Tag: ความอยาก

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

July 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,222 views 0

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา

การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้

เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น

กินอย่างวัวควาย

การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน

แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง

ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์

ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง

การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?

การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน

กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย

เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร

ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ

แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย

กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส

ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล

ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส

จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

– – – – – – – – – – – – – – –

19.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,935 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เหตุของความอยาก…กับการต่อสู้กิเลส

June 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,334 views 0

ใครที่หาเหตุของความอยาก(สมุทัย) เจอแล้วนะ ว่าที่มันอยากน่ะ มันอยากเสพอะไร

เช่นเนื้อสัตว์ก็ไปติดกลิ่น ไปติดรสสัมผัสของมัน
หรือ เนื้อสัตว์ไม่ได้ติดรส แต่ไปติดว่ามนุษย์ต้องการโปรตีน
หรือ กินหลายมื้อ เพราะเข้าใจตามผลการศึกษาทั่วไป
หรือ อยากมีคู่ เพราะเข้าใจว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อสืบพันธุ์

พอเห็นเหตุแห่งความหลงผิดเหล่านี้ ว่ามันจะไปเสพตามสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นไว้ เห็นตัวเห็นตนดังนี้แล้วก็ เพียรพิจารณาไปด้วยธรรมที่ตรงข้ามกับความอยากนั้นๆแหละ จะเป็นความรู้ทางโลก ข้อมูลวิจัย หรือข้อธรรมะต่างๆก็โถมกระหน่ำซัดไปไม่ต้องยั้ง

กิเลสไม่ตายง่ายๆหรอก เราเถียงมันไป คอยดู!! เดี๋ยวมันก็หาเหตุผลเถียงกลับ เราก็เถียงมันกลับไปด้วยธรรมะ ด้วยความจริงตามความเป็นจริง ด้วยหลักฐานอ้างอิงว่าผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ไม่จำเป็นต้องเสพสิ่งไร้สาระเหล่า นี้เลย

แรกๆส่วนใหญ่ไม่ชนะหรอก แพ้เหตุผลกิเลสตลอด แต่ถ้าเราเพียรแย้งกิเลส สวนกิเลส ไม่ยอมให้มันหลอกเราฝ่ายเดียว เราเอาความจริง เอาธรรมะ เอาสัจจะที่มีเข้าไปสู้ สักวันมันก็จะตายไปเอง ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า

….เว้นเสียแต่ว่า หาเหตุแห่งทุกข์ผิด หรือไม่ก็ตื้นเกินไป ไม่ถูกตัวถูกตนของกิเลส ก็เหมือนการโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่ฐานข้าศึก แต่ความจริงนั่นเป็นเพียงแค่กำแพงเมืองของมัน พอยึดกำแพงเมืองได้ก็หลงเข้าใจว่ากำจัดข้าศึกได้ ว่าแล้วก็โดนข้าศึกตีกลับ …เมาหมัดกันไป

ความรักกับเด็กอยากได้ของ

May 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,394 views 0

นึกขึ้นมาได้ ลองเอามาเปรียบเทียบกันดู ตอนที่เด็กอยากได้ของเล่นนี่จะพยายามทุกอย่างเพื่อให้ได้มา พ่อแม่ไม่ให้ก็งอแงจะเอา หลากหลายเหตุผลที่คิดขึ้นมาได้ พร้อมกับแสดงลีลา งอน ประชด เหวี่ยงเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา…ก็เหมือนคนอยากมีคู่นั่นแหละ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เสพ ถ้ามีใครมาห้ามหรือมาเห็นแย้งก็ไม่อยากฟัง

ถ้าได้มาก็มีสองอย่างหนึ่งคือสุขแป๊ปๆแล้วก็เบื่อ เลิกเล่น อยากได้ของใหม่ หรืออีกอย่างคือยึด เหมือนกับตุ๊กตาเน่าๆ ที่ทั้งเหม็นและเก่า แต่ไม่ยอมให้ใครแย่งไป ไม่ยอมห่าง ยึดไว้อย่างนั้น แต่สุดท้ายก็ต้องจากกันไปอยู่ดี

พอโตแล้วก็ไม่ไปซื้อหรือเล่นของเล่นเหมือนเด็กๆอีก เพราะไม่ได้มีความพอใจในสิ่งเหล่านั้นแล้ว เปลี่ยนไปอยากได้สิ่งอื่นแทน แต่ก็ยังเข้าใจว่าเด็กทุกคนต้องเล่นของเล่น ต้องอยากได้ของเล่น

ก็เหมือนกับความรัก พอมีอายุมากขึ้นผ่านความรักในมุมคนคู่มาได้ แม้ตนเองจะไม่อยากไปมีคนรักแล้ว แต่ก็ยังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยาก ยังเห็นว่าความรักในมุมของการมีคู่นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้

ความเบื่อในความรักเมื่ออายุมากนี้เองเรียกว่าการเบื่อหน่ายแบบทั่วๆไป ไม่ต้องปฏิบัติธรรม ไม่ต้องมีปัญญามากขึ้น มันก็เกิดขึ้นได้เอง เป็นเรื่องสามัญ เป็นธรรมชาติของโลก ซึ่งความอยากนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่มันเปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปเสพอีกเรื่องหนึ่งนั่นเอง

สรุปแล้ว…ความอยากก็ทำให้เราเป็นเหมือนเด็กที่ไม่รู้เดียงสา แต่ความไม่อยากนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นผู้ใหญ่

เด็กในมุมของธรรมะนั้นคือผู้ที่ยังมัวเมาอยู่กับกิเลส ส่วนผู้ใหญ่นั้นคือผู้ที่ปลดเปลื้องกิเลสได้อย่างแท้จริงแล้ว