Tag: ทางสายกลวง

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,833 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)