Tag: กินเจ

สมรภูมิคนดี

August 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,445 views 0

สมรภูมิคนดี

สมรภูมิคนดี : บททดสอบที่จะประดังเข้ามาเพื่อพิสูจน์ความดีที่แท้จริง (กรณีศึกษามังสวิรัติ)

คนทุกคนย่อมพยายามผลักดันตนเองไปสู่ความดีที่ตนเห็นว่าดีกันทุกคน เส้นทางแห่งความดีนั้นไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่าย มีบททดสอบมากมายที่จะเข้ามาพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีนั้นดีจริงแท้หรือไม่

ในบทความนี้จะยกตัวอย่างคนที่พยายามลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะทำตนเองให้ดีขึ้น ให้เบียดเบียนสัตว์อื่นน้อยลง เป็นทางสู่ความดีทางหนึ่งด้วยเนื้อหาต่างๆรวม 7 ข้อ

1). การทดสอบความตั้งมั่น(บททดสอบกาม – การเสพติดเนื้อสัตว์)

คนที่คิดจะพยายามทำดีในชีวิต เช่นในเรื่องของการลดเนื้อกินผัก จะเจอบททดสอบแรกที่ท้าทายความดี คือจะละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริงไหม จะกินได้นานเท่าไหร่ ถ้าโดนยั่วยวนด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยง รวมญาติ งานรื่นเริง หรือสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ เราจะยังตั้งมั่นอยู่ไหม เราจะกลับไปกินไหม เราจะหาเหตุผลไปกินไหม และที่สำคัญที่สุดคือเรายังเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ในชีวิตเราอีกไหม เรายังหลงว่ามันเป็นของดีอีกไหม เรายังมีความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่ไหม เรายังยินดีให้คนที่รักกินเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม เรายังเหลือเยื่อใยใดๆกับเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความตั้งมั่นของผู้ที่จะลดเนื้อกินผักตลอดช่วงเวลาที่คิดจะทำดี

2). ออกสู่โลกภายนอก ( เตรียมเข้าสู่บททดสอบอัตตา )

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้าอยากให้เกิดสิ่งดีมากขึ้น เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะต้องทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้เราได้เป็นคนดีขึ้นอย่างใจหวัง นั่นก็คืออัตตา หรือความยึดดีถือดี อัตตาจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำให้เราแข็งกระด้าง ทำให้เราไม่เมตตา ทำให้เราต้องสร้างศัตรู ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนผู้อื่นให้ศึกษาเพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์

ผู้ที่เข้ามาทดสอบจะเป็นไปตามธรรม เป็นไปตามสิ่งที่เราทำ ถ้าเราลดเนื้อกินผักอยู่ในภพ คือ กินโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โจทย์ก็มักจะน้อย แม้จะลดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ดี สามารถออกจากกามได้ แต่ก็ยากที่จะวัดเรื่องอัตตาได้

และถ้าเราเริ่มออกจากภพ ออกจากถ้ำ ออกจากที่มั่น เริ่มอธิศีลขึ้นไปอีกระดับ พยายามสร้างกุศลขึ้นไปอีก คือการพยายามชักชวนผู้อื่นให้ลดเนื้อกินผัก ก็จะเริ่มมีโจทย์ที่มากขึ้นมาตามธรรมเช่นกันและนี่คือการก้าวสู่คนดีที่ดียิ่งขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะต้องพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างที่จะประดังเข้ามามากขึ้น

ซึ่งความหนักของบททดสอบนั้นจะมากและแรงขึ้นเรื่อยๆตามความดีที่ทำ ยิ่งทำดีมาก ยิ่งมีบารมีสูงมาก โจทย์ก็ยิ่งยาก ยิ่งหนัก ยิ่งแก้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดสอบว่าเราดีจริงหรือไม่ เราจะทำดีได้มากกว่านี้ หรือจะเลิกล้มลงตรงนี้

3). การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น( รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง )

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเอาชนะกัน การเถียงกัน เป็นการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนเราได้ ขนาดบุรุษที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนศรัทธาได้

เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า การทำดีของเรานั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ไม่ใช่เพื่อข่มเหงใคร ไม่ใช่เพื่ออวดในคุณความดีที่ตนได้ แต่เป็นการทำดีเพื่อจะสร้างเหตุในการขัดเกลาตนเองให้เป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้น การต่อสู้ภายนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น การเถียงเอาชนะกันมีแต่จะเสื่อมศรัทธาต่อกัน เขาก็ยังกินเนื้อเหมือนเดิม เราก็ได้ศัตรูเพิ่ม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาผลแพ้ชนะทางโลกเป็นเป้าหมาย การเพิ่มคนลดเนื้อกินผักไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการเพิ่มคนดีขึ้นมาอีกหนึ่งคน นั่นคือทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น ไม่ใช่การไปทำคนอื่นให้ดีอย่างใจเรา

การต่อสู้ภายในนั้นมีวันสิ้นสุด เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้สู้กับใครเลย เราสู้กับใจตัวเองเท่านั้น สู้กับความยึดดีถือดี ความเอาแต่ใจ ความคาดหวัง เราสู้กับกิเลสของตัวเราเองเท่านั้น คนที่วุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ภายนอก จะเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องสู้กับคนที่เห็นต่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์

4). ผู้เข้ามาทดสอบ(บททดสอบอัตตา – การยึดดีถือดี )

กรรมจะลิขิตขีดเขียนสร้างเหตุการณ์และผู้ที่เข้ามาทดสอบความยึดดีถือดีด้วยลักษณะและลีลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเข้ามาเพื่อกระทบแค่ครั้งเดียว ,มาๆหายๆ , มาแบบกัดไม่ปล่อย, ลากเราไปรุมขยี้ ฯลฯ ก็เป็นรูปแบบการเข้ามาของบททดสอบต่างๆ ซึ่งเราควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหมดนั่นคือผลของกรรมที่เราทำมา เรากำลังได้รับผลกรรมของเรา เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้น และใช้หนี้กรรมชั่วให้หมดไป โดยจะยกตัวอย่างลักษณะของผู้ที่เข้ามาคร่าวๆดังนี้

นักเลง คนพาล –มักจะมาในลักษณะหาเรื่อง เพ่งโทษ มีการดูถูก ประชด เยอะเย้ย ฯลฯ คือขอให้ได้ข่มก็พอใจ ถ้าเจอคนลักษณะนี้ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง เขามาวัดโทสะเรา ว่าเราจะโกรธไหม จะแค้นไหม จะขุ่นเคืองไหม เราก็เจริญเมตตาจิตไป และค้นหาเหตุแห่งความโกรธว่าการที่เขามาว่า มาด่าเรานั้น เราจะโกรธทำไม เรายึดดีถือดียังไงเราจึงต้องไปโกรธเขา

คนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง – อาจจะเป็นคนที่รีบสรุป อ่านน้อย ฟังน้อย หรือเข้าใจผิด มักจะพูดคนละประเด็น หรือพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ พอจะคุยกันได้ ไม่ทะเลาะกันรุนแรง แต่มักจะหาข้อสรุปไม่ได้ ยิ่งคุยก็ยิ่งงง เจอแบบนี้ก็ตรวจดูว่าหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไหม พยายามจะไปยัดเยียดความรู้ให้เขาไหม ก็ล้างความยึดดีถือดีของเราไป บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเรื่องได้ก็เปลี่ยน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง

ผู้คมกฎ – เป็นคนที่เข้ามาบัญญัติ ข้อกำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำแค่นี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมังสวิรัติ ถ้าทำแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก อาจจะพ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียดได้ในบางกรณี ก็กลับมาตรวจใจเราว่าขุ่นเขืองไหม สิ่งที่เขาแนะนำเป็นกุศล สมควรทำจริงหรือไม่ เหมาะสมกับฐานจิตของเราหรือไม่ ถ้าเขาแนะนำเกินก็ไม่เป็นไร เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมตามฐานจิตของเรา เท่าที่เราจะทำไหวในขีดที่เราจะพัฒนาขึ้นไปได้โดยลำดับ

ผู้ไม่เห็นด้วย –คนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง มักจะมีข้อมูล มีเหตุผล มีที่อ้าง เราจะวางใจได้ไหม ถ้าเขามีข้อมูลที่แย้งกับของเรา เราจะลองศึกษาของเขาดูบ้างได้ไหม เราจะเมตตาให้ความรู้กับเขาโดยที่ไม่ไปแข่งดีเอาชนะกับเขาได้ไหม และถ้าเขาไม่เอาดีตามเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม จะยอมปล่อยให้เขาเชื่อในแบบของเขาได้ไหม

ผู้ที่เห็นว่าดีแต่ไม่เอาด้วย – คนที่เข้ามาเห็นดีกับเราในบางส่วน แต่ไม่ยินดีจะเอาด้วย ไม่ร่วมด้วย มักจะมีข้ออ้าง ข้อหลบเลี่ยงในการไม่เอาดี นั่นเพราะเขายังไม่เห็นว่าทำแบบเรานั้นดีพอที่เขาจะเอา มักจะมีภพที่เข้าใจว่าดีกว่ายึดอาศัยอยู่ เข้าใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำ ซึ่งมักจะเข้ามาชมแกมข่ม ลูบหลังแล้วตบหัว มักจะมีแนวทางของตัวเองอยู่ มักประกาศตนอยู่เนืองๆว่ามีดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เรางงว่าจะมายังไงกันแน่ ก็ลองตรวจใจตัวเองว่าขุ่นเคืองใจไหม เขามาข่มจะยอมให้เขาข่มได้ไหม ยอมให้เขาเผยแพร่ความเห็นของเขาได้ไหม บอกเขาไป เตือนเขาไปแล้วเขาข่มกลับ เราวางใจได้ไหม

คนดีที่เห็นต่าง – เป็นโจทย์ที่ยากกว่าคนทั่วไป เช่นการนำคำพูดของคนที่ปฏิบัติดี มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่านับถือมาอ้างอิง ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติอยู่ จะทำอย่างไรในเมื่อคุณความดีของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราจะทุกข์ทรมานจากความยึดดีไหม เราจะแสวงหาคำตอบเหล่านั้นไหม เราจะอึดอัดขัดเคืองกับการไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็ไม่สมควรไปโต้แย้งในบางประเด็น เราจะวางใจได้หรือไม่ ลองพิจารณาทบทวนตามที่เขาว่าได้ไหม สำรวจตัวเองอีกครั้งได้ไหมว่าสิ่งที่เราคิดและทำอยู่นั้น เราถูกจริงดีจริงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ แม้จะมีคนดีที่เห็นต่าง เราจะยังมั่นคงอยู่ในคุณความดีที่เราทำได้จริงได้หรือไม่

คนดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางประเด็น – เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือการที่คนดีที่เห็นตรงกันแล้วมาเห็นต่างกันในบางประเด็นนี่แหละ โจทย์นี้จะวัดความยึดดีถือดีของเราได้อย่างรุนแรงที่สุด ในเมื่อเขาก็เห็นอย่างเรา และปฏิบัติได้อย่างเรา แต่มีบางประเด็นที่เห็นต่างกันไป เราจะยอมรับได้ไหม เราจะยินดีฟังไหม เราจะยึดว่าของเราดีกว่าของเขา จนไม่ฟังไหม คนดีที่เห็นตรงกันจะแนะนำสิ่งที่แตกต่างกันด้วยความหวังดี เรียกว่าการชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับ เพราะชี้ผิดก็มี ชี้ถูกก็มี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยิ่งคนดีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยึดดี อย่าคิดว่าคนดีจะวางดีกันง่ายๆ ยิ่งเก่ง ยิ่งสะสมบารมีมากก็จะยึดมั่นถือมั่นมากเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งล้างความยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้

5). การเรียนรู้โลกจากบททดสอบ

เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่างที่ประดังเข้ามาหาเรา ถ้าเขาติมาเราก็ฟังไว้ จะได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง จุดที่คนถือสา จุดที่เป็นอกุศล ฯลฯ การที่จะมีคนมาช่วยชี้ช่วยบอกจุดบกพร่องของเรานี่ไม่ง่ายนะ เขามาทำให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ต้องขอบคุณเขา ส่วนที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมาล้างใจของเรา

6). การขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดียิ่งขึ้น

การที่คนเห็นต่างเข้ามาแนะนำ ติชม ด่า ว่า เหน็บแนม ประชด ดูถูก ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดียิ่งขึ้นได้ เพื่อให้เราได้นำสิ่งกระทบเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบว่า เราโกรธหรือไม่ เราไม่ชอบใจหรือไม่ เราขุ่นใจหรือไม่ ใจเราสั่นไหวหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร แล้วจะกำจัดอาการเหล่านั้นได้อย่างไร การชมเชย และการให้กำลังใจก็เช่นกัน เราอิ่มใจ ฟูขึ้นในใจหรือไม่ เราลอยหรือไม่ เราเหลิงหรือไม่ เราหลงไปในคำชมเหล่านั้นหรือไม่ ทั้งนินทาและสรรเสริญนี้เองจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตใจของเรา

7). ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

เป้าหมายของการขัดเกลาจิตใจคือการทำดีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดผลดี ซึ่งจะต้องเกิดจากการทำดีอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีกำลังพอจะทำได้ แล้ววางผลที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เรามุ่งเน้นการทำดี แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผล เพราะผลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่ยากที่สุดคือการปล่อยวางการยึดในบทบาทและหน้าที่ เพราะเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เราช่วยทุกคนไม่ได้ หากเรายังยึดว่าเราจะต้องช่วยสัตว์ ช่วยทุกคนให้พ้นจากการเบียดเบียน เราเองจะเป็นคนที่ไม่พ้นไปจากทุกข์

การทำดีโดยที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกูของกู จะเป็นการทำดีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นการทำดีที่พร้อมจะวางดีทุกเมื่อ พร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย พร้อมจะล้มและพร้อมจะลุกเดินหน้าทำดีต่อไปอีก เป็นคนดีที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตายไปจากความดี พร้อมจะทำดีโดยไม่มีเงื่อนไขให้ใจต้องเป็นทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

9.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

July 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,965 views 0

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…

ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย

ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง

ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน

แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา

แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว

แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย

และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย

– – – – – – – – – – – – – – –

21.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรื่องลดเนื้อกินผัก

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,396 views 0

ปกติผมจะไม่ค่อยได้พิมพ์เกี่ยวกับวิธีการเลิกกินเนื้อสัตว์สักเท่าไหร่ ส่วนมากจะพิมพ์ในแนวทางของการลดอัตตา เพราะอยู่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ กินเจกันได้บ้างแล้ว

จริงๆแล้วเรื่องการลดเนื้อกินผัก จนกระทั่งเลิกกินได้เลยนั้น เป็นปัญญาระดับทั่วไป เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะมันเป็นเหตุของการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

ในคลิปนี้ จะเห็นได้ว่าการมีความกรุณาช่วยเหลือผู้อื่นนี่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จะกระชากก็กลัวมันจะเจ็บ ก็ต้องระวังและค่อยๆทำ ผู้ที่มีความเจริญทางจิตใจ มีหิริ ดูเพียงเท่านี้ก็จะสำนึกได้เองว่าการเบียดเบียนสร้างทุกข์ให้กับผู้อื่น อย่างไร

เรียกว่าใช้เชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถขยายผลไปที่การเบียดเบียนแบบองค์รวม ได้ ส่วนคนที่ยังไม่เจริญนัก ก็ขยันดูที่มาที่ไปของเนื้อสัตว์ที่ซื้อบ่อยๆก็จะพอ สำนึกได้

ในส่วนคนที่ดูยังไงมันก็ยังไม่เกิดความรู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าอยากลดละเลิกการเบียดเบียน ก็สามารถใช้วิธีทำชั่วไปจนกรรมชั่วนั้นมากระทบให้ได้ซึ้งถึงทุกข์ของการ เบียดเบียนได้เช่นกัน (เช่น พระเทวทัต)

เรามีวิธีเข้าถึงธรรมได้มากมายหลายวิธี ใครชอบวิธีเบาๆสบายๆก็ขยันทำดีไป ใครชอบหนักๆ โหดๆ ก็ขยันทำชั่วไป สุดท้ายก็จะมีปัญญาเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียนอยู่ดี

กะลา 3 ใบ

February 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,328 views 0

กะลา 3 ใบ

กะลา 3 ใบ

ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )

การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป

กะลา…

กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้

ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น

ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ

…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม

ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์

คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้

คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก

ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้

ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว

การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้

การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป

ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก

แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ

ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น

จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้

ค). คนที่ปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว

เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที

ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก

แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา

– – – – – – – – – – – – – – –

27.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)