Tag: อัตตา

กินมังอหังการ

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,683 views 0

กินมังอหังการ

กินมังอหังการ

…วิเคราะห์อาการติดดีในทุกระยะของการกินมังสวิรัติ

ในบทความนี้จะวิเคราะห์และไขสภาพอาการติดดีหรือในเรื่องของอัตตาในทุกระยะของการกินมังสวิรัติตั้งแต่เริ่มกินไปจนกระทั่งถึงสภาพอนัตตาคือไม่มีตัวตนให้เป็นทุกข์อีกต่อไป โดยจะแบ่งระยะของความยึดเป็น 5 ข้อ ลองมาอ่านกันเลย

1).ความยึดดีของคนกินเนื้อสัตว์

ความยึดของคนกินเนื้อสัตว์ชอบเนื้อสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ เขาหลงว่าเนื้อสัตว์ดี จึงยึดดีนั้นไว้ และเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นดี นำประโยชน์มาให้กับเขา ประโยชน์ทางโลกที่มีการส่งเสริมกันมาอย่างเนิ่นนานคือต้องกินอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยตัวแทนของโปรตีนก็คือเนื้อสัตว์ พอเรารับรู้ว่าโปรตีนต้องเนื้อสัตว์ แล้วกินมาทั้งชีวิตมันก็จะจำและยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นี้เองคือโปรตีนที่ดีที่สุดที่ร่างกายต้องการ เป็นความเข้าใจทางโลกที่ถูกต้องตามที่เขาสอน แต่ไม่ถูกต้องตามธรรมเพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการยึดว่าเนื้อสัตว์คือโปรตีนที่ดีที่สุดนั้นคงไม่ใช่อย่างแน่นอน

หรือความเชื่อที่ว่าคนเราเป็นสัตว์กินเนื้อนั้นก็เป็นอัตตาหรือการยึดเนื้อสัตว์ว่าดี ถ้ายึดระดับนี้อาจจะมีเหตุหลายอย่าง แต่เหตุหลักนั้นคือการเสพติดรสเนื้อสัตว์ เมื่อเกิดความอยากเสพจึงเกิดความยึด ไม่อยากพรากไปจากเนื้อสัตว์จึงต้องสร้างเกราะอัตตาขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้มั่นใจในการเสพเนื้อสัตว์มากขึ้น เพื่อให้เสพได้อย่างเป็นสุขและสบายใจมากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกผิดเวลาไปเจอสื่อของมังสวิรัติ เป็นสภาพที่เกิดการต่อต้านมังสวิรัติขึ้นเองโดยธรรมชาติของกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันย่อมปกป้องตัวเองและพยายามให้เราหามาเสพ เราเรียกการสะสมกิเลสสนองกิเลสว่า “บาป” และการจะลดกิเลสจนถึงดับกิเลสเราเรียกว่า”บุญ” เป็นเรื่องยากที่คนจะเอาชนะกิเลสและยอมลดกิเลส นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้แล้วยังโดนกิเลสเพิ่มอัตตาเข้าไปอีกหนาขึ้นไปเรื่อยๆ นี้เองคือความยึดว่าเนื้อสัตว์ดีของคนที่ยังติดเนื้อสัตว์ทั่วไป

อัตตาของคนกินเนื้อสัตว์เมื่อยึดดีแล้วจะทำให้ต่อต้านการลดเนื้อกินผัก ต่อต้านการกินมังสวิรัติ ต่อต้านการกินเจ หากต้องเจอข้อมูลมังสวิรัติมากๆหรือโดนกล่าวหาว่ากินเนื้อไม่ดีก็อาจจะเกิดการโต้เถียง เอาชนะ ทะเลาะเบาะแว้งเหตุเพราะตนนั้นยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์

2). ความยึดดีของคนที่กินมังสวิรัติได้และยังคงกินเนื้อสัตว์

ในระยะที่เจริญขึ้นมาบ้างแล้ว เราสามารถรับรู้โทษชั่วของการเบียดเบียนได้บ้างจึงหันมากินมังสวิรัติ แต่ก็ยังไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ได้ในหลายๆเหตุผล อาจจะตัดสำหรับตัวเองไม่ได้หรืออาจจะตัดสำหรับคนอื่นไม่ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่ามังสวิรัติดีนะ แต่ถ้ามีโอกาสเราก็จะกลับไปกินเนื้อสัตว์โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆให้กลับไปกิน เช่นความพอดีบ้างละ ธาตุอาหารบ้างละ สุขภาพบ้างละ จริงๆรากทั้งหมดนั้นมาจากความอยากนั่นละ ในมุมของการตัดสำหรับคนอื่นเช่น เรากินมังสวิรัติได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นดีกับการให้ลูกหลานกินหรือให้คนป่วยกินเพราะยังมีความหลงผิดในความรู้และยังมีความยึดในเนื้อสัตว์อยู่

สำหรับคนที่อยู่ในระยะกลางนี้จะเรียกว่าครึ่งๆกลางๆก็ได้ จะเป็นผีก็ไม่ใช่เป็นคนก็ไม่เชิง จะมังสวิรัติก็ไม่ชัดจะกินเนื้อสัตว์ก็ไม่เต็มที่ กินมังสวิรัติก็กินอย่างไม่รู้สาระ ไม่รู้กิเลส กินผ่านๆไปในแต่ละมื้อ จะกินเนื้อสัตว์ก็มีฟอร์ม มีลีลาก่อนกิน อ้างเหตุผลพอประมาณให้ดูดีแล้วค่อยกิน ก็จะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความยึดดี ใครบอกว่ามังสวิรัติไม่ดีนี่ก็จะโกรธ จะไม่พอใจ เพราะตนเองนั้นกินมังสวิรัติ แต่ถ้าบอกให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลยก็จะทำไม่ได้ เพราะยังไปยึดเนื้อสัตว์ว่าดีอยู่เช่นกัน เหมือนคนสองจิตสองใจยังไม่ยอมเลือกข้างชัดเจน ยังแยกกุศลอกุศลไม่ชัด ไม่ชัดแจ้งในธรรม ไม่ชัดเจนในกรรม

ในระยะนี้หลายคนอาจจะหลงยึดไปได้ว่านี่แหละคือความพอดีที่สุดในชีวิต คือกินเนื้อบ้างกินผักบ้างไม่ให้ทรมานตัวเองเกินไป ซึ่งเป็นทางสายกลางคนละแบบกับของพุทธ แต่จะหลงเข้าใจไปว่าถูกทางพ้นทุกข์ เข้าใจว่าพอดี เป็นกลาง ไม่ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ถ้าเข้าไปในสภาวะเช่นนี้เรียกว่าหลงบรรลุธรรม เพราะเดินมายังไม่ถึงครึ่งทางก็หลงเข้าใจว่าถึงเป้าหมายแล้ว คนจะมาติดในระยะนี้เยอะมาก จะมายึดอยู่แค่ระยะนี้แล้วสร้างเกราะอัตตามาพอกไว้แล้วจะไม่ยินดีไปต่อ ไม่ยินดีในความดีที่มากกว่า เพราะถ้าอยู่ตรงนี้จะได้เสพทั้งเนื้อสัตว์ที่สนองกิเลสตัวเองได้และกินผักซึ่งเป็นข้ออ้างเอาไว้อวดว่าตนดีได้ เรียกได้ว่าสร้างเกราะเพื่อทำบาปโดยป้องกันไม่ให้ความดีเข้าไปถึงตัวและไม่ให้ใครมาว่าเราว่าชั่ว แล้วเสพกิเลสอยู่ในภพ อยู่ในสภาวะในอัตตาที่ตัวเองสร้างไว้ ไม่ยอมให้ใครไปยุ่ง

ถึงระยะนี้จะเริ่มอัตตาแรงและเป็นภัยมากขึ้น เพราะหลงยึดว่าเนื้อก็ดีผักก็ดี เมื่อเจอคนที่กินแต่เนื้อสัตว์จะไม่มีอาการเท่าไหร่เพราะยังเสพกิเลสเช่นเดียวกัน จะพูดออกไปมากก็ไม่ได้เพราะตัวเองก็ยังชอบเนื้อสัตว์อยู่ แต่ถ้าเจอคนที่กินมังสวิรัติเก่งๆมาข่ม ก็จะเกิดอาการต่อต้านขึ้นมาทันที มีเหตุผลต่างๆนาๆที่จะบอกว่าเนื้อบ้างผักบ้างดี คนกินมัง 100% สิไม่ดี ไม่ปล่อยวาง ไม่พอดี เห็นไหมว่าอัตตาจะทำให้มองเห็นกรงจักรเป็นดอกบัว เห็นคนมีศีลเป็นคนไม่มีสาระ

คนกินเนื้อจะไม่ค่อยมีปัญหาในการกระทบกับคนกินมังสวิรัติมากนัก เพราะโดยส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกผิดบาปและยอมรับในศีลจึงเกิดศรัทธาในคนกินมังสวิรัติ ยกเว้นคนที่กินเนื้อจนเข้าระดับยึดเนื้อสัตว์ว่าดีจะเป็นอีกกรณี แต่คนที่หลงยึดดีในเนื้อและผักเป็นความพอดีนั้น จะไม่เคารพในศีลที่สูงกว่าของผู้กินมังสวิรัติได้ดีกว่า เพราะหลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ตนเองก็สามารถกินมังสวิรัติได้ แต่ด้วยความพอดีจึงกลับมากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง เป็นทางสายกลางที่เข้าใจไปเอง และยังมองว่ามังสวิรัติสุดโต่ง

ตรงนี้เองคือบาปและอกุศลที่จะต้องได้รับมากขึ้น เป็นนรกที่หนักกว่าคนกินเนื้อสัตว์ เพราะยิ่งเจริญขึ้นมาบ้างยิ่งต้องระวังต้องสำรวม ระวังจะไปมีอัตตา เพราะการมีอัตตานอกจากจะทำให้เราไม่เจริญแล้วยังทำให้เราหลงผิดคิดว่าตนบรรลุธรรม แล้วมีอาการยึดดี อวดดี หลงตนเองจนทำให้ไปปรามาสผู้ที่มีศีลมากกว่าได้

การจะออกจากความเหยาะแหยะต้องใช้ความจริงจังเข้ามาช่วย คือเลือกไปทางด้านใดด้านหนึ่งจะเลือกด้านมังสวิรัติก็ได้ จะเลือกกินเนื้อก็ได้ ถ้าทำดีทำชั่วชัดเจนผลกรรมมันก็จะชัดเจนมากขึ้นไปด้วย คนที่ทำดีมากก็เห็นดีมาก คนที่เบียดเบียนมากก็จะได้รับผลเสียมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอีกจุดที่เจริญขึ้น จำเป็นต้องล้างอัตตาเสียก่อนเพราะความยึดทำให้เราก้าวออกไปไม่ได้ ทำให้เราไม่พัฒนา ส่วนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เสื่อมลงนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร พอมันไม่ทำดี มันก็สะสมชั่วไปในตัวนั่นเอง

3). ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติ

คนที่กินมังสวิรัติได้ 100% ไม่ตกร่วง ไม่พลั้งเผลอ แม้ว่าจะต้องออกไปนอกสถานที่ ไปประชุม ไปต่างจังหวัด ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปงานเลี้ยงครอบครัว ไปที่ไหนๆก็สามารถลดเนื้อกินผักได้ สามารถอนุโลมได้บ้างในบางกรณี แต่การจะไปหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากนั้นไม่มีแล้ว อาหารใดที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์อย่างชัดเจนเพื่อให้ได้รสเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบนั้นไม่เอาแล้ว ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นไม่มีแล้ว

หรือแม้กระทั่งผู้ที่กินมังสวิรัติได้นานๆ หลายเดือนติดต่อกัน หรือหลายปีติดต่อกันก็จะอนุโลมให้อยู่ในหมวดนี้แม้ว่าจะกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างก็ตาม แต่ลักษณะของการยึดมังสวิรัติว่าดีนั้นมีเต็มที่แล้วเพียงแต่อินทรีย์พละอาจจะยังไม่พอ

ในระยะนี้ถือว่าเจริญได้มากแล้ว พ้นภัยจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นแล้ว เป็นบุญมาก เป็นกุศลมาก แต่มักจะต้องมาติดอัตตายึดว่ามังสวิรัติดี กินมังสวิรัติแล้วเป็นคนดี ดูดี ศีลดี มีบุญ มีปัญญา มีสติ จะเริ่มรู้สึกไม่ดีกับเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน ไม่สามารถกินร่วมในวงเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ กินมังเขี่ยแล้วเป็นทุกข์เพราะรู้สึกขยะแขยง รวมทั้งรู้สึกไม่ดีกับคนกินเนื้อสัตว์ มีอาการข่มคนที่กินเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินมังสวิรัติไม่ได้เต็มที่

เมื่อมีคนมาแซว ด่า ว่า คนที่กินมังสวิรัติว่าโง่หรือบ้าจะมีอาการรุนแรงมาก เพราะยึดดีมาก ความรุนแรงจะเกิดตามสภาพที่ลดเนื้อสัตว์ได้ ยิ่งลดได้สมบูรณ์ก็จะยิ่งมีความยึดดีรุนแรง ไม่พอใจรุนแรง โกรธรุนแรง

คนที่อยู่ในระยะนี้จะยิ่งหลงว่าตัวเองบรรลุธรรมมากขึ้นไปอีก เพราะไม่เบียดเบียนแล้วดูเป็นคนดีมาก ผู้คนต่างสรรเสริญเป็นเหมือนพ่อพระแม่พระของสัตว์อื่น สามารถสอนคนกินเนื้อสัตว์ได้เต็มที่เพราะตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว มีบารมีมาก มีพลังมาก ซึ่งโดยส่วนมากจะเข้าใจว่าสุดทางแล้ว จบแล้ว บรรลุแล้ว ซึ่งก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียวมันยังมีดีกว่านั้นอีก

แต่เมื่อเกิดการยึดดีแล้ว ก็จะไม่ยินดีในการพัฒนาจิตใจต่อ ไม่ยินดีในการดับอัตตา เพราะหลงว่าอัตตานั้นเป็นของดี หลงในความดีความดูดีของผู้กินมังสวิรัติ กอดไว้เป็นอัตตาของตน อาจเพราะหลงในยศ สรรเสริญ และสุขที่ได้รับมากขึ้นในระยะนี้จึงทำให้หลงยึดและไม่ยอมไปต่อ

เมื่อจิตมันยึดไม่ยอมไปต่อแล้วมีผู้มาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของอัตตานั้น ก็จะเกิดการต่อต้านเพราะตนหวงแหนอัตตา เมื่อต่อต้านก็สามารถออกอาการได้หลายรูปแบบไม่ต่างกับคนยึดมั่นถือมั่นทั่วไป สามารถโกรธ ไม่พอใจ ทะเลาะเบาะแว้งได้เหมือนคนทั่วไป มีความอยากเอาชนะเป็นแรงผลักดันเพราะยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ถ้าอย่างดีก็คือสงบไม่ตอบโต้ แต่ไม่เชื่อไม่พิจารณาตามให้เห็นถึงโทษของอัตตา พอไม่เชื่อคนที่มาชี้ให้เห็นอัตตามันก็ยึด พอมันยึดก็ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในภพนี้ต่อไป

4).ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติที่มองกลับมาที่คนยึดดี

ในระยะนี้จะเป็นขั้นกว่าของคนที่กินมังสวิรัติได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะสามารถกินมังได้ 100% ไม่มีความอยาก ไม่มีอัตตาไปอัดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ สามารถกินอาหารร่วมจานกับผู้อื่นได้โดยไม่ทุกข์ แม้อาหารนั้นจะมีส่วนประกอบของสัตว์ปนอยู่บ้างก็จะสามารถอนุโลมไปได้เป็นกรณีๆแต่จะไม่ทำบ่อย โดยหลักอยู่ที่ความไม่ทุกข์ใจใดๆเลยนั่นเอง

แม้จะมีใครมาด่าว่ามังสวิรัติอย่างไร ใครจะว่าโง่ว่าบ้าก็ยังเฉยๆ สามารถกินมังสวิรัติไปได้พร้อมๆกับการรับคำด่าของคนอื่นและยังสามารถสอนเขากลับด้วยท่าทีสุภาพ ด้วยเมตตา ด้วยความเห็นใจ ด้วยความเข้าใจในเวลาเดียวกัน

ผู้อยู่ในระยะนี้คือผู้เจริญมากแล้วพ้นภัยจากความทุกข์ของอัตตามาได้มากแล้ว ไปกินมังสวิรัติที่ไหนก็ไม่ทุกข์ ใครจะกินเนื้อเราก็ไม่ทุกข์ ไปดูสัตว์ถูกฆ่าดูเนื้อสัตว์ในตลาดเราก็ไม่ทุกข์

แต่มันจะเหลือทุกข์จากอัตตาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอัตตาปลายสุดท้ายคือยึดสภาพนี้ว่าดี ยึดว่าสภาพที่พ้นจากการเสพเนื้อสัตว์และพ้นจากอัตตามากแล้วนี่คือดี จึงทำให้มีอัตตาเหลือในส่วนหนึ่ง เมื่อมองลงไปในคนจำพวกมังสวิรัติที่ยึดดี อัตตาแรงๆก็จะรู้สึกทุกข์ รู้สึกเห็นใจ รู้สึกอยากสอน แต่คนกินเนื้อสัตว์ คนกินเนื้อกินผักเราไม่ไปทุกข์กับเขาแล้วนะ แต่จะมาทุกข์กับพวกกินมังได้ดีแล้วติดดีนี่แหละ

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการที่เราจะออกจากชั่วได้เราต้องใช้ความดี ความยึดดีเป็นตัวช่วยผลักดันเราออกมา ทีนี้พอเราผ่านมาได้มันจะเหลือความยึดดีอยู่ เหลืออัตตาอยู่ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมเมื่อผ่านมาแล้วมักจะมีปัญหากับคนที่มีลักษณะเหมือนเราก่อนหน้านี้ก็เพราะว่าเราเพิ่งเคยผ่านมา เราเพิ่งเห็นทุกข์มา เราเห็นว่ามันไม่ดี เราก็เกลียด พอเราออกมาได้เจริญมาได้เราก็ยังเหลือความยึดดี สิ่งนี้เองจะทำให้เราทุกข์กับคนที่ตามหลังเรามาติดๆ

ความยึดดีตรงนี้แม้จะบางและน้อยแต่ก็ยังเป็นความชั่วอยู่ดี ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ดี แต่ข้อดีของคนที่อยู่ในระยะนี้คือเขาเหล่านั้นจะล้างอัตตาเป็นแล้ว เพราะล้างมาตั้งแต่ตอนกินมังสวิรัติติดดีแล้ว เมื่อพบกับอาการที่เราไปข่ม ไปอวด ก็จะสามารถจับอาการเหล่านี้ได้เอง และล้างกิเลสได้เอง ผู้ที่อยู่ในระยะนี้คือผู้ที่เจริญแล้ว แม้จะยังขัดเกลาตัวเองไม่สำเร็จแต่ก็คือผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ความพ้นทุกข์จากเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติในสักวันหนึ่ง

5).ความไม่ยึดดี

เป็นสภาวะสุดท้ายที่เป็นเป้าหมายปลายทางของนักมังสวิรัติทุกคน เป็นสภาพที่สุขที่สุด ไม่มีอะไรเปรียบได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ความไม่ยึดดีหรือไม่มีอัตตา หรือจะเรียกว่าอนัตตาคือไม่มีตัวตนแห่งทุกข์ ไม่มีตัวตนให้ทุกข์ ไม่มีตัวตนของกิเลสในเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติเหลืออยู่

ชีวิตยังมีอยู่ ร่างกายและอวัยวะยังมีอยู่ การย่อยสลายอาหารเป็นพลังงานยังมีอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ในเรื่องของมังสวิรัตินั้นไม่มีแล้ว ไม่ว่าใครจะทำอย่างไร จะพูดอะไร ใครจะกินเนื้อ ใครจะกินมังสวิรัติ ใครจะติดดี ใครจะเจริญ เราจะไม่ไปทุกข์กับเขาไม่ไปยินร้ายกับเขาจะมีแต่ความยินดี แม้จะเห็นคนกินเนื้อก็ยินดี กินมังสวิรัติก็ยินดี กินครึ่งๆกลางๆก็ยินดี เพราะเข้าใจแล้วว่าคนมันก็เป็นแบบนี้ แม้วันนี้เขาจะยังกินเนื้อสัตว์อยู่ วันหน้าเขาอาจจะเป็นนักมังสวิรัติที่กล้าแกร่งก็ได้ และแม้บางคนจะกินมังสวิรัติอยู่ ในวันหนึ่งเขาอาจจะเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็ได้ มันไม่เที่ยงทั้งในเรื่องความเจริญและความเสื่อม เข้าใจแล้วว่าการจะมาล้างกิเลสในการกินมังสวิรัติให้สิ้นเกลี้ยงนั้นยากสุดยาก พอเห็นความจริงดังนั้นจิตจึงตั้งไว้ที่อุเบกขา

แม้จะมีเหตุการณ์ใดเข้ามากระทบ เราก็จะเมตตา กรุณา มุทิตา และจบลงที่อุเบกขาได้เสมอ ช่วยคนไปแล้ววางใจได้เสมอ ไม่ติดไม่ยึด ไม่ทุกข์ร้อนใดๆ กับเพื่อนชาวมังสวิรัติหรือเพื่อนมนุษย์ผู้ยังกินเนื้อและสัตว์ทั้งหลาย เพราะรู้แจ้งแล้วในเรื่องกิเลสและกรรม รู้ชัดจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกรรม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นก็เกิดขึ้นจากกรรมที่เรากำลังตัดสินใจทำด้วย เมื่อชัดเจนในกรรมดังนั้นจึงเข้าใจคนในทุกฐานะของการกินมังสวิรัติ จะไม่โกรธไม่เกลียดใครเลย

ความเข้าใจทั้งหมดนั้นเกิดจากการสะสมความรู้ตั้งแต่ยังเสพติดเนื้อสัตว์ผ่านพ้นมาจนถึงระดับนี้ได้ ได้ผ่านการเรียนรู้ในทุกระดับมาหลายภพหลายชาติจนรู้ชัดเจนในทุกเหลี่ยมทุกมุม พอรู้ทั้งหมดมันก็รู้ว่าอัตตานี่มันไม่ดี มันชั่ว มันเลว มันเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ก็จะทำลายอัตตานั้นทิ้งไปจนกระทั่งเป็นอนัตตา

เรื่องของมังสวิรัติทั้งหมดมันก็จบตรงนี้นี่เอง ส่วนจะเลือกทำอะไรต่อไปนั้นก็อยู่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น ไม่มีบุญหรือบาปอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนให้มีกิเลส ให้มีการสะสมกิเลส หรือให้มีการดับกิเลส เพราะมันไม่มีอะไรเหลือให้ทำแล้วจึงมีแต่ทำความดีต่อไปเท่านั้นเอง

ในสภาพนี้จึงสามารถกินมังสวิรัติต่อไปได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นแต่เพียงว่ายึดอาศัย อาศัยให้เกิดความดี อาศัยให้เกิดความสมบูรณ์แก่ร่างกายนี้ อาศัยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ศึกษาและปฏิบัติตาม เป็นแบบอย่างแห่งความดีด้วยความเมตตาที่มีต่อผู้อื่นสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

4.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันคือผู้หลุดพ้น

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,484 views 0

ฉันคือผู้หลุดพ้น

ฉันคือผู้หลุดพ้น

…ความหลงว่าบรรลุธรรม กรณีศึกษามังสวิรัติ

(*คำเตือน!! บทความนี้มีเนื้อหาที่จะไปกระแทกอัตตาของผู้ที่หลงว่าบรรลุธรรม ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับสิ่งกระทบระดับนี้ไหวขอแนะนำว่าไม่ควรอ่าน ถ้าท่านฝืนอ่านแล้วเกิดอาการไม่พอใจก็สุดแล้วแต่บาปกรรมของท่านเอง)

สภาวะของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้เรียบเรียงกันไว้หลายบทหลายตอนแล้ว ในบทความนี้จะมาขยายในมุมของความหลงกันบ้าง เพื่อที่นำจะความรู้เหล่านี้ไปใช้พิจารณาหาประโยชน์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งหมด 9 ข้อ

1).กินมังสวิรัติไม่ลำบาก

มีหลายคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร เกิดมาจากอะไร การมีบารมีสะสมมาแบบนี้อาจจะเกิดจากการสะสมพลังเจโตสมถะมาหลายชาติก็ได้ เช่นในชาติที่เป็นฤๅษีก็กินผลไม้ รากไม้ ใบไม้ไป จนเกิดสภาวะเคยชินส่งผลมาถึงชาตินี้ก็สามารถกดข่มความรู้สึกได้ง่ายดายเหมือนกับว่าไม่ต้องพยายามใดๆเลย แต่เขาเหล่านี้จะไม่รู้จักกับความอยาก ไม่รู้จักกิเลส เพราะมันถูกกดลงไปก่อนที่จะรู้ตัวเป็นสภาพจิตกดข่มโดยอัตโนมัติเพราะเหตุที่สะสมมาหลายชาติ

2).เข้าใจว่ากินมังสวิรัติแล้วกิเลสลด

ตรงนี้เป็นความหลงที่ค่อนข้างหนัก เพราะการกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น และไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด คนที่กินมังสวิรัติได้เป็นสิบๆปี อาจจะลดกิเลสไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ข่มไว้ด้วยสัญชาติญาณปกติของมนุษย์คือเมื่อรับรู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ดี เป็นบาป เบียดเบียน ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำก็เลยใช้การอดทนไปตามธรรมชาติ เหมือนกับการที่เราอดทนไม่ต่อว่าใครที่มาดูถูกเรา มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะอดทนต่อสิ่งเร้า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการลดกิเลสแต่อย่างใด

คนที่กินมังสวิรัติแล้วลดกิเลสไม่เป็นจะไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย คือไม่รู้อะไรเลย รู้แค่กินมังสวิรัติแล้วดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มเกิดจากตรงไหน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่หรือซ่อนอยู่แบบใด และไม่รู้ว่ามันจบลงที่ใด ในพระไตรปิฏกมีการอธิบายเรื่องเจโตปริยญาณชัดเจนว่าต้องรู้ในทุกสภาวะจิต คือเกิดก็รู้ดับก็รู้ มีอยู่ก็รู้หายไปก็รู้ และรู้ได้ด้วยว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเท่าไหร่ นี้คือปัญญาของพุทธ คนที่ไม่มีปัญญาพุทธ จะเดาๆเอา มั่วเอา คาดคะเนเอาเอง แล้วมันก็เมาหมัดตัวเองเพราะดูสภาวะจิตตัวเองไม่ออก

คนที่ลดกิเลสได้จริงถ้าทำได้ถึงระดับดับจิตที่อยากให้สิ้นเกลี้ยงหรือสามารถดับกิเลสได้ จะดับวจีสังขารคือคำปรุงแต่งในใจได้ และดับไปถึงกายสังขารคือร่างกายจะไม่โหยหิว ไม่อยากกิน ไม่อร่อยตามไปด้วย คือถ้าดับกิเลสได้จริงมันจะไม่กินเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถไปกินได้โดยการอนุโลมเป็นกรณีไป

3). การอนุโลมของผู้หมดกิเลส

สมมุติว่ามีหลวงปู่ท่านหนึ่งสามารถดับกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้แล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านนั้นยังอินทรีย์พละอ่อนมาก ถ้าสอนให้กินมังสวิรัติเลยลูกศิษย์จะตายเพราะพลังไม่พอ จะทรมาน จะทุกข์ จะเข้าขีดของอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นทางโต่ง ท่านก็เลยไม่ได้เน้นหนักไปทางนั้นเพราะยังมีวิธีสอนให้ลดกิเลสอีกตั้งหลายทาง จึงยอมอนุโลมแบกวิบากบาปในการกินเนื้อสัตว์ตรงนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้ศิษย์เครียด

หรือกรณีเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งสามารถกินข้าวเพียงหยิบมือเดียวแล้วมีกำลังอยู่ได้ทั้งวัน เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เบียดเบียนน้อย แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และผู้ที่อินทรีย์พละอ่อนจะตายกันเสียก่อน ท่านจึงอนุโลมไว้เพียงแค่กินข้าวมื้อเดียว ดีที่สุดในโลก

ตรงนี้เองที่คนมีกิเลสใช้เอามาตีกิน มาเหมาเอาว่าตนเองบรรลุธรรม อ้างว่าอนุโลม แล้วบอกว่าทำให้พอดีเป็นเรื่องที่เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย หากถามถึงมรรคผลคือวิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และสภาพพ้นทุกข์เป็นอย่างไรก็จะพบว่า “ไม่มี” และผู้หลงผิดที่มีกิเลสหนากว่านั้นก็บอกว่าจะ”ตนมีมรรคผล”แต่ไม่บอก ไม่ชี้แจง ไม่แถลง ไม่อธิบายให้ไปปฏิบัติเอาเองแล้วจะรู้

ซึ่งผิดกับผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีหลักข้อหนึ่งคือ “ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง” เมื่อธรรมทานนั้นเป็นทานที่ดีที่สุด จะมีเหตุอันใดที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะไม่มอบทานนั้นแก่คนผู้ที่ยังมีความสงสัย เว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นไม่มีธรรมนั้นในตนเอง พอไม่มีเลยไม่รู้ว่าจะให้อะไร

4).การรู้ประมาณ

การรู้จักประมาณในการบริโภคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มีหลายคนที่คิดว่ากินเนื้อกินผักมันก็เบียดเบียนเหมือนกัน อันนี้มันก็ถูกใครประโยคแต่ในสาระมันไม่ใช่ เพราะปริมาณมันต่างกัน

ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้นเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ต้องคงสภาพด้วยการเอาธาตุอาหารมาเลี้ยง แต่เราจะเอาสิ่งใดมาเลี้ยงนั้นมีผลต่อชีวิตจิตใจเราด้วยเช่นกัน การรู้จักปัจจัยที่ส่งผล คือ บุญ บาป กุศล อกุศลนั้น จะทำให้เราวิเคราะห์การลงทุนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นักลงทุนที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตก็จะตีรวมๆ ว่าเบียดเบียนเหมือนกันหมดฟังแล้วมันก็ดูดีแต่ไม่ฉลาด

เพราะการที่เราใช้แต่ละสิ่งในการเข้ามาบำรุงร่ายกายเรานั้นให้ผลต่างกัน ทั้งในทางความรู้เชิงโลกเช่นกินเนื้อแล้วอาจจะเป็นมะเร็ง หรือกินผักแล้วถ่ายคล่อง หรือในทางธรรมคือบุญ บาป กุศล อกุศล คือการเบียดเบียนนี้สร้างทุกข์ หรือผลกระทบเท่าไร เช่นเรากินเนื้อวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีบุญมาก มีพลังชีวิตมาก การจะฆ่าวัวมันจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เราต้องรับกรรมส่วนนั้นมาด้วย

ในส่วนของการกินผัก ผักคือพืช พืชนั้นมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณและเวทนา พืชไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต สามารถเด็ดกิ่งไปชำได้ โตแล้วขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆเพราะมันเป็นพืช ไม่ได้ใช้วิญญาณในการสังเคราะห์ร่างกาย แต่ใช้สัญญาในการสังเคราะห์เช่น เมื่อรดน้ำพืชจะดูดเอาน้ำไปสังเคราะห์รวมกับธาตุอื่นจนเป็นพลังงานขึ้นในตัว เกิดเป็นแป้ง เป็นเนื้อไม้หรืออื่นๆ ในกรณีของยางพืชที่ไหลออกเมื่อกรีดนั้นก็คือสัญญาที่มันรับรู้ว่าเมื่อลำต้นเป็นแผลก็ต้องหลั่งสารมาปิดแผล เป็นเช่นนี้เสมอมา ไม่มีพืชต้นไหนที่เคยงอนไม่ยอมหลั่งน้ำยาง หรือโกรธเราจนต้นเหี่ยวเฉาตายไปเอง แต่เป็นเพราะธาตุที่มาสังเคราะห์กันนั้นส่งผลให้มันโต ตรงไหนธาตุครบมันก็โตเหมือนกันหมด ไม่มีต้นไหนโตเอาใจเราเพราะรักเรา แต่มันโตเพราะได้ธาตุครบตามสัญญาที่มี

ดังนั้นเมื่อรู้ประมาณในเรื่องบุญบาปกุศลอกุศลแล้ว จึงใช้ความรู้เหล่านี้มาประมาณกรรมของตัวเอง ผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ส่งผลต่อกรรมชั่วให้กับตัวเองน้อยที่สุด

ดังเช่นผู้ที่หมดกิเลสอย่างแท้จริง จะรู้ว่ากินเนื้อแล้วต้องทรมานร่างกายเช่นไร ได้รับผลกรรมเช่นไรบ้าง แต่บาปคือการสะสมกิเลสนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเชื้อกิเลสให้เพิ่ม กินเนื้อไปกิเลสก็ไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือแต่กุศล อกุศลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีชีวิตปกตินั้นก็ไม่จำเป็นต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อให้มันลำบากกายลำบากกรรม ส่วนคนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วจะกินเนื้อกินผักให้พอดีนั้นนี้มันยังเห็นผิดอยู่มาก เพราะเอาผิดมาเป็นถูก เอากรรมชั่วเข้ามาใส่ตนโดยไม่จำเป็น

ถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็น ความคิดประมาณว่า แหม…ช่วงนี้ชีวิตมันดีเหลือเกิน กินมังสวิรัติมาได้เป็นเดือนมีแต่เรื่องกุศล ว่าแล้วก็ชั่วเสียหน่อย กินเนื้อให้ชีวิตมันมีกรรมชั่วเข้ามาเสียหน่อยเดี๋ยวมันไม่เป็นกลาง …อันนี้มันก็ประมาทอยู่มาก เห็นผิดอยู่มาก เพราะกรรมมันไม่ได้มีแค่ในชาตินี้ชาติเดียว มันยังมีของเก่าที่ยังไม่ส่งผลอยู่ ผู้ดับกิเลสได้จริงจะเห็นถึงผลกรรมที่หนักหนา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาอนุโลมกลับไปกิน ท่านก็ยอมรับกรรมเหล่านั้นเพราะรู้ว่าแลกมาด้วยบางสิ่งซึ่งมีค่ากว่าจึงอนุโลมไปกิน

ไม่ใช่การตีกินของพวกหลงบรรลุธรรม ว่ากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง ให้พอดีไม่ทรมาน ไม่ลำบาก การกินเนื้อสัตว์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับร่างกาย ไม่ได้เป็นกุศลใด ไม่ได้ช่วยให้ใครพ้นทุกข์ แถมตัวเองยังทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเสียอีก

คนมีปัญญาจะสามารถรู้ได้ว่าเรารับมาเท่าไหร่ เราจ่ายออกไปเท่าไหร่ คือกินใช้เท่าไหร่ ทำประโยชน์ให้โลกมากเท่าไหร่ สิ่งไหนเป็นกำไรบุญ สิ่งไหนขาดทุน สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ แต่ถ้ามันหมดปัญญาขนาดเห็นว่าทำอะไรก็เบียดเบียนไปหมดแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงเลยเบียดเบียนมันทุกอย่างนั่นแหละซึ่งใครจะคิดแบบนั้นก็คงช่วยไม่ได้

5).ปัญญากับมังสวิรัติ

การกินมังสวิรัติได้นั้นจำเป็นต้องศรัทธา มีปัญญาเป็นตัวเริ่ม คือเห็นความไม่ดีไม่งามของการกินเนื้อสัตว์ ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาตัวเริ่มไม่ใช่ตัวจบ เป็นปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นทางเดินให้เราก้าวเข้าสู่การกินมังสวิรัติ

แต่ปัญญาที่เป็นมรรคนั้นไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง ก็รู้แค่เพียงว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีด เป็นบาปกรรม ทำให้สุขภาพแย่ มันก็ได้เพียงแค่นั้น หลังจากกินมาได้สักพักจะนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ว่าจะกดข่มกิเลสไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าล้างกิเลสไม่เป็นสุดท้ายจะหวนกลับไปกินเนื้อสัตว์

พอไม่ถึงผลที่แท้จริงมันจะเพี้ยนได้ปัญญาเฉโก ได้ปัญญาปนกิเลสไปแทน มันจะเข้าใจว่าปัญญาตัวนั้นคือตัวบรรลุธรรม จะเกิดสภาพหลอกๆเหมือนกับว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติแล้วกลับมากินเนื้อได้อย่างเป็นสุข โดนกิเลสมันหลอกเข้าอย่างแนบเนียนที่สุด กิเลสผูกเข้ากับปัญญาเป็นเนื้อเดียวกัน พูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกดูดีมีพลัง ฟังแล้วเหมือนคนบรรลุธรรม เหมือนคนหลุดพ้น จริงๆมันก็แค่พ้นจากทางสายกลางกลับไปเสพกามเท่านั้นเอง ทีนี้พอมาพูดให้คนที่มักกินเนื้อหรือกินมังสวิรัติไม่จริงจังกัน เขาก็จะเห็นดีด้วยชื่นชมกัน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากทรมานเพราะความอดอยากหรอก

การจะถึงผลที่แท้จริงถ้าเทียบอัตราส่วนก็สองต่อเส้นขนวัวทั้งตัว เป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่ต่ำมาก เพราะไม่คบสัตบุรุษหรือผู้มีสัจจะแท้ กินมังสวิรัติเอาเอง เข้าใจธรรมเอาเอง คิดเอาเอง เดาเอาเอง พอได้เจอสภาวะหนึ่งก็หลงไปเองว่าบรรลุธรรม บางครั้งบางคนมีครูบาอาจารย์แต่ท่านเหล่านั้นกลับไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่ใช่ผู้มีสัจจะ ไม่ใช่ผู้ดับกิเลสได้ ก็จะพากันเฉโก พากันหลงทางกันไปทั้งกลุ่มทั้งก้อนแบบนั้นเอง

เรื่องกิเลสนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ไขและขยายไว้อย่างละเอียดลออ ในบทของอวิชชา ๘ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ได้คบหาสัตบุรุษย่อมไม่ได้ฟังสัจธรรม เมื่อไม่ได้ฟังสัจธรรมย่อมไม่เกิดศรัทธา เมื่อไม่เกิดศรัทธาย่อมไม่เกิดการพิจารณาลงไปถึงที่เกิด จึงไม่เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ จนกระทั่งทำผิดทั้งกายวาจาใจ จนเกิดนิวรณ์ นำมาซึ่งอวิชชาในที่สุด

ดังนั้นเรื่องจะกินมังสวิรัติให้ถึงผลแท้จริงหรือการดับกิเลส โดยที่คิดเอาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้หรือมีสัจจะแท้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปได้แม้ไม่มีคนสอนก็จะมีสองกรณี หนึ่งคือเพี้ยนหลงว่าบรรลุธรรม สองคือมีธรรมนั้นในตัวมาอยู่แล้วเคยดับกิเลสนั้นๆมาก่อนแล้วในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน

6). ทางสายกลวง

ทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่กลับเป็นสิ่งที่คนหลงผิดกันมากที่สุด ทางสายกลางนั้นมาจากบทหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา คำว่ากลางนั้นไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้างให้พอดี แต่เป็นกลางอยู่บนกุศลสูงสุด กลางด้วยปัญญา ไม่ใช่กลางแบบสบายๆ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อันนี้ถ้าตามหลักเขาจะเรียกพวกติดกาม คือกามสุขัลลิกะ คือโต่งไปในด้านเสพ แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือโต่งไปในด้านการทรมานตัวเองด้วยอัตตาหรืออัตตกิลมถะ เช่นการพยายามฝืนกินมังสวิรัติด้วยความทรมานกายและใจ

คนที่อยู่บนทางสายกลางนั้นจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ แต่ก็จะไม่ทุกข์กับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่กลางตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าธรรมะมันง่ายขนาด 1+1 แล้วหารด้วย 2 เป็นกลาง พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องลำบากถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปหรอก ดังนั้นการเข้าใจคำว่าทางสายกลางจะคิดเอาเองไม่ได้นึกเอาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ที่เข้าใจธรรมหรือบรรลุธรรมเป็นผู้ชี้แจงและแถลงให้เท่านั้น

คนที่เข้าใจว่าทางสายกลางคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติจนเกินไปแล้วผ่อนมากินเนื้อนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่าเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเป็นเพียงการปรับจากอัตตกิลมถะเข้าสู่กามสุขัลลิกะเท่านั้น คือมันลำบากใจก็ผ่อนกลับมากินแล้วก็สบายๆ มันก็เป็นการสนองกิเลสแบบสามัญธรรมดา เหมือนกับคนทั่วไปที่หิวแล้วไปกินข้าว ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ

7).กินมังเหยาะแหยะ

คนที่กินมังสวิรัติอย่างครึ่งๆกลางๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินเหยาะแหยะ กินมังสวิรัติแล้วก็กลับไปกินเนื้อ ไม่จริงจัง ไม่รู้สาระหรือประโยชน์ แม้ว่าจะกินมา 20 ปี 30 ปี หรือทั้งชีวิต ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจเลิกเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเพียงแค่หนึ่งเดือน

จริงอยู่ที่ว่าคนที่กินมานานนั้นทำความดีมามาก โดยรวบยอดแล้วกุศลจะมาก แต่บุญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บุญนั้นคือการลดละกิเลส ดังนั้นจิตที่ตั้งใจว่าจะเลิกอย่างจริงจังนั้นหมายถึงความเข้มแข็งในจิตวิญญาณที่เข้มข้นจนกระทั่งตั้งตบะเลิกตลอดชีวิตเป็นความตั้งใจที่จะทำลายกิเลสนี้ให้สิ้นเกลี้ยง ถึงแม้ว่าจะทำจนถึงผลไม่ได้แต่ก็เป็นบุญที่มากกว่าในจิตวิญญาณที่มีความตั้งใจเช่นนั้นแล้ว

การบรรลุธรรมหรือการเข้าใจความจริงอย่างถ่องแท้ บรรลุสัจจะ เข้าใจโลก นั้นหมายถึงการตัดกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่แค่ระดับลด ละ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เลิกไปเลย เลิกอย่างถาวรไม่มีความคิดที่จะกลับมากินอีกแม้น้อย ดังนั้นต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิต กินมาหลายภพหลายชาติ แต่ถ้าจบเรื่องกิเลสไม่เป็นมันก็เท่านั้นเป็นกุศลเกิดประโยชน์แต่ไม่เป็นบุญเพราะลดกิเลสไม่เป็น

คนที่จะสามารถอนุโลมได้อย่างไม่มีบาปนั้นคือผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลมังสวิรัติ คือกินอย่างรู้สาระ และกินได้อย่างปกติ ไม่ใช่กินแบบงมงาย กินแบบเขาพูดกันมาว่าดี หรือกินเพราะสงสาร แต่ต้องรู้ไปถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถสัจจะด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอนุโลม ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าตีกิน เนียนกินตามกิเลสโดยหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูฉลาดเพื่อให้ได้กินเนื้อสัตว์

ถ้าลองให้คนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วกลับไปกินเนื้อสัตว์เลิกเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต กิเลสของเขามันก็หาข้ออ้างที่ดูฉลาดๆเหมือนคนกินเนื้อนั่นแหละ สุดท้ายคนที่หลงว่าบรรลุธรรมกับคนยังอยากกินเนื้อมันก็เหมือนๆกัน คนที่ยังอยากกินเนื้อยังดีเสียกว่าด้วยซ้ำเพราะว่ายังรู้ว่าตัวเองอยาก การรู้ว่ากินเพราะอยากก็เป็นความเจริญอยู่บ้าง แต่อยากกินแล้วไม่รู้ว่าอยากกินนี่ไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร

8). กินอยู่อย่างพอดี

หลายคนที่กินมังสวิรัติแล้วหย่อนลงมากินเนื้อสัตว์อาจจะเพราะพบว่าเป็นทางที่สุขกว่า พอดีกว่า เห็นผลดีกว่า ที่มันสุขเพราะมันมีกิเลสมันเลยสุข ถ้าคนไม่มีกิเลสไปกินเนื้อมันจะไม่มีมีรสสุขและเขาจะไม่ไปกินให้ลำบากกายลำบากใจตัวเอง

ทีนี้ผู้หลงบรรลุธรรมแล้วเสพทั้งเนื้อสัตว์และผักก็จะหลงยึดว่านี่คือสิ่งที่ดี ความพอดี ความสมดุลนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าพอดี มันต้องแบบนี้ ดูๆแล้วเหมือนว่าจะดีแต่ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่กินเนื้อสัตว์และกินผักสักเท่าไหร่ พูดมาก็จะเหมือนๆกัน สรุปว่ามังสวิรัติที่กินไปก่อนหน้านั้นมีอะไรเจริญขึ้นบ้าง ปัญญาในการเริ่มต้นมันมีนะ แต่ปัญญาในตอนจบมันไม่มี มันเสื่อมถอยกลายเป็นเหมือนคนกินเนื้อสัตว์ไปอย่างนั้น จะว่าสูงสุดคืนสู่สามัญมันก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้ไปสูงอะไร แค่กินมังสวิรัติวัวควายมันก็กินได้ มันกินมาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นมันจะเจริญอะไรขึ้นมา คนกินมังสวิรัติที่ไม่รู้สาระก็เช่นกัน กินผักกินหญ้าไปมันก็ดำรงชีวิตได้เหมือนกินเนื้อนั้นแหละ คนที่ไม่รู้สาระไม่รู้สัจจะเขาก็ไม่คิดมากกินเนื้อกินผักไปทำบาปทำกุศลไปตามประสาคนโลกียะ

ส่วนคนที่กินมังสวิรัติแล้วหาสาระไม่เจอ สุดท้ายก็จะเสื่อมลงมาเหมือนกับคนกินเนื้อกินผักทั่วๆไปนี่เอง จะว่าสูงกว่าคนกินเนื้อกินผักมันก็คงจะไม่ใช่ เพราะเวลาร่วงลงมามันจะมีอัตตาติดมาด้วย มันจะยึดดี หลงว่าดี หลงว่าฉันนี่บรรลุธรรม ฉันนี่เคยกินมังสวิรัติมาแล้วและพบว่ามันไม่พอดี ต้องกินเนื้อกินผักสิจึงจะพอดีอัตตานี้เองจะเป็นตัวกั้นไม่ให้ผู้หลงว่าบรรลุธรรมเข้าถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่มีประโยชน์เพียงแค่เพราะมีอัตตาว่า “ฉันก็เคยมาแล้ว” ทำให้ต้องติดอยู่ในอวิชชามากกว่าผู้ที่กินเนื้อกินผักทั่วไปด้วยซ้ำ

9).มังสวิรัติบารมี

ถ้ามองกันแบบชาวบ้าน มองกันทั่วไปแล้วเวลาเราไปกราบไหว้พระทำบุญกับนักบวช คิดว่าใครน่าศรัทธากว่ากันระหว่างพระที่ละเว้นเนื้อสัตว์กินมังสวิรัติได้ กับพระที่กินเนื้อกินผัก เอาแค่ข้อมูลเท่านี้นะ ไม่ต้องคิดถึงข้อมูลอื่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเสียงบารมี เราก็มักจะมองว่าพระรูปที่ละเว้นเนื้อสัตว์ได้น่าเคารพกว่าจริงไหม

หรือถ้าให้ชัดเลย คือระหว่างพระที่ฉัน 2 มื้อกับมื้อเดียวนี่แบบไหนน่าศรัทธาน่าเคารพกว่ากัน เอาข้อมูลแค่นี้นะ มันก็น่าจะเป็นฉันมื้อเดียวจริงไหม เพราะทำได้ยากกว่า ขัดกิเลสมากกว่า อดทนมากกว่า

ทีนี้ด้วยความที่คนมีกิเลสมากก็จะหาข้ออ้างต่างๆนาๆเพื่อที่จะกลบกองกิเลสของตนไว้ให้ดูสวยงาม แต่ยิ่งทำก็เหมือนช้างตายแล้วเอาใบบัวมาปิด คนตาดีเขาก็มองออกว่านั่นคือกิเลสนะ กลิ่นมันออก ภาพมันฟ้อง แต่คนที่มีกิเลสก็พยายามจะปิดไว้แล้วบอกมันไม่ใช่ความอยากไม่ใช่กิเลส เราพอดี เราปล่อยวาง เราเพียงเลี้ยงธาตุขันธ์ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ความฉลาดของกิเลส

พอโดนไล่ไปมากๆคนมีกิเลสก็จะเริ่มทำลายบารมีของคนมีศีล ของคนที่ถือศีลมังสวิรัติ เช่นกินมังฯกินเนื้อมันก็เบียดเบียนเหมือนกันแหละ , คนเราทำลายกิเลสที่จิต จะกินก็ได้, กินด้วยจิตว่างก็ได้ , เรากินไปไม่ยึดมั่นถือมั่น คนกินมังฯสิยึดมั่นถือมั่น , กินผักทำลายโลก , กินผักทำให้คนอื่นลำบาก ฯลฯ อันนี้เป็นกลยุทธ์ของคนกิเลสหนาซึ่งพยายามจะดึงคนที่มีศีลลงต่ำ ทำให้การกินมังสวิรัติดูโง่ ดูไม่ดี ดูเป็นเรื่องธรรมดา ดูเป็นเรื่องงมงาย ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหากอยากจะบรรลุธรรมหรือบรรลุอะไรก็ตามแต่จะเรียก

ว่ากันตามจริงเรื่องกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์นี่มันเป็นกิเลสหยาบๆ ในระดับรุนแรงเพราะต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ถ้ายังละ ยังวางไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปคิดบรรลุธรรมให้มันลำบากเลย เดี๋ยวมันจะยิ่งเพี้ยนไปไกล เพราะหลงว่าบรรลุธรรมมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบาปให้กับตัวเองอีกเลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ดังนั้นคนที่ละเว้นศีลก็ยากที่จะมีปัญญา เพราะศีลนี้เองคือสิ่งที่ขัดเกลาปัญญา ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราคิดถึงศีล และศีลสมาธิปัญญานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ขาดออกจากกัน

หากจะบอกว่าไม่มีศีลก็มีปัญญาได้ หรือมีสติก็มีปัญญาได้ มันก็เดาเอา มั่วเอา ปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบ ฟังเขามา ยืมเขามา แล้วก็หลงบรรลุธรรมตามเขา คือหลงกันไปทั้งสายทั้งคณะนั่นแหละ คล้ายๆกับธุรกิจขายตรงบางเจ้าที่อุปโลกน์ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าให้คนหลงยึดหลงอยากได้นั่นแล เรื่องทางธรรมก็เช่นกัน ยศ สภาวะ ตำแหน่ง ระดับธรรมมันก็ปั้นขึ้นมาเป็นแบบโลกๆได้ อธิบายได้ อ้างอิงได้ ทำวิจัยได้ เชื่อถือได้ ยอมรับได้ แต่แค่มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

2.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คนบ้ากินมังฯ ๒

December 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,331 views 1

คนบ้ากินมังฯ ๒

คนบ้ากินมังฯ ๒

…บ้าจริง บ้าหลอกหรือหายบ้า มาอ่านกัน ฉบับไขข้อข้องใจทุกประเด็นเกี่ยวกับบทความ “คนบ้ากินมังฯ”

*(คำเตือน !! ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ควรจะอ่านบทความ”คนบ้ากินมังฯ”ก่อน ….และหากอ่านจบแล้วยังรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงหลังจากอ่านก็อย่าพึ่งอ่านบทความนี้ รอให้รู้สึกว่าตัวเองสงสัย ข้องใจ หรือเหลืออารมณ์ไม่พอใจเพียงเล็กน้อยค่อยอ่านจึงจะเหมาะ)

**ในบทความนี้ขออนุญาตใช้ธรรมะเข้ามาร่วมอธิบาย อาจจะเป็นสิ่งไม่คุ้นเคยสำหรับบางท่านให้ลองอ่านผ่านๆไปก่อนและเนื้อหาจะเป็นไปในเชิงไขกิเลส กรรมและขยายเนื้อหาในบทความคนบ้ากินมัง หากสนใจที่จะไขข้อข้องใจก็มาอ่านกันต่อ

เริ่มกันเลย!

1). อัตตา

หลังจากที่ได้เผยแพร่บทความคนบ้ากินมังฯออกไปนั้นก็มีเสียงตอบรับเข้ามามากมาย และส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่สามารถเข้าใจได้แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

สำหรับคนที่ติดตามเพจนี้มาก่อนจะขอยกไว้ในฐานที่เข้าใจ ส่วนคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอาจจะแบ่งได้หลายส่วนเช่น เห็นแย้งในทันที , สงสัย , ต่อว่า , ด่า , ส่งเสริมเชิญชวนหรือช่วยอธิบายเรื่องมังสวิรัติ ,พยายามปรับความเข้าใจ, เข้าใจที่สื่อสาร …เหตุอันใดที่ทำให้คนเข้าใจสื่อเดียวกันต่างกัน ถ้าสื่อนั้นผิดพลาดจริงๆคนทั้งหมดก็ควรจะเข้าใจผิด แต่ทำไมยังมีคนที่เข้าใจตามที่ได้สื่อสาร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญของบทความนี้

การที่เราเข้าใจต่างกันนั้นมีเหตุมาจากทิฏฐิที่ต่างกัน บางคนตัดสินตั้งแต่เห็นหัวเรื่อง บางคนตัดสินหลังจากอ่านจบ บางคนตัดสินแต่ไม่ต่อว่าและกลับชวนให้ลองกินมังสวิรัติ จะบอกว่าเรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คนเราต่างกันนั้นมันก็เป็นคำพูดที่ตีรวมๆ เข้าใจแต่ไม่เข้าใจ ไม่ลึกถึงเหตุ มองไม่ขาด เพราะเหตุจริงๆที่ทำให้เรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คือกิเลส หรือในที่นี้ก็คือ “อัตตา

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ในกรณีของมังสวิรัติก็คือ “อรูปอัตตา” เป็นอัตตาที่ไม่มีรูปร่างให้เห็นให้หยิบจับแล้ว เป็นความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ นั่นคือเรายึดความเชื่อความเห็นความเข้าใจในมังสวิรัติมาเป็นตัวเราของเรา พอเรายึดแล้วเราก็กอดมันไว้ รัดมันไว้ รักมัน หวงมันโดยไม่รู้ว่าอัตตานี่คือกิเลสที่ทำให้เราเป็นทุกข์

คนมีอัตตาหลายคนแม้จะไม่ได้ไปยุ่งกับคนอื่น แต่ถ้าใครเข้ามาแตะในพื้นที่หวงห้ามเช่นมาด่าว่าคนกินมังสวิรัติว่าบ้าว่าโง่ เหมือนกับเข้ามาเขย่าบ้านของตนเอง ก็จะรีบออกมาปกป้องบ้านของตนทันที ปกป้องสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น ปกป้องกิเลส

เราจะเริ่มมีอัตตาก็เพราะเรามีศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศรัทธาในการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่การที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้ไม่ดี คนกินมังสวิรัติหรือศรัทธาในมังสวิรัติส่วนมากจะมองว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญา เป็นคนละบาปบำเพ็ญบุญ จึงมีอาการยึดดีหรือยึดความดีเป็นตัวตนหรือมีอัตตา ซึ่งพอมีใครมาเห็นแย้งว่าที่เราทำมันบ้า มันโง่ คนที่ยึดว่าเรามีปัญญา เป็นคนดี ก็จะทุกข์ร้อนเพราะไม่ได้เสพคำชื่นชมอย่างที่ตัวเองเคยได้แถมยังโดนด่าอีก อันนี้ไม่ได้ผิดตรงมังสวิรัติแต่มันผิดตรงที่เราหลงยึดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญาแล้วเราเข้าใจว่าคนอื่นจะต้องเข้าใจว่าเราเป็นเช่นนั้น

เมื่อมีคนมาพูดกระทบอัตตา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่ามังสวิรัติต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนมีปัญญา ต้องเรียกว่าฉลาดสิเพราะเว้นจากการเบียดเบียน พวกเขาจึงได้ออกมาแสดงทัศนคติตามกิเลสของแต่ละคนกิเลสมากก็แรงมาก กิเลสน้อยก็แรงน้อย กระทบกระทั่งกันไปเพราะความอยากเอาชนะ อยากให้คนที่ต่อว่าคนกินมังสวิรัติบ้าและโง่นั้นแพ้ นั้นย่อยยับ นั้นสลายหายไป เพราะเราไม่อยากให้ใครมาคิดต่างหรือเข้ามาลุกล้ำอัตตาซึ่งเป็นกิเลสที่เราหวงสุดหวง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเสพสมอัตตาของเขาคือมังสวิรัติดี มีปัญญา ฉลาด เป็นบุญ เป็นความเจริญ ใครคิดตามได้แต่ถ้าคิดต่างไม่ต้องมาคุยกัน ถ้าคุยกันก็จะตอบโต้ไปตามปริมาณความยึดดีที่มี

มังสวิรัตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การยึดมั่นถือมั่นในความดีของมังสวิรัติเป็นคนละเรื่องกัน ขึ้นชื่อว่ากิเลสมันก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากมักจะกอดเก็บมันไว้ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่มีใครเข้ามาท้าทายอัตตา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะท้าทายกลับด้วยความคิด ด้วยวาจา ด้วยท่าทาง แล้วแต่ว่าใครจะปรุงกิเลสไปได้แค่ไหน ปรุงแต่งคำด่าคำพูดได้เท่าไหร่ก็บาปเท่านั้น เพราะความโกรธ ความไม่พอใจก็ขึ้นชื่อว่ากิเลส ดังนั้นจะหาประโยชน์จากความไม่พอใจนี้ไม่มีเลย

ในบทของกำลัง 8 พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่ามีคนอ่านบทความนี้มากมายหลายคน แต่ก็มีคนที่คิดเห็นแตกต่างกันไป คนที่เจริญในธรรมมีอัตตาน้อย ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่เพ่งโทษใครแม้เขาจะมาด่ามาว่า ในทางกลับกันคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง กำลังคืออะไร ก็คือพลังในการทำบาป ทำอกุศล ยิ่งเพ่งโทษแรงเท่าไหร่ กำลังก็ยิ่งแรง บาปก็ยิ่งแรง อกุศลก็ยิ่งแรง กรรมก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย

คนมีอัตตานั้นจะรู้สึกว่าตนไม่ผิดที่เพ่งโทษใครหรือด่าใคร “ในนามแห่งความถูกต้องข้าขอประหารเจ้า” เขาจะลงดาบในทันที และในวินาทีนั้นมโนกรรม วจีกรรม กายธรรมก็ได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว จิตนั้นสังเคราะห์อารมณ์ไม่พอใจ วจีนั้นเกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ จนกระทั่งมือพิมพ์คีย์บอร์ดส่งข้อความที่เต็มไปด้วยอัตตาเผยแพร่สู่สาธารณะ กระตุ้นให้คนอื่นที่ได้อ่านเกิดความโกรธเกลียดตามกันไป เป็นวิบากบาปที่จะเกิดซ้ำซ้อนส่งต่อเนื่องกันไปมา

ชีวิตเราอาจจะรีบเกินไปก็ได้ เรารีบทุกอย่าง รีบอ่าน รีบตัดสิน แล้วก็รีบทำบาป มันจะมาซวยตรงรีบทำบาปนี่แหละ จะขยันทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าขยันทำบาปนี่ก็อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า หยุดไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะทำไปมันก็ไม่คุ้ม ไปตำหนิติเตียนใครด้วยความไม่พอใจมันก็เท่านั้น ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารมันก็เร็วเฟสบุคก็เข้าถึงได้ทุกคน การช่วยกันสะสมบาปก็ง่ายขึ้น เช่นมีคนหนึ่งพิมพ์ข้อความตำหนิต่อว่า เราก็ดันไปร่วมวงกดถูกใจในคำปรุงแต่งจากกิเลสของเขาก็ถือเป็นการทำบาปที่สะดวกและรวดเร็วเหมาะกับยุคนี้มากๆ ทีนี้พอกดถูกใจเข้ามากๆ เจ้าของข้อความนั้นเลยเหมือนขึ้นหลังเสือกันเลยทีเดียว พอกอัตตากันใหญ่ขึ้นไปอีก ทีนี้เวลาจะลงมันลงยาก เหมือนกิเลสมันขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ได้ลงไปง่ายๆ

หลายคนไม่ได้อ่านถึงบทความนี้ ไม่ได้อ่านแม้บทชี้แจง ก็ไม่มีโอกาสรู้ตัวแล้วก็หอบบาปหอบกรรมที่ตัวเองทำไว้เป็นสมบัติต่อไป ส่วนคนมีอัตตามากๆถึงจะอ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังหงุดหงิดติดอัตตาอยู่ บางอ่านไปก็ไม่เข้าใจเพราะใจมันไม่เปิด มันจำได้แค่อารมณ์แรกที่ได้ประทับไว้ในใจแล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตาซ้อนอีกชั้นหนาเข้าไปอีก แต่บางคนสามารถรอดพ้นไปได้ด้วยเมตตา คืออ่านแล้วเห็นใจจึงแนะนำด้วยจิตเมตตาตรงนี้เป็นกุศล เป็นบุญ ก็ถือว่าสามารถสร้างสิ่งดีให้กับตัวเองบนกองกิเลสได้ แต่ถ้าคนอ่านด้วยอุเบกขาจึงจะสามารถเข้าถึงสาระแท้ของสารนั้นๆได้

แท้จริงแล้วมันไม่เกี่ยวเลยว่าคู่สนทนาหรือคนที่เราไม่ชอบใจนั้นเขาจะถูกหรือจะผิด โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่วันใดก็วันหนึ่งกรรมก็จะส่งคนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ขัดใจเข้ามาในชีวิตเราอยู่ดี แล้วเรายังต้องโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา ทะเลาะเบาะแว้งกับเขาไปตลอดเช่นนั้นหรือทั้งๆที่ศัตรูตัวร้ายนั้นคือตัวเราเอง คืออัตตาของเราเอง คือความยึดมั่นถือมั่นของเราเอง

สิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจคือสิ่งที่เรายึดไว้ พอเรายึดไว้ถือไว้ คนอื่นจะมาแย่ง มารบกวน มาทำลาย เราก็จะไม่พอใจ ก็จะออกอาการไปตามพลังของกิเลสของแต่ละคนตามกรรมที่ทำมา ตามกิเลสที่สะสมมา

เรามักคิดว่าคนกินมังสวิรัตินั้นมีเมตตา จิตใจดี เห็นใจสัตว์โลก แต่ความเมตตาเหล่านั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสัตว์โลกทั้งหมด เขายังเบียดเบียนมนุษย์คนอื่นด้วยถ้อยคำแห่งความดี เยอะเย้ยถากถาง ด้วยสารพัดประโยคที่จะปรุงแต่งได้ตามความสะใจ นี้หรือคือผู้ไม่เบียดเบียน นี้หรือคือผู้มีเมตตา เราจะมั่นใจได้อย่างไรหากเรายังมีความโกรธความเกลียดในสิ่งอื่นที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่ชาวมังสวิรัติไปเถียง ไปด่า ไปเยอะเย้ยถากถาง ก็คือการเบียดเบียนอยู่นั่นเอง แม้ไม่ได้ฆ่าแต่ก็เบียดเบียนด้วยวาจาไปที่ใจและกระบวนของกิเลสทั้งหมดนี้สร้างบาปสะสมให้กับตัวเองด้วย นั่นหมายถึงเบียดเบียนคนอื่นและเบียดเบียนตัวเองไปด้วยในทีเดียวกัน

ผู้กินมังสวิรัติที่สามารถล้างกิเลสได้จริง จะสามารถตั้งตนอยู่ได้บนความสงบ พูดแต่สัจจะ พูดแต่ความจริง ยกตัวอย่างเช่นคนที่เข้ามาช่วยพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติก็ถือว่าสามารถเอาตัวรอดจากบาปนี้ได้ ส่วนคนที่ไม่พิมพ์ไม่ตอบโต้ไม่ใช่ว่าจะไม่สร้างบาปเวรภัย เพียงแค่คิดร้ายก็เป็นมโนกรรมที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตและจิตใจได้รับทุกข์จากกรรมนี้ได้เช่นกัน

ดังนั้นคนที่กินมังสวิรัติแล้วไม่ล้างกิเลส ไม่ล้างอัตตาก็จะสร้างบาปเวรภัยไปในตัว ทำกุศลปนบาปโดยไม่รู้ตัว ไม่ผ่องใส่ ไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เช่นตอนมีคนมาว่าร้ายชาวมังสวิรัติ คนที่ไม่ล้างกิเลสก็จะร้อนรน โกรธ ไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจะเรียกตัวเองว่าผู้ไม่เบียดเบียนย่อมเป็นคำโกหก ผิดศีลข้อ ๔ ซ้ำเข้าไปอีก สร้างบาปเวรภัยให้กับตัวเองเข้าไปอีก กินมังสวิรัติว่าได้กุศลแล้ว ยังโดนวิบากบาปลากไปให้ทำชั่วให้ทำทุกข์อีก มันจะคุ้มไหม?

จะดีไหมหากเราจะกินมังสวิรัติไปด้วยล้างกิเลสไปด้วย ล้างความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรายึดไว้ไปด้วย จะดีไหมหากเราจะรู้สึกเฉยๆถ้ามีคนมาต่อว่าในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เราชอบ จะดีไหมถ้าเราไม่ต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองเพราะเราเลี้ยงกิเลสไว้

กิเลสไม่ใช่ตัวเรา ความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องยึดไว้ เราเพียงแค่ยึดอาศัย อาศัยให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตนี้ เรากินมังสวิรัติแต่เราไม่ยึดติด ไม่ยึดติดไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้าง แต่หมายถึงว่าไม่ยึดติดกับความเป็นมังสวิรัติ เพราะถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมังสวิรัติแล้วมีคนมาว่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรายึดอาศัยเราก็กินของเราไป แต่ถ้าใครมาว่าเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ได้ถือ เราไม่ได้มีตัวตน เราเลยไม่ต้องทุกข์

สุดท้ายของบทไขอัตตานี้ก็ให้ผู้อ่านได้ทบทวนตนเองว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา มันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเกิดเพราะอะไร มันดับไปเพราะอะไร แล้วมันจะเกิดอีกไหม จะดีกว่าไหมถ้ามันจะไม่เกิดอีกเลย ก็ขอให้ท่านลองพิจารณาดู

2).กรรม

กรรมอันใดหนอที่ทำให้ต้องมีคนเข้าใจผิด ต้องผิดใจ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ในบทนี้ผมจะลองไขกรรมของตัวเองอย่างคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพของวิบากบาปหรือผลของบาปที่เคยทำไว้ในอดีตกาล

ผมเองตั้งใจพิมพ์บทความด้วยความคิดว่าจะลองสื่อสารในอีกมุม เป็นมุมของคนกินเนื้อสัตว์ที่ข้องใจในมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นคนที่มีการกระทบกระทั่งกันให้เห็นกันตามกระทู้มังสวิรัติทั่วไปนั่นเอง ทีนี้เราก็คิดว่าขัดเกลาบทความดีแล้ว เรียบเรียงใส่คำใบ้ ใส่นัยสำคัญ ใส่เฉลยไว้เรียบร้อย กะว่าเพื่อนอ่านจบคงจะเข้าใจได้เอง แต่มันก็ผิดคาดไป ตรงนี้เป็นการประมาณผิดไม่ได้มีอะไรมาก แต่กรรมนั้นเองดลให้ได้ข้อมูลเท่านี้ ให้เขียนแบบนี้ ให้ประมาณผิดเช่นนี้ ซึ่งเราดูได้จากผลที่เกิดขึ้นคือมีคนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมากและมีคนเข้ามาต่อว่ามากมาย อันนี้ในชาติใดชาติหนึ่งผมคงเคยไปยุแยงใครให้เกลียดให้เข้าใจคนอื่นผิดทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เลยต้องมารับวิบากนี้ ซึ่งรับแล้วก็หมดไป มีคนมาด่าชีวิตผมก็ดีขึ้นเพราะได้ใช้กรรม กรรมชั่วหมดไปก็เปิดโอกาสให้กรรมดีที่ทำไว้ได้ส่งผลมากขึ้น สรุปแล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นผมมองว่าดีทั้งหมด

เมื่อกรรมชั่วได้ถูกชำระหนี้ไปแล้วกรรมดีก็ได้เกิดขึ้น มีคนที่เข้าใจในเนื้อหาสาระของบทความมาช่วยขยายความให้ ช่วยให้หลายคนได้คลายสงสัย ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงนี้จะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่เห็นพลังของกรรมดีที่ทำไว้อย่างชัดเจน ถ้าผมไม่เคยทำดีไว้ ก็คงจะไม่มีใครมาช่วยแบบนี้ สิ่งนี้เองเป็นผลจากการที่เราทำกรรมดีสะสมไว้บ้าง

แต่กรรมชั่วที่หมดไปนั้นเอง จะหมดไปไม่ได้หากไม่มีคนเข้ามาช่วย มีคนที่เสียสละยอมทำบาปจำนวนมากที่เป็นสะพานให้ผมได้ใช้กรรมชั่วที่เคยทำมาในอดีต เขาเหล่านั้นคือผู้รับวิบากบาปต่อในส่วนที่เขาทำและส่วนอื่นที่เขาได้ขยายต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะผลกรรมชั่วของเขาก็ลากเขามาให้เขาทำกรรมนี้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีอัตตาขนาดนี้เขาคงไม่ด่า ถ้าเขาล้างอัตตาได้เขาก็ไม่ต้องมารับบาป ในส่วนนี้ก็เห็นใจเพื่อนๆจริงๆ จะมีสักกี่คนที่ได้อ่านมาถึงบทความนี้ ในร้อยคนที่อ่านจะมีสักกี่คนที่เขาด่าแล้วจากไป พวกเขาเหล่านั้นจากไปพร้อมของฝากชิ้นใหญ่คือกรรมที่เขาต้องรับไว้ เหมือนกับชีวิตผมที่มีกองบาปกรรมทับอยู่ แล้วมีคนมาหอบกองบาปกรรมเหล่านั้นกลับบ้านไปเพราะหลงว่าเป็นของดี หากใครยังรู้สึกติดใจ ขุ่นเคืองใจอยู่ก็อยากจะให้พิจารณาดีๆว่ามันคุ้มไหมที่จะเอาบาปนี้กลับไปเป็นสมบัติของตัวเอง

ทั้งหมดนี้ไขให้เห็นกระบวนการของกรรมในภาพกว้างๆ ให้พอรู้ว่ากรรมชั่วกรรมดีมันมีผล

3). เกี่ยวกับบทความคนบ้ากินมัง

ในบทความนี้ผมได้วางเนื้อหาสาระสำคัญไว้หลายจุดด้วยกัน หากใครยังไม่เห็นหรือมองผ่านไปก็ลองอ่านกันดูได้

3.1). คนเกิดมาก็กินเนื้อแต่บ้าเปลี่ยนมากินผัก

อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เพราะคนส่วนมากที่มีจิตเจริญขึ้นก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง ทุกคนเริ่มมาจากการกินเนื้อสัตว์เหมือนกันหมดแต่ทำไมบางคนหันมากินมังสวิรัติ มันเป็นไปได้อย่างไร จิตใจมันเจริญขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์

3.2 ) ด้วยสติปัญญาที่พวกเขามี เขาจึงไปเชื่อลัทธิหนึ่ง

คำว่าลัทธิในที่นี้หมายถึงกลุ่ม ถ้ามองจากคนนอกที่เขาไม่กินเนื้อ เขาไม่รู้หรอกว่าเราไปอยู่กลุ่มไหนเขาก็มองเป็นกลุ่มก้อนเป็นลัทธินั่นแหละ ซึ่งลัทธิในที่นี้อาจจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม หรือศาสนา นิกาย กลุ่มคน กลุ่มสังคม กลุ่มในเฟสบุคก็ได้ที่มีลักษณะกลุ่มก้อนที่เสนอสื่อ ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกินมังฯ และด้วยสติปัญญาที่มี คือมีปัญญารู้คุณรู้โทษจึงเชื่อและพยายามกินมังสวิรัติ

หลายคนเข้าใจว่ากินมังสวิรัติด้วยตัวเอง อยู่ๆก็ไม่อยากกินเนื้อสัตว์เอง มองว่าในชาตินี้ไม่ได้มีสื่อใดกระตุ้นเลย ถ้ามองแค่ในชาตินี้มันก็เข้าใจถูกตามนี้ ดูว่าเป็นคนเก่ง แต่แท้ที่จริงแล้วความเบื่อหน่ายเนื้อสัตว์นี้เป็นสิ่งที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งการจะออกจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นจะคิดเอาเองไม่ได้ นึกเอา เดาเอา มั่วเอาเองไม่ได้เลย ต้องมีสัตบุรุษหรือผู้รู้สัจจะเป็นผู้บอก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวเก่าแก่ในชาติปางก่อนก็ได้ เพราะทุกอย่างมาแต่เหตุ แล้วเหตุใดที่เราไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ในชาตินี้เราก็ไม่ได้เพียรพยายามใดๆเลย แต่กลับเห็นคนอื่นเขาเพียรพยายามกันอย่างยากลำบากตกแล้วตกอีก พลาดแล้วพลาดอีก นั่นเพราะเราทำมามาก ฟังมามาก เลยมีผลส่งมามาก ในส่วนนี้ที่ขยายไว้เพิ่มเพราะคนที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเองมักจะมีอัตตาแรง คนเก่งมักมีอัตตาจัดเสมอ ก็ขอให้พิจารณาไว้

3.3 ฟังแล้วมีแต่ข้อดี จึงใช้ความเพียรพยายามในการลดละเลิก

ตรงนี้คือการพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ เมื่อจิตเข้าถึงประโยชน์แล้วจึงใช้ความเพียร คนที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์จริงๆจะรู้ว่าต้องใช้ความเพียรอย่างมากในการตัดกิเลส ในการห้ามใจไม่คิดถึงเนื้อสัตว์ ในการอยู่กลางวงเนื้อสัตว์โดยไม่กิน ในการยอมถูกบ่นถูกด่าจากผู้ที่ไม่เห็นดีกับการกินเนื้อสัตว์โดยไม่โกรธ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ได้มากันง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นสิ่งที่สั่งสมข้ามภพข้ามชาติมา

3.4 ให้กินเนื้อฟรีก็ไม่กิน แถมเงินก็ไม่กิน

เป็นสภาพของคนที่พ้นจากความอยากแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจความสบายใจที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ คนที่กินมังสวิรัติแต่ไม่ได้ล้างกิเลสจะเหลืออาการอยาก เขาไม่กินแล้วนะแต่เห็นแล้วก็ยังอยากกิน แม้จะสามารถข่มใจไว้ได้แต่กิเลสก็จะโตขึ้นเรื่อยๆดังที่เห็นคนกินมังสวิรัติมานานแต่กลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะกิเลสมันโตจนกดไว้ไม่ไหว

3.5 มีเนื้อให้กินดีๆไม่กิน จะกินผัก

คนกินมังสวิรัตินั้นเป็นคนที่ยอมอดทน แม้จะต้องกดข่มก็ยังเจริญกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ตามกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมได้เพราะความเพียร ถ้าหากเราอยากพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผลักดันให้เราไปกินเนื้อสัตว์แล้วเราต้องใช้ความเพียรที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์ โดยมีความเชื่อที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์เป็นหางเสือควบคุมทิศทางเช่นกัน

3.6 ชอบทวนกระแสโลก

คนที่สู้กับกิเลส ไม่ยอมทำตามกิเลสนั้นก็ถือว่าได้พยายามทวนกระแสโลก หรือกระแสของกิเลสแล้ว ส่วนจะถึงฝั่งฝันไหมก็คงต้องเพียรต่อไป คำว่าทวนกระแสโลกนั้นในทางธรรมก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของโลกุตระ เป็นเรื่องของอีกโลกที่ไม่เหมือนโลกียะ ไม่เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำ

3.7 ชอบมาเผยแพร่ลัทธิ

พอเราสามารถกินมังสวิรัติจนเห็นผลดีกับชีวิตและจิตใจตัวเองแล้ว เราก็จะเริ่มทำการเผยแพร่สิ่งดีให้กับคนรัก คนใกล้ชิด และบางครั้งก็ต้องพบกับความไม่ยินดี ไม่เอาด้วย หรือเอาด้วยแต่เอานิดเดียวนะ ซึ่งพอมีการสื่อสารหรือการแลกเปลี่ยนความเห็นความเข้าใจที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความผิดใจกันและการทะเลาะเบาะแว้งได้

3.8 บ้าในโลกส่วนตัว

คนกินมังสวิรัติที่อยู่ในโลกส่วนตัวนั้นมีให้เห็นกว้างๆอยู่สองพวก หนึ่งคือพวกที่ติดโลกธรรมเลยไม่ถือสาคนอื่น กลัวเขาไม่คบ กลัวเขาว่า กลัวเขาเกลียด กลัวเขานินทา เกรงใจเขา อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่สามารถลดกิเลสลดอัตตาได้ ก็จะไม่ถือสาคนอื่นเช่นกัน จะกินมังไปได้อย่างปกติ แม้จะมีคนมาด่าหรือต่อว่าก็จะไม่ไปทำร้ายจิตใจใคร

3.9 บ้าระรานชาวบ้าน

เป็นคนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามาก มักจะพยายามยัดเยียดสิ่งดีคือมังสวิรัติให้ผู้อื่น ยัดเข้าไปจนเขาอ้วก จนเขาเอือมระอา จนเขาเกลียดมังสวิรัติไปเลยก็มี และอัตตายังส่งผลให้ปกป้องตัวเองเช่นกัน ดังเช่นเมื่อมีคนมาเห็นต่างเห็นแย้ง พวกเขาก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาปกป้องความเชื่อของตัวเอง ฟาดฟันผู้อื่นด้วยความคิด คำพูด การกระทำต่างๆ

ถามว่าทำไมถึงเรียกว่าระรานชาวบ้าน ทั้งๆที่ถูกโจมตี เพราะแท้จริงชาวมังสวิรัตินั้นคือผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก นั้นหมายถึงสัตว์และมนุษย์ด้วย แม้ว่าเขาจะมาด่า กล่าวหาว่าร้าย มาโจมตีใดๆก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะต้องไปเบียดเบียนเขากลับเลย

คนมีอัตตาจะมองไม่เห็นตรงนี้เพราะกิเลสจะบังตาทันทีที่มีคนพูดแล้วขัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือมาด่าต่อว่า เมื่อมองไม่เห็นกิเลสตัวเองก็โทษว่าคนอื่นผิด ว่าแล้วก็โกรธเขาแล้วเข้าใจว่ามันถูกต้อง คือเขาผิดเราจึงโกรธ อันนี้มันความเห็นของคนมีกิเลส มันก็ชั่วอยู่ดีนั่นเอง เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

3.10 ดูสิพวกกินมังฯทั้งโง่ทั้งบ้า

มีเนื้อให้กินก็ไม่กิน กินฟรีก็ไม่กิน กินแต่ผัก ไม่ไปตามกระแสโลก ไม่ไปตามกิเลส คนทั่วไปเขามองเราแบบนี้มันก็ถูกของเขา เพราะเขาเห็นว่าทำแบบเรามันลำบาก มันทรมาน มันบ้า ไม่มีใครเขามาล้างกิเลส ลดกิเลสกันหรอก เขามีแต่จะพากันเพิ่มกิเลส

ในประโยคสุดท้ายนี่ทิ้งไว้โดยสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคนที่เลือกกินเนื้อนั้นกินตามกิเลส ส่วนคนคิดจะกินมังสวิรัตินั้นคือคนทวนกระแสกิเลส หากผู้ใดได้พิจารณาบทความ คนบ้ากินมัง ดีๆจนกระทั่งในตอนจบก็จะไม่มีความสงสัยใดในบทนี้ ยกเว้นตัวท่านเองกินมังสวิรัติโดยไม่รู้เรื่องกิเลส ซึ่งก็ขอให้ท่านค่อยๆศึกษาและติดตามจากบทความอื่นๆที่ผมได้นำเสนอมาแล้วและจะนำเสนอต่อไปอีกเรื่อยๆ

…สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่าถ้าคนล้างกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้จริงจะสามารถอ่านบทความ “คนบ้ากินมังฯ” ได้ฉลุย ผ่านตลอด ไม่มีแม้ความขุ่นเคืองใจใดๆในทุกวินาทีที่อ่าน เพราะเขาเหล่านั้นได้ล้างอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุที่ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขุ่นเคือง หรือทำให้โกรธออกไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้ที่เห็นอัตตาของตัวเอง และเริ่มเห็นว่านี่แหละคือศัตรูตัวร้ายที่แอบซ่อนและฝังอยู่ในจิตใจของเรามานาน เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ทุกครั้งเมื่อต้องเจอกับประเด็นต่างๆที่ไม่พอใจในเรื่องมังสวิรัติ ก็แนะนำให้เรียนรู้เรื่องกิเลส เรียนรู้เกี่ยวกับการล้างกิเลส ท่านจะศึกษากับครูบาอาจารย์หรือใช้วิธีอื่นก็ได้ตามที่ชอบหรือเห็นควรก็ได้

ซึ่งในส่วนของผมเองนั้นจะสร้างกลุ่มที่คุยเรื่องมังสวิรัติกับกิเลสที่ Buddhism Vegetarian

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อกหัก

November 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,759 views 0

อกหัก

อกหัก

…เมื่อความผิดหวังมาเยี่ยมเยียนความรัก

ความรัก การมีคู่ การครอบครอง เป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่หา เฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะได้พบคู่รักดังที่เคยฝันไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอคู่ที่เหมาะสม คู่ที่ยินดีจะมอบกายมอบใจมอบชีวิตให้เขาครอบครอง แต่สุดท้ายความฝันทั้งหมดก็พังทลายลงเมื่อเผชิญกับความจริง เหลือทิ้งไว้เพียงแค่คนที่ถูกดับความหวังหมดสิ้นความฝันหรือที่เรียกกันว่า “คนอกหัก

ในบทความนี้จะมาไขเรื่องราวของการอกหักอย่างละเอียดเท่าที่จะเกิดประโยชน์กับใครสักคนที่กำลังอกหักหรือเตรียมตัวที่จะอกหักมาสรุปเป็นหัวข้อได้ 7 หัวข้อด้วยกัน ลองอ่านกันเลย

1….ทำไมต้องอกหัก

เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการดับ อย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนกันกับความรัก มันเกิดขึ้น มันดำเนินอยู่คงสภาพอยู่ และสุดท้ายมันก็ต้องจบลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ตอนที่เรากำลังไขว่คว้าหาความรักแสวงหาคู่ครองมาคบหาดูใจนั้น น้อยคนนักที่จะคิดว่าทุกอย่างจะต้องจบลง ยากนักสำหรับคนที่หลงไปกับความรักจะคิดได้ว่าเมื่อมีรักก็ต้องมีวันหมดรัก หรือจะเรียกได้ว่าเมื่อตกลงรักไปแล้วก็ยากนักที่ใครจะเตรียมพร้อมทำใจรอรับวันอกหัก เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับความรัก ได้รับคนรักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ก็มักจะมัวแต่เมามายประมาทในกาลเวลามองว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปดังที่หวังไว้ เมื่อได้คบหาแล้วก็วางแผน วาดฝัน สร้างสวรรค์วิมานไปตามที่จะคิดจะจินตนาการได้

แต่ถึงจะวางแผนชีวิตคู่ไว้อย่างดีแค่ไหน สัจธรรมย่อมไม่เปลี่ยนแปลง คือเราจะต้องมีความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายถึงเราจะต้องเสียคู่รักของเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเลิกคบหากัน อาจจะตายจากกัน หรืออาจจะอยู่ด้วยกันโดยที่ความรักนั้นได้ตายไปแล้วก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมาถึงในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเราอกหัก เรามักจะมองหาคนผิด คนที่ได้ชื่อว่าอกหักมักจะดูเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งก็มักจะคิดว่าตนนั้นถูกกระทำ และคิดว่าตนนั้นมีสิทธิ์ที่จะเสียใจ มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง มีสิทธิ์ที่จะทุกข์ ทั้งที่คนผิดจริงๆนั้นคือตัวเราเอง

ไม่ว่าอดีตคู่ครองจะทำอะไรและไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนกับเราก็ตาม ให้รู้และเข้าใจไว้อย่างหนึ่งคือทั้งหมดที่เขาทำนั้นคือกรรมของเราเอง เราทำมาเองเราเลยต้องรับเอง ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าเราเคยทำกรรมอันน่ารังเกียจแค่ไหน ยิ่งเราเกลียดคนที่หักอกเรามากเท่าไหร่ นั่นแหละคือเราทำมามากกว่านั้น เราเลวร้ายมากกว่านั้น เพราะกรรมเขาแบ่งมาให้เรารับในชาตินี้ส่วนหนึ่ง ชาติหน้าส่วนหนึ่ง และชาติต่อๆไปอีกจนกว่าจะหมด

นั่นหมายความว่าเรากำลังได้รับเศษกรรมที่เราเคยทำไว้ ดังนั้นเหตุที่ว่าทำไมต้องอกหัก จึงมีส่วนของกรรมเก่าส่วนหนึ่งและกรรมใหม่ที่เราทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง กรรมใหม่ก็เช่น เราดูแลเขาดีไหม เราสนองกิเลสเขาได้ไหม เราตามใจเขามากเกินไปหรือไม่ หรือเรามัวแต่สนองกิเลสตัวเองโดยไม่สนใจเขา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมใหม่ในชาตินี้ที่ส่งผลมากที่สุด ถ้าถามว่าทำไมอกหัก ก็สรุปสั้นๆได้ว่า “เราทำมา

2….ทำไมต้องทุกข์ ทำไมต้องทรมาน

ความทุกข์นั้นคือผลของกรรม และผลของกิเลส ในส่วนของกรรม กรรมที่เราทำมาจะทำหน้าที่ให้เกิดความทุกข์ ทรมาน กระวนกระวาย และอาจจะมีผลไปถึงร่างกาย เช่นไม่หิวข้าว ไม่สบาย เซื่องซึม ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตใจสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อนกับเราวนเวียนไปจนกว่ากรรมนั้นๆจะหมด

การที่กรรมนั้นจะหมดได้คือเราต้องยอมรับกรรมเสียก่อน ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราทำมา คนที่มัวแต่โทษคนอื่น โทษอดีตคู่ครอง โทษมือที่สาม โทษดินฟ้าอากาศ โทษดวงชะตา ฯลฯ คือคนที่ไม่ยอมรับกรรมที่ทำมา เมื่อไม่ยอมรับกรรมก็ยากที่จะพ้นทุกข์ เพราะมีการโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีกว่าฉันไม่ได้ทำมา ทั้งที่ทำมาแท้ๆกลับไม่ยอมรับ มองเพียงแค่ตื้นๆ เห็นเพียงแค่ผิวเผินก็ตัดสินไปแล้วว่าไม่ใช่กรรมของฉัน สิ่งที่เราได้รับนั่นแหละคือกรรมของเราแน่ๆ ไม่ต้องโทษใครที่ไหน

ในส่วนของกิเลสนั้นซ้อนเข้าไปในเรื่องกรรมอีกที แต่จะเป็นส่วนที่สามารถจะแก้ไขได้ การที่เราทุกข์ทรมานจากการอกหักนั้น เกิดจากความผิดหวัง ที่ผิดหวังเพราะว่าเรามีหวัง แต่มีความหวังนั้นไม่ผิด ผิดตรงที่เราไปยึดมั่นถือมั่นกับความหวังนั้น

เราสามารถวาดฝัน คาดหวัง หรือวางแผนชีวิตคู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อมันไม่เกิดดังที่เราคาดหวัง เราก็มักจะไม่สามารถปรับใจตัวเองได้ทัน เพราะยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดิมที่เคยคาดหวังไว้ อาการเหล่านี้เรียกว่ามีอัตตา มีความยึดมั่นถือมั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราคาดหวังว่าแฟนจะพาไปกินข้าวเย็นสุดหรูในวันสำคัญของเรา แต่สุดท้ายกลับต้องมากินข้าวแกงถุงกัน…

กระบวนการทั้งหมดเริ่มจากเราหวังว่าจะได้กินของอร่อยดูดี แต่เมื่อกรรมได้นำพาเหตุการณ์บางอย่างเข้ามา คือบทที่ไม่สมหวังต้องมานั่งกินข้าวแกงถุง ณ ขณะนี้มีให้เลือก 2 ทางเลือกใหญ่ๆ 1. ทุกข์เพราะผิดหวัง 2.ปล่อยวางความหวัง

ถ้าเรามีทิศทางไปทางที่หนึ่งก็คือกิเลสเต็มๆ คือสิ่งที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น ส่วนอาการทุกข์เพราะผิดหวังนั้นจะแสดงออกอย่างไรก็แล้วแต่โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสอีกตัวที่จะโผล่มาเมื่อไม่สมหวัง คนเรารักกันเลิกกันก็ไม่พ้นเรื่องของกิเลสหรอกมันก็มีอยู่แค่นี้ ถ้าดับกิเลสได้ก็ไม่มีทางทุกข์ที่มีทุกข์เพราะมีกิเลส

ส่วนของทางเลือกที่สองนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าอุเบกขา หรือปล่อยวางความคาดหวังเสีย แล้วมีความสุขไปกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ผู้สามารถอุเบกขาหรือปล่อยวางได้อย่างแท้จริงจะมีจิตผ่องใส โปร่งสบาย และมีไหวพริบเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

แต่การจะอุเบกขาได้อย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมะในระดับที่ล้างกิเลสเป็น ดังนั้นยากนักที่จะสามารถหนีออกจากเหตุแห่งทุกข์และความทรมานนี้ได้ พวกเขาจึงต้องจมอยู่กับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งความทุกข์นั้นก็ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหนก็เป็นเขาเองที่ยึดมั่นถือมั่นทุกข์นั้นไว้ กอดทุกข์นั้นไว้ กอดความหวังที่ไม่มีจริงเอาไว้ เมื่อไม่ปล่อยวาง จึงต้องทุกข์ทรมานอยู่เรื่อยไป

3….อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม

คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะลืมฉากรักอันแสนหวานและฉากทุกข์ทรมานที่แสนขมขื่น สิ่งที่เราจำได้นั้นเรียกว่า “สัญญา” คือการจำได้หมายรู้ทั่วไป และการที่เราคิดเรียกว่า “สังขาร” หรือการปรุงแต่งความคิด

สัญญาคือเราจำเรื่องราวจำสิ่งต่างได้ เช่น เราคบกันวันแรกที่ไหน ของขวัญชิ้นแรกคืออะไร เราพูดอะไรออกไป เราทะเลาะกันเรื่องอะไร สิ่งเหล่านี้คือความจำ ความจำนั้นไม่ใช่ตัวทำให้ทุกข์ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์นั่นคือความคิดหรือสังขารที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

คนทั่วไปมักจะมองหาทางลืม แต่สุดท้ายก็พบว่าอยากลืมกลับจำ อยากจำสิ่งดีใหม่ๆแต่กลับลืม พยายามสร้างเรื่องราวใหม่เพื่อมาทดแทนแต่ก็ไม่สามารถทำให้ลืมได้ นั่นเพราะสิ่งที่ทำให้เราจำได้ก็เพราะความคิดของเราที่ปรุงแต่งเรื่องราว คำพูด ฉากเหตุการณ์ต่างๆย้อนหลังซ้ำไปซ้ำมาในความคิดของเรา เมื่อคิดอยู่อย่างนั้นมันก็บันทึกเรื่องใหม่ไปด้วย นอกจากจะจำเรื่องเก่าได้แม่นขึ้น ยังมีเรื่องใหม่ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองอย่างฟุ้งซ่านลงไปด้วย

บางครั้งอาจจะทำให้เกิดอาการ สัญญาวิปลาสได้ คือ ความจำสับสน จำสิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงทับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น เคยเลิกกับแฟนด้วยคำพูดประโยคหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปกิเลสได้ปรุงแต่งความคิดให้ฟุ้งซ่านเป็นทุกข์ จึงเริ่มปรุงแต่งเรื่องราวเดิมซ้ำอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาจนประโยคเดิมนั้นกลายเป็นประโยคใหม่ ซึ่งมีน้ำหนักมีความรุนแรงมากกว่าเดิม เหตุการณ์นี้หลายคนก็คงจะเคยเจอ ภาษาทั่วไปเขาเรียกกันว่า “มโนไปเอง” หรือคิดไปเองนั่นเอง คือความคิดใหม่มันไปอัดทับของเก่าไปแล้ว เหมือนกับบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิมโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งปัญหาจริงๆมันไม่ได้อยู่ที่จำหรือลืม มันอยู่ที่ทุกข์หรือไม่ทุกข์ คนที่ล้างกิเลสได้จริงมันจะไม่ลืม แต่มันจะไม่ทุกข์ มันจะยินดีกับทุกเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ว่าจะดีหรือร้าย คิดเรื่องดีก็ยินดี คิดเรื่องร้ายก็ยินดี ยินดีที่ได้รับกรรมที่ทำไปแล้วก็จบไป ยินดีที่ได้เห็นว่าตัวเรานั้นมีกิเลสขนาดไหนยินดีที่ได้ใช้เหตุการณ์นั้นมาล้างกิเลสในใจเรา

4….อกหักทำอย่างไร

ความผูกพันที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ได้ทำลายได้ง่ายๆเพียงแค่กดข่ม หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องโดยหาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ บางครั้งเราอาจจะหลงคิดไปว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว คิดว่าเราลืมไปแล้ว แต่จริงๆชีวิตที่เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากการอกหักที่เกิดขึ้นนั่นแหละ กิเลสที่มีจะพยายามทำให้เราผลักจากสภาพทุกข์ที่เป็นอยู่ซึ่งโดยมากจะไปในทางอกุศล

คนส่วนมากก็มักจะใช้วิธีหากิจกรรมใหม่ เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่นไปเที่ยวคนเดียว ไปดูหนังคนเดียว ไปทำอะไรที่ไม่เคยทำ ปลดปล่อยตัวเอง ไประบายความเครียดความบ้าคลั่งที่ไหนสักที่ มันก็พอทำได้ในลักษณะของโลกียะ แต่จริงๆแล้วบางกิจกรรมมันก็ทำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีกถ้าจะให้ดีเราควรเลือกกิจกรรมที่เป็นกุศล เช่น พบเจอเพื่อนฝูง ศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ล้างจาน กวาดบ้าน จัดห้อง เก็บของบริจาค จัดสวน หรืองานจิตอาสาช่วยคนอื่น ฯลฯ และเว้นขาดจากกิจกรรมที่จะมีโอกาสเพิ่มไปกิเลสอีก เช่น ไปเที่ยวกลางคืน ดูหนังคนเดียว ฟังเพลงคนเดียว กินเหล้าของมึนเมา เสพยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อื่นๆตามมา

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกวิธีที่คนนิยมคือหาแฟนใหม่หาคนใหม่มาดามอก ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ยิ่งแย่เพราะเรื่องเก่ายังทุกข์ไม่หมดยังจะไปหาทุกข์ใหม่มาซ้ำตัวเองอีก จริงอยู่ว่าแรกรักนั้นเหมือนจะหวานแต่สุดท้ายก็ขมเหมือนกันหมด การที่เราได้โอกาสกลับมาโสดนี่คือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่เขาหรือเหตุการณ์ใดๆมาดลให้เราต้องพลัดพรากก่อนเวลาที่เราคิด ซึ่งความโสดนี่แหละดีที่สุด

เมื่อเราได้ความโสดแล้วยังกลับไปหาการมีคู่ก็มักจะต้องกลับไปพบทุกข์เหมือนเดิม วนกลับไปที่หัวข้อแรก ทำไมต้องอกหัก? อกหักก็เพราะอยากมีคู่ อยากมีคู่มันก็เกิดจากกิเลส ถ้าไม่ดับกิเลสมันก็ทุกข์วนเวียนไปเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีหาคู่มาดับทุกข์จึงเป็นวิธียอดแย่ที่คนกลับนิยมใช้มากและเข้าใจว่าเป็นวิธีที่ดีทั้งๆที่นั่นคือวิธีสร้างนรกซ้อนขึ้นมาอีกขุม เพราะกิเลสในนรกขุมเดิมก็ยังไม่ได้แก้ ยังเพิ่มกิเลสไปหานรกขุมใหม่เพิ่มให้ตัวเองอีก

วิธีแก้ไขอาการอกหักเบื้องต้นในทางโลกก็ทำให้พอดี ไม่ให้ฟุ้งซ่านเกินไป ไม่ให้มัวเมาจนเลอะเทอะ เพราะวิธีแก้เหล่านั้นไม่ใช่วิธีแก้ที่ยั่งยืน ไม่ได้ดับที่เหตุ เมื่อไม่ได้ดับที่เหตุ ทุกข์ก็ไม่มีวันดับ อาจจะกดไว้ ข่มไว้ ฝังไว้แต่มันจะไม่ดับ มันจะเหลือเชื้อให้กลับมาเป็นทุกข์ได้เสมอ ดังนั้นเราจะเข้าสู่เนื้อหาสาระจริงๆของวิธีแก้ไขการอกหักกันเสียที

อย่างที่เกริ่นกันตอนต้นว่าอาการทุกข์จากการอกหักนั้นเกิดจากกิเลส ซึ่งกิเลสนี้คือความยึดมั่นถือมั่นมาเป็นของตน เมื่อเรารักใคร คบใคร ผูกพันกับใคร หรือแต่งงานกับใครเราก็จะยึดมั่นถือมั่นเขามาเป็นตัวเราของเรา เป็นอัตตาของเรา แต่ก่อนสมัยเรายังโสด คำว่า “อัตตา” นั้นมีแค่ตัวเราของเรา แต่พอเรามีคู่อัตตาของเราก็จะกลายเป็น “ตัวฉันและตัวเธอ” การเอาคนอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองนั้นเรียกว่าโอฬาริกอัตตา คือเอาวัตถุแท่งก้อน คนสัตว์ สิ่งของมาเป็นของตัว

ตอนแรกมันอยู่คนเดียวก็ปกติดี แต่พอมีคู่แล้วต้องกลับมาอยู่คนเดียวมันไม่ปกติเหมือนเก่า เพราะว่ากิเลสมันเพิ่มขึ้น แต่ก่อนอัตตามันมีแค่ฉัน พอมีคู่กลายเป็นฉันกับเธอ ก็ยึดมันไว้อย่างนั้น ยึดว่าเราต้องมีกันและกัน ต้องคู่กัน ชีวิตของฉันจะเป็นไปเมื่อมีฉันกับเธอ ฉันจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ ตามที่หนังรักมากมายได้หลอกให้เราเชื่อว่าความรักมันเป็นแบบนั้น คนเลยต้องทนทุกข์เพราะยึด เมื่อยึดแล้วโดนจับแยกก็เลยเจอสภาพขาด เพราะหลงเข้าใจไปว่าเขาหรือคู่ของเรานั้นเป็นตัวเราของเรา ทั้งๆที่จริงแล้วเขาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทุกข์กับสุขของเราเลย ความทุกข์ ความสุขที่เราได้รับนั้น เราปั้นปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น เราสุขจากการได้เสพสมใจในกิเลสโดยใช้เขาเป็นตัวบำเรอกิเลสของเรา สุดท้ายพอโดนพรากไปเราก็ไม่มีที่บำเรอกิเลสเหมือนเดิม อัตตามันไม่ถูกสนองให้เต็มเหมือนเก่ามันก็เลยต้องทุกข์

การจะออกจากอัตตาแบบยึดคนอื่นมาเป็นตัวเราได้นั้น ในระยะแรกนั้นต้องกลับมาเป็นตัวเองให้ได้ ต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองเชื่อมั่นว่าฉันอยู่คนเดียวได้ ฉันอยู่คนเดียวก็มีคุณค่า เติมอัตตาตัวเองให้เต็มด้วยความเป็นตัวเอง เติมช่องว่างที่เคยขาดหายด้วยคุณค่าของตัวเอง หรือจะใช้วิธีเติมคุณค่าด้วยการช่วยเหลือคนอื่นก็ได้ เช่นงานจิตอาสาจะสามารถถมช่องว่างของอัตตาที่เคยขาดหายไปได้ง่าย เสมือนว่าเอาคนอื่นมาแทนแฟนเก่าใช้ระงับทุกข์ได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงรากแค่ระงับอาการทุกข์

เมื่ออัตตาได้เต็มกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว ยืนด้วยตัวเองได้แล้ว ไม่เสียใจ ไม่ทุกข์อีกแล้ว จะเกิดการยึดดี ความยึดดีนี้เองจะสร้างความเกลียด เมื่อเราเจอแฟนเก่าเราจะไม่ทุกข์เพราะเสียเขาไป แต่จะทุกข์เพราะเกลียดเขา จะเกิดอาการรังเกียจ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากร่วมโลก ไม่อยากสนใจ อันนี้เพราะเรามีอัตตาจัด

แน่นอนว่าเราเติมอัตตาให้เต็มมาเอง แต่สุดท้ายมันต้องทำลายอัตตาอีกที หลักตรงนี้คือ ต้องออกจากความทุกข์จากการอกหักด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเองและทำลายความหลงติดหลงยึดกับตัวเองในตอนท้ายอีกที จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้ที่เรียกได้ว่าพ้นจากทุกข์ของการเลิกราอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเรามีอัตตามาก ยึดดีมาก มั่นใจในตัวเองมาก จะไม่สนใจแฟนเก่า แม้ว่าเขาจะดีเพียงใดก็จะไม่ใยดี รังเกียจ ความรู้สึกตรงนี้เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้น การล้างทุกข์ตรงนี้ต้องล้างอัตตา ความยึดดีนั้นคือสภาพของการผลัก ผลักเขาออกจากชีวิต ไม่เอาเขาอีกต่อไปแล้ว หรือเรียกว่าเกลียด บางคนถึงกับไม่เผาผีกันเลย

ซึ่งการจะล้างการผลักนั้นต้องดูดกลับไปอีกที คือการพิจารณาคุณค่าของเขาเช่น เขาก็มาให้เราเรียนรู้ทุกข์นะ ถ้าไม่มีเขาเราจะเข้าใจความทุกข์ของคนมีคู่ได้อย่างไร ไม่มีเขาแล้วใครจะมาสะท้อนกิเลสเรา เขาเสียสละมาทำกรรมกับเราเพื่อให้เราชดใช้กรรมเชียวนะ ถ้าเขาไม่ทิ้งเราจะได้เจอกับความโสดที่แสนสุขไหม จริงๆเมื่อก่อนนั้นมันก็ดีนะ เราเองผิดเองที่เรามีกิเลส ฯลฯ

เมื่อพิจารณาไปมากๆความเกลียดเขาจะลดลง แต่ตรงนี้ต้องระวังให้มาก เพราะบางครั้งเราอาจจะออกด้วยอัตตาไม่เต็ม คือตอนมีอัตตามันยังมีเขาแทรกอยู่ในตัวเรา ในกิเลสเรา ทีนี้พอพิจารณาดูดเขากลับมันก็จะเลยเถิดกลับไปรักเขาเหมือนเดิม กลับไปคิดถึงเขาเหมือนเดิม ดีไม่ดีก็กลับไปคบเขาเหมือนเดิม นี่คือลักษณะของการล้างกิเลสที่ไม่เป็นลำดับทำให้พลาดหล่นลงนรกไปเหมือนเดิม ให้สังเกตดูดีๆว่าคิดถึงเขาแล้วเรายังแอบดีใจ แอบมีความสุข แอบคิดถึงบรรยากาศดีๆที่เคยมีให้กันอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่อย่าเพิ่งคิดไปพิจารณาดูดหรือไปพิจารณาประโยชน์ของเขา ให้พิจารณาโทษให้ติดดี ให้เกลียดการมีคู่ให้มันเต็มๆก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที

เมื่อปรับระหว่างรักกับเกลียดผลักกับดูดได้แล้ว สุดท้ายมันจะสำเร็จลงที่ความเป็นกลาง กลางในที่นี้คือไม่กลับไปเสพเรื่องคู่ หรือไม่คิดกลับไปคบหากับแฟนคนก่อนอีก และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาคือไม่ถือดี ไม่ยึดดี ไม่เกลียดใครจนตัวเองทุกข์ จึงจะพ้นสภาพของความทุกข์ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ว่าเขาจะเดินผ่าน ไม่ว่าเขาจะยิ้มให้ ไม่ว่าเขาจะเข้ามาคุย ไม่ว่าเขาจะพาแฟนใหม่มาเย้ย ไม่ว่าเขาจะต้องทุกข์ทนมานจากวิบากกรรมใดของเขา หรือไม่ว่าเขาจะต้องตายจากไปก็ตาม เราก็จะยังมีความยินดี ที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้รักกันแม้ว่าทุกอย่างจะจบไปแล้วก็ตาม โดยไม่มีทุกข์ใดๆเข้ามาเจือปนในจิตใจให้หม่นหมองเลย

5….อกหักดีอย่างไร

ข้อดีของการอกหักมีมากมาย ตั้งแต่เราได้ใช้กรรม เราได้เห็นกิเลสตัวเองทำให้เรากลับมาสำรวจตัวเองว่าเรายังบกพร่องในเรื่องใดบ้าง เราได้เห็นกิเลสของคนอื่นทำให้เราได้เห็นว่าการบำรุงบำเรอกิเลสให้ใครนั้นทำเท่าไรก็ไม่พอ เราได้เห็นทุกข์ เราได้เห็นธรรม เราได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น การอกหักครั้งหนึ่งสร้างการเรียนรู้ให้เราได้มากมาย และสิ่งที่ดีที่สุดของการอกหักก็คือ “ความโสด

คนที่ไม่อกหักก็จะไม่มีวันเข้าใจความทุกข์ของความโสด และไม่มีวันเข้าใจความสุขของการโสด ทั้งสองอย่างคือสิ่งที่เราต้องพบเจอไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความทุกข์จากความโสดหรือโสดแล้วทุกข์เศร้าหมองนั้นเรามักจะเห็นกันเป็นประจำดังคำเรียกที่ว่า “คนอกหัก” แต่ความสุขของการโสด หรือ “โสดอย่างเป็นสุข” นั้นคือสภาพที่ใครหลายๆคนไม่ค่อยจะได้พบเห็นมากนัก แต่ถ้าจะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกันได้บ้างก็คือคนที่หลุดจากนรกหรือเลิกคบกับคนที่นิสัยไม่ดี ตอนแรกก็หลงรักเขาอยู่พอเขาจะทิ้งก็ไม่ยอมนะ แต่สุดท้ายพอเขาทิ้งจริงๆ ก็กลับมีความสุขขึ้น แบบนี้ก็น่าจะมีเหมือนกัน

แต่โสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นขั้นกว่าเป็นสิ่งที่เหนือกว่า เพราะคำว่าโสดอย่างเป็นสุขนั้นหมายถึงการยินดีในความโสดจนเกิดเป็นความสุข เพราะรู้ดีแล้วว่าไม่มีสิ่งใดจะมีความสุขเท่าความโสด ไม่มีอิสระใดจะยิ่งใหญ่เท่าความโสด เป็นความสุขแท้ที่มีเพียงผู้ที่ล้างกิเลสได้อย่างแท้จริงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ ถ้าถามว่ามันสุขแบบไหน ก็คงจะตอบสั้นๆได้ว่า มีความสุขและความยินดีที่จะโสดตลอดชีวิต โสดทั้งชาตินี้และชาติหน้าและชาติอื่นๆสืบไป

6…ความรักหลังจากอกหัก

ความรักหลังจากอกหักของคนมีกิเลส ก็คงจะหาคนมาเติมเต็มช่องว่างของกิเลสที่ขาดหายไป ถมแล้วก็หาย เติมแล้วก็พร่อง แล้วก็ต้องหามาเติมอย่างนี้เริ่มไปไม่จบไม่สิ้น วนเวียนอยู่กับการมีรัก คบกัน อกหัก นานแสนนานตราบเท่าที่กิเลสนั้นจะดับไป

แต่คนที่อกหักแล้วสามารถล้างกิเลสได้จะต่างออกไป ความรักของคนที่ล้างกิเลสได้จริงจะเปลี่ยนชีวิตของเขาและเธอไปอย่างไม่มีวันกลับไปทุกข์เหมือนเดิม ความรักที่มีหลังจากนั้นจะมีความใสบริสุทธิ์กว่าที่เคย จะกลายเป็นรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าจะมีการให้การเกื้อกูลดูแลการเอาใจใส่ แต่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาตัวเขามาเป็นตัวเรา ไม่เอาใครเข้ามาเป็นกิเลสร่วมกับเรา และไม่มีตัวเรา ไม่มีคนหลงรัก ไม่มีใครให้รักจนหลง มีแต่ความรักที่พร้อมจะให้ ให้กับใครก็ได้ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน มิตรสหาย ฯลฯ เพราะรู้ว่ารักแท้จริงนั้นเกิดจากการให้โดยไม่ยึดติด เมื่อไม่ยึดติดว่าต้องให้กับใครก็เลยยินดีที่จะให้ความรักกับทุกคน โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

7….อกหักครั้งต่อไป

โดยทั่วไปคนที่เคยอกหักแล้ว มักจะเข้าใจว่าตัวเองได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ก็เลยมักอยากจะกลับไปลองของ เพราะความที่ตัวเองมีกิเลสอยากมีคู่ อาจจะด้วยความเหงาหรือความหื่นกระหายในสิ่งใดก็ตามแต่ เขาเหล่านั้นมักจะมั่นใจว่าครั้งต่อไปจะต้องไม่พลาด…แต่แล้วมันก็จะพลาดอีกอย่างเคย เพราะที่ใดมีรักที่นั่นก็มีทุกข์ ของมันคู่กันแบบนี้เราจะเลือกรับแต่ความสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับความทุกข์ไปด้วย แต่ที่สำคัญก็คือความสุขที่ได้รับนั้น “เป็นความสุขลวง”ที่จะล่อให้เราหลงติดอยู่ในการมีคู่ต่อไป ให้เราตามหารักแท้ไปเรื่อยๆ ให้เราอกหักไปเรื่อยๆ ผิดหวังไปเรื่อยๆ

ชีวิตนั้นยังมีเรื่องอีกตั้งมากมายให้เราผิดหวัง รอคอยให้เราล้างกิเลส หากเรายังมัวยินดีที่จะผิดหวังกับเรื่องเดิมๆ เราก็จะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้ คงจะมีแต่สุขลวงๆที่กิเลสนั้นใช้ล่อเราไว้กับโลกนี้ ล่อเราไปกับการมีรัก การคบหา การเลิกรา ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่งที่กิเลสจัดฉากให้เราเล่น ให้เรารัก ให้เราหลง ให้เรายึด ให้เราทุกข์ ทรมาน เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน เสียใจ คับแค้นใจ อยู่เรื่อยไป

อ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้วอกหักครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสในใจของเรา หากเรายังมีความยินดีที่จะกลับไปเสพสุขจากการมีคู่รักและพร้อมจะรับทุกข์ ก็ให้เรียนรู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องบรรลุธรรมในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ดีอาจจะชาตินี้หรือชาติต่อไปนานแสนนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่คนเรานั้นจะสามารถทำทุกข์ได้เท่าที่จะทนทุกข์ได้ เมื่อทุกข์สุดทนก็จะเลิกทำทุกข์ให้กับตัวเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

24.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์