Tag: เพ่งโทษ

บัณฑิตเก๊ พาลจำแลง

February 22, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 579 views 0

เวลาเราหลง ไม่มีปัญญา ไม่ฉลาด เราก็จะหลงว่าการคบคนพาลนั้นดี ไม่มีภัย ดีไม่ดีไปอวยคนพาลเข้าอีก

แต่เมื่อความจริงเปิดเผย วิบากหมด หายโง่ เกิดปัญญา จึงจะเห็นความพาลในคนพาล เมื่อนั้นแหละ ให้ระวังใจให้ดี อย่าเผลอไปคบคนพาลอีกครั้งด้วยการเอาจิตไปหมกมุ่นกับเรื่องคนพาล

ในชาดกตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของอดีตชาติหนึ่งของพระสารีบุตร ที่หลงไปคบคนพาล เป็นคนพาลที่ทำตัวเป็นผู้ทรงศีล แสร้งว่าตนวิเศษ ท่านก็หลงไปศรัทธา เคารพ สุดท้ายเผลอไปเล่าความลับที่อันตรายถึงชีวิตทั้งครอบครัวด้วยเหตุแห่งการล่อลวงของคนพาลนั้น

กลายเป็นว่าเกือบจะต้องตายทั้งโคตรเพราะเชื่อใจคนพาล เมื่อรู้ความจริงว่าเขาเป็นคนพาล เอาความลับไปขาย ก็เกิดความชิงชัง โทษคนพาล จะเอาเรื่อง จนพระพุทธเจ้าในชาตินั้นได้เตือนสติว่า ที่ท่านพลาดไปเชื่อคนพาลก็คือความผิดของท่านเอง

ก็เหมือนกับที่เราหลงไปเชื่อคนพาลนั่นแหละ ก็คือความโง่ของเราเอง จริง ๆ คนพาลมีอยู่เต็มโลกอยู่แล้ว คนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต เป็นพระอริยะต่าง ๆ นา ๆ ก็มีอยู่เต็มโลก เป็นกับดักที่มีอยู่ทั่วไป แต่เราหลงโง่ไปติดกับดักนั้นเอง แล้วจะโทษใครได้ นอกจากความโง่ ความไม่มีปัญญาของเราเอง

เพราะโทษคนพาลไป ทำร้ายคนพาลไป ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น คนพาลมีมากเท่ากับดินทั้งแผ่นดิน ปราบให้ตายก็ปราบไม่หมด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้ห่างไกลคนพาล เมื่อเห็นความพาล ให้ตีห่าง ให้ถอยออกมาเลยจะปลอดภัยที่สุด

อย่าไปติดดียึดดีว่าจะสั่งสอนคนพาล อันนั้นทำไม่ได้ เพราะคนพาลเขามีธาตุเพ่งโทษ หลงตัวหลงตน เสแสร้งแกล้งทำ จิตเขาเองก็วกวนวิกลจริตในตัวอยู่แล้ว จะให้เอาธรรมะไปใส่ก็เหมือนเอา อาหารดี ๆ ไปใส่ในกองขี้ มันก็เสียของ เขาจะเลิกเป็นคนพาล เขาต้องทำด้วยตัวเอง

ยิ่งเราไปพลาดท่าเสียทีให้เขา เคยไปเชื่อฟังรับใช้เขามาก่อนนี่หมดสิทธิ์เลย มันจะมีวิบากร้ายกั้น วิบากจากความโง่ของเรานั่นแหละ คนพาลจะไม่มองเหมือนเรา เขาจะกระหยิ่มยิ้มย่องเวลาคนมาหลงศรัทธาเขา แล้วเขาก็จะยึด และยกตนข่มผู้อื่นไว้เสมอ

บางทีแค่เราไปคุยด้วย ไปติดต่อประสานงานด้วย แต่ก็ไม่ใช่ด้วยเหตุแห่งความศรัทธา เขายังหลงตัวหลงตน ว่าตนสำคัญ ตนพิเศษได้เลย เขาจะหลงให้ความสำคัญตัวเองแบบเกิน ๆ เหมือนดังเนื้อหาในชาดกตอนหนึ่ง ความประมาณว่า คนพาลแม้ได้เศษโลกธรรมแม้เล็กน้อย ก็ลำพอง ผยอง อวดดีในเศษโลกธรรมนั้น ๆ

ดังนั้นจึงไม่มีงานใด ๆ ที่ควรสัมพันธ์กับคนพาลเท่ากับงานห่างไกลคนพาล กิจกรรมห่างไกลคนพาลถือเป็นกิจกรรมที่พาเจริญ เป็นมงคล การพากันห่างไกลคนพาล ไม่คบคนพาล จะเป็นพลังกุศลที่มาก เป็นพลังที่หยุดบาป หยุดอกุศลได้ เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางแห่งความผาสุกของชีวิต

การเลิกกินเนื้อสัตว์แบบไม่ได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกตรง มีความเสื่อม ความแตกแยก และความทุกข์เป็นปลายทาง

December 31, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 626 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นความดีอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงทำได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากมีทางที่ไม่เรียบ ก็จะมีทางที่เรียบอื่นที่จะหลีกเลี่ยงทางไม่เรียบนั้น เหมือนกับคนที่ไม่อยากพัวพันกับคนผิดศีล เขาเหล่านั้นก็ควรจะเดินในเส้นทางที่ไม่ผิดศีล ไม่ยินดีในการผิดศีล ไม่ส่งเสริมให้คนผิดศีล (สัลเลขสูตร เล่ม 12 ข้อ 106)

ทีนี้การไม่กินเนื้อสัตว์นี้ก็เป็นทั้งความดีแบบโลก ๆ ทั่วไปและความดีระดับเหนือโลกเช่นกัน(สำหรับผู้ที่ตั้งจิตไว้ถูก) เพราะมันเป็นพื้นฐานความดีทั่ว ๆ ไป

แต่คนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่สอนให้พ้นทุกข์ได้จริงนั้น จะมีทางไป 2 ทาง คือทางโต่ง 2 ด้าน นั่นคือ กาม และ อัตตา

ทิศของกาม คือ การเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ ดังที่เราจะเห็นได้มากมาย กับคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเวียนกลับไปแตะเนื้อสัตว์ บ้างก็แตะ ๆ นิด ๆ หน่อย แล้วสำนึก บ้างก็ความเห็นผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลยก็มี เพราะทิศของกามมันจะมีแต่สุขลวง มีแต่สุขจากเสพ มันเป็นรสที่หลอกคนไว้ ผูกคนไว้ ทำให้คนเชื่อ หลงเสพ หลงว่าดี หลงว่าเป็นคุณค่า ในการเสพเนื้อสัตว์นั้น ๆ การเวียนกลับมาในทิศของกาม นั้นเหตุเพราะมันทนความอยากไม่ได้ มันไม่สามารถทนกับทุกข์ได้ เพราะไม่เข้าใจความจริงของความทุกข์นั้น ๆ ชีวิตเลยเบนเข็มกลับมาที่กาม ซึ่งเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ยืนอยู่ในสังคม ก็คนที่กินเนื้อสัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่กับทางโต่งฝั่งกามนี้นี่เอง

ทิศของอัตตา คือ การทรมานตนเองด้วยความยึดดี ทิศนี้จะเป็นกลุ่มก้อนของคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ในหลาย ๆ เหตุผล แต่วิธีที่ใช้คือ อดทน ฝืนทน อดกลั้น จะมีความไม่โปร่ง ไม่โล่งภายในใจ ถ้าเป็นอัตตาที่ยังมีกามจัดอยู่ จะทนได้สักพัก แล้วจะดีดกลับไปฝั่งติดกาม กลับไปกินเนื้อสัตว์

แต่ถ้าเป็นอัตตาฝั่งยึดดีจัด ๆ จะเครียด จะเคร่ง กดดัน บีบคั้น จะมีตัวตนที่แรงกล้า จนคนอื่นรู้สึกลำบากใจ คือมันจะเป็นขีดโต่งไปทางยึดดี ถ้าสะสมกำลังมากขึ้น แม้จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ อาจจะไปเพิ่มอัตตา คือมีความอวดดี หลงดี ยกตนข่มท่าน นี่เป็นเหตุที่ทำให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ไปทะเลาะกับคนอื่นเขา เพราะมันมีดีให้ยึด ไปยกตนข่มคนที่เขาด้อยกว่าก็บาปแล้ว ถ้าสะสมอัตตามากขึ้น มันจะปีนเกลียว มันจะเริ่มไปสอย คนที่อยู่สูงกว่า เริ่มแน่ เริ่มเก่งเกินคนอื่น อันนี้จะมี 2 มิติ คือมิติที่หลงตัวเอง กับมิติที่สูงกว่าจริง ๆ ถ้าสูงกว่าจริงจะไม่ผิด แต่ที่ผิดเพราะหลงตัวเองว่าสูง ก็ไปตีตนเสมอหรือเพ่งโทษคนที่เขาปฏิบัติดีกว่า มีศีลสูงกว่า มีปัญญามากกว่า อันนี้ก็เรียกว่าขี้กลากกินหัวทันที เพราะวิบากกรรมจะสาหัสมาก ส่วนใหญ่ก็จะเพี้ยน โง่ หลง ป่วย ตาย ฯลฯ

จะเกิดเป็นความเศร้าหมอง หดหู่ ซึมเศร้า ไม่สดชื่น ชีวิตมันจะเหี่ยว ๆ ไปเรื่อย ๆ จนตายนั่นแหละ ถ้าไม่มีมิตรดีช่วยชี้แนะนี่จบเลย เรื่องโง่นี่มันรู้เองไม่ได้ง่าย ๆ นะ เพราะวิบากกรรมของฝั่งอัตตานี่มันแรง ฝั่งกามมันจะมีโทษประมาณหนึ่ง ถึงจะกินเนื้อสัตว์มันมีอกุศลวิบาก แต่มันจะมีขีดของโทษประมาณหนึ่ง ก็อย่างที่เห็น กินทั้งชีวิตบางคนก็ยังไม่ป่วยไม่ตาย แต่ถ้าโทษของฝั่งอัตตานี่เรียกว่าแรงกว่าป่วยกว่าตาย

ก็เป็นการทรมานตนเองด้วยความยึดดี หรือจะเรียกว่าทำร้ายตัวเองด้วยความโง่ ก็ใช่ สรุปคือ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจะมีทิศไปแค่ 2 ทิศนี้เท่านั้น ที่เหลือคือเวลาและกำลัง ว่าจะไปถึงความทุกข์เศร้าหมองนั้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ปฏิบัติกันไปเรื่อย ๆ จะรู้เอง ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเองดี ๆ จะรู้ว่ามันทุกข์ มันไม่สดชื่น มันไม่เบิกบาน ต้องรีบปรับทิศ เพราะทางโต่ง 2 ด้าน ยิ่งเดินยิ่งหลง ยิ่งช้ายิ่งนาน

ให้งดเนื้อสัตว์?

December 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,091 views 0

ผมไม่เคยบอกสักคำว่าทุกคนต้องงดเนื้อสัตว์ แค่นำเสนอข้อมูลไปแล้วให้ไปพิจารณาเอาเองว่าสมควรไหม? อย่างไร? แล้วก็เลือกกันเอาเอง

พิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องลดเนื้อกินผักทีไร มีชาวยัดเยียดมาใส่ยศ “สาวกพระเทวทัต” กันทุกทีเลย ผมว่าพวกเขาน่าจะมีปัญหาในการจับใจความและการสรุปความนะ เป็นปัญหาใหญ่ในการสื่อสารเลย

มีบางคนบอกว่าผมพยายามให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ …แต่ผมว่าไม่นะ แค่เผยแพร่ความรู้ไปเท่านั้นแหละ มีของดีเราก็แจกจ่ายกันไป ทำไมต้องโง่ไปหวังผลด้วยล่ะว่ามันจะเกิดดีหรือไม่ดี แค่ทำดีก็พอแล้ว

…ผมไม่เห็นรู้สึกเดือดร้อนเลย ถ้าจะใครกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ใครอยากกินก็กิน ไม่อยากก็ไม่ต้องกิน ทุกคนก็รับผิดชอบกรรมของตัวเองไป ทำไมต้องไปเดือดร้อนแทนคนอื่น??

ส่วนคนที่คิดจะมาศึกษาธรรมะ ผมจะบอกว่าถ้าแค่ฐานกินเนื้อสัตว์ ยังทำความเข้าใจไม่ได้ว่าเป็นโทษอย่างไร ไอ้ที่ยากกว่าเช่น กินจืด กินมื้อเดียว โสด ทำงานฟรี ฯลฯ นี่คุณจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย

ธรรมะนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบังคับกันนะ แต่จะเป็นไปตามฐานของแต่ละคน คนที่ทำไม่ได้ก็ไม่ได้ ทำได้ก็ได้ คนที่เบื้องต้นยังไม่ได้ก็หัดขั้นต้นไปก่อน อย่าไปลัดเอาเบื้องปลาย มันไม่มีหรอก มันเฉโกเท่านั้นแหละ

สุดท้ายผมล่ะสงสารคนที่เห็นผิดจับใจ แค่เข้ามาข่มก็สร้างวิบากให้ตัวเองมากพอแล้ว ไม่ดูตาม้าตาเรือเลยว่าถิ่นนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน บางทีอัตตามันหนา พกความมั่นใจมาเต็มที่สุดท้ายได้กลับบ้านไปคือชั่วกับซวย…คุ้มไหมเนี่ย

………..

ลักษณะที่เจอส่วนใหญ่ คนจะเข้ามาพร้อมชุดความคิดที่สรุปมาแล้ว ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ฉันเห็นอย่างนั้น ไม่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกันหรอก แค่อยากจะมาสรุปว่าฉันเห็นของฉันแบบนี้ ของเธอผิดและของฉันถูก

บางทีเรื่องที่เอามากล่าวหาก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบทความก็มี ไม่รู้ไปสุมไฟแค้นมาจากไหน ประเด็นมากมายปนกันมั่วไปหมด หลุดประเด็นหลักมาสร้างประเด็นใหม่ก็มีเหมือนกัน

ทำไมมันต้องเป็นอย่างที่เห็นแล้วเข้าใจด้วยล่ะ สิ่งที่เห็นและเข้าใจมันจะต้องถูกต้องเสมอไปเลยรื้อ~ บางทีก็มาเดาใจกันไปว่าฝืนทน กดข่ม อยากให้คนอื่นเลิกกินเนื้อสัตว์ ฯลฯ มันก็เดากันไปไกล รู้จักคบคุ้นเคยคุยกันรึเปล่าก็ไม่ใช่

จะมาตัดสินกันด้วยเวลาอันสั้นนี่มันไม่ได้หรอกน้า มันต้องดูกันไปนานๆ ศึกษากันไปนานๆ พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้เลยว่าเรื่องศีลเรื่องปัญญาจะต้องดูกันนานๆ ไม่ใช่กาลเพียงชั่วครู่ คนมีปัญญารู้ได้ คนไม่มีปัญญาต่อให้นานแค่ไหนก็รู้ไม่ได้ … นี่มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆละน้า

แต่นักรบ anti มังฯ เขาก็บุกโจมตีชาวมังฯ ไปเรื่อยๆนั่นแหละ ก็ไม่มีอะไรหรอก แค่ไปดีขวางหูขวางตา เขาก็เล่นเอาแล้ว ถ้าไม่ดีจริงเขาก็เล่นเราอีก แหม่ คนเราจะมาจับผิดอะไรคนอื่นกันนักกันหนา เรื่องตัวเองไม่ค้นหา ผิดชาวบ้านนี่ล่ะจับกันจังเลย

………..

หลังจากที่พิจารณาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม ผมก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ และเป็นคำตอบที่แลกมาด้วยการเปื้อนซะเยอะเลย

การที่มีคนเข้ามาเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอันนี้รู้กันอยู่แล้ว แต่มันเกิดจากสาเหตุกิเลสหยุมหยิมประการใดนั้นเป็นสิ่งที่ผมอยากรู้มาก เลยพยายามหาคำตอบอยู่พักใหญ่

ก็ได้ข้อสรุปเป็นว่าเขาก็มาเสพให้สมใจนั่นแหละ อันนี้ภาพกว้างๆ คงไม่ขยายไว้ในที่นี้ คือมาเสพการได้แสดงออก การได้พูด ได้ข่ม ได้แสดงตัวตน ฯลฯ ซึ่งผมเคยคิดว่ามุมนี้เป็นมุมติดดีน่าจะพอแก้ไขกันได้ แต่จริงๆไม่ใช่เลยนะ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หมายถึงถ้ามาแนวเพ่งโทษเมื่อไหร่ก็นั่นแหละคนพาล ซึ่งนี่มันเลวร้ายกว่าสภาพของการติดดีอีกนะ เพราะมันคือติดชั่ว อันนี้ที่ผมประเมินผิดไป

แล้วทีนี้มงคล 38 ข้อแรกท่านให้ห่างไกลคนพาล คือต้องห่างทั้งกาย วาจา ใจ เลย คืออย่าไปสาละวนอยู่กับคนพาล มันจะเปื้อน มันจะเละ และแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก

สรุปว่าถ้ามาแนวๆเพ่งโทษ นี่ก็ให้ปล่อยไปเลย ไม่ต้องข้องแวะ ถือเป็นมงคลในชีวิตครับ (ภาษาฝรั่งว่า don’t feed trolls )

พอรู้แล้วเลยมาแบ่งปันประสบการณ์ให้ร่วมเรียนรู้กันครับ

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,840 views 0

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง

ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี

คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย

การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล

การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ

ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี

ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์

คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี

ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์

ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย

ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว

เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้

ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้

คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี

เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น

และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ

การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น

ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก

ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส

แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น

ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง

การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้

. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

23.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)