Tag: เพ่งโทษ

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,946 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เทศกาลกินเจ

September 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,664 views 0

เทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ

เข้าช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ก็มักจะเป็นช่วงที่สังคมหยิบยกเอาเรื่องของการกินเจ สาระความรู้ แม้แต่ข้อคิดเห็นความเข้าใจในเรื่องของการกินเจออกมาแชร์กัน

สารภาพตรงๆว่าผมเอง ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยกินเจเลย ไม่เคยสนใจ ไม่เคยรับรู้ พึ่งจะมากินมังสวิรัติมาได้ปีกว่าๆ ในปีนี้ก็เลยลองไปเดินดูบรรยากาศที่เยาวราชกันสักหน่อย และแวะเข้าไปซึมซับบรรยากาศในช่วงเทศกาลกินเจที่วัดมังกรฯกันสักนิด เพื่อที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มากกว่าอ่านบทความในอินเตอร์เน็ตและดูจากทีวี

เรามักจะได้เห็นการวิวาทะเกี่ยวความเชื่อเรื่องการกินเจอยู่บ่อยๆในสังคมออนไลน์ ว่ากินเจดี หรือไม่ดี ต้องกินหรือไม่ กินอย่างไร แบบไหนจึงจะดี แล้วต้องคิดต้องทำอย่างไรถึงจะดี บ้างก็ยกหลวงปู่หลวงพ่อที่ตนนับถือมาอ้าง บ้างก็ยกพระไตรปิฏกมาอ้าง ว่าสิ่งที่ตนคิด สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นดี กลายเป็นเทศกาลที่มักจะเห็นคนห้ำหั่นกันด้วยอัตตากันอยู่บ่อยๆ

จะขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกินเจ เพราะเรื่องกินนั้นเป็นประเด็นหลักที่สังคมรับรู้และให้ความสำคัญมาก

คนกินเจ…

ผมคิดว่าการที่คนเราลองเปลี่ยนมากินเจนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว มีโอกาสได้ลดเนื้อกินผักหรือกินอะไรแทนเนื้อสัตว์ก็กินไปเถอะ ไม่เบียดเบียนคนอื่นก็ดีแล้วส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เราไปกินเจแล้วรู้สึกว่าเราดีกว่าคนอื่นนั้น ยังไม่ดี อันนี้ควรจะแก้ไข คนกินเจบางคนมักจะสำคัญตัวเองว่าฉันใจบุญ ฉันดี ฉันมีศีล ซึ่งความติดดียึดดีเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่ไปทำร้ายทำลายใจคนที่เขาไม่กินเจ

คนที่กินเนื้อเองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีไปเสียทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทั้งชีวิตที่ผ่านผมเองก็กินเนื้อมาตลอดและต้องบอกตรงๆเลยว่า สมัยก่อนก็ชอบเนื้อมาก ถึงขั้นเสพติดเนื้อกันเลยทีเดียว แต่ทุกอย่างก็ไม่เที่ยง…แปรผันได้ตลอดเวลา ติดได้ก็เลิกได้ บางทีคนที่เขายังกินเนื้อในวันนี้ แต่ปีหน้าเขาอาจจะลดเนื้อกินผักได้มากกว่าคนที่กินเจปีละครั้งก็ได้ ดังนั้นคนกินเจก็อย่าไปปรามาส อย่าไปสบประมาทคนที่เขายังกินเนื้ออยู่ เพราะเขาแค่ยังไม่รู้ถึงโทษของการกินเนื้อ เราไม่รู้หรอกว่าใครมีบุญบารมี มีวาสนาสะสมมาเท่าไหร่ คนที่กินเจก็ควรจะมุ่งมั่นกินเจของตนไป ขยายขอบเขตการลดการเบียดเบียนให้ได้มากขึ้น เป็นเดือน เป็นปี อย่าให้ใครเขาว่าเอาได้ว่าถือศีลตามเทศกาล ถือตามชาวบ้าน ถือศีลแบบไม่มีปัญญา

ดังนั้นการเพ่งโทษคนที่ไม่กินเจ หรือกินเจไม่เคร่งครัด จึงไม่ใช่วิสัยที่คนถือศีลกินเจควรทำ เพราะสิ่งที่เราควรทำคือขัดเกลาจิตใจตนเอง ไม่ใช่จิตใจของผู้อื่น

คนไม่กินเจ…

ส่วนคนที่ไม่ได้กินเจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การที่เราเห็นคนกินเจ เราก็ควรจะยินดีกับเขา เห็นคนที่เขาคิดจะทำดี แม้ว่ามันจะยังไม่ดีเลิศอะไร แต่เขาก็ยังคิดจะทำสิ่งที่ดีเท่าที่เขาจะทำได้ แม้เราจะยังไม่เห็นว่าสิ่งนั้นดี เราไม่ยินดีทำตามก็ไม่เป็นไร แต่การที่เราไปเพ่งโทษคนที่เขาทำดี อันนี้ก็ไม่ดี เขาตั้งใจทำดีเรายังไปว่าเขาไม่ดี เรานั่นแหละไม่ดี เขาทำดีเราควรจะช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยสนับสนุนให้เขาทำดี ไม่ใช่ไปคอยไปจับผิดเขา คอยแสดงท่าทีเขาให้เลิกทำดี กลับมากินเนื้อเป็นปกติเหมือนอย่างเรา

การกินเจหรือลดเนื้อกินผักนั้น เป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องเดินสวนกระแสแห่งความอยาก ถ้าหากเรายังไม่เคยท้าทายตัวเอง เอาแต่ลอยไปตามสายน้ำแห่งความอยาก ก็ยากที่จะเข้าใจจิตใจของผู้ที่กินเจ ดังนั้นเพื่อการศึกษา คนที่ไม่กินเจ ก็อาจจะลองมากินเจดูบ้างก็ได้ ว่าสิ่งที่เขาว่ายากนั้นยากอย่างไร แล้วสิ่งที่เขาว่าดีนั้นดีจริงอย่างไร

จริงอยู่ที่ว่าการกินเจไม่ได้ทำให้ใครเป็นคนดี และคนดีทุกคนไม่จำเป็นต้องกินเจ แต่เราเองก็ควรจะรับรู้ด้วยว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นก่อให้เกิดการเบียดเบียน ซึ่งเราผู้กินเนื้อแต่ละคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอุ้มชูและพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม การค้าขายสัตว์เป็นหรือสัตว์ตายนั้น เป็นการค้าขายที่ผิดในทางของพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เรายังไปสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ เราก็ควรจะรับรู้ด้วยว่า เราเองก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองแห่งบาปนี้เช่นกัน

การกินเจที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง คล้ายเนื้อสัตว์ออกมามากมาย เป็ดเจ ไก่เจ หมูเจ ฯลฯ ทำให้หลายคนสงสัยว่าการกินเจจะดีจริงหรือในเมื่อใจเรายังติดในรสชาติของสัตว์นั้น

ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะให้คนกิเลสหนาหักดิบมากินผักเลยมันเป็นไปไม่ได้ โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมจึงได้ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์กับผู้ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นใหม่ หัดใหม่ หรือยังตัดความอยากไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นการลดการเบียดเบียนที่ดีวิธีหนึ่ง ถ้าเรากินกันได้แบบนี้ทุกคนบนโลก ก็จะไม่มีสัตว์ใดตายเพราะความอยากของเรา จริงไหม?

แต่เชื่อเถอะว่าเนื้อสัตว์เทียมเหล่านั้นก็ไม่สามารถหยุดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้หรอก ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาเหล่านั้นก็จะกลับไปหาเนื้อสัตว์จริงๆกิน เพราะความหิวกระหาย เพราะความอยาก เพราะกิเลสที่ถูกกดข่มไว้นานนั้นได้เพิ่มปริมาณและทะลักออกมา หรือที่เรียกว่าตบะแตก

ไม่มีสังคมใดที่จะมีคนดีคนเก่งไปเสียทั้งหมด คนที่กินเจได้แบบบริสุทธิ์ต่อเนื่องทั้งชีวิตก็คงจะมีอยู่ แค่เราอาจจะไม่เคยเห็น และถึงจะมีจริง เขาเองก็ไม่ได้สามารถที่จะสอนหรือแนะนำให้ทุกคนกินเจได้บริสุทธิ์ได้เหมือนเขา เพราะคนส่วนมากนั้นมีกิเลสที่หนาในระดับที่แตกต่างกันไป ทุกวันนี้ก็เลยมีผลิตภัณฑ์อาหารเจ เนื้อสัตว์เจขายกันอยู่ทั่วไป

– – – – – – – – – – – – – – –

27.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์