Tag: เนื้อสัตว์

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

October 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,777 views 1

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

เป็นอีกหนึ่งประเด็นในปัจจุบันที่ยังมีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งว่าการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นบุญจริงหรือไม่ แล้วจะเป็นบุญได้อย่างไร และที่สำคัญ “บุญ” คืออะไร?

บุญนั้นเป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาพุทธ บุญไม่ใช่กุศล(ความดี) แต่บุญคือการชำระกิเลส และการชำระกิเลสนั้นมีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้นที่จะทำได้ และที่สำคัญความรู้เหล่านั้นต้องเป็น “สัมมาทิฏฐิ

หากเว้นจาก “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว บุญหรือการชำระกิเลสนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้เลย ถึงจะทำดีแค่ไหนก็อยู่ในขอบเขตของกุศล แต่ไม่เป็นบุญ เพราะการทำดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะชำระกิเลสได้ การทำดี(กุศล) ไม่ว่าศาสนาไหนต่างก็สอนให้ทำดีเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสอนแตกต่างกันไป แต่พุทธนั้นมุ่งเน้นการหยุดบาปเสียก่อนเป็นอันดับแรก บาปนั้นคือกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง และสิ่งที่จะมาชำระบาปเหล่านั้นก็คือ “บุญ

ซึ่งการชำระกิเลสของพุทธนั้นเป็นเรื่องที่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มิใช่แค่เพียงตั้งใจทำตนเป็นคนดี ทำทาน มีน้ำใจ เสียสละเท่านั้น แต่ต้องลงไปกำจัดความหลงติดหลงยึดที่มีในจิตใจ การทำลายความหลงได้โดยลำดับนั้นเองที่เรียกว่า “บุญ

สัมมาทิฏฐิ

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วจะเห็นอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ จะยกสัมมาทิฏฐิ ข้อ ๑ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ “ทานที่ให้แล้วมีผล” (อัตถิ ทินนัง) มีผลอย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีผล เป้าหมายเดียวของของศาสนาพุทธนั้นคือทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง นั่นหมายความว่า ทานที่ทำไปแล้วนั้นต้องมีผลในการลดกิเลสจึงจะสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส ก็ไม่เรียกว่ามีผล ไม่เป็นบุญ แต่ก็มีกุศลตามกรรมที่ทำไป

ไม่ใช่ว่าการทำทานทุกครั้งจะลดกิเลสได้ ส่วนใหญ่ทำทานไปก็เพิ่มกิเลส เพิ่มความหลงติดหลงยึดไปด้วยซ้ำ เช่น ทำทานไปแล้วก็ขอให้ฉันได้แบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยๆก็ขอให้ฉันได้ความสุข ได้ทำความดี ได้เป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้มีการลดความตระหนี่ถี่เหนียวที่เป็นกิเลสในใจลงไปเลย ทานนั้นจึงยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำแล้วไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง)

บุญกิริยาวัตถุ

หมายถึงเราจะสามารถทำให้เกิดบุญ (ชำระกิเลส) ด้วยกันทั้งหมด ๑๐ วิธี ซึ่งในการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง จะถูกจัดอยู่ในหมวดของทาน (ทานมัย) คือการสละ ซึ่งการสละในที่นี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง วัตถุสิ่งของ แต่สามารถสละโอกาส สละสิทธิ์ สละเวลา สละสิ่งใดๆก็ตามที่เรามีโอกาสในการครอบครองให้ผู้อื่น

ซึ่งการไม่กินเนื้อสัตว์ก็คือการสละสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์ เขามีเงินซื้อนะ หรือมีคนเอามาให้ด้วย เขาได้รับมาโดยชอบธรรม แต่เขาสละออก เขาไม่เอาไว้บำเรอตน เขาเอาคืนให้คนอื่น ซึ่งการสละตั้งแต่แรกก็คือการไม่เลือกที่จะกินเนื้อสัตว์เลย เหมือนกับแม่ที่สละสิทธิ์ในอาหารที่น่าอร่อยชิ้นหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ให้ลูกของตน ส่วนตนเองยอมไม่กิน เพราะหวังจะให้ลูกของตนได้กินอาหารชิ้นนั้น จึงยอมสละสิทธิ์ในอาหารชิ้นที่ตนควรจะได้นั้น ทั้งๆที่กินไปก็ไม่มีใครรู้ กระบวนการนี้เรียกว่าทานเช่นกัน (สละความเห็นแก่ตัวออกไป)

แต่กระบวนการข้างต้นอาจจะไม่เป็น “บุญ” เลยก็ได้ เพราะ การเกิดบุญ (ชำระกิเลส) ได้นั้นต้องมีความเห็นที่ถูกตรง เห็นอะไร คือเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ ในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น จะไม่เป็นบุญถ้าคุณแม่คนนั้น มีจิตลำเอียง รักใคร่ในลูกตนจนเกิดความเสียสละซ้อนขึ้นมา “อยาก” ให้ลูกได้กินของอร่อย ก็เรียกว่าการเสียสละธรรมดา เป็นคนดีตามที่โลกเข้าใจ แต่ไม่เป็นบุญเพราะไม่ได้มีการชำระกิเลส

ซึ่งถ้าจะให้เกิดบุญ ต้องมีรายละเอียดของจิต เช่น เห็นความอยากกินอาหารชิ้นนั้นของตน แล้วชัดเจนว่าเราไปติดกิเลสตัวไหน รูป รส กลิ่น สัมผัส? เมื่อเห็นว่าเราหลงติดหลงยึดในอาหารอาหารชิ้นนั้นแล้ว จะเลือกต่อต้านกิเลส โดยการสละออกก็ได้ คือไม่ให้อาหารกิเลส ไม่ตามใจกิเลส ต่อต้านกิเลส ใช้ตบะเผากิเลส ขัดขืน แข็งข้อ เช่นนี้จึงเรียกว่าเป็นบุญ คือสามารถชำระกิเลสได้โดยลำดับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะเก็บไว้ให้ลูกหรือจะเอาให้คนอื่นก็จะต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะไปติดกิเลสอีกตัวเช่นรักลูกตนจนไม่เผื่อแผ่คนที่ขาด เป็นต้น

บุญกิริยาวัตถุนั้นมีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ทุกข้อสามารถปฏิบัติจนเกิดเป็นบุญหรือการชำระกิเลสได้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องสัมมาทิฏฐิ ถ้าทำทุกกิจกรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก็ไม่เกิดบุญ ไม่มีการชำระกิเลสใดๆ

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญอย่างไร

ดังที่ยกตัวอย่างมาในข้อก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง เป็นการสละสิทธิโดยชอบธรรมที่สังคมเข้าใจว่าทุกคนกินเนื้อสัตว์ได้ไม่ผิดอะไร แต่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นกลับเลือกที่จะสละสิทธิ์ที่ควรได้นั้น ไม่รับสิทธิ์นั้น แม้ว่าในทุกวันนี้ใครจะกินเนื้อสัตว์ยังไง แบบไหน เท่าไหร่ ก็ไม่มีใครสนใจ แต่ผู้ที่ไม่กินนั้นก็เลือกสละโอกาสนั้นทิ้งไปด้วยเหตุผลอันเป็นกุศลตามที่เขาเข้าใจ

เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ยกมาก่อนหน้านี้ การไม่กินเนื้อสัตว์จะเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ไม่กินนั้นว่าจะสามารถเข้าใจอย่างสัมมาทิฏฐิหรือไม่ ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นบุญ (เกิดการชำระกิเลส) ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็เป็นกุศล เป็นความดี เพราะเกิดการเสียสละซึ่งมีผลเจริญเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้จะเข้าใจถูกหรือไม่เข้าใจก็มีผลดีทั้งนั้น

กรณีของการกินที่ไม่เป็นบุญ ไม่มีการชำระกิเลส คือการกินด้วยความเห็นว่าดี เป็นการเสียสละ ละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป ศาสนาหรือความเชื่อใดก็สามารถมีความเห็นเช่นนี้และสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ได้อย่างบริสุทธิ์ด้วยความมุ่งมั่นในการทำดีเหล่านี้

แต่ในกรณีของพุทธนั้นต่างออกไป ศาสนาพุทธพุ่งเป้าที่การชำระกิเลสในสันดานให้ออกจนหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนใจโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ คือพุทธนั้นจะขุดลงไปที่รากของปัญหาคือกิเลสก่อน แล้วค่อยวกกลับมาใช้ความเห็นที่เป็นกุศลต่างๆดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ทำความเห็นให้ตรงและปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งผลสุดท้ายของการปฏิบัติแบบพุทธนั้นมีภาพออกมาจะคล้ายๆกับคนไม่กินเนื้อสัตว์ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น เรามีความอยากกินเนื้อสัตว์ เรารู้สึกถึงร่างกายที่แสดงอาการเมื่ออยากเนื้อสัตว์ หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากจะได้เนื้อสัตว์มาเสพ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นทุกข์มากเพราะความอยาก ตรวจลงไปในจิตก็พบว่ามันอยากเสพสัมผัส รส กลิ่น และที่สำคัญคือรูปร่างหน้าตาของเนื้อที่ชวนฝันนั้น เมื่อเห็นดังนั้น จึงใช้ความจริงตามความเป็นจริงเข้ามาต้านพลังกิเลสที่ชวนฝันนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยากลิ้มรสก็พิจารณารสเนื้อดิบ เมื่ออยากได้กลิ่นย่างหอมๆก็พิจารณากลิ่นเลือด เมื่ออยากได้สัมผัสนุ่มๆก็ให้พิจารณาสัมผัสเนื้อเน่าจากศพสัตว์ ฯลฯ การพิจารณาอสุภะอย่างหยาบนี้จะช่วยลดความอยากที่รุนแรงลงมาได้

ข้อพิจารณาดังกล่าวนั้นเป็นเบื้องต้นเพื่อลดความกระหายอยากให้สงบลง ซึ่งเรื่องที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ค้านแย้งกับสิ่งที่ติด แล้วค่อยๆพิจารณาลงไปถึงกรรมและผลของกรรมหากยังติดเนื้อสัตว์นั้น ความเป็นประโยชน์หากออกจากความอยากนั้น ความเป็นโทษถ้ายังหลงอยู่ในความอยากนั้น รวมทั้งพิจารณาไตรลักษณ์ คือความสุขจากการกินเนื้อนั้นไม่เที่ยง ความอยากกินเนื้อเป็นทุกข์ และความสุขจากการกินเนื้อไม่มีตัวตนอยู่จริง เราปั้นรสสุขและความทุกข์เหล่านั้นขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงคิดไปเองว่ามันมีจริง ทั้งที่จริงแล้วรสสุขเมื่อได้เสพเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริง พิจารณาไปจนรอบถ้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใคร่ครวญธรรมไปเรื่อยๆ จะสามารถลด “ความอยาก” ได้ ทำให้ความอยากนั้นจางคลายและดับไปได้

ในสภาวะสุดท้ายคือจิตนั้นแนบแน่นแนบเนียนไปตามไตรลักษณ์ คือเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆโดยไม่สงสัยใดๆอีก หมดความหลงในเนื้อสัตว์ เพราะรู้แจ้งชัดเจนในตนเองว่าแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ถึงจะไปเสพก็ไม่มีสุขหรือทุกข์ที่เกิดจากแรงของกิเลสเกิดขึ้นอีก ไม่มีทั้งรักทั้งชัง ไม่มีผลักไม่มีดูด หมดสิ้นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของการชำระกิเลสในเรื่องนั้น ซึ่งจะเกิดบุญโดยลำดับไปจนกระทั่งปฏิบัติไปถึงในตอนสุดท้ายจะเรียกว่า “สิ้นบุญสิ้นบาป” หมายถึง หมดหน้าที่ของบุญ คือไม่มีกิเลส(บาป)ให้ชำระในเรื่องนั้นๆอีกต่อไปแล้ว แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมเรื่องอื่นต่อเช่น ขนม ของหวาน ฯลฯ

ดังจะเห็นแล้วว่า การปฏิบัติให้เกิดบุญหรือการชำระกิเลส มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ตั้งแต่การกำหนดรู้อาการของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง การอ่านเวทนา การรู้จิตว่าปนเปื้อนไปด้วยกิเลสใด จนถึงการสร้างธรรมให้เจริญขึ้นในตนจนหมดความหลงติดหลงยึดในสิ่งนั้น สามารถไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติ นี่คือการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

สรุปเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญ

ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์นี้ จะเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาทิฎฐิ) ไม่ว่าจะคิด พูด ทำสิ่งใดก็ตาม ก็จะเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อการชำระกิเลส นั่นหมายถึงเป็นบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ตายยังไงก็ไม่เป็นบุญ เพราะไม่เข้าใจว่า “บุญคืออะไร”…

– – – – – – – – – – – – – – –

15.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,435 views 0

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

เป็นข้อสงสัยกันมานานว่าแท้จริงแล้ว ชาวพุทธควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายในสังคม ทุกความเห็นล้วนฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงที่สมควรทำตามหลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร เราจะมาศึกษาจากบทความนี้กัน

ในบทความนี้จะไม่ลงไปในรายละเอียดของคำว่าบุญหรือบาป บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุ ไม่กล่าวไปถึงเรื่องยิบย่อยในความเห็นต่างๆ แต่จะยกเพียงหลักใหญ่ๆของพุทธมาพิจารณาขอบเขตของกุศลและอกุศล คือจะชี้ชัดกันว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว โดยจะยกพระสูตรอ้างอิงทั้งหมด 3 สูตร คือโอวาทปาติโมกข์, มหาปเทส และกาลามสูตร

ซึ่งคำถามว่าการที่ชาวพุทธนั้นจะไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องสมควรไหม? มีผู้ให้ความเห็นกันมากมายทั้งผู้ที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนับถือ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็คือความเห็น และในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้ากันดูว่า ความจริงนั้นควรจะเป็นเช่นไร

โอวาทปาติโมกข์

เป็นหลักใหญ่ของศาสนาพุทธ เป็นองค์รวมทั้งหมด ขึ้นต้นด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยลำดับ นั่นหมายถึงประการแรกท่านให้หยุดทำบาปหยุดทำชั่วทั้งหมด คือชั่วนี่ไม่ต้องทำเลย ทำแต่ความดี ไม่ใช่ชั่วบ้างดีบ้างนะ ทำครึ่งๆกลางๆ อันนั้นไม่พ้นทุกข์ ที่ถูกต้องไม่ควรมีบาปเลยแม้น้อย

จะหยิบยกข้อต่อมาคือ “ผู้ที่ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”สมณะนั้นหมายถึงผู้สงบจากกิเลส คำว่าสมณะในพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้นั้นย่อมไม่ทำให้สัตว์ใดลำบากเลย ผู้ที่ยังมีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์อื่นต้องได้รับความลำบากอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเช่นนั้นเอง

และข้อสุดท้ายที่จะยกมาคือ “ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สาวกจงกินไม่เลือก เห็นเป็นแค่การกิน สักแต่ว่ากินโดยไม่พิจารณาใดๆเลย แต่ท่านให้ประมาณในการกิน ให้รู้ว่ากินสิ่งใดแล้วเกิดกุศล ไม่เป็นโทษ ทำให้เกิดความเจริญ ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวแต่ในอาหารที่กินเพื่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น อาหารอื่นๆจะยกไว้

พระพุทธเจ้าและสาวกเป็นตัวอย่างของการเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของสุกรมัทวะ อาหารมื้อสุดท้ายของท่าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สุกรมัทวะนี่เองเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่ท่านประสงค์ ท่านจึงรับสุกรมัทวะนั้นไว้แต่ผู้เดียว และที่เหลือให้นำไปทิ้งอย่าให้สาวกอื่นได้ฉัน เพราะมันมีโทษ แต่ท่านจำเป็นต้องใช้โทษนั้นเพื่อประโยชน์ของท่าน มันมีความซ้อนในเหตุปัจจัย ดังนั้นพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดเอาเอง ถ้าหมกมุ่นคิดจะเป็นบ้าได้ เพราะมันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ให้ทำความเข้าใจตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หรือตัวอย่างของพระสารีบุตร ในช่วงที่ท่านป่วย แม้ท่านจะได้รับยาแก้โรคนั้นมา แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะเทยานั้นทิ้ง เห็นไหมว่าท่านไม่ได้ฉันทุกอย่างที่รับมา ท่านประมาณกุศลของท่าน เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ท่านเลยไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นเอง ถ้าใครจะเอ่ยอ้างว่า กินไม่เลือก กินโดยไม่พิจารณา คงจะไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธแน่นอน

มหาปเทส

เป็นพระสูตรที่เอาไว้ใช้สำหรับตัดสินว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จึงทำให้มีหลายสิ่งสูญหาย บางสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้บ้าง คาดเคลื่อนบ้าง เราจึงจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบความถูกต้องของความเห็นนั้นๆว่าเป็นไปในทางพ้นทุกข์หรือไม่

และสูตรนี้เหมาะกับกลียุคเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการตีความบัญญัติต่างๆให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการที่กิเลสจะเติบโต มีการเลี่ยงบาลี หาช่องว่าง เช่นไม่ได้ตรัสไว้บ้าง ไม่มีระบุไว้บ้าง แปลความให้ผิดเพี้ยนบ้าง เป็นต้น พระสูตรนี้จึงเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านั้นได้สมบูรณ์ เว้นเสียแต่กิเลสนั้นไม่ยอมที่จะอุดรอยรั่วนั้น

ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดไม่ห้ามว่า ไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นจึงไม่ควร” พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ “เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา” นั้นมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือมีการฆ่าซึ่งผิดหลักของพุทธอยู่ในนั้น การที่เราไปสนับสนุนเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นย่อมส่งผลตรงต่อความไม่ควร คือไปสนับสนุนให้เขาฆ่า เอาเงินเอาความหลงผิดให้เขาเป็นแรงผลักดันในการฆ่าต่อ จึงเป็นสิ่งไม่ควร ซึ่งขัดกับหลักของพุทธที่ว่าเมื่อตนเองตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้แล้ว ก็ควรจะชักชวนคนอื่นให้อยู่ในศีลธรรมนั้นด้วย การสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงเป็นความขัดแย้งต่อกุศลของเขา ขัดกับสิ่งที่ควร ดังนั้นจึงสรุปว่า “การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร

กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)

ในพระสูตรนี้เป็นสูตรที่จะใช้เพื่อทำความเห็นให้เป็นกลาง มองความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาเข้าถึงการปฏิบัตินั้นๆจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยไม่ให้รีบปักใจเชื่อ หรือยึดมั่นถือมั่นในคำกล่าวของใครต่อใครแม้คนผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามที

ในการวิเคราะห์พระสูตรนี้จะยกข้อความในพระไตรปิฎกเข้ามาประกอบในการอ้างอิง เพื่อความเป็นสากล เข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธ

๑.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา … อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย “

* * * ประการแรก ให้ตัดความสำคัญของแหล่งข้อมูลเสียก่อน เพราะมันจะหลอกเราได้ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล มีโทษ มีคนติเตียน ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ …กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นสิ่งดีไหม มีผลเสียไหม มันเบียดเบียนไหม ทุกวันนี้ยังมีคนติอยู่ไหม เป็นประโยชน์ยังไง

ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานอ้างอิงอย่างน้อยสองครั้งที่พระพุทธเจ้าโดนกลุ่มที่คิดต่างประณามว่า ท่านกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เขาเหล่านั้นโพนทะนาไปทั่วเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ จนหมอชีวกไปถามพระพุทธเจ้าว่าจริงไหม ท่านก็ตอบว่า “เราถูกกล่าวตู่” ซึ่งท่านจะกินเนื้อนั้นโดยมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในกรณีเนื้อที่ไม่ได้ฆ่ามาจะยกไว้ก่อนไม่กล่าวในบทความนี้ แต่เนื้อที่ถูกฆ่ามานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะฉัน เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ประพฤติธรรมในศาสนาของท่านย่อมรังเกียจการฆ่า การผิดศีล การเบียดเบียน ย่อมไม่ทำเช่นนั้นหรือร่วมวงบาปกรรมนั้นด้วยเช่นกัน

ในอีกนัยหนึ่ง การที่กลุ่มที่เห็นต่างและต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของพระพุทธเจ้าออกมาประณามท่านว่ากินเนื้อสัตว์นั้น เป็นตัวยืนยันชัดอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะถ้าท่านกิน จะประณามทำไมให้เสียเวลา ถ้าคนเขารู้ว่าท่านกินก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เขาจ้องจับผิดหาเรื่องมานาน แต่หาหลักฐานไม่ได้สักที พอมีหลักฐานนิดๆหน่อยๆก็ป่าวประกาศเลย ทั้งๆที่จริงท่านจะกินหรือไม่กินก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงสรุปว่า การกินเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องปกติของท่าน

ให้สังเกตว่าสมัยพุทธกาล คนที่กินเนื้อจะโดนประณาม แต่ในสมัยปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ตีกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นสมัยนี้ใครกินเนื้อเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ถ้าใครลุกขึ้นมาประกาศว่าชาวพุทธไม่ควรกินเนื้อ คนนั้นจะโดนประณามทันที เรื่องนี้ก็น่าคิด…

๒.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ

กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ

มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จสิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ”

* * * ประการที่สองคนผู้ไม่หลงย่อมชักชวนให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในศีล แล้วคนที่ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจใยดีทั้งๆที่ผู้อื่นยังทำผิดศีล ก็ยังสนับสนุนอยู่ เรียกว่าชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นหรือ … ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะคนที่หลงย่อมไม่สามารถชักชวนคนให้มีศีลได้ ไม่สามารถเอื้อให้คนมีศีลได้ ไม่สามารถสร้างชุมชนหรือสังคมให้มีศีลได้ เพราะถ้าเขามีศีลแล้วใครจะฆ่ามาให้กิน??

๓. “ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา … มีใจประกอบด้วยมุทิตา … มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔”

* * * ประการที่สาม สรุปกันตรงๆเลยพระอริยะไม่มีความเบียดเบียน ผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้ย่อมไม่ดำรงอยู่อย่างเบียดเบียน เพราะเป็นอกุศลด้วย มีคนถือสาด้วย วกกลับไปติดอยู่ในประการแรก ที่สำคัญการส่งเสริมเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันคือการเมตตากรุณาต่อใครกัน? การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นความเมตตาไปทั่วทิศแก่สัตว์ทุกเหล่าเช่นนั้นหรือ? สัตว์จะยินดีในความเมตตากรุณาเช่นนั้นหรือ? ก็คงมีแต่คนที่หลงผิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าสัตว์เหล่านั้นยินดีที่ได้ถูกฆ่าเพื่อกิน

….ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องกุศล อกุศล เรื่องดีและเรื่องชั่วเท่านั้น การใช้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นแยกแยะดีชั่วเป็นพื้นฐานของความเจริญ สิ่งดีให้เข้าถึง สิ่งชั่วให้ละเว้น

สมัยก่อนนี้ไม่ได้มีพระไตรปิฎก สาวกแต่ละท่านมีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก อาจจะไม่ได้หลากหลายเท่าในปัจจุบันอย่างเราด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ตกหล่นในบางเรื่องบางตอนไม่ได้รับรู้หลักเกณฑ์ระบุไว้แน่ชัดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาลงไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือสิ่งใดเป็นโทษ เป็นอกุศล ด้วยความเห็นที่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากให้เป็น

เรื่องกุศลกับอกุศล คนที่หลงจะแยกไม่ออก เขาจะแยกดีแยกชั่วไม่ได้ จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตีทิ้งกุศล กอดเก็บอกุศล จนบางครั้งถึงกับประณามสิ่งที่เป็นกุศล แล้วโอ้อวดความเห็นผิดของตนด้วยก็มี ความหลงนี่มันหลงได้ลึกและอันตรายตั้งแต่หลงในธรรม จนกระทั่งหลงว่าตนเองบรรลุธรรม และสิ่งเดียวที่จะชี้ชัดความจริงได้ มีเพียงแค่กุศล และอกุศล เป็นเรื่องสามัญของโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เป็นเพียงแค่สมมุติสัจจะที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ศาสนาพุทธไม่ได้ทิ้งสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าท่านยังอนุโลมให้กับเรื่องบางเหตุการณ์ที่ผู้คนเขาถือสา ผู้คนเขาติเตียนมาเป็นข้อปฏิบัติและวินัยต่างๆ

ดังนั้นจะสรุปข้อธรรมทั้งหมดลงมาเพียงแค่ว่า “แยกดี แยกชั่ว” ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งไหนดีให้เข้าถึงสิ่งนั้น และสิ่งไหนชั่วก็ให้ออกจากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นข้อสรุปของกาลามสูตรในกรณีข้อมูลมีความขัดแย้ง สับสนในเนื้อหาและความหมายต่างๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

October 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,223 views 0

กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป...จริงหรือ?

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

ในสังคมเรานั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นของการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาว่าบาปหรือไม่บาป ซึ่งผู้ที่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าไม่บาป ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าบาป แท้จริงแล้วมันบาปหรือไม่ ในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์กัน

ก่อนจะเข้าบทวิเคราะห์ เราก็ต้องปรับสัญญาให้ตรงกันก่อนว่า “บาป” นั้นคืออะไร บาปกับความชั่วหรือสิ่งไม่ดีนั้นเหมือนกันไหม เราจะมากำหนดหมายคำว่าบาป กับคำว่าอกุศล เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเนื้อหาของบทความนี้

บาป นั้นหมายถึงกิเลส การสนองกิเลส การสะสมกิเลส การยั่วกิเลส การมัวเมาในกิเลสย่อมเป็นบาปทั้งนั้น ตรงข้ามกับ บุญ คือการชำระกิเลส เป็นตัวทำลายกิเลส

กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ จำแนกได้สามลักษณะใหญ่ๆ คือโลภ โกรธ หลง

อกุศล คือความชั่ว ความไม่ดี ความเบียดเบียน ตรงข้ามกับกุศล คือความดีงาม และอกุศลกรรมนั้นก็คือกรรมที่ให้ผลไปในทางลบ กรรมชั่ว กรรมดำอกุศลไม่ใช่บาป เป็นคนละอย่างกัน แต่การทำบาปสร้างอกุศล

บทนำในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น

การกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาปจริงหรือ? หลายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์มักจะมีความเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่บาป ด้วยตรรกะหรือการได้ยินได้ฟังเหตุผลใดก็ตามแต่ สิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความจริง

เราไม่พึงเชื่อเพราะเขากล่าวอ้างมา เพราะเขาพูดกันมา ทำกันมา เพราะการคิดเอาเอง เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นเหมือนกับที่ตนเข้าใจ เพราะเขาเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะเขาเป็นอาจารย์ของเรา ฯลฯ แต่พึงพิจารณาด้วยปัญญาว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงธรรมนั้น ถ้าเป็นอกุศลก็ละเว้นจากธรรมนั้นเสีย นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “กาลามสูตร” ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันความหลงมัวเมาในข้อมูล และป้องกันการติดภพหลงในความยึดมั่นถือมั่นและอื่นๆอีกมากมาย

อย่างที่เรารู้กันว่า ในสมัยนี้มีโรงฆ่าสัตว์มากมาย ธุรกิจค้าเนื้อสัตว์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมบ้านเรา ซึ่งจะมีสัตว์ที่ถูกบังคับ ถูกทำร้าย ถูกฆ่าทุกวันๆ ซึ่งมีองค์ประกอบในการทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วงที่ครบพร้อม คือรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต และพยายามฆ่าจนสัตว์นั้นตาย นั่นหมายถึงผิดบัญญัติของพุทธเต็มประตูอยู่แล้ว คงจะไม่มีชาวพุทธคนไหนกล้ากล่าวว่าการฆ่าสัตว์นั้นไม่เบียดเบียน ไม่ผิดศีล

การไม่ฆ่าสัตว์นั้นถือเป็นบทบัญญัติแรกของศาสนาพุทธ เป็นขั้นต่ำที่สุดของผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามหลักของพุทธพึงกระทำ เรียกว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีศีลข้อนี้ให้ได้ นี่เป็นเพียงศีลข้อแรกในศีล ๕ คือการงดเว้นการฆ่าสัตว์ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ยินดีในการฆ่า และชักชวนให้ผู้อื่นงดเว้นการฆ่า

ดังนั้นจะสรุปประเด็นนี้ไว้ก่อนเลยว่า แม้จะเรียกตนเองว่าชาวพุทธ ศรัทธาในศาสนาพุทธ เข้าวัดฟังธรรม แต่ถ้าศีล ๕ ยังถือปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่ามีความเป็นพุทธ เป็นเพียงผู้ที่ศรัทธาแต่ไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะไม่มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อกุศล ไม่สามารถแยกแยะดีชั่วได้ จึงไม่ยินดีในการเข้าถึงสิ่งที่ดี และไม่ละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

แล้วทีนี้การฆ่าสัตว์นี้มันผิดทางพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ชาวพุทธเขาไม่ทำกัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติแล้วนำพาความเจริญมาให้ชีวิต มีแต่ความเสื่อมและอกุศลกรรม ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมหลีกเลี่ยงจากการฆ่า แม้ว่าจิตตนนั้นจะยังไม่สามารถทำลายความโกรธและอาฆาตได้ก็ตาม

บทวิเคราะห์ : เนื้อที่ถูกฆ่ามา กับการซื้อขายเนื้อสัตว์

เมื่อการฆ่าสัตว์นั้นผิดทางพุทธ เนื้อที่ถูกฆ่ามาย่อมเป็นเนื้อที่ผิดแนวทางของพุทธด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่เนื้อที่ได้มาด้วยการไม่เบียดเบียน แต่การจะได้มาต้องใช้การฆ่า นั่นหมายถึงเนื้อนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ เป็นของที่ถูกพรากมา เป็นของที่ขโมยมาจากสัตว์เหล่านั้น และที่สำคัญมันไม่ได้ตายเพื่อเราด้วยเจตนาของมันเอง แต่เขาฆ่ามันให้ตายเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากมัน

หลังจากได้เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว ก่อนจะได้เนื้อสัตว์มากินนั้น ต้องผ่านจุดคัดกรองที่เรียกว่า มิจฉาวณิชชา ๕ ท่านบัญญัติว่าชาวพุทธไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ ถ้าค้าขายก็ถือว่าผิด ปรับตกไปได้เลย ไม่ต้องคิดต่อว่าบาปหรือไม่บาป เพราะผิดพุทธมันไม่พ้นทุกข์อยู่แล้ว

บทวิเคราะห์ : กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา บาปหรือไม่?

ถึงแม้จะได้เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นมาฟรีๆ หรือเลี่ยงบาลีจนเข้าใจว่าตนเองซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ไม่ได้ฆ่าเอง จนได้เนื้อสัตว์นั้นมาก็ตาม ตรงนี้จะเป็นจุดวิเคราะห์ในเรื่อง “บาปหรือไม่” ถ้าบาปนั้นหมายถึงมีกิเลสเป็นองค์ประกอบร่วม กิเลสในที่นี้ที่จะระบุลงไปเลยคือความหลง (โมหะ) คือ การหลงยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา(ยอมรับการผิดศีลว่าดี เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่มีโทษ)ถ้ามีจิตเช่นนี้ จะสรุปลงไปเลยว่า “บาป

เมื่อมีความรู้แน่ชัดแล้วว่า ในยุคสมัยนี้เนื้อสัตว์ใดก็ล้วนถูกฆ่ามาทั้งนั้น ชาวพุทธที่มีหิริโอตตัปปะ ย่อมสะดุ้งกลัวต่ออกุศลกรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นกรรมชั่ว คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เขาทำชั่ว ให้เขาฆ่าสัตว์ ให้เขาทำบาป ให้เขาทำผิดวิสัยของพุทธ

การสนับสนุนให้ผู้อื่นทำบาปและอกุศลกรรมย่อมไม่ใช่ลักษณะของมิตรที่ดี ชาวพุทธย่อมรักกันดูแลกันไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นทำบาป ย่อมตักเตือนและชี้นำกันไปสู่ทางเจริญ เพราะรู้ดีว่าผลแห่งบาปนั้นสร้างทุกข์ขนาดไหน ดังนั้นผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วย่อมไม่สนับสนุนให้คนได้ทำบาปนั้นๆต่อไป จึงไม่สามารถสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาได้ เพราะรู้ดีว่าการสนับสนุนด้วยการซื้อหรือรับเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น จะเป็นเหตุให้เขาต้องทำบาปนั้นต่อไป นั่นหมายถึงเจตนาในการสนับสนุนสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นคืออกุศลกรรมของเราด้วย

ซึ่ง ณ จุดนี้เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เรากำลังจะวางเส้นทางกรรมของเรา ว่าจะให้เป็นไปอย่างไร ทางเลือกมีชัดเจนอยู่แล้วคือกุศลหรืออกุศล เบียดเบียนหรือไม่เบียดเบียน ถ้าเราไม่มีกิเลสก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องเลือกที่จะไม่เบียดเบียนเพราะการเบียดเบียนผู้อื่นก็คือการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมไม่เลือกการเบียดเบียนหากสามารถหลีกเลี่ยงได้

กิเลสคือตัวแปรหลักในการทำให้คนไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ไม่สามารถแยกกุศลกับอกุศลออกได้ เพราะมีความหลง (โมหะ) เป็นเหตุ เมื่อมีความหลงในความเห็นนั้น ก็หมายถึงยังมีบาปอยู่ในสิ่งคนเหล่านั้นคิดและเข้าใจ

เพราะถ้าผู้ใดรู้ชัดว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเหตุให้ต้องเบียดเบียนสัตว์ และผลของกรรมนั้นเองจะสร้างทุกข์ให้ตนเองในท้ายที่สุด ผู้นั้นจะสามารถเข้าใจและสรุปได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอกุศล จึงเลือกที่จะละเว้นกรรมเหล่านั้น

แต่ด้วยความหลงในเนื้อสัตว์ เช่นหลงในรูป รส สัมผัส ฯลฯ หรือหลงไปจนทิฏฐิวิปลาส คือเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ทั้งที่มันไม่ดีหรือหลงไปจนกระทั่งเห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี ก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศลได้

เพราะจริงๆแล้วการกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้กระทบกับการฆ่าสัตว์โดยตรง เป็น demand & supply ที่แปรผันตามกันอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงการที่เรากินเนื้อสัตว์นั้นจะไปสนับสนุนการฆ่าสัตว์โดยตรง และยังจะไปสร้างความหลง ให้สังคมเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าถามว่ามันบาปตรงไหน มันก็บาปชัดๆกันตรงนี้แหละ คือทำให้คนหลงมัวเมาในความเห็นผิด เป็นความหลงที่หลอกกันซับซ้อนจนกลายเป็นความเข้าใจที่สุดแสนจะวิบัติไปแล้วว่า “กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่บาป”

หากจะสรุปว่า มันบาปตั้งแต่ตรงไหน ก็จะให้ความเห็นว่า บาปตั้งแต่มีความเห็นผิดแล้ว และคนที่มีความเห็นผิด ก็จะมีความคิดที่ผิด มีการกระทำที่ผิด เหตุเพราะถูกโมหะครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้นจึงทำให้บาปกันต่อหลายชั้นหลายมิติ ตั้งแต่หลงมัวเมาในเนื้อสัตว์ หลงว่าการฆ่าเพื่อกินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าคนอื่นฆ่ามาแล้วเราเอามากินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าผลกรรมนั้นไม่ถึงตน ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

4.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

September 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,394 views 0

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

ไม่มีใครยอมเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นฟรีๆ เขาเลี้ยงเพื่อขายให้ได้เงิน

ไม่มีใครยอมฆ่าสัตว์เหล่านั้นฟรีๆ เขาฆ่าเพื่อขายให้ได้เงิน

ไม่มีใครยอมรับเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาแจกฟรีๆ เขารับมาเพื่อขายให้ได้เงิน

เงินหรือสิ่งแลกเปลี่ยนใดๆ ก็ตามทั้งรูปธรรมหรือนามธรรม

คือสิ่งที่เป็นแรงหนุนให้การฆ่าสัตว์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เมื่อการเบียดเบียนไม่เคยหยุดและไม่เคยหมดไปจากโลก

อกุศลกรรมที่เกิดขึ้น คือทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงจึงตกอยู่แก่ผู้ร่วมกรรมนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

แนะนำบทความ : สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

– – – – – – – – – – – – – – –

10.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)