Tag: ทางสายกลาง
นักเดินทาง …สายกลาง
นักเดินทาง …สายกลาง
ในชีวิตเรานั้นมีเส้นทางมากมายให้เลือกเดินทาง หลายคนไปดูภูเขา หลายคนไปชมทะเล หลายคนไปเยือนทุ่งกว้าง หลายคนไปหาประสบการณ์ในต่างแดน
แต่ก็มีบางคนที่เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป เป็นเส้นทางที่ไกลแสนไกล ไกลเสียจนไม่รู้ว่าจุดหมายอยู่ที่ใด เพียงแต่ได้ยินเขาเล่าเขาล่ำลือมาว่า หากไปถึงเป้าหมายนั้นก็คือที่สุดแห่งชีวิตแล้ว ทางเส้นทางที่ว่านั้นก็คือหนทางธรรม
นักเดินทางธรรมนั้นก็มีรูปแบบคล้ายกับนักเดินทางทั่วไป มีประสบการณ์จากผู้อื่น มีรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว มีกระทู้ปัญหาที่ได้พบให้เราได้อ่านและเรียนรู้ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่คำล่ำลือ ถ้าอยากเห็นความงดงามนั้นก็ต้องเริ่มออกเดินทางด้วยตัวเอง
การเดินทางนั้นไม่ยาก เพียงแค่ตั้งใจก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเตรียมวีซ่า ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องจัดเสื้อผ้า เราก็สามารถจะเดินทางออกไปได้เลย เมื่อเรามาถึงท่ารถ เราก็จะเจอกับสายรถต่างๆ มากมายหลายร้อยเจ้าที่บอกว่าทางสายกลางคือเส้นนี้ ,ทางของเราลัดที่สุด, ทางของเราถูกตรงที่สุด ,ทางคนอื่นผิดของเราสิถูก ฯลฯ
เป็นความสับสนอลหม่านของนักเดินทางมือใหม่ที่จะเริ่มเดินบนถนนหนทางธรรม เขารู้นะว่าต้องเดินทางสายกลาง แต่ทางสายกลางน่ะ…มันทางไหน จะเดินทางเองมันก็ไปไม่เป็นอยู่แล้ว หลงทางแน่นอน แต่จะไปกับคนอื่นก็มีมากมายหลายทางเลือกเหลือเกิน แต่ละคนก็บอกว่าตนเป็นทางสายกลางทั้งนั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายและเส้นทางที่จะไปต่างกัน
ว่าแล้วเขาก็ค้นข้อมูลที่เคยอ่านมา มีหลายคนที่มารีวิวว่าเดินทางกับคนนั้นสิ คนนี้สิ สายนี้สิของแท้ สายนี้สิพาไปสู่จุดหมายแน่นอน แม้จะอ่านรีวิวมามากเพียงใด แต่ก็ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ดี สุดท้ายเลยทำได้แค่เดาๆแล้วเลือกตามที่คนอื่นเขาว่าดี หรือทางที่คนส่วนใหญ่เลือกจะไป
…………
เส้นทางสู่ทางสายกลางนั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้คนจำนวนมากยืนยัน ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นผู้ชี้ทางที่ได้รับความนิยม ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามที่เขาอวดอ้าง เพราะสิ่งที่เขานำเสนอให้เรานั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป มีหลายครั้งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างนักเดินทางกับผู้ชี้ทางที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปที่หนึ่ง แต่ผู้ชี้ทางกลับพาไปอีกเส้นทางหนึ่ง แม้ผู้ชี้ทางจะยืนยันว่าทางที่เขาบอกไปนั้นใช่ แต่ความรู้สึกลึกๆนั้นกลับรู้สึกว่ายิ่งเดินยิ่งห่างไกลเป้าหมาย
สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีความถูกตรงในการพาเดินทางสู่ทางสายกลาง สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นอย่างไร สัมมาหรือความถูกต้องถูกตรงนั้นเป็นอย่างไร อริยะคืออะไร มรรคคืออะไร หากเราเองไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนแล้วเผลอกระโดดไปในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งด้วยความประมาท นอกจากจะพาให้หลงทางแล้วยังยากที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่เหมือนตอนแรกด้วย
เพราะคนที่ยึดมั่นถือมั่น จะเห็นว่าทางที่ตนไปนั่นแหละถูก ทั้งๆที่ทางนั้นอาจจะผิดก็ได้ โลกนี้มีวิธีการเดินทางสู่ทางสายกลางมากมายหลายสำนัก มีหลายสำนักก็หลายทิฏฐิ หลายวิธีการปฏิบัติ แต่ในความจริงแล้วคือมีทางเดียวที่จะไปถึงผลคือสัมมาอริยมรรค
ก่อนจะเข้าไปถึงทางสายกลางเราก็ต้องรู้ก่อนว่าทางโต่งทั้งสองด้านนั้นคือความติดสุขและการติดดี หรือกามและอัตตา เป็นกิเลสที่จะพาให้เราหลงทางทั้งคู่ ดังนั้นทางสายกลางก็คือการละออกจากทางโต่งหรือละกิเลสนั่นเอง ซึ่งจะสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค
สัมมาอริยมรรคคืออะไร?
คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ นั่นคือความเห็นความเข้าใจใดๆก็ตามที่พาลดกิเลส เข้าใจว่าสิ่งใดที่ลดกิเลส สิ่งใดที่พาให้หลงทาง
คือความคิดที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือความคิดที่พาลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส คิดไปในทิศทางที่ลดกิเลส
คือการพูดจาที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการพูดที่พาลดกิเลส ถ้อยคำที่ไม่เสริมกิเลสแก่กันและกัน
คือการกระทำที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการกระทำใดๆ ทั้งกาย วาจา ใจ ที่พาให้ลดกิเลส ไม่โต่งไปทั้งกามและอัตตา
คือการเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเลี้ยงชีพที่ไม่ขัดกับหลักของพุทธ เป็นไปเพื่อเอื้อต่อการลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส ไม่สร้างกรรมชั่ว ไม่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับโลกธรรม
คือความเพียรที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเพียรล้างกิเลส เพียรสร้างโลกุตระธรรมให้เจริญขึ้นในตน เพียรศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
คือสติที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือมีสติที่รู้ไปถึงตัวตนของกิเลสที่ฝังอยู่ข้างใน ชำแหละกิเลสออกมาเป็นส่วนๆด้วยความรู้ตัวนั้นๆ เป็นไปตามลำดับของการรู้กาย เวทนา จิต ธรรม
และสุดท้ายคือสมาธิที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการทำองค์ประกอบของสัมมาอริยมรรคทั้งหมดก่อนหน้านี้ให้เกิดสภาพตั้งมั่น นั่นแหละจึงจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิ
……ในข้อมูลมากมายที่ชี้นำการเดินทางบนถนนหนทางธรรมนี้ ไม่ง่ายนักที่จะสามารถจำแนกสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิดได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อสิ่งใดง่ายนัก แต่ให้พิจารณาดูด้วยปัญญาของตนว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าคิดว่าสิ่งใดเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น แต่ถ้าสิ่งใดเป็นอกุศลก็ให้ละเสีย
ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างนั้นไม่เที่ยงเสมอไป สิ่งที่เราคิดว่าเป็นกุศล เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะไม่เป็นกุศลอย่างเคยก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นนัก เพราะต้องใช้เวลาในการย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นก็จะยิ่งหลงทางไกล แต่นักเดินทางธรรมโดยมากก็ยอมที่จะยึดสิ่งที่ตนเชื่อไว้เช่นนั้นแม้ว่าจริงๆมันจะผิดก็ตาม
ทางดับทุกข์นั้นมีด้วยกันหลายทาง แม้ที่บอกว่าเป็นสัมมาอริยมรรคก็มีด้วยกันหลายเจ้า หลายแนวทางปฏิบัติ แต่ทางที่ถูกตรงของพุทธนั้นมีทางเดียว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ )”
– – – – – – – – – – – – – – –
15.4.2558
สุดโต่ง
สุดโต่ง : ปฏิบัติอย่างสุดโต่งนั้นเป็นอย่างไร
สุดโต่งคืออะไร?
คำว่าสุดโต่งนั้นหมายถึงสิ่งความเอนเอียงไปในทางหนึ่งอย่างเต็มที่ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เป็นไปตามที่สังคมยอมรับมักจะมีอาการยึดมั่นถือมั่น เคร่งเครียด ไม่ผ่อนคลาย
ความสุดโต่งนั้นเป็นเพียงความเห็นความเข้าใจ ที่หมายของคำว่าสุดโต่งนั้นต่างกันไปตามความเห็นของแต่ละคน เช่น คนดีทำดีได้ง่าย ถือศีลปฏิบัติธรรมได้เป็นเรื่องปกติ เขาก็มองว่าดีนั้นคือความเป็นกลาง ความชั่วคือทางโต่ง
คนชั่วทำดีได้ยากเพราะมีกิเลสมาขวางกั้นไว้ เขาก็มักจะมองสิ่งดีที่ทำได้ยากได้ลำบากคือความโต่ง ส่วนความชั่วเป็นเรื่องสามัญในโลกที่ใครเขาก็ทำกัน
หรือคนที่ไม่ดีไม่ชั่วคือเป็นกลางๆ ก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนเป็นนั้นพอดีไม่โต่งไปทั้งดีและชั่ว ดังนั้นการมองความโต่งของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป
สุดโต่งไม่ทางสายกลาง
การกระทำที่เราเห็นว่าโต่ง เรามักจะมองว่าไม่เป็นทางสายกลาง ถ้าเป็นทางสายกลางของพระพุทธเจ้านั้นคือ ไม่เสพกามและไม่ติดอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า “พวกเธอจงเสพกามแต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่น”
สรุปในความหมายของศาสนาพุทธก็คือ คนที่ยังเสพกามและยังติดอัตตาอยู่นั่นแหละคือคนที่สุดโต่ง ส่วนคำว่าสุดโต่งในทางสมมุติโลกก็แล้วแต่ใครจะนิยาม
คนเรามักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล พอสิ่งใดที่ทำได้ยากได้ลำบากสำหรับตนและพวกพ้องนั่นแหละคือสุดโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วคนอื่นเขาทำได้สบาย แล้วทีนี้ด้วยความมีอัตตาก็ยึดเอาตนนั่นแหละ เป็นตรงกลาง ใครทำมากกว่าตนสุดโต่ง ใครทำน้อยกว่าตนก็ต่ำต้อย
สุดโต่งของผู้มัวเมา (มิจฉาทิฏฐิ)
คนที่เห็นผิดและมัวเมาในกิเลสมากๆ ก็จะหมายเอาว่าการที่ทุกคนมีกิเลสเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่น่าใส่ใจ คนเราต่างกรรมต่างวาระถือ เป็นเรื่องธรรมดาใครๆเขาก็ทำกัน คนที่พยายามจะละทางโลกอย่างจริงจังสิที่เป็นความสุดโต่ง
การที่มีความเห็นแบบนั้นเพราะต้องการตั้งกำแพงเอาไว้ไม่ให้ใครเข้ามาล้วงกิเลสตน เอาง่ายๆ คืออย่าเอาสิ่งที่พาให้เกิดความเจริญมาข้องแวะกับกองกิเลสของฉัน ฉันจะอยู่ในภพของฉัน ฉันจะเสพของฉันไปเรื่อยๆ อย่าพยายามชี้ให้ฉันเห็นถึงกิเลส อย่าบอกว่าสิ่งที่ฉันติดฉันยึดคือสิ่งไม่ดี เพราะฉันมีความสุขกับมันอยู่ ซึ่งเป็นสภาพของผู้ติดภพที่เต็มไปด้วยกิเลส
ถ้าเขามองจากก้นเหว ปากเหวก็ดูจะสูงเทียมฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วปากเหวนั้นก็แค่ระดับพื้นดิน ยังมีต้นไม้ ภูเขา ท้องฟ้า จักรวาล ดวงดาวอีกมากมายที่อยู่สูงและไกลออกไป
คนที่มัวเมาในกิเลสก็ยังคงต้องอยากจะเสพไปตามกิเลสอยู่ เหมือนกันกับคนส่วนมากในสังคมที่ใช้ชีวิตไปตามกิเลส แล้วก็ใช้ศาสนาเข้ามาช่วยเพียงแค่ทำให้จิตใจสงบ และใช้ตรรกะต่างๆเข้ามาเป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้มีสิ่งใดเข้ามากล้ำกราย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะร้ายหรือดี เขาก็เพียงแค่ต้องการจะอยู่ในภพที่เขาอยู่
ซึ่งมันก็ไม่แปลกอะไร เพราะโลกเรามีคนหลายแบบ คนกิเลสน้อยก็มี คนกิเลสหนาก็มี มันเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว เพราะคนกิเลสน้อยก็ว่าคนกิเลสหนานั้นมันทุกข์ คนกิเลสหนาก็ว่าคนกิเลสน้อยนั้นสุดโต่ง ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะเขาทำไม่ได้ ถ้าหากเขาทำเขาก็จะทุกข์ทรมาน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความคนกิเลสน้อยสุดโต่ง เพราะเขาเหล่านั้นสามารถละสิ่งที่เป็นภัยได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก เรียกว่าทำได้แบบสบายๆ แล้วถ้าทำได้แบบสบายมันจะเรียกว่าสุดโต่งได้อย่างไร?
ยิ่งถ้าบอกว่าความเจริญที่ได้ละสิ่งที่ไม่ประโยชน์นั้นว่า “สุดโต่ง” ยิ่งสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมที่ตกเป็นทาสของกิเลส ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ คนส่วนมากก็ตกเป็นทาสกิเลสกันอยู่แล้ว ยิ่งกึ่งพุทธกาลแบบนี้คงไม่มีผู้มีบุญบารมีลงมาเกิดกันมากมายหรอก ที่มาเกิดนี่ก็เด็ดๆกันทั้งนั้น
ทิ้งโลกไปทางธรรมสุดโต่งจริงหรือ
ต้องเข้าใจก่อนว่าทิ้งโลกนี้ไม่ได้หนีเข้าป่า แต่เป็นการทิ้งโลกที่เคยมีกิเลสแล้วหันหน้าเข้าหาธรรมเพื่อศึกษาธรรม พระพุทธเจ้าไม่เคยสั่งให้สาวกเข้าป่าปลีกวิเวก สาวกที่บรรลุธรรมท่านก็สั่งให้ไปสร้างประโยชน์แก่หมู่ชน และให้แยกกันไป อย่าไปที่เดียวกันธรรมกับโลกจึงอยู่คู่กันด้วยประการนี้เอง
ถ้าการทิ้งเรื่องโลกมาสนใจธรรมเป็นเรื่องสุดโต่ง ศาสนาพุทธก็คงจะเป็นศาสนาที่สุดโต่งที่สุด เพราะตามประวัติศาสตร์นั้น เจ้าชายสิทธัตถะเพียงแค่รู้ว่าลูกเกิด ท่านก็หนีไปบวชแล้ว หรือปัจเจกพระพุทธเจ้าที่เพียงแค่มองผู้หญิงที่มีเจ้าของแล้วรู้สึกผิด ก็ออกบวชแล้ว
ถ้าเป็นคนธรรมดาเขาไม่เข้าใจนะ เขาไม่มีปัญญารู้ว่ามันเป็นโทษอย่างไร แต่นี่ระดับพระพุทธเจ้า สะกิดนิดเดียวรู้เลย รู้แล้วออกได้ทันทีด้วย ไม่ติดไม่วนอยู่ เรียกว่าสุดโต่งไหม?
ถึงจะเป็นคนสมัยนั้นเขาก็ว่าโต่งนั่นแหละ อะไรกัน…เหตุนิดหน่อยก็ทิ้งแล้ว คนกิเลสหนาเขาไม่ทิ้งหรอก เขาก็เมาลูก มองสาวอยู่นั่นแหละ จะเห็นได้ว่าคำว่าโต่งถ้ามันมาจากความเห็นของคนกิเลสหนามันก็แสดงตัวตนเขาอยู่แล้วว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ทางโต่งที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นมีอยู่ นั่นคือให้เว้นขาดจากการเสพกามและการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ความโต่งสองทางนี้ท่านให้เว้นเสีย
สุดโต่งแต่เจริญ
ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความโต่งที่เป็นความเห็นของบุคคลนั้นต่างกันไปตามทิฏฐิ ซึ่งจะเอามายึดมั่นถือมั่นเป็นหลักเกณฑ์วัดอะไรไม่ได้ อ้างอิงอะไรไม่ได้เลย เพราะถ้าสังคมกิเลสหนา มันก็จะว่าการลดกิเลสเป็นทางโต่ง เช่น ในยุคนี้เขาก็ว่าการสมสู่มีคู่แต่งงานนั้นดี ยิ่งผู้หญิงแต่งตอน 25-30 ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นสังคมยุคพระศรีอริยเมตตรัย กว่าจะได้แต่งงานก็อายุ 500 ปีโน่น มันโต่งไหมล่ะ สมมุติสัจจะและศีลธรรมโดยสามัญสำนึกมันเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยนั่นแหละ เอามาวัดอะไรไม่ได้หรอก
เรื่องคู่นี่ยิ่งชัด พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าโง่ไปมีคู่ กามนั้นแสบเผ็ดร้อนยิ่งกว่าถ่านที่เผาไหม้ ยิ่งกว่าหอกแหลมที่ทิ่มแทง ยิ่งกว่ายาพิษใด แม้ในฐานศีล ๕ จะยังมีคู่ได้ แต่ท่านไม่เคยบอกว่าให้ครองคู่กันจึงจะเจริญ ท่านให้ละให้เว้นเสีย แต่ถ้าในสมัยนี้คนเขาก็มองคนที่จะเป็นคนโสดไปตลอดไม่มีคู่เป็นความโต่งนะ โต่งแต่สัมมาทิฏฐิมันน่างงไหม?
ในยุคนี้ผู้ที่ตั้งใจจะปฏิบัติเพื่อลด ละ เลิก สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ใช่คุณค่าแท้ ก็มักจะถูกมองว่าสุดโต่งทั้งๆที่นั่นคือทางสายกลางที่พาไปสู่ความเจริญ แม้คนจะมองว่าโต่งแต่มันไปเจริญ แล้วมันไม่ดีอย่างไรล่ะ
ก็มีแต่คนที่พ่ายแพ้ต่อกิเลสเท่านั้นแหละที่ไม่เห็นว่าการพยายามละเว้นจะกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยังของยอมวนเวียนเสพสมใจกันอยู่ในทะเลที่เต็มไปด้วยยางเหนียว
– – – – – – – – – – – – – – –
10.4.2558
คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ
คำสารภาพบาป จากอดีตผู้หลงใหลไม้ประดับ
เมื่อการยึดมั่นถือมั่นของเรากลายเป็นการเสริมกิเลสให้กับผู้อื่น
ผมเป็นคนที่ชอบศึกษา เวลาอยากรู้อะไรก็จะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น ให้เวลากับมัน คิดทบทวน วิเคราะห์ ตรวจสอบ การเรียนรู้ของผมมักเป็นไปในเชิงการทดลอง
เมื่อผมได้รับความรู้เรื่องไม้ประดับมา ผมก็มักจะแบ่งปันความรู้เหล่านั้นด้วยการพิมพ์บทความลงเว็บไซต์ ซึ่งตอนนั้นเองก็คิดเพียงแค่ว่าเป็นการแบ่งปันการเรียนรู้ แต่นั่นเองคือหลุมพรางที่ผมขุดไว้เพื่อฝังตัวเอง
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต” แม้ความรู้ที่ผมได้มานั้นจะสามารถทำให้ผมเติบโตไปในวงการไม้ประดับได้อย่างสบายๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ความรู้ที่ดีเลย เพราะมันเป็นความรู้ที่พาให้หลงในสุขลวงทำให้เข้าถึงความสุขแท้ได้ช้าไปอีก
ผมศึกษาตั้งแต่บอนสี กระบองเพชร ลิ้นมังกร มีประสบการณ์มากมายที่ผมเปิดเผยและไม่ได้เปิดเผย แต่เพียงแค่สิ่งที่ผมเปิดเผยไปนั้น ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนสนใจและหันมาเลี้ยงไม้ประดับแบบผมอยู่บ้าง และนั่นคือวิบากบาปที่ผมจะต้องรับต่อไป
ถ้าผมไม่ได้พิมพ์เรื่องราวเหล่านั้นออกมา เขาคงจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ ไม่ต้องมาหลงตามที่ผมหลง จะเห็นได้ว่าเมื่อเราหลงมัวเมาในสิ่งใดแล้ว เราก็จะมีโอกาสที่จะพาคนอื่นหลงตามไปด้วย ซึ่งเราต้องรับผิดชอบกรรมที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมดรวมถึงดอกผลของมันด้วย เพราะสิ่งนั้นมีเราเป็นเหตุ
ผมเองรู้สึกเสียใจและต้องขออภัยกับผู้ที่สนใจไม้ประดับเพราะผม ในตอนนี้คุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ในวันที่คุณเข้าใจว่าสิ่งใดคือสาระแท้ของชีวิต และสิ่งใดไม่จำเป็นต่อชีวิต คุณก็จะเข้าใจได้เอง
ในบทความนี้ผมจะขอใช้โอกาสนี้ไขสภาวะและธรรมะทั้งหลายที่คิดว่ายังตอบไม่กระจ่างไปก่อนหน้านี้ ด้วยกัน 10 หัวข้อ ซึ่งค่อนข้างยาว ขอให้ท่านค่อยๆพิจารณากัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นความเข้าใจตามที่ผมได้เรียนรู้มา ดังนั้นท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดและเข้าใจต่างออกไป ไม่ใช่เรื่องผิด
1). ไม้ประดับคืออะไร?
ไม้ประดับนั้นก็คือสิ่งที่เข้ามาตกแต่ง เพิ่มเติมให้เกิดความงามขึ้น ในฐานของศีล 8 จะเห็นได้ว่าท่านให้งดเว้นการประดับตกแต่ง แน่นอนว่าหมายรวมถึงทุกอย่าง เพราะเป็นฐานแห่งการลด “กาม” (การเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ไม้ประดับนั้นเป็นสิ่งที่เข้ามาสนอง “กาม” เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเลย ดังจะเห็นได้ว่าคนโดยมากไม่เป็นทุกข์หากขาดไม้ประดับ ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่าการสะสมไม้ประดับนั้นต่างจากการปลูกต้นไม้ทั่วไป
เมื่อไม้ประดับเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต แม้จะใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณีแต่เราก็ไม่จำเป็นต้องนำมันเข้ามาในชีวิต คนที่เอาสิ่งไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตจนยึดมั่นถือมั่น ก็คือคนที่หลงไปตามกิเลส
2). ความสุขคืออะไร?
หลายคนบอกว่าเลี้ยงไม้ประดับแล้วมีความสุข ความสุขเหล่านั้นเป็นความสุขที่ได้เสพสมใจตามที่กิเลสบงการ ได้เสพจึงจะเป็นสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ผู้หลงว่ากิเลสเป็นตัวเป็นตนจึงต้องหามาไม้ประดับมาเสพเรื่อยไป แม้จะหาไม่ได้ ได้มองรูปก็ยังดี ได้คิดถึงก็สุขใจ อาการเหล่านี้เป็นอารมณ์ของราคะแท้จริงแล้วสุขที่ได้รับนั้นคือทุกข์ที่ลดลง
กิเลสนี้มันร้ายมากนะ มันทำให้เราเห็นสุขลวงเป็นสุขจริง และทำให้มองไม่เห็นทุกข์เลย คนที่หลงสุขเขาจะสามารถเลี้ยงไม้ประดับได้อย่างไม่ทุกข์เลยนะ เพราะกิเลสมันบังตาจนมิดเลย
3). ทุกข์คืออะไร?
ทุกข์คือสภาพที่ทนได้ยากได้ลำบาก ในกรณีทุกข์ของคนที่หลงมัวเมาก็คือความอยากได้อยากเสพ เมื่อไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการก็จะทุกข์ จึงต้องลำบากลำบนเบียดเบียนเพื่อไปแสวงหาสิ่งที่ตนอยากได้จึงจะเป็นสุข ถ้ากิเลสหนามากๆจะมองทุกข์ตัวนี้ไม่เห็นเลย
เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็เลยไม่เห็นธรรม การจะเรียนรู้และศึกษากิเลสนั้นจำเป็นต้องเห็นทุกข์เสียก่อน จึงจะหาเหตุของทุกข์ในลำดับต่อไป จะเห็นได้ว่าเมื่อผมแสดงความเห็นว่าการเลี้ยงไม้ประดับเป็นภาระ เป็นทุกข์ หลายท่านมีความเห็นที่ต่างกันออกไป บ้างก็ว่าฉันไม่ทุกข์ บ้างก็ว่าหมดรักจึงทุกข์ บ้างก็ว่ามันมีแต่สุขนะ ฯลฯ
อันนี้เขายังไม่เห็นทุกข์ด้วยตัวเอง เรื่องทุกข์นี่มันบอกกันไปก็ไม่เข้าใจ มันต้องทุกข์เอง เจ็บเอง เรียนรู้เอง จึงจะเข้าใจ
4). สัมมาอาชีวะคืออะไร?
หลายท่านอาจจะยังเข้าใจว่าการประกอบอาชีพด้วยไม้ประดับนั้นสัมมาอาชีวะ ในข้อนี้อาจจะทำให้ท่านอกหักจนถึงขั้นไม่พอใจได้ ขอให้ตั้งสติดีๆ
สัมมาอาชีวะนั้นประกอบด้วย การเลี้ยงชีพที่ไม่โกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง เป็นต้น และในมิจฉาวณิชชาว่าด้วยเรื่องการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรทำ หนึ่งในนั้นคือ ค้าขายของเมา (มัชชวณิชชา) คำว่าเมานั้นถ้าแปลตื้นๆ เขาก็มักจะแปลกันว่าเหล้า แต่คำบาลีว่า สุรา เมระยะ มัชชะ นั้นแปลว่าเมาทั้งสามคำ แล้วเมานี้คืออะไร ก็คือมัวเมาในกิเลส หรือความหลงมัวเมา (โมหะ) นั่นเองแต่ทั้งสามคำนั้นเป็นความละเอียดในความเมาที่ต่างกัน สุรานั้นหยาบ มัชชะนั้นละเอียด นั่นหมายความว่าการค้าขายใดที่ทำให้เกิดการหลงมัวเมานั้นชาวพุทธไม่ควรทำ
ขอให้กลับไปทบทวนว่าสิ่งที่เราขายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตจริงหรือไม่ ถ้ามันไม่จำเป็นแล้วเราขายได้อย่างไร เราก็ต้องล่อลวงผู้ซื้อ ต้นนี้งามนะ ต้นนี้หายาก เอากามคุณเช่น รูป สัมผัส เอาโลกธรรมเช่น ต้นนี้เขาฮิตกัน เอาอัตตาเช่น ต้นนี้เหมาะกับคุณ ไปล่อเขาให้ซื้อ มันก็เข้าเขตมิจฉาอาชีวะกันอยู่เห็นๆ อันนี้เป็นเรื่องลึก ถ้ามองตื้นๆก็จะทำต่อไปได้ เพียงแค่บาปโดยไม่รู้ตัวหรือว่ารู้ตัวแต่ก็ยอมเพราะหลงมัวเมาเช่นกัน
เราขายสิ่งที่ทำให้เขามัวเมาอยู่กับสิ่งไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์นี้เป็นกุศลไหม? เป็นทางของชาวพุทธหรือไม่ หากจะบอกว่าสัมมาอาชีวะและสัมมาวณิชชาขอให้ทบทวนและศึกษาดีๆ เพราะวิบากกรรมนั้นเห็นได้ยาก กว่าจะรู้ก็มักจะสายไปเสียแล้ว
5). ทางสายกลางคืออะไร?
ทางสายกลางนั้นไม่ใช่ทั้งเลี้ยงไม้ประดับและไม่เลี้ยงไม้ประดับ แต่เป็นการไม่เลี้ยงโดยที่ไม่มีอัตตา พระพุทธเจ้าไม่เคยกล่าวทางสุดโต่งสอนด้านว่า “เธอจงเสพกามแต่ไม่ติดกาม” แต่ท่านสอนว่า “ให้เว้นขาดจากกาม แต่ไม่ให้ไปติดอัตตา”
กามหรือความหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นี่ให้ตัดออกไปก่อนเลย เพราะไม่มีความจำเป็น เป็นสิ่งสิ้นเปลือง เป็นบาปที่แสบเผ็ดร้อน
แล้วอัตตาคืออะไร? อัตตาคือความยึดดี เช่นเราหลงติดกามในไม้ประดับอยู่ แล้วอยู่ๆเราก็ยึดดีว่าเราจะเลิก แต่กามมันยังมีอยู่ มันยังอยากได้อยู่ มันมองแล้วสวยอยู่ ทีนี้พอไม่ได้เสพมันก็จะเริ่มรู้สึกทุกข์ทรมาน อันนี้คือทางโต่งอีกด้านหนึ่ง
การประมาณทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญา ต้องลด ละ เลิกการเสพกามให้ได้ จนไม่ทำให้ตัวเองลำบากจนถึงขั้นทรมาน ขีดของทางสายกลางนั้นมันอยู่ตรงไหนไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่มันต้องปฏิบัติเอาจึงจะรู้ได้เอง
6). ปลายทางของผู้ยึดมั่นถือมั่นคือทางไหน?
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อหลงในสิ่งใดก็จะเห็นแต่คุณค่าของสิ่งนั้น ว่าดี ว่าเลิศ ว่ามีประโยชน์ ใครมาบอกว่าไม่ดีก็จะรู้สึกไม่พอใจ เพราะตัวเองเห็นว่าดีจริงๆ นั่นก็ถูกแล้วเพราะถ้าคนมีกิเลสมันไม่ยึดกิเลสของตัวเองมันก็ผิดสัจจะ(คนเห็นผิด จะเห็นถูกเป็นผิด = ถูกของเขา)
ทีนี้มันอยู่ที่ทิศทางที่เดินไป ทางที่ไปนั้นเป็นทางพ้นทุกข์หรือไม่ สิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไร เพื่อการสะสมอย่างนั้นหรือ เพื่อการเสพสมใจอย่างนั้นหรือ เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญอย่างนั้นหรือ นั่นคือทางพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นหรือ เดินไปทางตันแม้จะเดินไปได้ไกลอย่างไร ก้าวหน้าแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี เพราะมันผิดทาง
ถ้ายึดสิ่งที่เป็นกุศลอยู่บ้างยังพอหาประโยชน์ได้ แต่ถ้าไปยึดสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่จำเป็นในชีวิต เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มันก็หลงทางเข้าป่าเข้าพงไปเลย
7). เลี้ยงอย่างมีสติได้จริงไหม?
ผมเห็นความเห็นในแนวทางนี้ ก็อยากจะเสนอความคิดเห็นว่า เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน เราลองมาค่อยๆขยายคำว่า “เลี้ยงอย่างมีสติ” กันอย่างช้าๆ
คำว่ามีสตินั้นหมายถึงความรู้ตัว จะทำอะไรก็รู้ตัว ในมุมมองทั่วไปเราก็อาจจะประยุกต์ไม้ประดับมาช่วยในการเจริญสติได้เช่น ปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน
แต่ในความจริงแล้วต้องดูว่าเรามีสติอยู่บนพื้นฐานของอะไรต่างหาก ถ้าเราหลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วเรายังจะเรียกสภาวะที่เรามีนั้นว่าสติได้อีกหรือ ในเมื่อมันตกอยู่ภายใต้การบงการของกิเลสตั้งแต่แรกแล้ว มันก็สติหลอกๆเท่านั้นแหละ เพราะมันไม่มีศีลมากั้นให้เห็นกิเลส ไม่มีปัญญามาพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดไม่จำเป็นของชีวิต
หากเรายังหลงอยู่ เราจะเรียกว่าเรามีสติได้อย่างไร มันก็หลงว่ามีสติเท่านั้นเอง หรือถ้ากล่าวให้ดูสวยๆก็คือ “หลงอย่างมีสติ” มันก็ย้อนแย้งกันอยู่ หลงแล้วจะมีสติได้อย่างไร ว่าแล้วก็โดนกิเลสหลอกให้เสพสะสมแล้วสุขสมใจอยู่กับสิ่งลวงนั่นแหละ
8). ภาระคืออะไร?
ภาระนั้นคือผล หรือวิบากบาปที่ต้องแบกไว้ ความหนักของภาระนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาที่เกิดหลังจากเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น พอพระราหุลเกิด พระพุทธเจ้าท่านก็ อุทานว่า “ บ่วงเกิดแล้ว ” ว่าแล้วก็หนีไปบวชเลย นี่คือปัญญาของมหาบุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
คนเรานั้นมีปัญญาไม่เท่ากันในการที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณหรือเป็นโทษ คนที่มัวเมาในกิเลสเขาก็ยินดีที่จะแบกกิเลสนั้นไว้ แม้มันจะสร้างทุกข์ บาป อกุศล เวรภัย ให้กับเขา แต่ก็เขาก็ยังเห็นว่าสิ่งนั้นดี เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว”
สรุปแล้วคนมัวเมาก็แบกกิเลสไปได้แบบไม่คิดว่ามันหนัก คนที่รู้ความจริงพอเห็นว่าหนักก็วางลงแค่นั้นเอง มันไม่ใช่เรื่องของความเบื่อ ความรัก หน้าที่ การงานหรืออะไรอื่นๆ มันเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ต่อตนเองและผู้อื่น
9). อัตตา
ผู้ที่หลงมัวเมามากๆ แม้จะไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมา แต่โดยพฤติกรรมแล้วคือจากไม่ได้ พรากไม่ได้ ไม่ยอมแยกจากกัน คือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นจนถึงระดับอัตตา
ความยึดนั้นมีความลึกที่แตกต่างกัน หลายคนเลี้ยงไม้ประดับเพราะมันสวยดี ขั้นนี้เขาติดกาม ถ้าแก้ที่กามก็จบ บางคนเลี้ยงเพราะโลกธรรมเช่น ชอบที่ตนเองเป็นกูรูไม้ประดับ ถ้าแก้ที่โลกธรรมก็จบ ส่วนที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือ ฉันชอบมัน มันคือชีวิตของฉัน ขาดมันฉันตาย ขาดฉันมันตาย อันนี้แก้ที่อัตตา แต่อัตตามันไม่ได้แก้ง่ายขนาดนั้น เพราะเป็นสภาพของการยึดที่ลึกและเห็นได้ยาก เป็นภัยน้อยแต่มาก
คือถ้ามองด้วยตาและตัดสินตามโลก เขาก็เป็นคนเลี้ยงไม้ประดับคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แถมเป็นคนดีมีศีลธรรม ถ้าจะวัดโดยขีดของโลกนั้นมันก็ถูกของเขา แต่ในมุมของการทวนกระแสโลก คือหลุดจากการเป็นทาสของกามและอัตตาใดๆ การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะนี้เป็นเหมือนคนที่ตกอยู่ในทะเลยางที่เหนียว ข้น และลึก ยากนักที่จะหลุดออกมาได้
เพราะเขาเหล่านั้นได้ผูกตัวตนของตัวเองไว้กับสิ่งเท่าเขารัก โดยที่เขาไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว กิเลสเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาไม่จำเป็นต้องยึดแบบนั้น ถึงไม่ยึดก็อยู่ได้ มันไม่ใช่ตัวตนอะไรเลย มันไม่ใช่ความจริง เราไปสร้างมันขึ้นมาเองแล้วก็ยึดไว้เอง เรียกว่าอุปาทาน พอมีอุปาทานก็มีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ อุปายาส กองทุกข์ทั้งมวลจึงเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จุดหมาย
10). เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม
การเห็นทุกข์นั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเห็นทุกข์ทั้งๆที่ยังหลงติดหลงยึดได้ แต่การเห็นทุกข์นั้นก็ต้องใช้ปัญญา และปัญญานั้นก็ใช่ว่าจะได้มาด้วยความบังเอิญ ต้องใช้การคิด พิจารณาประโยชน์และโทษให้ถี่ถ้วน ศึกษาใช้ธรรมอ้างอิงจนเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ที่เห็นทุกข์ แม้จะยังไม่สามารถหลุดจากความอยากได้ แต่ก็ได้เปิดประตูแห่งอริยสัจแล้ว เราอาจจะต้องเรียนรู้ทุกข์ไปอีกหลายล้านชาติ หรือเพียงแค่จบบทความนี้ก็สามารถเห็นทุกข์ได้ทันทีแล้วแต่บุญบารมีที่แต่ละท่านสะสมมา
คนที่ไม่รู้จักทุกข์ก็จะไม่หาทางออกจากทุกข์ เขาเหล่านั้นก็จะยินดีที่จะจมลงในภพของการเสพสมในของกิเลสต่อไป ส่วนคนที่รู้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะออกได้ง่ายนัก เพราะวิบากบาปที่เราได้ทำไว้นั่นแหละจะดึงรั้งเราไว้ ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นร้านขายไม้ประดับ พอเรามีปัญญาเห็นคุณเห็นโทษแล้วมันจะเลิกไม่ง่ายนะ ลูกค้าจะไม่ยอม ไหนจะครอบครัว ค่าใช้จ่าย หนี้สิน คนงาน ไหนจะต้นไม้อีกมากมายที่จะเป็นภาระอีก เราหลุดออกไปไม่ได้ง่ายๆหรอก สร้างบาปไว้เยอะก็ต้องรับผลกรรมชั่วนั้นๆไปด้วย
คนที่เห็นโทษก็ให้ศึกษาหาทางออกในลำดับต่อไป คนที่ยังไม่เข้าใจก็ศึกษาเพิ่มเติมไปก่อน ส่วนคนที่ยังเห็นว่าเป็นสุขอยู่นั้นก็ขออภัยด้วยเพราะบทความนี้คงจะไปขัดใจท่านไม่มากก็น้อย ก็ถือซะว่าเราคิดต่างกัน แล้วก็ปล่อยวางมันไปเสีย
– – – – – – – – – – – – – – –
9.4.2558
ฤๅษีกึ่งพุทธกาล
ฤๅษีกึ่งพุทธกาล
ในยุคปัจจุบันนี้ ภาพของฤๅษีในอดีตก็มีแต่จะเลือนรางไปทุกที ยิ่งฤๅษีที่สงบๆงดเว้นการสนองกามทั้งเรื่องอาหาร การแต่งตัว ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ก็แทบจะหาได้ยากยิ่งในสังคมไทย
แต่แท้ที่จริงแล้วฤๅษีไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากในอดีตจนแทบไม่เหลือรูปแบบของฤๅษีดังที่ใครหลายคนจินตนาการไว้
แล้วฤๅษีนั้นเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ก็เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมด้วยสมถะจนติดอยู่ในภพนั่นแหละ แม้ว่าสภาพทางรูปธรรมของฤๅษีในความทรงจำของเราจะเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้ยาก แต่ลักษณะทางนามธรรมยังเหมือนเดิมคือการใช้สมถะเข้ามากดข่มจิต ใช้ควบคุมจิต ใช้อุบายต่างๆมาบริหารจิต กดข่มอย่างตั้งมั่นจนเกิดสมาธิกลายเป็นฌานในที่สุด แต่นั่นก็เป็นฌานโลกีย์ทั่วไป วิธีเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพุทธศาสนา มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน และจะมีไปจนตราบโลกแตก
การใช้สมถะหรืออุบายทางใจเข้ามาบริหารจิตใจนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่กำหนดจิตให้นิ่ง อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำใดคำหนึ่ง ภพใดภพหนึ่ง อิริยาบถหนึ่งๆ หรือใช้ธรรมะ คำพูด คำคม คติสอนใจ เหตุผล ความคิดบวกเข้ามาตบความคิดที่ฟุ้งซ่านเหล่านั้นให้สงบลง กดไปจนกระทั่งเกิดสภาพสงบต่อเนื่องหรือเป็นสมาธิ วิธีเหล่านี้เป็นการทำสมถะที่เป็นการปฏิบัติหลักเดียวของฤๅษี ซึ่งในปัจจุบันมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา
วิธีปฏิบัติที่ทำแต่สมถะอย่างเดียว จะมีปลายทางคือกลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดความสงบ ติดในสิ่งที่ตนเชื่อ นั่นเพราะพอสามารถใช้สมถะจนทำให้เกิดความสงบได้ก็มักจะเข้าใจว่าวิธีนี้คือการปฏิบัติแบบพุทธ แล้วหลงไปยึดมั่นถือมั่นในวิถีสมถะเหล่านี้ว่าเป็นทางพ้นทุกข์ จึงทำให้ติดสุข ติดสงบ ติดภพไปอีกนานแสนนาน
นั่นเพราะเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้ว เราก็จะไม่สนใจสิ่งอื่น แม้มีธรรมอื่นเราก็จะไม่ศึกษา มองไม่เห็นคุณค่าเพราะได้ยึดมั่นถือมั่นแนวทางปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ นี่คือความซวยของการปฏิบัติแต่สมถะรวมถึงผู้ที่หลงปฏิบัติแต่สมถะแล้วเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา
ดังนั้นสภาพของฤๅษีก็จะเกิดในคนปฏิบัติธรรมทั่วไปนี่เอง รูปที่เห็นภายนอกเราอาจจะรู้ได้ยาก แต่ถ้าได้ขยายวิธีปฏิบัติกันก็จะรู้ได้ชัดแจ้งซึ่งสมัยนี้ก็จะมีลูกครึ่ง คือครึ่งผีครึ่งคน จะเอาดีทางสมถะก็ทำไม่เต็มที่ ยังวนเวียนอยู่ในกามไม่ยอมตัด หรือไม่ยอมกดข่มให้ดับไปเสียที กลายเป็นคนปฏิบัติธรรมที่กามก็ยังไม่ละ อัตตาก็หนาเตอะแล้วก็ปฏิบัติสมถะไปแบบครึ่งๆกลางๆเช่นนั้นเอง หรือที่มักจะคิดไปเองดังคำว่า ”สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม” คือกามก็ยังเสพอยู่ แล้วเข้าวัดหรือปฏิบัติธรรมตามสมัยนิยม
คนปฏิบัติที่หลงทางจะออกอาการดังที่กล่าวมา แท้จริงแล้วทางสายกลางของพุทธ คือ กามก็ไม่เสพ และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตา อธิบายกันโดยสรุปก็คือไม่ไปทำตามใจกิเลสและไม่มีความติดดีนั่นเอง
การทำสมถะนั้นจะหลับตา ลืมตา ขยับตัว เคลื่อนไหว หรือนั่งนิ่ง มันก็ทำสมถะได้ทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับอิริยาบถ แต่เกี่ยวกับกระบวนการว่ากระทำสิ่งนั้นอย่างไร เพื่ออะไร
การทำสมถะนั้นจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มพลังให้กับการวิปัสสนาได้ นั่นเพราะพลังกดข่มที่ได้จากการฝึกฝนสมถะนั้นจะมาช่วยกด และยับยั้งกิเลสไม่ให้กำเริบนั่นเอง แต่การที่เราหมายเอาสมถะเป็นแนวทางหลักในการพ้นทุกข์นั้นจะทำให้หลงไปไกล สุดท้ายก็จะกลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาล
เรากำลังจะเป็นฤๅษีหรือไม่?
วิธีตรวจว่าเราติดการใช้สมถะกดข่มหรือไม่ ก็ให้สังเกตว่าเวลากระทบกับเหตุการณ์ใดๆ แล้วเราใช้กระบวนการใดมาต่อกรกับเหตุนั้นๆ ถ้าเราใช้วิธีเช่น ใช้คำบริกรรมต่างๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง เลิกคิดเรื่องนั้นแล้วกำหนดรู้เรื่องอื่น คิดบวก ใช้ธรรมะ ข้อคิด คำคม ฯลฯ เข้ามากดข่ม ”ผล” ที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาแซงคิวระหว่างเรารอซื้ออาหาร เราก็เกิดความรู้สึกโกรธขึ้น ถ้าเรากำหนดจิต ให้เลิกคิด, ให้รู้ตัว, หยุดปรุงแต่ง, โดนแซงก็แค่โดนแซง, การโดนแซงก็เป็นเช่นนั้นเอง, ความโกรธเกิดขึ้นเดี๋ยวก็ดับไป, ความโกรธไม่ใช่เรา, เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้, ปล่อยวาง, ช่างมัน หรืออื่นๆในแนวทางนี้ ก็จะเป็นการใช้สมถะเข้ามาแก้ปัญหา
ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการใช้เหตุผลภายนอกหรือตรรกะเข้ามากระทำต่อจิตที่สั่นไหวให้สงบ การใช้วิธีสมถะจะเป็นการดึงองค์ประกอบอื่นๆหรือองค์ประกอบภายนอกมาใช้ในการใช้พิจารณาเพื่อดับสภาวะของจิตที่เกิดกิเลสนั้นๆ
แต่การวิปัสสนาจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาภายในคือ ทำไมเราจึงโกรธ เราโกรธเพราะอะไร คือขุดค้นไปที่เหตุที่ทำให้อาการโกรธนั้นเกิด และค้นต่อไปในกิเลสนั้นๆจนกว่าจะเจอรากของปัญหา แล้วค่อยพิจารณาธรรมแก้ให้ตรงจุด สกปรกตรงไหนก็ขัดตรงนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาจากภายใน ไม่ใช่การใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามากดไว้แบบสมถะวิธี
ผลที่ได้จะแตกต่างกัน การใช้สมถะจะได้ความสงบจากการใช้อุบายหลอกจิต กดข่มจิต ชักนำจิตให้หยุดฟุ้งซ่าน แต่การวิปัสสนาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆไปตามลำดับจนกระทั่งเกิดความสงบขึ้นมาซึ่งจะไม่ได้เกิดความสงบในทันทีเหมือนวิธีสมถะ แต่ความสงบจากกิเลสด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในกิเลสนั้น จะมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เวียนกลับ ไม่มีการเกิดดับในกิเลสนั้นๆอีกต่อไป ซึ่งต่างจากสมถะวิธีที่ต้องคอยกดทุกครั้งที่จิตเกิดอาการสั่นไหวเพราะกิเลส และจะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่วนเวียนไปไม่จบไม่สิ้น
ในบางกรณีเมื่อปฏิบัติสมถะไปจนเก่งจะพบว่าอาการสุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องใช้สะท้อนให้เห็นกิเลสจะดับไปโดยอัตโนมัติ เรียกว่ากดข่มอย่างอัตโนมัติโดยที่สติไม่ได้มีการทำงาน แต่จิตทำงานด้วยตัวเองไปตามสัญชาติญาณของผู้ที่ฝึกสมถะมามาก จนบางคนหลงไปว่านั่นคือสติอัตโนมัติ ทั้งๆที่สภาพของการตัดรอบของจิต หรือการกดข่มอัตโนมัตินั้นไม่มีสติเสียด้วยซ้ำ และนี่เองคือความยากในการศึกษาวิปัสสนาของผู้ติดสมถะ เพราะจะมีสภาพเหมือนจะจัดการกิเลสได้ตลอดเวลาทั้งๆที่เป็นการกดข่มโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการปฏิบัติสมถะนั้นไม่ได้เป็นการสร้างญาณในการรับรู้กิเลสให้เจริญขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้นักสมถะจำนวนมากหลงผิดว่าบรรลุธรรม ติดภพไปในที่สุด กดข่มกันได้ยาวนานข้ามภพข้ามชาติ
แนวปฏิบัติของการสมถะคือการควบคุมการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของจิต จะเข้าใจว่าธรรมะมีแค่การเกิดดับเท่านั้น จึงหมายเอาการดับอย่างต่อเนื่องเป็นการบรรลุธรรม เหมือนเข้าใจว่าปิดสวิตช์ทั้งหมดก็เข้านิพพานได้แล้ว เป็นความหยาบที่มองแต่ผลโดยข้ามการปฏิบัติที่ถูกตรงไป เพราะสมถะนั้นปฏิบัติได้ง่าย มีแค่กดข่มได้กับกดข่มไม่ได้เท่านั้น เหมือนกับการเปิดปิดนั่นเอง แต่การวิปัสสนาไม่ได้มีมิติเช่นนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธจะต้องทำไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด พัฒนาไปทีละน้อย ไม่ใช่ทำความดับในทันที แต่กระทำไปเพื่ออธิปัญญาจนกระทั่งถึงวิมุตติที่จะเข้ามาทำให้กิเลสนั้นตายจนการเกิดของกิเลสในจิตนั้นดับไปเอง
โดยหลักของสมถะมักจะมองไปที่การดับความคิด ดับความฟุ้งซ่าน หรือกระทั่งการดับสัญญา แต่วิปัสสนานั้นจะมุ่งไปที่ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วดับทุกข์นั้นๆด้วยวิธีการดับทุกข์ที่ถูกทางของพุทธ กล่าวโดยย่อคือสมถะมุ่งเน้นไปที่ความไม่ทุกข์เพื่อการหลุดพ้น ส่วนวิปัสสนานั้นกระทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อการหลุดพ้น
อธิบายสรุปรวมในทางธรรมก็คือ สมถะปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิจนเกิดฌาน แต่วิปัสสนาปฏิบัติฌานจนจิตเกิดเป็นสมาธิ สภาพสมาธิที่หมายนั้นก็ต่างกัน ฌานที่หมายนั้นก็ต่างกัน การปฏิบัติสมถะจนเกิดสมาธิก็คือการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติกำหนดรู้ทั่วไปจนพัฒนาเป็นฌานโลกีย์ไปตามลำดับ แต่การวิปัสสนานั้นจะใช้ฌานในการเพ่งเผากิเลสจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิที่เป็นผลเจริญของการปฏิบัติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีทางสมถะและวิปัสสนานั้นจะกลับหัวกลับหางกัน คนที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถใช้สมถะเป็นอุปการะได้ แต่คนที่เข้าใจเพียงสมถะจะทำให้ติดอยู่ในวิธีการปฏิบัติแบบโลกียะ ทำให้ผลที่ได้นั้นเป็นโลกียะไปด้วย แม้จะได้ผลคือความสงบ เกิดสมาธิ แต่สมาธินั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิในแบบของพุทธ เป็นสมาธิแบบฤๅษีทั่วไป กลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาลนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
5.3.2558