Tag: เหตุแห่งทุกข์

ทำไมถึงเลือกพิมพ์บทความเกี่ยวกับความรัก

January 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 624 views 0

เมื่อปีก่อนมีคนถามคำถามนี้มา ก็ตอบไปว่า “เพราะมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ร้ายมากขนาดที่คนฆ่ากันตายได้” ก็ตอบไปสั้น ๆ ประมาณนี้

ก็คงจะมาพิมพ์ขยายกันเพิ่มว่าทำไม ผมจึงเลือกพิมพ์บทความความรักมากมายในช่วงนี้

ช่วงหลายปีก่อนเป็นช่วงที่มีบทความหลากหลาย การไม่กินเนื้อสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิบัติธรรม ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่มาช่วงสุดท้ายของปี 62 จนมาถึงวันนี้ กลับดูเหมือนเน้นแต่เรื่องความรัก

นั่นก็เพราะผมเลือกว่าถ้าเราสังเคราะห์สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะมีคนทำน้อย เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์เขาก็ทำกันเยอะแยะ ก็ไม่ต้องไปปรุงกันมากนัก เราก็เลือกที่เราทำได้เด่น ๆ อันนี้มันเป็นความถนัดเฉพาะทางด้วย มันพิมพ์แล้วมันไปได้ มีคนอ่าน ถือว่าทำออกมาแล้วขายออก ก็ทำอันนี้ แม้จะมีแบบอื่นที่ทำได้อีก แต่ก็เอาอันนี้แหละ เรื่องความรักแบบนี้แหละ ไม่ค่อยมีคนทำเลย มาลดโลภ โกรธ หลง ในความรัก หาอ่านไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่จะพาเพิ่ม โลภ โกรธ หลงในความรักเสียมากกว่า

มีคนเขาถามว่าสิ่งที่เราพิมพ์นั้นมาจากความคิดหรือประสบการณ์ ก็จะตอบว่าทั้งสองอย่าง

ถ้าจะนิยาม ความคิด ว่าคือการคิดด้นเดาเอาเอง อันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความลึกซึ้งในธรรมะนั้นคิดหรือเดาเอาเองไม่ได้ นั่งเทียนเขียนก็เขียนไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาวะมันจะเขียนไม่ออก เก่งภาษาแค่ไหน ก็จะสื่อสารไม่มาไม่ไป มันจะวน ๆ งง ๆ ไม่แม่นเป้า ไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงกิเลส

ไม่เชื่อลองดูก็ได้ มีหัวข้อให้ เป็นเรื่อง ๆ ใช่ว่าคนปฏิบัติธรรมเขาจะเขียนออก หรือถ่ายทอดได้กันทุกคนเสียที่ไหน มันต้องมีผลจากการปฏิบัติเป็นหลัก แล้วปรุงตามเหตุปัจจัยของโลก สังเคราะห์ความคิดขึ้นมาว่าถ้าเหตุแบบนี้เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้เป็นความคิดที่มีหลักว่าต้องพาไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นโลภ โกรธ หลงในความรัก

ก็มีอยู่บ้าง ที่เขาอาจจะจำมา เรียนมา ศึกษามา แต่ถึงเวลาใช้จริงมันจะแข็ง ขาดความพริ้ว หรือขาดมุทุธาตุ ที่เป็นความแววไวของจิต มันจะเป็นบล็อก ๆ เป็นความรู้ชุด ๆ เหมือนนักรบที่ฝึกกระบวนท่าเป็นชุด ๆ แต่ประยุกต์ไม่ได้

ส่วนประสบการณ์นี้ก็ต้องตอบว่ามีพอหากิน การเรียนรู้ของคนนั้นวัดด้วยเวลาเท่าที่เห็นได้ยาก คนแต่ละคนมีความไวในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ จะลองให้คนแก่ที่ผ่านรักมามากมายหลายครั้งมา เล่าเรื่องแจกแจงกิเลสอย่างผมก็ได้ ผมไม่เชื่อหรอกว่า คนที่ผ่านเวลามามากมาย ผ่านรักมาหลายครั้ง จะมีความชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องกิเลสได้โดยที่ไม่ได้ปฏฺิบัติธรรมอย่างถูกตรง

ญาณปัญญาคือผลจากการปฏิบัติ การเรียนรู้ในมิติที่มีปัญญาจะต่างไปจากมิติของคนที่จมอยู่กับกิเลส ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาจะถูกแปรสภาพเป็นปัญญา เป็นการรู้โลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่างจากคนที่ยังจมอยู่กับกิเลส เมื่อมีเรื่องราวหรือสิ่งกระทบ ก็จะไหลไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ชอบก็ชัง ไม่รักก็เกลียด พอไปทางโต่งสองด้าน ปัญญามันก็ทึบ ถึงจะผ่านเวลาไปนานเท่าไหร่ แต่ถ้ากิเลสยังครอบงำอยู่ การเรียนรู้ที่ถูกตรงก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

ส่วนถ้าถามว่าได้สิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร ที่ได้ความรู้เหล่านี้มาเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เราได้พึ่งพาอาศัยเรียนรู้จากท่าน พอตั้งใจปฏิบัติตาม มันจะได้ความรู้ชุดหนึ่งมาจากท่าน และความรู้อีกชุดหนึ่งจากผลการปฏฺิบัติของเรา บวกกับความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จากการที่เราสังเคราะห์กับผู้คน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้

ผมพิมพ์เรื่องความรักมานานหลายปี การทบทวนธรรม การแสดงธรรมนั้นเป็นวงจรที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการทบทวนธรรม และการแสดงธรรมนั้น เป็นองค์ประกอบในเหตุแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส ๒ ใน ๕ ประการ ดังนั้น ยิ่งทบทวน ยิ่งพิมพ์ ยิ่งเผยแพร่ มันจะมีปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ก็ยังคิดว่าตนเองยังไม่เก่งหรอก มันก็มีเหลี่ยมมุมใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้เพิ่ม ก็ฝึกย่อ ฝึกขยายกันไป บางทีมันต้องย่อให้มันกระชับ ก็ต้องฝึก บางทีมันสั้นไปมันก็จะเข้าใจยาก ก็ต้องขยายกัน ก็ฝึกไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผมเอง ส่วนคนมาอ่านแล้วเขาได้ประโยชน์ ก็เป็นความลงตัวของความดีที่ได้ทำร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาเห็นว่าดี เดี๋ยวเขาก็เอาไปลองทำเอง ถ้าเขาทำแล้วดี ก็คงจะเหมือนกับผมที่ทำตามอาจารย์แล้วผลมันออกมาดี พ้นทุกข์ เราก็เลยเอาไปบอกคนอื่นต่อว่ามันดี นั่นเอง

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

April 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,107 views 0

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ...โสด

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

เมื่อความรักเจริญถึงขีดสุด จะสามารถก้าวข้ามสามัญสำนึกทั่วไปได้ เป็นรักที่ไม่ไหลไปตามกระแสโลก กลายเป็นรักที่อยู่เหนือโลก เพราะอยู่เหนืออิทธิพลของกิเลส

รักนั้นยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป มันจะไม่เหมือนอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ความรักที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น ต้องเสพสุข ต้องครอบครอง ต้องผูกพัน ฯลฯ แต่เมื่อความรักนั้นได้พัฒนาขึ้นนั้น การเสพสุข การครอบครอง การผูกพันใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความอยากนั้น กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไปในทันที

เพราะการยึดมั่นถือมั่นในการมีกันและกันนั่นเอง คือเหตุแห่งทุกข์ คือความรักที่คับแคบ เป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะตนต้องการเสพ ตนจึงยึดไว้ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอยาก ไม่อยากพราก ไม่ปล่อยให้เขาได้ไปทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า แต่เมื่อรักนั้นพัฒนาขึ้น รักมากขึ้น รักตนเองและผู้อื่นมากกว่ารักกิเลส ความเบียดเบียน ความหลงติดหลงยึด ความเห็นแก่ตัวใดๆ ย่อมไม่มีในบุคคลนั้นเลย คงเหลือไว้แต่ความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนที่ตนรักเท่านั้น

และเมื่อรักนั้นไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีคนที่จะต้องยึดไว้เพื่อรัก แต่จะเป็นใครก็ได้ที่ยินดี เหมาะสม ควรแก่กาลที่จะได้รับความเมตตาเกื้อกูล ได้ประโยชน์เหล่านั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อรักได้เจริญถึงขีดสุดแล้ว คนผู้ที่มีความเห็นดังนั้นจึงเลือกที่จะเป็นโสด เพราะความเป็นโสดนั้น คือสถานะที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะไม่ผูกตัวเองไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นอิสระทั้งจากภาระทางโลก และภาระทางใจ เพื่อที่จะนำเวลา ทุนทรัพย์ และแรงงานที่เหลืออยู่มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แค่รู้ตัว ไม่พอ

December 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,684 views 0

แค่รู้ตัว ไม่พอ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

การที่เราจะดับทุกข์ที่กำเริบขึ้นมานั้น การกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น สร้างความรู้ตัวใดๆก็ตาม อาจจะสามารถกำราบทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นให้สงบลงได้ แต่หากจะหวังให้การกระทำเหล่านั้นเป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แค่รู้ตัวนั้น…ยังไม่พอ

เราสามารถฝึกสมถะใช้กำลังของจิตสะกดความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็กดข่มให้ดับลงไปได้ หรือตามดู ตามรู้จนมันดับลงไปได้ แต่ความดับเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพุทธ เป็นเพียงการดับจากสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมหรือกระทั่งคนไม่มีศาสนาก็สามารถทำได้

การรู้ตัวว่าจมไปกับจิตฟุ้งซ่านด้วยกิเลสแล้วสามารถละวางได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกมากที่จะพัฒนาจิตต่อไปจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรู้ใดๆอีก เพราะไม่มีกิเลสเกิดให้ต้องไปรู้แล้วละ คือมันไม่เกิดก็เลยไม่ต้องไปดับ นี่คือสภาพผลของการปฏิบัติในท้ายที่สุด

แค่รู้ตัวนั้น ยังไม่เรียกว่าเพียงพอในการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าจะรู้ให้จริงต้องรู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงเกิดมา ทำไมเราจึงสร้างความคิดเช่นนั้น ทำไมร่างกายจึงมีอาการสั่น หายใจติดขัด ทำไมจิตจึงหมองมัว

การดับทุกข์ของพุทธนั้นดับสังขารไปโดยลำดับ ตั้งแต่วจีสังขาร กายสังขาร จนถึงดับจิตสังขาร ในที่นี้ไม่ใช่การตาย แต่เป็นการดับกิเลส คือในท้ายที่สุดจะไม่มีกิเลสในจิตเลย ซึ่งการกำหนดรู้ การดับความคิด การควบคุมความคิดนั้นเป็นเพียงแค่การพยายามจัดการกับวจีสังขาร คือไม่ให้ปรุงแต่งความคิดใดๆ (วจีสังขาร ไม่ใช่วจีกรรม)

เพราะถ้าเอาแต่รู้ตัว ดับความคิด แม้จะควบคุมความคิดได้ แต่กายสังขารยังไม่ดับ ร่างกายก็จะออกอาการประหลาดๆ เหงื่อไหล หายใจขัด หมดแรง ฯลฯ ตามแต่จะสังเคราะห์ได้ เพราะมีใจเป็นประธาน คือจิตยังสังเคราะห์กับกิเลสนั้นๆ อยู่เกิดสภาพจิตที่เป็นลักษณะของนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ(พอใจในกาม) พยาบาท(ไม่พอใจ) ถีนมิธทะ(ซึม จม หดหู่) อุทธัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่าน ลอย ไม่สงบ) วิจิกิจฉา(สงสัย ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง) นั่นเอง

ซึ่งสภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดเลย แม้จะดับความคิด กดข่มความคิด รู้ตัวว่าคิด กำหนดรู้ว่าคิด ก็จะสลัดทุกข์ออกไปได้บางส่วน แต่จะไม่หมด เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ แม้มันจะหายและดับไปเองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังอยู่ ยังรอเวลาที่จะแสดงตัวอยู่เสมอเมื่อเกิดผัสสะ

ดังนั้นเมื่อกำหนดรู้ตัวได้แล้วว่าหลงไปกับกิเลส ก็ควรจะพิจารณาให้รู้ไปถึงรากเหง้าของกิเลส เหตุแห่งทุกข์นั้นๆด้วยว่า มันไปชอบไปชังในอะไร มันไปหลงเสพหลงสุขในอะไร มันไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรจึงได้เกิดอาการซัดส่ายของจิตขึ้น เมื่อรู้กิเลสแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบหรือดับไป แค่จับตัวกิเลส หาเหตุแห่งทุกข์ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังต้องทำสงครามกับกิเลสอีกหลายครั้งหลายคราจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,970 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)