Tag: กรรม

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,198 views 0

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้

ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์

ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้

1.คนป่วย

ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง

การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้

2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้

ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ

เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย

3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี

เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น

แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี

ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย

คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้

ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง

ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป

และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร

คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย

วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้

5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้

เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้

ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส

ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น

ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น

เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ชาตินี้ ชาติหน้า

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,775 views 0

ชาตินี้ ชาติหน้า

ชาตินี้ ชาติหน้า

คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน

อดีต…จนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้

ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น

กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน

คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน

มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต

คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่

การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ

หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล

แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ

บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต

เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ

ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต

การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง

ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ

ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ

ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี

ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ

ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้

….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง

ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง

จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย

– – – – – – – – – – – – – – –

17.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

นรกของสัตว์เลี้ยง

September 16, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,158 views 1

นรกของสัตว์เลี้ยง

นรกของสัตว์เลี้ยง

ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา

การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย

การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…

การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง

การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด

ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่

บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง

การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

16.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,134 views 0

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ถาม: ปัจจุบันมีภิกษุพยายามสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการกระทำให้เป็นรูปธรรมเช่นการให้ความรู้ญาติโยมในการประอาชีพทางการเกษตร การเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมมีการเดินขบวนเรียกร้องการใช้พื้นที่วัดทำนาเองเพื่อนำเงินเข้าวัด เป็นต้นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันของญาติโยมบางคนก็ว่าควรทำ บางคนก็ว่าไม่ควรทำคุณดิณห์มีความเห็นอย่างไรเมื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ตอบ: เขาทำดี ก็ดีแล้วนี่ครับ 🙂

ขอยกคำตรัสพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงก่อนแล้วกันนะ “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต”

การมีชีวิตอยู่เพื่อความผาสุกที่แท้จริงนั้น ต้องทำทั้งประโยชน์ตัวเอง คือขัดเกลา เพียรล้างกิเลสในใจตน ประกอบการงานเลี้ยงชีพ งานของพระคือศึกษาธรรมะและช่วยคนให้พ้นทุกข์ ฯลฯ และประโยชน์ท่าน คือ ประโยชน์ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม คือ กิจกรรมการงานและการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลายความทุกข์ ความลำบากของหมู่มิตร สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เราจะมาเน้นตรง “ประโยชน์ท่าน” เพราะประโยชน์ท่านนี่แหละคือส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมถูกตรงก็จะมีความเมตตามากขึ้นเมื่อพากเพียรลดกิเลส ยิ่งหมดกิเลสก็ยิ่งเมตตาอยากช่วยคน อยากช่วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในทางเดียวกันก็จะต้องใช้สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลากิเลสอัตตาของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป และแม้ท่านเหล่านั้นหมดกิจตนคือการล้างกิเลสแล้ว การช่วยเหลือผองชนก็ยังเป็นหน้าที่ของท่านอยู่ดี เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่กับสังคม อยู่ในสังคมแต่ไม่ปนไปกับสังคม ไม่ไปเสพกิเลสร่วมกับเขาและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในบทโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ให้หยุดทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

จะสังเกตได้ว่า หยุดชั่ว นั้นมาก่อนทำดี เราต้องหยุดชั่วเสียก่อนจึงจะทำดี ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว ไม่เต็มสักที ถ้าท่านเหล่านั้นมองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดสิ่งชั่ว ท่านไปหยุดความชั่วนั้น ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือท่านเห็นว่าหมู่บ้าน สังคม ชุมชนกำลังย่ำแย่ กำลังเป็นทุกข์ เป็นหนี้ การที่ท่านออกมาช่วยพัฒนาชุมชนก็จะช่วยลดความชั่วอันเกิดจากความทุกข์ ที่จะนำมาซึ่งการลักขโมยได้ ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือแม้แต่ท่านหยุดการทะเลาะเบาะแว้งด้วยการเอาภาระมาเป็นของตน ก็อาจจะดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

เราต้องสังเกตเอาเองว่า ท่านทำเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทองหรือไม่ ท่านทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ถ้าท่านเข้าไปทำเรื่องทางโลกเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนี่

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านที่จะประมาณว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วจะเกิดกุศลมากน้อยเท่าไหร่ เพราะบางทีเหตุการณ์ที่มันจะได้โดยไม่เสียมันไม่มี ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อที่จะได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งถ้าไม่ทำอะไร จะเกิดอกุศล 20 แต้ม (อกุศลเพราะดูดาย ไม่ทำอะไรทั้งที่ทำได้) แต่ถ้าทำจะได้กุศล 80 แต้ม และอกุศล 40 แต้ม (ทำดี แต่ก็ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพิ่มขึ้น) ….ถ้าเทียบกันแล้วอกุศลมันก็ดูมากกว่าใช่ไหม แต่ผลรวม หรือค่ากุศลสุทธิมันได้กำไร ท่านก็อาจจะตัดสินใจลงทุนทำกิจกรรมนั้นๆก็ได้ ซึ่งเราเองหากไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยถามท่าน ก็อย่าพึ่งไปตัดสินท่านเลย บางทีท่านประมาณเก่งกว่าเราเยอะ

การประมาณของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น จะเข้าใจยากเกินกว่าที่คนมีกิเลสหนาจะเข้าใจ เพราะท่านคิดในพื้นฐานของคนที่ขัดเกลากิเลส มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย มันไม่มีทางที่เราจะเข้าใจท่านเหล่านั้นได้เพียงแค่ใช้การคิดวิเคราะห์ไปเอง ทำได้อย่างมากแค่รอดูผลเท่านั้น เพราะจะเข้าไปยุ่งก็เสี่ยงนรกเปล่าๆ หากท่านเป็นพระอลัชชีที่คิดแต่จะหลอกลวงต้มตุ๋นก็รอดไปบ้าง แต่ถ้าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี การเพ่งโทษครั้งหนึ่งคงจะพาเราลงนรกไปได้นานข้ามภพข้ามชาติเชียวละ

เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อทำกุศลกรรม ก็คงจะดีถ้าในชีวิตมีทางให้เลือกชัดเจนว่าทางไหนคือดี ทางไหนคือชั่ว แต่ด้วยกรรมที่เราทำมาจะทำให้หนทางสู่ความดีแท้นั้นลึกลับซับซ้อน บางครั้งจำเป็นต้องเสี่ยง บางครั้งก็หลงผิดเห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว ต้องใช้ปัญญาเท่าที่มีประมาณเอาเองว่าทำอย่างนั้นจะดีไหม ทำอย่างนี้จะดีไหม พระก็คนเหมือนเรานั่นหละ มีกรรมเหมือนเรา มีเหตุที่ต้องตัดสินใจเหมือนเรา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการทำกุศลที่มากกว่า ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องยอมเสียบ้าง ยอมสละบ้าง ยอมถูกด่าบ้าง แต่เพื่อกุศลที่มากกว่า เพื่อสิ่งดีที่มากกว่า ในบางครั้งเราก็ยังยอมทำเลยใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการใช้สังเกตการปฏิบัติของพระที่ปฏิบัติดีไว้ นั่นคือ เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ได้แก่..ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออวดตนเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ได้อยากให้คนรู้จักเราดังที่เราอวดอ้าง เป็นไปเพื่อความสำรวม เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส

ถ้าพระท่านใดยังถือเอาเป้าหมายเหล่านี้เป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมใดๆแล้วล่ะก็ ปล่อยท่านทำไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย นรกกินหัวเปล่าๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์