Tag: การพ้นทุกข์

ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา

May 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,961 views 0

ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา

ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา

การปฏิบัติธรรมนั้น หากคิดจะก้าวหน้าได้ไวเพื่อให้เรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยหนทางที่สั้นและง่ายที่สุดนั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางเป็นผู้ชี้ทาง มีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ แบ่งปัน เสนอแนะ และตักเตือนกัน จึงจะสามารถเจริญไปได้เร็วที่สุด

การเริ่มต้นปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มจากการเสาะแสวงหามิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เพราะถ้าพยายามปฏิบัติไปทั้งที่ไม่รู้ทางก็คงหลงทางเสียเวลาไปเปล่าๆ

การแสวงหาครูบาอาจารย์นั้นต้องเริ่มด้วยการมีเหตุปัจจัยสองอย่างคือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นและการนำมาขบคิดพิจารณา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมักจะเกิดสภาพยึดมั่นถือมั่นเมื่อเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกใจ เมื่อปฏิบัติไปนานเข้าก็จะปิดใจ ไม่รับฟังแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างจากตน และนั่นอาจจะหมายถึงการปิดประตูสู่การพ้นทุกข์เลยก็ว่าได้

เพราะไม่มีใครรู้ได้เองหรอกว่า อาจารย์ที่ตนเจอนั้นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ เพราะถ้าตัดสินด้วยทิฏฐิของคนที่ยังหลงทางแล้ว มันก็ดูเหมือนจะสัมมาทั้งหมดนั่นแหละ คือเราชอบอะไร ถูกใจอะไร เราก็เหมาว่าสัมมาหมด เพราะคิดตรงกับเรา เป็นอย่างที่ใจเราหมาย และเมื่อคิดว่าถูกจึงปักมั่นลงไป

การพิสูจน์ว่าของจริงหรือไม่นั้นเกิดจากการนำธรรมของท่านเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม ซึ่งความเจริญนั้นจะสามารถวัดได้จากความโลภ โกรธ หลง ที่ลดน้อยลง สรุปง่ายๆว่าถ้าถูกทางกิเลสต้องลด ถ้าปฏิบัติตามแล้วกิเลสไม่ลดก็ควรจะทบทวนทิศทางและศึกษาแนวทางอื่นๆประกอบ

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่จะสามารถเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงได้ไว คือผู้ที่เปิดใจรับฟังการปฏิบัติที่หลากหลาย และนำหลักการเหล่านั้นมาปฏิบัติตามโดยใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงสาระประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมนั้นได้

แต่ถึงอย่างนั้นการจะได้พบครูบาอาจารย์หรือสหายธรรมนั้นก็มีข้อจำกัดในเรื่องของกรรม นั่นคือเราไม่สามารถได้มากกว่ากรรมที่เราทำมา เราไม่สามารถพบอาจารย์ที่ถูกตรงได้เลย หากเราไม่มีกรรมที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงหรือกรรมดีที่จะพาให้พบกับคนที่ถูกตรงได้ สรุปได้ว่า เราไม่สามารถพบกับสิ่งดีได้เกินกว่ากรรมดีที่เราทำมา

ดังนั้นเราจะเห็นได้ในสังคมที่ว่า คนบางพวกไปศรัทธากับผู้บวชมาหากินกับศาสนาบ้าง ศรัทธาครูบาอาจารย์ที่ใช้เดรัจฉานวิชาบ้าง ศรัทธาอลัชชีบ้าง นั่นเพราะพวกเขามีกรรมที่ต้องไปศรัทธาคนเหล่านั้น มันหนีไม่พ้น จะพยายามอย่างไรก็จะต้องไปจมกับสิ่งเดิม เพราะมีกรรมที่เคยผูกกันมาหลายภพหลายชาติเป็นพลังดูดดึงที่มองไม่เห็น

ในทางเดียวกัน คนที่ทำดีมากๆก็เช่นกัน เขาก็จะมีพลังดูดดึงกันระหว่างคนดี ได้พบกับคนที่ดี ได้พบกับผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงจริง ได้เจอมิตรดี สหายดี เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ทำมาเช่นกัน เพราะเคยเกื้อกูลคนดีมาหลายต่อหลายชาติ แล้วชาตินี้มันจะหนีไปไหนพ้น มันก็เจอแต่คนดี หลงไปในหมู่คนดีอยู่นั่นเอง

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่จะลิขิตเส้นทางให้ได้เจอกับคนดี ส่วนกรรมใหม่นั่นคือจะคว้าโอกาสนั้นไว้หรือไม่ จะสนใจหรือไม่ หากได้เจอครูบาอาจารย์ที่คิดว่าสามารถชี้ทางให้พ้นทุกข์ได้ แล้วเราจะสามารถปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือเรายังมีกรรมกิเลสที่ต้องเป็นทาสกิเลส ไปคอยเสพสิ่งต่างๆให้เสียเวลาปฏิบัติธรรมไปอีกหรือไม่

การมีกรรมเก่าผลักดันให้เจอคนดี ไม่ได้หมายความว่าจะเจอได้ทุกชาติ กรรมดีมันก็มีหมดเหมือนกัน กรรมใดที่ส่งผลไปแล้วมันก็หมดพลังของมันเอง ทีนี้พอกรรมดีส่งผลให้เจอกับคนดี แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ ให้เวลาไปกับการสนองกิเลส กรรมดีที่ทำมานั้นก็เสียเปล่า ส่วนกรรมชั่วที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็รอส่งผล ซึ่งมันก็ทำให้เสื่อมลงไปได้เรื่อยๆเช่นกันหากไม่ได้ทำกรรมดีเพิ่ม

ดังนั้นถ้าอยากเจอคนดี เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงไม่พาหลงทางจริงๆ ก็ให้ทำดีให้มากๆ เพียรทำดีโดยไม่ประมาท ขยันศึกษารับฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนยึดมั่นถือมั่น และนำมาพิจารณาหาประโยชน์ที่แท้ แม้ว่ากรรมเก่าจะมีพลังดีไม่มากนัก แต่กรรมใหม่ที่ทำนั้นทรงพลังมากกว่า ฟ้าไม่มีทางกั้นให้คนดีไม่พบกับทางพ้นทุกข์ได้นาน แม้จะหลงทางไปบ้างแต่ถ้าขยันทำดีไปเรื่อยๆ วิบากกรรมดีก็จะดลให้ได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงในวันใดวันหนึ่งเอง

พอเจอผู้ชี้ทางแล้วได้ฟังธรรม นำมาศึกษาและปฏิบัติจนเกิดผล กิเลสลด ความโลภ โกรธ หลง เบาบาง ปฏิบัติศีลที่ยากได้ดีขึ้น เช่นสามารถมีศีล ๕ ได้โดยปกติทั้งกาย วาจา ใจ นิสัยดีขึ้น มีความสุขขึ้น มักน้อยกล้าจนมากขึ้น กล้าที่จะเสียสละแบ่งปันให้กับผู้อื่นมากขึ้น สามารถที่จะรับรู้ถึงความเจริญเหล่านี้ได้เอง จนเข้าใจได้ว่าธรรมของท่านเหล่านั้นเป็นของจริง ทำให้ลดกิเลสได้จริง ทำให้เกิดความผาสุกได้จริง ทำลายสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นได้จริง

เช่นจากที่เคยชอบกินขนมชนิดหนึ่งมาก ก็ประหารความอยากนั้นได้จริงๆ ,เคยกินเนื้อสัตว์ ก็หันมากินมังสวิรัติได้แบบปกติสุข , เคยกินหลายมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียวได้อย่างมีปัญญา , เคยอยากมีคู่ แต่ก็ทำลายความอยากนั้นจนสิ้นซากได้ต่อหน้าต่อตา พอมันทำได้จริงเช่นนี้ เอาวิธีปฏิบัติมาทำให้เกิดผลเจริญได้แบบนี้ มันก็หมดสงสัยอีก ไม่ต้องถามกันอีกว่าถูกหรือผิด เพราะถ้าผิดมันทำลายกิเลสไม่ได้อยู่แล้ว มีแต่ทางที่ถูกเท่านั้นที่จะสามารถต่อกรกับกิเลสได้

นั่นหมายความว่ามีแต่สงฆ์สาวกแท้ๆของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถสอนวิธีทำลายกิเลสจนสิ้นซากได้ นอกเหนือจากนี้ไม่มี วิธีอื่นใดในโลกไม่มี วิธีจัดการกับกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นนอกจากนี้ไม่มี

พอรู้ได้ด้วยตนเองเช่นนี้ก็ถือว่าจบภารกิจในการตามหาครูบาอาจารย์และมิตรสหาย เพราะรู้ว่าถ้าทำดีไปตามแนวทางนี้ก็จะได้พบกับคนที่ดียิ่งขึ้น คนที่เก่งกว่านี้ และที่แน่นอนคือเราสามารถทำตนเองนี่แหละให้ดียิ่งๆขึ้น จนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้เป็นขีดความสามารถของกรรมใหม่ที่สามารถทำได้ แม้ว่ากรรมเก่าจะขีดเขียนมาเช่นไรก็ตาม แต่หากเราใช้ทุกวันของชีวิตเพียรสร้างกรรมดีใหม่ๆขึ้นมา โอกาสที่จะได้เรียนอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐสุดของชีวิตก็จะถูกเปิดเผยให้ได้ไขว่คว้ามา

ยกเว้นเสียแต่ชีวิตนี้ได้ทำอนันตริยกรรมลงไปแล้ว ประตูโอกาสทุกบานก็จะถูกปิดลง แม้จะมีทางแต่ก็ไม่เห็น แม้จะมีพระอรหันต์อยู่ตรงหน้าแต่ก็ไม่รู้ แม้จะมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ประกาศอยู่แต่ก็จะไม่เข้าใจ แม้ครูบาอาจารย์จะเก่งแค่ไหนแต่ก็ไม่มีวันจะเรียนรู้ได้ เรียกได้ว่าหมดโอกาสบรรลุธรรมในชาตินี้ คงทำได้อย่างมากแค่ทำดีเท่าที่กำลังปัญญาจะพอมี และรอวันตายไปฟรีๆอีกหนึ่งชาติ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

March 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,479 views 0

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ

วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที

สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น

และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔

๑). ทุกข์

เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา

๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย

การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้

๒).สมุทัย

การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้

๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ

๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?

ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น

๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย

๓).นิโรธ

นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง

๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร

๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ

๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ

๔). มรรค

มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ

๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม

วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ

๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้

แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร

สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต

ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

6.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,349 views 0

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน แนวคิดในการแก้กรรมหรือการแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดโดยใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมที่ชวนให้ฉงนสงสัยในเหตุและผลต่างๆก็มีให้เห็นอยู่เสมอ เป็นความเห็นผิดที่จะอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่มีวันจะหมดไปและไม่มีวันจะเลือนหายไป

การที่พิธีกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่นั่นเป็นเพราะ มนุษย์บางพวกไม่ได้เข้าใจในเรื่องกรรมและไม่มีปัญญาพอจะแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นโทษได้ จึงหมายเอาเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องคิด เพียงแค่ใช้ศรัทธาก็สามารถพ้นทุกข์ได้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือให้เรียกง่ายๆว่าอยากพ้นทุกข์แต่มักง่ายนั่นเอง

ความมักง่ายหรือความขี้เกียจแสวงหาทางพ้นทุกข์หรือไม่ยอมเรียนรู้เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์นั้นก็นับว่าเป็นความขี้เกียจ ซึ่งความขี้เกียจนี้เองก็เป็นหนึ่งในลักษณะของอบายมุข เมื่อหลงติดในอบายมุขก็เท่ากับเวียนว่ายวนไปมาอยู่ในนรก ดังนั้นการจะจมอยู่ในวิธีแก้กรรมอย่างไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมต่างๆที่เป็นไปในแนวทางของเดรัจฉานวิชาจึงเป็นเรื่องที่จะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

…เดรัจฉานวิชา

การแก้กรรมที่อวดอ้างในสรรพคุณ ต่างๆ โดยใช้วิธีทางไสยศาสตร์ เช่น น้ำมนต์ สักยันต์ สวดมนต์แก้กรรม ร่ายมนต์ พิธีแก้บน ทำนายฝัน ดูดวง ดูดาว ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง ดูฮวงจุ้ย ทำนายทายทักให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาให้หลงมัวเมาในเดรัจฉานวิชา (ดูเพิ่มเติมได้จาก “มหาศีล”)

เดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ทำให้เกิดความโง่ เกิดความมัวเมาหลงผิด เป็นวิชาที่สร้างจากความโง่เพื่อใช้กับคนโง่อีกที คือการแก้กรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มตัว ไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่มีทางที่กรรมจะถูกแก้ไปได้

แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นว่ามีผลสำเร็จในบางคน นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่ามโนมยอัตตา คือการที่จิตปรุงแต่งบางสิ่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเอง เหมือนกับการสะกดจิต สภาพอาการนั้นเป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ในนามธรรมเช่นสามารถหายป่วยจากโรคเองได้ ซึ่งเป็นเพราะเราไปสั่งจิตให้หายโรคและโรคเหล่านั้นมักจะเป็นโรคทางจิต เช่น ซึมเศร้า ส่วนโรคทางกายภาพนั้นแค่พลังของจิตคงจะทำให้หายทันทีได้ยาก แต่การที่จิตปั้นปรุงแต่งความแข็งแรงก็มีผลเช่นกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของจิตวิญญาณทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็มีผลในเรื่องนี้อยู่ไม่ต้องใช้ไสยศาสตร์ก็สามารถเห็นผลนี้ได้

ในทางรูปธรรม มโนมยอัตตายังสามารถสร้างให้เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น เช่นเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นภาพพระพุทธรูป หรือจนกระทั่งทำให้ร่างกายปรุงแต่งท่าทางออกมาเป็นสภาพที่เรียกว่าของขึ้น บังคับตัวเองไม่ได้ ร้องไห้ ร่ายรำ เต้นแร้งเต้นกา เหล่านี้คือสภาพของมโนมยอัตตาที่รุนแรงจนปั้นจิตให้เป็นรูปร่างท่าทางได้ สภาพเหล่านี้คือสภาพที่ไร้สติทั้งสิ้น

การสังเกตวิธีที่ผิดไปจากพุทธหรือหันหัวไปในทิศตรงข้ามสู่การพ้นทุกข์ คือดูว่าสำนักหรือลัทธินั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อสะสมบริวาร เพื่อล่อลวงคนเป็นอันมาก เพื่อลาภ เพื่อความมั่งคั่ง เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อบารมี เพื่อให้มีคนมีบำรุงบำเรอตนเอง ลักษณะที่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสตนเองและผู้อื่นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพราก เพื่อการไม่มี เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อยกล้าจน เพื่อการลดกิเลสแล้วก็ให้พึงพิจารณาไว้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ทั้งนี้เดรัจฉานวิชาเองก็เป็นวิชาที่ผิดสัมมาอาชีวะอยู่แล้ว เพราะผิดในข้อที่ว่าด้วยการล่อลวงอย่างเต็มๆ หลอกลวงเต็มๆ แถมยังทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมอีก ผิดจากทางพุทธไปไกล ไม่พาให้พ้นทุกข์ แถมยังสร้างสุขลวงและทิ้งทุกข์จริงๆไว้อีก

…เรามีกรรมเป็นของของตน

หลักใหญ่ในเรื่องกรรมข้อแรกว่าด้วย เรามีกรรมเป็นของของตน นั้นหมายถึงกรรมของเรา ใครมายุ่งไม่ได้ คนที่จะไปแก้กรรมให้คนอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ การที่เราจะไปยุ่งกับกรรมของคนอื่นโดยใช้พลังจิต อำนาจต่างๆ หรือไสยศาสตร์ต่างๆนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน การที่จะเกิดผลดีผลร้ายก็เพราะกรรมของเขา ไม่ใช่ว่าเราไปสวดมนต์อ้อนวอนแล้วกรรมของเขาจะเปลี่ยนไปได้ ต่อให้มีคนเป็นล้านมานั่งสวดมนต์ขอพรให้คนคนหนึ่งหายป่วยก็ไม่มีวันที่เขาจะหายป่วยจากการสวดมนต์ของคนล้านคนได้ แต่เพราะเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองกรรมเขาจึงเปลี่ยน

การที่เราไปรู้กรรมคนอื่น ไปเห็นกรรมของคนอื่นดังที่เจ้าสำนักหลายๆที่อวดอ้างนั้นบางทีก็เป็นมโนมยอัตตา คือจิตปั้นแต่งขึ้นมาเอง มโนไปเอง ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ก็ตามบาปกรรมที่ทำไว้ร่วมกัน ถ้ามีวิบากบาปมากก็จะดลให้หลงไปในสิ่งผิดร่วมกัน ถ้าคนมีบุญก็จะทำให้ทายไม่ถูก ไม่ตรง ผิดเพี้ยน ทำให้คนนั้นไม่หลงมัวเมาในสิ่งผิด

ทั้งนี้การเดาใจ หรือการทายใจยังเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามมิให้สาวกกระทำ แม้จะเป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ที่มีจริงในตน เห็นจริง รู้จริง แต่ก็ห้ามไม่ให้ใช้ เพราะการเดาใจหรือทายใจนั้นเอง หรือการกระทำใดๆโดยใช้อิทธิปาฏิหาริย์ จะทำให้คนไม่สนใจเชื่อในเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องกรรม จะหลงไปเชื่อในบุคคลที่ใช้พลังเหล่านี้แทน ซึ่งไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญการกระทำเช่นนี้

…กรรมตามทัน

เรื่องกรรมนี่จริงๆเราไม่ต้องกลัวหรอก กรรมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าสิ่งดีหรือสิ่งร้ายที่เราทำเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เมื่อรู้และเข้าใจดังนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวกรรมตามทัน เพราะโดนแน่นอน ยังไงก็หนีไม่พ้น

ถ้าทำกรรมดีมากก็ได้รับดีมาก ถ้าทำกรรมชั่วมากก็ได้รับชั่วมาก ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ยุติธรรมดีอยู่แล้วที่เราจะได้รับสิ่งดีหรือสิ่งชั่วเท่าที่เราทำมา เราไม่มีทางรับดีหรือชั่วได้มากกว่าที่เราทำมา สิ่งที่เราได้รับแม้จะดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำมา แต่นั่นคือผลงานที่เราทำมาเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนจากความดีความชั่วที่เราเคยทำมา

เช่นเราไปซื้ออาหารแล้วมีคนมาแซงคิว เราก็ไม่พอใจ โกรธ โมโห แท้จริงเราก็โมโหความชั่วที่ตัวเองเคยทำมานั่นแหละ แค่ตัวเองได้รับผลกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาก็ไม่เป็นมีอะไร คนที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็จะไปโกรธ โมโหคนอื่น มองว่าคนอื่นผิด ทั้งๆที่ตัวเองนั่นแหละคือคนผิด ตัวเองทำมาทั้งนั้น มันเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าฉันเคยทำตัวเลวร้ายขนาดไหน โดยดึงใครสักคนที่มีวิบากกรรมร่วมกันมาแสดงบทเก่าที่เราเคยเล่นให้เราดูเท่านั้นเอง

สิ่งดีสิ่งร้ายที่เราเห็นในทุกวันนี้คือผลกรรมจากที่เราได้ทำมาทั้งนั้น เป็นกรรมของเรา เป็นของของเรา ไม่ใช่ของใคร ความชั่วความดี ทั้งหมดที่เห็นคือภาพสะท้อนตัวเราทั้งสิ้น กรรมมันตามทันอย่างนี้ มันไล่หลังเราแบบนี้ ส่วนจะหนักจะเบาก็แล้วแต่ใครจะทำมามากมาน้อยต่างกันไป

วิธีที่จะหนีกรรมที่ตามทันก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นกรรมที่ตามมา เพียงแค่ว่าพอจะทำให้ทุกข์น้อยลงได้บ้าง เช่นเรามีกรรมชั่วอยู่สัก 10 ส่วน แต่เรามีกรรมดี 2 ส่วน แบบนี้เราก็ต้องเจอชั่วมากดีน้อย แต่ถ้าเราขยันทำกรรมดีมากๆ กลายเป็นดี 20 ส่วน แบบนี้แม้เราจะได้รับสิ่งชั่วที่เราทำ แต่ก็อาจจะถูกขั้นด้วยความดี ไม่ชั่วต่อเนื่อง ไม่ชั่วนาน ไม่ทุกข์นาน เพราะมีกรรมดีมาช่วยไว้

กรรมนี้ต้องได้รับทั้งหมดนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับ แต่เรารับกรรมดีมากกว่า เพราะเราทำดีมากกว่า ส่วนกรรมชั่วรับแล้วก็หมดไป บางคนทำดีมากๆ ได้รับกรรมชั่วไม่นานก็หลุดพ้นจากสภาพนั้นแล้ว เช่นรถเสียแต่ไม่นานก็มีคนมาช่วยไว้ เห็นไหมแบบนี้มันได้รับทั้งกรรมชั่วและกรรมดีมาคานกันไว้ไม่ให้มันชั่วหรือทุกข์หนักจนเกินไป ในเมื่อกรรมชั่วมันตามเราทัน ดังนั้นเราก็ทำดีให้มากเช่นกันเพราะเรารู้ดีว่ากรรมดีมันก็วิ่งตามทันเหมือนกรรมชั่วนั่นเอง

จะดีไหมถ้าเรามีกรรมดีเข้ามาช่วยในยามที่ทุกข์ให้พอหายใจหายคอบ้าง ให้พอพ้นทุกข์ได้บ้าง ถ้าสนใจสร้างกรรมดีก็เรียนรู้กันต่อในบทต่อไป…

…การแก้กรรมอย่างพุทธ

การแก้กรรมอย่างพุทธนั้น หมายถึงการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การแก้ไขสิ่งที่ผิดไม่ใช่การทำสิ่งที่ผิดให้หายไป แต่เป็นการทำสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก

เช่นเราไปพูดจาไม่ดีกับเพื่อนคนหนึ่ง นี่เราสร้างกรรมชั่วไว้แล้ว เราพูดด้วยกิเลสของเราเพราะเราโมโหเขา ทีนี้พอความโกรธมันสงบลงเราก็สามารถเลือกได้กว้างๆสองอย่าง คือจะอยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราเริ่มจากใจคือพิจารณาดีๆว่าเราไปพูดไม่ดีกับเขาทำไม เพราะเราโกรธใช่ไหม เราโกรธเพราะเราไม่ได้สมใจใช่ไหม เพราะเราเอาแต่ใจใช่ไหม เราผิดที่เราเองเพราะกิเลสเราเอง

ทีนี้พอสำนึกผิดแล้วมันก็มีอีกจุดให้ตัดสินใจคืออยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราก็ไปขอโทษเขา อันนี้เราแก้กรรมได้ส่วนหนึ่ง คือไม่ให้กรรมชั่วเก่ามันดำเนินต่อไป ตัดไฟแต่ต้นลม เป็นการทำกรรมดีใหม่ขึ้นมา

แน่นอนว่ากรรมชั่วที่ไปพูดจาไม่ดีกับเขา เราก็ยังคงต้องรอรับอยู่เช่นกัน แต่เรามีกรรมดีก้อนใหม่ที่เราทำด้วยคือไปขอโทษเขา นี้เราลิขิตกรรมตัวเองได้ เขียนกรรมใหม่ให้ตัวเองได้ แก้กรรมตัวเองได้แบบนี้ เราหยุดให้ไม่ให้มันชั่วไปมากกว่านี้ได้แบบนี้ เราทำดีแล้วก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ก็เป็นผลจากการทำชั่วที่เราเคยได้ทำไป เราก็ยินดีรับกรรมนั้น แต่เราก็ไม่ย่อหย่อนที่จะทำกรรมดีเพิ่ม ถึงเขาไม่ให้อภัยเราก็ทำตัวให้ดี อย่าให้เกิดเรื่องไม่ดีอีก พยายามไม่ให้เราไปทำบาปกับใครอีก

แต่การแก้กรรมโดยการทำดีกลบความชั่วนี่มันไม่มีทางหมดหรอก แล้วก็ยังไม่ใช่วิธีการหลักของพุทธอีกด้วย ถือว่าเป็นวิธีการทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากและกระทำกันโดยทั่วไป สำหรับการทำดีเพื่อละลายความชั่วนั้น กว่าเราจะเป็นคนดี กว่าจะเห็นชั่วก็ผ่านมาตั้งกี่ปี ความชั่วที่เราทำก่อนที่จะรู้ตัวว่าเราเป็นคนนิสัยไม่ดีมันสะสมมาตั้งเท่าไร แล้วความดีที่จะทำต่อไปก็ยังไม่ใช่ความดีที่แท้หรือเป็นความดีที่บริสุทธิ์เสียอีก ดังนั้นการจะหวังใช้กรรมให้มันหมดๆไป นี่มันไม่วันเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าท่านทำดีขนาดไม่มีใครเปรียบได้ก็ยังคงมีกรรมตามทันให้เห็นอยู่

ดังนั้นการทำดีกลบความชั่วจึงไม่ใช่หลักใหญ่ของพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างบาปกรรมไปเรื่อยๆตราบชั่วนิรันดร์ ก็คือต้องทำดีทำชั่วสับกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น พอเราทำดีมากๆ ชีวิตเราดีเราก็ประมาทจนไปทำชั่ว พอเราทำชั่วมากๆ เราก็ทุกข์ทนมานจนไปทำดี มันก็วนอยู่ในโลกแบบนี้ตลอดกาล

สุดท้ายวิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดก็คือการล้างกิเลส การทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยง เพราะกิเลสคือเหตุแห่งทุกข์ คือต้นตอที่ผลักดันให้เราไปสร้างกรรมชั่วต่างๆ ถ้าเราล้างกิเลสใดได้ ก็ปิดประตูนรกในเรื่องนั้นๆไปได้เลย ดับกิเลสเรื่องนั้นไปก็ไม่ต้องสร้างกรรมจากกิเลสในเรื่องนั้นอีก

แต่ถึงการล้างกิเลสจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงทางเลือกนี้ได้ง่าย ใครกันจะยอมล้างกิเลสที่ตนเองหวงสุดหวง รักสุดรัก ใครจะยอมปล่อยสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่หวงแหนลงได้ วิถีทางแก้กรรมอย่างพุทธจึงเป็นทางที่ทรมานกิเลสอย่างที่สุด ต้องเผชิญกับทุกข์สุดทุกข์จากอาการลงแดงของกิเลส ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องพยายามเลิกยาเสพติด

และไม่ได้หมายความว่าถ้าเรายินดีจะล้างกิเลสแล้วเราจะสามารถทำได้เอง การล้างกิเลสไปจนถึงการดับกิเลสมีวิธีขั้นตอนที่ซับซ้อนและละเอียดลออ ดังจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้แทบจะหาคนที่พูดถึงเรื่องล้างกิเลสกันไม่ได้ จึงพูดได้แค่เรื่องทำดีให้มาก ทำชั่วให้น้อย แต่ไม่ได้สอนวิธีที่ทำให้จิตใจผ่องใสจากกิเลส มีสอนกันอย่างมากก็แค่สมถะวิธีกดข่มความคิด ตบความคิด ดีดความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะความคิดของตัวเองก็เท่านั้น

เมื่อไม่มีใครสอนวิธีการดับทุกข์ที่เหตุ หรือการล้างกิเลส ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงสภาพที่ทุกข์ดับได้อย่างแท้จริง เมื่อทุกข์ดับไม่ได้ ไสยศาสตร์ เวทมนต์ เดรัจฉานวิชาต่างๆก็จะสามารถเข้ามาแทรกได้โดยง่าย เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ปัญญา ไม่ต้องใช้ความเพียร ไม่ต้องลำบาก เพียงแค่ใช้ศรัทธาและกำลังทรัพย์ก็สามารถแก้กรรมด้วยเดรัจฉานวิชาตามที่เขาอวดอ้างได้แล้ว

ซึ่งเหตุนี้เองจึงมีการเข้าใจเรื่องแก้กรรมกันผิด เพราะเหตุจากความเสื่อมของคน ในยุคที่ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ถูกสั่งสอนอย่างถูกตรง ในยุคที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ในยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส เมื่อศีลธรรมเสื่อมไปจากคน คนก็จึงเสื่อมไปจากศาสนา ปัญญาก็เลยเสื่อมไปจากคน ความเป็นพุทธแท้ๆจึงเสื่อมไปจากคน ความเสื่อมทั้งหลายจึงเกิดด้วยประการเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

23.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

October 3, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,828 views 0

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

ในยุคที่ดูเหมือนจะมีแต่ภัยอันตรายรอบด้าน คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดกังวลใจ และคงจะมีผู้คนจำนวนหนึ่งมองหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลังมายึดไว้ถือไว้ เพื่อเป็นหลักให้จิตใจของเขาได้พึ่งพิง

วัตถุบูชาเครื่องรางของขลังนั้นมีตั้งแต่ที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น พระเครื่อง พระพุทธรูป รูปหล่อเกจิอาจารย์ต่างๆ รูปภาพครูบาอาจารย์ และไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่น หิน หยก เหล็กไหล อัญมณี เขาสัตว์ ซากชิ้นส่วนของสัตว์ ไปถึงเครื่องประดับต่างๆ

เรามักจะให้คุณค่าวัตถุกันที่ความหายาก คุณค่าที่เล่าต่อกันมาว่าถ้ามีสิ่งนี้ไว้ จะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เอาโลหะ เอาดิน เอาหินมาปั้น ปรุงแต่งกันจนมีราคามากกว่าทอง โดยใช้กิเลสและอุปทานของคนเป็นเครื่องมือ

คนเขลามักเข้าใจไปว่าคุณค่าของเครื่องรางของขลังอยู่ในวัตถุชิ้นนั้นๆ จึงมัวเมาหลงให้ค่ากันไปมากมายเกินจริง กลายเป็นธุรกิจการค้าบนความเชื่อและความงมงายของคน ใช้โอกาสในการมัวเมากิเลสกับคนที่ด้อยปัญญา เป็นเครื่องมือหากิน เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีลักษณะของการล่อลวง ล่อให้หลง ล่อให้เห็นในคุณค่าลวง ล่อให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งดี ซึ่งการค้าขายความเชื่อเหล่านี้ เป็นอาชีพที่ผิด เป็นมิจฉาอาชีวะ ชาวพุทธไม่ควรทำ

คนที่เข้าใจคุณค่าที่แท้จึงไม่ได้เคารพด้วยคุณค่าของวัตถุ เช่น ไม่ว่าจะพระพุทธรูปที่บ้านหรือพระพุทธรูปที่วัดไหน ไม่ว่าจะพระเครื่องแจกฟรีหรือองค์ละสิบล้าน ก็ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน มีคุณค่าเท่ากัน ไม่ต่างกัน เพราะทำให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกัน และในเมื่อเขาเหล่านั้นรู้ดีว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่ในวัตถุ แต่อยู่ในศรัทธาที่เกิดมาจากปัญญา จึงไม่จำเป็นต้องเสาะแสวงหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลัง พระเครื่องชื่อดังหรือสิ่งของที่ใครเขาว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเพียงแค่จิตระลึกถึงสิ่งที่ควรเคารพบูชา ก็มีคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอแล้ว

การมีพระเครื่อง พระพุทธรูป หรือวัตถุที่สื่อถึงครูบาอาจารย์ไว้บูชานั้นสามารถทำได้ หากเราใช้สิ่งนั้นในการช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา บูชาในคุณความดี บูชาในธรรม มีไว้เพื่อระลึกถึง ไว้เตือนใจเตือนสติ ไม่ให้ตัวเองหลงไปทำชั่ว ไม่ให้ตัวเองประพฤติออกนอกลู่นอกทาง ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากขึ้น นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

แต่ไม่ใช่การยึดถือบูชาเพื่อที่จะได้รับ บุญกุศล โชค บารมี ลาภ ยศ สรรเสริญ ความแคล้วคลาดปลอดภัย หรือเหตุผลและคำชวนเชื่อทั้งหลายที่มีคนบางพวกได้อวดอ้างสรรพคุณ การบูชาวัตถุอย่างไม่มีปัญญา ไม่ต่างอะไรกับการไหว้ก้อนหิน ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ทั้งยังเสียเวลาที่ต้องใช้ในการเสาะแสวงหาของดีมาไว้กับตัวอีก

บางคนถึงกับหลงไปสะสมเครื่องรางของขลังเหล่านี้ แสวงหาจนมีห้องพระใหญ่โต หลงเข้าใจไปว่ายิ่งมีเยอะยิ่งมีพลัง ยิ่งมีเยอะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งมีเยอะยิ่งมีสิ่งคุ้มครองเยอะ หลงเข้าใจผิดไปแบบนั้น จริงๆแล้วยิ่งมีเยอะนั่นแหละภาระ ต้องมาคอยทำความสะอาด ปัดฝุ่น แถมยังต้องมาคอยระแวงระวังกลัวคนจะมาขโมยของรักของหวงกันอีก ก็โง่แบกวัตถุกันไป หลงเข้าใจว่าจะพาไปนิพพานด้วยได้ จริงๆแล้วการสะสมนี่ก็ขัดกับหลักของการพ้นทุกข์แล้ว ยิ่งสะสมก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งเพิ่มกิเลส เพิ่มภาระ ไม่ไปไหนสักที เพราะมัวแต่กอดวัตถุอยู่นั่น ไม่ไปถึงแก่นสารสาระของศาสนาสักที บูชาแต่เปลือกภายนอก บูชาแต่วัตถุ แต่ไม่บูชาธรรม เป็นศรัทธาที่งมงาย พาให้หลงวนอยู่ในโลกนี้

การหลงมัวเมาบูชาวัตถุ แล้วเข้าใจว่าวัตถุเหล่านั้นจะให้คุณแก่ตนได้ เป็นความหลงมัวเมาในระดับที่หยาบ ไม่ตรงกับคำสอนของศาสนา เพราะการที่เราไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งของวัตถุมงคลเหล่านั้น และหลงเชื่อว่าการมีสิ่งนั้นจะทำให้เกิดสิ่งดีต่างๆ จะทำให้เราไม่เชื่อในเรื่องกรรม ไม่เชื่อในเรื่องผลของกรรม ไม่เชื่อว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่เชื่อในหลักของศาสนา

ในเมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรม ก็ยากแท้ที่จะพ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมจะต้องทนทุกข์เรื่อยไป เพราะไม่รู้ว่าสิ่งดีสิ่งร้ายที่เกิดกับตนเกิดจากสาเหตุอะไร พอไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรก็ไม่รู้ว่าจะสร้างเหตุอย่างไรให้อนาคตนั้นดีขึ้น ก็ได้แต่ทำดีทำชั่วไปตามความเห็นที่ตนมี ทำไปตามกระแสสังคมที่กำลังหลงทางบอกมา โดยไม่รู้จริงๆว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว แล้วที่ว่าดีต้องดีแค่ไหน ที่ว่าชั่วมันต้องถึงขนาดไหนจึงเรียกว่าชั่ว

สุดท้ายไม่ว่าใครจะมีพระดี เครื่องราง ของขลังดีแค่ไหน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้มีอะไรไว้บูชาเลย ทุกคนก็จะต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย ต้องตายอยู่ดี สุดท้ายมันก็เหมือนกันอยู่ดี แต่คนที่เขาไม่ได้งมงายก็จะมีเวลาไปเรียนรู้สิ่งอื่นมากกว่า ส่วนคนที่มัวเมาหลงสะสมเครื่องรางของขลังก็จะเสียเวลาไปกับการมัวเมาในวัตถุสิ่งของสร้างกิเลส บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

….พระพุทธเจ้าท่านทำให้เราดูเป็นตัวอย่างแล้ว กับชีวิตที่ไม่สะสม มีเพียงเครื่องบริขารนิดหน่อย ไม่หวังพึ่งสิ่งใดนอกจากบุญกุศลที่ท่านได้ทำมาเอง ท่านก็ยังแคล้วคลาดจากวิบากบาปที่ท่านเคยทำมา นั่นก็เพราะบุญบารมี กุศล ความดีที่ท่านได้ทำมา ได้เป็นกำแพงป้องกัน ลดทอนกำลังของสิ่งเลวร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายท่าน เป็นบุรุษซึ่งไม่มีใครสามารถที่ปลงพระชนม์ชีพได้ เหตุเพราะพลังแห่งความดีนั้นเอง

หากอยากจะมีความสุข โชคดี พบเจอแต่คนดี สังคมดี แคล้วคลาดปลอดภัย ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ลองพิสูจน์สัจจะตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนดู ลด ละ เลิกการทำสิ่งที่ไม่ดี ทำดีไปเรื่อยๆ ทำทาน ถือศีล ทำให้จิตใจตัวเองเจริญขึ้น ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่า การหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสนี่แหละ คือข้อปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแล้ว นำความสุขความเจริญให้ชีวิตได้มากที่สุดแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์