Tag: ผูกพัน

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

August 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,310 views 0

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

เรากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม?

ปัญหา: คู่รักหลายคู่ที่แต่งงานมีลูกด้วยกันแล้วเกิดมีปัญหาถึงขั้นหย่าร้าง ต่อมาฝ่ายที่ขอหย่าก็ไปมีครอบครัวใหม่ แต่สุดท้ายอยู่กินกับคนใหม่ได้ไม่นานก็อยากจะกลับมาสู่ครอบครัวเดิม อยากให้ช่วยไขประเด็นทางธรรม

ตอบ: ในเรื่องนี้จะแสดงความคิดเห็นโดยแบ่งเป็นสามช่วงนะครับ ช่วงแรกคือการแต่งงานมีลูกด้วยกัน ช่วงที่สองคือหย่าร้าง ช่วงที่สามคือคนขอหย่าไปมีครอบครัวใหม่และสุดท้ายก็อยากจะกลับมา

1). คนที่เขาหลงรักกัน ขนาดถึงขั้นที่ว่าจะแต่งงานกันให้ได้ นี่เป็นผลของกิเลสที่สะสมมาจนโต มองเห็นแต่ข้อดีของอีกฝ่าย ไม่เห็นข้อเสียเลย จึงพร้อมที่จะยึดมั่นถือมั่น ผูกพันกันและกัน ต่างคนต่างให้สัญญาว่าจะรักและดูแลกันตลอดไป จนกระทั่งมีลูกด้วยเหตุอันใดก็ตาม อาจจะใช้เป็นหลักประกันของครอบครัว อาจจะมีความหลงในการมีลูก หรืออื่นๆ เมื่อมีลูกเกิดขึ้นมา หลายครอบครัวก็มักจะเริ่มแกว่ง เริ่มไม่มั่นคง เริ่มมีปัญหา เพราะบางครั้งคนที่แต่งงานก็เพราะรักและหลงในอีกฝ่าย แต่ไม่ได้หลงในลูกที่เกิดมา

ซึ่งโดยหน้าที่แล้วฝ่ายภรรยาก็ต้องแบ่งน้ำหนักความรักจากสามีมาลงที่ลูก ต้องใส่ใจลูกมากขึ้น ในขณะที่สามีได้รับเวลาและการดูแลลดน้อยลง ถ้าสามีรักและหลงลูกด้วยก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าสามีเป็นคนหลงตัวเอง อยากให้คนอื่นมาดูแลตัวเอง พอภรรยามีลูกก็มักจะบกพร่องในหน้าที่บางประการ จึงทำให้สามีบางคนนั้นไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เพราะไม่ได้เสพในสิ่งที่ตนอยากจะเสพ (คำว่าเสพในที่นี้มีความหมายกว้างตั้งแต่ต้องการดูแลเอาใจใส่ การยิ้มให้ การแต่งตัวให้ดูดี การพูดคำหวาน จนไปถึงเรื่องการสมสู่) มักจะเกิดกับคนที่หลงในตัวของภรรยามากๆ อยากได้อยากเสพภรรยา จนไม่อยากให้ใครหรือแม้แต่ลูกแย่งโอกาสนี้ไป

ซึ่งในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้กับผู้ชายเช่นกัน บางครั้งผู้ชายอยากมีลูกมากกว่าอยากมีภรรยา เมื่อมีลูกจึงให้น้ำหนักไปที่ลูกมากกว่า รักและดูแลลูกมากกว่าจนเป็นเหตุให้ภรรยาน้อยใจได้

2). ปัญหาในครอบครัวถึงขั้นหย่าร้างนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เรื่องเล็กจนไปถึงเรื่องใหญ่ แต่สาระของปัญหาเหล่านั้นเกิดจากความไม่ยอมกัน การเอาชนะ การยึดชั่วและยึดดีทั้งหลาย รวมๆแล้วก็เรียกว่าเกิดจากกิเลส

ในตอนแรกคนสองคนมาอยู่ด้วยกัน อยากเสพกันและกันก็มักจะดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ได้เสพ ซึ่งพอเสพกันบ่อยครั้งเข้าก็มักจะเริ่มเบื่อ เริ่มเคยชินกับสิ่งที่เคยรักเคยหลง ซึ่งการดูแลเอาใจก็มักจะเสื่อมไปตามธรรมชาติเมื่อได้เสพจนเบื่อ และเรื่องเหล่านี้เป็นสภาวะที่เกิดโดยทั่วไป ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้

เมื่อความอยากเอาใจหมดไป ในขณะที่ความคาดหวังที่จะได้รับการเอาใจกลับเพิ่มมากขึ้น ไม่มีคู่รักคู่ไหนที่ตั้งใจแต่งงานกันโดยที่คิดว่ารักนั้นจะเสื่อมลงหลังจากแต่งงาน มีแต่คนที่คิดว่าจะได้รัก ได้เสพ ได้สุขมากขึ้นถ้าเขาและเธอแต่งงาน ด้วยเหตุผลนั้นจึงเกิดการแต่งงานขึ้นมา

ดังนั้นเมื่อความอยากเสพได้จางคลายไป พฤติกรรมทั้งหลายที่เคยสร้างเพื่อให้ได้เสพ เช่น คำหวาน ของขวัญ การดูแลเอาใจใส่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำเหมือนเดิมอีกต่อไป จึงเกิดสภาพของการเปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนสมัยจีบกันหรือแต่งงานกันใหม่ๆ ซึ่งถ้าอีกฝ่ายเข้าใจและทำใจยอมรับได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ายังมีใครที่ติดสุขอยู่ ยังอยากเสพสุขอยู่ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้ต้องการจะสนองให้อีกต่อไป นั่นคือเหตุหนึ่งของความขุ่นเขืองใจในครอบครัว

ซึ่งสามารถพัฒนาให้รุนแรงลุกลามขึ้นไปได้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดไม่พอใจในการได้รับการสนองกิเลส ก็อาจจะไปแสวงหาสิ่งใหม่มาเสพ หรือไม่ยินดีทนอยู่กับสภาพที่ไม่ได้เสพสมใจ จึงเกิดการทะเลาะหรือหย่าร้างขึ้น

3). เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงมีความอยากเสพ ยังคงแสวงหา เขาก็จะพยายามหาสิ่งที่เขาต้องการมาเสพ ซึ่งอาจจะเป็นคนรักใหม่ ชู้รัก หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่จะมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ในโจทย์นี้ก็จะเป็นแต่งงานใหม่ ซึ่งการแต่งงานก็จะวนไปเช่นเดียวกับข้อหนึ่ง คือหวังว่าตนเองจะได้เสพสุข จะมีคนมาคอยสนองกิเลส

แต่เมื่อแต่งงานไปก็พบว่ามันไม่ได้สุขอย่างใจฝัน มันไม่ได้เสพอย่างที่คาดหวังไว้ จึงเกิดการเปรียบเทียบว่าเสพอันไหนจะสุขกว่า อยู่กับคนเก่าหรือคนใหม่ฉันจะเป็นสุขกว่า เมื่อตกลงใจได้ว่าของเก่าดีกว่า จึงอยากจะกลับไปเสพของเก่า เพราะในสภาพที่เป็นอยู่นั้นคือสภาพที่ทุกข์กว่าเก่า อาจเพราะไม่ได้เสพสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างที่คิดฝันไว้และยังเข้าใจว่ามีทางเลือกที่ดีกว่านั่นคือเลิกกับคนใหม่แล้วกลับไปหาคนเก่า

เพราะได้จำไว้ว่าคู่ครองคนเก่าดูแลเท่านี้ สมมุติว่า ดี 5 เสีย 3 ส่วนต่างอยู่ที่ +2 แต่คนใหม่ดี 7 เสีย 8 ส่วนต่างอยู่ที่ -1 แม้ตอนแรกจะดูเหมือนคนใหม่ดี แต่ไปๆมาๆกลับขาดทุน เป็นทุกข์ เมื่อเกิดสภาพดังนั้นจึงเข้ากับคำเปรียบเปรยที่ว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” เพราะแม้จะสุขน้อยแต่ก็ยังมีสุขให้ได้เสพบ้าง ไม่เหมือนกับคนใหม่ที่มีแต่ทุกข์

ทีนี้จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม เมื่อเขากลับมาอีกฝ่ายจะยอมรับไหม ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดี เขาออกจากชีวิตเราไปตั้งแต่ครั้งก่อนนั้นก็ได้ใช้เวรใช้กรรมกันไปแล้ว ไม่ต้องผูกพันกันแล้ว การกระทำของคนที่ออกจากชีวิตไปแล้วมีคนใหม่นั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าเขายังเสพไม่พอ และการที่เขากลับมานั่นก็หมายถึงแม้เขาจะได้เสพคนใหม่ เขาก็ยังสุขไม่พอ จึงต้องกลับมาหาเรา การที่เขากลับมานี่อาจจะเพราะเขาไม่มีอะไรให้เสพหรือสำนึกผิดก็ไม่มีใครรู้ แต่โดยมากแล้วก็จะแสดงบทสำนึกผิดกันเป็นหลักไว้ก่อน เพราะคนอยากเสพก็ต้องป้อนคำหวาน คำสัญญา เหมือนในสมัยจีบกันก่อนแต่งงาน

คนที่ปลดบ่วงกรรมไปแล้ว เอาคนไม่ดีออกจากชีวิตไปได้แล้ว แต่กลับเลือกคนที่เคยทำร้าย คนที่เคยทิ้งไปเข้ามาในชีวิตใหม่ ก็ต้องยอมรับกรรมกันไป เพราะว่ากิเลสของเรานั้นยังเยอะ เราอาจจะยังอยากเสพเขาอยู่ จึงรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ให้เขาได้เข้ามาทำร้ายร่างกายและจิตใจเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาทำบาป สร้างเวรสร้างกรรมกับเราอีกครั้ง ให้เข้าได้เข้ามาผูกภพผูกชาติกับเราอีกครั้ง ดังนั้นการเสียใจและความผิดหวังก็คงต้องดำเนินต่อไป เพราะได้ผูกกรรมใหม่ขึ้นมาแล้ว

การที่อดีตคู่รักจะกลับมาในชีวิตนั้น ถ้าจิตไม่แข็งแกร่งก็ไม่ควรจะอยู่ใกล้ ควรมีระยะที่เหมาะสม ถ้ามีลูกก็ให้ดูแลไปตามหน้าที่ แต่อย่าให้เข้ามาใกล้จนความสัมพันธ์นั้นเกินเลยไปกว่าเพื่อน เพราะคนที่เคยเลิกกันไปแล้ว จะทำตัวให้เหมือนเดิมก็ไม่ควร เพราะถ้าเขาเป็นคนดีมีศีลธรรมจริง ก็คงจะไม่มีคำว่า “อดีตคู่รัก” คงยอมอดทน ยอมให้อภัย ยอมทำใจ แล้วรักษาความสัมพันธ์กันไปแม้ว่าใจนั้นจะไม่อยากเสพแล้วก็ตาม ด้วยสัญญา ด้วยหน้าที่ ด้วยสัจจะ จึงจะต้องยอมทนอยู่ ดังคำว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” (นัยหนึ่งของศีลข้อ ๔) หมายถึงว่า แม้จะหลงมาแต่งงานแล้วพบว่านั่นคือนรกแท้ๆก็จะไม่หนีไปจากนรกนั้น ยอมรับสภาพ ยอมรักษาสัจจะ รักษาคำมั่นสัญญา ดีกว่าจะยอมหนีทุกข์ไปเสพสุขลวงใหม่ ซึ่งจะสร้างกรรมชั่วใหม่ที่จะต้องมาคอยรับผลเก่าสร้างเหตุใหม่ให้วนเวียนทุกข์กันอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

17.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,889 views 0

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

ประโยคหนึ่งจากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 40 เป็นประโยคสั้นๆที่สรุปรวมความทรมานและเจ็บปวดที่ยาวนานมากกว่า 4 อสงไขย . . .

ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ที่พระนางยโสธราได้ผูกพันกับพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นการผูกกันด้วยความดีงาม ความเสียสละอย่างที่สุด แต่ก็ยังเป็นเหตุให้ต้องทนทุกข์ ทรมานและเจ็บปวดอยู่

นับประสาอะไรกับคนทั่วไปที่ผูกกันด้วยกิเลส พันกันด้วยตัณหา เหนี่ยวรั้งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีความทุกข์ เป็นไปไม่ได้เลย

ทางที่ทุกข์น้อยที่สุดก็คือไม่ต้องผูกพันกันด้วยความเป็นคู่รัก อย่าพยายามหาข้ออ้างให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ เพราะข้ออ้างเหล่านั้นนั่นแหละคือข้ออ้างของกิเลส

คู่ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่คู่รัก แต่เป็นคู่ที่จะเข้ามาเพื่อให้เรียนรู้ ทุกเหลี่ยมทุกมุมของทุกข์ ทุกอย่างในจักรวาลนี้ โดนทิ้งโดนพรากไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เป็นเหตุให้อีกคนต้องเสื่อมและตายไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

ไม่ใช่คู่ที่พากันเสพสุขอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่จะมาบำเพ็ญบารมีคู่กับพระพุทธเจ้าต้องยอมทรมานและเจ็บปวดอย่างที่สุด ไม่มีธรรมใดงอกงามบนความสุข มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่จะทำให้ธรรมะบังเกิด

ความรัก…ไม่จำเป็นต้อง…

May 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 9,177 views 1

ความรัก...ไม่จำเป็นต้อง...

ความรัก…

ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟน

ไม่จำเป็นต้องแต่งงาน

ไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัว

ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขใดๆ

…เพียงเพื่อจะได้ครอบครอง

= = = = = = = = = = =

คนที่รักกันจริงนั้น ย่อมไม่คิดจะผูกพัน

ด้วยเงื่อนไขที่ผูกมัดเช่น แฟน หรือครอบครัว

แม้จะเป็นคนที่รักแสนรักปานใด

ก็จะไม่ยอมทำบาปและสร้างอกุศล

เพียงเพื่อได้เสพสุขที่ลวงโลกเหล่านั้น

…แต่จะคงไว้ซึ่งความเป็นมิตรที่ดี

เป็นผู้แบ่งปัน เกื้อกูล ดูแล ตักเตือน ฯลฯ

เพื่อนำพาคนที่รักนั้นไปสู่ความเจริญฝ่ายเดียว

…ผู้ที่เข้าไปผูกพันนั้น คงจะหนีไม่พ้นเหตุแห่งกิเลส

ด้วยความหลงในโลกียรส หลงในการสมสู่

หลงในการครอบครอง อยากได้เป็นเจ้าของ

หากเว้นขาดจากเรื่องเหล่านี้แล้ว

การคบหากันเป็นแฟน หรือแต่งงาน

ก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกเลยในชีวิต

ซึ่งจะคงเหลือไว้แต่ความเป็นมิตรที่ดีเท่านั้น

= = = = = = = = = = =

บทขยาย: ในบทนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ความรักที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องครอบครองด้วยสถานะใดๆที่เกินเพื่อนเลย หากเราไม่ต้องการครอบครองเขา ไม่สมสู่เขา ไม่หลงเสพสุขในกามคุณ โลกธรรม อัตตาทั้งหลายที่เขามี เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปมีความสัมพันธ์ให้เกินเพื่อน

คนที่พยายามให้ความสัมพันธ์นั้นเกินเพื่อนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร มันก็เป็นเพียงข้ออ้างของกิเลสที่ปั้นแต่งมาเพื่อให้ตนได้เสพสมใจเท่านั้น

คนที่หลงไปแต่งงานแล้ว ความเจริญสูงสุดที่จะมีได้ก็คือการเว้นขาดจากการสมสู่ สุดท้ายก็จะกลายเป็นการคบหาแบบเพื่อนที่ดีต่อกัน ซึ่งการมีความสัมพันธ์ที่ดีนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างวิบากบาป สะสมกิเลสรายทาง ให้ต้องมารับกรรมชั่วกันทีหลัง เพียงแค่คงสถานะมิตรที่มีไว้ตั้งแต่แรกให้ยั่งยืน สุดท้ายก็จะมาบรรจบที่เดียวกันกับคู่รักที่เจริญแล้วทุกคู่

แต่คนที่คงความเป็นโสดและเป็นมิตรที่ดีจะเจริญได้มากกว่ามากนัก เพราะไม่ต้องมารับวิบากบาปจากความชั่วที่ทำมาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการบำเรอกิเลสของกันและกัน การสมสู่กันและกัน การระบายโทสะแก่กันและกัน จนกระทั่งการพากันไปหลงในกิเลสต่างๆด้วยกัน พวกเขาก็ไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้นทีหลัง

นั่นหมายถึงเราสามารถพาคนที่เรารักเจริญได้มากกว่าการที่ไปคบหากันเป็นแฟนหรือแต่งงานกัน เพราะไม่ต้องมีวิบากบาปใดมากั้นขวางไม่ให้ไปสู่ความเจริญ นี้เองคือความรักที่มากกว่า เกื้อกูลมากกว่า มีปัญญามากกว่า เห็นแก่ตัวน้อยกว่า เสื่อมน้อยกว่า และทุกข์น้อยกว่าคนที่หลงไปคบหากันเป็นแฟนหรือแต่งงานกันมากนัก

– – – – – – – – – – – – – – –

2.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมต้องรักเธอ

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 12,314 views 8

ทำไมต้องรักเธอ

ทำไมต้องรักเธอ

… กรรมใดหนอที่พาให้เราต้องมาผูกพัน

หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องชอบคนนี้ ทำไมต้องรักคนนี้ ทำไมจึงต้องยอมให้กับคนนี้ กับคนอื่นเราก็ไม่เคยยอมขนาดนี้ ไม่เคยเผลอพลาดไปขนาดนี้ ต้องเป็นคนนี้เท่านั้นที่เราจะยอมให้ทำกับเราได้ขนาดนี้

เราได้เห็นเหตุแห่งความรักความหลงใหลกันมาแล้วในบทความก่อน ซึ่งแน่นอนว่าคนมีกิเลสก็ต้องพุ่งเข้าไปหาความรักเสมอ แสวงหาคู่หรือแสดงท่าทีพร้อมจะมีคู่เสมอ กิเลสนี่มันจะพยายามหามาเสพให้ได้ ซึ่งก็ได้ขยายกันมามากแล้ว

ในบทความนี้เราจะกล่าวกันในเรื่องของ “กรรมและผลของกรรม” เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย เป็นเรื่องอจินไตย หลายคนมักจะพบว่าเราไปชอบคนที่เราไม่อยากชอบ เราไปรักคนที่ไม่ควรรัก เราไปหลงกับคนที่ไม่น่าหลง แม้ว่าเขาจะทำไม่ดีกับเราสักเท่าไร จะทิ้งเราไปนานแค่ไหน ทำไมเรายังต้องพลาดพลั้งกลับไปรักเขาทุกที เรามาลองไขรายละเอียดในเรื่องผลกรรมให้พอเห็นภาพกว้างๆกันดูว่าทำไมหนอ ทำไมต้องรักเธอ…

1). กรรมกิเลสในชาตินี้

กรรมนั้นคือการกระทำ ส่วนกรรมที่ไม่ดีนั้นเกิดมาจากอะไร ก็เกิดมาจากการที่เรามีกิเลส กิเลสก็สั่งให้เราไปทำกรรมแบบนั้นแบบนี้ ในหัวข้อก็จะชี้ให้เห็นถึงผลว่าทำไมเราจึงต้องรักต้องหลง จากเหตุแห่งกรรมกิเลสที่เราทำมาเอง

1.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ … เราปรุงแต่งกิเลสไว้มากว่า คู่ในฝันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ พอมาเจอเข้าจริงๆ ก็จะพบว่าใช่เลย ซึ่งมันก็เป็นผลกรรมที่เราปรุงแต่งลักษณะคู่ในฝันตามกิเลสขึ้นมาเอง

1.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ… ผลของการมีกิเลสคืออยากเสพอย่างไม่จบไม่สิ้น ความหลงนั้นเกิดขึ้นเพราะเราเข้าใจว่า เขาจะสามารถบันดาลสุขให้เราเสพได้ตลอดไป เราจึงจมอยู่กับความหลง เป็นผลกรรมที่เราต้องรับเพราะเรามีกิเลส

1.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่คบหากันมานั้นก็จะร่วมกันบำรุงบำเรอกิเลสกันมาจนเสพติดรสสุขจากเสพเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เขาทิ้งเราไปมีคนอื่น แต่สุดท้ายเขากลับมาง้อเรา แม้ก่อนหน้านั้นเราจะทำใจแข็ง คิดไปว่าฉันจะไม่มีวันกลับไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังกลับไปจนได้ เหตุนั้นเพราะเรายังติดรสสุขเดิมๆอยู่ เช่นการดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ

จะขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา คือเรื่องการสมสู่สมมุติว่าเราเคยมีคู่และสมสู่กันจนติดรสสุข ที่นี้เขาทิ้งเราไปแล้วด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่วันหนึ่งเขากลับมา ตอนแรกเราก็ใจแข็งนะ แต่สุดท้ายก็ยอมให้เขาเหมือนเดิม เหมือนกับคำที่เขาว่า “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” , “ถ่านไฟเก่า” ทั้งนี้ที่ยอมเพราะติดรสสุขของการสมสู่ กิเลสเรามาก เราเลยต้องรับผลกรรมจากกิเลสคือต้องยอมเขาไปเรื่อยๆ เพราะลึกๆเราก็ยังอยากเสพเขาอยู่เช่นกัน

และความกลัวเหงาก็เป็นอีกสาเหตุ ความพร่องในใจของคนจนต้องหาใครมาเติมตลอดเวลา มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะหาคนใหม่มาเติมเต็มในทันที ซึ่งถ้าคนเก่ากลับมาก็จะง่ายกว่า แต่ในประเด็นของความเหงาก็ไม่แน่ว่าจะทำให้กลับไปคบเสมอไป เพราะบางครั้งความทุกข์มันมากกว่าความเหงา หลายคนจึงสามารถยอมตัดใจได้แม้ว่าจะต้องทนเหงา ดังนั้นความเหงาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างน้อยแต่ก็ยังมีผลอยู่ เพราะความเหงานี่ไม่จำเป็นต้องให้คนเดิมมาสนองเสมอไป อาจจะเป็นคนใหม่ หรือใช้เพื่อน ครอบครัว กิจกรรมใดๆมาสนองความเหงาก็สามารถทำได้

…สรุปในหัวข้อ “กรรมกิเลส” นี้ก็หมายถึงกรรมใหม่ที่ทำกันในชาตินี้ในชีวิตนี้นี่แหละ ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนมากมายนัก เพราะมีหลักฐานที่เห็นได้ด้วยตา รับรู้ได้ด้วยใจ เป็นของใหม่ที่มีหลักฐานให้สืบสาวราวเรื่องให้เห็นผลของกรรมที่ทำในชาตินี้

คือถ้าเราขุดค้นกิเลสของเราดีๆ ค้นไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไปที่เหตุแห่งทุกข์แท้ๆ ก็จะสามารถเจอกับกิเลสตัวการที่สร้างกรรมให้เราต้องหลงรัก ปักใจ ไม่ยอมปล่อยยอมวาง แม้จะโดนทำร้ายก็ยังยอมให้เขาอยู่เรื่อยไปได้

2). กรรมเก่า

มาถึงเนื้อหาจริงๆของบทความนี้กันเสียที สิ่งที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนยากที่จะขุดค้นหาสาเหตุลงไปได้นั้นคือกรรมเก่า

กรรมเก่าในที่นี้หมายถึงกรรมที่สะสมมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ ที่สืบสาวราวเรื่องกันไม่ได้ในชาตินี้ นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าไปทำกรรมนั้นไว้ตอนไหน เราก็จะยกไว้ให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า และกรรมเก่านี่เองเป็นพลังลึกลับที่ผลักดันให้ต้องไปรัก ไปหลง ยอมให้อภัยทุกครั้งแม้เขาจะทำผิด โดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกิเลสที่มีในชาตินี้เลยก็เป็นได้

ผลของกรรมหรือวิบากกรรมนั้น เป็นผลจากที่เราเคยไปทำกรรมไว้ในชาติใดชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เรามีกรรมจากกิเลสในชาตินี้ ผลกรรมก็จะส่งผลในชาตินี้และชาติต่อไปอีกเป็นส่วนๆ ดังนั้นในชาตินี้เราก็ต้องรับวิบากกรรมของเราที่เคยทำมาในชาติก่อนๆด้วยเช่นกัน วิบากกรรมนี้อาจจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำกรรมด้านใดมามาก

2.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ …วิบากกรรมเก่านั้นจะส่งผลเหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดสิ่งที่คู่ควรกับกรรมของเรามาให้เราเจอ เราจะไม่สามารถผลักไสหรือป้องกันได้ ต้องรับผลอย่างเดียวเท่านั้น ดังเช่นอาการหลงชอบตั้งแต่แรกเจอโดยไม่มีเหตุผล มีความรู้สึกแปลกประหลาดต่างจากคนอื่น

เราอาจจะเคยพบคนหน้าตาดี นิสัยดี ฐานะดี ฯลฯ แต่กลับรู้สึกไม่เหมือนพบกับคนคนนี้ วิบากกรรมจะยิงผลเข้ามาที่ใจตรงๆ โดยไม่สามารถป้องกันได้ด้วยสติ เพราะวิบากกรรมมันจะมาเหนือเมฆเสมอ มาเหนือกว่ากำลังสติปัญญาของเราเสมอ มันจะหลงของมันไปเองตั้งแต่แรก ส่วนจะสามารถรู้ตัวทีหลังได้นั้นก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าตราบใดที่วิบากกรรมยังส่งผลไม่หมด ก็จะไม่สามารถหนีได้ จะต้องพบกับความรักความหลงที่ไม่มีเหตุผลแบบนี้จนกว่าผลของกรรมจะสิ้นสุด

ยิ่งคนที่ปฏิบัติธรรมมาก มีภูมิธรรมสูง เวลาวิบากกรรมขั่วมาก็จะรุนแรงกว่าชาวบ้านทั่วไป เพราะกรรมชั่วนั้นมีหน้าที่หนึ่งคือกระแทกให้เกิดทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์จึงค้นหาเหตุแห่งทุกข์ จนศึกษาการดับทุกข์ และดับทุกข์ด้วยวิถีทางดับทุกข์ที่ถูกตรง ดังนั้นคนที่มีกำลังสติมากๆ ผลกรรมที่บางเบาอาจจะไม่สามารถทะลุกำแพงสติปัญญาเข้ามาทำให้ทุกข์ได้ ดังนั้นเมื่อได้รับก็จะได้รับผลกรรมก้อนใหญ่ที่มีความรุนแรงมาก ทำให้กระวนกระวายมาก ทำให้หลงมากและสิ่งที่เกิดจะทะลุกำแพงสติและปัญญาที่มีทั้งหมด

วิบากกรรมจะทำให้นักปราชญ์รู้สึกหลงรักหลงชอบไปไม่ต่างจากความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไป แต่แน่นอนว่ามีวิบากกรรมชั่วก็ต้องมีวิบากกรรมดี คนที่ทำดีมามากก็จะสามารถหลุดจากสภาพหลงได้ในเวลาไม่นานนัก อาจจะหลงชอบอยู่สักพักหนึ่งแล้วอยู่ๆก็หลุดจากอาการเหล่านั้น นั่นเพราะผลกรรมชั่วได้ถูกชดใช้จนหมด คือถูกทำให้หลงรักแล้ว และเมื่อหมดวิบากกรรมชั่ว วิบากกรรมดีจึงส่งผลได้คือทำให้มีสติ ทำให้ตาสว่าง ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง จนปล่อยจนคลายได้

2.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ…กรณีของคนที่มีวิบากกรรมมากก็จะต้องผูกพันนานหน่อย จะไม่หลุดง่ายๆ จะหลงมัวเมาหัวปักหัวปำอยู่แบบนั้น สติปัญญาอะไรไม่ต้องถามถึง มันไม่มีหรอกเพราะวิบากกรรมมันจะแรงกว่าเสมอ ฝึกมาดีแค่ไหนก็จะกลายเป็นคนที่หลงในความรักคนหนึ่ง แทบไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงเลย มัวเมาจากวิบากกรรมตัวเองแล้วยังต้องเมากิเลสตัวเองซ้อนเข้าไปอีก กลายเป็นหลงหัวปักหัวปำ

ถึงเขาจะทำไม่ดีกับเรา เราก็จะไม่ถือโทษนะ จริงๆมันอาจจะดูว่างี่เง่า เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผลในสายตาของคนอื่น แต่ในความเข้าใจของเรามันจะเข้าใจเขาได้ มันจะลำเอียงเพราะหลงรักเขา ที่ไปหลงรักเขามันก็มีพลังแห่งวิบากกรรมมาดล มันดลให้รักให้ปักมั่น เหมือนคนหูหนวกตาบอด ใครบอกก็ไม่ฟังเหมือนโดนมนต์สะกดอะไรสักอย่าง

แม้ว่าจะมีคนบอกว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่น่าทำให้หลงได้ขนาดนั้น ไม่เหมาะสม ไม่น่าคบหา หรือคนอื่นบอกว่าถ้าเป็นเขาก็ไม่คบหรอก เราได้ยินเขาพูดนะ เข้าใจด้วย รับฟังอย่างมีสติด้วย แต่ในใจเราจะไม่รู้สึกตามเขา เวลาฟังมันเข้าใจเหตุผลได้ทุกอย่าง แต่มันทำไม่ได้ มันฝืนไม่ได้ ผิดชอบชั่วดีรู้หมดทุกอย่างแต่ต้านทานอะไรไม่ได้เลย

นี้เองคือพลังของกรรมและผลของกรรม เมื่อเราทำกรรมอะไรไว้แล้วมันจะให้ผลเหมือนกับจับเราไปขึงแล้วยิงเป้าโดยที่ไม่อาจจะขัดขืน สั่งให้เราหลงงมงาย ให้เราจมอยู่กับทุกข์ใจแสนสาหัส เวลาที่คนต้องอยู่แบบไม่อยากเสพแต่หนีไม่ได้นี่มันทุกข์นะ ตัวเองก็ไม่ได้อยากรักอยากหลงสักเท่าไร แต่มันหนีไม่ได้ มันออกไม่ได้ มันไม่มีปัญญา มันจะตื้อไปหมดสุดท้ายก็มาหลงเขาเหมือนเดิมแม้จะทุกข์แค่ไหนก็ต้องวนกลับมาโดนอยู่ดี

วิธีเดียวที่จะพ้นวิบากกรรมชั่วที่ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่คือการทำกรรมดีช่วย แน่นอนว่าผลกรรมชั่วก็ต้องรับ แต่กรรมดีก็ต้องรับเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรทำกรรมดีให้มากเพื่อไปเจือจางผลกรรมชั่วนั้นเสีย เพื่อให้เราไม่ต้องทนรับกรรมชั่วต่อเนื่องกันนานๆ ให้พอมีกรรมดีได้ส่งผลให้เกิดปัญญา ให้เห็นความจริง ให้โผล่ขึ้นมาหายใจได้บ้างหลังจากที่ถูกกรรมชั่วลากลงน้ำจนทุกข์ทรมาน

2.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่มีกรรมผูกผันมาก แม้จะพยายามสะบัดก็จะสะบัดไม่หลุด หนีไม่ได้ ถึงจะพยายามหนีก็ต้องกลับมาหลงเหมือนเดิม ถึงเราจะยอมใจแข็งตัดใจทิ้งความสัมพันธ์นี้ไป สุดท้ายวิบากกรรมก็จะดลให้เขามาง้อ ให้เขามาแสดงอาการให้เรารู้ว่าเราสำคัญ คำพูดมากมายที่ตรงกับใจซึ่งทำให้เราใจอ่อน หรือไม่ก็เป็นเราที่วนกลับไปเสียเอง ยอมรับกรรมนั้นกลับมาซ้ำเติมเราอีกครั้งหนึ่ง

แม้เราจะไม่ได้รู้สึกอยากเสพสิ่งใดในตัวเขา แต่ก็จะมีเหตุผลบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูดดึงเขากลับมาไว้กับเราอีกครั้ง จริงๆแล้วเป็นการลากกลับมาของวิบากกรรม ผลของกรรมนั้นหากยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด ก็จะไม่ปล่อยให้เราให้เราได้เป็นอิสสะ เรายังจะต้องจมและวนเวียนอยู่กับเขาหรือเธอซึ่งก็ไม่รู้ไปหลงใหลอะไรมากมาย หาเหตุผลก็ไม่ค่อยเจอ ข้อดีก็มีให้เห็นไม่มาก ก็เสียก็มากมาย แต่เรากลับไปขยายเนื้อความในข้อดีแล้วมักจะทำเป็นมองไม่เห็นข้อเสียนั้นเสียเอง

วิบากกรรมมันพาให้หลงไปแบบนี้ อะไรก็ป้องกันไม่อยู่ ได้แต่จำยอมรับผลกรรมด้วยใจที่เป็นสุข แน่นอนว่าในภาษานั้นพอจะยอมรับได้ แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นมันจะยอมรับไม่ได้ ทำใจให้เป็นสุขไม่ได้ เพราะผลกรรมนั้นก็ดลให้เกิดความหลงผิด จนเกิดความทุกข์ ลืมธรรมะ ลืมเครื่องมือทุกอย่างที่เคยใช้เพื่อกำจัดทุกข์เหมือนกับคนไม่เคยฝึกปฏิบัติใจมาเลย

วิบากกรรมนั้นยังมีช่วงเวลาของการส่งผล บางคนเลิกกับคนรักที่เคยหลงยึดไว้หลายปีแล้ว แม้ว่าจะหันหน้าปฏิบัติธรรม หันมาทำดี หันมาสร้างกุศล แต่สุดท้ายกลับถูกกรรมดึงกลับไปให้ต้องไปมีคู่ ตอนแรกมันเหมือนจะหนีออกมาได้นะ มาพบธรรมะ มีกัลยาณมิตร เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงแล้ว เห็นทางพ้นทุกข์ก็แล้ว แต่ยังถูกวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงมัวเมาอีก

ตอนถูกลากกลับไปอีกทีมันจะลืมธรรมะหมดเลยนะ ลืมคำสอนครูบาอาจารย์ ลืมกัลยาณมิตร ลืมศีล ลืมสติ ลืมปัญญา หันกลับไปหลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ดีไม่ดีจะยอมลดศีลทิ้งธรรมไปเลย ยอมกลับไปมีรักดีกว่ามีธรรม

ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร? นั่นก็เพราะเมื่อคนหันมาทำดี ทำกุศลกรรมเข้ามากๆ ศึกษาธรรมะมากๆ ผลกรรมในด้านดีจะส่งผลและดึงวิบากกรรมชั่วเข้ามา กล่าวกันแบบนี้อาจจะงง ว่าเอ๊ะ!ทำไมทำกรรมดีแล้วชั่วจึงมา นั่นเพราะว่าเวลาเราทำดีไปมากเข้า กรรมดีก็จะดึงวิบากกรรมชั่วมาให้เกิดผลที่ดีขึ้น คือดึงวิบากกรรมชั่วมาใช้ให้มันหมดไปอีกเรื่องหนึ่งชีวิตจะได้ดีขึ้น เมื่อวิบากกรรมชั่วนั้นส่งผลขึ้นมาก็จะทำให้หน้ามืดตามัว แม้ว่าจะอยู่กลางวงธรรม ห้อมล้อมด้วยมิตรสหายและครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง แต่ก็สามารถหลุดออกจากวงโคจรไปได้เช่นกัน เพราะวิบากกรรมนั้นลากออกไปให้ได้ทำภารกิจ คือไปชดใช้กรรม

ถ้าถามว่าต้องใช้วิบากกรรมถึงไหนก็ยากจะตอบได้ เพียงแค่เข้าใจได้ว่าใช้เท่าที่ควรจะใช้ แต่มันจะไม่มากกว่าที่เราทำมาแน่นอน เมื่อใช้วิบากกรรมหมดก็จะรู้เอง มันจะหายโง่ มันจะมีเหตุการณ์ที่มาดลให้เกิดปัญญาเอง

แต่ทีนี้มันจะมีโอกาสพลาดอยู่ตรงที่ว่าคนดีที่กุศลกรรมนั้นลากอกุศลกรรมมาแล้ว ไม่ได้มีแค่ผลของกรรมอย่างเดียว ยังมีกิเลสรวมอยู่ด้วย สุดท้ายคนดีที่ทำดีมากๆแต่ล้างกิเลสไม่เป็นก็จะต้องจมไปกับชะตากรรม ต้องวนเวียนมีคู่ แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก แบกภาระมากมายสะสมทุกข์และกรรมชั่วเพิ่มไปอีกชาติหนึ่ง

ซึ่งก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้เป็นธรรมดาของโลก จะสังเกตว่าคนทำดีมากๆมักจะได้รับผลร้ายแปลกๆ มักจะได้ยินว่าคนดีไม่น่าได้รับสิ่งร้าย ไม่น่าตายไม่ดีเลย จริงๆแล้วสิ่งร้ายนั้นไม่ได้เกิดมาจากการทำดี แต่เกิดจากกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่ไม่ดีนั้นเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้นคือมาเพื่อกระแทกให้เห็นกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้ จะได้ทำดีให้มากขึ้น หรือในกรณีคนดีบางคนก็เพียงแค่ตายใช้กรรมเพื่อเปลี่ยนภพไปสู่ภพที่ดีกว่า เช่นชาตินี้อาจจะเป็นคนจนมีภาระมาก เมื่อทำดีมากๆก็หมดกรรม ถูกทำให้ตายและเกิดใหม่เป็นคนที่พร้อมด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการทำดีมากขึ้นก็เป็นได้

ในกรณีเดียวกันที่คนทำดีเจอสิ่งไม่ดีนั้นเพราะวิบากกรรมลากสิ่งชั่วมาให้เรียนรู้ แต่ทีนี้คนดีส่วนมากแม้จะมีความดีมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญญามากพอจะผ่านเรื่องเลวร้ายนั้นได้ บางคนก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับอกุศลกรรมที่ถูกดึงเข้ามา นั่นเพราะเขาไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง ไม่มีกัลยาณมิตร ไม่มีธรรมที่จะพาให้ผ่านเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการที่จะก้าวเข้าสู่วิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ หรือก่อนจะเข้าสัมมาอริยมรรคได้นั้นจะต้องพบกับกัลยาณมิตรเสียก่อน มรรคนั้นเหมือนกับดวงอาทิตย์แต่ก่อนอาทิตย์จะขึ้นเราจะต้องเห็นแสงอาทิตย์ก่อน เห็นแสงเงินแสงท่องที่ส่องมาก่อน คือต้องคบหาสัตบุรุษหรือมีกัลยาณมิตรที่รู้สัจจะแท้สู่การพ้นทุกข์เสียก่อน และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเก่งกาจยิ่งใหญ่มาจากไหนก็หนีพลังของวิบากกรรมไม่พ้น หนีสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาไม่พ้น เรายังคงต้องรับผลกรรมที่เราเคยทำมานั้นอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเราได้คบหากับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะพาเราสร้างกรรมใหม่ เป็นกรรมดีที่พาให้เจริญเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอจะเจือจางพลังแห่งวิบากกรรมชั่วให้ส่งผลเบาบางลงได้บ้าง

เหมือนกับเราผสมน้ำเปล่าใส่น้ำหวาน มวลของน้ำหวานยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าเรากินน้ำที่ผสมแล้วก็จะไม่รู้สึกหวานมากเหมือนกินน้ำหวานล้วนๆ วิบากกรรมดีและชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถทำให้หมดไปได้ แต่สามารถทำให้วิบากกรรมเหล่านั้นเจือจางได้ และทำให้เราสามารถชดใช้กรรมได้ในขีดที่ไม่ทุกข์มากนัก จะดีกว่าไหมหากเราสามารถเลือกที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ เหล่านี้คือกรรมใหม่ที่เราเลือกได้ ชีวิตลิขิตเองได้ โดยการทำกรรมใหม่ซึ่งมีคุณค่ากว่าการจมอยู่กับกรรมเก่า

3). เราทำกรรมอะไรมาจึงต้องมาหลงมัวเมากันขนาดนี้

กว่าจะมาถึงชาตินี้เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาหลายภพหลายชาติ เป็นคนดีคนเลวมามากมาย มีคู่มาก็มาก แม้ว่าชาตินี้จะไม่อยากมีคู่ก็ตาม วิบากกรรมก็จะดลให้อยากมีเพราะจริงๆเรามีสะสมมาหลายชาตินับไม่ถ้วน กรรมที่เคยผูกพันกันในแบบสามีภรรยาจึงถูกสร้างขึ้นมามากมาย ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ

เมื่อเคยมีคู่มาหลายชาติ ก็ต้องมารับผลกรรมจากการมีคู่ที่เคยทำมาด้วย ไม่ใช่ว่าจะแค่ตัดใจแล้วหนีมันทำไม่ได้ วิบากกรรมจะดลให้หลงไปมีคู่เองเมื่อถึงเวลาอันควร ส่วนจะมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมกรรมแห่งการมีคู่มากมากเท่านั้น นี่ยังไม่รวมวิบากกรรมจากการไปจีบเขา ไปหักอกเขา ไปทิ้งเขานะ มันต้องรับทั้งหมด ดังนั้นเราเกิดมาก็จะเจอลีลาทุกข์จากเรื่องคู่ต่างกันเพราะทำหลายรูปแบบ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงบางคนหลงไปว่าฉันมีคนมาจีบเยอะ ฉันมีแฟนหลายคน ฉันมีเสน่ห์ ก็เมาโลกธรรมหลงไปบริหารเสน่ห์คุยกับคนนั้น เล่นหูเล่นตากับคนนี้ ปั่นหัวคนโน้น สารพัดลีลาที่จะใช้ยั่วคนอื่นไปทั่ว แม้แต่การมีแฟนหลายคนก็อย่าหลงดีใจไป ทั้งหมดนั้นเราจะต้องรับแน่นอน เราไปเป็นสิ่งที่กระตุ้นกิเลสให้ใคร เราจะต้องโดนเอาคืนในชาติใดชาติหนึ่งแน่นอน

เช่น ตายแล้วมาเกิดในร่างผู้ชาย พอโตได้ที่ถึงวัยกิเลสกำเริบก็พยายามจีบเขาไปทั่ว แต่ก็ทำยังไงก็โดนเขาหักอก โดนเขายั่วแต่ไม่ยอม โดนเขาทิ้งก็ยังหลงมัวเมาตื้อเขาอยู่ ต้องทนทุกข์อยู่แบบนั้น นี่ก็เกิดจากกรรมที่ทำมานั่นเอง

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ก็จะสะสมกรรมชั่วไปเรื่อยๆ แล้วก็วนเวียนรับกรรมชั่วทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนหันมาทำดีจนได้รับผลกรรมที่ดี เกิดมามีหน้าตาดีแต่แล้วก็เลือกทำกรรมชั่วไปทั่ว ก็ต้องวนมารับวิบากกรรมชั่วแบบนี้เรื่อยไป คนก็วนเวียนในวัฏสงสารแบบนี้ ทำดีทำชั่วสลับกันไปแบบนี้ แล้วก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วจนทุกข์ทรมานแบบนี้ มันเหนื่อยไหมล่ะ

4). การพาตนให้รอดพ้นกรรมเก่า

คนที่กิเลสหนามักจะต้องเวียนกลับไปเจอกับทุกข์เช่นนี้ เพราะยังมีเชื้อกิเลสเป็นตัวดูดดึง แม้จะอยู่ในกลุ่มมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีครูบาอาจารย์ที่สอนอย่างถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ ลดกิเลสได้จริง มีปัญญาจริง ถึงจะพยายามปฏิบัติจนมีความสงบ รูปสวย มีคนนับหน้าถือตา เป็นดังพ่อพระแม่พระ แต่สุดท้ายก็จะโดนวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงรัก ให้มีคู่ ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมว่า คนที่ดีแสนดีแต่ทำไมเวียนกลับไปเสื่อมจากศีลธรรม

การที่เสื่อมจากศีลธรรมนั้นเพราะว่าแท้จริงแล้วไม่เคยมีธรรมนั้นจริงๆในตนเองต่างหาก ไม่มีปัญญาในตน ไม่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในตน ดังนั้นจึงมีกิเลสเป็นไส้ศึกทำให้ต้องแพ้พ่ายเมื่อผลกรรมยกทัพมาตี ถ้าเราไม่ใช่ของจริงถึงแม้จะอยู่ในหมู่คนดีก็จะต้องโดนพรากโดนจับแยกออกไปให้รับทุกข์

แต่คนที่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในเรื่องคู่จะต่างออกไป เพราะเข้าใจรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ทั้งหมดในเรื่องคู่ จึงไม่มีวิบากกรรมใดที่จะสามารถมากระแทกกระทั้นให้สละความโสดหรือไปหลงรักใครได้ เพราะเข้าสู่ภาวะของความเที่ยงในวิญญาณว่าไม่มีคู่นี่มันสุขที่สุดแล้ว

แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้ว่าจะเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในกิเลส เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ปัญญามาด้วยความบังเอิญ แต่ได้มาจากการเผชิญกับความหลง ความรัก เรียนรู้สุขทุกข์ ล้มลุกคลุกคลานกันมามากมายเช่นเดียวกับคนกิเลสหนานั่นแหละ แต่สิ่งที่ทำให้เขาผ่านมาได้และเพียรพยายามจนไม่ต้องวนกลับไปทุกข์อีก คือการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมได้ฟังสัจธรรมที่บริบูรณ์ เกิดศรัทธาและปฏิบัติตามจนพ้นทุกข์ได้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)