Tag: มิจฉาวณิชชา
โกงกิน
โกงกิน
ขึ้นชื่อว่าเป็นคนโกงกิน ย่อมเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าคบหา โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำดี ย่อมไม่ยินดีในการโกงกิน แต่ถ้าในหมู่โจร คนชั่ว เขาย่อมยินดีในการโกงกิน ยอมชั่ว ยอมบาป เพียงเพื่อให้ตนได้ร่วมผลประโยชน์แห่งการโกงกินนั้น ๆ
โกงกิน หรือกินด้วยการโกงมา ขโมยเขามา ลักเขามา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกวัน จนกระทั่งในทุกมื้ออาหารของหลายคน ก็อาจจะสงสัยว่าฉันจ่ายเงินซื้ออาหารนี้มาโดยสุจริต งานก็งานสุจริต เงินก็เงินสุจริต แล้วจะเรียกว่าโกงกินได้อย่างไร?
ที่เรียกว่าโกงกินนั่นเพราะ ไปกินเนื้อ หนัง ส่วนประกอบของสัตว์ที่เขาไม่ได้เต็มใจให้ แต่เอาอำนาจที่เรียกว่าเงิน ไปติดสินบนคนอื่นหรือที่เรียกอย่างที่ดูเหมือนจะถูกต้องว่า “ซื้อ” เพื่อให้เขาข่มขืน เพาะ เลี้ยง กักขัง ลาก ทำร้าย ทรมาน ฆ่า ชำแหละมาเพื่อตน เพื่อให้ตนได้เสพสมอารมณ์หมายในกามรสของอาหารที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของดี เป็นสุข เป็นคุณค่า เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต ฯลฯ แม้งานหรือเงินที่ได้มาจะสุจริต แต่วิธีที่ได้เนื้อสัตว์มานั้น มันไม่สุจริตเลยแม้แต่น้อย
การค้าขายสัตว์ และค้าขายเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมิจฉาวณิชชาสูตร ที่ไม่ควรทำนั่นเพราะการซื้อขายเนื้อสัตว์จะทำให้เกิดปศุสัตว์ ทำให้เกิดกระบวนการทรมานและฆ่าอย่างไม่จบไม่สิ้น และที่สำคัญแม้มนุษย์จะเป็นสัตว์ที่มีอำนาจอยู่เหนือสัตว์อื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปกำหนดว่าเราเป็นเจ้าของสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ จะไปมีอำนาจเหนือชีวิตเขาไม่ได้ เพราะมันไปละเมิดสิทธิ์เขา มันโกงชีวิตเขา เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา แต่เราก็ยังไปสร้างความเชื่อเอาเองว่าสัตว์เกิดมาเพื่อเป็นอาหารจนฝังเป็นอุปาทาน กลายเป็นค่านิยม ความยึดมั่นถือมั่น กลายเป็นสิ่งปกติในสังคมไปแล้ว
การค้าชีวิตสัตว์อื่นนั้นบาปอย่างมาก ไม่มีใครอยากจะพบเจอ ดังเช่นสมัยก่อนมีการค้าทาส ไม่มีใครอยากเป็นทาส ไม่มีใครอยากจะเกิดมาเป็นสินค้า เป็นวัตถุบำเรอกาม บำเรออัตตา บำเรออำนาจของผู้อื่น แม้สมัยนี้ก็ยังมีการค้าขายมนุษย์ โดยที่เจ้าตัวไม่ยินดี คนส่วนมากมักจะรู้สึกโกรธ ชิงชัง รังเกียจ ดังเช่นข่าวว่า แม่ขายลูกบำเรอกามผู้อื่น อันนี้เขาแค่ขายเป็นบริการ ยังไม่ได้กักขัง หรือฆ่า คนยังโกรธขนาดนี้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นหมูที่ต้องถูกขังในกรงเหล็กแคบ ๆ ถูกข่มขืนด้วยกระบอกน้ำเชื้อ ถูกพรากลูกที่ตัวเองคลอดไป สุดท้ายถูกทำร้ายและฆ่า คนส่วนมากกลับรู้สึกเฉย ๆ อันนี้คือสภาพของความลำเอียงที่เกิดขึ้นในจิต เมื่อมีความลำเอียง การจะมีความเห็นที่ถูกต้อง การจะปฏิบัติตนไปสู่ความถูกต้องและผาสุกย่อมเป็นไปไม่ได้ ทางที่เขาไปนั้นย่อมบิดเบี้ยวและหลงทางเป็นธรรมดา
หรือเราจะลองนึกดูว่าเราเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นจอมบงการ กำหนดทุกอย่างในชีวิต ต้องกินแบบนั้น ต้องออกกำลังกายแบบนี้ ต้องเรียนพิเศษทุกปี ต้องดีอย่างใจเขามั่นหมาย ดีไม่ดีจับคลุมถุงชนอีกด้วย พฤติกรรมอันนี้จะเป็นที่ชอบใจของเราไหม? เราจะยินดีกับชีวิตที่ถูกกดดันบีบคั้นด้วยความคาดหวังของคนอื่นไหม? ในเมื่อเราทุกคนต้องการมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีอิสระ เลือกได้เอง ตัดสินใจได้เอง กำหนดอนาคตได้เอง แต่คนส่วนมากกลับไปยินดีในการกำหนดชีวิตสัตว์อื่น ให้สัตว์อื่นเป็นไปในแบบที่ตนต้องการ เกิดเป็นหมูก็ต้องใช้กรรม ต้องอยู่อย่างหมู ต้องโตอย่างหมู (ที่ตนกำหนดไว้เองว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น) สุดท้ายต้องถูกฆ่าให้ตายให้คนที่อยากกิน เขาซื้อไปกิน ไอ้ที่เบี้ยว ๆ แบบนี้ก็ยังคิดกันไปได้ ทีตัวเองไม่อยากโดน แต่พอสัตว์อื่นโดนก็กลับเมินเฉย ดีไม่ดียังยินดีให้เป็นแบบนั้นอีก เพราะตนเองหลงสุขหลงเสพในเนื้อเขา
จริง ๆ แล้ว การแก้ปัญหาการโกงกิน ก็ด้วยหลักการง่าย ๆ คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราต้องเป็นสัตว์นั้น เราก็เป็นทุกข์ เราไม่อยากเป็นทุกข์ เราก็ไม่ยินดีให้เขาเป็นทุกข์เช่นกัน ดังนั้น เมื่อเรามีอำนาจ เราก็จะไม่ใช้อำนาจเงิน บารมี ฯลฯ ของเราเพื่อไปสนับสนุนการเบียดเบียน เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นผู้โกงกิน …โดยสุจริต (ตามความเห็นของเรา)
ที่สำคัญการโกงกินนี้มีผลระดับถึงขั้นฆ่ากันตาย ในโลกนี้จะมีอะไรร้ายแรงกว่าการฆ่ากันอีก เราเองก็ยังรักชีวิตเราที่สุด จะขายรถขายบ้านเพื่อรักษาชีวิตก็ยังทำกันได้ แม้สัตว์นั้นก็รักชีวิตของเขาเช่นกัน ดังนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์หรือผลผลิตอื่น ๆ ที่ได้มาจากการเบียดเบียนสัตว์ก็จะเป็นกรรมดีที่ส่งผลไปเพิ่มพลังแห่งการไม่เบียดเบียน แต่ถ้าเรายังยินดีกินเนื้อเขาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการได้เนื้อนั้นมาไม่สุจริต ก็ต้องเตรียมใจรับวิบากร้ายความทุกข์ยากด้วยความยินดีเช่นกัน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะยินดีรับทุกข์นั้น จะยกคำตรัสของพระพุทธเจ้ามาปิดท้าย ท่านตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.”
ดังนั้นคนเขลาก็ยังจะยินดีโกงกินกันอยู่เรื่อยไป และเข้าใจว่าสิ่งนั้นดี อร่อย มีคุณค่า ไม่บาป ไม่มีผลเสียต่อชีวิตตน ฯลฯ สุดท้ายพอวิบากกรรมซัด ก็ต้องเสร็จกันทุกรายไป นรกบนดินเลยแหละ เจ็บจริงทรมานจริง ทุกข์จริง ตายกันจริง ๆ ไปตามความเกี่ยวข้องของบาปที่ได้ร่วมทำมา
26.4.2562
ดิณห์ไอราวัณวัฒน์
วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?
วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?
ในสังคมเรานั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นของการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาว่าบาปหรือไม่บาป ซึ่งผู้ที่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าไม่บาป ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าบาป แท้จริงแล้วมันบาปหรือไม่ ในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์กัน
ก่อนจะเข้าบทวิเคราะห์ เราก็ต้องปรับสัญญาให้ตรงกันก่อนว่า “บาป” นั้นคืออะไร บาปกับความชั่วหรือสิ่งไม่ดีนั้นเหมือนกันไหม เราจะมากำหนดหมายคำว่าบาป กับคำว่าอกุศล เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเนื้อหาของบทความนี้
บาป นั้นหมายถึงกิเลส การสนองกิเลส การสะสมกิเลส การยั่วกิเลส การมัวเมาในกิเลสย่อมเป็นบาปทั้งนั้น ตรงข้ามกับ บุญ คือการชำระกิเลส เป็นตัวทำลายกิเลส
กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ จำแนกได้สามลักษณะใหญ่ๆ คือโลภ โกรธ หลง
อกุศล คือความชั่ว ความไม่ดี ความเบียดเบียน ตรงข้ามกับกุศล คือความดีงาม และอกุศลกรรมนั้นก็คือกรรมที่ให้ผลไปในทางลบ กรรมชั่ว กรรมดำอกุศลไม่ใช่บาป เป็นคนละอย่างกัน แต่การทำบาปสร้างอกุศล
บทนำในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น
การกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาปจริงหรือ? หลายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์มักจะมีความเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่บาป ด้วยตรรกะหรือการได้ยินได้ฟังเหตุผลใดก็ตามแต่ สิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความจริง
เราไม่พึงเชื่อเพราะเขากล่าวอ้างมา เพราะเขาพูดกันมา ทำกันมา เพราะการคิดเอาเอง เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นเหมือนกับที่ตนเข้าใจ เพราะเขาเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะเขาเป็นอาจารย์ของเรา ฯลฯ แต่พึงพิจารณาด้วยปัญญาว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงธรรมนั้น ถ้าเป็นอกุศลก็ละเว้นจากธรรมนั้นเสีย นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “กาลามสูตร” ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันความหลงมัวเมาในข้อมูล และป้องกันการติดภพหลงในความยึดมั่นถือมั่นและอื่นๆอีกมากมาย
อย่างที่เรารู้กันว่า ในสมัยนี้มีโรงฆ่าสัตว์มากมาย ธุรกิจค้าเนื้อสัตว์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมบ้านเรา ซึ่งจะมีสัตว์ที่ถูกบังคับ ถูกทำร้าย ถูกฆ่าทุกวันๆ ซึ่งมีองค์ประกอบในการทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วงที่ครบพร้อม คือรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต และพยายามฆ่าจนสัตว์นั้นตาย นั่นหมายถึงผิดบัญญัติของพุทธเต็มประตูอยู่แล้ว คงจะไม่มีชาวพุทธคนไหนกล้ากล่าวว่าการฆ่าสัตว์นั้นไม่เบียดเบียน ไม่ผิดศีล
การไม่ฆ่าสัตว์นั้นถือเป็นบทบัญญัติแรกของศาสนาพุทธ เป็นขั้นต่ำที่สุดของผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามหลักของพุทธพึงกระทำ เรียกว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีศีลข้อนี้ให้ได้ นี่เป็นเพียงศีลข้อแรกในศีล ๕ คือการงดเว้นการฆ่าสัตว์ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ยินดีในการฆ่า และชักชวนให้ผู้อื่นงดเว้นการฆ่า
ดังนั้นจะสรุปประเด็นนี้ไว้ก่อนเลยว่า แม้จะเรียกตนเองว่าชาวพุทธ ศรัทธาในศาสนาพุทธ เข้าวัดฟังธรรม แต่ถ้าศีล ๕ ยังถือปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่ามีความเป็นพุทธ เป็นเพียงผู้ที่ศรัทธาแต่ไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะไม่มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อกุศล ไม่สามารถแยกแยะดีชั่วได้ จึงไม่ยินดีในการเข้าถึงสิ่งที่ดี และไม่ละเว้นสิ่งที่เป็นภัย
แล้วทีนี้การฆ่าสัตว์นี้มันผิดทางพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ชาวพุทธเขาไม่ทำกัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติแล้วนำพาความเจริญมาให้ชีวิต มีแต่ความเสื่อมและอกุศลกรรม ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมหลีกเลี่ยงจากการฆ่า แม้ว่าจิตตนนั้นจะยังไม่สามารถทำลายความโกรธและอาฆาตได้ก็ตาม
บทวิเคราะห์ : เนื้อที่ถูกฆ่ามา กับการซื้อขายเนื้อสัตว์
เมื่อการฆ่าสัตว์นั้นผิดทางพุทธ เนื้อที่ถูกฆ่ามาย่อมเป็นเนื้อที่ผิดแนวทางของพุทธด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่เนื้อที่ได้มาด้วยการไม่เบียดเบียน แต่การจะได้มาต้องใช้การฆ่า นั่นหมายถึงเนื้อนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ เป็นของที่ถูกพรากมา เป็นของที่ขโมยมาจากสัตว์เหล่านั้น และที่สำคัญมันไม่ได้ตายเพื่อเราด้วยเจตนาของมันเอง แต่เขาฆ่ามันให้ตายเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากมัน
หลังจากได้เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว ก่อนจะได้เนื้อสัตว์มากินนั้น ต้องผ่านจุดคัดกรองที่เรียกว่า มิจฉาวณิชชา ๕ ท่านบัญญัติว่าชาวพุทธไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ ถ้าค้าขายก็ถือว่าผิด ปรับตกไปได้เลย ไม่ต้องคิดต่อว่าบาปหรือไม่บาป เพราะผิดพุทธมันไม่พ้นทุกข์อยู่แล้ว
บทวิเคราะห์ : กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา บาปหรือไม่?
ถึงแม้จะได้เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นมาฟรีๆ หรือเลี่ยงบาลีจนเข้าใจว่าตนเองซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ไม่ได้ฆ่าเอง จนได้เนื้อสัตว์นั้นมาก็ตาม ตรงนี้จะเป็นจุดวิเคราะห์ในเรื่อง “บาปหรือไม่” ถ้าบาปนั้นหมายถึงมีกิเลสเป็นองค์ประกอบร่วม กิเลสในที่นี้ที่จะระบุลงไปเลยคือความหลง (โมหะ) คือ การหลงยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา(ยอมรับการผิดศีลว่าดี เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่มีโทษ)ถ้ามีจิตเช่นนี้ จะสรุปลงไปเลยว่า “บาป”
เมื่อมีความรู้แน่ชัดแล้วว่า ในยุคสมัยนี้เนื้อสัตว์ใดก็ล้วนถูกฆ่ามาทั้งนั้น ชาวพุทธที่มีหิริโอตตัปปะ ย่อมสะดุ้งกลัวต่ออกุศลกรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นกรรมชั่ว คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เขาทำชั่ว ให้เขาฆ่าสัตว์ ให้เขาทำบาป ให้เขาทำผิดวิสัยของพุทธ
การสนับสนุนให้ผู้อื่นทำบาปและอกุศลกรรมย่อมไม่ใช่ลักษณะของมิตรที่ดี ชาวพุทธย่อมรักกันดูแลกันไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นทำบาป ย่อมตักเตือนและชี้นำกันไปสู่ทางเจริญ เพราะรู้ดีว่าผลแห่งบาปนั้นสร้างทุกข์ขนาดไหน ดังนั้นผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วย่อมไม่สนับสนุนให้คนได้ทำบาปนั้นๆต่อไป จึงไม่สามารถสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาได้ เพราะรู้ดีว่าการสนับสนุนด้วยการซื้อหรือรับเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น จะเป็นเหตุให้เขาต้องทำบาปนั้นต่อไป นั่นหมายถึงเจตนาในการสนับสนุนสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นคืออกุศลกรรมของเราด้วย
ซึ่ง ณ จุดนี้เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เรากำลังจะวางเส้นทางกรรมของเรา ว่าจะให้เป็นไปอย่างไร ทางเลือกมีชัดเจนอยู่แล้วคือกุศลหรืออกุศล เบียดเบียนหรือไม่เบียดเบียน ถ้าเราไม่มีกิเลสก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องเลือกที่จะไม่เบียดเบียนเพราะการเบียดเบียนผู้อื่นก็คือการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมไม่เลือกการเบียดเบียนหากสามารถหลีกเลี่ยงได้
กิเลสคือตัวแปรหลักในการทำให้คนไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ไม่สามารถแยกกุศลกับอกุศลออกได้ เพราะมีความหลง (โมหะ) เป็นเหตุ เมื่อมีความหลงในความเห็นนั้น ก็หมายถึงยังมีบาปอยู่ในสิ่งคนเหล่านั้นคิดและเข้าใจ
เพราะถ้าผู้ใดรู้ชัดว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเหตุให้ต้องเบียดเบียนสัตว์ และผลของกรรมนั้นเองจะสร้างทุกข์ให้ตนเองในท้ายที่สุด ผู้นั้นจะสามารถเข้าใจและสรุปได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอกุศล จึงเลือกที่จะละเว้นกรรมเหล่านั้น
แต่ด้วยความหลงในเนื้อสัตว์ เช่นหลงในรูป รส สัมผัส ฯลฯ หรือหลงไปจนทิฏฐิวิปลาส คือเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ทั้งที่มันไม่ดีหรือหลงไปจนกระทั่งเห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี ก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศลได้
เพราะจริงๆแล้วการกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้กระทบกับการฆ่าสัตว์โดยตรง เป็น demand & supply ที่แปรผันตามกันอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงการที่เรากินเนื้อสัตว์นั้นจะไปสนับสนุนการฆ่าสัตว์โดยตรง และยังจะไปสร้างความหลง ให้สังคมเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าถามว่ามันบาปตรงไหน มันก็บาปชัดๆกันตรงนี้แหละ คือทำให้คนหลงมัวเมาในความเห็นผิด เป็นความหลงที่หลอกกันซับซ้อนจนกลายเป็นความเข้าใจที่สุดแสนจะวิบัติไปแล้วว่า “กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่บาป”
หากจะสรุปว่า มันบาปตั้งแต่ตรงไหน ก็จะให้ความเห็นว่า บาปตั้งแต่มีความเห็นผิดแล้ว และคนที่มีความเห็นผิด ก็จะมีความคิดที่ผิด มีการกระทำที่ผิด เหตุเพราะถูกโมหะครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้นจึงทำให้บาปกันต่อหลายชั้นหลายมิติ ตั้งแต่หลงมัวเมาในเนื้อสัตว์ หลงว่าการฆ่าเพื่อกินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าคนอื่นฆ่ามาแล้วเราเอามากินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าผลกรรมนั้นไม่ถึงตน ฯลฯ
– – – – – – – – – – – – – – –
4.10.2558
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ
*ควรศึกษาเนื้อหาในบทความ “สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย” เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ (การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถี)
เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อละเว้นสิ่งที่จะสร้างทุกข์และวิบากบาป ที่จะมาสกัดกั้นไม่ให้ตัวเราเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริง เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ
เมื่อเราได้เรียนรู้จากวณิชชสูตรแล้วว่า ไม่ควรค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ ดังนั้นภารกิจต่อมาคือการปฏิบัติสู่บทบัญญัตินั้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะใช้การหักดิบได้ตั้งแต่แรก เราจึงควรศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณประโยชน์เหล่านั้น
การค้าที่ผิด นั้นคือมิจฉาวณิชชา การจะเข้าสู่สัมมาวณิชชาหรือการค้าขายที่ถูกได้นั้น ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนด้วยข้อกำหนด แต่เป็นการเปลี่ยนไปถึงจิตวิญญาณ เปลี่ยนจากจิตที่มีความเห็นในทางมิจฉาไปสู่สัมมาโดยลำดับ ลดความผิดลง เพิ่มความถูกต้องทีละก้าว ทีละก้าว จนมีความเห็นที่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแนบเนียนสนิท
การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถีในบทความนี้ เราจะใช้สัมมาอริยมรรคเป็นทางปฏิบัติในการละความมิจฉาในเรื่องการค้าขาย เฉพาะสองข้อนี้เป็นหลัก
1). สัมมาทิฏฐิ – คือการทำความเห็นให้ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เห็นเหตุนั้น เห็นวิธีดับทุกข์นั้น และเห็นวิธีปฏิบัตินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นด่านแรก เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก เป็นเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของเรือ การมีความเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าจะต้องหมดกิเลส ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นว่า การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ทำให้สัตว์ต้องเป็นทุกข์ การทำสิ่งที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือทางแห่งทุกข์ การเบียดเบียนคนอื่นคือการเบียดเบียนตนเอง เห็นลงไปถึงเหตุว่าความอยากและความหลงติดหลงยึดในเรื่องใดที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด แล้วจะดับมันอย่างไรจะทำเป็นลืมว่าเคยมีบัญญัตินี้หรือจะทำลายความเห็นผิดนี้
แม้จะยังมีความอยากซื้อขายอยู่ แต่ถ้ามีความเห็นไปในทางลด ละ เลิก ก็เรียกได้ว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว ในขั้นนี้แม้เราจะยังออกจากการค้าขายไม่ได้ แต่ให้มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นทางแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่มีความเห็นเช่นนี้หรือเห็นค้านแย้งไปในทิศทางตรงข้าม ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนี้
ถ้าทิฏฐิยังไม่ตรง ก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะปฏิบัติไปก็จะผิด จะมีทิศทางไปทางมิจฉามรรค จะเนิ่นช้า จะหลงทาง มีแต่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ดังนั้นจึงควรเน้นหนักไปที่ทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นดีเห็นงามในการเข้าถึงประโยชน์นี้ให้ได้ก่อน ให้มีฉันทะก่อน จึงค่อยปฏิบัติมรรคองค์อื่นๆต่อไป
2). สัมมาสังกัปปะ – คือการคิดพิจารณาที่จะทำลายความเห็นผิดที่มีอยู่ไปโดยลำดับ คิดเรื่องประโยชน์ของการไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ และคิดเรื่องโทษของการจมอยู่กับสิ่งนั้น คิดย้อนแย้งกับกิเลส เถียงกิเลส ไม่เอาตามกิเลส มันอยากจะซื้อก็ไม่ซื้อ ไม่รีบซื้อ หรือซื้อให้น้อยกว่าปกติ
3). สัมมาวาจา – คือการเจรจาสื่อสารสิ่งที่ถูกตรง ถ้าต้องพูดกันในประเด็นเหล่านี้ ก็ให้พูดเรื่องการเบียดเบียนเป็นโทษ ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นโทษอย่างไร ถ้าไม่ค้าขายจะเป็นประโยชน์อย่างไร พูดให้เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่พูดตามที่กิเลสสั่ง
4). สัมมากัมมันตะ – ทำกิจกรรมการงานที่ถูกตรง สิ่งแรกคือไม่ไปค้าขาย เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนซึ่งอยู่ในกรอบของศีลข้อ ๑ ,เว้นขาดจากการลักขโมย ไม่รับของที่เขาขโมยมา ไม่รับของโจร ไม่รับของที่เขาฆ่ามา และเว้นขาดจากการลุ่มหลงในกามคุณของสัตว์และเนื้อสัตว์ พิจารณาก่อนเสพ ไม่หลงไปในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสัตว์และเนื้อสัตว์นั้น
5). สัมมาอาชีวะ– คือไม่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายชีวิตสัตว์และเนื้อสัตว์ ถึงจะมีอาชีพนั้นอยู่ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ลดการค้าที่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์และเนื้อสัตว์ ปรับเปลี่ยนให้มีส่วนผิดน้อยลง และเพิ่มส่วนที่ถูกให้มากเรื่อยๆตามลำดับ หาอาชีพหรือรายได้เสริมอื่นทำ หรือหาช่องทางอื่นในการดำรงชีพ ละเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ไม่ล่อลวงให้คนอื่นหลงในสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่เอาลาภที่ได้จากการเกี่ยวข้องกับสัตว์และเนื้อสัตว์มาสร้างลาภอื่นๆเพิ่มเติมให้กับตน
6). สัมมาวายามะ – เพียรทำสิ่งที่ถูกตรง สิ่งใดที่ผิดก็อย่าทำเพิ่ม เพียรแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป เพียรทำสิ่งดีที่ยังทำไม่ได้ให้เจริญขึ้น และรักษากระบวนการของความเพียรเหล่านี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนความเพียรนี้เอง แม้สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ในตอนแรก เราก็เพียรล้างความเห็นผิดของเราไปโดยลำดับ เพียรออกจากสิ่งชั่ว เพียรเข้าหาสิ่งดี เพียรที่จะลดการเบียดเบียน เพียรพยายามลดความยึดมั่นถือมั่นที่จะก่อให้เกิดทุกข์
7). สัมมาสติ – มีสติในการระลึกรู้กิเลส รู้ว่ากิเลสเข้ามาเมื่อใด ความเห็นใดเป็นความเห็นของกิเลส ความคิดใดเป็นความคิดของกิเลส คำพูดใดเป็นคำพูดของกิเลส กิจกรรมการงานและอาชีพใดเป็นไปเพื่อเสริมกิเลสสร้างอกุศล และความเพียรใดไม่เป็นไปเพื่อลดล้างกิเลส ให้มีสติจับอาการของกิเลสให้ได้ โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม คือจับอาการของกิเลสที่เกิดได้ รู้สุขทุกข์ที่เกิดมานั้นเพราะจิตมีกิเลสตัวใดปะปน และใช้ธรรมที่เหมาะควรมาพิจารณากิเลสนั้นซ้ำๆย้ำๆ ใคร่ครวญ ทบทวนจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คือสร้างธรรมใหม่ขึ้นมาบนธรรมเดิม เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ไม่ปะปนไปด้วยกิเลส ใสสะอาดกว่าธรรมเดิมที่เคยมีโดยลำดับ
8). สัมมาสมาธิ – ความตั้งมั่นในมรรคทั้ง ๗ องค์นั่นแหละ คือสัมมาสมาธิของพุทธ คือทำมรรคทั้ง ๗ ด้วยความตั้งมั่น นั่นคือความเป็นสมาธิที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์
….เมื่อปฏิบัติดังนี้จะเกิดความเจริญขึ้นโดยลำดับ จะเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์มากขึ้น มีปัญญารู้หนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด มีความเห็นที่มีความชัดเจนในแนวทางการพ้นทุกข์มากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเองด้วยเหตุที่ปัญญานั้นเจริญขึ้น
เมื่อมรรคถูก ผลก็ถูก คือจะมีความเห็นไปในแนวทางที่เป็นข้าศึกต่อกิเลส เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติคือไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆมารบกวนจิตใจ
– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2558
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย
สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่ควรทำไว้ด้วยกันห้าข้อในวณิชชสูตร และสองในห้าข้อนั้นก็เกี่ยวพันกับชีวิตของสัตว์โดยตรง
การค้าขายสัตว์ (สัตตวณิชชา) และการค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำก็ไม่เรียกว่าเป็นทางของพุทธ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของพุทธ นั่นหมายความว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิจกรรมนอกพุทธ ไม่เกี่ยวกับความเป็นพุทธ เป็นทางแห่งมิจฉา ทางแห่งบาป ทางแห่งความหลงผิด ไม่เป็นไปเพื่อกุศล ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์
ชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในการขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรฝืน ไม่ควรต้าน แต่ก็ไม่ควรเชื่อในทันที ควรใช้ปัญญาพิจารณาตามสิ่งที่ท่านตรัสว่าเป็นประโยชน์จริงไหม? แล้วสิ่งใดเป็นโทษ? ในเมื่อท่านตรัสหนทางสู่การพ้นทุกข์ เราจึงควรมีความเห็นไปตามท่านหรือขัดแย้งกับท่าน ดังนั้นการที่เราจะไปยินดี ไปสนับสนุนให้คนขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นหมายถึงเรายอมรับในสิ่งที่ไม่สมควรนั้น เช่นเดียวกับการ รับของโจรทั่งที่รู้ว่าเป็นของที่ถูกปล้นมาขโมยมา
ในปัจจุบันเรารู้ได้โดยทั่วไปว่าชีวิตสัตว์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกซื้อขาย กลายเป็นเหมือนวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นการพยายามเข้าไปควบคุมชีวิตผู้อื่น ทั้งๆที่จริงแล้วหนึ่งชีวิตตีค่าไม่ได้ เราไม่ควรมีสิทธิ์ในการควบคุมชีวิตสัตว์ใดเลย ดังนั้นการค้าขายชีวิตสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดูถูกคุณค่าของชีวิต การพยายามสร้างสิทธิ์อันชอบธรรม ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ใดๆเลยเหตุนั้นเพราะความหลงว่าตนเป็นผู้อยู่เหนือกว่า จึงมัวเมาในอำนาจลวงโลกที่ตนเองสร้างขึ้นมา สร้างความถูกต้องในการรังแกสัตว์อื่น ให้สามารถเบียดเบียนสัตว์อื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด
ชาวพุทธย่อมรังเกียจการเบียดเบียนและการฆ่าเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่ขายกันในตลาดทุกวันนี้ เป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยง ถูกจองจำ ถูกบังคับ และถูกฆ่ามา เราจึงไม่ควรยินดีในเนื้อสัตว์เหล่านั้น อีกทั้งการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นยังเป็นการค้าที่ผิดชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีที่มาอย่างไรก็ไม่ควรซื้อขาย เพราะถึงจะไปเจอเนื้อสัตว์ที่มันตายเอง กินได้โดยไม่ผิดบาป แต่เมื่อนำมาขาย ให้ผู้คนหลงติดหลงยึดในรสชาติ แล้วคนขายเกิดจิตโลภอยากได้เงิน แต่สัตว์นั้นก็ไม่ได้ตายเองตามธรรมชาติทุกวัน จึงทำให้คนโลภเหล่านั้นทิ้งศีลเพื่อถือเงิน เอาเงินเป็นหลัก เอาศีลเป็นรอง ยอมฆ่าแต่ไม่ยอมจน ยอมบาปเพียงเพราะหวังเสพสุขลวงจากความร่ำรวยเติบโตจนเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างในทุกวันนี้
ดังนั้นการที่เราจะไปซื้อสัตว์เป็น ซากสัตว์ตายหรือเนื้อสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาเสียเลย เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้อื่นหลงมัวเมาในบาปนั้น เป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์ และที่แน่ๆ คือสนับสนุนให้ผู้อื่นประพฤติธรรมผิดทาง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเรามีความเห็นผิดด้วยเช่นกัน ผู้เห็นผิดก็ย่อมหลงผิดไปตามๆกันไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมของผู้เห็นผิดซึ่งจะต้องหลงผิดเป็นเรื่องธรรมดา
การค้าขายเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในตลาด แต่ยังรวมไปถึงร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ด้วย แม้จะขายเป็นเนื้อสดหรือเนื้อปรุงสุกก็อยู่ในขอบเขตของการค้าขายเนื้อสัตว์ทั้งสิ้น ดังนั้นร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ในปัจจุบันจึงเป็นการค้าที่ผิด(มิจฉาวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์และเมนูเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ คือไม่มีความเป็นบุญและกุศลใดๆในวิสัยของพุทธ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของศาสนาพุทธ เป็นเนื้อนอกรีต เมื่อเนื้อนั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ ไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะซื้อมา หรือจะรับต่อจากเขามา มันก็เป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่นอกพุทธอยู่ดี
ในบทที่ว่าด้วยความเสื่อมของชาวพุทธ(หานิยสูตร) มีข้อหนึ่งได้กล่าวไว้ถึง “การแสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนาพุทธคือความเสื่อมของชาวพุทธ” นั่นหมายถึง “คนที่เห็นผิดจะพยายามเอาสิ่งที่อยู่นอกพุทธ มาทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นกุศล นั้นเป็นความเสื่อม” เช่นการเอาเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ซึ่งเป็นเนื้อนอกพุทธ ไปทำอาหารใส่บาตรพระ ผิดตั้งแต่คนฆ่า คนขาย คนซื้อ และเอาไปใส่บาตรพระ เป็นการทำบุญได้บาป เพราะเอาสิ่งที่ไม่ควร เอาเนื้อที่เขาฆ่ามา เนื้อที่ควรรังเกียจ ไปให้สาวกของพระพุทธเจ้าฉัน (ชีวกสูตร) แล้วหวังผลบุญกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิด เป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ เป็นการทำบุญที่ผิดหลักพุทธ เป็นการทำบุญได้บาป ซึ่งเป็นความเสื่อมของชาวพุทธที่เห็นได้ในปัจจุบันนั่นเอง
เพียงแค่ข้อธรรมสองข้อจากวณิชชสูตร คือ การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ชาวพุทธควรทำ ก็เพียงพอจะตัดเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวันของชาวพุทธออกไปได้มากกว่าครึ่งแล้ว เราซื้อสัตว์มาเลี้ยงก็ไม่ได้ ฆ่ากินเองก็ไม่ฆ่า ส่วนจะซื้อเนื้อสัตว์ก็ทำไม่ได้อีก ซื้ออาหารที่มุ่งเน้นการขายเนื้อสัตว์ก็ไม่ถูกธรรมอีก เพราะเราไปซื้อ เขาก็ขาย เมื่อมีการค้าขายก็เรียกได้ว่าผิดหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน จะเลี่ยงบาลีอย่างไรก็คงยากจะหนีพ้น และมันก็สนับสนุนการกระทำที่ผิดไปจากหลักของพุทธอีก แล้วทีนี้จะหาเนื้อสัตว์มาจากไหน มันไม่มีให้กินหรอก ที่กินกันอยู่ทุกวันนี่มันเนื้อนอกพุทธทั้งนั้น เนื้อบาปทั้งนั้น เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ถึงจะหาเหตุผล หาข้ออ้าง พยายามบิดเบือนพระไตรปิฎก พยายามแปลความ ตีความเข้าข้างตน ให้ได้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามที่ต้องการ แต่สุดท้ายมันก็จะผิดไปจากธรรมะอยู่ดี
ดังนั้นผู้ที่พยายามกินเนื้อสัตว์ทั้งที่มีข้อธรรมะต่างๆ เป็นแนวสกัดขวางไม่ให้หาเนื้อสัตว์กินได้ง่ายๆ แต่ก็ยังจะกิน ยังหามากิน ยังเถียงเพื่อให้ได้กิน ยังหาเหตุผลมากิน ก็เป็นเพียงความหลงผิดที่ผลักดันให้ทำเช่นนั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น การที่พวกเขาเหล่านั้นจะถูกกล่าวหา ถูกข่มขี่ ถูกประณามว่าเป็นผู้เบียดเบียน ย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเพราะพวกเขายังต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อบำเรอตน บำเรอสังขารตน หรือบำเรอกิเลสตนอยู่เป็นนิจ
ผู้ที่ปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ ย่อมไม่ยินดีในการผิดศีล ผิดธรรม ผิดวินัย ใช่ว่าจะมีคนที่ฆ่าสัตว์นั้นมาแล้ว มีคนที่เอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นปรุงแต่งเป็นอาหารให้เรา แล้วเราจะต้องยินดีรับ เพราะเรารู้อยู่เต็มอกว่านี้คือเนื้อที่เขาฆ่ามา สัตว์ถูกพรากชีวิตมา เราย่อมรังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ดั้งนั้นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะจึงไม่สามารถรู้สึกยินดีกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้ หากจะมีผู้ที่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็คงจะไม่ใช่เรื่องของพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ
แนะนำบทความเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมที่ ” สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ “
– – – – – – – – – – – – – – –
8.8.2558