Tag: วิบากกรรม

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,579 views 0

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

พอได้เสพหลงเป็นสุขไม่ระวัง พอทุกข์ขังเกลียดชิงชังรีบผลักไส

จิตใจโลภหวังแต่เสพไม่เอาภัย ความจริงไซร้สุขและทุกข์อยู่คู่กัน

 

คนเราเวลาได้เสพสุขมักจะประมาท ไม่ทันระวังภัยที่จะเป็นผลตามมา

อย่างเช่นในเรื่องของการมีคู่หรือที่เข้าใจกันไปว่าความรัก

ตอนได้รักมักจะเสพแต่สุข ไม่ระวังตัว ไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจความจริง

หลงวนเวียนอยู่กับการเสพกามและอัตตาจนมัวเมา

เมื่อหมดวิบากกรรมชุดที่ได้เสพนั้นๆ ก็จะต้องถูกพราก ไม่มีให้เสพสุขเหมือนเดิม

คนเหล่านั้นก็จะทุกข์ ทรมาน โศกเศร้า คร่ำครวญ รำพัน ร้องไห้ เสียใจ

พอตอนเสพสุขมันมัวเมา ก็เสพอย่างไม่ลืมหูลืมตา

พอเป็นทุกข์ขึ้นมา ตาก็ไม่ได้สว่างอะไร แค่เสียของรักแล้วฟูมฟาย

จมอยู่ในกามและอัตตา(ที่ไม่ได้เสพ) เช่นเคย

คนเรานี่มันจะเอาแต่ได้ มันจะเอาแต่สุข พอมันทุกข์มันจะไม่เอา

พยายามจะหนี กดข่ม ปัดทิ้ง เปลี่ยนเรื่อง หาสุขอื่นมาเติม

มันก็วนอยู่อย่างนั้นเอง ถ้าไม่ไปสร้างเหตุให้มันทุกข์แต่แรกก็ไม่ต้องลำบาก

…แต่ใครเล่าจะสนใจ เพราะเวลาสุขจากการได้เสพกามและอัตตา

ธรรมะมันหายไปหมด ศีลธรรมมันเสื่อมไปหมด ทิ้งศีล ทิ้งธรรมกันไปเลย

สร้างเหตุแห่งทุกข์ แล้วผลมันก็ต้องทุกข์ นรกจึงเกิดด้วยเหตุอย่างนี้เอง

 

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมไม่ลงเอย

March 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,061 views 0

ทำไมไม่ลงเอย

ถาม : มีความรักแล้วจบลงด้วยการเลิกราทุกครั้ง คนที่รักไปแต่งงานกับคนอื่น มีวิบากกรรมอะไร ทำไมถึงไม่ได้ลงเอย

ตอบ : เพราะไม่ได้มีกรรมร่วมกัน ก็เลยไม่ได้ลงเอย คนที่ไม่ได้ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาจนมีพลังงานที่พอเหมาะ คือไม่มีนามธรรมที่สมเหตุสมผล จึงไม่เกิดรูปธรรม คือไม่เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น

ถ้าตอบตามแบบทั่วไปก็จะตอบได้ว่าสะสมบุญบารมีร่วมกันมาไม่มากพอ แต่จริงๆแล้วการคู่กันจนกระทั่งได้แต่งงานนั้นคือ “บาปและอกุศล” ดังนั้นถ้ามองตามความจริง คนที่ได้คบหาดูใจกัน จนกระทั่งแต่งงานมีลูกด้วยกันนี่แหละคือคนที่มีเวรมีกรรมต่อกันจะต้องมาใช้หนี้กันและกัน แต่ในระหว่างใช้หนี้เก่าก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีครอบครัวผูกมัดไว้เพื่อใช้หนี้กรรมอย่างไม่จบไม่สิ้น

จะขอตอบขยายเพิ่มเติมเพื่อไขข้อข้องใจอื่นๆดังนี้

1). กรรม

ผลของกรรมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน ส่วนเราไปทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ก็คงพอจะนึกย้อนได้ แต่ของเก่าก็อย่าไปเดาให้เสียเวลา ให้รู้ชัดๆแค่ว่าสิ่งนี้แหละ ฉันทำมาเอง ฉันเป็นคนทำแบบนี้มา ก็แค่รับสิ่งที่ตัวเองทำมาก็เท่านั้นเอง

กรรมที่เห็นนั้นมีความซ้อนของกรรมดีและกรรมชั่วปนกันอยู่ หลายคนอาจจะมองว่าการไม่ได้แต่งงานเกิดจากกรรมชั่ว ซึ่งนั่นก็ไม่แน่เสมอไป แต่ที่แน่นอนคือกรรมชั่วทำให้เกิดความทุกข์ ส่วนการไม่ได้แต่งงานนั่นแหละคือกรรมดี เพราะทำให้เราแคล้วคลาดจากการผูกมัดด้วยบ่วงกรรมถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที

ในความไม่ดีมันก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ดังนั้นหากจะเหมาว่าเป็นกรรมชั่วทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่

2). ทุกข์จากการเสียของรัก

เมื่อสูญเสียสภาพของคู่รัก หรือคนที่หมั้นหมายว่าจะแต่งงานไป ก็คือการเสียของรัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหน

ถึงจะได้คบหาหรือแต่งงานไป สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียไปในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี ไม่ตายจากไป ความรักนั้นก็อาจจะตายจากไปแทนก็ได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆก็ตาม แม้ว่าจะรักและดูแลดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็จะต้องเสียมันไป

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากสภาพที่ไม่ได้เสพของรักอย่างเคย ซึ่งเกิดจากการเสพติดหรือการยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมาเป็นของตนแล้วหมายว่าจะได้เสพสิ่งนั้นตลอดไป พอโดนกรรมของตัวเองแย่งของรักไปก็ทุกข์ใจ โวยวาย ร้องห่มร้องไห้กันไปไม่ต่างอะไรจากเด็กโดนแย่งของเล่น

3). คุณค่าในตน

ความทุกข์จากการสูญเสียแท้จริงแล้วมาจากความพร่อง เราจึงใช้สิ่งอื่น หรือคนอื่นเข้ามาเติมเต็มความพร่องในชีวิตจิตใจของเราเอง อย่างเช่นว่าเราเหงา เราก็เลยอยากหาใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน หรือว่าเราอยากสบายเราก็เลยอยากหาใครสักคนที่จะฝากชีวิตไว้ฯลฯ

ซึ่งความพร่องเหล่านี้เองทำให้เราพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่มีวันที่จะหาใครที่พอเหมาะพอดีกับอัตตาของตัวเองได้ เว้นแต่ตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป แม้จะหาคนที่หมายมั่นได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งเสียไปก็ต้องเสียใจอยู่ดี

ดังนั้นการแก้ปัญญาจึงควรเพิ่มคุณค่าในตนเอง สรุปง่ายๆเลยว่าใช้การเพิ่มอัตตาเข้ามาบดบังพื้นที่ ที่เคยว่างเว้นให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มชีวิต คือทำให้ชีวิตตนเองนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าและความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ดังคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าไปหาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา อย่าเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ใช้อัตตาของเรานี่แหละทำเราให้เป็นคนที่เต็มคน

และต่อมาเมื่ออัตตาเต็มก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แข็งแกร่ง อดทน แล้วตอนนั้นก็ค่อยจัดการกับอัตตาในตัวเองต่อ จนกระทั่งกำจัดอัตตาหมดก็ถือว่าจบภารกิจในเรื่องคู่

4). อย่าหลงตามสังคม

ที่มาของคุณค่าลวงๆก็มาจากคำลวงในสังคมนี่แหละ ที่หลอกกันต่อๆมาว่าคนมีครอบครัวถึงจะมั่นคง คนมีคู่ถึงจะมีคุณค่า เรามักจะได้ยินคำว่า “ไม่มีใครเอา” หรือเข้าใจโดยสามัญว่าคนที่มีอายุสัก 30 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้แต่งงานคือคนที่กำลังจะขึ้นคานเพราะไม่มีใครเอา

ความเห็นความเข้าใจแบบโลกๆนี้เป็นความเข้าใจที่มาจากกิเลส มาจากความไม่รู้ มาจากความหลงผิด มาจากความโง่ ในความจริงแล้วเราควรจะสรรเสริญความโสด แต่คนผู้หนาไปด้วยกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะความโสดจะทำให้ไม่ได้เสพ ไม่ได้สมสู่ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าการแต่งงานมีคู่นี่แหละดี เพราะตนเองจะได้เสพอย่างไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะใครๆก็ทำกัน

สังคมอุดมกิเลสแบบนี้ก็จะมีความคิดไปในทางสะสมกิเลส สนองกิเลส สร้างวิบากบาป พาลงนรก ถ้าเรายังตามสังคมไปโดยไม่มีปัญญาก็จะเสื่อมไปตามเขาเป็นแน่ แต่ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นหลักไม่ปล่อยให้ชีวิตตกร่วงไปตามสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

5). ความเบื่อแบบโลกๆ

ความรู้สึกเบื่อกับปัญหา หรือเบื่อความรักจนไม่ยอมหาความรัก อย่าคิดว่านั่นคือกิเลสตาย เพราะความเบื่อนั้นก็แค่ความเบื่อแบบโลกๆ ที่มีเหตุผลอื่นเป็นตัวกดข่มความอยากหรือยังไม่ถึงเวลาที่ควรของกิเลสนั้นๆ

ตัณหา(ความอยาก)เมื่อไม่ได้แสดงอาการจะสั่งสมลงไปเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เก็บเป็นพลังบาปไว้อย่างนั้น เมื่อเจอคนที่ถูกใจจากคนที่เคยเบื่อๆก็อาจจะอยากมีความรักก็เป็นได้

ซึ่งในสภาพของการทำลายกิเลสนั้น จะต้องทำลายตอนที่มีความอยาก ไม่ใช่ปล่อยให้ความอยากสงบจนเป็นอุปาทานแล้วบอกว่าเบื่อหรือบอกว่ากิเลสตาย สภาพนี้เองที่ทำให้คนที่เจ็บจากความรัก คนป่วย คนแก่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจความรักทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นเป็นความเบื่อแบบโลกๆเท่านั้นเอง

คนที่แต่งงานแล้วเบื่อครอบครัวก็เช่นกัน เพราะมันได้เสพจนเบื่อแล้วมันก็เลยเกิดอาการเบื่อแบบโลกๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราหลงไปว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความรักแล้ว เลยทำให้ไม่ศึกษาเรื่องกิเลสให้ถ่องแท้ เกิดมาชาติหน้าก็มีคู่อีกแล้วก็เบื่ออีกเป็นแบบนี้วนไปมาเรื่อยๆ

6). ขอบคุณความโสด

ความโสดดำรงสภาพได้จนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมานะ คนที่เข้ามาคบหา คนที่เข้ามาบอกว่าจะแต่งงานกัน แม้ว่าสุดท้ายเลิกราหรือหนีไปแต่งงานกับคนอื่นก็ตาม

นั่นคือโอกาสที่เราจะไม่ต้องไปรับเวรรับกรรม ไม่ต้องไปทำบาป ไปสะสมบาป คอยสนองกิเลส ไม่ต้องเอาใครมาผูกเวรผูกกรรมกันอีกไม่ต้องมีสิ่งไม่ดีร่วมกันอีกเลย

แต่ที่เราไม่ขอบคุณความโสดเพราะเรามีกิเลสมาก กิเลสจะบังคุณค่าของความโสดจนมิด เรียกว่าโสดไร้ค่าไปเลยทีเดียว ถ้าได้ลองล้างกิเลสของความอยากมีคู่จนหมดจะรู้ได้เองว่า ความโสดนี่แหละคือคุณค่าแท้ๆที่เหลืออยู่ ส่วนความรู้สึกสุขของคนมีคู่นี่มันของเก๊ มันคือสุขลวงๆ ที่เอามาหลอกคนโง่ให้ทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

30.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

February 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,120 views 0

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

เมื่ออายุล่วงเลยเข้าไปถึงสามทศวรรษ สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกาย ความคิด โดยเฉพาะเสียงจากสังคม

โดยส่วนมากความเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลอย่างมากกับผู้หญิงและมีสิ่งที่ทำให้กังวลใจเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อเข้าช่วงอายุประมาณ 30 ขึ้นไปจะต้องรีบหารถไฟขบวนสุดท้าย เป็นความเชื่อจากสังคมและโลกที่ปรุงแต่งให้เราคิดและกังวลเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของการมีคู่

ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุนั้นๆเกิดความทุกข์ ความกังวลใจ จากกระแสสังคมและความเชื่อที่มีโหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้จิตใจสั่นไหว ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปตามเหตุและผล แต่เป็นไปตามกิเลส เป็นไปตามโลกธรรม เป็นปลาที่ไหลไปตามน้ำ ในบทความนี้จะมาไขเสียงเรียกร้องของกิเลสที่มักจะได้ยินกันในสังคมของคนในช่วงอายุนี้กัน

1). ทุกข์ของคนโสด

เป็นคนโสดก็มีความทุกข์ในแบบของคนโสด เราเป็นคนโสดมาตั้งแต่แรกกันทั้งนั้น แต่ใครจะเสียความโสดไปในขั้นตอนไหนก็ลองมาศึกษากันเลย

1.1). โสดไม่เป็นสุข

พออายุเข้า 30+ ก็ยังโสดอยู่ คนรู้ใจก็ไม่มี คนที่เข้าตาก็มองไม่เห็น และด้วยความที่ยังโสดแต่ก็ไม่มีความสุข ชีวิตยังเหมือนขาดอะไรไป ยังพร่องอยู่ ไม่รู้สึกว่าเต็มเสียที มองเห็นคนมีคู่ก็คิดไปว่าถ้าเรามีก็คงจะสุข ใครเขาว่ามีคู่ก็มีความสุข มันก็เลยทำให้คนโสดไม่เป็นสุข เพราะไม่เห็นคุณค่าของความโสด ไม่มีปัญญารู้แจ้งในประโยชน์ของความเป็นโสด กลับไปเห็นดีเห็นงามในการมีคู่จึงทำให้โสดอย่างไม่เป็นสุข

โลกธรรมก็จะเข้ามาช่วยเร่งรัด เช่นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาบอกว่าทำไมไม่มีคู่ล่ะ, ไม่มีแฟนสักทีล่ะ, อยู่คนเดียวตอนแก่จะลำบากนะ, เป็นคู่ปฏิบัติธรรมก็ได้นะ เหตุผลร้อยแปดพันเก้ากระหน่ำเข้ามาด้วยคำพูดเสริมกิเลสซ้ำๆย้ำๆ จนคนโสดเริ่มเมาหมัด อยู่ไม่เป็นสุข ถึงแม้ว่าตอนแรกคิดว่าตั้งใจจะโสด แต่สุดท้ายก็อาจจะหวั่นไหวไปตามกิเลสจนต้องแสวงหาก็ได้

1.2). โสดแสวงหา

พอโสดอย่างไม่เป็นสุขและโดนความเชื่อตามที่สังคมเข้าใจกันว่าเมื่อใกล้ถึงวัยนี้ โอกาสลงจากคานช่างยากเต็มที ก็จะเริ่มแสวงหาใครสักคนมาช่วยทำให้ความโสดนั้นหายไป โดยมีตัวเลขที่เรียกว่าอายุเป็นปัจจัยเร่งรัด ทำให้หน้ามืดตามัวแสวงหาคู่อย่างไม่มีสติ ทั้งนี้ทั้งนั้นอายุที่สมควรจะมีคู่นั้นเป็นเพียงสมมุติโลก ในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า เมื่อถึงกลียุคหญิงสาวจะแต่งงานและมีบุตรได้เมื่ออายุ 5 ขวบ แต่เมื่อผ่านพ้นกลียุคและเจริญไปจนกระทั่งมนุษย์มีอายุ 80,000 ปี หญิงสาวจะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีอายุ 500 ปี ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติโลกทั้งนั้น และสิ่งที่เราเชื่อกันว่าขบวนสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราหลงเชื่อกันต่อๆมานั่นเอง เป็นค่าสถิติที่เก็บได้ แต่ใช้ตามความจริงไม่ได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของของตน ดังนั้นสถิติจึงไม่มีผลใดๆเลยในวิถีของพุทธ

และเมื่อตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่พบว่าหาไม่ได้เสียที หากกิเลสน้อยก็ปลงและจมทุกข์ไป หากกิเลสมากก็จะปรุงแต่งมากขึ้น เสริมสวยมากขึ้น แต่งโป๊มากขึ้น บริหารเสน่ห์มากขึ้น เอาง่ายๆว่ายั่วกิเลสหาเหยื่อนั่นแหละ ก็ใช้การเสริมกิเลสเป็นเหยื่อล่อกิเลสกันไป

โลกธรรมจะเข้ามาเสริมทัพของกิเลสโดยอาจจะมี ครอบครัว เพื่อน เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ ชักนำคนนั้นคนนี้เข้ามาในชีวิตเพื่อช่วยให้เราได้แสวงหาหรือมีคู่ได้มากขึ้น คนที่อยากมีคู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อพลังของกิเลสไปในที่สุด

1.3). โสดเลือกได้

ทีนี้พอมีคุณสมบัติครบพร้อม รูปงาม เสียงงาม ฐานะ หน้าที่การงาน ฯลฯ เมื่อผ่านพ้นช่วงแสวงหาจนได้เป้าหมายมา อย่างน้อยๆก็จะมีมาให้เลือกหนึ่งคนหรือที่เรียกกันว่าคนที่ดูๆกันไป แต่ในสังคมทุกวันนี้ดูไปถึงร่างกายแล้ว แม้จะมีสัมพันธ์ทางกายกันแต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นคู่กันก็มีมาก เป็นความเสื่อมอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

คนที่มีโอกาสเลือกมากก็มักจะคัดเลือกคนตามกิเลสของตน ดังคำตัดพ้อที่นิยมในสมัยนี้ว่า “ชอบคนดี รักคนหล่อ แต่งงานกับคนรวย” สุดท้ายไม่ว่าจะดีแค่ไหน ปัจจัยที่จะมีน้ำหนักในการเลือกนั้นก็คือคนที่สนองกิเลสตนให้ได้มากที่สุด ใครสนองกิเลสของฉันได้มากที่สุด ต้องสนองเท่าที่ฉันต้องการได้ด้วยนะ ก็จะได้สิทธิ์เป็นทาสกิเลสของฉันไปจนตาย โดยไม่มีสิทธิ์เลิก

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้คนที่เพียบพร้อมมาสนองตนเอง แต่ในชีวิตจริงนั้นมักจะไม่ได้สมใจทั้งหมด คนที่เข้ามาให้เลือกจะพร่องๆขาดๆ คนนั้นดีตรงนั้น คนนี้ดีตรงนี้ คนนั้นรวยแต่เลว คนนั้นดีแต่จน มันก็จะทำให้ชั่งน้ำหนักยาก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์นักหรอก

ซึ่งเวลาเลือกก็คงจะมีไม่มากสำหรับคนวัย 30+ โลกธรรมจะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ถามอยู่นั่น เร่งอยู่นั่น เมื่อไหร่จะเลือก คนนั้นดีนะ คนนี้ดีนะ คนนั้นจนอย่าไปเอาเลย คนนั้นเจ้าชู้แต่รวยเอาเงินไว้ก่อนดีกว่า พอมันไม่ได้มีแค่กิเลสของตัวเราเป็นตัวผลักดันแต่ยังมีกิเลสของญาติมิตรสหายที่กิเลสหนาเป็นตัวร่วม โสดที่เลือกได้ก็เหมือนจะไม่ได้เลือกด้วยเหตุและผลอันเป็นกุศล แต่มักจะเลือกด้วยเหตุที่สามารถสนองผลคือสนองกิเลสของฉันและหมู่คณะของฉันได้

2). ทุกข์ของคนไม่โสด

สุดท้ายแล้วพอโสดแล้วมันอยู่ไม่เป็นสุข มันทุกข์มากก็เลยมีคู่เสียเลย เอามาสนองความอยากเสียเลยจะได้ลดทุกข์ของการไม่มีคู่ลงบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ทุกข์มันไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นและที่สำคัญโลกธรรมก็จะยังอยู่กับเราเช่นเคย

2.1). คบหาดูใจ

เมื่อเราเริ่มคบหาดูใจกัน หรือที่เรียกว่าเป็นแฟนกัน คือคนนี้แหละที่น่าจะเป็นคู่แต่งงานในอนาคต ตอนแรกก็คิดว่าจะคบหาดูใจกันไป แต่ในความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น สภาพของแฟนในปัจจุบันแทบไม่ต่างกับคู่แต่งงาน เพียงแค่ไม่ได้จัดงานแต่งงานกันเท่านั้น

กิเลสจะเร่งเร้าให้ทำมากกว่าคบหาดูใจ คือพยายามจะคบหาดูร่างกายกันไปด้วย เมื่อพลาดพลั้งไปจึงเกิดสภาพผูกมัดที่มากกว่าแฟน เพียงแต่ยังเรียกว่าแฟนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นแค่เพียงปากทางแห่งนรกเท่านั้น

เมื่อคบหาดูใจกันในวัย 30+ คบกันไม่ทันไรก็จะมีแต่คำถามและคำแซวมากมาย หวานกันจังนะ, เข้ากันดีนะ, ดูเหมาะสมกันดีนะ, เมื่อไหร่จะแต่งงานกัน ฯลฯ เจอใครเขาก็ถามแบบนี้ กลายเป็นโดนโลกธรรมสะกดจิต ตัวเองก็ต้านกิเลสไม่เป็นอยู่แล้ว และโดยมากมักจะเห็นดีเห็นงามกับการแต่งงานเสียด้วย

สุดท้ายเมื่อโดนโลกธรรมรบเร้าจนกิเลสโต อยากแต่งงานขึ้นมาอย่างจริงจัง ก็เลยพยายามคุยกันเรื่องแต่งงานบ่อยๆ หาเหตุที่จะได้แต่งงาน ไม่มีเงินก็ขยันหา ไม่มีเรื่องราวก็พยายามสร้าง สรุปคือพยายามสนองกิเลสจนทั้งคู่พร้อมใจจะแต่งงานนั่นเอง

2.2). แต่งงาน

เมื่อแต่งงานแล้ว ด้วยวัย 30+ เรื่องที่ตามมาก็มักจะเป็นเรื่องของลูก คนจะถามกันว่าจะมีลูกไหม, รีบมีลูกนะเดี๋ยวไม่ทันใช้, มีลูกน่ารักนะ, คิดนานไม่ดีนะ, มีลูกตอนแก่สุขภาพจะไม่อำนวย, มีลูกตอนนี้พ่อแม่ยังช่วยดูแลไหว ฯลฯ โลกธรรมมันจะเข้ามายั่วกิเลสแบบนี้ จริงๆคือมันจะลากลงนรกไปด้วยกันนั่นแหละ

คนที่พอจะต้านทานกระแสโลกได้ก็แต่งงานแต่ไม่มีลูก อยู่กันไปแบบนั้น อย่างดีเลยก็ถือศีล 8 อยู่กันแบบพรหมไป เจริญในธรรมได้แบบมีวิบากกรรมตามมาหลอกหลอนประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีทางเป็นสุขและสบายเท่าคนโสด ส่วนคนที่กิเลสหนาก็จะเห็นว่าการแต่งงานนี่แหละดี กิเลสมันบังอยู่แบบนี้มันก็จะเห็นแบบนี้ มันก็ถูกตามแบบของคนเห็นผิดแบบนี้

ส่วนคนที่ต้านทานกระแสโลกไม่ไหว และตัวเองก็อยากมีลูกด้วย สุดท้ายก็พยายามหวังให้มีลูก ที่ว่าหวังเพราะการมีลูกกับไม่มีลูกในปัจจุบันไม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรที่กระบวนการนัก เพราะมีการสมสู่กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การจะติดลูกนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางคนมีลูกยากก็ทุกข์ บางคนมีลูกง่ายก็ทุกข์ มันก็ทุกข์ไปคนละแบบ

2.3). ครอบครัว

ทีนี้พอมีลูกแล้วองค์ประกอบของครอบครัวก็ครบพร้อมทันที เป็นชีวิตอุดมคติที่หลายคนใฝ่ฝัน เกิดเป็นสภาพที่โดนครอบไว้ออกไปไหนไม่ได้อีกต่อไป เป็นหนี้ เป็นทาส ขาดอิสระ ต้องเอาชีวิต เวลา พลังงาน ทรัพยากรต่างๆมาดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่คนนี้ ทุกข์ตรงนี้ต้องรับไปเต็มๆ

ส่วนชาวโลกที่มาช่วยเสริมโลกธรรมตั้งแต่แรกเขาไม่มารับทุกข์ด้วยหรอก เขามาเล่นกับเด็กแค่พอสนุกไม่นานเขาก็ไป ส่วนหน้าที่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวดูแลชีวิตเด็กคนนี้ไปอีกจนกว่าเขาจะตายก็อยู่ที่คนสร้างนั่นแหละ หน้าที่ดูแลบุตรมันไม่ได้หยุดแค่เขาทำงานเลี้ยงตัวเองได้นะ แต่มันต้องดูแลเขาไปตลอดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆและไม่ว่านานเท่าไหร่ เรียกง่ายๆว่าดูแลจนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ตัวเองสร้างมา

แล้ววิบากกรรมมันจะหมดได้อย่างไร ก็เมื่อตัวเองสร้างเด็กคนนั้นมา เด็กคนนั้นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราต้องดูแลนั่นแหละ ก็รับกันไปจนตายกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ บางทีตายแล้วยังไม่จบเลย เกิดมาใหม่ยังต้องมารับกันต่ออีก

….

ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอยากมีคู่ ไม่มีความอยากมีครอบครัวเป็นส่วนตัว แต่ถ้าเราไม่มีพลังพอที่จะต้านกระแสโลกธรรม เราก็จะหลงไปตามโลก หลงไปตามที่เขาว่าดี ตามที่เขายึดถือ หลงไปตามโลกียะนั่นเอง

แต่คนโดยส่วนมากนั้นมีความอยากมีคู่ อยากมีคนสนองกิเลส อยากมีครอบครัว อยากมีลูกมาเป็นหลักประกันผูกรั้งคู่ของตนไว้กับคำว่าครอบครัว (แม้สุดท้ายจะกลายเป็นบ่วงที่ผูกรั้งตัวเองก็ตาม) เรามักจะมีกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้รับแรงผลักดันจากกิเลสของสังคมและโลกหรือที่เรียกว่าโลกธรรม ก็มักจะละทิ้งความโสดและความปกติสุขไปโดยลำดับเพื่อแลกมาซึ่งบาป เวร ภัย ภาระ อกุศลกรรม เพียงเพื่อที่จะได้เสพสมใจตามที่โลกเขาเห็นว่าดี ตามที่โลกเขายอมรับ

คนที่อยู่ในวัย 30+ มักจะโดนแรงจากโลกธรรมกระหน่ำแบบนี้ และเมื่อต้านไม่ไหวก็จะเป็นทุกข์ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์ ต่างจากคนที่โสดอย่างเป็นสุข ที่เป็นสุขเพราะมีสภาพรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในเรื่องคู่ครอง โลกธรรมที่กระหน่ำเข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยหรือรุนแรงซับซ้อนเพียงใดก็ไม่อาจจะทะลุทะลวงกำแพงแห่งปัญญาได้เลย มิหนำซ้ำปัญญาเหล่านั้นแหละจะไปทำลายโลกธรรมจนสิ้นซากไม่เหลือท่าใดๆเลย

ถึงแม้ว่าสิ่งที่จะกดพลังแห่งโลกธรรมไว้ได้คือการใช้อัตตา คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีความมั่นใจในตัวเองสูง จะสามารถป้องกันภัยของโลกธรรมได้บ้าง ดังที่เห็นได้บ้างว่ามีคนจำนวนหนึ่งสามารถต้านโลกธรรมด้วยความแข็งแกร่งในตน นั่นก็คืออัตตา แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดที่จะป้องกันกิเลสได้ เพราะดีกว่านั้นยังมี สุขกว่านั้นยังมี สมบูรณ์กว่านั้นยังมี

เราจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสให้เข้าใจอย่างรู้แจ้งชัดเจน ถ่องแท้ในกิเลสเรื่องนั้นๆจนสามารถเห็นความจริงตามความเป็นจริง ข้ามพ้นกามและอัตตา ดำเนินอยู่บนทางสายกลางที่ไม่เปื้อนไปในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นแหละคือที่สุดของการปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

26.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มรณสติ

February 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,368 views 0

มรณสติ

มรณสติ

การระลึกถึงความตายหรือ “มรณสติ” นั้น คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราไม่ประมาทในการใช้ชีวิต และยังให้ผลเจริญในทางธรรมอย่างมากอีกด้วย

คนส่วนมากใช้อยู่ชีวิตทุกวันนี้ ก็เพื่อแสวงหาความเจริญและความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่เกินความจำเป็นของการดำรงชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนบนโลกนั้นเกิดมาเพื่อไขว่คว้าเสมอ และสิ่งหนึ่งที่จะชะลอหรือหยุดความกระหายในการแสวงหาโลกธรรมเหล่านี้ก็คือมรณสติ

การระลึกถึงความตายจะทำให้เราตระหนักได้ว่าทุกอย่างต้องมีจุดสิ้นสุด ซึ่งอาจจะถึงก่อนเวลาที่เราหวังไว้เสมอ โลกธรรมนั้นสนองเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็มอิ่ม เพราะกิเลสนั้นไม่เคยพอ เราไม่สามารถใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อแสวงหาเรื่องทางโลกเหล่านั้นจนพอใจได้

การระลึกถึงความตายจะเข้ามาช่วยหยุดกระแสโลกธรรมเหล่านี้ โดยการสร้างความเห็นความเข้าใจว่า สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นนั้นไม่เที่ยง เราจะต้องตายในวันใดวันหนึ่ง แบบใดแบบหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่งแน่นอน การระลึกนั้นคือการคิดพิจารณาในใจโดยแยบคายว่า หากความตายมาถึงแล้ว ฉันจะเป็นอย่างไร ฉันจะต้องทำอย่างไร คนรอบข้างฉันจะเป็นอย่างไร หน้าที่ของฉันจะเป็นอย่างไรฯลฯ

การพิจารณาถึงความตายบ่อยๆจะทำให้เราคลายความยึดมั่นถือมั่นและสร้างความตระหนักในหน้าที่ เป็นผลที่ทำให้เจริญทั้งในทางโลกและธรรมไปในเวลาเดียวกัน

การระลึกถึงความตาย

1).วันนี้ต้องเดินทาง จะเกิดอุบัติเหตุได้อย่างไรบ้าง แล้วจะตายได้แบบไหนบ้าง จะต้องสูญเสียหรือพิการอย่างไรบ้าง ถึงเราไม่ประมาทแต่คนอื่นก็สามารถประมาทได้ใช่ไหม? เวลาวิบากกรรมมันมา เราป้องกันไม่ได้ใช่ไหม? แล้วเราจะเตรียมใจรับอย่างไร เราพร้อมจะตายหรือยัง เรามีสิ่งใดที่ควรทำแล้วยังไม่ได้ทำ สิ่งใดที่เป็นสาระสำคัญกับชีวิตของเราจริงๆ หากเรามีเวลาเหลืออยู่เพียงไม่กี่นาที เราจะพูดอะไร กับใคร เพื่ออะไร

2).วันนี้อยู่บ้าน จะเกิดเหตุอย่างไรได้บ้าง ไฟไหม้ ขโมยเข้าบ้าน หรืออุบัติเหตุในบ้านเช่นไฟดูด ตกบันได งูกัด ฯลฯ แล้วเราจะตายท่าไหนได้บ้าง ความตายแบบนี้เรายอมรับมันได้หรือไม่ เราพร้อมหรือยัง

3). วันนี้ขยันทำงานอย่างเต็มที่ คิดฝันว่าอนาคตจะสร้างครอบครัวที่ร่ำรวย แต่ในอนาคตนั้นจะยังเหลือใครที่จะอยู่กับเราบ้าง พ่อแม่ พี่น้อง คู่ครอง ลูกหลาน ยังจะอยู่กับเราถึงวันนั้นไหม เราพร้อมจะรับไหมหากเขาเหล่านั้นได้จากไปก่อนเวลาที่เราคิดว่าควร

…เวลาวิบากกรรมมันไล่ล่าเรา เราไม่รู้หรอกว่ามันจะส่งผลให้เราตายแบบไหน ความตายนั้นไม่ได้หมายแค่การเสียชีวิต แต่หมายรวมถึงการเสียสภาพในการมีชีวิตแบบเดิมเช่น ต้องกลายเป็นอัมพาต พิการแขนขาขาด คือตายจากสภาพเดิมๆ สูญเสียสิ่งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง

เราต้องพลัดพรากจากของรักเป็นเรื่องธรรมดา ความตายจากสิ่งที่รักนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายถึงสภาพที่สุขใจ พอใจ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่องธรรมดา วันนี้เราอาจจะทำงานมีเงินใช้และมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ในวันใดวันหนึ่งความสุขเหล่านั้นก็จะต้องจากไปเป็นธรรมดา อาจจะมีหลายปัจจัยเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเปลี่ยนไป หากเราเองยังไม่สามารถยอมรับความตายในมิติที่กว้างกว่าความตายของชีวิตได้ เราก็จะยังต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป

ผู้ที่ประมาทมักจะคิดว่าตัวเองจะยังไม่ตายจนกว่าจะถึงเวลานั้นเวลานี้ หรืออาจจะไม่ได้คิดถึงความตายเลยด้วยซ้ำ ก็จะแสวงหาไขว่คว้าหาสมบัติ หาสิ่งบันเทิงใจ บำเรอกิเลสตัวเอง แสวงหาสุข จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมส่งผลให้สิ่งเหล่านั้นได้ตายจากเราไป หรือเราตายจากมันไป คือเกิดการพลัดพรากจากกัน ผลก็คือการสูญเสีย ผู้ที่ไม่เคยระลึกถึงความตายเลยก็จะเกิดอาการอกหักอกพัง

แต่ผู้ที่ระลึกถึงความตายทั้งในด้านที่ว่าชีวิตนั้นต้องตายเป็นธรรมดา และในด้านที่ว่าสภาพที่เคยสุขนั้นๆจะต้องตายเป็นธรรมดา จะเข้าใจและเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่มี ใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด อยู่กับสิ่งที่ควร ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่แสวงหาหรือไขว่คว้าจนไปทำลายความปกติสุขในชีวิต

– – – – – – – – – – – – – – –

4.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)