Tag: การเบียดเบียน

ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,438 views 0

เมื่อเผยแพร่บทความที่มีความเห็นชี้ชัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา ซึ่งเราควรพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ

ผมจะนำเสนอเนื้อความตอนหนึ่งให้เพื่อนๆที่ติดตามได้มั่นใจมากขึ้น

“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง”

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๙)

พระพุทธเจ้าเองท่านก็เป็นพระอริยะ และเป็นพระอริยะที่ระดับสูงที่สุดคือพระอรหันต์ และด้วยปัญญาระดับผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่เหนือกว่าผู้ใดในโลก

การมีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา การโต้วาทีก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนย่อมปกป้องทิฏฐิที่ตนยึดมั่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราชี้แจงได้ก็ชี้แจงไป แต่ถ้ามันหนักมากไปก็ให้ปล่อยวางเสีย

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ทะเลาะ ไม่ชวนทะเลาะ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปบีบบังคับให้ใครมาเห็นตามเรา บางคนเขาก็แค่มาบอกความเชื่อของเขา เราก็รับรู้ว่าเขาเชื่อแบบนั้น ถ้าเขาถามเราก็พิจารณาก่อนว่าจะตอบให้เกิดประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ตอบเพราะยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก

หากเราปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เราย่อมไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยการเถียงเอาชนะ การเบียดเบียนความเห็นผู้อื่นแม้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นจะผิดไปจากทางพ้น ทุกข์ก็ตาม ก็ยังเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วอยู่

เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ จนบางครั้งหมายถึงการปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา สุดท้ายวันใดวันหนึ่งเขาก็จะเรียนรู้ได้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียด ไปบังคับ หรือไปสั่งสอนผิดถูกแต่อย่างใด

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,924 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรื่องลดเนื้อกินผัก

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,406 views 0

ปกติผมจะไม่ค่อยได้พิมพ์เกี่ยวกับวิธีการเลิกกินเนื้อสัตว์สักเท่าไหร่ ส่วนมากจะพิมพ์ในแนวทางของการลดอัตตา เพราะอยู่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ กินเจกันได้บ้างแล้ว

จริงๆแล้วเรื่องการลดเนื้อกินผัก จนกระทั่งเลิกกินได้เลยนั้น เป็นปัญญาระดับทั่วไป เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะมันเป็นเหตุของการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

ในคลิปนี้ จะเห็นได้ว่าการมีความกรุณาช่วยเหลือผู้อื่นนี่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จะกระชากก็กลัวมันจะเจ็บ ก็ต้องระวังและค่อยๆทำ ผู้ที่มีความเจริญทางจิตใจ มีหิริ ดูเพียงเท่านี้ก็จะสำนึกได้เองว่าการเบียดเบียนสร้างทุกข์ให้กับผู้อื่น อย่างไร

เรียกว่าใช้เชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถขยายผลไปที่การเบียดเบียนแบบองค์รวม ได้ ส่วนคนที่ยังไม่เจริญนัก ก็ขยันดูที่มาที่ไปของเนื้อสัตว์ที่ซื้อบ่อยๆก็จะพอ สำนึกได้

ในส่วนคนที่ดูยังไงมันก็ยังไม่เกิดความรู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าอยากลดละเลิกการเบียดเบียน ก็สามารถใช้วิธีทำชั่วไปจนกรรมชั่วนั้นมากระทบให้ได้ซึ้งถึงทุกข์ของการ เบียดเบียนได้เช่นกัน (เช่น พระเทวทัต)

เรามีวิธีเข้าถึงธรรมได้มากมายหลายวิธี ใครชอบวิธีเบาๆสบายๆก็ขยันทำดีไป ใครชอบหนักๆ โหดๆ ก็ขยันทำชั่วไป สุดท้ายก็จะมีปัญญาเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียนอยู่ดี

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,490 views 0

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้เลี้ยงง่ายไม่กินเนื้อสัตว์

…ความเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย ไม่ได้หมายความว่าต้องมักง่าย

การเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นเป็นการทำตัวให้เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญดังที่อ้างอิงในบทของวรรณะ ๙ ซึ่งในธรรมข้อนี้เอง มีหลายคนเอามาตีความว่าการเลี้ยงง่ายบำรุงง่ายหมายความว่าไม่เรื่องมาก เขาให้อะไรก็กิน…จนกระทั่งกลายเป็นมักง่ายในที่สุด

การที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่นั้นไม่ถือว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย หากว่าเรามองง่ายๆเพียงแค่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีขยายอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ถ้ามองเพียงแค่นั้นก็เป็นการมองที่ตื้นเขินไปมากทีเดียว

การจะได้เนื้อสัตว์มานั้นต้องเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพาะพันธุ์ให้มันออกลูกออกหลานมาแล้วต้องใช้ทุนใช้เวลาอย่างมากในการทำให้มันโตจนมีน้ำหนักที่ขายได้ และกว่าจะได้ขายก็ไม่ได้หมายความว่ามันโตแล้วจะกลายเป็นเบคอน เป็นชิ้นเนื้อได้เอง มันจะต้องถูกผูก ถูกจูงลากมา ถูกบังคับขืนใจ โดนเขาทำร้าย โดนเขาฆ่า เหล่านี้เป็นองค์ของการฆ่าทั้งนั้น ผิดศีลข้อ ๑ ในกระบวนการฆ่าตั้งแต่แรก จะฆ่ามันก็ไม่ง่ายนะเวลาสัตว์มันกลัวมันก็วิ่งหนี ลำบากทั้งสัตว์ทั้งคนฆ่านั่นแหละ ฆ่าเสร็จไหนจะต้องชำแหละอีก ก็มีขั้นตอนกันมากมายกว่ามันจะเติบโตจนมาถึงปากเรา แบบนี้มันง่ายไหม?

เรามาลองดูผักกันบ้าง ผักนี่ก็หยอดเมล็ด ฝังดินกลบแล้วก็รดน้ำ รอเวลาเติบโตตามชนิดของมัน บางชนิดครึ่งเดือนก็ได้กินแล้ว เวลาเด็ดผักนี่ก็สะดวก เดินเข้าไปเด็ดได้เลย มันไม่วิ่งหนีนะ ยิ่งเด็ดก็ยิ่งงอกมาให้เรากิน ทุนที่ใช้ก็มีแค่ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย ดีไม่ดีทำเองหรือหามาเองจะไม่เสียอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะดิน อากาศ และแสงแดดเป็นของฟรี แบบนี้มันง่ายกว่าไหม?

ความยากลำบากในการหาเนื้อสัตว์กับผักมันคนละเรื่องอยู่แล้ว ถ้าอยากรู้ก็ทดลองเองก็ได้ ลองเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมกับปลูกผักไปด้วยก็ได้ ลองสังเกตดูว่าอันไหนมันง่ายกว่า ผักนี่เราปลูกเองได้ไม่ยาก แต่เลี้ยงสัตว์นี่มันยาก เลี้ยงมาเอง ฆ่ากินเอง พึ่งตัวเองแบบนี้มันไม่ง่ายนะ ตลาดทั่วไปก็มีผักขายเสมอ ประเทศเราไม่เคยขาดแคลนผัก ดังนั้นที่เราคิดว่ากินเนื้อสัตว์คือการเลี้ยงง่ายบำรุงนี่มันมองอย่างมักง่าย มองแบบผิวเผิน ไม่มีปัญญา

เหตุที่ไม่มีปัญญาเพราะมันถูกบังไว้ด้วยกิเลสนั่นแหละ กิเลสมักจะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ ลองเอาเมนูผักกับเนื้อไปวางก็ได้ ให้เลือกกันเอง ลองดูซิว่ามีครบขนาดนี้จะเลือกกินอะไรก่อน การเลือกกินนี่จะบอกว่าไม่คิดไม่ได้นะ ไม่คิดนี่เป็นก้อนหินเลย คนเราจะขยับได้เพราะมีใจเป็นประธาน ใจมันนำพาให้ช้อนไปตักเนื้อเข้าปาก แบบนี้มันตามกิเลสแล้วเฉโก มันฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส จะหาวิธีหาทางสนองกิเลสให้ได้แบบนั้นเอง

เว้นแต่จะดูใจตัวเองไม่เป็น ไม่มีญาณรู้สภาพจิตตัวเอง ก็กินเนื้อกินผักไปแบบไม่รู้จักความอยาก มีความอยากก็ไม่รู้ว่ามีความอยาก แล้วก็มักจะตีกินด้วยคำว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย นี่เองคือพลังของกิเลสที่สามารถสร้างเหตุผลได้มากมาย แม้นมีข้อธรรมที่ยากปฏิเสธแสดงอยู่ ก็กลับไม่ยินดีฟังธรรมนั้น จะมัวเมาและยินดีในธรรมที่ทำให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ได้หลงมัวเมาอยู่กับกามในการกินเนื้อสัตว์ ยินดีในการเสพกิเลสต่อไป

ผู้มีปัญญาย่อมเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ ด้วยใจที่เป็นสุข เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นประกอบด้วยองค์แห่งบาป ซึ่งผลกรรมนั้นย่อมสนองต่อผู้สนับสนุนทั้งกระบวน เราเป็นผู้บริโภคก็อย่าคิดว่าจะรอด จะไปคิดง่ายๆว่าเราไม่ใช่คนฆ่าแล้วกินได้แบบนี้มันเฉโก มันฉลาดเพื่อที่จะให้ได้กินเนื้อ ฉลาดในการลงนรก ฉลาดในการทำบาป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เมื่อเรานับถือ ศรัทธาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ควรจะมีปัญญารู้ว่าสิ่งใดจะเกิดโทษกับตน สิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับตน เมื่อการกินเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนทำให้ตนเองมีโรคมากและอายุสั้น แล้วมันจะเป็นประโยชน์อะไร เป็นคนมีโรคมากนี่มันเลี้ยงง่ายบำรุงง่ายไหม เป็นภาระของคนอื่นเสียอีก

ยิ่งถ้าผู้ศรัทธาในพระพุทธเจ้ายังไม่เชื่อเรื่องกรรมนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย ไปไกลเลย เพราะไม่เชื่อเรื่องกรรมมันฟังธรรมไม่รู้เรื่อง เพราะธรรมหลายบทหลายตอนที่ท่านสอนก็เกี่ยวกับกรรมทั้งนั้น การที่ท่านรู้ว่าการเบียดเบียนทำภัยมาให้นั้นเพราะท่านเห็นกรรมที่ทำมาหลายชาติจนแน่ใจแล้วว่า การเบียดเบียนนี่แหละคือเหตุที่ทำให้คนเรามีโรคมากและอายุสั้นอย่างแน่นอน เป็นเหตุเป็นผลที่ไม่มีทางผิดเพี้ยนไปได้ เพราะเป็นข้อมูลที่ท่านเก็บสะสมมาตลอดเส้นทางการบำเพ็ญเพียรของท่าน

ดังนั้นเหล่าสาวกผู้ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรจะเป็นผู้มีปัญญาแยกโทษแยกประโยชน์ได้ เป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายด้วยสิ่งของที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ ไม่เป็นผู้มักง่ายจนหลงมัวเมาอยู่กับการเสพกามในการกินเนื้อสัตว์

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)