Tag: วิบากกรรม

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,849 views 0

ความตายมิอาจพราก...กิเลสและกรรมไปจากเราได้

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

การที่ชีวิตหนึ่งต้องพบกับการจากพรากจนถึงความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของวิญญาณดวงนั้น ความตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายอันคือภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีกรรมเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด

กว่าจะตาย…

ยกตัวอย่างเช่น พอเราชอบกินเนื้อสัตว์ กินอาหารปิ้งย่างมากๆ ด้วยกิเลสของเราจึงสร้างกรรมอันเบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เบียดเบียนย่อมมีโรคมากและอายุสั้น คนบางพวกที่กินเนื้อสัตว์มากจึงมีการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็ง นั่นคือสภาพหนึ่งของกรรมที่ส่งผล เป็นทั้งกรรมจากอดีตชาติคือกรรมจากกิเลสส่วนหนึ่ง กรรมจากผลที่ทำมาส่วนหนึ่ง และกรรมจากกิเลสที่ทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่งสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสภาพของมะเร็ง

โรคที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “นาม” เข้าใจง่ายๆกันว่าอกุศลกรรม หรือพลังงาน หรือจะเข้าใจว่าบาปก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนนั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความอยากเสพ พอมีความอยากเสพมากๆ ก็จะไม่คิดถึงศีลธรรม ไม่คิดว่าชีวิตคนอื่นหรือสัตว์อื่นต้องได้รับทุกข์ร้อนใจอะไร เพียงแค่ได้เสพสมใจตนเองเท่านั้น จึงยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่น ยอมสร้างกรรมกิเลสนี้ได้ เพียงให้ได้มาซึ่งความสุขลวง

เมื่อผลของการกระทำหรือวิบากกรรมชั่วนั้นสะสมจนลงตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงสร้าง “รูป” ขึ้นมาให้เห็น รูปในที่นี้คือสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ เช่น วัตถุ สิ่งของ ก้อนมะเร็ง หรือเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามาทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นทุกข์

แม้จะตายก็ยอมเสพ…

สังเกตได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรู้ว่าการสูบบุหรี่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน เหล้าและสารเสพติดจะนำมาซึ่งภัยต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ และการวิวาท หรือแม้แต่การกินเนื้อสัตว์ย่างจะมีผลให้ก่อเกิดมะเร็ง แต่เราก็ยังยินดีที่จะเสพสิ่งนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม เราก็ยังอยากจะเสพสิ่งนั้น ประมาณว่าขอตายก็ได้ เพียงแค่ให้ฉันได้เสพสมใจในสิ่งที่ฉันอยาก

มีชาวนาชาวไร่มากมายที่ต้องเสียชีวิตไปจากการสะสมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าสารเคมีเป็นโทษ หลายคนแม้ได้เห็นการตายของคนใกล้ชิดจากสารเคมีกลับมองว่าไม่ใช่เพราะสารเคมี แม้คนตายนั้นเองก็ไม่ได้โทษสารเคมีที่ใช้เลย นั้นเพราะเขามีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นว่าสารเคมีดี สารเคมีเป็นมิตรกับเขาทำให้เขามีผลผลิตและร่ำร่วยมันไม่มีทางฆ่าเขา เห็นไหมว่ากิเลสคนเรามันรุนแรงขนาดไหน ขนาดว่ามันจะฆ่าเราตาย มันฆ่าญาติ พี่น้อง มิตร สหายของเราให้ตายไปแล้ว เรายังไม่เกลียดมันเลย

ดังนั้นความตาย หรือการพิจารณาเพียงแค่ความตายนั้นจึงไม่อาจจะนำไปล้างกิเลสได้เสมอไป เพราะบางครั้งกิเลสของเราจะหนาถึงขั้นยอมตายได้เพียงเพื่อให้ได้เสพสิ่งนั้น

เราตาย กิเลสไม่ตาย

เห็นได้เช่นนั้นว่า แม้ความตายก็ไม่อาจจะพรากกิเลสได้ และเมื่อเราตายกิเลสเหล่านั้นจะหายไปไหน?

กิเลสจะสั่งสมลงในวิญญาณ อยู่ในอุปาทาน ฝังไว้ในรากลึกๆ อยู่ในนาม อยู่ในกรรมของเรา รอวันเวลา ที่วันใดวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะได้ร่างกาย ก็จะนำกิเลสและกรรมส่วนหนึ่งมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นร่างนั้นๆ ดังเช่น ผู้ที่มักเบียดเบียนมักนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นชีวิตอื่น ก็มักจะมีโรคมาก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเสพติดการกินเนื้อสัตว์มาก นอกจากจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มาคร่าชีวิตเราแล้ว ยังสามารถให้ผลเป็นร่างกายที่อ่อนแอของเราในชาตินี้ด้วย นั่นเป็นผลที่มาจากการเบียดเบียนในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน

และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเกิดมาเป็นสัตว์หรือมนุษย์แล้วกิเลสก็ยังมีอยู่ จึงต้องเสาะหาสิ่งที่ตัวเองอยากเสพต่อจากชาติที่แล้ว เช่นเคยเสพติดเนื้อสัตว์ พอชาตินี้ได้มากินเนื้อสัตว์ก็เสพติด แม้คนอื่นเขาจะบอกว่ามันทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยอย่างไรก็ยังจะยินดีกินเนื้อสัตว์ ติดอยู่ในความอยากเสพเนื้อสัตว์ ออกไม่ได้ง่ายๆ

ต่างจากผู้ที่มีกิเลสเรื่องความอยากเสพเนื้อสัตว์เบาบางหรือล้างกิเลสแห่งความอยากเนื้อสัตว์นั้นได้แล้วเมื่อเขาได้ยินทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถสลัดความอยาก เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นได้โดยง่าย นี่คือลักษณะของความไม่มีกิเลสที่ติดมาเช่นกัน ให้สังเกตว่าเราสามารถหลุดจากสิ่งนั้นได้ง่ายหรือยาก ถ้าง่ายก็คือบุญบารมีเก่า แต่ถ้ายากแสนยากก็ให้พากเพียรกันต่อไป ผูกกิเลสมาเองก็ต้องมานั่งแก้กันเอง

แม้เราจะตาย แต่กรรมไม่ตายตามเรา

เมื่อเรามีกิเลส กิเลสก็มักจะพาเราไปเบียดเบียนผู้อื่น และผลที่ได้กลับมาคือความสุขเพียงชั่วครู่ กับกรรมที่ต้องรับไว้จากการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น

หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมฉันต้องได้รับกรรมที่ฉันไม่เคยทำมาด้วย ชาตินี้ฉันยังไม่เคยทำใครเดือดร้อนขนาดนี้เลย!!

บางครั้ง บางเหตุการณ์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลกรรมในชาติก่อน สังเคราะห์รวมกันกับกรรมในชาตินี้ เช่นชาติก่อนเป็นคนชอบเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ชาตินี้ก็เลยต้องมารับกรรมด้วยร่างกายอ่อนแอ มีโรคมาก แถมในชาตินี้ก็ยังชอบกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานเนื้อสัตว์ดิบ มักชอบเมนูสัตว์ที่สด เช่น ปลาสด ปูนึ่งสด ปลาหมึกสด กุ้งสด เมื่อกรรมเก่า รวมกับกรรมกิเลสใหม่ในชาตินี้ ก็จะสังเคราะห์ออกมาเป็นทุกข์ โทษ ภัยมากมาย อาจจะแสดงออกมาในรูปของโรคภัยไข้เจ็บ การสูญเสีย ปัญหาภาระหน้าที่การงาน หรือทุกข์ใดๆก็ได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย อย่าไปเสียเวลาเดาผลของมันเลย รู้ไว้เพียงแค่ว่า เบียดเบียนคนอื่นแล้วต้องได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน

กรรมนี้เองเป็นสมบัติที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลจนหมด จะหนักจะเบาก็ต้องรับไว้หมด ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกรรม เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องรับผลกรรมนั้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในคนที่คิดเห็นว่า “ชาตินี้ฉันไม่ได้ทำชั่ว ทำไมฉันต้องรับกรรมด้วย” ก็นั่นแหละ คือกรรมเก่าของเรา เราทำมาเอง ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางได้รับหรอก เพราะเคยชั่วมาก็ต้องรับกรรมชั่วของเรา

คนเราเวลาได้รับกรรมดีมักจะไม่นึกย้อนว่าตัวเองเคยทำดีมา เพียงแค่คิดว่า โชคดี ลาภลอย จึงไม่ทำเหตุหรือความดีที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในชีวิตนั้นอีก แต่พอเกิดสิ่งร้ายที่มาจากกรรมชั่ว ก็มักจะหาคนผิด หาว่าคนอื่นผิด โทษดินโทษฟ้า แต่ไม่โทษตัวเอง คนพวกนี้ก็จะทุกข์สุดทุกข์ และเมื่อมัวแต่โทษผู้อื่นก็จะไม่หยุดทำชั่ว สร้างกรรมชั่วนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด นั่นเพราะเขาไม่ยอมรับกรรมชั่วที่ตนเคยทำมา เมื่อไม่ยอมรับก็ทำเหมือนมองไม่เห็น โกหกว่าไม่เคยทำมา เมื่อโกหก ก็ได้ทำชั่วไปแล้ว

ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่าคนที่ทำดีจะตายไปจากอุบัติเหตุ หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่สมควรทั้งหลายนั้น ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความดีที่เขาทำในชาตินี้ก็จะช่วยส่งเสริมเขาในชาติต่อไป ในการเกิดครั้งต่อไป

คนชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นว่าคนชั่วบางคนตายจากไปอย่างง่ายดาย หรือยังไม่ได้รับกรรมอันสมควรก่อนจะตาย ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความชั่วที่เขาทำในชาตินี้ก็จะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งเขาก็ต้องรับกรรมที่เคยเบียดเบียนผู้อื่นไว้ และรับไปจนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆ

เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีปัญญาก็จะพากเพียรทำแต่ความดี เพราะรู้ว่าสิ่งที่ดีที่เราได้รับนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำดีในกาลก่อน เพื่อไม่ให้ดีนั้นพร่องลงไป และเพื่อที่จะใช้ความดีนี้สร้างกุศลต่อไป เขาจึงหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยการล้างกิเลส ทำลายกิเลสอันเป็นเชื้อร้ายที่จะก่อกำเนิดสิ่งชั่ว นำมาซึ่งอกุศลกรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ดับกิเลสตอนนี้ก็สุขได้เลยตอนนี้ หมดกรรมจากกิเลสใหม่ไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอแบกกิเลสไปดับกันในภพหน้า ชาติหน้า ชีวิตหน้า

– – – – – – – – – – – – – – –

14.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดีทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

September 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,879 views 0

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดีทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดี ทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

หลายครั้งในชีวิต เราคงจะเคยสงสัย ว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่เลิกทำบาป ไม่หาอะไรดีๆในชีวิตทำ ไม่อยู่กับปัจจุบัน จมอยู่แต่ในอดีตและวาดฝันล่องลอยไปแต่ในอนาคต และเคยสงสัยไหมว่า ในหลายๆครั้งไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะพูดอย่างไร จะแนะนำอย่างไร ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขาก็ยังคงทำบาปเหมือนเดิม ยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ยังเศร้าหมองอยู่เหมือนเดิม….นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังอาจจะแย่ลง และอาจจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ผิดใจกันเข้าไปอีก

….ปัญหา

เรามักจะรู้สึกขัดอกขัดใจเมื่อเจอกับคนหรือเหตุการณ์เหล่านี้…

นักโทษที่ต้องโทษจำคุกอยู่นาน เมื่อพ้นโทษมาแล้ว แต่ก็ยังมาก่อคดีอยู่อีก ,นักการเมืองที่มีประวัติโกงแม้ว่าจะโดนจับได้แล้ว แต่ก็ยังจะหาทางโกงอยู่อีก , คนที่รู้ว่าฆ่าสัตว์ผิดศีล ไม่ดีเป็นบาป แต่ก็ยังตบยุงอยู่อีก , คนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอโทษขอโพยกันไปแล้ว บอกว่าจะแก้ไข แต่ก็ยังทำผิดอยู่อีก ,คนที่รู้ว่าการกินเหล้าเสพสิ่งเสพติดของมึนเมา นั้นเป็นบาป แต่ก็ยังกินอยู่อีก ,คนที่มัวเมายึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบจนเริ่มสะสมทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียในชีวิตของตนเอง แต่ก็ยังหลงมัวเมาอยู่อีก …ฯลฯ

หรือการที่ใครสักคนหนึ่งใช้ชีวิตไปวันๆ อยู่ไปวันๆ ไม่ทำอะไรให้ชีวิตมันดีขึ้น เขาไม่ทำเรื่องชั่วหนักๆแล้วนะ แต่เราก็ยังเห็นว่ามันไม่ดี เราก็อยากให้เขาลุกขึ้นมาทำชีวิตของตัวเองให้ดี เช่น ขยันเรียนเพิ่ม,หาความรู้ในการทำงานเพิ่ม,ออกกำลังกายรักษาสุขภาพ,หากิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ทำบุญบริจาคทรัพย์ แบ่งปันแรงงาน ฯลฯ

หรือแม้แต่การที่ใครสักคนจะใช้ชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย เศร้าโศกเสียใจกับอดีตที่ผ่านมา เศร้าหมองจากการสูญเสียสิ่งสำคัญ จมอยู่กับทุกข์ อยู่กับอดีต ซึมเศร้าเหงาหงอย

แล้วจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร

….การที่เรารู้สึกหงุดหงิดใจ ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่ปรับปรุงตัวไปในทางที่ดี นั่นแหละคือเรามีอาการ “ติดดี” อาการติดดี ยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีตามที่ใจคิดก็จะเป็นทุกข์ ซึ่งในขณะที่เราติดดียึดดี เราก็มักจะไปคาดหวัง ไปแนะนำ ไปบีบคั้น ไปหาสารพัดวิธีมาให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราต้องการ พอเขาไม่เปลี่ยนหรือทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ร้อนใจ หงุดหงิด สุดท้ายก็กลายเป็นเราเองที่ไม่ปล่อยวาง

บางทีเราเห็นทางแก้นะ แล้วพยายามจะไปฝืนกิเลส พยายามจะไปล้วงกิเลส จะไปชี้ขุมทรัพย์ให้เขาเห็นว่าการที่เขาทุกข์ สับสน เศร้าหมอง ยังทำบาป ไม่ทำดีอยู่นั้น เป็นเพราะเขาอาจจะยึดติดในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่พอเราไปพูดแบบนี้เขาอาจจะไม่พอใจเราก็ได้ เพราะพลังกิเลสเขามากกว่าพลังความดีของเรา

สิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งดีนะ เขาก็ยอมรับและเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งดี แต่เขาไม่เอา ไม่ทำ ไม่ต้องมาบอก ไม่ต้องมาสอน อยากจะทำก็ทำไป ฉันไม่ทำก็เรื่องของฉันฉันยินดีจะเสพกิเลสนี้ต่อไป ยินดีที่จะทำชั่ว ยินดีที่จะไม่ทำดี ยินดีที่มัวเมาเศร้าหมองต่อไป ฉันมีความสุขในแบบของฉันปล่อยฉันเป็นในแบบของฉัน อยากสอนก็ไปสอนคนอื่น…ทีนี้ถ้าเราปล่อยวางความติดดียึดดีถือดีไม่ทันละก็ มีโอกาสได้ผิดใจกันอย่างแน่นอน เพราะยิ่งเขาถอย เราก็จะยิ่งยัดยาแรงมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสกระทบกระทั่งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นของแต่ละฝ่ายมากขึ้น

ดูสิว่ากิเลสมันรุนแรงได้ขนาดนี้ มีพลังขนาดสะท้อนพลังดี สะท้อนพลังบุญที่จะพาลดกิเลส ถ้าจิตใจของเขาเต็มไปด้วยกิเลสแบบนี้ ต่อให้อีกกี่สิบผู้วิเศษมาบอก มาสอน มาแนะนำ ก็เอาไม่อยู่หรอก จะยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า ดีแค่ไหนเขาก็ไม่เอา ก็เขามีกิเลสอยู่เต็มหัวใจแล้วยังจะมีที่ว่างตรงไหนให้บุญเข้าไปแทรก

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องยอมปล่อยวาง ปล่อยให้เขาทำบาปทำชั่ว หรือใช้ชีวิตไปวันๆ ซึมเซาหม่นหมองไปเรื่อยๆ ยอมปล่อยเขาไป แม้ว่าทางที่เขาไปจะเป็นนรกก็ตาม วันใดที่เขาทุกข์เกินทน เมื่อเขาสะสมความชั่วที่เขาทำจนสุกงอม วิบากบาปจะส่งผลให้เขาได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส

เหมือนดังพระเทวทัตปองร้ายพระพุทธเจ้า หาวิธีทำร้ายทำลายพระพุทธเจ้าสารพัด แต่สุดท้ายตัวเองโดนธรณีสูบจนร่างแหลก เจ็บปวดทรมานจนกระทั่งสำนึกบาปของตน จึงตั้งจิตขอเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าท่านได้พยากรณ์ว่า หลังจากที่พระเทวทัตต้องรับกรรมทุกข์ทรมานในนรกชั่วกัปชั่วกัลป์พระเทวทัตจะทำดีบำเพ็ญเพียรจนได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใดองหนึ่งในอนาคต …เห็นไหมว่าขนาดคนที่ชั่วสุดชั่วอย่างพระเทวทัต สุดท้ายก็จะเปลี่ยนมาเป็นคนดี ดีขนาดพระปัจเจกพุทธเจ้าเชียวนะ แต่ก็ต้องทนรับใช้กรรมไปก่อน อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ที่กว่าจะหมดวิบาก

เมื่อเราทำชั่วที่สุด เดี๋ยวก็ต้องกลับมาทำดีอยู่ดีนั่นแหละ เหมือนเดินไปเจอทางตันสุดท้ายมันก็ต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นกันใหม่ เดินผิดทางเดินถูกทางไปเรื่อยๆ เมื่อทำดีไปเรื่อยๆชาติใดชาติหนึ่งก็จะเจอวิธีพ้นทุกข์ เลิกทำบาป ทำแต่ความดี ทำจิตใจปล่อยวางความเศร้าหมองได้ บรรลุธรรมกันได้สักชาติหนึ่งละนะ

คนที่เราคาดหวังว่าจะช่วยเขาหรือหวังจะให้เขาดีขึ้นก็เช่นกัน ถึงแม้เราจะไม่สามารถช่วยได้ วันใดวันหนึ่งเขาก็จะทำทุกข์ไปเรื่อยๆจนได้รับวิบากกรรม เขาก็จะเข้าใจได้เองว่าสิ่งที่เขาทำมันบาปมันไม่ดี ถึงแม้จะสำนึกในชาตินี้ไม่ได้ ก็อาจจะไปสำนึกในชาติหน้าก็ได้ เพราะบุญบาป วิบากกรรมมันก็ตามติดตัวเป็นสมบัติของเขาไปนั่นแหละ วันใดวันหนึ่งเขาก็ต้องบรรลุธรรมแน่นอน

ส่วนเรานั้น เมื่อได้ทำหน้าที่มิตรที่ดี คอยแนะนำ ช่วยแก้ปัญหาเท่าที่จะทำได้แล้ว ถึงแม้เขาจะไม่ทำตามที่เราหมาย ก็ให้ปล่อยวางเสีย คือให้ทำดีแล้ววางดีตรงนั้นเลย ทำดีเสร็จก็จบไป จะเกิดสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะการจะเกิดสิ่งดีหรือเขาสามารถฟังเราจนแก้ปัญหาได้นั้น เกิดจากหลายปัจจัย คือบุญบาปของเรา บุญบาปของเขา สังเคราะห์กันให้เกิดผล ซึ่งอาจจะเป็นดี ร้าย หรือไม่เกิดอะไรเลยก็ได้วันหนึ่งถ้าเขาเข้าใจที่เราบอก เราก็ค่อยแนะนำเขาอีกทีก็ได้

…คนบาปคนหลงมัวเมาเป็นเรื่องธรรมดา

การที่คนจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้น ในยุคนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นยุคที่เต็มไปด้วยการส่งเสริมกิเลส เรามีการทำการตลาดเป็นกิจกรรมส่งเสริมกิเลส ทำให้คนอยากมี ทำให้คนอยากได้ ทำให้คนไม่รู้ดีรู้ชั่ว เช่น เราเริ่มนุ่งน้อยห่มน้อย เริ่มจะไม่สงวนร่างกายเพราะเราหลงไปว่าดี เข้าใจไปว่าการอวดเนื้อหนังเป็นสิ่งดี คนส่วนใหญ่ก็หลงตามไปด้วยนะว่าดี แท้จริงแล้วนั่นเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ทุกวันนี้เราเองก็ยังแทบจะแยกไม่ออกว่าสิ่งใดที่ชั่วหรือดีแท้ต่อชีวิตเรา บางครั้งสิ่งที่เขาว่าดี แต่ทำไมพอเราเอามาใช้ เอามาเสพกลับเกิดทุกข์ โชคดีที่เรายังมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว โดยใช้ธรรมะหรือศีลของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยึด

….ลองเป็นคนบาปดูบ้างไหม

ตอนที่เห็นคนอื่นทำบาป ไม่ทำดี หลงมัวเมา เป็นทุกข์ เราก็มักจะเห็นได้ง่าย แนะนำได้ง่าย แต่พอมาเป็นที่ตัวเราเองเรากลับแก้ไม่ได้ เช่น ให้เราถือศีล ๕ เราก็ทำแทบไม่ได้แล้ว ถามว่าศีลดีไหม ก็ดี แต่ทำไม่ได้ นี่แหละคือพลังกิเลสที่มาต้านไว้ คนที่เขาสู้กิเลสไม่ได้ก็แบบนี้แหละ ไม่ว่าจะพยายามยังไงมันก็จะไม่อยากสู้ จะไปเสพท่าเดียว ไม่คิดด้วยว่ากิเลสคือความทุกข์ เข้าใจว่าการได้เสพสมใจคือความสุข กอดกิเลสไว้อย่างนั้นยึดกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ยึดเป็นตัวเป็นตน

ถ้าเรายังรู้สึกว่าเราเก่ง แล้วคนอื่นต้องทำได้อย่างเรา ก็ลองไปหาคนที่เก่งกว่า หรือลองถือศีลที่ยากขึ้น เช่น ศีล ๘ ศีล๑๐,กินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียว ไม่แต่งตัวไม่แต่งหน้า แล้วเราก็จะรู้ว่าจริงๆแล้วเราก็ไม่ใช่คนดีสักเท่าไหร่หรอก เรายังมีกิเลสอีกมาก แค่เรามองไม่เห็นตัวเองเท่านั้นเอง เรามัวแต่เอาตาไปมองคนอื่น ไม่เคยมองตัวเอง ทั้งๆที่ควรจะแก้กิเลสของตัวเองก่อนแล้วค่อยไปแก้คนอื่น งานตัวเองยังไม่เสร็จเลย ชอบรีบไปวิจารณ์งานคนอื่น

บาปคือการสั่งสมกิเลส ศีลเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นกิเลสที่เหลืออยู่ได้ชัดเจน ตราบใดที่เราถือศีลแล้วยังทุกข์จากการถือศีล นั่นแหละคือเรามีกิเลส มีบาป

….เมื่อเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว

ทุกคนอยากทำดี อยากเป็นคนดี อยากเป็นที่รักของคนอื่น ไม่มีใครที่อยากทำบาป อยากเศร้า อยากหลง อยากมัวเมา เพียงแค่เขาไม่รู้ว่ามันเป็นบาป และถึงเขาเหล่านั้นจะรู้ว่ามันไม่ดี ก็ไม่สามารถที่จะหยุดความอยากนั้นไว้ได้ เพราะแรงแห่งกิเลสนั้นมักจะมีพลังรุนแรงกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ จะบอกว่าการไม่ทำบาปดีไหม หลายคนก็ตอบว่าดี เรารู้กันทุกคน แต่ทำกันไม่ได้ มันฝืนใจ มันทรมาน ไปเสพกิเลสแล้วมีความสุขมากกว่า ใครจะอยากมาอดทนฝืนทวนกระแสกิเลส มาล้างกิเลสกันล่ะ

ทุกวันนี้เราอยู่กับสังคมและโลกในยุคมอมเมากิเลส แม้ว่าเราจะทำบุญทำทาน แต่ก็ยังไม่รู้ตัวว่าทุกวันนี้เราได้สะสมกิเลสเข้าไปทุกวัน เราอยากกินของอร่อยมากกว่าเดิมใช่ไหม , เราแต่งหน้าจัดแต่งตัวโป๊กว่าเดิมใช่ไหม , เราใช้เงินเก่งกว่าเดิมใช่ไหม ,เราอยากได้อยากมีมากขึ้นใช่ไหม, เรามีความอดทนน้อยลงใช่ไหม , เราโกรธกันง่ายขึ้นใช่ไหม , เราให้อภัยกันน้อยลงใช่ไหม นี่แหละพลังแห่งการร่วมกันสั่งสมกิเลสบนโลกใบนี้ ทุกคนต่างช่วยกันเสพ ช่วยกันเติมกิเลสให้แก่กันและกันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น

เรื่องกิเลสไม่ดีทุกคนก็รู้ แต่ปัญหาคือไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ไม่มีใครพาล้าง พาฆ่า พาทำลายกิเลส เรื่องการชำระกิเลสเหล่านี้ต้องให้ผู้ที่ทำเป็นสอนเท่านั้น จะคิดเอาเอง นึกเอาเอง มั่วเอาเองไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การที่เราจะบรรลุธรรมหรือล้างกิเลสได้ เราต้องพบกับสัตบุรุษ คือคนผู้มีสัจจะแท้ มีธรรมที่สวนกระแสโลก มีโลกุตตรธรรมอยู่จริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าแค่บวชเป็นพระจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจธรรมะปฏิบัติธรรมแล้วจะสอนได้ แต่ต้องเป็นคนที่ล้างกิเลสเป็นจึงจะสอนได้

วิธีที่จะพบสัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปตรวจค้นสืบค้นจากที่ไหน เพราะถึงจะหาแทบพลิกแผ่นดินยังไงก็จะหาไม่เจอ แต่ที่ต้องทำคือทำดีไปมากๆ อดทนทำดีไปอย่างตั้งมั่น ทำบุญทำทาน ทำงานอย่างเต็มที่ ทำหน้าที่อย่างเต็มใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศีลให้เคร่งครัด แต่ไม่เครียดจนทรมาน ลดการเบียดเบียน ลดเนื้อกินผัก หาทางทำดีไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะได้พบเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

21.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,188 views 0

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้

ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์

ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้

1.คนป่วย

ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง

การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้

2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้

ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ

เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย

3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี

เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น

แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี

ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย

คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้

ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง

ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป

และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร

คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย

วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้

5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้

เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้

ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส

ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น

ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น

เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

นรกของสัตว์เลี้ยง

September 16, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,143 views 1

นรกของสัตว์เลี้ยง

นรกของสัตว์เลี้ยง

ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา

การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย

การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…

การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง

การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด

ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่

บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง

การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

16.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์