ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,674 views 1

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

สังคมทุกวันนี้ พอพูดกันว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องนึกกันไปว่าต้องไปที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เข้าใจกันไปว่าต้องไปที่นั่นถึงจะได้ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าไปดูหนังก็ต้องไปโรงหนัง ไปกินข้าวก็ต้องไปร้านอาหารยังไงอย่างงั้น

ทีนี้พอกลับมาพูดกันว่าปฏิบัติธรรมภายในตัวเอง ก็ยังเข้าใจกันแบบงงๆอยู่อีก บ้างก็ว่านั่งสมาธิที่บ้าน เดินจงกรม บ้างก็ว่าเจริญสติไปในการกระทำต่างๆ ดับความคิด ทำจิตให้สงบ ก็เข้าใจกันไปว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งจะว่าใช่มันก็ใช่บางส่วน นั่นเพราะมันอยู่ในขีดของการทำสมถะเท่านั้นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่ การทำสมาธิ เดินจงกรม ดับความคิด ทำจิตให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน แต่หมายถึงการทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ในทุกๆเหตุการณ์ในชีวิต

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละวันเราจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระแทก หรือที่เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ คือ เหตุที่ทำให้จิตของเราเกิดอาการไม่ปรกติ เกิดเป็นอาการได้ทั้งทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เรียกว่า “เวทนา” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังต่อแถวซื้ออาหารอยู่นั้น มีคนเข้ามาแทรกแถวข้างหน้าเรา ผัสสะที่เกิดคือเห็นคนเข้ามาแทรก ด้วยความที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าต้องเข้าแถวสิ ก็เลยเกิดความเป็นทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าเขาทำไม่ทำดีตามที่เราหมาย ตามที่เราเข้าใจ ตามที่เราตั้งกฎไว้

ปฏิบัติแบบสมถะ…

ทีนี้นักปฏิบัติสายสมถะ ก็จะรู้ว่าจิตได้เกิดแล้ว จึงใช้สมถะที่ได้ฝึกมา เช่นบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอ นับ 1 2 3… สร้างความรู้สึกที่ตัว ย้ายจุดสนใจของจิตไปไว้ที่จุดอื่น สุดท้ายก็ตบจิต หรือความคิดนั้นๆดับไป เป็นวิถีแห่งสมถะ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี เก่งพอประมาณแล้ว

แต่จริงๆ อกุศลได้เกิดขึ้นไปแล้ว จิตได้เกิดไปแล้ว เวทนาเกิดทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว และการดับแบบนี้เป็นการดับที่ไม่ถาวร เป็นการกดข่ม กดทับไว้ เกิดทีหนึ่งก็ต้องดับทีหนึ่ง ถ้าใครฝึกสมถะเก่งๆก็จะสามารถดับได้โดยไม่รู้ตัวเลย จะว่าดีไหมมันก็ดี แต่ไม่พ้นทุกข์กลายเป็นเหมือนฤาษีที่ต้องติดภพติดสุขอีกนานกว่าจะหลุดพ้นนรกแห่งความสุข

หรือแม้แต่การพิจารณาแบบสมถะ คือการใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาตบ มาทำลายความคิดนั้นทิ้ง เช่น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ,โลกก็เป็นอย่างนี้ ,จิตเราเกิดมันก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไป แม้เราจะพิจารณาไปตามไตรลักษณ์ แต่พิจารณาไปตามเหตุปัจจัยภายนอกก็ยังไม่สามารถเข้าไปแก้เหตุแห่งทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาในปัจจัยภายนอกก็สามารถแก้ปัญหาได้แค่ภายนอกเท่านั้น ดับแค่ปลายเหตุ ดับได้แค่ทุกข์ที่เกิดไปแล้ว

เมื่อตบความคิด ความทุกข์เหล่านั้นทิ้งไป นักสมถะก็จะสามารถวางเฉย ปล่อยวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ ไม่ถือสา ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะ เพราะได้วางเฉยแล้ว

ปฏิบัติแบบวิปัสสนา…

การวิปัสสนาจะต่างออกไป คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง จะมีทางให้เราเลือกตัดสินใจเพียงชั่วครู่ หากเขาเหล่านั้นมีสติมากพอ จะสามารถจับได้ว่า เมื่อมีคนมาแทรก เขารู้สึกอย่างไร ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เพราะอะไร เมื่อมีผัสสะนั้นๆเป็นเหตุเกิด แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทุกข์ ไปสุข กับการที่เขาคนนั้นเข้ามาแทรก เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในกฎใช่ไหม เป็นเพราะเราติดว่าดีเราจึงเป็นทุกข์ใช่ไหม เมื่อค้นเข้าไปอีกก็อาจจะเจอว่า จริงๆแล้วเพราะเราไม่อยากให้ใครมาแทรกเราใช่ไหม, เราหิวใช่ไหม ,ความหิวทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายแบบนี้ใช่ไหม, หรือเราโกรธเพราะอ้างความหิว , ที่เราโกรธเพราะเราหวงที่ของเราต่างหาก ไม่อยากให้ใครมาแย่งไป….

พอค้นเจอเหตุที่เกิดหรือสมุทัยได้ดังนี้ จึงพิจารณาธรรมที่ควรแก่การแก้อาการยึดมั่นถือมั่นนี้ต่อไปเช่น เราจะกินช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก , เขามาแทรกเพราะเราเคยไปแย่งของใครมาชาติในชาติหนึ่ง ฯลฯเมื่อเห็นทุกข์ที่เกิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงวิธีที่ควรที่จะดับทุกข์นั้น และดับทุกข์นั้นด้วยวิธีที่ถูกที่ควร จะได้ภาวะสุดท้ายคือการปล่อยวางจากกิเลสนั้น

การวิปัสสนา จะมีหลักอยู่ตรงที่ล้วงลึกเข้าไปที่เหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นๆ เพื่อดับทุกข์จากต้นเหตุ ไม่ใช่ดับที่ปลายเหตุแบบสมถะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งต้องทำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีพิจารณาแบบสมถะร่วมด้วย ในกรณีที่ผัสสะนั้นแรงเกินไป เช่น นอกจากเขามาแทรกแล้วเขายังเอาเพื่อนเข้ามาแทรกและคุยเสียงดังไม่เกรงใจเราด้วย เมื่อผัสสะนั้นแรงเกินกว่าที่เราจะทนรับไหว เราก็ควรจะใช้การพิจารณาแบบ กดข่ม อดทน ตบทิ้ง เข้ามาร่วมด้วย

การวิปัสสนานั้น จะสามารถดับได้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทุกข์ที่จะเกิดต่อๆไปจากเหตุการณ์นั้นๆ หากเราพิจารณาถึงรากของกิเลสจริงๆว่าเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดได้ เมื่อล้างได้ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นจริง ไม่ว่าจะมีคนมาแทรกอีกสักกี่ครั้ง จะแทรกลีลาไหน ยียวนเพียงใด เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์อีกเลย เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ในใจเราไปแล้ว

และเรายังสามารถที่จะเตือนเขาโดยที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยจิตที่ขุ่นมัวอีกด้วย ส่วนเขาจะสวนมาในลีลาไหนก็ต้องรอรับผัสสะอีกชุด ซึ่งก็คงจะเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากการที่เขาอาจจะไม่ยอมรับว่าเขาแทรก ถ้าเรายังทุกข์อยู่เราก็ล้างทุกข์ไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแล้วและเขาไม่เชื่อที่เราแนะนำ ไม่ยอมไปต่อท้ายแถว ถ้าเขายินดีที่จะทำบาปนั้น เราก็ปล่อยเขาไปตามกรรมที่เขาทำ

การสร้างบุญกุศลในชีวิตประจำวัน

เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้วเราก็มาต่อกันที่ผลของการปฏิบัติธรรมว่า เกี่ยวกับ บุญ บาป กุศล อกุศล อย่างไร เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเกิดว่า….

ถ้า…เราสามารถใช้สมถะกดข่มจิตใจที่รู้สึกเคือง ขุ่นใจ ไม่ชอบใจนั้นได้ จนเป็นเหตุให้เราไม่ไปต่อว่าเขาเพิ่ม สร้างบาปเพิ่ม เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส เมื่อเราไม่สั่งสมกิเลสคือความโกรธ กดข่มมันไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลระดับหนึ่งแล้ว

ถ้า…เราสามารถ ใช้วิปัสสนา พิจารณาลงไปถึงที่เกิด จนสามารถทำลายกิเลสได้บางส่วน หรือสามารถฆ่าล้างกิเลสได้ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ได้กุศลมาก เพราะอยู่ในระดับอภัยทาน ซึ่งเป็นทานที่ยอมล้างโทสะ สละเหตุแห่งโทสะ คือรากแห่งความโกรธนั้นออกจากวิญญาณของเรา จึงมีกุศลมาก มีอานิสงส์มาก

แต่ถ้า…เราใช้สมถะข่ม แต่ก็กดไม่อยู่ จึงมีอาการขุ่นใจ รำคาญใจ คิดแค้น อาฆาต จ้องจะเอาผิด เพ่งโทษ เราก็จะสั่งสมกิเลสภายในใจตัวเองเพิ่ม เป็นบาป เป็นอกุศล

แต่ถ้า…เราปล่อยใจไปตามกิเลส โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เราจึงกล่าววาจาแห่งความติดดี ประณามผู้ที่มาแทรกด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธ และชวนให้คนอื่นโกรธคนที่มาแทรกอีกด้วย ถ้าผู้แทรกละอายถอยหนีก็จบเรื่องไป แต่ถ้าเขาหน้าด้านหน้าทน ทำเนียนไม่ยอมไป ก็อาจจะบานปลาย จนอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ลงไม้ลงมือ เรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นบาปมาก เพราะเพิ่มกิเลสคนเดียวไม่พอ ยังชวนคนอื่นเพิ่มกิเลสคือความโกรธอีก อกุศลก็มากตามความเลวร้ายที่เกิดนั่นแหละ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่เราไปตำหนิคนที่เข้ามาแทรกนั้นผิดตรงไหน คำตอบก็คือผิดตรงที่มีความโกรธปนเข้าไปด้วย คนเราเมื่อติดดียึดดีแล้วมีความโกรธ จะสามารถคิดทำลายผู้อื่นได้โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเห็นว่าตนถูกคนอื่นผิด เพราะมีความยึดดีถือดีบังหน้า เห็นว่าดีแล้วคิดว่าสามารถโกรธได้ ทั้งที่จริงเราก็สามารถที่จะเตือนเขา บอกเขาด้วยใจที่ปกติไม่ต้องมีความโกรธไปปนก็ได้การที่เราโกรธคนที่เขาทำไม่ดี มันก็ยังมีความไม่ดีในตัวเราอยู่นั่นเอง จริงๆแล้วเราก็ไม่ควรจะโกรธใครเลย

ความโกรธยังทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ในตอนแรกเราโกรธเพราะเราจะได้กินข้าวช้าไป 1 คิว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น แถมยังได้กินข้าวช้าลงไปอีก เต็มไปด้วยการสะสมกิเลส สะสมบาป สะสมอกุศล และเป็นทุกข์

แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเรานี่แหละ คือการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดบุญบาป กุศลอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในทุกวินาทีของชีวิต โดยไม่ต้องรอไปวัด

การไปวัดเพื่อหาพระหรือครูบาอาจารย์ ก็คือการไปรับฟังคำสั่งสอน ไปร่วมกุศลกับท่านบ้าง ไปตรวจสอบตัวเอง ไปส่งการบ้าน ไปถามคำถาม ไปปรึกษา การเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แต่ไม่ใช่ว่าไปหาท่านแล้วจะได้บุญ เพราะเรื่องบาปบุญ กุศลอกุศลนั้น เราต้องทำเอาเอง ทำกันในชีวิตประจำวันนี่แหละ

– – – – – – – – – – – – – – –

18.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ชาตินี้ ชาติหน้า

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,754 views 0

ชาตินี้ ชาติหน้า

ชาตินี้ ชาติหน้า

คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน

อดีต…จนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้

ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น

กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน

คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน

มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต

คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่

การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ

หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล

แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ

บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต

เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ

ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต

การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง

ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ

ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ

ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี

ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ

ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้

….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง

ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง

จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย

– – – – – – – – – – – – – – –

17.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

September 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,399 views 0

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

เกมที่สนุกที่สุดในโลก: การปฏิบัติไตรสิกขา อธิบายเปรียบเทียบกับการเล่นเกมกรณีศึกษา การกินมังสวิรัติ

ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรม การล้างกิเลส ก็ดูจะเป็นเรื่องของคนมีอายุ คนใจบุญ คนปลงชีวิต คน…อะไรก็ว่าไป แต่ในบทความนี้จะมาพิมพ์เรื่องการปฏิบัติธรรมอธิบายโดยเปรียบเทียบกับการเล่นเกม เพื่อให้คนหนุ่มสาวในยุคนี้ ที่ผ่านการเล่นเกมมา ได้เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเข้าใจง่ายกว่าที่คิด

หลายคนที่เคยเล่นเกมมา ก็จะคุ้นเคยกับระบบของการพัฒนาตัวละครที่เราเล่น เช่น ทักษะ กำลัง ปัญญา พัฒนาอาวุธชุดเกราะ การเดินทาง ไปจนถึงปราบศัตรูต่างๆ จนได้รับรางวัล ได้แต้ม ได้คะแนน ได้เงิน มาเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งๆขึ้น การปฏิบัติธรรมก็คล้ายๆกัน จะลองอธิบายโดยยกตัวอย่างดังนี้

…เกมมังสวิรัติ

เราจะเลือกเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง จะเป็นเกมอะไรก็ได้ เช่น เกมขยัน เกมตื่นเช้า เกมเมตตา เกมลดน้ำหนัก เกมไม่โกรธ แต่ในบทความนี้จะยกตัวอย่างเป็นเกมมังสวิรัติ เพราะเล่นได้มากถึง 3 ครั้งต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว

เมื่อเริ่มเกมก็จะมีตัวเอกคือตัวเรา และเป้าหมายของเกมก็คือกินมังสวิรัติให้ได้ มีวิธีฝึกฝนตัวเองโดยใช้สมถะและวิปัสสนา มีด่านและศัตรูต่างๆให้ต้องเผชิญด้วยการปฏิบัติไตรสิกขา มีกระบวนการเอาชนะแต่ละด่านด้วยจรณะ๑๕ เพื่อข้ามภพ ๓ คือแต่ละช่วงของด่านนั้นๆ

…สรุปเครื่องมือที่จะหยิบมาอธิบายในเบื้องต้น

สมถะ คืออุบายทางใจ ใช้เพื่อสร้างสมาธิ สร้างกำลัง ความสงบ พักผ่อนจิต เก็บสะสมพลังในการกดข่มกิเลสต่างๆ

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา คือการพิจารณาให้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลสตามความเป็นจริง

ไตรสิกขา คือการใช้ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อขยับฐานหรือเปลี่ยนไปเล่นกับกิเลสที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

จรณะ๑๕ คือ ข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรม

ภพ๓ คือ กามภพ (สภาพที่ยังเสพกิเลสอยู่) รูปภพ ( อดกลั้นไม่ไปเสพกิเลสได้) อรูปภพ ( ไม่คิดจะไปเสพกิเลสแล้ว แต่ไม่โปร่งใจ)

จริงๆ แล้วมีเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมในการปฏิบัติธรรมหรือเล่นเกมสู้กับกิเลสนี้อีกมาก เพียงแต่จะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกว้างๆ ให้ได้ก่อน

….เริ่มเกมกันเลย

เมื่อเราได้ศึกษาจนมีความรู้ว่า การกินมังสวิรัตินั้นดี ไม่เบียดเบียนใคร เราจึงตั้ง “อธิศีล” คือ การตั้งข้อปฏิบัติสู่ความไม่เบียดเบียน เป็นการทำศีลที่มากกว่าที่ตัวเองเคยถืออยู่ในชีวิตปกติ เหมือนกับที่เรากำลังเลือกที่จะเข้าไปต่อสู้กับศัตรูในด่านแรก นั่นคือ บอสวัว(หัวหน้าศัตรูที่เป็นเนื้อวัว) หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว

เมื่อเราเลือกที่จะเข้าไปสู้กับบอสวัว หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว โดยการตั้งศีล ตั้งใจตั้งมั่นในศีลนี้แล้ว ก็ให้เราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราไม่ให้เข้าไปใกล้เนื้อวัวมากนัก และแม้จะต้องเข้าไปใกล้ก็ต้องรู้จักประมาณพลังใจของตัวเองให้ดี อย่าไปทำเก่ง ทำกล้า คิดว่าข้าแน่ ข้าทนไหว เช่น ชอบสเต็กมาก แล้วเพื่อนก็ชวนไปกินสเต็กก็ไปกับเขาด้วย สุดท้ายก็ทนไม่ไหว กิเลสส่งกองกำลังมากระซิบเบาๆ ว่า “ กินไปเถอะ ไหนๆเขาก็ตายมาแล้ว กินเขา เขาได้บุญนะ ขำๆ” สุดท้ายก็แพ้บอสวัวชิ้นนั้นไปจนได้

หากเราประมาณตัวเองให้ดีแล้ว ก็ให้สร้างความตื่นตัวในการที่จะลด ละ เลิกเนื้อวัวนั้น โดยใช้วิปัสสนา คือพิจารณาให้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อวัว ให้เห็นทุกข์ โทษ ภัยในการกินเนื้อวัว ให้เห็นว่ากิเลสที่อยากกินเนื้อวัวไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เห็นผลของกรรมจากการที่เรายังเสพยังติดเนื้อวัว แต่ถ้ามันเหนื่อย รู้สึกไม่ไหว หมดแรงพิจารณา ก็พักหรือสลับด้วยการทำสมถะ สะสมพลังด้วยการกำหนดจิตไว้ให้นิ่ง จะพุทโธ ยุบหนอพองหนอ หรือเดินจงกรม หรือจะประยุกต์ใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่จะถนัด การทำสมถะจะสามารถช่วยให้เราวิปัสสนาได้ดีขึ้น

เมื่อทำอย่างตั้งมั่นด้วย “อธิจิต” คือไม่หวั่นไหว ไม่ล้มศีล และไม่เคร่งจนเครียด พิจารณาต่อเนื่องจนเกิดความศรัทธาในการลดการกินเนื้อวัว แม้จะยังมีความอยากอยู่ แต่ใจเริ่มจะเชื่อมั่นแล้วว่าลดเนื้อวัวนี่มันดีนะ เมื่อเกิดศรัทธาที่เต็มรอบ ก็จะนำมาซึ่งหิริ คือความละอายต่อบาป แม้จะเผลอกลับไปกินเนื้อวัวเพราะความอยากบ้าง ก็จะรู้สึกไม่ดีรู้สึกละอาย รู้สึกผิด เมื่อพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จะเข้าสู่สภาวะ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ถึงระยะนี้จะไม่กล้าแตะเนื้อวัวแล้ว เพราะรู้โทษของมัน ถ้าเป็นภาพในเกม บอสวัวที่เรากำลังสู้อยู่ก็บาดเจ็บพอสมควรและมันเริ่มจะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไว้มันก็พื้นตัวได้ เหมือนกับกิเลสที่สามารถสะสมกำลังจนทำให้เราอยากกลับไปเสพได้

ในระยะนี้เราจะสามารถข้ามผ่านกามภพ คือข้ามผ่านสภาวะที่เข้าไปเสพไปกินเนื้อวัว ขยับมาถึงรูปภพ คือไม่กินเนื้อวัวแล้ว แต่ถ้าเผลอไปคิดถึงก็อาจจะยังอยากกินอยู่ แต่ข่มใจไม่กินได้ ยอมไม่กินได้แม้ใจจะอยาก

เมื่อพัฒนาตัวเองด้วยวิปัสสนาและสมถะเข้าไปอีก จะก้าวเข้าถึงระดับ พหูสูต คือรู้แจ้งเรื่องกิเลสนี้มากแล้ว ตอนนี้จะเริ่มสวนกระแส รู้แล้วว่าการกินเนื้อวัวนี้ไม่ดี มั่นใจว่ากินเนื้อวัวไม่ดีอย่างเต็มใจ เมื่อทำต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นของวิริยารัมภะ คือการเพียรอย่างไม่หยุดยั้ง ลุยพิจารณากิเลสอย่างทุ่มโถมเอาใจใส่ เพื่อที่จะไล่ฆ่าความอยากเนื้อวัวที่มีเหลือให้หมดในระยะนี้ก็จะสามารถข้ามรูปภพได้ไม่ยากนัก แต่ก็ต้องมาไปพยายามกันต่อที่อรูปภพ คือความอยากกินเนื้อวัวที่หลงเหลือในวิญญาณ มีสภาวะเช่น ท่าทีภายนอกไม่อยาก ในใจก็ไม่อยาก แต่ทำไมไม่ได้กินแล้วมันขุ่นๆใจ ไม่โปร่งไม่โล่งนะ

พัฒนาต่อมาจนมาถึงสติ สติในที่นี้คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติที่ใช้ชำแหละกิเลสออกเป็นชิ้นๆ จะเห็นได้เลยว่าเราอยากกินเนื้อวัวเพราะเราติดใจในอะไร ขุดให้ลึกถึงรากของกิเลสทีละตัวเลยว่า เราติดเพราะชอบรสสัมผัส หรือเราติดเพราะสังคมเขาว่ามันดี หรือจริงๆเราไม่ได้ติด แค่หลงไปตามชาวบ้านเขา หรือเรายังแอบซ่อนความอยากไว้ตรงไหนอีกนะ… สติปัฏฐาน ๔ คือกระบวนการที่จะทำให้เห็นกิเลส โดยใช้ปัญญาที่เป็นมรรคเข้าไปขุดค้นพิจารณาหารากของกิเลส เหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทัย

แล้วก็จะเข้าสู่ภาวะของฌาน ๔ โดยเริ่มที่วิตกวิจารณ์ คิด วิเคราะห์ พิจารณากิเลสนั้นๆ ย้ำๆซ้ำๆ ให้เห็นคุณและโทษ ให้เห็นกิเลสที่ลึกลงไปอีก ในตอนนี้ก็เหมือนเราสู้กับบอสวัวในยกสุดท้าย ที่เรากำลังพยายามกำจัดถอนรากถอนโคนความอยากนั้นทิ้งให้หมด ตอนนี้เราต้องใช้ “อธิปัญญา” คือปัญญาที่มากกว่าที่เคยมี ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะปราบศัตรูร้ายตัวนี้ได้ ให้พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะรู้ได้เอง

จึงเกิดความปีติ ดีใจ ฟูใจ ตื่นเต้น โปร่ง โล่ง เบา สบายจากการฆ่ากิเลสได้ และค่อยๆสงบลงมาเป็นความสุข อิ่มใจแบบนิ่งๆ จนสงบราบเรียบเข้าสู่สภาวะของอุเบกขา เหมือนฉากจบของด่านนั้นๆ เราข้ามภพสุดท้ายคืออรูปภพได้แล้ว เรากำจัดบอสวัว หรือความอยากในเนื้อวัวได้แล้ว

รางวัลที่เราได้คือความโปร่งโล่งสบายแม้ไม่ได้กินเนื้อวัว แม้จะมีเนื้อวัวมาอยู่ตรงหน้าก็เฉยๆ ไม่อยากกินอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องมาคอยกดข่ม พิจารณา เคร่งเครียด หรือดับความคิดอีกต่อไป เพราะกิเลสไม่มี ก็เลยไม่มีความอยาก พอไม่มีความอยาก ก็เลยไม่ต้องไปดับความอยาก ได้วิมุติมาเก็บสะสมเป็นพลังที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

หลังจากนี้เราอาจจะต้องใช้เวลาในด่านบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวอีกสักระยะ เพื่อเก็บกิเลสเล็กๆไรๆ ที่ยังฝังอยู่ลึกๆ เป็นญาติพี่น้องของกิเลสที่เราได้กำจัดไป แต่จะไม่ยากเท่าตัวใหญ่ที่เรากำจัดมา เห็นก็ฆ่า เห็นก็กำจัด ขยายพื้นที่ตั้งอธิศีลให้ครอบคลุมที่ผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว ทำลายความอยากให้สิ้นเกลี้ยง

และด่านพิเศษที่จะปรากฏขึ้นมาหลังจากปราบบอสวัว หรือความอยากกินเนื้อวัว คือด่านของความติดดี คือเราจะไปเพ่งโทษ ไปรังเกียจคนที่กินเนื้อวัวอยู่ ก็ให้ใช้กระบวนการเดียวกันในการกำจัดอัตตาเหล่านี้ ซึ่งความยากนั้นก็ถือว่ายากกว่าบอสวัวเยอะ ถ้าทำสำเร็จจึงจะพ้นนรกจริงๆ

นั่นหมายถึงเมื่อเราปราบ “กาม” คือความอยากเสพเนื้อวัวแล้ว เราก็จะมาติดกับ “อัตตา” คือความไม่อยากเสพเนื้อวัวอยู่ ถ้าอยากรู้ให้ลองตัดเนื้อวัวให้ได้จริงๆ แล้วกลับไปเสพดู หรือไม่ก็ไปดูคนอื่นกิน มันจะมีอาการทุกข์ใจ อาการรังเกียจ ต้องฆ่าอัตตาพวกนี้ไปด้วย

เมื่อเราปราบทั้งกามและอัตตาแล้ว ก็จะเดินเข้าสู่ทางสายกลางแบบสบายๆ เพราะไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่เสพเนื้อวัว และเราก็ไม่ได้รังเกียจเนื้อวัว หรือคนที่ยังเสพเนื้อวัว

ในตอนนี้เราปราบบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวสำเร็จแล้ว เราก็ไปเล่นด่านต่อไป คือตั้งศีลสู้กิเลสต่อไป ในด่านของเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย การเบียนเบียดอื่นๆต่อไป ยิ่งเราชนะไปเรื่อยๆ ตัวเราก็เองก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำอธิศีล จะทำให้เราพ้นเวรภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง อธิจิตจะทำให้เรามีสมาธิตั้งมั่น อดทนกับอะไรๆได้ดีขึ้น อึดขึ้น แกร่งขึ้น อธิปัญญาจะทำให้เราฉลาด เฉลียว ว่องไว รู้แจ้งในเรื่องกิเลสนั้นๆ และยังใช้ปัญญานั้นปรับเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อีก

ดังจะเห็นได้ว่า เกมกำจัดกิเลส ก็คล้ายๆเกมที่เราเล่นกันอยู่ทุกวันนี่แหละ เพียงแต่คนสู้ คนแพ้ คนเจ็บ และคนชนะคือเรานี่เอง แต่มันก็น่าจะคุ้มค่าสำหรับเวลาที่เราให้ไปในการเล่นเกมนี้นะ

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง

September 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,798 views 0

เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง

เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง

พิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องตายๆกันมาเยอะแล้ว ก็ยังไม่เคยจะได้เล่าประสบการณ์กันสักที บังเอิญว่าเมื่อวานนี้มีเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบว่าเราเองพร้อมสำหรับความตายหรือยัง…

เมื่อวานมีธุระที่ต้องเข้าไปในเมือง แถวๆชิดลม โดยนั่ง“รถโดยสารปรับอากาศ” สาย 73ก ไป นั่งจากกลางๆลาดพร้าว ไปจนถึงรัชดา ทุกอย่างก็ราบเรียบดีไม่มีปัญหา จะมีก็แค่ฝนที่ตกปรอยๆอยู่ทำให้รถติดบ้างเท่านั้น

ผมนั่งเบาะข้างหลังรองสุดท้าย ข้างซ้ายด้านในติดกระจก เป็นมุมที่สามารถมองวิวข้างทางได้เพลินๆระหว่างรถติด มองคนเลิกงาน เดินกางร่มกันไปตามทาง คนในรถก็ยืนกันแน่น คุยกันบ้าง เล่นโทรศัพท์กันไปบ้าง ทุกอย่างดูเหมือนปกติดี

ในขณะที่รถติดไฟแดงอยู่ มีเสียงตะโกนขึ้นมาว่า “ เปิดประตู!!” ทุกสายตามองไปยังต้นกำเนิดเสียง มีอีกหลายเสียงตะโกนขึ้นตามกันมาให้เปิดประตู ตามมาด้วยเสียงกรี๊ดเสียงโวยวาย มีควันสีขาวๆลอยฟุ้ง ทุกคนรีบลุกขึ้นพยายามจะหาทางออกกันหมด

ด้วยความที่คนแน่นมากก็ทำให้มองไม่เห็นอะไรเลย สักพักคนขับก็เปิดประตูให้ ผู้คนจำนวนมากวิ่งทะลักออกจากรถ คนที่อยู่หลังรถด้านขวาพยายามเปิดประตูฉุกเฉินแต่ก็เปิดไม่ออก มีเสียงพูดกันขึ้นมาว่าแก๊สรั่วรึเปล่า? ผมยังนั่งอยู่ที่เดิมนิ่งๆ ดูเหตุการณ์ไป เพราะถึงจะลุกออกไปก็ติดคนอยู่ดี

ขณะนั้นเอง กระเป๋ารถก็ตะโกนบอกให้ผู้คนอย่าวิ่ง ไม่ต้องวิ่ง ผมก็เห็นด้วยนะ เพราะยิ่งวิ่ง ยิ่งเบียด ก็ยิ่งอันตราย ในขณะนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะมีอะไรรั่ว หรืออะไรจะระเบิดก็ไม่รู้ ทุกคนรู้แค่ว่าต้องหนีเท่านั้น

ก็คิดอยู่นะ ว่าถ้ามันมีอะไรระเบิดจริงๆก็คงจะรอดยากละนะ แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก คิดได้ดังนั้นก็มองดูคนที่ทยอยลงจากรถต่อไป

ผู้คนเริ่มลงจากรถไปได้ครึ่งคันแล้ว ผมก็คงต้องเริ่มจะลุกกับเขาบ้าง ที่เบาะข้างหน้าเขาคงจะรีบมาก ก็เลยทำร่มหล่นไว้ ผมก็ถือลงไปด้วย เผื่อว่าจะเอาไปให้เขา (ใครก็ไม่รู้)

ระหว่างที่เดินไปหน้าประตู ก็เห็นผงสีขาวกระจายอยู่เต็มพื้น ได้กลิ่นฉุนจมูก กลิ่นแบบที่ดมนานๆคงจะแสบจมูก ข้าวของที่หล่นกระจายประปรายหน้าประตูรถ ผมลงมาพร้อมถือร่มชูขึ้นพยายามจะให้มีคนเห็น เรียกหาเจ้าของร่ม ก็ไม่เห็นจะมีใครสนใจ …ผมลืมนึกไปว่าในสถานการณ์แบบนี้ จะมีใครสนใจร่มของตัวเองล่ะ สุดท้ายก็เลยวางไว้แถวนั้น ต้องขออภัยจริงๆ ถ้าผมคิดได้ก่อนก็คงจะไม่หยิบลงมาด้วย…และถ้าคิดได้อีกทีก็คงเดินเอาไปวางที่เดิมให้

กระเป๋ารถ และคนขับยังดูเหตุการณ์อยู่ในรถ ผมก็ยืนดูอยู่สักพักไม่ถึงนาทีหรอก แต่เหมือนว่าจะไม่มีอะไรร้ายแรงมาก ก็มีคนเดินกลับเข้าไปขึ้นรถ ขณะที่มีเสียงคนหลายคนพูดกันระงมว่าใครจะเสี่ยงขึ้นไปอีก จริงๆเขาคงขึ้นไปหาของที่ทำหล่นละมั้ง แต่ก็อาจจะมีคนขึ้นไปนั่งต่อจริงๆก็ได้

ชีวิตในเมืองช่างดูไร้ทางเลือกจริงๆ ต้องกลับไปขึ้นรถที่เต็มไปด้วยสารเคมีที่กระจายออกมาเต็มรถ ผมพิจารณาดูแล้วว่าแค่เดินผ่านยังมีอาการแสบจมูก เลยเดินไปที่รถใต้ดินและยอมต่อรถไฟฟ้าอีกทีเพื่อไปถึงที่หมายแทนที่จะต้องไปนั่งสูดสารเคมีในรถ

สรุปกันหน่อย…

ผมเองได้เห็นผลจากการซ้อมตาย หรือที่เรียกว่า “การเจริญมรณสติ” ที่เคยทำอยู่บ่อยๆ มันทำให้เราใจเย็นลง ไม่รีบร้อน แต่ก็ไม่ประมาท เห็นและยอมรับทุกอย่างตามที่เป็นจริง วิเคราะห์เหตุการณ์ตามข้อมูลที่ได้รับมา และก็ไม่ได้เป็นทุกข์กับมัน

การทดสอบนั้นควรจะมาแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ทันได้เตรียมใจ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการที่เราพยายามวิ่งเข้าหามัน ทั้งในความจริง หรือการคิดจินตนาการ พิจารณาไปถึงความตาย หรือ มรณสติ

แบบทดสอบความพร้อมก่อนตาย คงไม่ได้มีมาทดสอบเราบ่อยนัก การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้รับ การตรวจสอบใจตัวเอง การย่อยและขยายผลเหล่านั้นให้เกิดปัญญา คือ คุณค่าที่เราจะได้รับจากแบบทดสอบนั้น บางคนมีโอกาสได้เผชิญกับภาวะเสี่ยงตายหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยได้พิจารณาลงไปถึงรากแห่งความกลัวที่จะต้องตาย ซึ่งน่าเสียดายโอกาสเหล่านั้นมากๆ

แบบทดสอบนั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงเสมอไป บางครั้งกับบางคน เพียงแค่เห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุในข่าว ก็สามารถเกิดปัญญาเข้าใจในเรื่องความตายได้แล้ว แต่บางคนผ่านการเฉียดตายมาหลายครั้งกลับไม่สามารถเข้าใจเรื่องความตายได้

การเจริญมรณสติ ไม่ได้ทำให้เรากล้า แต่ทำให้เรายอมรับอะไรได้ง่ายขึ้น เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นกับเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

17.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์