Tag: วิบากบาป

คนบ้ากินมังฯ ๒

December 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,156 views 1

คนบ้ากินมังฯ ๒

คนบ้ากินมังฯ ๒

…บ้าจริง บ้าหลอกหรือหายบ้า มาอ่านกัน ฉบับไขข้อข้องใจทุกประเด็นเกี่ยวกับบทความ “คนบ้ากินมังฯ”

*(คำเตือน !! ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ควรจะอ่านบทความ”คนบ้ากินมังฯ”ก่อน ….และหากอ่านจบแล้วยังรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงหลังจากอ่านก็อย่าพึ่งอ่านบทความนี้ รอให้รู้สึกว่าตัวเองสงสัย ข้องใจ หรือเหลืออารมณ์ไม่พอใจเพียงเล็กน้อยค่อยอ่านจึงจะเหมาะ)

**ในบทความนี้ขออนุญาตใช้ธรรมะเข้ามาร่วมอธิบาย อาจจะเป็นสิ่งไม่คุ้นเคยสำหรับบางท่านให้ลองอ่านผ่านๆไปก่อนและเนื้อหาจะเป็นไปในเชิงไขกิเลส กรรมและขยายเนื้อหาในบทความคนบ้ากินมัง หากสนใจที่จะไขข้อข้องใจก็มาอ่านกันต่อ

เริ่มกันเลย!

1). อัตตา

หลังจากที่ได้เผยแพร่บทความคนบ้ากินมังฯออกไปนั้นก็มีเสียงตอบรับเข้ามามากมาย และส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่สามารถเข้าใจได้แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

สำหรับคนที่ติดตามเพจนี้มาก่อนจะขอยกไว้ในฐานที่เข้าใจ ส่วนคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอาจจะแบ่งได้หลายส่วนเช่น เห็นแย้งในทันที , สงสัย , ต่อว่า , ด่า , ส่งเสริมเชิญชวนหรือช่วยอธิบายเรื่องมังสวิรัติ ,พยายามปรับความเข้าใจ, เข้าใจที่สื่อสาร …เหตุอันใดที่ทำให้คนเข้าใจสื่อเดียวกันต่างกัน ถ้าสื่อนั้นผิดพลาดจริงๆคนทั้งหมดก็ควรจะเข้าใจผิด แต่ทำไมยังมีคนที่เข้าใจตามที่ได้สื่อสาร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญของบทความนี้

การที่เราเข้าใจต่างกันนั้นมีเหตุมาจากทิฏฐิที่ต่างกัน บางคนตัดสินตั้งแต่เห็นหัวเรื่อง บางคนตัดสินหลังจากอ่านจบ บางคนตัดสินแต่ไม่ต่อว่าและกลับชวนให้ลองกินมังสวิรัติ จะบอกว่าเรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คนเราต่างกันนั้นมันก็เป็นคำพูดที่ตีรวมๆ เข้าใจแต่ไม่เข้าใจ ไม่ลึกถึงเหตุ มองไม่ขาด เพราะเหตุจริงๆที่ทำให้เรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คือกิเลส หรือในที่นี้ก็คือ “อัตตา

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ในกรณีของมังสวิรัติก็คือ “อรูปอัตตา” เป็นอัตตาที่ไม่มีรูปร่างให้เห็นให้หยิบจับแล้ว เป็นความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ นั่นคือเรายึดความเชื่อความเห็นความเข้าใจในมังสวิรัติมาเป็นตัวเราของเรา พอเรายึดแล้วเราก็กอดมันไว้ รัดมันไว้ รักมัน หวงมันโดยไม่รู้ว่าอัตตานี่คือกิเลสที่ทำให้เราเป็นทุกข์

คนมีอัตตาหลายคนแม้จะไม่ได้ไปยุ่งกับคนอื่น แต่ถ้าใครเข้ามาแตะในพื้นที่หวงห้ามเช่นมาด่าว่าคนกินมังสวิรัติว่าบ้าว่าโง่ เหมือนกับเข้ามาเขย่าบ้านของตนเอง ก็จะรีบออกมาปกป้องบ้านของตนทันที ปกป้องสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น ปกป้องกิเลส

เราจะเริ่มมีอัตตาก็เพราะเรามีศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศรัทธาในการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่การที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้ไม่ดี คนกินมังสวิรัติหรือศรัทธาในมังสวิรัติส่วนมากจะมองว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญา เป็นคนละบาปบำเพ็ญบุญ จึงมีอาการยึดดีหรือยึดความดีเป็นตัวตนหรือมีอัตตา ซึ่งพอมีใครมาเห็นแย้งว่าที่เราทำมันบ้า มันโง่ คนที่ยึดว่าเรามีปัญญา เป็นคนดี ก็จะทุกข์ร้อนเพราะไม่ได้เสพคำชื่นชมอย่างที่ตัวเองเคยได้แถมยังโดนด่าอีก อันนี้ไม่ได้ผิดตรงมังสวิรัติแต่มันผิดตรงที่เราหลงยึดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญาแล้วเราเข้าใจว่าคนอื่นจะต้องเข้าใจว่าเราเป็นเช่นนั้น

เมื่อมีคนมาพูดกระทบอัตตา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่ามังสวิรัติต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนมีปัญญา ต้องเรียกว่าฉลาดสิเพราะเว้นจากการเบียดเบียน พวกเขาจึงได้ออกมาแสดงทัศนคติตามกิเลสของแต่ละคนกิเลสมากก็แรงมาก กิเลสน้อยก็แรงน้อย กระทบกระทั่งกันไปเพราะความอยากเอาชนะ อยากให้คนที่ต่อว่าคนกินมังสวิรัติบ้าและโง่นั้นแพ้ นั้นย่อยยับ นั้นสลายหายไป เพราะเราไม่อยากให้ใครมาคิดต่างหรือเข้ามาลุกล้ำอัตตาซึ่งเป็นกิเลสที่เราหวงสุดหวง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเสพสมอัตตาของเขาคือมังสวิรัติดี มีปัญญา ฉลาด เป็นบุญ เป็นความเจริญ ใครคิดตามได้แต่ถ้าคิดต่างไม่ต้องมาคุยกัน ถ้าคุยกันก็จะตอบโต้ไปตามปริมาณความยึดดีที่มี

มังสวิรัตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การยึดมั่นถือมั่นในความดีของมังสวิรัติเป็นคนละเรื่องกัน ขึ้นชื่อว่ากิเลสมันก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากมักจะกอดเก็บมันไว้ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่มีใครเข้ามาท้าทายอัตตา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะท้าทายกลับด้วยความคิด ด้วยวาจา ด้วยท่าทาง แล้วแต่ว่าใครจะปรุงกิเลสไปได้แค่ไหน ปรุงแต่งคำด่าคำพูดได้เท่าไหร่ก็บาปเท่านั้น เพราะความโกรธ ความไม่พอใจก็ขึ้นชื่อว่ากิเลส ดังนั้นจะหาประโยชน์จากความไม่พอใจนี้ไม่มีเลย

ในบทของกำลัง 8 พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่ามีคนอ่านบทความนี้มากมายหลายคน แต่ก็มีคนที่คิดเห็นแตกต่างกันไป คนที่เจริญในธรรมมีอัตตาน้อย ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่เพ่งโทษใครแม้เขาจะมาด่ามาว่า ในทางกลับกันคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง กำลังคืออะไร ก็คือพลังในการทำบาป ทำอกุศล ยิ่งเพ่งโทษแรงเท่าไหร่ กำลังก็ยิ่งแรง บาปก็ยิ่งแรง อกุศลก็ยิ่งแรง กรรมก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย

คนมีอัตตานั้นจะรู้สึกว่าตนไม่ผิดที่เพ่งโทษใครหรือด่าใคร “ในนามแห่งความถูกต้องข้าขอประหารเจ้า” เขาจะลงดาบในทันที และในวินาทีนั้นมโนกรรม วจีกรรม กายธรรมก็ได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว จิตนั้นสังเคราะห์อารมณ์ไม่พอใจ วจีนั้นเกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ จนกระทั่งมือพิมพ์คีย์บอร์ดส่งข้อความที่เต็มไปด้วยอัตตาเผยแพร่สู่สาธารณะ กระตุ้นให้คนอื่นที่ได้อ่านเกิดความโกรธเกลียดตามกันไป เป็นวิบากบาปที่จะเกิดซ้ำซ้อนส่งต่อเนื่องกันไปมา

ชีวิตเราอาจจะรีบเกินไปก็ได้ เรารีบทุกอย่าง รีบอ่าน รีบตัดสิน แล้วก็รีบทำบาป มันจะมาซวยตรงรีบทำบาปนี่แหละ จะขยันทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าขยันทำบาปนี่ก็อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า หยุดไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะทำไปมันก็ไม่คุ้ม ไปตำหนิติเตียนใครด้วยความไม่พอใจมันก็เท่านั้น ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารมันก็เร็วเฟสบุคก็เข้าถึงได้ทุกคน การช่วยกันสะสมบาปก็ง่ายขึ้น เช่นมีคนหนึ่งพิมพ์ข้อความตำหนิต่อว่า เราก็ดันไปร่วมวงกดถูกใจในคำปรุงแต่งจากกิเลสของเขาก็ถือเป็นการทำบาปที่สะดวกและรวดเร็วเหมาะกับยุคนี้มากๆ ทีนี้พอกดถูกใจเข้ามากๆ เจ้าของข้อความนั้นเลยเหมือนขึ้นหลังเสือกันเลยทีเดียว พอกอัตตากันใหญ่ขึ้นไปอีก ทีนี้เวลาจะลงมันลงยาก เหมือนกิเลสมันขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ได้ลงไปง่ายๆ

หลายคนไม่ได้อ่านถึงบทความนี้ ไม่ได้อ่านแม้บทชี้แจง ก็ไม่มีโอกาสรู้ตัวแล้วก็หอบบาปหอบกรรมที่ตัวเองทำไว้เป็นสมบัติต่อไป ส่วนคนมีอัตตามากๆถึงจะอ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังหงุดหงิดติดอัตตาอยู่ บางอ่านไปก็ไม่เข้าใจเพราะใจมันไม่เปิด มันจำได้แค่อารมณ์แรกที่ได้ประทับไว้ในใจแล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตาซ้อนอีกชั้นหนาเข้าไปอีก แต่บางคนสามารถรอดพ้นไปได้ด้วยเมตตา คืออ่านแล้วเห็นใจจึงแนะนำด้วยจิตเมตตาตรงนี้เป็นกุศล เป็นบุญ ก็ถือว่าสามารถสร้างสิ่งดีให้กับตัวเองบนกองกิเลสได้ แต่ถ้าคนอ่านด้วยอุเบกขาจึงจะสามารถเข้าถึงสาระแท้ของสารนั้นๆได้

แท้จริงแล้วมันไม่เกี่ยวเลยว่าคู่สนทนาหรือคนที่เราไม่ชอบใจนั้นเขาจะถูกหรือจะผิด โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่วันใดก็วันหนึ่งกรรมก็จะส่งคนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ขัดใจเข้ามาในชีวิตเราอยู่ดี แล้วเรายังต้องโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา ทะเลาะเบาะแว้งกับเขาไปตลอดเช่นนั้นหรือทั้งๆที่ศัตรูตัวร้ายนั้นคือตัวเราเอง คืออัตตาของเราเอง คือความยึดมั่นถือมั่นของเราเอง

สิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจคือสิ่งที่เรายึดไว้ พอเรายึดไว้ถือไว้ คนอื่นจะมาแย่ง มารบกวน มาทำลาย เราก็จะไม่พอใจ ก็จะออกอาการไปตามพลังของกิเลสของแต่ละคนตามกรรมที่ทำมา ตามกิเลสที่สะสมมา

เรามักคิดว่าคนกินมังสวิรัตินั้นมีเมตตา จิตใจดี เห็นใจสัตว์โลก แต่ความเมตตาเหล่านั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสัตว์โลกทั้งหมด เขายังเบียดเบียนมนุษย์คนอื่นด้วยถ้อยคำแห่งความดี เยอะเย้ยถากถาง ด้วยสารพัดประโยคที่จะปรุงแต่งได้ตามความสะใจ นี้หรือคือผู้ไม่เบียดเบียน นี้หรือคือผู้มีเมตตา เราจะมั่นใจได้อย่างไรหากเรายังมีความโกรธความเกลียดในสิ่งอื่นที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่ชาวมังสวิรัติไปเถียง ไปด่า ไปเยอะเย้ยถากถาง ก็คือการเบียดเบียนอยู่นั่นเอง แม้ไม่ได้ฆ่าแต่ก็เบียดเบียนด้วยวาจาไปที่ใจและกระบวนของกิเลสทั้งหมดนี้สร้างบาปสะสมให้กับตัวเองด้วย นั่นหมายถึงเบียดเบียนคนอื่นและเบียดเบียนตัวเองไปด้วยในทีเดียวกัน

ผู้กินมังสวิรัติที่สามารถล้างกิเลสได้จริง จะสามารถตั้งตนอยู่ได้บนความสงบ พูดแต่สัจจะ พูดแต่ความจริง ยกตัวอย่างเช่นคนที่เข้ามาช่วยพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติก็ถือว่าสามารถเอาตัวรอดจากบาปนี้ได้ ส่วนคนที่ไม่พิมพ์ไม่ตอบโต้ไม่ใช่ว่าจะไม่สร้างบาปเวรภัย เพียงแค่คิดร้ายก็เป็นมโนกรรมที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตและจิตใจได้รับทุกข์จากกรรมนี้ได้เช่นกัน

ดังนั้นคนที่กินมังสวิรัติแล้วไม่ล้างกิเลส ไม่ล้างอัตตาก็จะสร้างบาปเวรภัยไปในตัว ทำกุศลปนบาปโดยไม่รู้ตัว ไม่ผ่องใส่ ไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เช่นตอนมีคนมาว่าร้ายชาวมังสวิรัติ คนที่ไม่ล้างกิเลสก็จะร้อนรน โกรธ ไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจะเรียกตัวเองว่าผู้ไม่เบียดเบียนย่อมเป็นคำโกหก ผิดศีลข้อ ๔ ซ้ำเข้าไปอีก สร้างบาปเวรภัยให้กับตัวเองเข้าไปอีก กินมังสวิรัติว่าได้กุศลแล้ว ยังโดนวิบากบาปลากไปให้ทำชั่วให้ทำทุกข์อีก มันจะคุ้มไหม?

จะดีไหมหากเราจะกินมังสวิรัติไปด้วยล้างกิเลสไปด้วย ล้างความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรายึดไว้ไปด้วย จะดีไหมหากเราจะรู้สึกเฉยๆถ้ามีคนมาต่อว่าในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เราชอบ จะดีไหมถ้าเราไม่ต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองเพราะเราเลี้ยงกิเลสไว้

กิเลสไม่ใช่ตัวเรา ความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องยึดไว้ เราเพียงแค่ยึดอาศัย อาศัยให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตนี้ เรากินมังสวิรัติแต่เราไม่ยึดติด ไม่ยึดติดไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้าง แต่หมายถึงว่าไม่ยึดติดกับความเป็นมังสวิรัติ เพราะถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมังสวิรัติแล้วมีคนมาว่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรายึดอาศัยเราก็กินของเราไป แต่ถ้าใครมาว่าเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ได้ถือ เราไม่ได้มีตัวตน เราเลยไม่ต้องทุกข์

สุดท้ายของบทไขอัตตานี้ก็ให้ผู้อ่านได้ทบทวนตนเองว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา มันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเกิดเพราะอะไร มันดับไปเพราะอะไร แล้วมันจะเกิดอีกไหม จะดีกว่าไหมถ้ามันจะไม่เกิดอีกเลย ก็ขอให้ท่านลองพิจารณาดู

2).กรรม

กรรมอันใดหนอที่ทำให้ต้องมีคนเข้าใจผิด ต้องผิดใจ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ในบทนี้ผมจะลองไขกรรมของตัวเองอย่างคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพของวิบากบาปหรือผลของบาปที่เคยทำไว้ในอดีตกาล

ผมเองตั้งใจพิมพ์บทความด้วยความคิดว่าจะลองสื่อสารในอีกมุม เป็นมุมของคนกินเนื้อสัตว์ที่ข้องใจในมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นคนที่มีการกระทบกระทั่งกันให้เห็นกันตามกระทู้มังสวิรัติทั่วไปนั่นเอง ทีนี้เราก็คิดว่าขัดเกลาบทความดีแล้ว เรียบเรียงใส่คำใบ้ ใส่นัยสำคัญ ใส่เฉลยไว้เรียบร้อย กะว่าเพื่อนอ่านจบคงจะเข้าใจได้เอง แต่มันก็ผิดคาดไป ตรงนี้เป็นการประมาณผิดไม่ได้มีอะไรมาก แต่กรรมนั้นเองดลให้ได้ข้อมูลเท่านี้ ให้เขียนแบบนี้ ให้ประมาณผิดเช่นนี้ ซึ่งเราดูได้จากผลที่เกิดขึ้นคือมีคนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมากและมีคนเข้ามาต่อว่ามากมาย อันนี้ในชาติใดชาติหนึ่งผมคงเคยไปยุแยงใครให้เกลียดให้เข้าใจคนอื่นผิดทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เลยต้องมารับวิบากนี้ ซึ่งรับแล้วก็หมดไป มีคนมาด่าชีวิตผมก็ดีขึ้นเพราะได้ใช้กรรม กรรมชั่วหมดไปก็เปิดโอกาสให้กรรมดีที่ทำไว้ได้ส่งผลมากขึ้น สรุปแล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นผมมองว่าดีทั้งหมด

เมื่อกรรมชั่วได้ถูกชำระหนี้ไปแล้วกรรมดีก็ได้เกิดขึ้น มีคนที่เข้าใจในเนื้อหาสาระของบทความมาช่วยขยายความให้ ช่วยให้หลายคนได้คลายสงสัย ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงนี้จะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่เห็นพลังของกรรมดีที่ทำไว้อย่างชัดเจน ถ้าผมไม่เคยทำดีไว้ ก็คงจะไม่มีใครมาช่วยแบบนี้ สิ่งนี้เองเป็นผลจากการที่เราทำกรรมดีสะสมไว้บ้าง

แต่กรรมชั่วที่หมดไปนั้นเอง จะหมดไปไม่ได้หากไม่มีคนเข้ามาช่วย มีคนที่เสียสละยอมทำบาปจำนวนมากที่เป็นสะพานให้ผมได้ใช้กรรมชั่วที่เคยทำมาในอดีต เขาเหล่านั้นคือผู้รับวิบากบาปต่อในส่วนที่เขาทำและส่วนอื่นที่เขาได้ขยายต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะผลกรรมชั่วของเขาก็ลากเขามาให้เขาทำกรรมนี้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีอัตตาขนาดนี้เขาคงไม่ด่า ถ้าเขาล้างอัตตาได้เขาก็ไม่ต้องมารับบาป ในส่วนนี้ก็เห็นใจเพื่อนๆจริงๆ จะมีสักกี่คนที่ได้อ่านมาถึงบทความนี้ ในร้อยคนที่อ่านจะมีสักกี่คนที่เขาด่าแล้วจากไป พวกเขาเหล่านั้นจากไปพร้อมของฝากชิ้นใหญ่คือกรรมที่เขาต้องรับไว้ เหมือนกับชีวิตผมที่มีกองบาปกรรมทับอยู่ แล้วมีคนมาหอบกองบาปกรรมเหล่านั้นกลับบ้านไปเพราะหลงว่าเป็นของดี หากใครยังรู้สึกติดใจ ขุ่นเคืองใจอยู่ก็อยากจะให้พิจารณาดีๆว่ามันคุ้มไหมที่จะเอาบาปนี้กลับไปเป็นสมบัติของตัวเอง

ทั้งหมดนี้ไขให้เห็นกระบวนการของกรรมในภาพกว้างๆ ให้พอรู้ว่ากรรมชั่วกรรมดีมันมีผล

3). เกี่ยวกับบทความคนบ้ากินมัง

ในบทความนี้ผมได้วางเนื้อหาสาระสำคัญไว้หลายจุดด้วยกัน หากใครยังไม่เห็นหรือมองผ่านไปก็ลองอ่านกันดูได้

3.1). คนเกิดมาก็กินเนื้อแต่บ้าเปลี่ยนมากินผัก

อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เพราะคนส่วนมากที่มีจิตเจริญขึ้นก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง ทุกคนเริ่มมาจากการกินเนื้อสัตว์เหมือนกันหมดแต่ทำไมบางคนหันมากินมังสวิรัติ มันเป็นไปได้อย่างไร จิตใจมันเจริญขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์

3.2 ) ด้วยสติปัญญาที่พวกเขามี เขาจึงไปเชื่อลัทธิหนึ่ง

คำว่าลัทธิในที่นี้หมายถึงกลุ่ม ถ้ามองจากคนนอกที่เขาไม่กินเนื้อ เขาไม่รู้หรอกว่าเราไปอยู่กลุ่มไหนเขาก็มองเป็นกลุ่มก้อนเป็นลัทธินั่นแหละ ซึ่งลัทธิในที่นี้อาจจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม หรือศาสนา นิกาย กลุ่มคน กลุ่มสังคม กลุ่มในเฟสบุคก็ได้ที่มีลักษณะกลุ่มก้อนที่เสนอสื่อ ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกินมังฯ และด้วยสติปัญญาที่มี คือมีปัญญารู้คุณรู้โทษจึงเชื่อและพยายามกินมังสวิรัติ

หลายคนเข้าใจว่ากินมังสวิรัติด้วยตัวเอง อยู่ๆก็ไม่อยากกินเนื้อสัตว์เอง มองว่าในชาตินี้ไม่ได้มีสื่อใดกระตุ้นเลย ถ้ามองแค่ในชาตินี้มันก็เข้าใจถูกตามนี้ ดูว่าเป็นคนเก่ง แต่แท้ที่จริงแล้วความเบื่อหน่ายเนื้อสัตว์นี้เป็นสิ่งที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งการจะออกจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นจะคิดเอาเองไม่ได้ นึกเอา เดาเอา มั่วเอาเองไม่ได้เลย ต้องมีสัตบุรุษหรือผู้รู้สัจจะเป็นผู้บอก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวเก่าแก่ในชาติปางก่อนก็ได้ เพราะทุกอย่างมาแต่เหตุ แล้วเหตุใดที่เราไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ในชาตินี้เราก็ไม่ได้เพียรพยายามใดๆเลย แต่กลับเห็นคนอื่นเขาเพียรพยายามกันอย่างยากลำบากตกแล้วตกอีก พลาดแล้วพลาดอีก นั่นเพราะเราทำมามาก ฟังมามาก เลยมีผลส่งมามาก ในส่วนนี้ที่ขยายไว้เพิ่มเพราะคนที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเองมักจะมีอัตตาแรง คนเก่งมักมีอัตตาจัดเสมอ ก็ขอให้พิจารณาไว้

3.3 ฟังแล้วมีแต่ข้อดี จึงใช้ความเพียรพยายามในการลดละเลิก

ตรงนี้คือการพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ เมื่อจิตเข้าถึงประโยชน์แล้วจึงใช้ความเพียร คนที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์จริงๆจะรู้ว่าต้องใช้ความเพียรอย่างมากในการตัดกิเลส ในการห้ามใจไม่คิดถึงเนื้อสัตว์ ในการอยู่กลางวงเนื้อสัตว์โดยไม่กิน ในการยอมถูกบ่นถูกด่าจากผู้ที่ไม่เห็นดีกับการกินเนื้อสัตว์โดยไม่โกรธ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ได้มากันง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นสิ่งที่สั่งสมข้ามภพข้ามชาติมา

3.4 ให้กินเนื้อฟรีก็ไม่กิน แถมเงินก็ไม่กิน

เป็นสภาพของคนที่พ้นจากความอยากแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจความสบายใจที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ คนที่กินมังสวิรัติแต่ไม่ได้ล้างกิเลสจะเหลืออาการอยาก เขาไม่กินแล้วนะแต่เห็นแล้วก็ยังอยากกิน แม้จะสามารถข่มใจไว้ได้แต่กิเลสก็จะโตขึ้นเรื่อยๆดังที่เห็นคนกินมังสวิรัติมานานแต่กลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะกิเลสมันโตจนกดไว้ไม่ไหว

3.5 มีเนื้อให้กินดีๆไม่กิน จะกินผัก

คนกินมังสวิรัตินั้นเป็นคนที่ยอมอดทน แม้จะต้องกดข่มก็ยังเจริญกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ตามกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมได้เพราะความเพียร ถ้าหากเราอยากพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผลักดันให้เราไปกินเนื้อสัตว์แล้วเราต้องใช้ความเพียรที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์ โดยมีความเชื่อที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์เป็นหางเสือควบคุมทิศทางเช่นกัน

3.6 ชอบทวนกระแสโลก

คนที่สู้กับกิเลส ไม่ยอมทำตามกิเลสนั้นก็ถือว่าได้พยายามทวนกระแสโลก หรือกระแสของกิเลสแล้ว ส่วนจะถึงฝั่งฝันไหมก็คงต้องเพียรต่อไป คำว่าทวนกระแสโลกนั้นในทางธรรมก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของโลกุตระ เป็นเรื่องของอีกโลกที่ไม่เหมือนโลกียะ ไม่เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำ

3.7 ชอบมาเผยแพร่ลัทธิ

พอเราสามารถกินมังสวิรัติจนเห็นผลดีกับชีวิตและจิตใจตัวเองแล้ว เราก็จะเริ่มทำการเผยแพร่สิ่งดีให้กับคนรัก คนใกล้ชิด และบางครั้งก็ต้องพบกับความไม่ยินดี ไม่เอาด้วย หรือเอาด้วยแต่เอานิดเดียวนะ ซึ่งพอมีการสื่อสารหรือการแลกเปลี่ยนความเห็นความเข้าใจที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความผิดใจกันและการทะเลาะเบาะแว้งได้

3.8 บ้าในโลกส่วนตัว

คนกินมังสวิรัติที่อยู่ในโลกส่วนตัวนั้นมีให้เห็นกว้างๆอยู่สองพวก หนึ่งคือพวกที่ติดโลกธรรมเลยไม่ถือสาคนอื่น กลัวเขาไม่คบ กลัวเขาว่า กลัวเขาเกลียด กลัวเขานินทา เกรงใจเขา อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่สามารถลดกิเลสลดอัตตาได้ ก็จะไม่ถือสาคนอื่นเช่นกัน จะกินมังไปได้อย่างปกติ แม้จะมีคนมาด่าหรือต่อว่าก็จะไม่ไปทำร้ายจิตใจใคร

3.9 บ้าระรานชาวบ้าน

เป็นคนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามาก มักจะพยายามยัดเยียดสิ่งดีคือมังสวิรัติให้ผู้อื่น ยัดเข้าไปจนเขาอ้วก จนเขาเอือมระอา จนเขาเกลียดมังสวิรัติไปเลยก็มี และอัตตายังส่งผลให้ปกป้องตัวเองเช่นกัน ดังเช่นเมื่อมีคนมาเห็นต่างเห็นแย้ง พวกเขาก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาปกป้องความเชื่อของตัวเอง ฟาดฟันผู้อื่นด้วยความคิด คำพูด การกระทำต่างๆ

ถามว่าทำไมถึงเรียกว่าระรานชาวบ้าน ทั้งๆที่ถูกโจมตี เพราะแท้จริงชาวมังสวิรัตินั้นคือผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก นั้นหมายถึงสัตว์และมนุษย์ด้วย แม้ว่าเขาจะมาด่า กล่าวหาว่าร้าย มาโจมตีใดๆก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะต้องไปเบียดเบียนเขากลับเลย

คนมีอัตตาจะมองไม่เห็นตรงนี้เพราะกิเลสจะบังตาทันทีที่มีคนพูดแล้วขัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือมาด่าต่อว่า เมื่อมองไม่เห็นกิเลสตัวเองก็โทษว่าคนอื่นผิด ว่าแล้วก็โกรธเขาแล้วเข้าใจว่ามันถูกต้อง คือเขาผิดเราจึงโกรธ อันนี้มันความเห็นของคนมีกิเลส มันก็ชั่วอยู่ดีนั่นเอง เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

3.10 ดูสิพวกกินมังฯทั้งโง่ทั้งบ้า

มีเนื้อให้กินก็ไม่กิน กินฟรีก็ไม่กิน กินแต่ผัก ไม่ไปตามกระแสโลก ไม่ไปตามกิเลส คนทั่วไปเขามองเราแบบนี้มันก็ถูกของเขา เพราะเขาเห็นว่าทำแบบเรามันลำบาก มันทรมาน มันบ้า ไม่มีใครเขามาล้างกิเลส ลดกิเลสกันหรอก เขามีแต่จะพากันเพิ่มกิเลส

ในประโยคสุดท้ายนี่ทิ้งไว้โดยสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคนที่เลือกกินเนื้อนั้นกินตามกิเลส ส่วนคนคิดจะกินมังสวิรัตินั้นคือคนทวนกระแสกิเลส หากผู้ใดได้พิจารณาบทความ คนบ้ากินมัง ดีๆจนกระทั่งในตอนจบก็จะไม่มีความสงสัยใดในบทนี้ ยกเว้นตัวท่านเองกินมังสวิรัติโดยไม่รู้เรื่องกิเลส ซึ่งก็ขอให้ท่านค่อยๆศึกษาและติดตามจากบทความอื่นๆที่ผมได้นำเสนอมาแล้วและจะนำเสนอต่อไปอีกเรื่อยๆ

…สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่าถ้าคนล้างกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้จริงจะสามารถอ่านบทความ “คนบ้ากินมังฯ” ได้ฉลุย ผ่านตลอด ไม่มีแม้ความขุ่นเคืองใจใดๆในทุกวินาทีที่อ่าน เพราะเขาเหล่านั้นได้ล้างอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุที่ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขุ่นเคือง หรือทำให้โกรธออกไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้ที่เห็นอัตตาของตัวเอง และเริ่มเห็นว่านี่แหละคือศัตรูตัวร้ายที่แอบซ่อนและฝังอยู่ในจิตใจของเรามานาน เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ทุกครั้งเมื่อต้องเจอกับประเด็นต่างๆที่ไม่พอใจในเรื่องมังสวิรัติ ก็แนะนำให้เรียนรู้เรื่องกิเลส เรียนรู้เกี่ยวกับการล้างกิเลส ท่านจะศึกษากับครูบาอาจารย์หรือใช้วิธีอื่นก็ได้ตามที่ชอบหรือเห็นควรก็ได้

ซึ่งในส่วนของผมเองนั้นจะสร้างกลุ่มที่คุยเรื่องมังสวิรัติกับกิเลสที่ Buddhism Vegetarian

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

October 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,403 views 0

มังสวิรัติทางสายกลาง

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ การกินมังสวิรัติเป็นสิ่งที่เข้าใจและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า เพื่อสุขภาพ เพื่อละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อกุศล นั่นก็เป็นความรู้ความเข้าใจที่มีทิศทางไปในด้านบวก ด้านที่เจริญ ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วการกินมังสวิรัติยังมีประโยชน์มากกว่านั้น ยังมีสาระสำคัญมากกว่านั้น หากเราเข้าใจการกินมังสวิรัติเพื่อการปฏิบัติธรรม

แผนที่การเดินทางที่จะทำให้เราไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นก็คือทางสายกลาง เป็นทางเดียวที่จะพาพ้นจากทุกข์ และเช่นเดียวกับการกินมังสวิรัติ หากเราต้องการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืน มีแค่ทางนี้ทางเดียวคือเราจะต้องเป็น “มังสวิรัติทางสายกลาง

ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นคือมรรควิถี คือสัมมาอริยมรรค แต่การจะเดินไปบนเส้นทางสายกลางนั้นไม่ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่คิด ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่เพ้อฝันเอาเองว่ากำลังเดินบนทางสายกลางแต่ต้องพากเพียรปฏิบัติจนถึงผลนั้น

การจะมาสู่ทางสายกลางนั้น เราต้องต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้านเสียก่อน เหมือนกับคนเมาที่เดินเซไปเซมา ซ้ายทีขวาที เราเองก็เช่นกัน ถ้าเรายังเป็นคนที่หลงมัวเมาอยู่ในกิเลส เราก็จะเดินหลงไปทางโต่ง ไม่ด้านในก็ด้านหนึ่ง สลับกันไปมา ไม่สามารถเดินตรงได้สักที

การจะบอกว่าตนเองนั้นหลงมัวเมาอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยส่วนมากคนที่หลงมัวเมาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมัวเมา หรือหลงยึดหลงติดอยู่กับอะไร ดังนั้นการนำศีลเข้าไปปฏิบัติจะทำให้เราได้เห็นขอบเขตการมัวเมาของเรา เหมือนกับเอาเชือกมากั้นไว้ไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการกินมังสวิรัติก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้เห็นความมัวเมาลุ่มหลงในทางโต่งสองด้านนั่นเอง

ทางโต่งสองด้าน

ด้านกาม หรือ กามสุขลิกะ …คือการโต่งไปในทางการเสพ ในกรณีมังสวิรัติ นั่นคือการที่เรายังไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม หากกินด้วยความอยาก ด้วยความอร่อย ด้วยความติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์นั้น ก็หมายถึงการติดกาม เป็นทางโต่งทางหนึ่งที่ควรละเป็นอันดับแรก เพราะจะเกิดการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม คือการเอาเลือดเอาเนื้อของสัตว์อื่นมาบำรุงกิเลส บำรุงกามของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสีย

ด้านอัตตา หรือ อัตตกิลมถะ… คือการโต่งไปในทางการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ในมุมของผู้ที่ยังยึดติดกับเนื้อสัตว์ ก็จะทรมานตัวเองโดยการกินเนื้อสัตว์ เพราะหลงยึดหลงติดว่าเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่าทางอาหาร หากไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้วจะป่วย จะไม่แข็งแรง เป็นอัตตาที่ยึดไว้ ทำให้ต้องทรมานตัวเองด้วยการกินเนื้อสัตว์

ทรมานอย่างไร? ในเมื่อกินแล้วมีความสุขจากเสพ ..พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ผู้ที่ยังหลงติดหลงยึดในการเบียดเบียนเพราะเข้าใจไปว่าต้องเบียดเบียนเพื่อให้ตัวเองแข็งแรง เพื่อสุขภาพดีนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ดังนั้นจึงเป็นการทรมานตัวเองด้วยวิบากบาปอันเกิดจากความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

และเมื่อเรายึดเนื้อสัตว์เป็นอัตตา แม้จะมีผู้รู้ท่านใดมาบอกว่าการยึดนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพียงไร คนผู้ยึดอัตตาก็มักจะกอดความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นการทรมานตัวเองไปเรื่อยๆ โดยการกอดกิเลสไว้ไม่ยอมให้ตัวเองพ้นทุกข์

ในอีกมุมหนึ่งของอัตตาคือความยึดดี ถือดี อวดดี มักเกิดขึ้นในผู้ที่สามารถละทางโต่งในด้านกามได้สมบูรณ์แล้ว คือไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว ก็จะมีความยึดดี หลงว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นดี มักจะเอาความรู้ ความถือตัวไปข่ม ไปเบ่งทับคนที่เขายังไม่สามารถละกิเลสได้ ซึ่งการยึดดีถือดีเหล่านี้ก็เป็นการเบียดเบียนเหมือนกัน สุดท้ายพอไม่ได้ดั่งใจ ไม่สามารถทำให้ใครมากินมังสวิรัติได้อย่างใจ ก็มักจะทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา เป็นทุกข์เพราะความยึดดี ถือดี เป็นการเบียดเบียนทั้งคนเองและผู้อื่น มักจะเสพยินดีกับเหตุการณ์ที่ตัวเองคิดว่าต้องเกิดดี พอไม่เกิดดีดังใจหมายก็ทุกข์ก็มักจะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี เป็นการบำรุงอัตตาของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสียด้วย

…ดังจะเห็นได้ว่า การกินมังสวิรัติทางสายกลางนั้น ไม่ได้หมายถึงการกินเนื้อสัตว์บ้างกินผักบ้าง แต่เป็นการเว้นขาดจากการไปเสพกาม เว้นจากการเสพเนื้อสัตว์ หรือไม่ไปกินเนื้อสัตว์เลย และไม่ทรมานตนเองด้วยอัตตา คือความยึดดี ถือดี ยึดว่าคนอื่นต้องกินผัก เลิกกินเนื้อสัตว์จึงจะเป็นสุข กินมังสวิรัติด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ ไม่ได้รักผัก แต่ก็ไม่กินเนื้อสัตว์ และยินดีในการกินผัก

การกินมังสวิรัติทางสายกลางนี้และคือทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตตนเองและผู้อื่นเป็นไปด้วยความผาสุก ตัวเราก็ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และสามารถเผยแพร่ความรู้ในการกินมังสวิรัติด้วยความเป็นอนัตตา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังและเข้าใจโดยไม่มีความอึดอัดขุ่นเคืองใจ ไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่บีบคั้น เป็นเพียงแค่การเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ประโยชน์และคุณค่าของการกินมังสวิรัติโดยการปฏิบัติทางสายกลางเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้บงการ ผู้กำกับใดๆ ใครจะกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ จะกินมังสวิรัติเฉยๆไม่ปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือจะปฏิบัติไปด้วยก็ได้

เมื่อเราปฏิบัติล้างความยึดติดในทางโต่งสองด้านแล้ว เราก็จะเข้าสู่ความผาสุกในชีวิตหรือวิถีแห่งสัมมาอริยมรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความสุขความเจริญ เป็นคุณค่าที่ถูกสอดร้อยเอาไว้ในการกินมังสวิรัติ ซึ่งการจะเข้าถึงคุณค่าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การปฏิบัติธรรม ลด ละ เลิก การเสพการยึดไปตามลำดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

September 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,941 views 1

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…

เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

1.คบหาผู้รู้

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ

สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ

ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย

2.ลักษณะของผู้รู้

ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน

สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์

ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ

3.คุณสมบัติของผู้รู้

คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ

4.การตามหาผู้รู้

การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม

เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม

กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล

5.การจะได้พบผู้รู้

การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด

การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส

ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้

การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ

เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป

6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า

เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน

ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร

7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?

เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป

ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เมาบุญ

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,015 views 0

เมาบุญ

เมาบุญ

การที่เรามีศาสนาเป็นที่พึ่ง มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งเรามักจะวางตัวห่างไกลจากความพอดี บ้างก็เป็นศาสนานั้นแต่ในทะเบียนบ้าน บ้างก็นับถือศาสนานั้นอย่างมัวเมา หรือที่เรียกกันว่า “เมาบุญ

ความหลงมัวเมาในบุญนี้ มักเกิดจากความศรัทธาที่ไม่มีปัญญา จึงมัวเมาลุ่มหลงอยู่ในสิ่งที่สังคมเขาเห็นว่าดี ดังจะเห็นได้จากการทำบุญทำทานอย่างเกินพอดีจนตนเองและครอบครัวลำบาก การใช้เวลาไปกับวัดและการบำรุงศาสนาจนบกพร่องในหน้าที่ของตัวเอง การยึดดีถือดีติดดีจนทำให้คนรอบข้างเอือมระอา ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของการ “มัวเมา

การทำบุญทานอย่างเมาบุญนั้น เบียดเบียนตนเองและคนอื่นอย่างไร?

การทำบุญทำทานที่ทำเพราะอยากได้บุญนั้น ไม่มีทางที่จะได้บุญเลย เพราะการทำทานที่ได้บุญคือการทำทานที่พาให้เราลดกิเลส แต่การทำเพราะอยากได้อยากมี คือการเพิ่มกิเลส ดังนั้นไม่มีทางได้บุญอยู่แล้วแต่อานิสงส์ก็ยังจะมีอยู่บ้าง ในส่วนของการเบียดเบียนคือการทำทานเกินความพอดี บางครั้งแทนที่จะได้ใช้ทรัพย์นั้นไปทำกุศลอย่างอื่นก็ไม่ได้ใช้ บางทีก็ต้องไปเรี่ยไรขอเงินจากคนอื่นเพื่อมาสมทบความอยากได้บุญในกองบุญของตนเองอีก ความไม่พอดีจึงกลายมาเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

การใช้เวลาไปกับวัดบำรุงศาสนามาก ไม่ดีอย่างไร?

การใช้เวลากับการไปวัดและบำรุงศาสนามาก ถ้าเป็นนักบวชก็ถือว่าดี ยิ่งใช้เวลาศึกษาธรรม ก็จะยิ่งเป็นการบำรุงศาสนา คือการทำให้ตัวเองให้มีความเป็นพระยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันฆราวาสมักจะใช้เวลาที่มากไปกับการไปวัด ไปทำงานบำรุงศาสนา จนมักจะเห็นศาสนาดีกว่าทุกสิ่ง ทำให้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง เช่นแทนที่จะดูแลกิจกรรมการงาน กลับเอาเวลาไปวัด แทนที่จะดูแลคู่ครองครอบครัว กลับเอาเวลาไปวัด สุดท้ายงานและครอบครัวก็มีปัญหา เพราะตนทำหน้าที่บกพร่อง แต่ด้วยความติดดีจึงโยนความผิดไปให้คนอื่นและบอกว่าศาสนาของตนดีเลิศ การที่ตนให้เวลากับศาสนาเป็นสิ่งดี เป็นความเข้าใจที่มัวเมาหลงผิดซ้ำซ้อน เพราะแท้จริงแล้วศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คนละทิ้งหน้าที่ แต่ให้ทำหน้าที่ของตัวเองไปพร้อมๆกับการบำรุงศาสนาอย่างสอดคล้องในชีวิตประจำวันโดยไม่ให้บกพร่อง

การยึดดีถือดีติดดี เป็นอย่างไร?

ขึ้นชื่อว่าการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่การยึดดี ถือดี ติดดีเหล่านี้ ผู้ที่ติดมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดดี แม้ว่าจะมีคนมาทัก หรือแนะนำก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองติดดี และไม่ระวังตัว มักจะใช้ความดีที่ตนมีอยู่ เข้าไปทำหน้าที่ตัดสิน พิพากษาคนที่เขาพลาดทำชั่วอยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะคนที่เมาบุญ พอเจอคนที่เขาไม่เอาดีในการทำบุญทำทานก็จะเริ่มเพ่งโทษเขา ตำหนิเขา มองว่าที่ตนทำนั้นดี แต่ที่เขาทำไม่ดี มองว่าตนดีเขาไม่ดี มองแบบนี้ก็ติดดีแล้ว เข้าใจแบบนี้ก็ยึดดีเข้าแล้ว

เมาบุญ เมาโลกธรรม

การเมาบุญยังมีระดับการเมาที่หลงไปในระดับที่ลึกยิ่งกว่า นั่นคือเมาบุญในระดับหลงโลกธรรม คือหลงยึดติด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

เมาบุญหลงลาภ เช่น การทำทานที่เข้าใจไปว่าจะนำมาซึ่งความเจริญ เช่นคิดว่าทำทาน 1 พัน แล้วจะได้กลับมา 1 ล้าน หรือคิดว่าทำบุญ 1 ล้านแล้วจะสามารถซื้อนิพพาน ซื้อสวรรค์วิมานอยู่ได้ ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นการหลงเมาบุญในเชิงของลาภหรือในลักษณะของการเอาลาภไปแลกลาภ

เมาบุญหลงยศ เช่น การที่เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิดพระเกจิอาจารย์ หรือพระดังต่างๆ บางครั้งถึงขนาดใช้เวลาไปเสาะหา ติดตามพระดังทั้งหลาย พระรูปไหนที่เขาว่าดีก็ตามไปหมด เพื่อที่จะเสริมคุณค่าและบารมีให้กับตัวเอง หลงมัวเมาไปว่าพระดัง หรือวัดดังเหล่านั้นจะเป็นบุญบารมีคุ้มกันภัยให้ตนเองได้ หรือถึงขั้นเอาครูบาอาจารย์ไปอวดอ้างเพื่ออวดเบ่งบารมีของตนเอง ว่าฉันนี่แหละที่เป็นศิษย์ท่านนั้นท่านนี้ ฉันดูแลพระรูปนั้นรูปนี้ เพราะมัวเมาหลงบุญหลงยศไปพร้อมๆกัน

เมาบุญหลงสรรเสริญ เช่น การมีความอยากในการเป็นประธานของงานบุญใหญ่ งานกุศลสำคัญต่างๆ หลงคิดว่าการที่ตนได้เป็นประธานนั้นจะนำมาซึ่งบุญที่มากกว่า จึงมีการจองเป็นประธานงานกฐิน กันแบบข้ามปี บางวัดก็จองกันข้ามชาติคือชีวิตนี้ตัวเองคงไม่ทันแล้วเลยจองไว้เผื่อลูกหลาน อาจจะเพื่อให้ลูกหลานทำบุญให้ตัวเองด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากความเมาสรรเสริญร่วมด้วย คืออยากให้คนเคารพนับหน้าถือตา ให้คนเขามาชม ให้มีเรื่องไปอวดชาวบ้าน ว่าเป็นตนนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจบุญน่าเคารพยกย่อง จึงชอบไปทำบุญทำทานเพื่อการได้หน้า เพราะเขาเหล่านั้นหลงมัวเมาไปในบุญพร้อมกับเมาสรรเสริญ

เมาบุญหลงสุข เช่น ผู้ที่ทำบุญทำทานทั่วไป เมาไปในการทำบุญ หลงสุขติดสุข ถ้าไม่ได้ทำบุญจะไม่สุข ชีวิตต้องทำบุญ ในระดับเสพติดการทำบุญทำทานในลักษณะของทางโลก เช่น ทำทาน บำรุงวัด บริการพระ ฯลฯ เขาเหล่านี้จะหลงมัวเมาในบุญโลกียะเหล่านี้ ทำให้ติดหลงสุข ไม่ปฏิบัติในธรรมที่สูงกว่า ดีกว่า วิเศษกว่า เพราะมัวแต่พอใจกับกุศลทางโลก จึงเป็นความมัวเมาที่มาบดบังกุศลที่แท้จริง

…..เราจะเห็นผู้ที่เมาบุญในระดับของโลกธรรมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มจะมีความสมบูรณ์ในชีวิต มีการงานดี มีครอบครัวดี มีลูกน้องบริวารดี เขาเหล่านั้นก็จะเริ่มหากิเลสในระดับที่มากขึ้นมาปรนเปรอตัวเอง โดยการเลือกมัวเมาไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเขาหลงเข้าใจไปว่าสิ่งเหล่านั้น จะทำให้ตัวเขามีความสุข

เมาบุญในระดับอบายมุข

และถ้าหากมัวเมาในบุญมากๆ ก็มักจะหลงไปในการเมาถึงระดับของเดรัจฉานวิชา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำและหยาบ นอกจากจะไม่เกิดบุญอย่างที่เข้าใจแล้ว ยังสร้างความหลงมัวเมาบาปอกุศลในระดับที่มากอีกด้วย

คนที่เมาบุญจนขาดสติมักจะไปหลงมัวเมาในผู้บวชเป็นพระ หรือเกจิอาจารย์ที่ทำเดรัจฉานวิชา แล้วหลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือบุญ สิ่งนั้นคือกุศล สิ่งนั้นคือสิ่งดี เช่นกิจกรรมเหล่านี้คือ ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำพิธีเป่าเสก ทำนายทายทักวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หมอผี หมอลงยันต์ ดูฤกษ์ ดูดวง ดูดาว ทำนายฟ้าฝน ทรงเจ้า ทำพิธีเชิญขวัญ พิธีบนบาน การแก้บนต่างๆ รดน้ำมนต์ ฯลฯ (ดูเพิ่มเติมในมหาศีล)

เหล่านี้คือเดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นวิชาที่พาโง่ โดยคนโง่ เพื่อคนโง่ พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอันไม่เป็นกุศล ไม่เป็นบุญ ไม่พาลดกิเลส ไม่พาพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ ท่านให้เว้นเสียจากกิจกรรมการงานพวกนี้ คนที่หลงมัวเมาไปก็มีแต่จะเพิ่มทุกข์ คนที่ใช้วิชาเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มวิบากบาปให้ตนเอง เพราะไปทำให้คนอื่นหลงมัวเมา เพื่อแลกกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเป็นการเพิ่มกิเลสของตัวเองด้วย

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมาบุญ นี้มีมิติที่หลากหลายลึกซึ้ง บ้างเมาน้อย บ้างเบามาก ไปตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนทำมา ผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรง ทำดีมาก มีปัญญามาก ก็จะสามารถเห็นโทษภัยจากการเมาบุญในระดับต่างๆได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันผู้ที่มีกิเลสหนา มีวิบากบาป จะแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนที่เป็นกุศลหรืออกุศล สิ่งไหนที่เป็นบุญหรือบาป วิธีออกจากความโง่เขลาเหล่านี้คือทำบุญทำทานให้มาก เสียสละให้มาก ช่วยเหลือผู้อื่นให้มาก ถือศีลให้เคร่งครัด แล้วก็จะออกจากนรกนี้ได้เอง

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์