Dinh (Author's Website)
โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข
โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข
ความโสดนั้นมีมิติที่หลากหลายแตกต่างกันไป หากเรามองความโสดด้วยมุมมองทั่วไปในสังคม ก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้คุณค่าหรือใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นโสดกันสักเท่าไหร่
ในบทความนี้ก็จะแบ่งความโสดออกเป็นระยะกว้างๆด้วยกันสามระยะ คือโสดที่ยังมีความอยากมีคู่ โสดที่ไม่อยากมีคู่ และความโสดที่ไม่มีทั้งความอยากและไม่อยากมีคู่ มาเริ่มกันที่ความโสดแบบแรกกันเลย
โสดอยู่ไม่เป็นสุข (นรกคนโสด)
คือความโสดที่ยังเต็มไปด้วยความอยาก มีความต้องการ แสวงหาคู่ครอง แม้ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ก็ตาม หากใจนั้นยังไม่ปิดประตูของการมีคู่ ก็ยังเรียกได้ว่า โสดแบบอยู่ไม่เป็นสุข การที่ความอยากนั้นยังไม่แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นเด็กทารก เขายังไม่มีความอยากมีคู่ แต่ไม่ได้หมายความเขาจะไม่มีกิเลส
คนโสดที่อยู่ไม่เป็นสุข ก็เหมือนอยู่ในนรกคนโสด ต้องทุกข์กับความอยากมีคู่ พอหาคู่ได้ก็เปลี่ยนไปอยู่ในนรกคนคู่ พอเลิกคบหากันแต่ยังมีความอยากอยู่ ก็เวียนกลับมานรกคนโสด ซึ่งไม่ว่าจะโสดหรือจะมีคู่ก็ต้องถูกเผาด้วยไฟราคะ คือทุกข์จากความอยากเสพรสสุขใดๆก็ตามในการมีคู่ วนเวียนโสดบ้างมีคู่บ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นความทุกข์จากกิเลสอยู่ดี
โสดบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ (อยู่ในโลก)
คือความโสดที่เกิดจากความไม่อยาก ด้วยการสร้างคุณค่าให้ตนเอง เติมช่องว่างในใจที่เคยเผื่อไว้ให้ใครสักคนให้เต็มด้วยอัตตาของตน จนกลายเป็นคนที่เต็มคน แข็งแกร่ง พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี ไม่ยอมกลับไปมีคู่เพราะความยึดดี ซึ่งอาจจะเกิดจากความเจ็บช้ำ ความผิดหวังเมื่อตอนมีคู่ ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการมีคู่นั้นทำให้ต้องประสบทุกข์อย่างมาก
แต่แม้จะเป็นความโสดที่แข็งแกร่งเพียงใด ความไม่อยากนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี ซึ่งเกิดจากอาการผลักการมีคู่อย่างรุนแรง ไม่อยากมีคู่เพราะเหตุผลบางอย่าง แต่กิเลสนั้นเป็นพลังงานที่เติบโตได้ ขยายได้ ปรับเปลี่ยนขั้วได้ เพราะไม่ว่าอยากหรือไม่อยากก็คือตัณหาเหมือนกัน อยากในสิ่งหนึ่งก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ไม่อยากในสิ่งหนึ่งก็ชอบอีกสิ่งหนึ่ง เช่นอยากมีคู่ก็เกลียดความโสด อยากเป็นโสดก็เกลียดการมีคู่
เมื่อยังมีความอยากและไม่อยาก มันก็จะสร้างทุกข์ให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซ้ำร้ายวิบากกรรมอาจจะดึงสิ่งที่ไม่อยากได้คือการมีคู่ให้มาเข้าใกล้ พอโดนยั่วกิเลสเข้ามากๆก็อาจจะเวียนกลับไปมีคู่ได้ สุดท้ายก็ต้องเจอกับทุกข์แล้ววกกลับมาโสดแบบเกลียดการมีคู่อีก เปลี่ยนภพไปมาแบบนี้จนกว่าจะทำลายความอยากและไม่อยากจนสิ้นเกลี้ยง
โสดอย่างเป็นสุข (อยู่เหนือโลก)
คือความโสดที่ข้ามพ้นจากความอยากและไม่อยาก แล้วเลือกเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มีโทษ มีทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นก็คือการเลือกเป็นโสด
ความโสดที่อยู่เหนือโลก นั้นคือโสดแบบโลกุตระ ไม่ไปเสพอย่างโลกีย์ และไม่ยึดดีอย่างโลกีย์ ไม่มีทั้งความอยากมีคู่ และความไม่อยากมีคู่ เพราะตัณหานั้นคือเหตุสู่ความทุกข์ สภาวะของความโสดเช่นนี้จึงเป็นสุขที่สุดในสภาพโสดทั้งหมด เป็นโสดที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่แม้น้อย ที่ไม่มีทุกข์เพราะไม่มีกิเลสใดๆในเรื่องคู่ที่ผลักดันให้ต้องไปเสพ หรือต้องไปมีคู่กันให้ลำบาก
ความโสดเช่นนี้ไม่ใช่สภาพที่จะเลือกเอาได้ แต่สามารถเลือกที่จะปฏิบัติจนถึงผลเช่นนี้ได้ โดยจะต้องใช้ความเพียรในการชำระล้างกิเลสในเรื่องของคนคู่ให้หมดสิ้นไป จึงจะเกิดสภาพของความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนอยู่เลย
การพัฒนาจิตใจอย่างถูกตรงนั้นจะมีผลให้เกิดการหลุดพ้นอย่างถูกตรงเช่นกัน สภาพของความโสดอย่างเป็นสุข จะไม่มีการเวียนกลับไปมีคู่อีก ไม่กำเริบ ไม่แปรปรวน ยั่งยืน ยาวนาน ตลอดกาล ไม่เป็นอื่นใดอีก จะคงความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล
ไม่ใช่เพราะหาคู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีใครเอา ไม่ใช่เพราะว่าแก่เกินวัย ไม่ใช่เพราะไม่เหมาะสมกับใคร ไม่ใช่เพราะไม่มีใครดีพอ แต่เป็นเพราะเกิดญาณปัญญารู้ว่าความโสดนี่แหละเป็นสุขที่สุดแล้ว ที่สุขที่สุดเพราะมันไม่มีทุกข์ใดๆเลย และนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว จะต่างกันกับชาวโลกีย์ที่มองว่าการมีคู่นั้นเป็นสุข หรืออย่างดีก็จะเห็นว่ามีสุขมีทุกข์ปนกันไป
แต่สำหรับชาวโลกุตระนั้นจะมองเห็นว่ามีเพียงแค่ทุกข์กับทุกข์เท่านั้น และเห็นว่าสุขที่เคยเข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือสุขลวงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่า ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังขาใดๆ ในเรื่องของการมีคู่อีก ไร้ซึ่งความลังเลสงสัยแม้แต่น้อยนิดในใจว่าทำไมต้องเลือกความโสด เพราะรู้แน่ชัดในตนแล้ว เกิดปัญญารู้ในตนแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างได้อีก
ไม่ว่าจะถูกเสนอด้วยคู่ครองรูปงาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์อีกเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจที่หลุดพ้นจากกิเลสในเรื่องคู่นี้ได้ เพราะไม่ว่าจะได้อะไรมาแลกก็จะไม่ยอมสละความโสดนี้ไป ไม่มีอะไรมีคุณค่ากว่าความโสดนี้ ไม่มีการตั้งเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ไม่มีช่องว่างใดๆเหลือไว้ให้จิตใจคิดถึงการมีคู่อีก
….สรุปบทความนี้กันด้วยหลักทางสายกลาง ความโสดที่ยังแสวงหาอยู่นั้นคือความโต่งไปในด้านของกาม ส่วนความโสดที่เกลียดการมีคู่นั้นคือความโต่งไปในด้านอัตตา และความโสดอย่างเป็นสุขที่ไม่แสวงหาคู่ ไม่ต่อต้านการมีคู่ แต่ก็ไม่สนับสนุนการมีคู่ คือทางสายกลางอย่างแท้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
29.7.2558
น่าปวดหัวเรื่องผัวเมีย
จากกระทู้ในพันทิพในหัวข้อ “อายุ 25 แฟนไม่ทำการบ้านค่ะ !!!!!”
(http://pantip.com/topic/33980169)
ดูเอาเถอะใครที่ว่ามันไม่ทุกข์ นี่แค่ความอยากไม่เท่ากันนะ คนนึงไม่อยากสมสู่ คนนึงอยากสมสู่ พอสนองกันไม่ได้ชีวิตรักก็เริ่มร้าว
สุดท้ายส่วนใหญ่ก็มาตกม้าตายกันตรงความใคร่นี่แหละ พิจารณาให้ดีเถอะ เราหาคู่มาทำไม เอามาสนองความใคร่ของเราอย่างนั้นหรือ มันจะดีหรือที่เราฉุดเขาให้มัวเมาในกาม นี่มันการพากันลงนรกชัดๆ ไม่ใช่พากันเจริญเลยสักนิด
หลายคนให้เหตุผลที่ดูดีมากมายเพื่อมีรัก แต่กลับปกปิดเหตุผลที่แท้จริงไว้ข้างใน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่น่าอาย ไม่มีใครกล้าเปิดเผยกัน แต่ความจริงก็คือความจริง ความอยากมันก็ทำงานของมันไปเช่นนั้น สร้างทุกข์ไปเรื่อยๆเมื่อไม่ได้สมอยาก
นี่ถ้าไม่มีโลกออนไลน์ เราคงไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้กัน ต้องขอบคุณจริงๆ ที่เปิดเผยเรื่องราวกันได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่
กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่
กรรมชั่วนั้นหมายถึงเจตนาที่จะทำสิ่งไม่ดี และเมื่อทำกรรมที่ไม่ดีลงไปแล้ว ก็จะสั่งสมกลายเป็นพลังงานที่จะสร้างผลของกรรมนั้นในวันใดก็วันหนึ่ง
ความเข้าใจในเรื่องกรรมนั้นสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก เพราะการเข้าใจว่าสิ่งใดๆล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมา จะทำให้เรายอมรับความจริงตามความเป็นจริงได้ง่าย แต่นั่นหมายถึงส่วนของกรรมเก่า
กรรมเก่าที่ได้รับแล้วก็จะหมดไป ปัญหาคือกรรมใหม่ที่กำลังสร้างนั้นเกิดจากอะไร? การทำดีทำชั่วนั้นมีอะไรเป็นแรงผลักดัน? การทำดีนั้นมีจิตที่ใฝ่ดี มีศีลธรรมเป็นตัวผลัก แต่กรรมชั่วนั้นมีกิเลสเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงว่า หากเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างกรรมชั่ว ให้ต้องวนเวียนมารับผลกรรมชั่วนั้นไปอย่างไม่จบไม่สิ้น
ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำความเข้าใจที่จะรับต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นไปในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดกรรมชั่วด้วย คือสามารถใช้ได้ทั้งการรับและรุก
การรับกรรมอย่างเข้าใจจะทำให้เราไม่เป็นทุกข์มาก ส่วนการรุกก็คือการหยุดทำกรรมชั่ว แล้วสร้างกรรมดีขึ้นมาแทนที่ในแต่ละวินาทีของชีวิต ให้ละเว้นกรรมชั่วให้น้อยลง และสร้างกรรมดีให้มากขึ้น
ทีนี้ถ้ากรรมดีที่ทำนั้นยังไม่สามารถทำขนาดที่จะทำลายกิเลสได้ ก็จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ มีเชื้อชั่วทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะทำกรรมดีแค่ไหน แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ก็จะบังคับเราให้ทำกรรมชั่วด้วยเช่นกัน ทีนี้กรรมดีกับกรรมชั่วมันไม่ได้หักลบกัน ทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ดังนั้นใช่ว่าเราจะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้างปนกันไป ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเช่นนั้น แต่สอนให้เราหยุดชั่ว คือไม่ทำชั่วเลย แล้วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส
ถ้าเราไม่กำจัดกิเลส เราก็จะเป็นคนดีที่สร้างกรรมชั่วโดยที่ไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ แม้จะเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงขนาดที่ว่าเหตุเกิดแห่งกรรมดีและร้ายนั้นมีที่มาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะถามหาประสิทธิผลที่พอหวังได้ก็คงจะไม่มี
ผู้ที่ทำลายกิเลสได้หมดจะไม่สร้างกรรมชั่วอีกเลย แต่ผลของกรรมชั่วนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลของกรรมชั่วจะไม่มีวันหมดไปเพราะกรรมนั้นเมื่อทำแล้วจะถูกแบ่งส่วนของการรับไปทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่ากรรมใดๆที่เราได้รับอยู่ในชาตินี้ ล้วนแต่เป็นเศษกรรมที่เราทำมาทั้งนั้น นั่นหมายถึงทั้งดีและร้ายที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีผลของกรรมอีกมากมายที่รอส่งผลในภายภาคหน้า
เมื่อรู้ได้เช่นนี้เราก็ควรจะหยุดกรรมชั่วเสียทั้งหมด เพราะแม้เราจะไม่เห็นผลในชาตินี้ แต่แน่นอนว่ามันจะส่งผลไปต่อถึงชาติหน้า เหมือนกับเหตุการณ์ร้ายๆที่เราได้รับมาในชาตินี้โดยที่เราไม่สามารถสืบหาสาเหตุที่เหมาะสมได้เลย
พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก สะสมบารมี ทำดีมามากมายหลายกัป แต่ท่านก็ยังมีผลของกรรมที่ท่านเคยได้ทำชั่วมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้ ที่ยังต้องมารับกันในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักฐานว่ากรรมชั่วนั้นจะติดตามเราไป แม้ว่าเราจะดับกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงแล้วก็ตาม ในจักรวาลนี้คงมีวิธีเดียวที่จะพ้นจากผลของกรรมที่ทำมาได้นั่นคือปรินิพพาน
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการที่เราสามารถทำลายกิเลสได้หมดหรือไม่ ถ้ากิเลสยังไม่หมด ยังไม่จบสิ้น ก็อย่าไปกล่าวกันถึงเรื่องปรินิพพานที่สุดแสนจะไกลตัวให้เสียเวลากันเลย
เพราะแก่นของศาสนาพุทธคือการหลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าการที่เราหลุดพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือโลก เป็นโลกุตระ
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558
ความคาดหวังของพ่อแม่
ความคาดหวังของพ่อแม่
“เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน”
บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก
คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก
มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น
ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา
พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558