Tag: สัมมาทิฏฐิ

ผู้ใหญ่พาทำ

January 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 646 views 0

จากประสบการณ์ที่ได้ตามศึกษาจากครูบาอาจารย์มา จะพบได้ว่า ท่านเหล่านั้นได้สร้างองค์ประกอบที่จะ “เอื้อ” ให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมบำเพ็ญกันได้อย่างงดงามและแนบเนียนสุด ๆ

กิจกรรม การงานใด ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น แน่ละ ดูเผิน ๆ ก็เป็นกุศล แต่เนื้อในคือการสร้างองค์ประกอบที่จะให้เกิด “บุญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการปฏิบัติธรรมหรือทำดีในแบบทั่ว ๆ ไป คือใช้องค์ประกอบของกิจกรรมในการชำระกิเลส

ถ้าแบบโลกีย์ทั่วไป เขาก็ไปรวมกันทำดี ทำกุศล สะสมความดี หวังผลดี หวังสวรรค์วิมาน หวังโชคดีต่าง ๆ ในชีวิต คือไปทำดีแล้วยังมีหวัง ยังมีฝัน ยังเป็นลาภแลกลาภ ยังเป็นมิจฉาอาชีวะ

แต่ถ้ามาแบบโลกุตระ จะดีแบบให้หมดหวังกันไปสักที ดีแบบให้เลิกหวัง ด้วยองค์ประกอบของคำสอนที่แตกต่างกัน ในนิยามของคำว่า “บุญ” ก็ตาม ที่หมายถึงการชำระกิเลส ดังนั้น กิจกรรมการงานต่าง ๆ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกันกับกลุ่มหรือลัทธิทั่วไป

เพราะท่านสอนให้เราสละ สละกันเป็นลำดับ เท่าที่ทำได้ เท่าที่ทำไหว องค์ประกอบมีอยู่ กิจกรรมการงานนั่นไง ท่านก็สร้างไว้ให้ เราก็เข้าไปร่วม ไปลด ไปเลิก ไปสละ ไปทำความดีแบบไม่ต้องหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไปทำบุญ ไม่ใช่ไปเอาบุญ ไปชำระกิเลส ไม่ใช่ไปเอากิเลสเพิ่ม

ไม่ใช่การทำดีเพื่อการหวังใหญ่หวังโต อำนาจ บารมี ลาภ ยศใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านสอนให้สละออก อย่าไปหวง อย่าไปหวัง

ผมเห็นแล้วก็ศรัทธา เพราะที่อื่นไม่มีแบบนี้ ที่อื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ เขาสอนต่างกัน ทิศทางไปต่างกัน เราไม่ไปสวรรค์ เราไม่เมากุศล เรามุ่งเอากิเลสของเราออก เป็นอันดับแรก ปฏิบัติตามแบบนี้แล้วรู้สึกว่าตนเองเจริญมากขึ้น ผ่อนคลาย เบาสบายมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมาเรียกว่ายกเรื่องปวดหัวออกได้หลายเรื่องมาก ๆ แสดงว่าวิธีของท่านมีผล ทำตามแล้วมีผล

สัมมาทิฏฐิ อย่างหนึ่งที่เป็นจริงคือ “พิธีที่ทำแล้วมีผล” คือทำตามแล้วกิเลสมันลดล้างจางคลายได้จริง อาจารย์เคยบอกว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างองค์ประกอบให้ผู้คนได้ฝึกลดกิเลสได้เก่งตามบารมี ผมฟังแล้วก็รู้สึกศรัทธามาก การที่คนจะฉลาดในการลดกิเลสตัวเองก็ว่าประเสริฐแล้ว แต่การที่จะมีปัญญาในการพาคนพ้นทุกข์นั้นเหนือไปกว่านั้น

เก่งที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า แต่เกิดมาชาตินี้ก็ไม่เจอพระพุทธเจ้า แต่อย่างน้อยได้เกิดมาเจอครูบาอาจารย์ก็คุ้มค่าแล้ว เราก็ทำตามท่านไป ท่านทำให้เราดู เราก็ศึกษาตามที่ผู้ใหญ่พาทำ

โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)

April 19, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,864 views 0

โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)

วันนี้ผมซึ้งเรื่องหนึ่งคือ ความขยันของคนโง่นี่แหละ เป็นอะไรที่แย่ที่สุดแล้ว

คือตนเองก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้ถูกผิด เข้าใจว่าที่ตนทำนั้นถูกทั้งที่ผิด(โง่) แต่ก็มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะเข้าใจว่าสิ่งนั้นถูก ความขยันที่มีจึงกลายเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองลงไปในความโง่ที่ลึกลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าคนโง่นั้นก็มักจะไม่โง่อยู่คนเดียว ซึ่งมักจะแจกจ่ายความโง่ของตัวเองไปให้กับคนอื่นด้วย ก็เลยกลายเป็นช่วยกันขุดให้ลึกลงไปอีก ทั้งหมดนั้นคือลักษณะของการเติบโตของมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผย หนึ่งในนั้นคือมิจฉาทิฏฐิ ทีนี้ใครล่ะจะรู้ว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งโง่ยิ่งไม่เห็นมิจฉาทิฏฐิ จะไปเข้าใจว่าตนเองสัมมาทิฏฐิด้วยซ้ำ

คนมีปัญญายังพอเห็นมิจฉาทิฏฐิในตนบ้าง นั่นหมายถึงมีส่วนของสัมมาทิฏฐิที่มารู้ในส่วนมิจฉาในตนบ้างแล้ว

แต่คนที่มิจฉาทิฏฐิแล้วยังหลงว่าตนเป็นสัมมาทิฏฐิอีก เรียกว่าโง่ซ้ำโง่ซ้อน แล้วดันเป็นคนขยันอีก ทีนี้เป็นอย่างไร? เขาก็จะทำสิ่งที่เขาเห็นผิดนั่นแหละให้มันยิ่งขึ้นๆ ให้มันกระจายออกไปมากขึ้น เพราะเขาหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี

มีบทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเปรียบเทียบกับกลองศึกชื่ออานกะ คือในอดีตนั้นมีกลองชื่ออานกะ แต่ต่อมาก็ได้มีการซ่อมบำรุงปรับปรุงแก้ไขจนความเป็นกลองอานกะเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่ มีเพียงชื่อเท่านั้นที่ยังอยู่ ส่วนเนื้อในนั้นได้ถูกเปลี่ยนเป็นของใหม่ไปหมดแล้ว

ซึ่งท่านก็เปรียบกันตรงๆว่าพุทธในสมัยต่อมานั้นจะเหมือนกลองอานกะ คือมีแต่ชื่อ แต่เนื้อในไม่เหมือนเดิมแล้ว คนจะไปฟังธรรมะที่แต่งขึ้นใหม่โดยครูอาจารย์ แต่จะไม่ฟังธรรมะเก่าซึ่งเป็นเนื้อแท้ของศาสนา ซึ่งมีความลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก คำสอนที่แท้จึงค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด

ระวังไว้เถอะ พวกธรรมะง่ายๆ ปฏิบัติได้ง่ายๆ เข้าใจได้ง่ายๆ เข้าถึงได้ง่ายๆ ได้เป็นพระอริยะ พระอรหันต์กันง่ายๆ เหมือนกับได้รับตำแหน่ง supervisor เมื่อทำยอดขายถึงเป้าเท่านั้นเท่านี้

แม้แต่ภาษาสำเนียงท่าทางที่เหมือนพุทธแต่ก็อาจจะไม่ใช่พุทธ ดังกรณีของกลองอานกะ คือรูปนอกน่ะเหมือนทุกอย่าง คำสอนก็เหมือน การปฏิบัติก็เหมือน ดูคล้ายๆก็น่าจะเหมือน แต่เนื้อในไม่มีของเดิมแล้วก็มี

ขยายคำว่า ธรรมะง่ายๆ

คำว่า “ง่าย” ในที่นี้คือ “มักง่าย” คือเอาที่ตนสะดวกนั่นแหละ เพราะถ้าตามที่ผมศึกษานี่เรียกว่าไม่ง่าย หืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว

ตัวตรวจวัดก็คือศีลที่ต้องปฏิบัติ ศีล ๕ ก็พอเข้าใจได้ง่ายหน่อย ศีล ๘ ๑๐ จนถึงนักบวชก็ต้องปฏฺิบัติจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ในส่วนวินัย สองร้อยกว่าข้อนั้นก็ต้องปฏิบัติด้วย และทั้งหมดต้องอยู่ในแนวทางของมรรค 8 คือกาย วาจา ใจต้องมุ่งไปทางตรงข้ามกับกิเลส

ถ้าเอาศีลไปจับปุ๊ปจะ รู้เลยว่าอันไหนมักง่าย อันไหนทำตามที่พระพุทธเจ้าให้ศึกษา เพราะศีลและวินัยต่างๆ จะเป็นตัวบีบให้ทำในสิ่งที่จะพาไปพ้นทุกข์อยู่แล้ว ถ้าไม่ทำตามศีลมันก็นอกกรอบเท่านั้นเอง

และพวกมักง่าย ก็จะมีอุบายที่จะตีกิน ไม่ทำตามศีลด้วยวาทะเท่ๆ คือมีคำพูดให้ดูดีแม้ตนเองจะไม่ปฏิบัติตามศีล หรือเอาภาวะของพระอรหันต์มาตีกิน (พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เอาผิด) คือไปหลอกคนอื่นว่าตนเองเป็นอรหันต์แล้วจะทำอะไรก็ได้ บางทีหลอกก็ไม่รู้ว่าตัวเองหลอกก็มี คือเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ก็มี ในสมัยพุทธกาลก็มีเยอะที่เข้าใจผิดไปเอง(หลงว่าบรรลุธรรม)

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

October 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,777 views 1

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

เป็นอีกหนึ่งประเด็นในปัจจุบันที่ยังมีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งว่าการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นบุญจริงหรือไม่ แล้วจะเป็นบุญได้อย่างไร และที่สำคัญ “บุญ” คืออะไร?

บุญนั้นเป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาพุทธ บุญไม่ใช่กุศล(ความดี) แต่บุญคือการชำระกิเลส และการชำระกิเลสนั้นมีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้นที่จะทำได้ และที่สำคัญความรู้เหล่านั้นต้องเป็น “สัมมาทิฏฐิ

หากเว้นจาก “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว บุญหรือการชำระกิเลสนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้เลย ถึงจะทำดีแค่ไหนก็อยู่ในขอบเขตของกุศล แต่ไม่เป็นบุญ เพราะการทำดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะชำระกิเลสได้ การทำดี(กุศล) ไม่ว่าศาสนาไหนต่างก็สอนให้ทำดีเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสอนแตกต่างกันไป แต่พุทธนั้นมุ่งเน้นการหยุดบาปเสียก่อนเป็นอันดับแรก บาปนั้นคือกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง และสิ่งที่จะมาชำระบาปเหล่านั้นก็คือ “บุญ

ซึ่งการชำระกิเลสของพุทธนั้นเป็นเรื่องที่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มิใช่แค่เพียงตั้งใจทำตนเป็นคนดี ทำทาน มีน้ำใจ เสียสละเท่านั้น แต่ต้องลงไปกำจัดความหลงติดหลงยึดที่มีในจิตใจ การทำลายความหลงได้โดยลำดับนั้นเองที่เรียกว่า “บุญ

สัมมาทิฏฐิ

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วจะเห็นอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ จะยกสัมมาทิฏฐิ ข้อ ๑ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ “ทานที่ให้แล้วมีผล” (อัตถิ ทินนัง) มีผลอย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีผล เป้าหมายเดียวของของศาสนาพุทธนั้นคือทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง นั่นหมายความว่า ทานที่ทำไปแล้วนั้นต้องมีผลในการลดกิเลสจึงจะสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส ก็ไม่เรียกว่ามีผล ไม่เป็นบุญ แต่ก็มีกุศลตามกรรมที่ทำไป

ไม่ใช่ว่าการทำทานทุกครั้งจะลดกิเลสได้ ส่วนใหญ่ทำทานไปก็เพิ่มกิเลส เพิ่มความหลงติดหลงยึดไปด้วยซ้ำ เช่น ทำทานไปแล้วก็ขอให้ฉันได้แบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยๆก็ขอให้ฉันได้ความสุข ได้ทำความดี ได้เป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้มีการลดความตระหนี่ถี่เหนียวที่เป็นกิเลสในใจลงไปเลย ทานนั้นจึงยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำแล้วไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง)

บุญกิริยาวัตถุ

หมายถึงเราจะสามารถทำให้เกิดบุญ (ชำระกิเลส) ด้วยกันทั้งหมด ๑๐ วิธี ซึ่งในการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง จะถูกจัดอยู่ในหมวดของทาน (ทานมัย) คือการสละ ซึ่งการสละในที่นี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง วัตถุสิ่งของ แต่สามารถสละโอกาส สละสิทธิ์ สละเวลา สละสิ่งใดๆก็ตามที่เรามีโอกาสในการครอบครองให้ผู้อื่น

ซึ่งการไม่กินเนื้อสัตว์ก็คือการสละสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์ เขามีเงินซื้อนะ หรือมีคนเอามาให้ด้วย เขาได้รับมาโดยชอบธรรม แต่เขาสละออก เขาไม่เอาไว้บำเรอตน เขาเอาคืนให้คนอื่น ซึ่งการสละตั้งแต่แรกก็คือการไม่เลือกที่จะกินเนื้อสัตว์เลย เหมือนกับแม่ที่สละสิทธิ์ในอาหารที่น่าอร่อยชิ้นหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ให้ลูกของตน ส่วนตนเองยอมไม่กิน เพราะหวังจะให้ลูกของตนได้กินอาหารชิ้นนั้น จึงยอมสละสิทธิ์ในอาหารชิ้นที่ตนควรจะได้นั้น ทั้งๆที่กินไปก็ไม่มีใครรู้ กระบวนการนี้เรียกว่าทานเช่นกัน (สละความเห็นแก่ตัวออกไป)

แต่กระบวนการข้างต้นอาจจะไม่เป็น “บุญ” เลยก็ได้ เพราะ การเกิดบุญ (ชำระกิเลส) ได้นั้นต้องมีความเห็นที่ถูกตรง เห็นอะไร คือเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ ในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น จะไม่เป็นบุญถ้าคุณแม่คนนั้น มีจิตลำเอียง รักใคร่ในลูกตนจนเกิดความเสียสละซ้อนขึ้นมา “อยาก” ให้ลูกได้กินของอร่อย ก็เรียกว่าการเสียสละธรรมดา เป็นคนดีตามที่โลกเข้าใจ แต่ไม่เป็นบุญเพราะไม่ได้มีการชำระกิเลส

ซึ่งถ้าจะให้เกิดบุญ ต้องมีรายละเอียดของจิต เช่น เห็นความอยากกินอาหารชิ้นนั้นของตน แล้วชัดเจนว่าเราไปติดกิเลสตัวไหน รูป รส กลิ่น สัมผัส? เมื่อเห็นว่าเราหลงติดหลงยึดในอาหารอาหารชิ้นนั้นแล้ว จะเลือกต่อต้านกิเลส โดยการสละออกก็ได้ คือไม่ให้อาหารกิเลส ไม่ตามใจกิเลส ต่อต้านกิเลส ใช้ตบะเผากิเลส ขัดขืน แข็งข้อ เช่นนี้จึงเรียกว่าเป็นบุญ คือสามารถชำระกิเลสได้โดยลำดับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะเก็บไว้ให้ลูกหรือจะเอาให้คนอื่นก็จะต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะไปติดกิเลสอีกตัวเช่นรักลูกตนจนไม่เผื่อแผ่คนที่ขาด เป็นต้น

บุญกิริยาวัตถุนั้นมีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ทุกข้อสามารถปฏิบัติจนเกิดเป็นบุญหรือการชำระกิเลสได้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องสัมมาทิฏฐิ ถ้าทำทุกกิจกรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก็ไม่เกิดบุญ ไม่มีการชำระกิเลสใดๆ

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญอย่างไร

ดังที่ยกตัวอย่างมาในข้อก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง เป็นการสละสิทธิโดยชอบธรรมที่สังคมเข้าใจว่าทุกคนกินเนื้อสัตว์ได้ไม่ผิดอะไร แต่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นกลับเลือกที่จะสละสิทธิ์ที่ควรได้นั้น ไม่รับสิทธิ์นั้น แม้ว่าในทุกวันนี้ใครจะกินเนื้อสัตว์ยังไง แบบไหน เท่าไหร่ ก็ไม่มีใครสนใจ แต่ผู้ที่ไม่กินนั้นก็เลือกสละโอกาสนั้นทิ้งไปด้วยเหตุผลอันเป็นกุศลตามที่เขาเข้าใจ

เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ยกมาก่อนหน้านี้ การไม่กินเนื้อสัตว์จะเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ไม่กินนั้นว่าจะสามารถเข้าใจอย่างสัมมาทิฏฐิหรือไม่ ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นบุญ (เกิดการชำระกิเลส) ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็เป็นกุศล เป็นความดี เพราะเกิดการเสียสละซึ่งมีผลเจริญเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้จะเข้าใจถูกหรือไม่เข้าใจก็มีผลดีทั้งนั้น

กรณีของการกินที่ไม่เป็นบุญ ไม่มีการชำระกิเลส คือการกินด้วยความเห็นว่าดี เป็นการเสียสละ ละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป ศาสนาหรือความเชื่อใดก็สามารถมีความเห็นเช่นนี้และสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ได้อย่างบริสุทธิ์ด้วยความมุ่งมั่นในการทำดีเหล่านี้

แต่ในกรณีของพุทธนั้นต่างออกไป ศาสนาพุทธพุ่งเป้าที่การชำระกิเลสในสันดานให้ออกจนหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนใจโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ คือพุทธนั้นจะขุดลงไปที่รากของปัญหาคือกิเลสก่อน แล้วค่อยวกกลับมาใช้ความเห็นที่เป็นกุศลต่างๆดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ทำความเห็นให้ตรงและปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งผลสุดท้ายของการปฏิบัติแบบพุทธนั้นมีภาพออกมาจะคล้ายๆกับคนไม่กินเนื้อสัตว์ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น เรามีความอยากกินเนื้อสัตว์ เรารู้สึกถึงร่างกายที่แสดงอาการเมื่ออยากเนื้อสัตว์ หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากจะได้เนื้อสัตว์มาเสพ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นทุกข์มากเพราะความอยาก ตรวจลงไปในจิตก็พบว่ามันอยากเสพสัมผัส รส กลิ่น และที่สำคัญคือรูปร่างหน้าตาของเนื้อที่ชวนฝันนั้น เมื่อเห็นดังนั้น จึงใช้ความจริงตามความเป็นจริงเข้ามาต้านพลังกิเลสที่ชวนฝันนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยากลิ้มรสก็พิจารณารสเนื้อดิบ เมื่ออยากได้กลิ่นย่างหอมๆก็พิจารณากลิ่นเลือด เมื่ออยากได้สัมผัสนุ่มๆก็ให้พิจารณาสัมผัสเนื้อเน่าจากศพสัตว์ ฯลฯ การพิจารณาอสุภะอย่างหยาบนี้จะช่วยลดความอยากที่รุนแรงลงมาได้

ข้อพิจารณาดังกล่าวนั้นเป็นเบื้องต้นเพื่อลดความกระหายอยากให้สงบลง ซึ่งเรื่องที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ค้านแย้งกับสิ่งที่ติด แล้วค่อยๆพิจารณาลงไปถึงกรรมและผลของกรรมหากยังติดเนื้อสัตว์นั้น ความเป็นประโยชน์หากออกจากความอยากนั้น ความเป็นโทษถ้ายังหลงอยู่ในความอยากนั้น รวมทั้งพิจารณาไตรลักษณ์ คือความสุขจากการกินเนื้อนั้นไม่เที่ยง ความอยากกินเนื้อเป็นทุกข์ และความสุขจากการกินเนื้อไม่มีตัวตนอยู่จริง เราปั้นรสสุขและความทุกข์เหล่านั้นขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงคิดไปเองว่ามันมีจริง ทั้งที่จริงแล้วรสสุขเมื่อได้เสพเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริง พิจารณาไปจนรอบถ้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใคร่ครวญธรรมไปเรื่อยๆ จะสามารถลด “ความอยาก” ได้ ทำให้ความอยากนั้นจางคลายและดับไปได้

ในสภาวะสุดท้ายคือจิตนั้นแนบแน่นแนบเนียนไปตามไตรลักษณ์ คือเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆโดยไม่สงสัยใดๆอีก หมดความหลงในเนื้อสัตว์ เพราะรู้แจ้งชัดเจนในตนเองว่าแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ถึงจะไปเสพก็ไม่มีสุขหรือทุกข์ที่เกิดจากแรงของกิเลสเกิดขึ้นอีก ไม่มีทั้งรักทั้งชัง ไม่มีผลักไม่มีดูด หมดสิ้นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของการชำระกิเลสในเรื่องนั้น ซึ่งจะเกิดบุญโดยลำดับไปจนกระทั่งปฏิบัติไปถึงในตอนสุดท้ายจะเรียกว่า “สิ้นบุญสิ้นบาป” หมายถึง หมดหน้าที่ของบุญ คือไม่มีกิเลส(บาป)ให้ชำระในเรื่องนั้นๆอีกต่อไปแล้ว แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมเรื่องอื่นต่อเช่น ขนม ของหวาน ฯลฯ

ดังจะเห็นแล้วว่า การปฏิบัติให้เกิดบุญหรือการชำระกิเลส มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ตั้งแต่การกำหนดรู้อาการของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง การอ่านเวทนา การรู้จิตว่าปนเปื้อนไปด้วยกิเลสใด จนถึงการสร้างธรรมให้เจริญขึ้นในตนจนหมดความหลงติดหลงยึดในสิ่งนั้น สามารถไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติ นี่คือการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

สรุปเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญ

ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์นี้ จะเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาทิฎฐิ) ไม่ว่าจะคิด พูด ทำสิ่งใดก็ตาม ก็จะเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อการชำระกิเลส นั่นหมายถึงเป็นบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ตายยังไงก็ไม่เป็นบุญ เพราะไม่เข้าใจว่า “บุญคืออะไร”…

– – – – – – – – – – – – – – –

15.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,656 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)