Tag: รูปภพ

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

November 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,778 views 0

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ

ในกลุ่มของมังสวิรัติวิถีพุทธ เราจะใช้การฝึกและปฏิบัติไปในแนวทางของศาสนาพุทธ คือเพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ เพราะเป้าหมายของการเป็นมังสวิรัติในความหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธ คือผู้ที่ไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์หลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณเลย

เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการกำจัดความอยาก การละความอยาก หรือการทำลายกิเลสนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการ เป็นเครื่องตรวจสอบ ฯลฯ

ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องเรียบเรียงธรรมะเข้ากับการกินมังสวิรัติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติหรือ “มังสวิรัติวิถีพุทธ” ด้วยองค์ความรู้ใน 9 หมวดหมู่ดังนี้

1 ). ทาน ศีล ภาวนา… เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ

การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในมังสวิรัติวิถีพุทธ ต้องเริ่มตามลำดับจากการรู้จักการให้ทาน การถือศีล ไปจนกระทั่งการภาวนา

การให้ทานที่รู้กันโดยทั่วไปนั้นคือการทำบุญทำทาน การสละสิ่งของ ในกรณีเริ่มต้นก็จะเป็นการทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ ส่งเสริมการกินมังสวิรัติ ให้ความรู้มังสวิรัติกับคนอื่น แต่ทานที่จะให้ผลมากนั้นคืออภัยทาน คือทานที่ไม่มีภัย เป็นทานที่สละกิเลส สละความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ออกไป โดยใช้กระบวนการของการถือศีล และภาวนา

การถือศีลคือความตั้งมั่นที่จะลด ละ เลิก การเสพ การติดการยึดความสุขจากการกินเนื้อสัตว์ อย่างจริงจังในช่วงใดช่วงหนึ่งหรือตลอดไปการถือศีลมีหลายลักษณะ เช่น การถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ,การถือศีลเหยาะแหยะ , การถือศีลเพื่อฆ่ากิเลส การถือศีลหรือเข้าใจศีลแต่ละแบบเป็นไปตามบุญบารมีที่แต่ละคนได้สะสมมา

ศีลเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เห็นกิเลส ให้เห็นว่ายังมีบาป บาปคือการสะสมกิเลส การที่ไม่ถือศีลก็เหมือนคนที่ทำบาปแต่ไม่รู้ว่าบาป บาปนั้นมีอยู่เพียงแต่ไม่เห็น

การภาวนาคือการทำให้เกิดผลเจริญ เป็นการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิเลสที่หยาบ ร้าย สร้างทุกข์ โทษ ภัยผลเสียอย่างไรโดยเริ่มเรียนรู้สุขจากความอยากเสพ ทุกข์จากความอยากเสพ และวิธีดับทุกข์คือการล้างความอยากเสพนั้น

ผู้ที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติมังสวิรัติวิถีพุทธควรจะเริ่มเรียนรู้จากทาน ศีล เจริญมาจนถึงภาวนา การจะรู้และเข้าใจการภาวนาได้นั้น เกิดจากการที่เราได้ปฏิบัติทานและศีลมาด้วยบุญบารมีที่เต็มรอบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงภาวนาได้ บางคนติดอยู่ที่ระดับทาน บางคนติดอยู่ที่ระดับศีล สามารถสังเกตได้จากเขาเหล่านั้นไม่ยินดีประพฤติธรรมที่สูงกว่า เจริญกว่า ดังนั้นใครอยู่ในฐานใดก็ควรจะปฏิบัติตามฐานของตน เป็นกรรมฐาน เป็นฐานะตามกรรมของตัวเอง

2 ). ศีล สมาธิ ปัญญา… เป็นกระบวนการปฏิบัติ

ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่แยกจากกัน ปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน ไม่มุ่งเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ผลักไสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน เป็นองค์ประกอบเดียวกัน

เริ่มจากการปฏิบัติศีล ศีลของมังสวิรัติวิถีพุทธก็คือ การละเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งเป็นศีลข้อ ๑ ที่ให้ละเว้นการฆ่าสัตว์ แต่เป็นศีลที่อยู่ในระดับของอธิศีล คือละเอียดกว่าทั่วไป ยากกว่าทั่วไป เพราะนอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังไม่เบียดเบียนด้วย และเรายังต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย สภาวะเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญา

การตั้งศีลนั้นเริ่มจากมีปัญญา เข้าใจถึงประโยชน์ของศีล หากไม่มีปัญญาก็จะไม่ยินดีในการถือศีล เมื่อถือศีลแล้วจึงปฏิบัติศีลนั้นด้วยความตั้งมั่น มั่นคงในศีล มีสมาธิ มีสติ มีขันติ เพื่อดำรงให้ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ใช้ปัญญาพิจารณาโทษของการมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญญาที่เป็นมรรค กลายเป็นปัญญาที่เป็นผลเจริญ คือเข้าใจได้ตามจริงโดยไม่มีกิเลสมาปนเปื้อนว่า ความอยากเสพเนื้อสัตว์ มีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างไร

เมื่อปฏิบัติศีล ด้วยสมาธิ และมีปัญญาแล้ว ผลสุดท้ายที่ได้คือมีสภาวะของศีลในจิตใจอย่างเป็นปกติ ถือศีลได้ปกติ ถือเหมือนไม่ได้ถือ มีอยู่แต่ไม่ได้ถือ ไม่ลำบากในการมีศีล เหมือนสิ่งที่รวมเข้าไปในวิญญาณ มีความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติในชีวิต และมีปัญญาในการหลีกหนีสถานการณ์ที่ต้องไปกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีศิลปะ

3 ). สมถะ วิปัสสนา… เป็นแนวทางปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของสมถะ วิปัสสนาด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น

สมถะ คืออุบายทางใจ โดยทั่วไปจะเป็นการฝึกจากการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งโดยหลักของสมถะแล้ว เป็นการกำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เราสามารถประยุกต์สมถะเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำอาหาร การล้างผัก การหั่นผัก หรือกิจกรรมที่เป็นไปในลักษณะซ้ำๆ มีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการฝึกสมถะทั้งสิ้น

สมถะ นี้คืออุปการะของการวิปัสสนา เป็นส่วนเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพลังสติ พลังสมาธิ ที่ช่วยในการกดข่มความอยาก ดับความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ดียิ่งขึ้น ผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไวก็จะทำสมถะไปควบคู่กับการวิปัสสนา

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา เป็นการพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เมื่อเรามีความอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ เราก็จะมีความลำเอียงไปเพราะรักและหลงในเนื้อสัตว์ วิปัสสนาจะเข้ามาแก้ไขความเห็นผิดในจุดนี้

การทำวิปัสสนานั้นกระทำโดยใช้พื้นฐานของการถือศีลกินมังสวิรัติให้ได้เห็นกิเลส เมื่อเราถือศีลเราจะเห็นทุกข์จากกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ชัดเจน เมื่อเห็นดังนั้นจึงพิจารณาทุกข์จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่นทุกข์เมื่อไม่ได้กินและทุกข์เมื่อไม่ได้เสพเนื้อที่อร่อยสมใจ

พิจารณาความไม่เที่ยงของความสุขที่ได้จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะอยากกินเนื้อสัตว์มากๆแล้วไปเสพ มันก็จะมีความสุขได้ครู่เดียว สุขตอนที่เอาเข้าปาก ตอนที่เคี้ยว พอกินอิ่มสุขนั้นก็หายไป ไม่เหมือนตอนกิน อีกไม่นานก็อยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ สุขจากเสพมันไม่เที่ยงแบบนี้

พิจารณาความไม่มีตัวตนแท้ของกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์นี้ จริงๆมันไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เราไปหลงยึด หลงติดมาเป็นตัวเราของเรา หลงยึดว่าได้เสพเนื้อสัตว์แล้วจะมาความสุข หลงยึดว่าหากเราไม่มีกิเลสตัวนี้เราจะทุกข์ แท้จริงแล้วกิเลสนี่แหละตัวทำให้ทุกข์ และกิเลสไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กิเลส เราสามารถทำลายกิเลสนี้ได้ ผลักไสมันออกจากตัวเราได้

พิจารณาประโยชน์ของการไม่มีความอยากเสพเนื้อสัตว์และโทษจากความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น โดยพิจารณาไปตามความเป็นจริง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง และโทษที่เกิดขึ้นจริง

พิจารณากรรมและผลของกรรม หากเรายังมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ จะสร้างผลกรรมให้เราอย่างไรบ้าง จะต้องรับวิบากกรรมไปอีกเท่าไหร่ กรรมที่เราต้องรับจะคุ้มค่ากับความอยากเสพของเราแค่ไหน

การวิปัสสนานั้น เป็นการพิจารณาธรรม ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพื่อให้กิเลส จางคลาย ลด หด หายไปตามลำดับ มิใช่ทำเพื่อบรรลุธรรมโดยทันที เพราะการบรรลุธรรมโดยทันทีนั้นไม่มีทางเกิดได้หากไม่ได้สะสมบุญบารมีมาแต่ปางก่อน ผู้ที่ยังมีบุญน้อย มีกุศลน้อย นั่นเพราะเขาลดกิเลสมาน้อย สะสมกิเลสมาเยอะ ดังนั้นการล้างกิเลสจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก ไม่ควรหวังผล หรือเร่งผลจนเกินไป

4 ). ไตรสิกขา… เป็นขั้นตอนการปฏิบัติ

ไตรสิกขา คือการศึกษาสามอย่าง อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา …อธิ แปลว่ายิ่งขึ้น การใช้ไตรสิกขาในการกินมังสวิรัติก็คือการยกระดับการกินมังสวิรัติให้เบียดเบียนน้อยลง เช่น ตอนแรกเราลดเนื้อวัว พอทำให้ความอยากจางคลายได้เราก็มาลดเนื้อหมู ลดเนื้อไก่ ลดปลา ลดกุ้ง ลดปลาหมึก ลดลูกชิ้น ลดขนมที่มีรสของเนื้อสัตว์ ลดไข่ ลดนมวัวฯลฯ

คือการพัฒนาขอบเขตของศีลขึ้นไป เมื่อเราขยายของเขตของศีล หรือการละเว้นต่างๆขึ้นไป เราก็ต้องขยายขอบของสมาธิ และปัญญาด้วย เพื่อที่จะปฏิบัติศีลนั้นให้เจริญไปถึงผลของศีลนั้นๆได้ เมื่อปฏิบัติได้ก็ขยับเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

5 ). ลด ละ เลิก ไปตามลำดับ…เป็นลำดับการปฏิบัติ

การปฏิบัติไตรสิกขาในระดับย่อย ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ในแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่นเนื้อวัว อธิศีลของคนที่เสพติดเนื้อวัวมากๆก็คือการลด คือลดปริมาณการเสพเนื้อวัว หันมากินผักให้มากขึ้น หรือเสพเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆไปก่อน เช่น ไก่ หรือปลา (เราต้องแก้โจทย์ไปทีละตัว ในตอนนี้คือเนื้อวัว)

เมื่อลดเนื้อวัวได้แล้ว เราก็จะมาละเนื้อวัว อาจจะละในชนิดของเนื้อวัวเช่น สเต็กไม่กิน แต่ถ้าในก๋วยเตี๋ยวก็อาจจะพอเสพอยู่ หรือใช้การละเป็นช่วงเวลาเช่น วันจันทร์-ศุกร์ไม่กินเนื้อวัว , สัปดาห์นี้ไม่กินเนื้อวัว , เดือนนี้ไม่กินเนื้อวัว , ปีนี้ไม่กินเนื้อวัว ลองหัดละ หัดพรากจากเนื้อวัวดู

หากเรารู้สึกไม่ทุกข์ทรมานจากการละก็ให้ตั้งศีลเลิกเนื้อวัวไปเลย ตั้งใจว่าจะเลิกทั้งชีวิตไปเลย จากนี้และตลอดไปจะไม่มีวันอยากกินเนื้อวัวอีกเลย จะไม่สั่ง ไม่หยิบ ไม่เอาเนื้อวัวเข้าปากอีกเลย เมื่อตั้งศีลได้ดังนี้ก็จะเห็นกิเลสในระดับละเอียดขึ้นไปอีก ก็พิจารณาฆ่ากิเลสต่อไป

การปฏิบัติไปตามลำดับนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเจริญขึ้นตลอดเวลา บางครั้งเราก็อาจจะมีแรงไม่พอที่จะสู้กิเลสซึ่งก็ต้องถอยกลับมากินเนื้อสัตว์บ้างเพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมานจิตใจมากเกินไป หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์บางชนิดที่ติดมากๆ ก็ให้ละเว้นการตั้งศีลละเนื้อสัตว์ชนิดที่ติดมากไปก่อน ให้ปฏิบัติกับเนื้อสัตว์ที่ติดไม่มากไปก่อน เพราะการตั้งศีลที่ยากเกินกำลังนั้นนอกจากจะปฏิบัติยากแล้ว อาจจะทำให้ท้อแท้ต่อการปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้

6 ). ทางสายกลาง… เป็นขอบเขตของการปฏิบัติ

คำว่าทางสายกลางนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่โต่งไปในสองด้าน ด้านหนึ่งคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ อีกด้านหนึ่งคือการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีถือดี อยากกินเนื้อสัตว์แล้วอดทนจนทรมาน เพราะมีความอยากเสพแรงแต่อดกลั้นไม่ไปเสพ

ในด้านของความอยากเสพเราจะเรียกว่า “ กาม ”(กามสุขัลลิกะ) เราจำเป็นต้องละเว้นกามก่อน เพราะกามนี้เองคือสิ่งที่ผลักดันให้เราไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปกินเนื้อสัตว์ ไปหลงงมงายอยู่ว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี สิ่งเลิศ สิ่งจำเป็น เราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ เราจึงต้องละเว้นจากทางโต่งด้านนี้เสีย

ในด้านการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีเราจะเรียกว่า ” อัตตา ” (อัตตกิลมถะ)เมื่อเราละเว้นกามจนเกินพลังของเรา บางครั้งจะเข้าไปในขีดของการทรมานตัวเอง เพราะความยึดดี ถือดี อยากเสพมากแต่ก็ไม่ไปกิน ทำให้เครียด ทำให้กดดัน ทำให้ท้อ ทำให้ทุกข์ อัตตานี้เองคือการเบียดเบียนตัวเอง เพราะมีความยึดดีถือดี เมื่อมีความอยากเสพเกินกำลังและมากจนเริ่มเครียด เริ่มทรมาน เราจึงควรลดอัตตาลง ไปเสพเนื้อสัตว์เพื่อให้คลายความทรมานบ้าง

ทั้งนี้คนที่ยึดมั่นในอัตตา เพราะมีความถือดี คิดว่าตัวเองทำดีได้มากกว่านั้น เป็นความโลภ ความอยากได้การบรรลุธรรมที่เกินฐานะของตัวเอง เกินกว่าที่ตัวเองทำมา กิเลสมีพลังมหาศาล แต่คิดเพียงว่าจะอดเอาทนเอา ซึ่งเมื่อจิตใจเข้าสู่สภาวะของอัตตาเมื่อไหร่ ก็เรียกได้ว่าปิดประตูบรรลุธรรม นั่นหมายความว่าถึงจะอดเอาทนเอา แต่ถ้าเกินความพอดีก็ไม่บรรลุธรรมเหมือนกัน การมีอัตตาจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่จะยึดไว้

ในการปฏิบัติสู่ทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคนั้น ต้องปฏิบัติไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ไม่เสพเนื้อสัตว์ และไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ในขณะที่ปฏิบัติมรรคไปในเวลาเดียวกันจึงจะเกิดความเจริญ ในช่วงที่ปฏิบัติและยังไม่ถึงผลนั้น ก็จะเหมือนคนเดินเซ ซ้ายที ขวาที แต่ถ้าปฏิบัติจนล้างกิเลสได้ กิเลสตายแล้ว จะเข้าสู่สภาพของมรรคเอง

7 ). ข้ามกิเลส ข้ามสามภพ… เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ

การข้ามกิเลสนี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่ามีกิเลส ซึ่งเป็นแรงผลักดัน เป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ 4 หมวด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข คือการที่เราไปเสพติดเนื้ออย่างลุ่มหลง มัวเมา เช่นการตามไปกินเนื้อสัตว์ตามที่เขานิยม เดินทางไปเสาะหาร้านเนื้อสัตว์ที่มีชื่อเสียงเพราะหลงมัวเมาในความเป็นเนื้อ หลงว่าการกินเนื้อคือความสุข ความเจริญ

กามคุณ คือ กิเลสในระดับที่เราติดรส ไม่ได้ตระเวนไปเสาะหาเนื้อที่ดีเลิศ แต่เมื่อมีโอกาสจะสั่งเนื้อสัตว์ที่ชอบตลอดเพราะหลงในรส หลงในสัมผัสของเนื้อ

โลกธรรม คือการที่เราไปติดกับคำพูดของคนอื่น ในกรณีที่เลิกยังไม่เลิกเสพ ก็จะไปติดกับคำพูดคนอื่นจนไม่เลิกเสพ ในกรณีที่เราไม่กินเนื้อแล้ว เราก็มักจะกลับไปกินเนื้อเพราะความเกรงใจคนอื่น กลัวคนอื่นลำบากใจ กลัวเป็นคนยุ่งยากเรื่องมาก กลัวและกังวลต่อความคิดเห็นของคนอื่น

อัตตา คือการที่เราไปยึดเนื้อสัตว์ไว้เป็นเสมือนสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เช่น เราจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วไม่แข็งแรง ฉันชอบกินเนื้อสัตว์ ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ และเมื่อเราข้ามความอยากกินเนื้อสัตว์ไปแล้วจะไปเจออัตตาในมุมของนักมังสวิรัติผู้ยึดดีถือดี

การข้ามสามภพ … สามภพนั้นคือสภาวะที่เราติดกิเลสอยู่ในสามลักษณะ ในส่วนแรกคือกามภพ คือการที่เรายังไปเสพ ไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าเรายังไปเสพไปกินด้วยความอยากกิน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เราก็ยังอยู่ในกามภพ

รูปภพ คือสภาพที่เจริญขึ้นมาจากกามภพ เป็นสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว สามารถอดกลั้นได้ แต่หากเห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบก็จะมีอาการอยากเกิดขึ้นจนรู้สึกได้ มีความคิดที่จะไปกินเนื้อสัตว์ มีความคิดถึงเนื้อสัตว์นั้นเป็นรูปที่สัมผัสได้ชัดเจน ดังเช่น การปรุงแต่งความคิดภายในใจประมาณว่า “เนื้อชิ้นนี้น่าอร่อยจัง แต่เราต้องอดไว้ทนไว้

เมื่อผ่านรูปภพได้แล้ว จะเข้าสู่อรูปภพเป็นสภาวะที่เห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบแล้วก็จะไม่มีการปรุงแต่งความนึกคิดหรือคำพูด หรือการกดข่มใดๆอีก คือไม่มีรูปให้เห็น ไม่เห็นกิเลสเป็นตัวชัดๆแล้ว แต่จะเหลือความขุ่นใจ กังวลใจ ห่วงหา เป็นความไม่โปร่งไม่โล่ง ไม่สบายใจ แต่ไม่ออกมาเป็นรูปของคำว่า “อยากกินเนื้อ” จะเหลือแต่อารมณ์ขุ่นๆ ไม่ใส ซึ่งยากต่อการรู้และตรวจสอบ เมื่อเข้าสู่ภาวะของอรูปภพ คนมักจะประมาทหลงว่าบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งการข้ามอรูปภพนี้แหละคือโจทย์ปราบเซียน โจทย์สุดท้ายก่อนถึงวิมุตติ

สามภพนี้เราควรละเสียให้หมด เพราะถ้าทำลายไม่หมด แม้จะเจริญได้ถึงอรูปภพแล้ว แต่ประมาทสะสมกิเลส ก็วนกลับไปกามภพได้เช่นกัน แต่ถ้าเราเพียรพยายามละทั้งสามภพนี้เสียจะพ้นสภาพของความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร ไม่กลับกำเริบอีก

8 ). ทำลายอัตตา… เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ

เมื่อเราล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ หรือมีความตั้งใจที่ละเว้นเนื้อสัตว์แล้ว เราจะเกิดความยึดดีถือดีขึ้นมา เรียกว่าอัตตา อัตตานี้เองคือสิ่งที่จะช่วยให้เราออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เพราะการที่เราจะออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้นั้น เราจะต้องเกลียดเนื้อสัตว์ เห็นโทษของเนื้อสัตว์ เมื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์จะได้อัตตาก้อนโตมาหนึ่งก้อน

เมื่อมีอัตตาก้อนโต ก็มักจะไปดูถูกคนที่ยังกินเนื้อ ยกตนข่มท่าน โอ้อวด หัวดื้อ ฯลฯ เรียกได้ว่าออกจากนรกเนื้อสัตว์ได้เราก็จะได้คนติดดีมาหนึ่งคน ซึ่งนั่นก็ชั่วอยู่นั่นเอง เพราะคนติดดีนี่แหละที่จะทำลายความสามัคคี ทำลายกลุ่ม แบ่งคนออกเป็นสองพวก เพราะมีความยึดดี ถือดี หลงว่าตนเป็นคนดี

คนติดดีในมังสวิรัติ ในบางครั้งนอกจากที่เขามักจะไปข่ม ไปแขวะ ไปทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์แล้ว ความถือดีเหล่านั้นยังมักจะมาทำร้ายผู้ที่กินมังสวิรัติด้วยกันด้วย เช่นพอหลงว่าตนเก่งตนดี ก็มักจะข่มคนที่กินมังสวิรัติได้ด้อยกว่า หรือถ้าเห็นใครเป็นมังสวิรัติแล้วผิดกฎที่เขาตั้งไว้ เขาก็มักจะทำตัวเป็นผู้พิพากษามังสวิรัติ ด้วยความยึดดีถือดีในตัวเขานั่นเอง

ความยึดดีถือดีถ้ามีมากขนาดนี้เรียกได้ว่าโง่สุดโง่ เพราะแทนที่จะชวนคนกินเนื้อมากินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะส่งเสริมให้คนหัดกินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะเห็นดีกับเพื่อนที่กินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา เรียกได้ว่าทำกรรมชั่วกับคนดี แล้วแบบนี้บาปและอกุศลกรรมจะไปไหนเสีย

คนที่ยังเบียดเบียนคนอื่นด้วยอัตตา หรือความยึดดีของตัวเอง ก็ยังถือว่าเป็นการเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะไม่ได้ไปเบียดเบียนสัตว์ แต่ก็ไปเบียดเบียนคนอื่น มันก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง จะเรียกว่าคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

คนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามากๆ เวลาเห็นสัตว์ถูกทรมานแล้วจะเกลียด เห็นอาหารเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกและดีอยู่คนเดียว สร้างความทรมานใจให้ตัวเอง แถมบางครั้งยังไปทำร้ายจิตใจคนอื่น เป็นนรกล้วนๆ

การที่ยังมีอัตตาอยู่แม้น้อย นั่นคือตัวกันไม่ให้เราบรรลุธรรม ในมังสวิรัติวิถีพุทธ การที่เราจะถึงเป้าหมายปลายทางคือความผาสุกจากการหมดสิ้นกิเลส เราจำเป็นต้องล้างกาม และอัตตาจนสิ้นเกลี้ยง

9 ). ตรวจสอบวิมุตติ … เป็นที่สุดของการปฏิบัติ

เป้าหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธคือวิมุตติ หรือสภาพของการหลุดพ้นกิเลส คือหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน แม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ หรือเห็นว่าคนอื่นกินเนื้อสัตว์ ไม่ติดดี ยึดดี ถือดี ในเรื่องของเนื้อสัตว์ ใครจะกินมังสวิรัติก็ได้ ไม่กินก็ได้ ลดแค่เนื้อวัวก็ได้ หรือจะลดเท่าไหร่ก็ได้ มีความยินดีกับทุกคนที่สนใจกินมังสวิรัติ ไม่รู้สึกยินร้ายแม้ว่าใครจะไม่กินมังสวิรัติ หรือไม่เอาดีตามที่ตนเองได้แนะนำ หรือแม้แต่เห็นผู้ที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกยินร้าย หรือรู้สึกทุกข์ โกรธ แค้น ขุ่นเคืองใดๆ

ไม่ได้มีความรังเกียจเนื้อสัตว์ หรือการที่สัตว์จะมาตาย ไม่มีแม้แต่ความรังเกียจใดๆที่ใครสักคนจะยินดีและหลงเสพเนื้อสัตว์ เพราะเข้าใจในกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้ เข้าใจเรื่องกิเลสอย่างชัดเจน รู้แจ้งทุกเหลี่ยมทุกมุม รู้ดีว่าการทำลายกิเลสนั้นยากแค่ไหนและเข้าใจว่าทำไมคนถึงยังหลงเสพหลงยึด

ผู้ที่บรรลุธรรมจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ไปทำให้ตัวเองและผู้อื่นเกิดความทุกข์ ไม่เอาความดีที่ตนมี ไปอวดเบ่ง ไปกดดัน ไปข่มเหง ไปทับถมผู้อื่น

สภาพของวิมุตติคือสภาวะจิตที่ข้ามกิเลสสามภพ เป็นสภาพที่ไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด แต่เห็นประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง เป็นสภาพที่กิเลสตายและไม่กลับมากำเริบ แม้จะได้เผลอหรือตั้งใจกลับไปทดลองกินเนื้อสัตว์แต่ก็ไม่มีวันที่ความอยากกินนั้นจะกลับมาอีก จะไม่มีวันที่จะเกิดความสุขจากการเสพอีก เพราะมีความสุขที่มากกว่าแล้ว นั่นคือสภาพของวิมุตติ หรือสุขจากการพ้นกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

November 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,361 views 1

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นการปฏิบัติไปทั้งหมดภายในเวลาเดียวกันไม่แยกจากกัน ในศีลก็มีสมาธิและปัญญา ในปัญญาก็มีศีลและสมาธิ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล และทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะเป็นไปเพื่อกันและกัน หากเรานำมาแยกปฏิบัติ จะเกิดสภาพที่เรียกได้ว่าขาดๆเกินๆ เช่น…

…ถ้าปฏิบัติแต่ศีล ก็จะกลายเป็นคนเคร่งเครียดในศีล ถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือโดยไม่มีปัญญา ไม่รู้สาระในศีล รู้แค่ว่าถือศีลแล้วดี ยิ่งถือศีลมากๆยิ่งดี กลายเป็นหลงงมงายในศีลไป

…ถ้าปฏิบัติแต่สมาธิ ก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษี เข้าภพ เข้าฌาน เข้าภวังค์ สะสมพลังสติ เมาสติ เหมือนนักกล้ามที่ออกกำลังกายเพื่อกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้จะเอาความแข็งแกร่งนั้นไปทำประโยชน์อะไร อย่างเก่งก็ดับความคิด ดับสัญญา แต่ดับกิเลสไม่เป็น

…ถ้าปฏิบัติแต่ปัญญา ก็จะกลายเป็นพวกฟุ้งซ่าน อ่านพระไตรปิฏกมากมาย จำได้พูดคล่องเหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่เข้าใจสาระ ไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติ รู้แค่ตามที่ได้ยินได้ฟังมา

จะเห็นได้ว่าถ้าเรามุ่งแต่ปฏิบัติตัวใดตัวหนึ่งก็จะทำให้หลงมัวเมาไปได้ และโดยส่วนมากผู้ที่หลงมัวเมามักจะไม่รู้ตัว และยึดมั่นถือมั่นในแนวทางที่ตนเองได้ปฏิบัติมา ทำให้การปฏิบัติธรรมไปสู่ความผาสุกนั้นเนิ่นช้าไปเรื่อยๆ เรามาลองดูว่าถ้าปฏิบัติแล้วขาดบางอย่างไปจะเป็นอย่างไร

…ถ้าขาดศีลก็จะฟุ้งไปไกล มักจะหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม มีกำลังสติ สามารถตั้งจิตให้มั่น คงสภาพนั้นๆ เกิดสมาธิได้นาน แถมมีปัญญา คิดและเข้าใจไปเองว่าตนเองมีกำลังสติมาก และเข้าใจธรรมได้ขนาดนี้ ต้องบรรลุธรรมแน่เลย เข้ารกเข้าพงกันไปตามความฟุ้งซ่านของปัญญา

…ถ้าขาดสมาธิก็ยากที่จะเจริญในการปฏิบัติธรรม เหมือนคนอยากวิ่งมาราธอนแต่ร่างกายอ่อนแอ วิ่งไปได้สักพักก็หมดแรง แข่งงานไหนก็ไม่ถึงเส้นชัยกับเขาเสียที แม้จะสามารถถือศีลได้อย่างมีปัญญา แต่ถ้ากำลังสติน้อย ก็ยากที่จะเอาชนะกิเลส ยากที่จะดำเนินไปสู่ปัญญาที่เป็นผลได้

…ถ้าขาดปัญญาก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษีที่เคร่งวินัย สามารถถือศีลที่ยากๆ และลำบากได้ง่ายๆ เพราะมีสติมาก แต่เป็นการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือศีลแล้วล้างกิเลสไม่เป็น ถือศีลไปอย่างนั้น ไม่รู้คุณค่า ไม่รู้สาระ ไม่รู้วิธีใช้ศีลให้เกิดปัญญา โดยมากแล้วจะมีรูปสวย ภาพลักษณ์ดูดี คนในสังคมนิยมชมชอบ เพราะจะดูนิ่งและสงบมาก แต่ถ้าให้สอนหรือถ่ายทอดก็จะสอนไม่เป็น ยิ่งสอนยิ่งงง พอโดนไล่ถามมากๆก็มักจะโกรธ หรือไล่ให้ไปปฏิบัติจะรู้เอง เพราะตนเองนั้นไม่ได้บรรลุธรรม ไม่ได้ดับกิเลส เมื่อดับกิเลสไม่เป็นก็ไม่สามารถสอนหรือบอกใครได้

แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติถูกทาง การขาดตัวใดตัวหนึ่ง หรือปฏิบัติขาดๆเกินๆจะไม่เกิดขึ้น ศีล สมาธิ และปัญญา จะเสริมเติมกันเองตลอด ยกระดับขึ้นไปพร้อมๆกัน ไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่งมากนัก เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เรามาเข้าภาคปฏิบัติกันเลย

1). ปฏิบัติศีลด้วยปัญญาที่เป็นมรรค

ก่อนที่ใครสักคนจะปฏิบัติศีลนั้น เขาจำเป็นต้องมีปัญญาในเบื้องต้น ที่จะทำให้ยินดีที่จะปฏิบัติศีลนั้น เช่นเห็นคุณค่าของศีล เห็นว่าศีลนั้นดี เช่นถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์อย่างเคร่งครัด เพราะเห็นแล้วว่าศีลข้อนี้จะทำให้ตนไม่ทำบาป การถือศีลนั้นจึงต้องมีปัญญาร่วมด้วยเสมอ ส่วนคนไม่มีปัญญาก็จะไม่ถือศีลเพราะมองว่าศีลนั้นเป็นของไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ เหตุนั้นเพราะเขาเองไม่มีปัญญาพอที่จะเห็นสาระและประโยชน์ในศีลนั้นๆ

2). ปฏิบัติศีลด้วยสมาธิ

เมื่อตั้งศีล ถือศีล พร้อมเอาศีลมาปฏิบัติแล้ว จากนี้ก็ต้องใช้ความอึด ความอดกลั้น ความอดทน ใช้สติ ใช้ขันติ ให้เกิดสภาพของศีลอย่างต่อเนื่อง คือถือศีลอย่างมีสมาธิ ในขั้นตอนนี้ไม่ง่าย เพราะเปรียบได้กับการเข้าสมรภูมิรบ เช่นเราตั้งศีลว่าจะไม่กินกาแฟ เมื่อเราได้กลิ่นกาแฟ กิเลสก็มักจะหาเหตุผลให้เราไปเอากาแฟมากินเสมอ หรือนั่งอยู่เฉยๆ ก็อาจเกิดอาการอยากกาแฟขึ้นมาเลยก็ได้ สมาธิจะเข้ามาทำงานอย่างมากในช่วงนี้ ต้องอด ต้องทน ต้องฝืนต่อพลังของกิเลสในจิตใจ กดข่มมันไว้ ไม่ไปเสพสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะละเว้นไว้ เราสามารถเพิ่มพลังสมาธิ หรือกำลังสติได้โดยการฝึกสมถะ

3).สมาธิไปสู่ปัญญา

เมื่อคงสภาพของสมาธิได้แล้ว จึงใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณา หรือที่เรียกว่าวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาคุณประโยชน์ของการออกจากสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาโทษของสิ่งที่เป็นภัย พิจารณากรรมและผลของกรรมหากเรายังไปเสพสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาไตรลักษณ์ คือความอยากเสพนั้นทำให้เราทุกข์อย่างไร ความอยากเสพนั้นไม่เที่ยงอย่างไร มันไม่ได้เกิดตลอดใช่หรือไม่ มันเกิดแล้วมันก็ดับไป พิจารณาอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนของทุกข์นั้น ความอยากไม่ใช่เรา กิเลสไม่ใช่เรา เรายึดมันมาเอง เราเป็นคนต้อนรับกิเลสเข้ามาในชีวิตเราเอง แท้จริงมันไม่ใช่เรา

4).ปัญญาที่เป็นผลเจริญ

เมื่อสามารถถือศีล อย่างมีสมาธิ และใช้ปัญญาที่เป็นมรรค คือทางเดิน คือกระบวนการ พิจารณาล้างกิเลส จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จะสามารถที่จะดับกิเลสนั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยงจะเกิดสภาวะของฌานไปตามลำดับ คือปีติ สุข อุเบกขา ซึ่งจะข้ามวิตกวิจารณ์ไป เพราะทำตั้งแต่ในข้อสามแล้ว ฌานนี้จะไม่เหมือนกับวิธีเข้าฌานนั่งสมาธิ เพราะเป็นฌานเพ่งเผากิเลส จะเกิดก็ต่อเมื่อได้ทำการล้างกิเลสจนเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ ซึ่งการเกิดสภาพของฌานแรงหรือเบา ผ่านไปเร็วหรือตั้งอยู่นาน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นความยากของกิเลสนั้นๆ หรือความเคยชินของการฆ่ากิเลส

5).ปฏิบัติไปจะค่อยๆยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนมหาสมุทร ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ

การปฏิบัตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำทีเดียวบรรลุธรรมถึงวิมุตติได้เลย จะรู้แจ้งเข้าใจได้เลย แต่จะต้องทำไปตามลำดับ เกิดปัญญาไปตามลำดับ เพิ่มพลังสติไปตามลำดับ ปฏิบัติอธิศีล แปลว่า ยกระดับศีลไปเรื่อยๆ เพื่อปฏิบัติอธิจิต และอธิปัญญา การปฏิบัติเช่นนี้จะเจริญไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น แต่มันจะไม่รู้สึกยากเหมือนกับตอนแรกที่เราเริ่มปฏิบัติธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนแรกเราตั้งใจเลิกกาแฟเลย มันจะยากมาก มันจะตัดใจยาก มันจะทรมาน มันจะแพ้กิเลสอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าเราหัดลดปริมาณการดื่มจากวันละสองแก้วเป็นวันละแก้ว ค่อยๆหัดละจากกินทุกวันเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน เพิ่มวันที่ละให้เยอะขึ้นจาก 3..4..5.. วัน จนถึง 1 เดือน 2 เดือน สุดท้ายก็จะสามารถตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น เพราะเราปฏิบัติธรรมไปตามลำดับ เจริญไปตามลำดับ เก็บสะสมพลังสติ พลังปัญญาไปตามลำดับ

6).เมื่อถึงเป้าหมาย สามารถอนุโลมถอยกลับมาได้

เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถล้างกิเลสนั้นได้จริง เรียกว่าถึงวิมุตติ จะมีสภาพรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในความอยากนั้น จะไม่มีวันที่จะกลับไปอยากเสพอีก รู้โทษชั่วของการเสพสิ่งนั้น รู้ชัดว่าต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะสามารถทำลายกิเลสนั้นได้ จึงสามารถย้อนกลับไปสอนหรือแนะนำคนที่ยังไม่ผ่านกิเลสด่านนั้นได้ หรือกระทั่งสามารถอนุโลมกลับไปเสพได้ในบางกรณี โดยไม่เกิดบาป เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส ผู้ที่กำจัดกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว แม้จะกลับไปเสพก็ไม่บาปแต่อย่างใด แต่จะมีอกุศล หรือโทษภัยบางอย่างเช่น ถ้ากลับไปกินกาแฟ ก็ไม่ได้กินเพราะความอยาก ไม่ได้ติดใจในรสชาติ แต่มีเหตุจำเป็นต้องใช้สารที่ทำให้ตาสว่าง จึงยอมรับผลเสียต่อสุขภาพนั้นไป และถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่กลับไปใช้วิธีนั้นอีก จะสามารถทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปได้อีก หาวิธีเลี่ยงสิ่งนั้นเก่งขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ายิ่งเสพยิ่งทุกข์

ในขั้นตอนนี้ คนที่หลงว่าตนบรรลุธรรมมักจะเอาไปอวดอ้างว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว ไม่เกิดกิเลสแล้วจึงเสพได้ เสพไปจิตไม่เกิด ไม่คิดอะไร ความหลงในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล วิธีตรวจสอบคือ เราต้องปฏิบัติตนให้เป็นผู้บรรลุธรรมเอง ก็จะทำให้รู้ความแตกต่างของคนที่หลงว่าตนบรรลุธรรม กับคนที่บรรลุธรรมจริง ได้ชัดเจนขึ้น จะประมาณได้เก่งขึ้นว่าแตกต่างกันอย่างไร อันไหนจริง อันไหนหลอก จะกระจ่างขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะมีส่วนของวิบากกรรมที่อาจจะมาทำให้การประเมินผิดพลาดได้

เมื่อทุกสิ่งไม่เที่ยง และโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ การจะไปสนใจคนอื่นนั้นเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ สู้เอาเวลาที่มีมาเพ่งเพียรปฏิบัติให้ตนเองเกิดผลเจริญจะดีกว่า ส่วนใครจะของจริงของปลอมอย่างไรมันก็เรื่องของเขา บาปบุญของเขา อะไรดีเราก็ช่วยเหลือส่งเสริม อะไรไม่ดีเราก็ห่างเข้าไว้

7).ได้มาหนึ่ง แต่ต่อไปก็จะง่ายขึ้นเพราะทำเป็นแล้ว

เมื่อสามารถเข้าใจกระบวนการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือการปฏิบัติไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาแล้ว ความเข้าใจนี้หมายถึงเข้าใจตั้งแต่มรรคไปจนถึงผล เข้าใจตั้งแต่การเริ่มมีปัญญา มาปฏิบัติ จนทำลายกิเลสนั้น ก็จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆได้ เพราะกิเลสทุกตัวก็ทำลายเหมือนกันนั่นเอง คือพิจารณาลงไปถึงที่เกิดแล้วใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ เพื่อดับมัน

ในกรณีที่ทำลายกิเลสตัวใหญ่หรือตัวที่ติดมากได้แล้ว เราจะสามารถเก็บตัวเล็กตัวน้อยได้ง่ายขึ้น เช่นเราติดกาแฟแล้วทำลายความอยากกาแฟทิ้ง เราจะสามารถพิจารณาฆ่ากิเลสที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟได้ง่ายขึ้น เช่น ชา โกโก้ เพราะอยู่ในหมวดของความอยากในรส กลิ่น ของกินเล่น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะติดสิ่งใดในมุมไหน ซึ่งเหลี่ยมมุมของกิเลสในแต่ละคนก็จะต่างกัน

8).พลาดไปกับกิเลสเป็นเรื่องปกติ

คนที่ตั้งใจปฏิบัติศีล เพื่อล้างกิเลสนั้น ถ้าปฏิบัติใหม่ๆมักจะมีอัตตาแรง แพ้ไม่เป็น แพ้แล้วชอบล้มเลิก แพ้แล้วชอบตีตัวเองซ้ำ โทษตัวเอง ทำทุกข์ทับถมตน อยากทำลายกิเลสไวๆ อยากให้เกิดผลมากกว่าที่ปฏิบัติ เข้าใจว่าการที่ตนเองปฏิบัตินั้นต้องผ่านกิเลสได้ พอผ่านไม่ได้ก็ทุกข์ อกหักอกพัง

บ้างก็เจ็บ ขยาด หนีไปเลียแผลกันอยู่นาน บ้างก็เลิกถือศีลนั้นไประยะหนึ่ง บ้างก็เลิกปฏิบัติธรรมไปเลย นั่นเพราะเราคาดหวังความสมบูรณ์แบบ คิดว่าทุกอย่างต้องสำเร็จดังใจ คิดว่าเราต้องทำได้ คิดว่าเราต้องไม่พลาด ทั้งๆที่ไม่ได้มองความจริงเลยว่ากิเลสเราช่างหนาและยิ่งใหญ่นัก การจะเอาชนะมันด้วยการคิดเอา จินตนาการเอานั้นเป็นไปไม่ได้เลย

การพลาดไปกับกิเลสแม้ว่าเราจะถือศีล อย่างตั้งมั่น มีสติอย่างเต็มเปี่ยม มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิด เพราะถ้ากิเลสใดง่าย เราก็จะผ่านมันไปแบบไม่สนใจ ไม่รู้คุณค่า เมื่อผ่านกิเลสง่ายๆได้หมด สุดท้ายก็ต้องตั้งศีลที่ยากขึ้น หรือปฏิบัติอธิศีล เช่น จากกินสามมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียว เมื่อถือศีลเกินฐานเดิม ความผิดพลาดก็มักจะมีเป็นเรื่องธรรมดา

การพ่ายแพ้กิเลสเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราจะไม่ล้มนาน และเราจะไม่แพ้ตลอดไป ถึงแม้ว่าเราจะแพ้ เราก็จะหน้าด้านสู้ ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโทษของกิเลสนั้นต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ย่อท้อ

9).ฝึกสติแต่ไม่ปฏิบัติศีล

เรามักจะได้เห็นการฝึกสติ ที่ไม่ปฏิบัติศีลอยู่เป็นประจำ ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น หากเราปฏิบัติ เจริญสติ แต่ไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนคนที่เพาะกล้ามแต่ไม่รู้จะเอากล้ามไปทำประโยชน์อะไร เหมือนมีดที่ลับคมดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้เอาไปหั่นอะไร เหมือนคนที่เรียนรู้วิชามากมาย แต่ก็ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์อะไร

การปฏิบัติศีลเหมือนการเข้าสมรภูมิรบ ผู้ที่ฝึกสติแต่ไม่สนใจศีล ก็เหมือนกับสิงห์สนามซ้อม หมูสนามจริง เพราะจริงๆแล้ว เราสามารถพัฒนากำลังสติของเราได้ระหว่างที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาไปพร้อมๆกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจะสามารถรู้ถึงกำลังสติของตัวเองที่เจริญขึ้นมาได้ เป็นสัมมาสติ เป็นสติที่มีเพื่อการดับกิเลส ไม่ใช่การฝึกสติแบบฤาษีชีพราหมณ์ ซึ่งการฝึกสติหรือทำสมาธิสะสมพลังฌานเช่นนั้นมีมาก่อนศาสนาพุทธแล้ว เป็นการฝึกสติและสมาธิทั่วๆไป ที่มีอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่ได้พิเศษเหมือนสติแบบพุทธ หรือสัมมาสติ คือสติที่เป็นไปเพื่อการทำลายกิเลสเท่านั้น

ผู้ที่ฝึกมิจฉาสติมากอาจจะทำให้ไปหลงในฤทธิ์ ในคุณวิเศษ หรือหลงในมโนมยอัตตาของตัวเอง คือการที่จิตตัวเองปั้นภาพ หรือเสียง เหตุการณ์ อารมณ์ ความสุข ฯลฯขึ้นมาเอง เช่นการเห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นการปั้นที่เกิดมาจากกิเลส ดึงสัญญาที่เคยจำไว้ออกมาเป็นภาพ ภาพที่เห็นจะเห็นจริงๆ เสียงที่ได้ยินจะได้ยินจริงๆ แต่ไม่ใช่ของจริง จะรับรู้ได้อยู่คนเดียว เห็นเทวดา ผีสาง นรกสวรรค์ก็เป็นไปตามจินตนาการของคนนั้นคนเดียว กลายเป็นหลงว่าบรรลุธรรม หลงไปติดภพ ติดนิมิต ติดมโนมยอัตตา

คนเหล่านี้จะสามารถพบเหตุการณ์ที่คนอื่นไม่เห็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระของการปฏิบัติธรรม เพราะกิเลสไม่ตาย อย่างมากก็ได้แค่กดข่มข้ามภพข้ามชาติ เหมือนอาจารย์ของพระพุทธเจ้า คืออุทกดาบส และอาฬารดาบส เข้าได้ถึงอรูปฌาน แต่ทั้งหมดเป็นฌานฤาษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ฌานพุทธต้องเกิดจากการเพ่งเผากิเลสเท่านั้น นอกนั้นเป็นสภาวะของการกดจิตให้ดำดิ่งลงไปในภพต่างๆทั้งสิ้น

10).ปฏิบัติศีลเกินกำลังสติ

ก่อนจะเข้าเรื่องว่าอะไรมากไปน้อยไปจะขอเกริ่นเรื่องทางสายกลางเสียก่อน ทางสายกลางของพุทธนั้นต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือเว้นจากกามสุขัลลิกะ และอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นบทแรกที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม นั่นคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

กามสุขัลลิกะ  คือการไปเสพสุขลวง ไปเสพสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขและความสุขนั้นมาจากกิเลส ท่านให้เว้นจากทางนี้คือไม่ไปเสพสุขลวง

อัตตกิลมถะ คือการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือมีความยึดดี ถือดี ท่านให้เว้นจากทางนี้เช่นกัน คือไม่ให้มีอัตตา

การจะปฏิบัติให้เข้าสู่ทางสายกลางนั้นต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้าน กามก็ไม่ไปเสพ อัตตาก็ไม่มี จึงจะเข้าสู่สภาวะของทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคมีองค์ ๘

การปฏิบัติศีลเกินกำลังสติมักจะเกิดกับคนที่ประมาณไม่เก่ง คนที่โลภ คนที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติศีล ก็มักจะถือศีลที่เกินกำลัง เช่นตัวเองอินทรีย์พละน้อย แต่ก็ฝืนไปถือศีลอพรหมจริยา ในระดับอธิศีล คือการไม่มีคู่ ประพฤติตนเป็นโสด ทีนี้ตอนตั้งศีลมันก็คิดเอาได้ แต่พอปฏิบัติจริงมันทำไม่ได้ จิตใจมันโหยหา อยากได้ใครสักคนมาครอบครอง ต้องพบกับความเหงา ความหดหู่ ยิ่งถือศีลยิ่งเก็บกด เพราะในใจอยากมีคู่ แต่มีปมในใจบางอย่างที่ต้องปกป้องตัวเองด้วยการโสด จึงเกิดทุกข์ภายในตัวเอง เข้าข่ายอัตตกิลมถะ(ทางโต่งไปด้านอัตตา)ยึดศีลนั้นว่าดี ทั้งๆที่ศีลนั้นเกิดฐานของตัวเองไปมาก เกินกำลังสติปัญญาของตัวเองไปมาก นอกจากจะไม่เจริญทางจิตใจแล้ว ยังกลายเป็นบาป เพราะมีการทรมานตัวเองด้วยการยึดดี ซึ่งเมื่อปฏิบัติไม่เป็นไปในทางสายกลาง โต่งไปทางด้านอัตตา ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้

หรืออาจจะเปลี่ยนขั้วกลับไปทางกามสุขัลลิกะ (ทางโต่งด้านการเสพสุขลวง) ตบะแตก ทำลายศีลตัวเอง เข้าใจว่าถือศีลไปก็ทุกข์ ว่าแล้วก็ไปมีคู่มันซะเลย แต่ไปมีคู่จากความอยาก ความเก็บกด สุดท้ายก็จะเป็นภัยต่อตัวเองอยู่ดี เพราะแทนที่จะมีคู่ด้วยสภาพปกติ แต่กลับเป็นมีคู่ด้วยอาการอยากเสพอย่างรุนแรง มีอาการดูดดึงอย่างรุนแรง เพราะเป็นอาการที่ตีกลับจากทางโต่งด้านอัตตา

ผู้ที่เริ่มปฏิบัติธรรมควรปฏิบัติไปตามฐานของตัวเอง ให้เจริญไปตามลำดับ ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนมหาสมุทรค่อยๆลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับ ไม่ชันเหมือนเหว

11).ปฏิบัติกลับหน้าเป็นหลัง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ คือการละในสภาวะส่วนของกามสุขัลลิกะ หรือละการหลงเสพก่อน แล้วค่อยละฝั่งอัตตา

เช่นเมื่อเราติดกาแฟ ก็ควรจะทำลายความอยากเสพกาแฟก่อน ไม่ใช่ไปพิจารณาไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรก เพราะถ้าพิจารณาล้างอัตตา ล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน มันก็จะเฉโกหรือฉลาดไปในทางกิเลส คือกลายเป็นไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกินกาแฟ ว่าแล้วก็กลับไปกินกาแฟเหมือนเดิม แล้วหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม

คือลักษณะที่ไม่ล้างกิเลสไปตามลำดับ เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ล้างอัตตาก่อนล้างกาม พอไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไปเสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ชั่วอยู่นั่นเอง

พระพุทธเจ้าท่านให้ละกิเลสนั้นทั้ง3ภพ คือละ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไปตามลำดับ โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิจิต อธิศีล อธิปัญญา ดังกระบวนการ 1-7 ที่ได้อธิบายไปข้างต้น

เราต้องละกามภพก่อน กามภพ คือสภาพที่ยังไปเสพ ไปติด ไปยึด ไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตัว แล้วค่อยละรูปภพ คือสภาพที่ไม่ไปเสพแล้ว แต่ยังมีอาการอยากเสพที่เห็นได้ในจิตตัวเอง ซึ่งก็สามารถข่มใจไม่ให้ไปเสพไว้ได้ และสุดท้ายคืออรูปภพคือสภาวะที่มองไม่เห็นความอยากเป็นรูป ไม่เห็นการปรุงแต่งความอยากชัดๆแล้ว แต่เมื่อไม่ได้เสพจะหลงเหลืออาการขุ่นใจ ไม่สบายใจ โหยหา พะวง หรือจิตใจไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายนั่นเอง เมื่อละสามภพนี้ไปตามลำดับ จึงจะสามารถพบกับวิมุตติได้

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแบบล้างอัตตา หรือล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน โดยที่ไม่ได้ล้างกาม คือการที่ยังไปเสพสมใจในสิ่งที่ชอบ หรือติดนั้นอยู่ จะเกิดสภาพบรรลุธรรมหลอกๆ หลงว่าตนบรรลุธรรมแล้วเสพได้ กลายเป็นพวกเฉโก ไม่บรรลุธรรม ไม่พ้นทุกข์ เพราะเอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ปฏิบัติไม่ถูกวิธี

– – – – – – – – – – – – – – –

1.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 24,426 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

September 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,414 views 0

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

เกมที่สนุกที่สุดในโลก: การปฏิบัติไตรสิกขา อธิบายเปรียบเทียบกับการเล่นเกมกรณีศึกษา การกินมังสวิรัติ

ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรม การล้างกิเลส ก็ดูจะเป็นเรื่องของคนมีอายุ คนใจบุญ คนปลงชีวิต คน…อะไรก็ว่าไป แต่ในบทความนี้จะมาพิมพ์เรื่องการปฏิบัติธรรมอธิบายโดยเปรียบเทียบกับการเล่นเกม เพื่อให้คนหนุ่มสาวในยุคนี้ ที่ผ่านการเล่นเกมมา ได้เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเข้าใจง่ายกว่าที่คิด

หลายคนที่เคยเล่นเกมมา ก็จะคุ้นเคยกับระบบของการพัฒนาตัวละครที่เราเล่น เช่น ทักษะ กำลัง ปัญญา พัฒนาอาวุธชุดเกราะ การเดินทาง ไปจนถึงปราบศัตรูต่างๆ จนได้รับรางวัล ได้แต้ม ได้คะแนน ได้เงิน มาเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งๆขึ้น การปฏิบัติธรรมก็คล้ายๆกัน จะลองอธิบายโดยยกตัวอย่างดังนี้

…เกมมังสวิรัติ

เราจะเลือกเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง จะเป็นเกมอะไรก็ได้ เช่น เกมขยัน เกมตื่นเช้า เกมเมตตา เกมลดน้ำหนัก เกมไม่โกรธ แต่ในบทความนี้จะยกตัวอย่างเป็นเกมมังสวิรัติ เพราะเล่นได้มากถึง 3 ครั้งต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว

เมื่อเริ่มเกมก็จะมีตัวเอกคือตัวเรา และเป้าหมายของเกมก็คือกินมังสวิรัติให้ได้ มีวิธีฝึกฝนตัวเองโดยใช้สมถะและวิปัสสนา มีด่านและศัตรูต่างๆให้ต้องเผชิญด้วยการปฏิบัติไตรสิกขา มีกระบวนการเอาชนะแต่ละด่านด้วยจรณะ๑๕ เพื่อข้ามภพ ๓ คือแต่ละช่วงของด่านนั้นๆ

…สรุปเครื่องมือที่จะหยิบมาอธิบายในเบื้องต้น

สมถะ คืออุบายทางใจ ใช้เพื่อสร้างสมาธิ สร้างกำลัง ความสงบ พักผ่อนจิต เก็บสะสมพลังในการกดข่มกิเลสต่างๆ

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา คือการพิจารณาให้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลสตามความเป็นจริง

ไตรสิกขา คือการใช้ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อขยับฐานหรือเปลี่ยนไปเล่นกับกิเลสที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

จรณะ๑๕ คือ ข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรม

ภพ๓ คือ กามภพ (สภาพที่ยังเสพกิเลสอยู่) รูปภพ ( อดกลั้นไม่ไปเสพกิเลสได้) อรูปภพ ( ไม่คิดจะไปเสพกิเลสแล้ว แต่ไม่โปร่งใจ)

จริงๆ แล้วมีเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมในการปฏิบัติธรรมหรือเล่นเกมสู้กับกิเลสนี้อีกมาก เพียงแต่จะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกว้างๆ ให้ได้ก่อน

….เริ่มเกมกันเลย

เมื่อเราได้ศึกษาจนมีความรู้ว่า การกินมังสวิรัตินั้นดี ไม่เบียดเบียนใคร เราจึงตั้ง “อธิศีล” คือ การตั้งข้อปฏิบัติสู่ความไม่เบียดเบียน เป็นการทำศีลที่มากกว่าที่ตัวเองเคยถืออยู่ในชีวิตปกติ เหมือนกับที่เรากำลังเลือกที่จะเข้าไปต่อสู้กับศัตรูในด่านแรก นั่นคือ บอสวัว(หัวหน้าศัตรูที่เป็นเนื้อวัว) หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว

เมื่อเราเลือกที่จะเข้าไปสู้กับบอสวัว หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว โดยการตั้งศีล ตั้งใจตั้งมั่นในศีลนี้แล้ว ก็ให้เราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราไม่ให้เข้าไปใกล้เนื้อวัวมากนัก และแม้จะต้องเข้าไปใกล้ก็ต้องรู้จักประมาณพลังใจของตัวเองให้ดี อย่าไปทำเก่ง ทำกล้า คิดว่าข้าแน่ ข้าทนไหว เช่น ชอบสเต็กมาก แล้วเพื่อนก็ชวนไปกินสเต็กก็ไปกับเขาด้วย สุดท้ายก็ทนไม่ไหว กิเลสส่งกองกำลังมากระซิบเบาๆ ว่า “ กินไปเถอะ ไหนๆเขาก็ตายมาแล้ว กินเขา เขาได้บุญนะ ขำๆ” สุดท้ายก็แพ้บอสวัวชิ้นนั้นไปจนได้

หากเราประมาณตัวเองให้ดีแล้ว ก็ให้สร้างความตื่นตัวในการที่จะลด ละ เลิกเนื้อวัวนั้น โดยใช้วิปัสสนา คือพิจารณาให้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อวัว ให้เห็นทุกข์ โทษ ภัยในการกินเนื้อวัว ให้เห็นว่ากิเลสที่อยากกินเนื้อวัวไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เห็นผลของกรรมจากการที่เรายังเสพยังติดเนื้อวัว แต่ถ้ามันเหนื่อย รู้สึกไม่ไหว หมดแรงพิจารณา ก็พักหรือสลับด้วยการทำสมถะ สะสมพลังด้วยการกำหนดจิตไว้ให้นิ่ง จะพุทโธ ยุบหนอพองหนอ หรือเดินจงกรม หรือจะประยุกต์ใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่จะถนัด การทำสมถะจะสามารถช่วยให้เราวิปัสสนาได้ดีขึ้น

เมื่อทำอย่างตั้งมั่นด้วย “อธิจิต” คือไม่หวั่นไหว ไม่ล้มศีล และไม่เคร่งจนเครียด พิจารณาต่อเนื่องจนเกิดความศรัทธาในการลดการกินเนื้อวัว แม้จะยังมีความอยากอยู่ แต่ใจเริ่มจะเชื่อมั่นแล้วว่าลดเนื้อวัวนี่มันดีนะ เมื่อเกิดศรัทธาที่เต็มรอบ ก็จะนำมาซึ่งหิริ คือความละอายต่อบาป แม้จะเผลอกลับไปกินเนื้อวัวเพราะความอยากบ้าง ก็จะรู้สึกไม่ดีรู้สึกละอาย รู้สึกผิด เมื่อพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จะเข้าสู่สภาวะ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ถึงระยะนี้จะไม่กล้าแตะเนื้อวัวแล้ว เพราะรู้โทษของมัน ถ้าเป็นภาพในเกม บอสวัวที่เรากำลังสู้อยู่ก็บาดเจ็บพอสมควรและมันเริ่มจะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไว้มันก็พื้นตัวได้ เหมือนกับกิเลสที่สามารถสะสมกำลังจนทำให้เราอยากกลับไปเสพได้

ในระยะนี้เราจะสามารถข้ามผ่านกามภพ คือข้ามผ่านสภาวะที่เข้าไปเสพไปกินเนื้อวัว ขยับมาถึงรูปภพ คือไม่กินเนื้อวัวแล้ว แต่ถ้าเผลอไปคิดถึงก็อาจจะยังอยากกินอยู่ แต่ข่มใจไม่กินได้ ยอมไม่กินได้แม้ใจจะอยาก

เมื่อพัฒนาตัวเองด้วยวิปัสสนาและสมถะเข้าไปอีก จะก้าวเข้าถึงระดับ พหูสูต คือรู้แจ้งเรื่องกิเลสนี้มากแล้ว ตอนนี้จะเริ่มสวนกระแส รู้แล้วว่าการกินเนื้อวัวนี้ไม่ดี มั่นใจว่ากินเนื้อวัวไม่ดีอย่างเต็มใจ เมื่อทำต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นของวิริยารัมภะ คือการเพียรอย่างไม่หยุดยั้ง ลุยพิจารณากิเลสอย่างทุ่มโถมเอาใจใส่ เพื่อที่จะไล่ฆ่าความอยากเนื้อวัวที่มีเหลือให้หมดในระยะนี้ก็จะสามารถข้ามรูปภพได้ไม่ยากนัก แต่ก็ต้องมาไปพยายามกันต่อที่อรูปภพ คือความอยากกินเนื้อวัวที่หลงเหลือในวิญญาณ มีสภาวะเช่น ท่าทีภายนอกไม่อยาก ในใจก็ไม่อยาก แต่ทำไมไม่ได้กินแล้วมันขุ่นๆใจ ไม่โปร่งไม่โล่งนะ

พัฒนาต่อมาจนมาถึงสติ สติในที่นี้คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติที่ใช้ชำแหละกิเลสออกเป็นชิ้นๆ จะเห็นได้เลยว่าเราอยากกินเนื้อวัวเพราะเราติดใจในอะไร ขุดให้ลึกถึงรากของกิเลสทีละตัวเลยว่า เราติดเพราะชอบรสสัมผัส หรือเราติดเพราะสังคมเขาว่ามันดี หรือจริงๆเราไม่ได้ติด แค่หลงไปตามชาวบ้านเขา หรือเรายังแอบซ่อนความอยากไว้ตรงไหนอีกนะ… สติปัฏฐาน ๔ คือกระบวนการที่จะทำให้เห็นกิเลส โดยใช้ปัญญาที่เป็นมรรคเข้าไปขุดค้นพิจารณาหารากของกิเลส เหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทัย

แล้วก็จะเข้าสู่ภาวะของฌาน ๔ โดยเริ่มที่วิตกวิจารณ์ คิด วิเคราะห์ พิจารณากิเลสนั้นๆ ย้ำๆซ้ำๆ ให้เห็นคุณและโทษ ให้เห็นกิเลสที่ลึกลงไปอีก ในตอนนี้ก็เหมือนเราสู้กับบอสวัวในยกสุดท้าย ที่เรากำลังพยายามกำจัดถอนรากถอนโคนความอยากนั้นทิ้งให้หมด ตอนนี้เราต้องใช้ “อธิปัญญา” คือปัญญาที่มากกว่าที่เคยมี ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะปราบศัตรูร้ายตัวนี้ได้ ให้พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะรู้ได้เอง

จึงเกิดความปีติ ดีใจ ฟูใจ ตื่นเต้น โปร่ง โล่ง เบา สบายจากการฆ่ากิเลสได้ และค่อยๆสงบลงมาเป็นความสุข อิ่มใจแบบนิ่งๆ จนสงบราบเรียบเข้าสู่สภาวะของอุเบกขา เหมือนฉากจบของด่านนั้นๆ เราข้ามภพสุดท้ายคืออรูปภพได้แล้ว เรากำจัดบอสวัว หรือความอยากในเนื้อวัวได้แล้ว

รางวัลที่เราได้คือความโปร่งโล่งสบายแม้ไม่ได้กินเนื้อวัว แม้จะมีเนื้อวัวมาอยู่ตรงหน้าก็เฉยๆ ไม่อยากกินอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องมาคอยกดข่ม พิจารณา เคร่งเครียด หรือดับความคิดอีกต่อไป เพราะกิเลสไม่มี ก็เลยไม่มีความอยาก พอไม่มีความอยาก ก็เลยไม่ต้องไปดับความอยาก ได้วิมุติมาเก็บสะสมเป็นพลังที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

หลังจากนี้เราอาจจะต้องใช้เวลาในด่านบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวอีกสักระยะ เพื่อเก็บกิเลสเล็กๆไรๆ ที่ยังฝังอยู่ลึกๆ เป็นญาติพี่น้องของกิเลสที่เราได้กำจัดไป แต่จะไม่ยากเท่าตัวใหญ่ที่เรากำจัดมา เห็นก็ฆ่า เห็นก็กำจัด ขยายพื้นที่ตั้งอธิศีลให้ครอบคลุมที่ผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว ทำลายความอยากให้สิ้นเกลี้ยง

และด่านพิเศษที่จะปรากฏขึ้นมาหลังจากปราบบอสวัว หรือความอยากกินเนื้อวัว คือด่านของความติดดี คือเราจะไปเพ่งโทษ ไปรังเกียจคนที่กินเนื้อวัวอยู่ ก็ให้ใช้กระบวนการเดียวกันในการกำจัดอัตตาเหล่านี้ ซึ่งความยากนั้นก็ถือว่ายากกว่าบอสวัวเยอะ ถ้าทำสำเร็จจึงจะพ้นนรกจริงๆ

นั่นหมายถึงเมื่อเราปราบ “กาม” คือความอยากเสพเนื้อวัวแล้ว เราก็จะมาติดกับ “อัตตา” คือความไม่อยากเสพเนื้อวัวอยู่ ถ้าอยากรู้ให้ลองตัดเนื้อวัวให้ได้จริงๆ แล้วกลับไปเสพดู หรือไม่ก็ไปดูคนอื่นกิน มันจะมีอาการทุกข์ใจ อาการรังเกียจ ต้องฆ่าอัตตาพวกนี้ไปด้วย

เมื่อเราปราบทั้งกามและอัตตาแล้ว ก็จะเดินเข้าสู่ทางสายกลางแบบสบายๆ เพราะไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่เสพเนื้อวัว และเราก็ไม่ได้รังเกียจเนื้อวัว หรือคนที่ยังเสพเนื้อวัว

ในตอนนี้เราปราบบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวสำเร็จแล้ว เราก็ไปเล่นด่านต่อไป คือตั้งศีลสู้กิเลสต่อไป ในด่านของเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย การเบียนเบียดอื่นๆต่อไป ยิ่งเราชนะไปเรื่อยๆ ตัวเราก็เองก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำอธิศีล จะทำให้เราพ้นเวรภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง อธิจิตจะทำให้เรามีสมาธิตั้งมั่น อดทนกับอะไรๆได้ดีขึ้น อึดขึ้น แกร่งขึ้น อธิปัญญาจะทำให้เราฉลาด เฉลียว ว่องไว รู้แจ้งในเรื่องกิเลสนั้นๆ และยังใช้ปัญญานั้นปรับเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อีก

ดังจะเห็นได้ว่า เกมกำจัดกิเลส ก็คล้ายๆเกมที่เราเล่นกันอยู่ทุกวันนี่แหละ เพียงแต่คนสู้ คนแพ้ คนเจ็บ และคนชนะคือเรานี่เอง แต่มันก็น่าจะคุ้มค่าสำหรับเวลาที่เราให้ไปในการเล่นเกมนี้นะ

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์