Tag: การบรรลุธรรม

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

November 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,896 views 0

หาคู่บรรลุธรรม

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

ความรักของคนทั่วไปนั้นมักจะไม่มีความซับซ้อนอะไรมาก ตรงไปตรงมา แค่อยากได้ก็หามาเสพ แต่ความรักของนักปฏิบัติธรรมส่วนมากนั้นซับซ้อน มักจะถูกซ่อนไว้ด้วยเหตุผลอันน่าอภิรมย์เสมอ เป็นความอยากที่ซ่อนไว้ใต้ภาพฝันอันสวยงามว่า จะสามารถเจริญไปได้พร้อมๆกับการเสพสุขจากการมีคู่

ซึ่งแท้จริงแล้วการมีคู่นั้นไม่ใช่ความเจริญหรือความประเสริฐแต่อย่างใด มันเป็นเพียงความธรรมดา เป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นสัตว์การมีคู่นั้นมีมาตั้งแต่เป็นสัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ ฯลฯ นั่นหมายถึงเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ที่จะมีคู่ ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจแต่อย่างใด

ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้คนหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีชาติ มีชรา มรณะ ฯลฯ หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกตรงโดยลำดับจะสามารถงดเว้นเรื่องคนคู่ได้ จนกระทั่งยินดีที่จะไม่มีคู่ครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ สวนกระแสธรรมชาติอย่างรุนแรง ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจกันได้โดยทั่วไป และไม่ใช่สิ่งที่จะปฏิบัติกันได้ทุกคน

การหาคู่มาเพื่อความเจริญในธรรมนั้น มีขีดสูงสุดที่จะเจริญได้คือการยอมพรากจากคู่ของคน คือไม่เข้าไปคบหาเชิงชู้สาว ไม่สมสู่กัน ไม่บำเรอกามและไม่สนองอัตตากันและกัน สุดท้ายก็คือไม่ผูกกันด้วยกิเลส นั่นหมายถึงว่าท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาเป็นโสดอยู่ดี

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความเจริญสูงสุดของการมีคู่คือการกลับมาเป็นโสด เป็นสัจจะที่ไม่สามารถลบล้างได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ซึ่งก็ชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าการไปแสวงหาคู่เป็นความเสื่อม ความโสดคือความเจริญ

แล้วคนที่เข้าใจว่าจะหาคู่เพื่อความเจริญในธรรม ร่วมสร้างกุศลคืออะไร? ก็คือคนที่ไม่เห็นโทษภัยของการมีคู่ หลงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี น่าใคร่น่าเสพ ก็เลยหาคู่มาบำเรอตน ไม่บำเรอกามก็บำเรออัตตา แล้วก็หลงมัวเมาอยู่กับสวรรค์ลวงๆที่ตนสร้างมา ว่ามีคู่สุขจริงหนอ มีคู่ดีจริงหนอ มีคู่ประเสริฐจริงหนอ ว่าแล้วก็ตั้งจิตน้อมเข้าหาประโยชน์ของการมีคู่ สะสมหมักหมมกิเลสพอกใส่ตัวเองด้วยความหลงผิด เห็นว่ากงจักรนั้นเป็นดอกบัว ก็มีแต่จะสะสมทุกข์ บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองเท่านั้นเอง

ทั้งที่ความจริงแล้ว สุขกว่าการมีคู่นั้นยังมีอีกมากมาย แต่ก็มาหลงสุขอยู่กับการมีคู่ เหมือนนักเดินทางที่อยากเดินไปให้ถึงเป้าหมายแต่ก็มาหยุดตรงที่จุดชมวิวข้างทางไม่ยอมไปไหน ถ้าจะให้เกิดความเจริญก็จะต้องกล้าที่จะเดินออกไป กล้าที่จะยอมทิ้งสุขที่น้อยเหล่านั้นไปหาสุขที่มากกว่า สุขที่ไม่ต้องได้ ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นอะไร

เรื่องการมีคู่แท้จริงแล้วก็เหมือนเรื่องโกหก แม้มันจะเคยเกิดขึ้นจริง แต่มันก็ไม่ใช่ของจริง มันเปลี่ยนแปลง แตกหัก เสื่อมสลาย ไม่คงทน ตายไปก็จำไม่ได้ คงเหลือแต่กรรมและกิเลสที่ตกทอดมาเป็นพลังที่หลอกให้คนหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามี เป็นตัวเราของเรา ให้คนหลงไขว่คว้า พยายามแสวงหาคู่กันทุกชาติอย่างไม่จบไม่สิ้น เกิดมาชาติไหนก็ยังต้องหาคู่มาเสพ เพราะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์

การบรรลุธรรมแท้จริงแล้วก็คือการเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่ไร้สาระเป็นสิ่งไร้สาระตามจริง เหมือนกับการที่เห็นเรื่องการมีคู่ไม่ใช่สาระใดๆในชีวิต ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจความจริงในระดับนี้ ก็อย่าพึ่งไปคิดให้ไกลเกินตัวว่าจะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเพียงแค่เรื่องคู่ยังหลุดพ้นไม่ได้ แล้วเรื่องอื่นที่ยากกว่าจะผ่านไปได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

31.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฤๅษีกึ่งพุทธกาล

March 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,670 views 0

ฤๅษีกึ่งพุทธกาล

ในยุคปัจจุบันนี้ ภาพของฤๅษีในอดีตก็มีแต่จะเลือนรางไปทุกที ยิ่งฤๅษีที่สงบๆงดเว้นการสนองกามทั้งเรื่องอาหาร การแต่งตัว ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ก็แทบจะหาได้ยากยิ่งในสังคมไทย

แต่แท้ที่จริงแล้วฤๅษีไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากในอดีตจนแทบไม่เหลือรูปแบบของฤๅษีดังที่ใครหลายคนจินตนาการไว้

แล้วฤๅษีนั้นเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ก็เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมด้วยสมถะจนติดอยู่ในภพนั่นแหละ แม้ว่าสภาพทางรูปธรรมของฤๅษีในความทรงจำของเราจะเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้ยาก แต่ลักษณะทางนามธรรมยังเหมือนเดิมคือการใช้สมถะเข้ามากดข่มจิต ใช้ควบคุมจิต ใช้อุบายต่างๆมาบริหารจิต กดข่มอย่างตั้งมั่นจนเกิดสมาธิกลายเป็นฌานในที่สุด แต่นั่นก็เป็นฌานโลกีย์ทั่วไป วิธีเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพุทธศาสนา มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน และจะมีไปจนตราบโลกแตก

การใช้สมถะหรืออุบายทางใจเข้ามาบริหารจิตใจนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่กำหนดจิตให้นิ่ง อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำใดคำหนึ่ง ภพใดภพหนึ่ง อิริยาบถหนึ่งๆ หรือใช้ธรรมะ คำพูด คำคม คติสอนใจ เหตุผล ความคิดบวกเข้ามาตบความคิดที่ฟุ้งซ่านเหล่านั้นให้สงบลง กดไปจนกระทั่งเกิดสภาพสงบต่อเนื่องหรือเป็นสมาธิ วิธีเหล่านี้เป็นการทำสมถะที่เป็นการปฏิบัติหลักเดียวของฤๅษี ซึ่งในปัจจุบันมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา

วิธีปฏิบัติที่ทำแต่สมถะอย่างเดียว จะมีปลายทางคือกลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดความสงบ ติดในสิ่งที่ตนเชื่อ นั่นเพราะพอสามารถใช้สมถะจนทำให้เกิดความสงบได้ก็มักจะเข้าใจว่าวิธีนี้คือการปฏิบัติแบบพุทธ แล้วหลงไปยึดมั่นถือมั่นในวิถีสมถะเหล่านี้ว่าเป็นทางพ้นทุกข์ จึงทำให้ติดสุข ติดสงบ ติดภพไปอีกนานแสนนาน

นั่นเพราะเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้ว เราก็จะไม่สนใจสิ่งอื่น แม้มีธรรมอื่นเราก็จะไม่ศึกษา มองไม่เห็นคุณค่าเพราะได้ยึดมั่นถือมั่นแนวทางปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ นี่คือความซวยของการปฏิบัติแต่สมถะรวมถึงผู้ที่หลงปฏิบัติแต่สมถะแล้วเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

ดังนั้นสภาพของฤๅษีก็จะเกิดในคนปฏิบัติธรรมทั่วไปนี่เอง รูปที่เห็นภายนอกเราอาจจะรู้ได้ยาก แต่ถ้าได้ขยายวิธีปฏิบัติกันก็จะรู้ได้ชัดแจ้งซึ่งสมัยนี้ก็จะมีลูกครึ่ง คือครึ่งผีครึ่งคน จะเอาดีทางสมถะก็ทำไม่เต็มที่ ยังวนเวียนอยู่ในกามไม่ยอมตัด หรือไม่ยอมกดข่มให้ดับไปเสียที กลายเป็นคนปฏิบัติธรรมที่กามก็ยังไม่ละ อัตตาก็หนาเตอะแล้วก็ปฏิบัติสมถะไปแบบครึ่งๆกลางๆเช่นนั้นเอง หรือที่มักจะคิดไปเองดังคำว่า ”สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม” คือกามก็ยังเสพอยู่ แล้วเข้าวัดหรือปฏิบัติธรรมตามสมัยนิยม

คนปฏิบัติที่หลงทางจะออกอาการดังที่กล่าวมา แท้จริงแล้วทางสายกลางของพุทธ คือ กามก็ไม่เสพ และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตา อธิบายกันโดยสรุปก็คือไม่ไปทำตามใจกิเลสและไม่มีความติดดีนั่นเอง

การทำสมถะนั้นจะหลับตา ลืมตา ขยับตัว เคลื่อนไหว หรือนั่งนิ่ง มันก็ทำสมถะได้ทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับอิริยาบถ แต่เกี่ยวกับกระบวนการว่ากระทำสิ่งนั้นอย่างไร เพื่ออะไร

การทำสมถะนั้นจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มพลังให้กับการวิปัสสนาได้ นั่นเพราะพลังกดข่มที่ได้จากการฝึกฝนสมถะนั้นจะมาช่วยกด และยับยั้งกิเลสไม่ให้กำเริบนั่นเอง แต่การที่เราหมายเอาสมถะเป็นแนวทางหลักในการพ้นทุกข์นั้นจะทำให้หลงไปไกล สุดท้ายก็จะกลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาล

เรากำลังจะเป็นฤๅษีหรือไม่?

วิธีตรวจว่าเราติดการใช้สมถะกดข่มหรือไม่ ก็ให้สังเกตว่าเวลากระทบกับเหตุการณ์ใดๆ แล้วเราใช้กระบวนการใดมาต่อกรกับเหตุนั้นๆ ถ้าเราใช้วิธีเช่น ใช้คำบริกรรมต่างๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง เลิกคิดเรื่องนั้นแล้วกำหนดรู้เรื่องอื่น คิดบวก ใช้ธรรมะ ข้อคิด คำคม ฯลฯ เข้ามากดข่ม ”ผล” ที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาแซงคิวระหว่างเรารอซื้ออาหาร เราก็เกิดความรู้สึกโกรธขึ้น ถ้าเรากำหนดจิต ให้เลิกคิด, ให้รู้ตัว, หยุดปรุงแต่ง, โดนแซงก็แค่โดนแซง, การโดนแซงก็เป็นเช่นนั้นเอง, ความโกรธเกิดขึ้นเดี๋ยวก็ดับไป, ความโกรธไม่ใช่เรา, เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้, ปล่อยวาง, ช่างมัน หรืออื่นๆในแนวทางนี้ ก็จะเป็นการใช้สมถะเข้ามาแก้ปัญหา

ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการใช้เหตุผลภายนอกหรือตรรกะเข้ามากระทำต่อจิตที่สั่นไหวให้สงบ การใช้วิธีสมถะจะเป็นการดึงองค์ประกอบอื่นๆหรือองค์ประกอบภายนอกมาใช้ในการใช้พิจารณาเพื่อดับสภาวะของจิตที่เกิดกิเลสนั้นๆ

แต่การวิปัสสนาจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาภายในคือ ทำไมเราจึงโกรธ เราโกรธเพราะอะไร คือขุดค้นไปที่เหตุที่ทำให้อาการโกรธนั้นเกิด และค้นต่อไปในกิเลสนั้นๆจนกว่าจะเจอรากของปัญหา แล้วค่อยพิจารณาธรรมแก้ให้ตรงจุด สกปรกตรงไหนก็ขัดตรงนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาจากภายใน ไม่ใช่การใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามากดไว้แบบสมถะวิธี

ผลที่ได้จะแตกต่างกัน การใช้สมถะจะได้ความสงบจากการใช้อุบายหลอกจิต กดข่มจิต ชักนำจิตให้หยุดฟุ้งซ่าน แต่การวิปัสสนาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆไปตามลำดับจนกระทั่งเกิดความสงบขึ้นมาซึ่งจะไม่ได้เกิดความสงบในทันทีเหมือนวิธีสมถะ แต่ความสงบจากกิเลสด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในกิเลสนั้น จะมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เวียนกลับ ไม่มีการเกิดดับในกิเลสนั้นๆอีกต่อไป ซึ่งต่างจากสมถะวิธีที่ต้องคอยกดทุกครั้งที่จิตเกิดอาการสั่นไหวเพราะกิเลส และจะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่วนเวียนไปไม่จบไม่สิ้น

ในบางกรณีเมื่อปฏิบัติสมถะไปจนเก่งจะพบว่าอาการสุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องใช้สะท้อนให้เห็นกิเลสจะดับไปโดยอัตโนมัติ เรียกว่ากดข่มอย่างอัตโนมัติโดยที่สติไม่ได้มีการทำงาน แต่จิตทำงานด้วยตัวเองไปตามสัญชาติญาณของผู้ที่ฝึกสมถะมามาก จนบางคนหลงไปว่านั่นคือสติอัตโนมัติ ทั้งๆที่สภาพของการตัดรอบของจิต หรือการกดข่มอัตโนมัตินั้นไม่มีสติเสียด้วยซ้ำ และนี่เองคือความยากในการศึกษาวิปัสสนาของผู้ติดสมถะ เพราะจะมีสภาพเหมือนจะจัดการกิเลสได้ตลอดเวลาทั้งๆที่เป็นการกดข่มโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการปฏิบัติสมถะนั้นไม่ได้เป็นการสร้างญาณในการรับรู้กิเลสให้เจริญขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้นักสมถะจำนวนมากหลงผิดว่าบรรลุธรรม ติดภพไปในที่สุด กดข่มกันได้ยาวนานข้ามภพข้ามชาติ

แนวปฏิบัติของการสมถะคือการควบคุมการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของจิต จะเข้าใจว่าธรรมะมีแค่การเกิดดับเท่านั้น จึงหมายเอาการดับอย่างต่อเนื่องเป็นการบรรลุธรรม เหมือนเข้าใจว่าปิดสวิตช์ทั้งหมดก็เข้านิพพานได้แล้ว เป็นความหยาบที่มองแต่ผลโดยข้ามการปฏิบัติที่ถูกตรงไป เพราะสมถะนั้นปฏิบัติได้ง่าย มีแค่กดข่มได้กับกดข่มไม่ได้เท่านั้น เหมือนกับการเปิดปิดนั่นเอง แต่การวิปัสสนาไม่ได้มีมิติเช่นนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธจะต้องทำไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด พัฒนาไปทีละน้อย ไม่ใช่ทำความดับในทันที แต่กระทำไปเพื่ออธิปัญญาจนกระทั่งถึงวิมุตติที่จะเข้ามาทำให้กิเลสนั้นตายจนการเกิดของกิเลสในจิตนั้นดับไปเอง

โดยหลักของสมถะมักจะมองไปที่การดับความคิด ดับความฟุ้งซ่าน หรือกระทั่งการดับสัญญา แต่วิปัสสนานั้นจะมุ่งไปที่ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วดับทุกข์นั้นๆด้วยวิธีการดับทุกข์ที่ถูกทางของพุทธ กล่าวโดยย่อคือสมถะมุ่งเน้นไปที่ความไม่ทุกข์เพื่อการหลุดพ้น ส่วนวิปัสสนานั้นกระทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อการหลุดพ้น

อธิบายสรุปรวมในทางธรรมก็คือ สมถะปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิจนเกิดฌาน แต่วิปัสสนาปฏิบัติฌานจนจิตเกิดเป็นสมาธิ สภาพสมาธิที่หมายนั้นก็ต่างกัน ฌานที่หมายนั้นก็ต่างกัน การปฏิบัติสมถะจนเกิดสมาธิก็คือการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติกำหนดรู้ทั่วไปจนพัฒนาเป็นฌานโลกีย์ไปตามลำดับ แต่การวิปัสสนานั้นจะใช้ฌานในการเพ่งเผากิเลสจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิที่เป็นผลเจริญของการปฏิบัติ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีทางสมถะและวิปัสสนานั้นจะกลับหัวกลับหางกัน คนที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถใช้สมถะเป็นอุปการะได้ แต่คนที่เข้าใจเพียงสมถะจะทำให้ติดอยู่ในวิธีการปฏิบัติแบบโลกียะ ทำให้ผลที่ได้นั้นเป็นโลกียะไปด้วย แม้จะได้ผลคือความสงบ เกิดสมาธิ แต่สมาธินั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิในแบบของพุทธ เป็นสมาธิแบบฤๅษีทั่วไป กลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาลนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันคือผู้หลุดพ้น

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,470 views 0

ฉันคือผู้หลุดพ้น

ฉันคือผู้หลุดพ้น

…ความหลงว่าบรรลุธรรม กรณีศึกษามังสวิรัติ

(*คำเตือน!! บทความนี้มีเนื้อหาที่จะไปกระแทกอัตตาของผู้ที่หลงว่าบรรลุธรรม ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับสิ่งกระทบระดับนี้ไหวขอแนะนำว่าไม่ควรอ่าน ถ้าท่านฝืนอ่านแล้วเกิดอาการไม่พอใจก็สุดแล้วแต่บาปกรรมของท่านเอง)

สภาวะของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้เรียบเรียงกันไว้หลายบทหลายตอนแล้ว ในบทความนี้จะมาขยายในมุมของความหลงกันบ้าง เพื่อที่นำจะความรู้เหล่านี้ไปใช้พิจารณาหาประโยชน์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งหมด 9 ข้อ

1).กินมังสวิรัติไม่ลำบาก

มีหลายคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร เกิดมาจากอะไร การมีบารมีสะสมมาแบบนี้อาจจะเกิดจากการสะสมพลังเจโตสมถะมาหลายชาติก็ได้ เช่นในชาติที่เป็นฤๅษีก็กินผลไม้ รากไม้ ใบไม้ไป จนเกิดสภาวะเคยชินส่งผลมาถึงชาตินี้ก็สามารถกดข่มความรู้สึกได้ง่ายดายเหมือนกับว่าไม่ต้องพยายามใดๆเลย แต่เขาเหล่านี้จะไม่รู้จักกับความอยาก ไม่รู้จักกิเลส เพราะมันถูกกดลงไปก่อนที่จะรู้ตัวเป็นสภาพจิตกดข่มโดยอัตโนมัติเพราะเหตุที่สะสมมาหลายชาติ

2).เข้าใจว่ากินมังสวิรัติแล้วกิเลสลด

ตรงนี้เป็นความหลงที่ค่อนข้างหนัก เพราะการกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น และไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด คนที่กินมังสวิรัติได้เป็นสิบๆปี อาจจะลดกิเลสไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ข่มไว้ด้วยสัญชาติญาณปกติของมนุษย์คือเมื่อรับรู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ดี เป็นบาป เบียดเบียน ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำก็เลยใช้การอดทนไปตามธรรมชาติ เหมือนกับการที่เราอดทนไม่ต่อว่าใครที่มาดูถูกเรา มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะอดทนต่อสิ่งเร้า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการลดกิเลสแต่อย่างใด

คนที่กินมังสวิรัติแล้วลดกิเลสไม่เป็นจะไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย คือไม่รู้อะไรเลย รู้แค่กินมังสวิรัติแล้วดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มเกิดจากตรงไหน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่หรือซ่อนอยู่แบบใด และไม่รู้ว่ามันจบลงที่ใด ในพระไตรปิฏกมีการอธิบายเรื่องเจโตปริยญาณชัดเจนว่าต้องรู้ในทุกสภาวะจิต คือเกิดก็รู้ดับก็รู้ มีอยู่ก็รู้หายไปก็รู้ และรู้ได้ด้วยว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเท่าไหร่ นี้คือปัญญาของพุทธ คนที่ไม่มีปัญญาพุทธ จะเดาๆเอา มั่วเอา คาดคะเนเอาเอง แล้วมันก็เมาหมัดตัวเองเพราะดูสภาวะจิตตัวเองไม่ออก

คนที่ลดกิเลสได้จริงถ้าทำได้ถึงระดับดับจิตที่อยากให้สิ้นเกลี้ยงหรือสามารถดับกิเลสได้ จะดับวจีสังขารคือคำปรุงแต่งในใจได้ และดับไปถึงกายสังขารคือร่างกายจะไม่โหยหิว ไม่อยากกิน ไม่อร่อยตามไปด้วย คือถ้าดับกิเลสได้จริงมันจะไม่กินเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถไปกินได้โดยการอนุโลมเป็นกรณีไป

3). การอนุโลมของผู้หมดกิเลส

สมมุติว่ามีหลวงปู่ท่านหนึ่งสามารถดับกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้แล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านนั้นยังอินทรีย์พละอ่อนมาก ถ้าสอนให้กินมังสวิรัติเลยลูกศิษย์จะตายเพราะพลังไม่พอ จะทรมาน จะทุกข์ จะเข้าขีดของอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นทางโต่ง ท่านก็เลยไม่ได้เน้นหนักไปทางนั้นเพราะยังมีวิธีสอนให้ลดกิเลสอีกตั้งหลายทาง จึงยอมอนุโลมแบกวิบากบาปในการกินเนื้อสัตว์ตรงนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้ศิษย์เครียด

หรือกรณีเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งสามารถกินข้าวเพียงหยิบมือเดียวแล้วมีกำลังอยู่ได้ทั้งวัน เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เบียดเบียนน้อย แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และผู้ที่อินทรีย์พละอ่อนจะตายกันเสียก่อน ท่านจึงอนุโลมไว้เพียงแค่กินข้าวมื้อเดียว ดีที่สุดในโลก

ตรงนี้เองที่คนมีกิเลสใช้เอามาตีกิน มาเหมาเอาว่าตนเองบรรลุธรรม อ้างว่าอนุโลม แล้วบอกว่าทำให้พอดีเป็นเรื่องที่เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย หากถามถึงมรรคผลคือวิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และสภาพพ้นทุกข์เป็นอย่างไรก็จะพบว่า “ไม่มี” และผู้หลงผิดที่มีกิเลสหนากว่านั้นก็บอกว่าจะ”ตนมีมรรคผล”แต่ไม่บอก ไม่ชี้แจง ไม่แถลง ไม่อธิบายให้ไปปฏิบัติเอาเองแล้วจะรู้

ซึ่งผิดกับผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีหลักข้อหนึ่งคือ “ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง” เมื่อธรรมทานนั้นเป็นทานที่ดีที่สุด จะมีเหตุอันใดที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะไม่มอบทานนั้นแก่คนผู้ที่ยังมีความสงสัย เว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นไม่มีธรรมนั้นในตนเอง พอไม่มีเลยไม่รู้ว่าจะให้อะไร

4).การรู้ประมาณ

การรู้จักประมาณในการบริโภคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มีหลายคนที่คิดว่ากินเนื้อกินผักมันก็เบียดเบียนเหมือนกัน อันนี้มันก็ถูกใครประโยคแต่ในสาระมันไม่ใช่ เพราะปริมาณมันต่างกัน

ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้นเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ต้องคงสภาพด้วยการเอาธาตุอาหารมาเลี้ยง แต่เราจะเอาสิ่งใดมาเลี้ยงนั้นมีผลต่อชีวิตจิตใจเราด้วยเช่นกัน การรู้จักปัจจัยที่ส่งผล คือ บุญ บาป กุศล อกุศลนั้น จะทำให้เราวิเคราะห์การลงทุนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นักลงทุนที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตก็จะตีรวมๆ ว่าเบียดเบียนเหมือนกันหมดฟังแล้วมันก็ดูดีแต่ไม่ฉลาด

เพราะการที่เราใช้แต่ละสิ่งในการเข้ามาบำรุงร่ายกายเรานั้นให้ผลต่างกัน ทั้งในทางความรู้เชิงโลกเช่นกินเนื้อแล้วอาจจะเป็นมะเร็ง หรือกินผักแล้วถ่ายคล่อง หรือในทางธรรมคือบุญ บาป กุศล อกุศล คือการเบียดเบียนนี้สร้างทุกข์ หรือผลกระทบเท่าไร เช่นเรากินเนื้อวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีบุญมาก มีพลังชีวิตมาก การจะฆ่าวัวมันจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เราต้องรับกรรมส่วนนั้นมาด้วย

ในส่วนของการกินผัก ผักคือพืช พืชนั้นมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณและเวทนา พืชไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต สามารถเด็ดกิ่งไปชำได้ โตแล้วขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆเพราะมันเป็นพืช ไม่ได้ใช้วิญญาณในการสังเคราะห์ร่างกาย แต่ใช้สัญญาในการสังเคราะห์เช่น เมื่อรดน้ำพืชจะดูดเอาน้ำไปสังเคราะห์รวมกับธาตุอื่นจนเป็นพลังงานขึ้นในตัว เกิดเป็นแป้ง เป็นเนื้อไม้หรืออื่นๆ ในกรณีของยางพืชที่ไหลออกเมื่อกรีดนั้นก็คือสัญญาที่มันรับรู้ว่าเมื่อลำต้นเป็นแผลก็ต้องหลั่งสารมาปิดแผล เป็นเช่นนี้เสมอมา ไม่มีพืชต้นไหนที่เคยงอนไม่ยอมหลั่งน้ำยาง หรือโกรธเราจนต้นเหี่ยวเฉาตายไปเอง แต่เป็นเพราะธาตุที่มาสังเคราะห์กันนั้นส่งผลให้มันโต ตรงไหนธาตุครบมันก็โตเหมือนกันหมด ไม่มีต้นไหนโตเอาใจเราเพราะรักเรา แต่มันโตเพราะได้ธาตุครบตามสัญญาที่มี

ดังนั้นเมื่อรู้ประมาณในเรื่องบุญบาปกุศลอกุศลแล้ว จึงใช้ความรู้เหล่านี้มาประมาณกรรมของตัวเอง ผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ส่งผลต่อกรรมชั่วให้กับตัวเองน้อยที่สุด

ดังเช่นผู้ที่หมดกิเลสอย่างแท้จริง จะรู้ว่ากินเนื้อแล้วต้องทรมานร่างกายเช่นไร ได้รับผลกรรมเช่นไรบ้าง แต่บาปคือการสะสมกิเลสนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเชื้อกิเลสให้เพิ่ม กินเนื้อไปกิเลสก็ไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือแต่กุศล อกุศลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีชีวิตปกตินั้นก็ไม่จำเป็นต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อให้มันลำบากกายลำบากกรรม ส่วนคนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วจะกินเนื้อกินผักให้พอดีนั้นนี้มันยังเห็นผิดอยู่มาก เพราะเอาผิดมาเป็นถูก เอากรรมชั่วเข้ามาใส่ตนโดยไม่จำเป็น

ถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็น ความคิดประมาณว่า แหม…ช่วงนี้ชีวิตมันดีเหลือเกิน กินมังสวิรัติมาได้เป็นเดือนมีแต่เรื่องกุศล ว่าแล้วก็ชั่วเสียหน่อย กินเนื้อให้ชีวิตมันมีกรรมชั่วเข้ามาเสียหน่อยเดี๋ยวมันไม่เป็นกลาง …อันนี้มันก็ประมาทอยู่มาก เห็นผิดอยู่มาก เพราะกรรมมันไม่ได้มีแค่ในชาตินี้ชาติเดียว มันยังมีของเก่าที่ยังไม่ส่งผลอยู่ ผู้ดับกิเลสได้จริงจะเห็นถึงผลกรรมที่หนักหนา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาอนุโลมกลับไปกิน ท่านก็ยอมรับกรรมเหล่านั้นเพราะรู้ว่าแลกมาด้วยบางสิ่งซึ่งมีค่ากว่าจึงอนุโลมไปกิน

ไม่ใช่การตีกินของพวกหลงบรรลุธรรม ว่ากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง ให้พอดีไม่ทรมาน ไม่ลำบาก การกินเนื้อสัตว์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับร่างกาย ไม่ได้เป็นกุศลใด ไม่ได้ช่วยให้ใครพ้นทุกข์ แถมตัวเองยังทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเสียอีก

คนมีปัญญาจะสามารถรู้ได้ว่าเรารับมาเท่าไหร่ เราจ่ายออกไปเท่าไหร่ คือกินใช้เท่าไหร่ ทำประโยชน์ให้โลกมากเท่าไหร่ สิ่งไหนเป็นกำไรบุญ สิ่งไหนขาดทุน สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ แต่ถ้ามันหมดปัญญาขนาดเห็นว่าทำอะไรก็เบียดเบียนไปหมดแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงเลยเบียดเบียนมันทุกอย่างนั่นแหละซึ่งใครจะคิดแบบนั้นก็คงช่วยไม่ได้

5).ปัญญากับมังสวิรัติ

การกินมังสวิรัติได้นั้นจำเป็นต้องศรัทธา มีปัญญาเป็นตัวเริ่ม คือเห็นความไม่ดีไม่งามของการกินเนื้อสัตว์ ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาตัวเริ่มไม่ใช่ตัวจบ เป็นปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นทางเดินให้เราก้าวเข้าสู่การกินมังสวิรัติ

แต่ปัญญาที่เป็นมรรคนั้นไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง ก็รู้แค่เพียงว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีด เป็นบาปกรรม ทำให้สุขภาพแย่ มันก็ได้เพียงแค่นั้น หลังจากกินมาได้สักพักจะนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ว่าจะกดข่มกิเลสไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าล้างกิเลสไม่เป็นสุดท้ายจะหวนกลับไปกินเนื้อสัตว์

พอไม่ถึงผลที่แท้จริงมันจะเพี้ยนได้ปัญญาเฉโก ได้ปัญญาปนกิเลสไปแทน มันจะเข้าใจว่าปัญญาตัวนั้นคือตัวบรรลุธรรม จะเกิดสภาพหลอกๆเหมือนกับว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติแล้วกลับมากินเนื้อได้อย่างเป็นสุข โดนกิเลสมันหลอกเข้าอย่างแนบเนียนที่สุด กิเลสผูกเข้ากับปัญญาเป็นเนื้อเดียวกัน พูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกดูดีมีพลัง ฟังแล้วเหมือนคนบรรลุธรรม เหมือนคนหลุดพ้น จริงๆมันก็แค่พ้นจากทางสายกลางกลับไปเสพกามเท่านั้นเอง ทีนี้พอมาพูดให้คนที่มักกินเนื้อหรือกินมังสวิรัติไม่จริงจังกัน เขาก็จะเห็นดีด้วยชื่นชมกัน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากทรมานเพราะความอดอยากหรอก

การจะถึงผลที่แท้จริงถ้าเทียบอัตราส่วนก็สองต่อเส้นขนวัวทั้งตัว เป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่ต่ำมาก เพราะไม่คบสัตบุรุษหรือผู้มีสัจจะแท้ กินมังสวิรัติเอาเอง เข้าใจธรรมเอาเอง คิดเอาเอง เดาเอาเอง พอได้เจอสภาวะหนึ่งก็หลงไปเองว่าบรรลุธรรม บางครั้งบางคนมีครูบาอาจารย์แต่ท่านเหล่านั้นกลับไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่ใช่ผู้มีสัจจะ ไม่ใช่ผู้ดับกิเลสได้ ก็จะพากันเฉโก พากันหลงทางกันไปทั้งกลุ่มทั้งก้อนแบบนั้นเอง

เรื่องกิเลสนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ไขและขยายไว้อย่างละเอียดลออ ในบทของอวิชชา ๘ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ได้คบหาสัตบุรุษย่อมไม่ได้ฟังสัจธรรม เมื่อไม่ได้ฟังสัจธรรมย่อมไม่เกิดศรัทธา เมื่อไม่เกิดศรัทธาย่อมไม่เกิดการพิจารณาลงไปถึงที่เกิด จึงไม่เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ จนกระทั่งทำผิดทั้งกายวาจาใจ จนเกิดนิวรณ์ นำมาซึ่งอวิชชาในที่สุด

ดังนั้นเรื่องจะกินมังสวิรัติให้ถึงผลแท้จริงหรือการดับกิเลส โดยที่คิดเอาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้หรือมีสัจจะแท้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปได้แม้ไม่มีคนสอนก็จะมีสองกรณี หนึ่งคือเพี้ยนหลงว่าบรรลุธรรม สองคือมีธรรมนั้นในตัวมาอยู่แล้วเคยดับกิเลสนั้นๆมาก่อนแล้วในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน

6). ทางสายกลวง

ทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่กลับเป็นสิ่งที่คนหลงผิดกันมากที่สุด ทางสายกลางนั้นมาจากบทหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา คำว่ากลางนั้นไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้างให้พอดี แต่เป็นกลางอยู่บนกุศลสูงสุด กลางด้วยปัญญา ไม่ใช่กลางแบบสบายๆ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อันนี้ถ้าตามหลักเขาจะเรียกพวกติดกาม คือกามสุขัลลิกะ คือโต่งไปในด้านเสพ แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือโต่งไปในด้านการทรมานตัวเองด้วยอัตตาหรืออัตตกิลมถะ เช่นการพยายามฝืนกินมังสวิรัติด้วยความทรมานกายและใจ

คนที่อยู่บนทางสายกลางนั้นจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ แต่ก็จะไม่ทุกข์กับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่กลางตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าธรรมะมันง่ายขนาด 1+1 แล้วหารด้วย 2 เป็นกลาง พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องลำบากถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปหรอก ดังนั้นการเข้าใจคำว่าทางสายกลางจะคิดเอาเองไม่ได้นึกเอาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ที่เข้าใจธรรมหรือบรรลุธรรมเป็นผู้ชี้แจงและแถลงให้เท่านั้น

คนที่เข้าใจว่าทางสายกลางคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติจนเกินไปแล้วผ่อนมากินเนื้อนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่าเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเป็นเพียงการปรับจากอัตตกิลมถะเข้าสู่กามสุขัลลิกะเท่านั้น คือมันลำบากใจก็ผ่อนกลับมากินแล้วก็สบายๆ มันก็เป็นการสนองกิเลสแบบสามัญธรรมดา เหมือนกับคนทั่วไปที่หิวแล้วไปกินข้าว ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ

7).กินมังเหยาะแหยะ

คนที่กินมังสวิรัติอย่างครึ่งๆกลางๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินเหยาะแหยะ กินมังสวิรัติแล้วก็กลับไปกินเนื้อ ไม่จริงจัง ไม่รู้สาระหรือประโยชน์ แม้ว่าจะกินมา 20 ปี 30 ปี หรือทั้งชีวิต ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจเลิกเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเพียงแค่หนึ่งเดือน

จริงอยู่ที่ว่าคนที่กินมานานนั้นทำความดีมามาก โดยรวบยอดแล้วกุศลจะมาก แต่บุญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บุญนั้นคือการลดละกิเลส ดังนั้นจิตที่ตั้งใจว่าจะเลิกอย่างจริงจังนั้นหมายถึงความเข้มแข็งในจิตวิญญาณที่เข้มข้นจนกระทั่งตั้งตบะเลิกตลอดชีวิตเป็นความตั้งใจที่จะทำลายกิเลสนี้ให้สิ้นเกลี้ยง ถึงแม้ว่าจะทำจนถึงผลไม่ได้แต่ก็เป็นบุญที่มากกว่าในจิตวิญญาณที่มีความตั้งใจเช่นนั้นแล้ว

การบรรลุธรรมหรือการเข้าใจความจริงอย่างถ่องแท้ บรรลุสัจจะ เข้าใจโลก นั้นหมายถึงการตัดกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่แค่ระดับลด ละ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เลิกไปเลย เลิกอย่างถาวรไม่มีความคิดที่จะกลับมากินอีกแม้น้อย ดังนั้นต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิต กินมาหลายภพหลายชาติ แต่ถ้าจบเรื่องกิเลสไม่เป็นมันก็เท่านั้นเป็นกุศลเกิดประโยชน์แต่ไม่เป็นบุญเพราะลดกิเลสไม่เป็น

คนที่จะสามารถอนุโลมได้อย่างไม่มีบาปนั้นคือผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลมังสวิรัติ คือกินอย่างรู้สาระ และกินได้อย่างปกติ ไม่ใช่กินแบบงมงาย กินแบบเขาพูดกันมาว่าดี หรือกินเพราะสงสาร แต่ต้องรู้ไปถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถสัจจะด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอนุโลม ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าตีกิน เนียนกินตามกิเลสโดยหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูฉลาดเพื่อให้ได้กินเนื้อสัตว์

ถ้าลองให้คนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วกลับไปกินเนื้อสัตว์เลิกเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต กิเลสของเขามันก็หาข้ออ้างที่ดูฉลาดๆเหมือนคนกินเนื้อนั่นแหละ สุดท้ายคนที่หลงว่าบรรลุธรรมกับคนยังอยากกินเนื้อมันก็เหมือนๆกัน คนที่ยังอยากกินเนื้อยังดีเสียกว่าด้วยซ้ำเพราะว่ายังรู้ว่าตัวเองอยาก การรู้ว่ากินเพราะอยากก็เป็นความเจริญอยู่บ้าง แต่อยากกินแล้วไม่รู้ว่าอยากกินนี่ไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร

8). กินอยู่อย่างพอดี

หลายคนที่กินมังสวิรัติแล้วหย่อนลงมากินเนื้อสัตว์อาจจะเพราะพบว่าเป็นทางที่สุขกว่า พอดีกว่า เห็นผลดีกว่า ที่มันสุขเพราะมันมีกิเลสมันเลยสุข ถ้าคนไม่มีกิเลสไปกินเนื้อมันจะไม่มีมีรสสุขและเขาจะไม่ไปกินให้ลำบากกายลำบากใจตัวเอง

ทีนี้ผู้หลงบรรลุธรรมแล้วเสพทั้งเนื้อสัตว์และผักก็จะหลงยึดว่านี่คือสิ่งที่ดี ความพอดี ความสมดุลนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าพอดี มันต้องแบบนี้ ดูๆแล้วเหมือนว่าจะดีแต่ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่กินเนื้อสัตว์และกินผักสักเท่าไหร่ พูดมาก็จะเหมือนๆกัน สรุปว่ามังสวิรัติที่กินไปก่อนหน้านั้นมีอะไรเจริญขึ้นบ้าง ปัญญาในการเริ่มต้นมันมีนะ แต่ปัญญาในตอนจบมันไม่มี มันเสื่อมถอยกลายเป็นเหมือนคนกินเนื้อสัตว์ไปอย่างนั้น จะว่าสูงสุดคืนสู่สามัญมันก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้ไปสูงอะไร แค่กินมังสวิรัติวัวควายมันก็กินได้ มันกินมาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นมันจะเจริญอะไรขึ้นมา คนกินมังสวิรัติที่ไม่รู้สาระก็เช่นกัน กินผักกินหญ้าไปมันก็ดำรงชีวิตได้เหมือนกินเนื้อนั้นแหละ คนที่ไม่รู้สาระไม่รู้สัจจะเขาก็ไม่คิดมากกินเนื้อกินผักไปทำบาปทำกุศลไปตามประสาคนโลกียะ

ส่วนคนที่กินมังสวิรัติแล้วหาสาระไม่เจอ สุดท้ายก็จะเสื่อมลงมาเหมือนกับคนกินเนื้อกินผักทั่วๆไปนี่เอง จะว่าสูงกว่าคนกินเนื้อกินผักมันก็คงจะไม่ใช่ เพราะเวลาร่วงลงมามันจะมีอัตตาติดมาด้วย มันจะยึดดี หลงว่าดี หลงว่าฉันนี่บรรลุธรรม ฉันนี่เคยกินมังสวิรัติมาแล้วและพบว่ามันไม่พอดี ต้องกินเนื้อกินผักสิจึงจะพอดีอัตตานี้เองจะเป็นตัวกั้นไม่ให้ผู้หลงว่าบรรลุธรรมเข้าถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่มีประโยชน์เพียงแค่เพราะมีอัตตาว่า “ฉันก็เคยมาแล้ว” ทำให้ต้องติดอยู่ในอวิชชามากกว่าผู้ที่กินเนื้อกินผักทั่วไปด้วยซ้ำ

9).มังสวิรัติบารมี

ถ้ามองกันแบบชาวบ้าน มองกันทั่วไปแล้วเวลาเราไปกราบไหว้พระทำบุญกับนักบวช คิดว่าใครน่าศรัทธากว่ากันระหว่างพระที่ละเว้นเนื้อสัตว์กินมังสวิรัติได้ กับพระที่กินเนื้อกินผัก เอาแค่ข้อมูลเท่านี้นะ ไม่ต้องคิดถึงข้อมูลอื่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเสียงบารมี เราก็มักจะมองว่าพระรูปที่ละเว้นเนื้อสัตว์ได้น่าเคารพกว่าจริงไหม

หรือถ้าให้ชัดเลย คือระหว่างพระที่ฉัน 2 มื้อกับมื้อเดียวนี่แบบไหนน่าศรัทธาน่าเคารพกว่ากัน เอาข้อมูลแค่นี้นะ มันก็น่าจะเป็นฉันมื้อเดียวจริงไหม เพราะทำได้ยากกว่า ขัดกิเลสมากกว่า อดทนมากกว่า

ทีนี้ด้วยความที่คนมีกิเลสมากก็จะหาข้ออ้างต่างๆนาๆเพื่อที่จะกลบกองกิเลสของตนไว้ให้ดูสวยงาม แต่ยิ่งทำก็เหมือนช้างตายแล้วเอาใบบัวมาปิด คนตาดีเขาก็มองออกว่านั่นคือกิเลสนะ กลิ่นมันออก ภาพมันฟ้อง แต่คนที่มีกิเลสก็พยายามจะปิดไว้แล้วบอกมันไม่ใช่ความอยากไม่ใช่กิเลส เราพอดี เราปล่อยวาง เราเพียงเลี้ยงธาตุขันธ์ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ความฉลาดของกิเลส

พอโดนไล่ไปมากๆคนมีกิเลสก็จะเริ่มทำลายบารมีของคนมีศีล ของคนที่ถือศีลมังสวิรัติ เช่นกินมังฯกินเนื้อมันก็เบียดเบียนเหมือนกันแหละ , คนเราทำลายกิเลสที่จิต จะกินก็ได้, กินด้วยจิตว่างก็ได้ , เรากินไปไม่ยึดมั่นถือมั่น คนกินมังฯสิยึดมั่นถือมั่น , กินผักทำลายโลก , กินผักทำให้คนอื่นลำบาก ฯลฯ อันนี้เป็นกลยุทธ์ของคนกิเลสหนาซึ่งพยายามจะดึงคนที่มีศีลลงต่ำ ทำให้การกินมังสวิรัติดูโง่ ดูไม่ดี ดูเป็นเรื่องธรรมดา ดูเป็นเรื่องงมงาย ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหากอยากจะบรรลุธรรมหรือบรรลุอะไรก็ตามแต่จะเรียก

ว่ากันตามจริงเรื่องกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์นี่มันเป็นกิเลสหยาบๆ ในระดับรุนแรงเพราะต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ถ้ายังละ ยังวางไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปคิดบรรลุธรรมให้มันลำบากเลย เดี๋ยวมันจะยิ่งเพี้ยนไปไกล เพราะหลงว่าบรรลุธรรมมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบาปให้กับตัวเองอีกเลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ดังนั้นคนที่ละเว้นศีลก็ยากที่จะมีปัญญา เพราะศีลนี้เองคือสิ่งที่ขัดเกลาปัญญา ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราคิดถึงศีล และศีลสมาธิปัญญานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ขาดออกจากกัน

หากจะบอกว่าไม่มีศีลก็มีปัญญาได้ หรือมีสติก็มีปัญญาได้ มันก็เดาเอา มั่วเอา ปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบ ฟังเขามา ยืมเขามา แล้วก็หลงบรรลุธรรมตามเขา คือหลงกันไปทั้งสายทั้งคณะนั่นแหละ คล้ายๆกับธุรกิจขายตรงบางเจ้าที่อุปโลกน์ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าให้คนหลงยึดหลงอยากได้นั่นแล เรื่องทางธรรมก็เช่นกัน ยศ สภาวะ ตำแหน่ง ระดับธรรมมันก็ปั้นขึ้นมาเป็นแบบโลกๆได้ อธิบายได้ อ้างอิงได้ ทำวิจัยได้ เชื่อถือได้ ยอมรับได้ แต่แค่มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

2.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

September 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,398 views 0

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

เกมที่สนุกที่สุดในโลก: การปฏิบัติไตรสิกขา อธิบายเปรียบเทียบกับการเล่นเกมกรณีศึกษา การกินมังสวิรัติ

ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรม การล้างกิเลส ก็ดูจะเป็นเรื่องของคนมีอายุ คนใจบุญ คนปลงชีวิต คน…อะไรก็ว่าไป แต่ในบทความนี้จะมาพิมพ์เรื่องการปฏิบัติธรรมอธิบายโดยเปรียบเทียบกับการเล่นเกม เพื่อให้คนหนุ่มสาวในยุคนี้ ที่ผ่านการเล่นเกมมา ได้เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเข้าใจง่ายกว่าที่คิด

หลายคนที่เคยเล่นเกมมา ก็จะคุ้นเคยกับระบบของการพัฒนาตัวละครที่เราเล่น เช่น ทักษะ กำลัง ปัญญา พัฒนาอาวุธชุดเกราะ การเดินทาง ไปจนถึงปราบศัตรูต่างๆ จนได้รับรางวัล ได้แต้ม ได้คะแนน ได้เงิน มาเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งๆขึ้น การปฏิบัติธรรมก็คล้ายๆกัน จะลองอธิบายโดยยกตัวอย่างดังนี้

…เกมมังสวิรัติ

เราจะเลือกเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง จะเป็นเกมอะไรก็ได้ เช่น เกมขยัน เกมตื่นเช้า เกมเมตตา เกมลดน้ำหนัก เกมไม่โกรธ แต่ในบทความนี้จะยกตัวอย่างเป็นเกมมังสวิรัติ เพราะเล่นได้มากถึง 3 ครั้งต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว

เมื่อเริ่มเกมก็จะมีตัวเอกคือตัวเรา และเป้าหมายของเกมก็คือกินมังสวิรัติให้ได้ มีวิธีฝึกฝนตัวเองโดยใช้สมถะและวิปัสสนา มีด่านและศัตรูต่างๆให้ต้องเผชิญด้วยการปฏิบัติไตรสิกขา มีกระบวนการเอาชนะแต่ละด่านด้วยจรณะ๑๕ เพื่อข้ามภพ ๓ คือแต่ละช่วงของด่านนั้นๆ

…สรุปเครื่องมือที่จะหยิบมาอธิบายในเบื้องต้น

สมถะ คืออุบายทางใจ ใช้เพื่อสร้างสมาธิ สร้างกำลัง ความสงบ พักผ่อนจิต เก็บสะสมพลังในการกดข่มกิเลสต่างๆ

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา คือการพิจารณาให้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลสตามความเป็นจริง

ไตรสิกขา คือการใช้ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อขยับฐานหรือเปลี่ยนไปเล่นกับกิเลสที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

จรณะ๑๕ คือ ข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรม

ภพ๓ คือ กามภพ (สภาพที่ยังเสพกิเลสอยู่) รูปภพ ( อดกลั้นไม่ไปเสพกิเลสได้) อรูปภพ ( ไม่คิดจะไปเสพกิเลสแล้ว แต่ไม่โปร่งใจ)

จริงๆ แล้วมีเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมในการปฏิบัติธรรมหรือเล่นเกมสู้กับกิเลสนี้อีกมาก เพียงแต่จะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกว้างๆ ให้ได้ก่อน

….เริ่มเกมกันเลย

เมื่อเราได้ศึกษาจนมีความรู้ว่า การกินมังสวิรัตินั้นดี ไม่เบียดเบียนใคร เราจึงตั้ง “อธิศีล” คือ การตั้งข้อปฏิบัติสู่ความไม่เบียดเบียน เป็นการทำศีลที่มากกว่าที่ตัวเองเคยถืออยู่ในชีวิตปกติ เหมือนกับที่เรากำลังเลือกที่จะเข้าไปต่อสู้กับศัตรูในด่านแรก นั่นคือ บอสวัว(หัวหน้าศัตรูที่เป็นเนื้อวัว) หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว

เมื่อเราเลือกที่จะเข้าไปสู้กับบอสวัว หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว โดยการตั้งศีล ตั้งใจตั้งมั่นในศีลนี้แล้ว ก็ให้เราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราไม่ให้เข้าไปใกล้เนื้อวัวมากนัก และแม้จะต้องเข้าไปใกล้ก็ต้องรู้จักประมาณพลังใจของตัวเองให้ดี อย่าไปทำเก่ง ทำกล้า คิดว่าข้าแน่ ข้าทนไหว เช่น ชอบสเต็กมาก แล้วเพื่อนก็ชวนไปกินสเต็กก็ไปกับเขาด้วย สุดท้ายก็ทนไม่ไหว กิเลสส่งกองกำลังมากระซิบเบาๆ ว่า “ กินไปเถอะ ไหนๆเขาก็ตายมาแล้ว กินเขา เขาได้บุญนะ ขำๆ” สุดท้ายก็แพ้บอสวัวชิ้นนั้นไปจนได้

หากเราประมาณตัวเองให้ดีแล้ว ก็ให้สร้างความตื่นตัวในการที่จะลด ละ เลิกเนื้อวัวนั้น โดยใช้วิปัสสนา คือพิจารณาให้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อวัว ให้เห็นทุกข์ โทษ ภัยในการกินเนื้อวัว ให้เห็นว่ากิเลสที่อยากกินเนื้อวัวไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เห็นผลของกรรมจากการที่เรายังเสพยังติดเนื้อวัว แต่ถ้ามันเหนื่อย รู้สึกไม่ไหว หมดแรงพิจารณา ก็พักหรือสลับด้วยการทำสมถะ สะสมพลังด้วยการกำหนดจิตไว้ให้นิ่ง จะพุทโธ ยุบหนอพองหนอ หรือเดินจงกรม หรือจะประยุกต์ใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่จะถนัด การทำสมถะจะสามารถช่วยให้เราวิปัสสนาได้ดีขึ้น

เมื่อทำอย่างตั้งมั่นด้วย “อธิจิต” คือไม่หวั่นไหว ไม่ล้มศีล และไม่เคร่งจนเครียด พิจารณาต่อเนื่องจนเกิดความศรัทธาในการลดการกินเนื้อวัว แม้จะยังมีความอยากอยู่ แต่ใจเริ่มจะเชื่อมั่นแล้วว่าลดเนื้อวัวนี่มันดีนะ เมื่อเกิดศรัทธาที่เต็มรอบ ก็จะนำมาซึ่งหิริ คือความละอายต่อบาป แม้จะเผลอกลับไปกินเนื้อวัวเพราะความอยากบ้าง ก็จะรู้สึกไม่ดีรู้สึกละอาย รู้สึกผิด เมื่อพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จะเข้าสู่สภาวะ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ถึงระยะนี้จะไม่กล้าแตะเนื้อวัวแล้ว เพราะรู้โทษของมัน ถ้าเป็นภาพในเกม บอสวัวที่เรากำลังสู้อยู่ก็บาดเจ็บพอสมควรและมันเริ่มจะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไว้มันก็พื้นตัวได้ เหมือนกับกิเลสที่สามารถสะสมกำลังจนทำให้เราอยากกลับไปเสพได้

ในระยะนี้เราจะสามารถข้ามผ่านกามภพ คือข้ามผ่านสภาวะที่เข้าไปเสพไปกินเนื้อวัว ขยับมาถึงรูปภพ คือไม่กินเนื้อวัวแล้ว แต่ถ้าเผลอไปคิดถึงก็อาจจะยังอยากกินอยู่ แต่ข่มใจไม่กินได้ ยอมไม่กินได้แม้ใจจะอยาก

เมื่อพัฒนาตัวเองด้วยวิปัสสนาและสมถะเข้าไปอีก จะก้าวเข้าถึงระดับ พหูสูต คือรู้แจ้งเรื่องกิเลสนี้มากแล้ว ตอนนี้จะเริ่มสวนกระแส รู้แล้วว่าการกินเนื้อวัวนี้ไม่ดี มั่นใจว่ากินเนื้อวัวไม่ดีอย่างเต็มใจ เมื่อทำต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นของวิริยารัมภะ คือการเพียรอย่างไม่หยุดยั้ง ลุยพิจารณากิเลสอย่างทุ่มโถมเอาใจใส่ เพื่อที่จะไล่ฆ่าความอยากเนื้อวัวที่มีเหลือให้หมดในระยะนี้ก็จะสามารถข้ามรูปภพได้ไม่ยากนัก แต่ก็ต้องมาไปพยายามกันต่อที่อรูปภพ คือความอยากกินเนื้อวัวที่หลงเหลือในวิญญาณ มีสภาวะเช่น ท่าทีภายนอกไม่อยาก ในใจก็ไม่อยาก แต่ทำไมไม่ได้กินแล้วมันขุ่นๆใจ ไม่โปร่งไม่โล่งนะ

พัฒนาต่อมาจนมาถึงสติ สติในที่นี้คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติที่ใช้ชำแหละกิเลสออกเป็นชิ้นๆ จะเห็นได้เลยว่าเราอยากกินเนื้อวัวเพราะเราติดใจในอะไร ขุดให้ลึกถึงรากของกิเลสทีละตัวเลยว่า เราติดเพราะชอบรสสัมผัส หรือเราติดเพราะสังคมเขาว่ามันดี หรือจริงๆเราไม่ได้ติด แค่หลงไปตามชาวบ้านเขา หรือเรายังแอบซ่อนความอยากไว้ตรงไหนอีกนะ… สติปัฏฐาน ๔ คือกระบวนการที่จะทำให้เห็นกิเลส โดยใช้ปัญญาที่เป็นมรรคเข้าไปขุดค้นพิจารณาหารากของกิเลส เหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทัย

แล้วก็จะเข้าสู่ภาวะของฌาน ๔ โดยเริ่มที่วิตกวิจารณ์ คิด วิเคราะห์ พิจารณากิเลสนั้นๆ ย้ำๆซ้ำๆ ให้เห็นคุณและโทษ ให้เห็นกิเลสที่ลึกลงไปอีก ในตอนนี้ก็เหมือนเราสู้กับบอสวัวในยกสุดท้าย ที่เรากำลังพยายามกำจัดถอนรากถอนโคนความอยากนั้นทิ้งให้หมด ตอนนี้เราต้องใช้ “อธิปัญญา” คือปัญญาที่มากกว่าที่เคยมี ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะปราบศัตรูร้ายตัวนี้ได้ ให้พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะรู้ได้เอง

จึงเกิดความปีติ ดีใจ ฟูใจ ตื่นเต้น โปร่ง โล่ง เบา สบายจากการฆ่ากิเลสได้ และค่อยๆสงบลงมาเป็นความสุข อิ่มใจแบบนิ่งๆ จนสงบราบเรียบเข้าสู่สภาวะของอุเบกขา เหมือนฉากจบของด่านนั้นๆ เราข้ามภพสุดท้ายคืออรูปภพได้แล้ว เรากำจัดบอสวัว หรือความอยากในเนื้อวัวได้แล้ว

รางวัลที่เราได้คือความโปร่งโล่งสบายแม้ไม่ได้กินเนื้อวัว แม้จะมีเนื้อวัวมาอยู่ตรงหน้าก็เฉยๆ ไม่อยากกินอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องมาคอยกดข่ม พิจารณา เคร่งเครียด หรือดับความคิดอีกต่อไป เพราะกิเลสไม่มี ก็เลยไม่มีความอยาก พอไม่มีความอยาก ก็เลยไม่ต้องไปดับความอยาก ได้วิมุติมาเก็บสะสมเป็นพลังที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

หลังจากนี้เราอาจจะต้องใช้เวลาในด่านบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวอีกสักระยะ เพื่อเก็บกิเลสเล็กๆไรๆ ที่ยังฝังอยู่ลึกๆ เป็นญาติพี่น้องของกิเลสที่เราได้กำจัดไป แต่จะไม่ยากเท่าตัวใหญ่ที่เรากำจัดมา เห็นก็ฆ่า เห็นก็กำจัด ขยายพื้นที่ตั้งอธิศีลให้ครอบคลุมที่ผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว ทำลายความอยากให้สิ้นเกลี้ยง

และด่านพิเศษที่จะปรากฏขึ้นมาหลังจากปราบบอสวัว หรือความอยากกินเนื้อวัว คือด่านของความติดดี คือเราจะไปเพ่งโทษ ไปรังเกียจคนที่กินเนื้อวัวอยู่ ก็ให้ใช้กระบวนการเดียวกันในการกำจัดอัตตาเหล่านี้ ซึ่งความยากนั้นก็ถือว่ายากกว่าบอสวัวเยอะ ถ้าทำสำเร็จจึงจะพ้นนรกจริงๆ

นั่นหมายถึงเมื่อเราปราบ “กาม” คือความอยากเสพเนื้อวัวแล้ว เราก็จะมาติดกับ “อัตตา” คือความไม่อยากเสพเนื้อวัวอยู่ ถ้าอยากรู้ให้ลองตัดเนื้อวัวให้ได้จริงๆ แล้วกลับไปเสพดู หรือไม่ก็ไปดูคนอื่นกิน มันจะมีอาการทุกข์ใจ อาการรังเกียจ ต้องฆ่าอัตตาพวกนี้ไปด้วย

เมื่อเราปราบทั้งกามและอัตตาแล้ว ก็จะเดินเข้าสู่ทางสายกลางแบบสบายๆ เพราะไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่เสพเนื้อวัว และเราก็ไม่ได้รังเกียจเนื้อวัว หรือคนที่ยังเสพเนื้อวัว

ในตอนนี้เราปราบบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวสำเร็จแล้ว เราก็ไปเล่นด่านต่อไป คือตั้งศีลสู้กิเลสต่อไป ในด่านของเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย การเบียนเบียดอื่นๆต่อไป ยิ่งเราชนะไปเรื่อยๆ ตัวเราก็เองก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำอธิศีล จะทำให้เราพ้นเวรภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง อธิจิตจะทำให้เรามีสมาธิตั้งมั่น อดทนกับอะไรๆได้ดีขึ้น อึดขึ้น แกร่งขึ้น อธิปัญญาจะทำให้เราฉลาด เฉลียว ว่องไว รู้แจ้งในเรื่องกิเลสนั้นๆ และยังใช้ปัญญานั้นปรับเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อีก

ดังจะเห็นได้ว่า เกมกำจัดกิเลส ก็คล้ายๆเกมที่เราเล่นกันอยู่ทุกวันนี่แหละ เพียงแต่คนสู้ คนแพ้ คนเจ็บ และคนชนะคือเรานี่เอง แต่มันก็น่าจะคุ้มค่าสำหรับเวลาที่เราให้ไปในการเล่นเกมนี้นะ

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์