังมีขอบเขตของผลที่จะได้รับแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเราจะแบ่งสมถะออกเป็นสองวิธี

2.1).เจโตสมถะ

คือการใช้พลังกดข่มเอาดื้อๆนี่แหละ หรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าใช้สติ , รู้ , หรืออะไรก็ตามแต่ภาษาบัญญัติเป็นลักษณะของการย้ายจิตที่จมอยู่ ณ สภาพหนึ่งเปลี่ยนไปจมอยู่อีกสภาพหนึ่งโดยการปัดผลของผัสสะ(การกระทบ)นั้นทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น แฟนเก่าเดินมาใจเราก็หวั่นไหวแต่ด้วยความที่เราฝึกสติมาเราก็รู้ตัวว่าจิตกำลังเกิดก็ปัดอาการเหล่านั้นทิ้งไปได้ทันที ลักษณะนี้คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันเกิดไปแล้วแต่ไปปัดทิ้งไม่นำมาพิจารณาต่อ จบเรื่องไปตรงนั้น ดับไปตรงนั้นแล้วเข้าใจว่าการดับมันเป็นแบบนั้น

จริงๆแล้วมันเป็นการดับที่ปลายเหตุ ซึ่งในขีดสูงสุดที่เจโตสมถะจะทำได้คือดับทุกอาการของเวทนาที่เกิด ดับไปจนถึงสังขารหรือกระทั่งสัญญาในลักษณะกึ่งอัตโนมัติ คือเมื่อมีผัสสะแล้วเกิดอาการจะสามารถดับได้ทันทีโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นคนที่มีพลังของเจโตสมถะเต็มที่ ลักษณะจะดูเหมือนว่ามีสติเต็มแต่หากมองในทางพุทธจริงๆแล้วจะพบว่าสติไม่เต็มเพราะถูกตัดความต่อเนื่องของสติขาดไปตั้งแต่ปัดทิ้งแล้ว

ข้อดีของเจโตสมถะคือไม่ต้องคิดมาก วิธีการเรียนรู้ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน สอนกันไม่นานก็จับหลักได้ มีสอนกันโดยทั่วไป เป็นวิธีที่มีมาก่อนพุทธศาสนาและจะมีไปจนตราบโลกแตก เอาเป็นว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็มีวิธีแบบนี้

ข้อเสียของเจโตสมถะคือการใช้สติตัดอาการเหล่านั้นทิ้งเสีย จึงไม่สามารถเข้าสู่วิปัสสนาได้ แต่คนมักจะหลงว่านี่คือการวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วยังคงอยู่ในขีดของเจโตสมถะเท่านั้น การเข้าวิปัสสนานั้นต้องเริ่มที่ญาณ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ แต่วิธีของเจโตสมถะจะไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้เลย รู้เพียงแค่ว่าจิตเกิดแล้วก็ทำให้มันดับไปเท่านั้นเอง เข้าใจการเกิดและดับเพียงเท่านั้น ไม่ได้ขุดค้นไปที่ต้นเหตุ กระทำเพียงแค่ปลายเหตุ

ซึ่งคนที่เก่งในเจโตสมถะมักจะหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมเพราะสามารถดับหลายสภาพจิตที่เกิดขึ้นในจิตได้แล้ว จะยกตัวอย่างอาจารย์ของพระพุทธเจ้าคืออุทกดาบส และอาฬารดาบส ซึ่งโดยรวมก็เป็นสายสมถะเช่นกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยืนยันแล้วว่าไม่บรรลุธรรม

ความเข้าใจที่ว่าสติมาปัญญาเกิดนั้นยังเป็นความเข้าใจที่อธิบายได้ยากและทำให้คนหลงลืมศีล มุ่งแต่ปฏิบัติสมถะซึ่งเป็นสายหลักของเจโตสมถะ เมื่อไม่กล่าวถึงศีล ไม่มีศีลในข้อปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไปเป็นองค์รวมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ก็ย่อมไม่เกิดมรรคผล ไม่เป็นพุทธ ไม่เข้าใจในพุทธ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องศีล สมาธิ ปัญญา หากเราฝึกเพียงสติแล้วหวังจะให้ปัญญาเกิด ปัญญาที่ได้จะเป็นปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาแบบปล่อยวางทุกข์ที่อยู่ตรงหน้า เหมือนสภาพปล่อยก่อนหน้าที่จะถือ แต่ไม่มีปัญญารู้ว่าไปถือเพราะอะไร

การปล่อยวางความรักโดยใช้เจโตสมถะนี้จะไม่สามารถวางได้จริง พอเจอผัสสะเช่นแฟนเก่าเดินมา เขาแต่งงานใหม่ก็ต้องมาดับจิต ข่มจิต ปัดจิตตัวเองทิ้งเป็นรอบๆไป เจอหนักๆเข้าก็ไม่ไหวสติแตกได้เช่นกัน

2.2).ปัญญาสมถะ

เป็นลักษณะของผู้พิจารณาที่มีชั้นเชิงขึ้นมาบ้าง ใช้ปัญญาเข้ามาเสริมบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญญาทางโลก เป็นเหตุผลทางโลก เป็นสัจจะที่รู้กันในโลก ไม่ใช่สัจจะที่เกิดในใจ

ลักษณะของการใช้ปัญญาเข้ามาเสริมในเชิงของสมถะคือมีการใช้กรรมฐานเข้ามาพิจารณาร่วม ส่วนกรรมฐานจะเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่ว่าสำนักไหนจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาเป็นกรรมฐาน ยกตัวอย่างเช่น พอเราอกหักก็แล้วปล่อยวางไม่ได้ เขาก็จะแนะนำว่าเป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราเป็นของเรา แต่สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ใช้การพิจารณาธรรมอย่างนี้เข้ามาช่วย จะมีลักษณะเป็นรูปแบบที่ชัดเจนในการพิจารณา เป็นการใช้กรรมฐานในลักษณะเช่นเดียวกับ พุทโธ , ยุบหนอพองหนอ แต่จะนำบทธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย

โดยรวมแล้วปัญญาสมถะนั้นเหมือนจะดี มีสอนกันโดยมาก แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการใช้เหตุผลเข้ามากดข่มความทุกข์ ใช้เหตุผลเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่น เอาสัจจะ เอาความรู้ เอาตรรกะ เอาปัญญาโลกียะ เข้ามากดจิตไว้ ซึ่งก็เป็นลักษณะของสมถะเช่นกัน

ข้อดีของปัญญาสมถะนั้นก็มีมาก เพราะเริ่มจะใช้เหตุผลในการพิจารณาออกจากทุกข์บ้างแล้ว ไม่ใช่การตบทิ้งเอาดื้อๆหรือหลงเข้าใจเพียงว่าการแก้อวิชชาก็แค่เพียงรู้ รู้ รู้ เท่านั้น จะเริ่มละเอียดในจิตมากขึ้น

ข้อเสียของปัญญาสมถะนั้นก็มีอยู่ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งธรรมแต่มักจะหลงว่าถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะมีการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณาความทุกข์ แต่ปัญหาคือล้วงไม่สุด ล้วงไม่ลึกถึงสมุทัย เจอแค่ปัญหาปลายๆก็พิจารณาเพียงปลายๆแล้วจบลงตรงนั้นคล้ายๆว่าเราพอเจอความยึดมั่นถือมั่นเราก็จะพิจารณาแค่ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เจาะลงไปในเหตุว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นเกิดจากอะไร

พอไม่ได้พิจารณาลงไปที่เหตุกิเลสก็ไม่มีทางดับ มันเพียงแค่ซ่อนตัวอยู่เพราะมีพลังของสมถะมากดไว้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนหลงไปได้มาก จะมีสภาพเหมือนเข้าใจทั้งธรรมและเข้าใจทั้งทุกข์ ซึ่งโดยมากจะมีรูปแบบการพิจารณาที่เป็นแบบแผนชัดเจน ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นเพราะไม่ได้ล้วงลึกไปที่เหตุ

เหมือนกับหมอที่เห็นว่าคนไข้น้ำมูกไหลก็สั่งจ่ายยาลดน้ำมูก ทั้งที่เหตุของน้ำมูกนั้นเกิดได้มากมายหลายสาเหตุ ซึ่งอาการที่น้ำมูกไหลนั้นเป็นปลายเหตุ ลักษณะของปัญญาสมถะจะเป็นเช่นนี้ เหมือนจะแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ได้ดับไปที่รากของปัญหา

…. จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าวิถีแห่งสมถะไม่สามารถล้วงลึกไปถึงสมุทัยได้ เมื่อไม่ถึงสมุทัย ไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ ก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงวิปัสสนา เพราะการวิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องเริ่มกันที่นามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ จึงจะเรียกได้ว่ากระทำวิปัสสนา คือการเห็นว่ากิเลสมันเริ่มจากตรงไหน กิเลสตัวใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดทุกข์

ซึ่งสมถะวิธีนี่เองคือตัวกั้นไม่ให้เราไปถึงสมุทัย โดยเฉพาะวิธีเจโตสมถะซึ่งจะตบทิ้งทุกๆผลของผัสสะที่เข้ามาทำให้ทุกข์ เมื่อตบเวทนา สังขาร สัญญา เหล่านั้นทิ้งไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรให้ค้นหาเหตุแห่งทุกข์อีก ซึ่งขัดกับหลักของพระพุทธเจ้า ในบทของอาหาร ๔ ในข้อหนึ่งที่ว่า ผัสสาหาร หมายถึงคนเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตเพื่อความเจริญทางจิตใจ ต้องรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้นและค้นต่อไปว่าเวทนาสุข ทุกข์ เฉยๆเหล่านั้นเกิดเพราะเหตุใด มิใช่จิตเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แล้วปัดทิ้ง ตบทั้ง ดับทิ้ง แบบนี้เป็นวิถีของฤๅษี

3). เข้าใจ

ก่อนที่เราจะเข้าใจสิ่งใดได้นั้นเราจะต้องเห็นทุกข์กับมันอย่างแจ่มแจ้งเสียก่อน ดังคำตรัสที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” จะลองยกตัวอย่างการเห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมในแบบโลกๆให้พอเห็นภาพกันโดยสังเขป

ครั้งหนึ่งได้กินยำไข่แมงดาแต่กลับมาพบว่าปวดหัวหายใจขัด ครั้งนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าผิดที่ไข่แมงดาหรือผิดที่เราเพราะคนอื่นกินก็ปกติดีมีแต่เราเป็น ก็เลยมีการลองครั้งที่สองครั้งนี้หายใจขัดเหมือนเดิม พูดไม่ค่อยได้ ปวดหัวตัวร้อน ยังไม่ชัดแต่ก็เริ่มมั่นใจขึ้นแล้วว่าไม่ได้ผิดที่ไข่แมงดาแน่ สุดท้ายก็เลยต้องลองให้ชัดกับยำไข่แมงดาครั้งที่สาม ครั้งนี้หายใจแทบไม่ออก หายใจได้ทีละสั้นๆ ปวดหัว เหงื่อออก หมดแรงไปทั้งตัว เลยมั่นใจว่านี่แหละ “ฉันแพ้ไข่แมงดา”

การกินสามครั้งจากคนละช่วงเวลาห่างกันนานนับปี ต่างสถานที่ทำให้เข้าใจว่าไข่แมงดาไม่ได้ผิดอะไร แต่เป็นเราเองที่ผิด ที่แพ้ไข่แมงดา หลังจากได้เห็นทุกข์จากความเจ็บปวดทรมานนั้น ก็ถามตัวเองว่าจะเอาอีกไหม อยากกินอีกไหม ครั้งหน้าอาจจะตายก็ได้นะ พอพิจารณาเข้ามากๆประกอบกับทุกข์จำนวนมากที่ได้รับจึงทำให้รู้สึกเข็ดขยาดกับไข่แมงดา

ทุกข์คืออาการแพ้ไข่แมงดา เหตุแห่งทุกข์คือเราอยากกินไข่แมงดาเพราะเขาว่าอร่อย ถ้าจะดับทุกข์ก็ไม่ต้องอยากกินไข่แมงดา ก็ใช้วิธีสำรวมกายวาจาใจไม่ให้ไปยุ่งกับไข่แมงดา

เมื่อพิจารณาดีแล้วจึงเกิดสภาพเข้าใจและยอมรับว่าไข่แมงดากับเราเข้ากันไม่ได้ เราจึงยอมไม่กินไข่แมงดาได้อย่างสบายใจ แม้ใครจะให้ฟรีก็ไม่กิน เพราะเรารู้แล้วว่ามันทุกข์มาก นี่คือตัวอย่างการวิปัสสนาแบบโลกๆทั่วไปที่ยกมาเพื่อจะพอให้จินตนาการภาพของการวิปัสสนาได้บ้าง

3.1) วิปัสสนา

วิปัสสนาคืออุบายทางปัญญา คือการทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ และเข้าใจวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค

วิปัสสนานั้นต่างออกไปจากสมถะจนเรียกได้ว่าไปคนละทาง เพราะสมถะนั้นใช้การดับ ปัดทิ้ง ตบทิ้ง ส่วนวิปัสสนานั้นจะใช้เวทนาจากผัสสะนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการพิจารณาหาสมุทัยต่อ ซึ่งแม้แนวทางปฏิบัติจะต่างกันมาก แต่หากผู้ใดที่สามารถเข้าใจได้ทั้งวิปัสสนาและสมถะก็จะสามารถเจริญได้ไว เพราะทั้งสองวิธีใช้เกื้อหนุนกันได้ ส่งเสริมกันได้ โดยใช้สมถะเป็นตัวพัก เป็นตัวลดปริมาณเวทนาที่เกิดจากสังขารได้ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำก่อนแล้วจึงค่อยเผา”

นั่นหมายถึงว่าในบางครั้ง บางผัสสะที่เข้ามาอาจจะมีกำลังแรงเกินกว่าที่เราจะรับไว้ เราก็ใช้สมถะตบทิ้งไปสัก 80 % เหลือไว้ 20% ไว้พิจารณาต่อก็ได้ เพราะหากเรารับไว้ทั้งหมดอาจจะเกิดอาการสติแตกได้ เมื่อคุมสติไม่อยู่ก็ไม่ต้องหวังจะพิจารณาอะไรแล้ว เพราะรากของการวิปัสสนานั้นก็ต้องเริ่มจากสติเช่นกัน แต่สตินี้ต้องเป็นสายต่อเนื่องไปจนพิจารณาจบ จะไม่กดทิ้ง ไม่ดับทิ้ง ไม่ทำเป็นลืม ไม่เปลี่ยนเรื่อง แต่เป็นการนำสิ่งกระทบนั้นๆมาพิจารณาจนเกิดปัญญาว่าเพราะเหตุใดเราจึงทุกข์กับสิ่งนั้น

3.2). วิปัสสนา…ค้นหาเหตุแห่งทุกข์

การวิปัสสนานั้นต้องเริ่มจากผัสสะ คือมีสิ่งกระทบยกตัวอย่างเช่น แฟนบอกเลิก วันเวลาผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวสั่น ตัวเย็น อยากมอง อยากสบตา อยากคุย ถ้ามีสติดีก็ให้จับตรงนี้ให้ชัดๆ ส่วนจะตบทิ้งหรือจะปล่อยก็ให้ประมาณตามกำลังที่จะทนไหว ถ้าเราเลือกไม่ทักทาย เราก็กลับมาพิจารณาต่อให้เห็นว่าทำไมมันยังเกิดอาการเหล่านี้อยู่ แน่นอนมันคือความยึดมั่นถือมั่น แต่ยึดในอะไรล่ะ? ณ ตอนนี้เราก็ต้องขุดค้นลงไปว่าเรายึดในอะไร หรือจะใช้วิธีจินตนาการก็ได้ ดูรูปเก่าก็ได้ จะเห็นว่าเมื่อเรานึกถึงเหตุการณ์ใดๆแล้วใจฟูก็นั่นแหละ เช่นดูรูปถ่ายตอนไปเที่ยวด้วยกันแล้วยังแอบมีความสุข ก็ให้ค้นลงไปอีกว่ามีความสุขเพราะอะไร เพราะในการเที่ยวครั้งนั้นเขาเอาใจ เขาจ่ายเงินให้หมด เขาดูแลเอาใจใส่เรายังกับเราเป็นเจ้าหญิง ยังไม่พอต้องขุดลงไปอีกว่าทำไมเราถึงพอใจและยินดีกับการที่เขาเอาใจใส่ เพราะเราอยากให้ใครมาดูแลใช่ไหม เพราะเราโลภใช่ไหม หรือเพราะเราอยากให้ใครเห็นความสำคัญของเรา ค้นไปค้นมาไปมั่นใจตรงที่ว่าเพราะเราชอบที่ใครมาเห็นความสำคัญของเรา แล้วทีนี้ก็ค้นไปอีกว่าทำไมเราจึงอยากให้ใครมาสนใจเรา ก็ไปเจอว่าตอนเด็กๆพ่อแม่ทำแต่งาน ไม่สนใจเราเลย จะค้นไปอีกก็ได้ เพราะจริงๆเราไม่เข้าใจพ่อแม่ เราทำอะไรเราก็อยากโชว์ อยากได้รับคำชมเมื่อไม่ได้ก็เลยน้อยใจ

เอาแค่ประมาณนี้แล้วกันนะ นี่คือกระบวนการหนึ่งของการวิปัสสนาคือการค้นไปที่เหตุ มันต้องเจอเหตุก่อนไม่ใช่ยังไม่เจอเหตุแล้วไปพิจารณา กิเลสมันจะไม่ตาย แล้วเหตุนี่ไม่ใช่เจอกันง่ายๆนะ ต้องใช้ปัญญาขุดค้นกันไปหลายรอบ บางทีเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเจอ บางคนทั้งชีวิตก็ไม่เจอ ถ้าจะให้ดีก็ให้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ช่วยไขให้ก็จะเร็วขึ้น

เอาอีกตัวอย่างหนึ่งแล้วกัน เช่นแฟนเราบอกเลิก ผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวชา ไม่อยากคุย ไม่อยากเจอ แต่เผลอก็มองทุกที ก็เก็บเรื่องมาพิจารณาต่อค้นไปในเหตุที่ทำไมเราจึงมีอาการทุกข์ หรืออาการที่จิตนั้นหวั่นไหว ทั้งๆที่เขาทิ้งเรา เราก็โกรธเขานะ แค้นเขาด้วย แต่ทำไมมันยังมองเขา ก็ค้นไปที่ปลายแรกคือโกรธ เราโกรธเพราะเขาทิ้งเรา เขาพรากเราออกจากสภาพที่เรายังสุข เหมือนกับเขาพรากความสุขของเราไปเราจึงโกรธเขา เหตุนั้นเพราะเรามีความสุขมากจนเราเผลอประมาท ทำให้เขาไม่พอใจในบางเรื่องจนเขาตัดสินใจเลิกกับเราก็เป็นได้ ทบทวนให้ดีในส่วนนี้ล้างโกรธให้ได้ก่อน

เมื่อล้างโกรธได้ จะล้างสภาพผลักได้ ซึ่งจะเหลือสภาพดูดคือรักและคิดถึง จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดเริ่มยอมรับผิด แต่อย่าเพิ่งรีบไปขอโทษ ให้พิจารณากิเลสลงไปต่อว่า เราไปรักไปคิดถึงเขาเพราะอะไร เพราะสิ่งใดเหตุการณ์ใดที่เขาทำกับเราอย่างที่ยกไว้ในตัวอย่างแรก ค้นให้สุดๆจะพบกับรากของกิเลสของตัวเอง แล้วล้างกิเลสของตัวเองให้ได้ก่อนจะกลับไปคุยกับเขาจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าการจะปล่อยวางได้นั้นต้องหาเหตุที่ไม่ยอมปล่อยวางก่อน เราไม่สามารถปล่อยวางได้เพียงพูดว่า ปล่อยวางเพราะมันจะไม่วางจริงจะวางได้แต่คำพูดได้แต่รูปข้างนอกส่วนข้างในใจนั้นยังคงร้อนรุ่มเพราะกิเลสยังไม่ได้ถูกล้างไป แม้จะกดข่มด้วยสมถะแต่ถ้าโดนยั่วต้องใกล้ชิดหรือเจอผัสสะที่แรงมากๆก็จะกดไม่ไหวสติแตกไปได้

อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเรื่องกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย กิเลสนั้นมีทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ถ้าเราไม่ฉลาดในการค้นหาต้นตอของกิเลสก็ไม่มีวันที่จะรักษาโรคร้ายนี้หาย มันจะยังคงแพร่เชื้อลุกลามทำลายร่างกายและจิตใจของเราไปเรื่อยๆเราต้องค้นให้เจอว่าเราไปยึดไว้เพราะอะไร จึงจะสามารถทำลายความยึดนั้นได้ เพราะถ้าไม่เห็นตัวกิเลสหรือเหตุแห่งทุกข์ การจะดับทุกข์นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย

3.3).วิปัสสนา…พิจารณากิเลส

ทีนี้มาถึงขั้นตอนพิจารณา การวิปัสสนานั้นจะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะหลักการพิจารณาจะปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสนั้นๆ บางเรื่องต้องหนักในเรื่องกรรม บางเรื่องต้องหนักในเรื่องไม่เที่ยง และในระดับต่างกันของกิเลสตัวเดียวกันก็ใช้การพิจารณาไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าควรใช้ธรรมใดมากกว่าธรรมใดและใช้ธรรมไหนจึงจะเหมาะสม แต่ผู้พิจารณาควรรู้ด้วยตนเองว่าเรานั้นยึดติดในมุมใดมากก็ใช้ธรรมข้อนั้นแหละมาแก้กิเลสตัวนั้น คือการใช้ธรรมแก้ปัญหาให้ถูกจุด เหมือนกับการให้ยากำจัดเชื้อโรคร้ายที่ถูกตัวถูกตนโดยไม่มีผลกระทบไปถึงส่วนที่ดีอื่นๆในร่างกาย

หลังจากที่เราจับโจรหรือจับตัวกิเลสได้แล้ว เราก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจากับกิเลสหรือการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลส โดยใช้หลักไตรลักษณ์ คือความทุกข์ของการมีกิเลสนั้นว่าถ้าเรายังมีกิเลสมันจะทุกข์อย่างไร ความไม่เที่ยงของกิเลสนั้นว่ามันไม่เที่ยงไปทางใดกิเลสมันเพิ่มหรือมันลด มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปแล้วมันเกิดใหม่อย่างไร ความไม่มีตัวตนของกิเลสนั้นว่าแท้จริงแล้วกิเลสนี้ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา กิเลสเป็นเพียงแขกที่แวะเข้ามาในบ้านเราแล้วยึดบ้านเราเป็นสมบัติของมันแล้วยังใช้เราให้ทำงานหาสิ่งของมาบำเรอกิเลส และด้วยความหลงผิดไปในบางสิ่งบางอย่างทำให้เรารับใช้กิเลสด้วยความยินดี ด้วยความสุขใจ ทั้งๆที่กิเลสไม่ใช่ของเราตั้งแต่แรก มันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตเรา

หลักการต่อมาคือการพิจารณาประโยชน์และโทษของกิเลส ว่าหากเราออกจากกิเลสนี้หรือทำลายกิเลสนี้เสียจะเกิดประโยชน์ใดบ้างในชีวิตเรา และหากว่าเรายังยึดมั่นในกิเลสนี้อยู่เรายังจะต้องรับทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียใดอีกที่จะเข้ามาในชีวิตเราในอนาคต จะสร้างภาระ สร้างความลำบากให้แก่เราอย่างไรบ้าง

และพิจารณาไปถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม ให้เข้าใจก่อนว่ากิเลสนี้คือผลของกิเลสที่สั่งสมมาในชาติก่อนๆส่วนหนึ่งและในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำลายได้เพียงแค่คิด แต่การพิจารณาไปถึงกรรมข้างหน้าที่จะต้องรับก็จะสามารถช่วยคลายความยึดมั่นถือมั่นได้ เช่นในตอนนี้ยังทำลายยากขนาดนี้ แล้วถ้าเราสะสมกิเลสมากเข้าไปอีกจะยากขนาดไหน แล้วยังมีผลกรรมที่จะเกิดจากการที่เราตามใจกิเลสนี้อีกมากมายในอนาคตที่เราต้องรับไว้ ต้องแบกไว้ เช่นหากเรายังคงเอาแต่ใจตัวเอง เราก็มักจะต้องแพ้ทางให้กับคนที่เอาใจเก่งแต่ไม่จริงใจอยู่เรื่อยไป เพราะเราหลงติดในความเสพสมใจในอัตตา พอมีคนมาสนองอัตตาได้ก็ยอมเขา สุดท้ายพอโดนพรากไปก็ต้องทุกข์ใจ

3.4).ตั้งศีล

วิธีที่จะเข้าถึงการปล่อยวางได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คิดเอา แต่ต้องทดสอบด้วยตัวเอง เพียงแค่เราตั้งศีลหรือตั้งตบะไว้ง่ายๆว่าเราจะไม่หวั่นไหวในเรื่องเขา แล้วลองเปิดรูปเก่าๆ เปิดดูข้อความเก่า ค้นอดีตทั้งดีและร้ายทั้งหมดที่มี ถ้าอดีตยังเฉยๆอยู่ก็ลองจินตนาการอนาคตไปเลยว่าถ้าเขากลับมา ถ้าเขามาง้อ ถ้าเขาไปแต่งงาน หรือถ้าเขาตายเราจะหวั่นไหวหรือไม่การตรวจเวทนาทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบันนี้เป็นการตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นไปเพื่อการล้างกิเลสเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติธรรม แม้ลมหายใจขัดเสี้ยวหนึ่งก็รู้สึกตัวแล้ว แม้กลืนน้ำลายก็รู้สึกตัว แม้จิตขุ่นเคืองก็รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้เองต้องใช้การฝึกสังเกตตัวเองให้มาก ผู้ฝึกสมถะมามากจะค่อนข้างรับรู้ได้ดีในการกระเพื่อมของจิตโดยผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเป็นตัวสะท้อนของใจ

เมื่อเราเห็นแล้วว่าเรายังหวั่นไหว เป็นเพราะเรามีกิเลส ก็ให้เราขุดค้นหารากของกิเลสดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และพิจารณาไปตามธรรมที่ควรแก่กิเลสนั้น เมื่อพิจารณาไปแล้วจะค่อยๆ เจอกิเลสที่แอบอยู่ในซอกหลืบลึกไปเรื่อยๆ ในตอนแรกมันจะเจอแค่ตัวหยาบ พอพิจารณาได้ผลสำเร็จไปก็เหมือนกับผ่านไปด่านหนึ่งก็จะเจอด่านใหม่ไปเรื่อย ซึ่งต้องอาศัยผัสสะที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จากดูรูปเก่า คิดถึงวันเก่า อาจจะต้องลองจินตนาการถึงการพบเจอ หรือถ้ามีโอกาสเจอกันก็ไปเจอไปทดสอบดูว่าเรายังเหลืออาการอะไรอีกไหม ซึ่งการทดสอบเหล่านี้อาจจะพลาดได้ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรช่วยตรวจสอบ เพราะบางทีอัตตามันจะบังไม่ให้เราเห็นกิเลส ทั้งนี้กัลยาณมิตรควรมีธรรมระดับหนึ่ง ไม่ลำเอียงเพราะเป็นเพื่อนกัน แต่ให้มองตามความเป็นจริง

…สรุป

การวิปัสสนาที่ถูกตัวถูกตนของกิเลสนี้ ถ้าเพียรพิจารณาจนรู้ว่าคลายกิเลสได้จริง จะมีลักษณะอาการเป็นไปตามวิปัสสนาญาณ ๑๖ อย่างไม่ผิดเพี้ยน การทำลายกิเลสแต่ละตัวนั้นจะมีขั้นตอนไปตามญาณเหล่านั้น เปลี่ยนกิเลสตัวใหม่ก็ต้องนับหนึ่งใหม่

ความแตกต่างของสมถะกับวิปัสสนาคือสมถะจะได้อย่างมากแค่ “เคหะสิทตอุเบกขา” ซึ่งเป็นการวางเฉยอย่างทั่วไป แบบไม่ได้ใส่ใจ แบบไม่มีปัญญา แต่การวิปัสสนาจะได้ผลสูงสุดคือ “เนกขัมมสิตอุเบกขา” คือการอุเบกขาอย่างผู้รู้แจ้ง ที่ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ในการขัดเกลากิเลสจนเกิดผลเป็นสภาวะอุเบกขาแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสภาวะอุเบกขาเหมือนกันแต่การรับรู้ภายในต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

10.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปล่อยเธอไป

December 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,331 views 0

ปล่อยเธอไป

ปล่อยเธอไป

…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ

ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้

คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน

ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน

ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ

1).ตายจาก

ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่

ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ

การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้

แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน

การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม

2).จากเป็น

สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้

ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน

ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป

แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต

2.1).หมดรักจึงจากไป

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่

ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง

การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค

กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น

และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้

ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน

2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก

การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม

การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต

แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้

จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้

ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน

3). มากกว่ารัก

ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก

ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย

เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง

เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า

4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง

เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง

ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้

การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข

แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์