Tag: การเบียดเบียน

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต…

October 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,202 views 0

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต...

ใกล้กลียุค จิตใจคน วิปริต

สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เลี่ยงศึกษา

มุ่งเสพกาม ยึดยั่วเย้า เมาอัตตา

เหมือนเป็นบ้า อวดมิจฉา ทิฏฐิตน

 

เห็นกงจักร เป็นดอกบัว นั่นหลงผิด

เห็นเบียดเบียน นั้นเป็นมิตร กับมรรคผล

อวดอ้างเกียรติ์ หยิ่งศักดิ์ศรี ทะนงตน

ยังเวียนวน อยู่ในโลก และอัตตา

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

วันเวลาได้ผ่านจากยุคที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเจริญทางจิตใจสูงสุด ก้าวไปสู่ความเสื่อมอย่างที่สุดจนประมาณไม่ได้ ที่เรียกกันว่า “กลียุค” ซึ่งตอนนี้ก็เดินทางมาเพียงแค่กึ่งหนึ่ง กลับเห็นได้ว่าจิตใจของคนนั้นต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ในยุคที่ผู้คนไม่สามารถแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ ตามจิตใจที่โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ปล่อยให้มีการฆ่าสัตว์ได้โดยไม่มีความละอาย โกงบ้านโกงเมืองจนฉิบหาย มีชู้มีกิ๊กยั่วกามกันให้วุ่นวาย โกหกปกปิดซับซ้อนไร้ความจริงใจ เพราะลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส และไม่เคยคิดจะศึกษาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สนใจเพียงแต่ฉันจะได้เสพอะไร ฉันจะได้ครอบครองอะไร ฉันจะได้เป็นอะไร ฯลฯ

คนส่วนใหญ่นั้นลุ่มหลงอยู่กับกาม อยากได้อยากเสพ ให้ชัดกันก็เรื่องกิน เป็นเรื่องที่แสดงว่าสังคมเสื่อมไปสู่กาม แต่ก็ไม่เคยมีใครตระหนัก ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย เมนูต่างๆล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอมเมาคนผู้หลงในกาม ต้องอร่อย ต้องดูดี ต้องแปลกใหม่ ฯลฯ คนก็แห่กันไปเสพกามด้วยความเมา ตนเองเมายังไม่พอยังมาอวดชาวบ้าน เอามายั่วชาวบ้าน “นี่ฉันได้เสพกาม, ฉันสุขในกาม, พวกเธอจงมาเสพกามอย่างฉัน” เพราะมีความยึดว่ากามนั้นคือสุขของฉัน เป็นตัวฉัน ฉันต้องเสพกาม ฉันคือกาม เป็นตัวตนของกันและกันในที่สุด

แล้วก็หลงไปว่าการหลงในรสเสพรสสุขเหล่านั้นไม่เป็นไร ไม่ขัดขวางความเจริญ เราสามารถเสพกามไปได้ พร้อมๆกับปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ไปได้ อวดมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันชัดๆแบบไร้ยางอาย คือความเสื่อมของผู้ที่เห็นผิดเป็นถูก แล้วยกทิฏฐิตนเป็นใหญ่

เป็นสภาพที่เห็นผิดเป็นถูกโดยสิ้นเชิง มืดบอดอย่างไร้แสงใดๆจะเข้ามาทำให้ปัญญานั้นสว่างขึ้นมาได้ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปแล้ว ก็หลงยึดเอาว่ากงจักรนั้นคือความเจริญ แท้ที่จริงแล้วมันเป็นความเสื่อม ยิ่งขยันยิ่งเสื่อม ยิ่งเผยแพร่ก็ยิ่งเลวร้าย และที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องที่สุดในโลก เป็นเหมือนกับความเพี้ยนที่ซ้อนอยู่ในความเป็นพุทธ และแนบแน่นแนบเนียน จนคนจับไม่ได้ เป็นยิ่งกว่ามายากล ยิ่งกว่าภาพลวงตา เพราะมันคือมิจฉาทิฏฐิลวงใจ ก็เลยล่อลวงคนผู้ตาบอดให้หลงตามไปได้มากมาย

เมื่อถูกกิเลสครอบงำเข้ามากๆ จะไม่สามารถแยกดีแยกชั่วได้ จะมองเห็นว่าแม้ตนจะไม่เลิกเบียดเบียน ก็ยังสามารถเกิดปัญญารู้แจ้งบรรลุธรรมได้ นั่นคือสภาพที่เลี้ยงกิเลสไปด้วยแล้วปฏิบัติมิจฉามรรคไปด้วย คือหลงไปเข้าใจว่าการเบียดเบียนกับการรู้แจ้งในศาสนาพุทธนั้นไม่มีความเกี่ยวเนื่อง ไม่มีนัยสำคัญต่อกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระอริยะหรือสาวกแท้ๆ ของท่านนั้น คือผู้ไม่เบียดเบียน

การเบียดเบียนนั้นมีหลายมิติ ทั้งแต่หยาบๆ เช่นมัวเมาในอบายมุข, ผิดศีล ๕ และละเอียดไปจนผิดในอธิศีลอื่นๆตามลำดับ ยกตัวอย่างการเบียดเบียนหยาบๆเช่นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เพราะไปมีความเกี่ยวเนื่องกับการฆ่า ถ้าจะให้ไม่เกี่ยวคือไม่ต้องเอามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเลย ถ้ากินอยู่ก็เกี่ยว เอาตัวไปร่วม เอากรรมไปร่วม ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และนั่นหมายถึงเบียดเบียนตนเองด้วยเช่นกัน หรือยกอีกตัวอย่างคือการกินเหล้าสูบบุหรี่ มันเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเอามาใส่ร่างกายให้มันเบียดเบียนตนเอง เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา หาประโยชน์ไม่ได้ คนที่มีปัญญารู้ประโยชน์ในการหยุดเบียดเบียนตนเองก็มีทิศทางที่จะลด ละ เลิก ส่วนคนที่หลงในกิเลสก็จะมีข้ออ้างที่แสนจะสวยหรูเพื่อไม่ให้ตัวเองได้เลิก นี่เป็นเพียงการเบียดเบียนหยาบๆเท่านั้น

เมื่อโดนกิเลสหลอกเข้ามากๆ จนเสพติด ยึดติดเข้ามากๆ เมื่อมีคนมาทักว่าทำไมถึงไม่เลิก ทำไมยังเบียดเบียนตนและผู้อื่นอยู่ ทั้งที่มีเหตุปัจจัยให้เลิกได้โดยไม่เกิดผลเสีย ก็มักจะมีอาการตอบสนองที่รุนแรง มีการโต้กลับ เพราะยึดในเกียรติ์ ศักดิ์ศรี เพราะตนนั้นมีอัตตามาก ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีภาวะของอุเบกขาเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะอยู่ข้อหนึ่ง คือ “มุทุ” หมายถึงหัวอ่อนดัดง่าย มีความแววไวในการปรับเปลี่ยนไปทางกุศล จะไม่ต้านทานสิ่งที่เป็นกุศล แต่จะน้อมไปทางกุศล ในทางที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น แม้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นจะขัดกับสิ่งที่ตนเคยเข้าใจก็ตาม

เมื่อมีอัตตาจึงแข็ง ไม่มีอัตตาก็ไม่แข็ง โอนอ่อนพลิ้วไหวไปในทิศทางแห่งกุศล แต่ถ้ามีอัตตามากๆ จะไม่พลิ้วไหว จะยึด จะปักมั่น ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนเข้ามาหาตัวฉัน โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน ฉันถูกคนอื่นผิด ฉันเก่ง ฉันเยี่ยม ฉันดี ฉันเลิศ ทำให้ได้อย่างฉันหรือยัง ทำให้ได้อย่างฉันเสียก่อนแล้วค่อยมาติ ให้รู้บ้างว่าใครเป็นใคร … เป็นต้น

สรุปแล้วคนที่มีอัตตามากๆ แล้วยังหลงผิด คิดว่าจะมีมรรคผลได้โดยที่ไม่ลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้สร้างประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม พวกเขาจึงยังคงหลงอยู่ในความเป็นโลก อยู่ในความเวียนวนของโลก เหมือนปลาตายที่ลอยไปตามน้ำ แล้วแต่ชะตากรรมจะซัดพาไป ไม่มีแรงขัดขืนโลก โดยมีอัตตาเป็นตัวปิดประตูตอกฝาโลงฝังตัวเองให้ยึดติดอยู่ในความเห็นที่ตัวเองเข้าใจเช่นนั้น ไปชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สรุปการไม่กินเนื้อสัตว์(แบบสั้น)

October 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,149 views 0

เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเรื่องตื้นๆนะ ใช้แค่ปัญญาตื้นๆ เป็นสามัญ คนที่ไม่นับถือศาสนาเขาก็ยังเข้าใจได้

ว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเนี่ย มันส่งผลโดยตรงต่อการฆ่า เป็นการร่วมวงจรแห่งการเบียดเบียน เอาแค่ตรงนี้ก่อน มันเป็นอกุศลชัดๆอยู่แล้ว

แล้วคนมีปัญญาที่ไหนเขาจะเสียเวลาไปทำอกุศลให้มันลำบากตัวเอง ทั้งๆที่เลือกได้เล่า

สรุปกันให้ชัดๆ ว่าจะไปโง่ทำทุกข์ใส่ตัวเองทำไม (…ที่มันโง่เพราะมันมีกิเลสนั่นแหละ)

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

September 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,277 views 0

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

ไม่มีใครยอมเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นฟรีๆ เขาเลี้ยงเพื่อขายให้ได้เงิน

ไม่มีใครยอมฆ่าสัตว์เหล่านั้นฟรีๆ เขาฆ่าเพื่อขายให้ได้เงิน

ไม่มีใครยอมรับเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาแจกฟรีๆ เขารับมาเพื่อขายให้ได้เงิน

เงินหรือสิ่งแลกเปลี่ยนใดๆ ก็ตามทั้งรูปธรรมหรือนามธรรม

คือสิ่งที่เป็นแรงหนุนให้การฆ่าสัตว์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เมื่อการเบียดเบียนไม่เคยหยุดและไม่เคยหมดไปจากโลก

อกุศลกรรมที่เกิดขึ้น คือทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงจึงตกอยู่แก่ผู้ร่วมกรรมนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

แนะนำบทความ : สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

– – – – – – – – – – – – – – –

10.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,951 views 0

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักที่คิดจะครอบครองนั้น เป็นเหตุให้เราสร้างบาปและเป็นทุกข์ได้เสมอ เป็นทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ หรือการพ้นทุกข์ใดๆ

จากละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๖ หญิงสาวคนหนึ่งได้ตกหลุมรักพระอานนท์จนแสวงหาวิธีที่ผิดในการครอบครองสิ่งที่หลงรักนั้น ซึ่งความอยากที่จะครอบครองสิ่งที่ตนรักไว้เป็นของตนเพียงผู้เดียวนี้เอง คือความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง

ไม่ว่าเราจะคิดครอบครองด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะครอบครองแค่เสี้ยววินาทีหรือตลอดไปจนชั่วนิรันดร์ มันก็ยังเป็นความเห็นแก่ตัวอยู่ดี คนเรามักจะหาเหตุผลที่ดูดี น่าเชื่อถือ ดูเป็นที่น่ายอมรับให้เกิดการครองคู่ ได้ครอบครองโดยความชอบธรรม นั่นเป็นความเห็นแก่ตัวที่ละเอียดลึกลับซับซ้อน ซ่อนความชั่วไว้ในความดี เหมือนยาพิษที่แทรกลงไปในแต่ละอณูของเกล็ดน้ำตาล

นิยามความรักของพระอานนท์ ต่างจากความรักที่เจ้าคิด” เป็นเนื้อหาในบทพูดตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้าในละครตอนนี้ ความรักของพุทธนั้นมีอิสระ ไม่ถูกจำกัดไว้ในเรื่องของครอบครัว คู่รัก ญาติ มิตร ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่แผ่กระจายออกไปให้ทุกคนได้สัมผัส

เช่นเดียวกับในบทละครตอนที่พระพุทธเจ้าบอกกับพระนางยโสธราในตอนที่ ๔๑ ว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ในโลกนี้ที่ทนทุกข์เล่า

ดังนั้นความรักของพุทธคือความรักที่มีให้ทุกคน การนำความรักไปทุ่มเทให้กับคนใดคนหนึ่งจะทำให้คนอื่นๆเสียโอกาส และนั่นหมายถึงเราเองก็เสียโอกาสในการสร้างสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ เพียงเพราะไปหลงยึดมั่นผูกพันไว้กับความสัมพันธ์ที่ลวงโลกที่สุด

ความเป็นคู่รักนั้นไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงแปรผันได้ทุกเวลา พบ พราก จาก ลา แล้วก็แสวงหาใหม่ ไม่เคยหยุด ไม่เคยจบสิ้น ไม่เคยมั่นคง เมื่อมีรักก็ย่อมมีทุกข์ การจะหนีทุกข์ในขณะที่หลงรัก หลงผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ในเชิงคู่รักนั้นไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนสร้างขึ้นมาและหลงติดหลงยึดว่ามันดี ว่ามันเป็นสุข หลอกจิตตัวเองโดยสมบูรณ์ว่าได้เสพ ได้รัก ได้เป็นคู่กันแล้วจะเป็นสุข ทั้งที่จริงแล้วสุขเหล่านั้นมันไม่มีตัวตนอยู่จริงเลย มันเป็นเพียงมายาที่เราต่างสร้างขึ้นมาหลอกกันและกัน และหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตเหล่านั้นกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

11.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)