Tag: กาม
การเลิกกินเนื้อสัตว์แบบไม่ได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกตรง มีความเสื่อม ความแตกแยก และความทุกข์เป็นปลายทาง
การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นความดีอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงทำได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากมีทางที่ไม่เรียบ ก็จะมีทางที่เรียบอื่นที่จะหลีกเลี่ยงทางไม่เรียบนั้น เหมือนกับคนที่ไม่อยากพัวพันกับคนผิดศีล เขาเหล่านั้นก็ควรจะเดินในเส้นทางที่ไม่ผิดศีล ไม่ยินดีในการผิดศีล ไม่ส่งเสริมให้คนผิดศีล (สัลเลขสูตร เล่ม 12 ข้อ 106)
ทีนี้การไม่กินเนื้อสัตว์นี้ก็เป็นทั้งความดีแบบโลก ๆ ทั่วไปและความดีระดับเหนือโลกเช่นกัน(สำหรับผู้ที่ตั้งจิตไว้ถูก) เพราะมันเป็นพื้นฐานความดีทั่ว ๆ ไป
แต่คนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่สอนให้พ้นทุกข์ได้จริงนั้น จะมีทางไป 2 ทาง คือทางโต่ง 2 ด้าน นั่นคือ กาม และ อัตตา
ทิศของกาม คือ การเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ ดังที่เราจะเห็นได้มากมาย กับคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเวียนกลับไปแตะเนื้อสัตว์ บ้างก็แตะ ๆ นิด ๆ หน่อย แล้วสำนึก บ้างก็ความเห็นผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลยก็มี เพราะทิศของกามมันจะมีแต่สุขลวง มีแต่สุขจากเสพ มันเป็นรสที่หลอกคนไว้ ผูกคนไว้ ทำให้คนเชื่อ หลงเสพ หลงว่าดี หลงว่าเป็นคุณค่า ในการเสพเนื้อสัตว์นั้น ๆ การเวียนกลับมาในทิศของกาม นั้นเหตุเพราะมันทนความอยากไม่ได้ มันไม่สามารถทนกับทุกข์ได้ เพราะไม่เข้าใจความจริงของความทุกข์นั้น ๆ ชีวิตเลยเบนเข็มกลับมาที่กาม ซึ่งเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ยืนอยู่ในสังคม ก็คนที่กินเนื้อสัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่กับทางโต่งฝั่งกามนี้นี่เอง
ทิศของอัตตา คือ การทรมานตนเองด้วยความยึดดี ทิศนี้จะเป็นกลุ่มก้อนของคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ในหลาย ๆ เหตุผล แต่วิธีที่ใช้คือ อดทน ฝืนทน อดกลั้น จะมีความไม่โปร่ง ไม่โล่งภายในใจ ถ้าเป็นอัตตาที่ยังมีกามจัดอยู่ จะทนได้สักพัก แล้วจะดีดกลับไปฝั่งติดกาม กลับไปกินเนื้อสัตว์
แต่ถ้าเป็นอัตตาฝั่งยึดดีจัด ๆ จะเครียด จะเคร่ง กดดัน บีบคั้น จะมีตัวตนที่แรงกล้า จนคนอื่นรู้สึกลำบากใจ คือมันจะเป็นขีดโต่งไปทางยึดดี ถ้าสะสมกำลังมากขึ้น แม้จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ อาจจะไปเพิ่มอัตตา คือมีความอวดดี หลงดี ยกตนข่มท่าน นี่เป็นเหตุที่ทำให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ไปทะเลาะกับคนอื่นเขา เพราะมันมีดีให้ยึด ไปยกตนข่มคนที่เขาด้อยกว่าก็บาปแล้ว ถ้าสะสมอัตตามากขึ้น มันจะปีนเกลียว มันจะเริ่มไปสอย คนที่อยู่สูงกว่า เริ่มแน่ เริ่มเก่งเกินคนอื่น อันนี้จะมี 2 มิติ คือมิติที่หลงตัวเอง กับมิติที่สูงกว่าจริง ๆ ถ้าสูงกว่าจริงจะไม่ผิด แต่ที่ผิดเพราะหลงตัวเองว่าสูง ก็ไปตีตนเสมอหรือเพ่งโทษคนที่เขาปฏิบัติดีกว่า มีศีลสูงกว่า มีปัญญามากกว่า อันนี้ก็เรียกว่าขี้กลากกินหัวทันที เพราะวิบากกรรมจะสาหัสมาก ส่วนใหญ่ก็จะเพี้ยน โง่ หลง ป่วย ตาย ฯลฯ
จะเกิดเป็นความเศร้าหมอง หดหู่ ซึมเศร้า ไม่สดชื่น ชีวิตมันจะเหี่ยว ๆ ไปเรื่อย ๆ จนตายนั่นแหละ ถ้าไม่มีมิตรดีช่วยชี้แนะนี่จบเลย เรื่องโง่นี่มันรู้เองไม่ได้ง่าย ๆ นะ เพราะวิบากกรรมของฝั่งอัตตานี่มันแรง ฝั่งกามมันจะมีโทษประมาณหนึ่ง ถึงจะกินเนื้อสัตว์มันมีอกุศลวิบาก แต่มันจะมีขีดของโทษประมาณหนึ่ง ก็อย่างที่เห็น กินทั้งชีวิตบางคนก็ยังไม่ป่วยไม่ตาย แต่ถ้าโทษของฝั่งอัตตานี่เรียกว่าแรงกว่าป่วยกว่าตาย
ก็เป็นการทรมานตนเองด้วยความยึดดี หรือจะเรียกว่าทำร้ายตัวเองด้วยความโง่ ก็ใช่ สรุปคือ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจะมีทิศไปแค่ 2 ทิศนี้เท่านั้น ที่เหลือคือเวลาและกำลัง ว่าจะไปถึงความทุกข์เศร้าหมองนั้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
ปฏิบัติกันไปเรื่อย ๆ จะรู้เอง ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเองดี ๆ จะรู้ว่ามันทุกข์ มันไม่สดชื่น มันไม่เบิกบาน ต้องรีบปรับทิศ เพราะทางโต่ง 2 ด้าน ยิ่งเดินยิ่งหลง ยิ่งช้ายิ่งนาน
รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
มีคำถามเข้ามา ประมาณว่าผมเขียนบทความเรื่องความรักนี่มาก็มากมาย แล้วเคยมีรักแท้แบบชายหญิง บ้างไหม?
ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นคำถามของหลายคน เพราะความจริงผมเองก็ไม่เคยเปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย ในบทความนี้ก็จะมาตอบข้อมูลบางส่วนของประสบการณ์ความรักของผม
ตอบ … ความรักระหว่างชายหญิง ผมก็เคยมีครับ เคยรัก เคยมีแฟนเหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละครับ แต่จะให้ผมเรียกมันว่ารักแท้ไหม? ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ครับ และผมไม่เชื่อด้วยครับว่าความรักที่ผูกพันด้วยความเป็นหญิงและชายในโลกใด ๆ จะมีรักแท้ นิยามของคำว่า “รักแท้” ของผมตอนนี้มันสะอาด บริสุทธิ์กว่าที่จะเอาเรื่องชาย – หญิง มาปนครับ ผมเชื่อว่ารักที่มีกิเลสปนเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถเรียกว่ารักแท้ได้ครับ มันเป็นเพียงความหลงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมจะมาขยายนิยาม คำว่า “รักแท้” ในหลาย ๆ มุมให้อ่านกันครับ
1.รักแท้อบายภูมิ รักแท้ผีเปรต
เป็นรักแท้แบบแปะป้ายให้คนเข้าใจผิด เป็นรักปลอม ๆ ที่แม้จะดูออกได้ง่าย ก็ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงไปได้ เช่นหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงานกับคนชั่ว พวกหลอกลวง ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้ามารักเพื่อทรัพย์สิน ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ความสุข ฯลฯ ก็เป็นความรักแท้แบบหลอก ๆ เพราะใช้ “สิ่ง” ต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่จ่ายไปไม่ใช่ความรัก อารมณ์ หรือทัศนคติใด ๆ แต่มักจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มคนเหล่านั้นไว้ คนที่เขาหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงาน ทุกคนก็หลงว่าเป็นรักแท้กันหมด ถ้าเขาจะนิยามว่ารักแท้เป็นอย่างไร? เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นแบบที่เขามีนั่นแหละคือรักแท้ ตอนนั้นเขาหลงเชื่อแบบนั้นจริง ๆ พอโดนกิเลสหลอก มันก็เห็นของเก๊กลายเป็นของแท้ได้จริง ๆ
2.รักแท้โลกียะ
รักแท้โลกียะ คือรักโง่บริสุทธิ์ คือความหลงมัวเมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา แล้วก็เสพสุขกับความ “ได้ดั่งใจ” ในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของกาม และในมุมของอัตตา ในมุมกามก็ได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็หลงสุขใจ ยินดีในรสนั้น ๆ ว่าถ้ามีให้เสพตลอดไปนี่แหละจึงเรียกว่ารักแท้ ในมุมอัตตา เช่น ได้ควบคุม ได้บงการ ได้ทาส ได้ผู้ซื่อสัตย์ ที่จะคอยรัก คอยเอาใจ คอยดูแล คอยบำเรอตนตลอด หรือแม้กระทั่งรักตนตลอดไป ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน ยึดมั่นถือมั่นแต่เฉพาะตน ไม่หันไปมองใคร ดูแลกันจนแก่เฒ่า รักกันจนวันตาย บูชาความรักที่มีฉันเป็นศูนย์กลาง อันนี้คนเขาก็เรียกกันว่ารักแท้เหมือนกัน
รักแท้ในมุมโลกียะนี้ เรียกได้ว่า แค่มีศีล ๕ ก็ประเสริฐนักหนาแล้ว เป็นสิ่งที่คนแสวงหามาครอบครอง ใครเขามีรักก็อยากให้รักคงอยู่นาน ๆ ให้คู่ของเขามั่นคง ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความวิปลาสของจิตในความรักแบบโลกียะ ที่พอใจอยู่กับสุขลวงเพียงเท่านี้ แม้จะมีสุขน้อยทุกข์มาก เพียงแค่ได้เสพสุข ได้ยินดีพอใจในสุขแม้น้อยนั้น คนเขาก็ยังเรียกว่ารักแท้กัน
3.รักแท้กัลยาณธรรม
ขยับดีขึ้นมาหน่อย จากรักแท้แบบโลกียะ หรือแบบโลก ๆ ทั่วไป พอขยับฐานขึ้นมาก็จะกลายเป็นรักแบบคนดี แบบคนมีศีลมีธรรม คือพยายามจะพากันเจริญ พยายามจะพราก พยายามปฏิบัติศีล ประพฤติพรหมจรรย์ พยายามที่จะละเว้นจากการสมสู่ พากันเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แบบนี้คนในสังคมโลกีย์ เขามองเข้ามา เขาก็ไม่อยากได้ เพราะมันได้เสพน้อย รสมันไม่จัดเท่าแบบโลกีย์ แบบนี้มันจะจืดลงมา ทั้งรสกามและรสอัตตา แต่มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีความอยากความยึดปนอยู่เช่นนั้น หลายคนก็ยังนิยามรักห่วย ๆ แบบนี้ว่ารักแท้ได้เหมือนกัน
ทำไมถึงเรียกว่าห่วย? เพราะมันยังทุกข์อยู่ยังไงล่ะ เพราะดีกว่านี้มันยังมีอยู่ยังไงล่ะ เพราะสิ่งที่ดีกว่ามันดีกว่านี้จนเทียบกันไม่ได้เลย รักแบบนี้ถึงจะยังมีอยู่ ก็ยังเป็นหนามในใจ ยังผูกพัน ยังยึดมั่น ยังดึงรั้น ยังอยากได้ดั่งใจอยู่ ที่สำคัญ นิยามรักแท้แบบนี้ ยังคงต้องอาศัยสภาพของคนคู่อยู่ คือยังต้องมีคู่ถึงจะเรียกว่ารักแท้ ต้องมีตัวกระทบ ต้องมีตัวบำเรอความสมบูรณ์แบบ ต้องมีสิ่งที่จะมายืนยันว่ารักฉันนี่แท้ ฉันประคองรักให้เจริญได้ มันต้องมีคู่มาเป็นหลักฐาน ไม่มีคู่เขาไม่เรียกว่ารักแท้ สรุปก็คือมันก็ต้องมีใครสักคนหนึ่ง ที่ซวยสุด ๆ ต้องมารับบทเจ้าชาย เจ้าหญิง ประคองรักอันหาสาระแท้ไม่ได้นี้ ไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ในมุมของความผาสุกแท้ในชีวิต ในความเห็นของบัณฑิต การมีคู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลย ซ้ำยังเป็นดงขวากหนามให้กับทางแห่งความเจริญของชีวิตอีกด้วย ต้องคอยเติมรัก ต้องคอยประคอง ต้องคอยเอาใจ ต้องคอยดูแล สิ่งนี้คนทั่วไปเรียกว่าสุข เขาเรียกว่ารักแท้ แต่บัณฑิตจะเรียกว่าทุกข์ เรียกว่าภาระ เรียกว่าความหลง
ความรักทั้ง 3 ข้อแรกจะจัดอยู่ในฝั่งของโลกียะ แต่ก็มีระดับของความหยาบ ไปจนละเอียดแตกต่างกันออกไป
4.รักแท้โลกุตระ
รักกันจนมาถึงขั้นนี้ได้ ต้องเรียกว่า “รักเหนือโลก” เป็นรักแท้แบบที่คนทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ส่วนใหญ่เขาไม่เรียกว่ารักแท้กันด้วยซ้ำ ทั้งที่จริง โดยความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่งต่อคำนิยามว่า “รักแท้”
รักแท้โลกุตระมีสภาพเป็นเช่นไร? มันเป็นรักที่ไม่มีบุคคลมาคอยรองรับความแท้ แต่มันแท้ในตัวของมัน เป็นรักที่ใส ๆ ปราศจากอคติ ลำเอียง ไม่เทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่ผลักใครคนใดคนหนึ่งจนเกินงาม คืออยู่ในขีดที่ให้เพื่อการขัดเกลาเพื่อความเจริญ แต่ไม่เลยไปจนถึงอกุศลหรือบาปใด ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงจิตของพระพุทธเจ้านั้นเสมอกันแม้ในพระราหุล (ลูกชาย) หรือพระเทวทัต (ผู้ที่อาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติ) ตลอดจนคนอื่น ๆ (จากบท:อุปาลีเถราปทาน)
ความรักที่ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ แน่นอน ยั่งยืนตลอดกาล ก็เห็นจะมีแต่รักที่ไร้กิเลสเท่านั้น ส่วนรักอื่น ๆ ที่ยังปนด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยตัวเราเป็นของเราแบบนี้ ตัวเธอเป็นของฉัน เราเป็นของกันและกัน รักพวกนี้ก็เป็นของเก๊ ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยน เวียนกลับ ไม่มั่นคงเป็นธรรมดา แม้จะแปะป้ายว่ารักแท้ ผูกโบว์สวยสด ยกขึ้นหิ้ง เชิดชูให้เป็นผู้มีรักแท้ยอดเยี่ยมของโลก แต่ถ้าจิตใจเขายังเหลือเชื้อกิเลส กิเลสแปลว่า ไม่เอาธรรมะ แปลว่าไม่เอาสิ่งดี เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แปรกลับ เป็นทุกข์ เป็นทิ้ง เป็นสารพัดเป็นที่จะเป็นเหตุให้คนที่ยึดมั่นถือมั่นได้เป็นทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน ฯลฯ อยู่ร่ำไป
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรักโลกุตระ “ความไม่เบียดเบียน” ต่างจากรักหัวข้ออื่นที่ยกมาก่อนหน้านี้ เพราะมันจะมีความเบียดเบียนปนอยู่ในชีวิตจิตใจด้วยเสมอ ความเบียดเบียนนี้คืออะไร คือมีแล้วทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว กลัว เกลียด สารพัดอารมณ์หม่นหมองที่จะเกิดขึ้น แต่รักโลกุตระ ที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นใคร ๆ เลย ก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะความรักนั้นไม่ได้เทลงไปที่ไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนต้องการก็ให้เท่าที่เป็นกุศล เต็มก็หยุด สุดก็พอ แล้วก็ปล่อยวางไปตามที่ควรมีควรได้
พอคนพัฒนามาถึงรักโลกุตระ จะพ้นพันธนาการจากสภาพยึดมั่นถือมั่นหรือสำคัญมั่นหมายในความเป็นคู่โดยสมบูรณ์ คือจิตไม่ไปยึดถือสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะรู้ว่ามีจิตที่ดีกว่า เบากว่า สบายกว่า เป็นประโยชน์กว่าแบบเดิม แบบเทียบกันไม่ได้ ไม่มีใครเวียนกลับไปสนใจรักปลอม ๆ รักโง่ ๆ หรือรักห่วย ๆ อีกต่อไป อันนี้มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ จะเดาเอาก็คงไม่ได้ เดาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีทางมีความเห็นตามนี้ได้ แม้จะมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าหรือพระเถระต่าง ๆ ก็ใช่ว่าคนดี ๆ เขาจะยินดีทำตามนิยามความรักแบบนี้ เขาก็ไปยึดถือเอาแต่ที่เขาพอใจนั่นแหละ ว่าดี ว่าเลิศ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าจริง
ความแท้ในมุมของความรักในโลกนี้จริง ๆ คือ ไม่มีใครเป็นของของเราได้ตลอดไป และสภาพรักในใจเราไม่สามารถดำรงอยู่ในค่าเดิมได้ตลอดไป อันนี้คือความจริงที่แท้ที่สุด เพราะมันคือความ “ไม่เที่ยง” ความไม่เที่ยงนี่แหละจริง พอคนไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ คือไปยึดกับความรักที่คิดว่าแท้นั้น แล้วมันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะเราไปมีตัวตน ไปยึดว่าเราต้องสุขเพราะแบบนั้น เขาต้องเป็นของเราแบบนั้นถึงจะสุข เราต้องมีกันและกันแบบนั้นถึงจะใช่ พอมันไม่ใช่ตัวตนที่ตนยึด มันแปรเปลี่ยนไป มันก็ทุกข์ เพราะมันหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสภาพของเรา
สุดท้ายใครพอใจแบบไหนก็ทำไป ก็ให้เวลาและความทุกข์ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว ในความแท้นั้น สิ่งใดเล่า เป็นสิ่งที่แท้กว่ากัน สิ่งใดน่าอาศัยกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสัตว์อื่นมากกว่ากัน ก็คงต้องศึกษากันไปตามทางของแต่ละคน
26.11.2562
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์
รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์
ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย
ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน
จุลศีลกับความรัก
ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์
ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน
ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน
ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง
กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม
อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน
ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม
ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส
เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่
การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย
ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป
พรหมวิหารกับความรัก
ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)
สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที
จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต
สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้
ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล
18.11.2562
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์
ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์
ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต
อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก
กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป
ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ
ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์
ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ
ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ
สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง
พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)
อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ
เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”
การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ”
นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น
คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง
ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน
– – – – – – – – – – – – – – –
18.12.2558