Tag: กรรมดี

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,303 views 0

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ถาม: คุณดิณห์ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าการฆ่าตัวตาย บาปได้อย่างไร ในเมื่อ เราตายคนเดียว คนอื่นไม่ได้ตายด้วย สมมติว่าถ้าเราไม่เหลือใครแล้ว และไม่มีใครให้ห่วง ไม่มีใครห่วง การตายของเราก็ไม่น่าทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ

ตอบ: เป็นบาปเพราะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดครับ

เพราะเราอาจจะเห็นว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ทำอะไรไปก็ไม่มีผล เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายไม่มีผล ย่อมดับสูญไป สลายไป สิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกยกเลิกทั้งหมด จึงมักคิดเห็นว่าการฆ่าตัวตายในเงื่อนไขที่ว่าไม่เหลือใครไม่มีผลกระทบกับใครเพราะเรามองแต่องค์ประกอบในชาตินี้ ไม่ได้รู้เหตุที่มา และไม่รู้ที่ไปของมัน

ซึ่งจริงๆ การฆ่าตัวตาย มีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรงเลย ด้วยความที่เราสำคัญผิด คิดว่าตัวเราเป็นของเรา เรามีสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงจะเป็นเช่นนั้น แต่การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลดีและร้ายอยู่ ถ้าเราทำดีเราก็จะได้รับผลดี ถ้าเราทำชั่วเราก็จะได้รับผลชั่ว

ทีนี้ชีวิตและร่างกายที่เราได้มานี่มันไม่บังเอิญนะ การที่เราเกิดมาครบ 32 มีสติปัญญาสามารถเข้าถึงคำสอนในศาสนาได้นี่มันไม่ได้มาลอยๆ มันไม่ใช่จับฉลากมาได้ มันมีเหตุมีที่มา เอาง่ายๆว่าเราต้องทำคุณงามความดีมาพอสมควรถึงจะได้สิทธิ์นั้น

สมมุติว่าเราต้องทำดีสัก 100 หน่วย ถึงจะมีสิทธิ์เกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ เราก็ทำดีสะสมมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะสะสมได้ความดี 100 หน่วย ทีนี้พอเกิดมาเราก็มีความเห็นว่า เราไม่มีญาติเป็นห่วง เราตายไปก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ว่าแล้วเราก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งความดี 100 หน่วยที่ได้สะสมมาอย่างไม่เสียดาย

กรรมดีเมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เมื่อเราได้รับผลนั้น คือทำดีจนเกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ ผลนั้นก็จบไป ดี 100 หน่วยที่ทำมาก็หายไป ถ้าอยากได้ใหม่ก็ต้องทำดีใหม่

ชี้กันชัดๆว่าการฆ่าตัวตายคือการโยนสิ่งที่ดีทิ้งไปโดยไม่รู้ว่ามันดี ชีวิตนี่มันดีนะ มันมีคุณค่า คนเกิดมาแล้วสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ จะตกต่ำจนเป็นมหาโจรก็ได้ จะดีจนเป็นพ่อพระก็ได้ หรือจะพัฒนาจนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ หนึ่งชีวิตมันมีโอกาส มีคุณค่าแบบนี้ แล้วทีนี้เราไม่สนใจเลยว่ามันมีที่มายังไง เราได้มาเราไม่เห็นค่า เห็นแค่ว่าถึงโยนชีวิตทิ้งไปก็ไม่เดือดร้อนใคร เราก็โยนสิ่งดีทิ้งไปแบบนั้น

ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้ากับอุปกิเลสแบบหนึ่งคือ ลบหลู่คุณท่าน คือลบหลู่ ตีทิ้ง มองข้ามคุณความดีที่ตนทำมานี่แหละ แทนที่จะเอาร่างกาย ทรัพย์สิน ปัญหา ไปสร้างคุณค่าสร้างกรรมดีให้เราและโลกได้ใช้ แต่เรากลับเอาทั้งหมดไปโยนทิ้ง

ลองนึกภาพว่าเราต้องสร้างบันไดเพื่อไปให้ถึงยอดเขา เราก็เพียรสร้างมาหลายภพหลายชาติ แล้วชาติใดชาติหนึ่งก็เกิดความเห็นว่าจะสร้างทำไม ว่าแล้วก็พังบันไดเหล่านั้นทิ้ง สุดท้ายมันก็ต้องวนกลับไปเริ่มสร้างใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เพราะนอกจากจะหลุดพ้นวัฏสงสารนี้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยการทำลายกิเลสแล้ว ทางอื่นไม่มี ก็ต้องทำใหม่ เริ่มใหม่ แล้วชาติใดเห็นผิดอีก ก็ทำลายที่ตนเองสร้างมา แล้วก็วนกลับไปเกิดในกองทุกข์ พอทุกข์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ก็สร้างบันไดหนีทุกข์ใหม่ แล้วก็ทำลายไปอีก วนเวียนไปอยู่เช่นนี้

สภาพของคนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เป็นสภาพของความหดหู่ ซึมเศร้า หรือโกรธจัดซึ่งเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลสที่สามารถแก้ไขได้ อยู่ในระดับของอบาย คือหยาบ ฉิบหาย เสียหายมาก เพราะถือว่าล้มโต๊ะ ทำลายคุณค่าที่ทำมาทั้งหมด

จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีคุณค่ากับใครหรอก เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่ามี และไม่รู้จักการสร้างคุณค่า การที่เราหายไปนั้นมีผลกับคนอื่นไม่มากก็น้อย

ทรัพยากรที่เราใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต สัตว์กี่ตัวที่ตายไปเพราะเรากิน ต้นไม้กี่ต้นหายไปเพราะการเรียนรู้ของเรา หลายสิ่งที่เราผลาญมาจนถึงวันนี้ เราสร้างคุณค่าชดเชยคืนให้กับมันอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เราใช้ชีวิตเพื่อโลกให้มากพอกับที่เราเคยเอามาจากโลกแล้วหรือยัง หรือเราจะมาเพื่อเพียงเสพสุขแล้วเลือกที่จะจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้กรรมไว้ ไม่ยอมชำระสะสาง

ถึงแม้เราจะเหลือเป็นคนสุดท้ายในโลก ไม่มีใครให้ห่วง ไม่เหลือใครมาห่วงเรา ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งคุณค่าที่ตนมีไปเลย เรายังสามารถใช้ชีวิตสร้างสรรค์โลกได้นานตราบเท่าที่เราจะอยู่ไหว ถึงเวลาที่สมควรก็ปล่อยให้ร่างกายมันตายไปเอง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน มีแต่จะเสริมให้โลกนั้นหมุนเวียนไปอย่างสงบร่มเย็น

ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ หากสิ่งใดจะสำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างกรรม และเป็นผู้รับผลกรรมเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,142 views 1

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

ความแก่และความเจ็บป่วยเป็นปัญหาที่ทำให้คนโสดหลายคนเป็นกังวล แม้ว่าจะไม่ได้คิดมีคู่เพื่อเสพสุขอะไร แต่ก็ยังอยากมีครอบครัวไว้เพื่อประกันอนาคตตัวเอง ซึ่งความกังวลเหล่านี้จะหมดไปหากเข้าใจในเรื่องกรรม

การมีครอบครัว มีคู่ครอง มีลูกหลาน ไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่าจะมีคนดูแลเมื่อยามแก่เฒ่า แม้หน้าตาของมันจะดูเหมือนว่าจะมีในตอนแรก แต่ก็ไม่แน่ว่าสุดท้ายเมื่อถึงเหตุการณ์นั้นจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีให้พบเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ว่าพ่อแม่แก่เฒ่าที่ถูกทิ้งไว้ลำพัง คู่ครองหรือลูกหลานที่เคยหวังว่าจะได้มาช่วยกันกลับต้องเป็นภาระแก่กันและกัน หรือไม่ก็ด่วนจากไปก่อนก็มีถมไป

คนที่มีกรรมที่จะต้องถูกทิ้งให้เดียวดายไปจนแก่ ไม่มีคนดูแล ก็ต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้น ส่วนคนที่มีกรรมที่จะต้องมีคนดูแล ถึงจะมีครอบครัวหรือไม่มีก็ตาม เขาก็จะต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้นเหมือนกัน

ในที่นี้ก็จะกล่าวกันถึงในบริบทที่ไม่พูดถึงกรรมเก่าเลย คือไม่มีกรรมที่จะมีคนมาดูแลเลย เพราะไม่เคยทำกรรมดีนั้นไว้ แล้วเราจะทำอย่างไร กรรมใหม่ที่เราจะทำนั้นจะทำได้ดีแค่ไหน ลองมาเปรียบเทียบกันในมุมคนมีครอบครัวกับคนที่ไม่มีครอบครัวกัน

คนมีครอบครัว(มีคู่)

… ขอบเขตในการทำกรรมดีของคนมีคู่จะกระจุกอยู่ที่คู่ของตน ลูกหลานของตน อย่างดีก็จะไปถึงวงญาติของตน แต่การจะขยายออกไปทำดีกับคนอื่นๆนั้นมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำได้ไม่เต็มที่ กรรมส่วนใหญ่จึงไปมีน้ำหนักตกอยู่กับคู่ครองและลูกหลาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ครองและลูกต้องมาเป็นผู้ใช้กรรมนั้น ความดีที่ทำไปแล้วก็สะสมผลดี เป็นกุศลกรรมให้ตนเองได้รับผลนั้น ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่ง

คนไม่มีครอบครัว(โสด)

… คนโสดนั้นไม่มีข้อจำกัดในการทำกรรมดี สามารถช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ สามารถเอาชีวิต เอาเวลาทั้งหมดไปทำกรรมดีได้เลย ยกตัวอย่างเช่น การดูแลพ่อแม่และญาติก็สามารถทำได้สะดวกกว่าคนคู่ หรืองานจิตอาสา คนโสดก็สามารถเอาเวลาว่างจากการทำงานทั้งหมดไปสร้างกรรมดีได้มากมาย เอาไปดูแลคนอื่นได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคู่ครองหรือลูก ไม่ต้องมีบ่วงหรือภาระที่คอยฉุดรั้งไม่ให้ทำดี

โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นกุศลมาก เช่นการบวช หรือการปวารณาตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น คนโสดก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ สามารถสร้างกรรมดีได้มากเท่าที่เขาจะมีปัญญาทำได้ ซึ่งเรียกได้ว่ามีโอกาสที่จะสร้างกรรมดีได้มากกว่าคนมีครอบครัวมาก ทั้งหลากหลายกว่า ทั้งมีปริมาณมากกว่า และมีโอกาสที่จะได้ไปใกล้ชิดกับหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากกว่าวนเวียนอยู่กับครอบครัวตนเองและหมู่ญาติ

แล้วใครจะดูแลคนโสด?

สัจธรรมที่เราไม่สามารถหนีพ้นได้เลย คือ เรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ไม่ว่าเราจะทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน

นั่นหมายความว่า กรรมดีที่ได้ทำนั้นก็จะดูแลคนทำที่กรรมนั้นเอง กรรมจะจัดสรรเหตุการณ์ให้ได้รับผลกรรมดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ใช้ชีวิตเพื่อดูแลคนอื่น ก็ย่อมจะได้รับผลกรรมนั้น เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ดูแลลูก ก็จะได้รับผลของกรรมดีนั้นในวันใดวันหนึ่ง คนโสดก็เช่นกัน แม้ว่าเขาจะไม่มีคู่ครองหรือลูกหลาน แต่ถ้าหากเขาใช้เวลาที่มีนั้นเสียสละตนเอง ดูแล ช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่น เขาย่อมได้รับผลกรรมเหล่านั้นเช่นกัน

การที่เรามุ่งทำกรรมดีเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเราหวังจะให้ใครเข้ามาดูแลเรา เราเพียงแค่มุ่งทำกรรมดีให้มากที่สุดเท่าที่พอจะมีกำลังทำได้ ส่วนผลนั้นจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามกรรม เราไม่หวังผลดี แต่เรามุ่งทำดี เพราะเรารู้แน่ชัดในใจอยู่แล้วว่า ทำดีก็ต้องได้ดี ไม่ได้ชาตินี้ก็ได้ชาติหน้า

ซึ่งในกรณีที่มีผลกรรมดีมาส่งผลให้มีคนมาดูแลในยามแก่ชราแม้จะโสดนั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ทำกรรมดีไว้มากพอเท่านั้น ทำเท่าไหร่ก็ได้รับผลเท่านั้น ไม่มีขาด ไม่มีเกิน ซึ่งคนที่หลงระเริงในชีวิต ไม่เคยก่อกรรมดี ก็ย่อมไม่ได้รับผลเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้เขาเป็นกังวลเรื่องความเป็นอยู่ในอนาคตเช่นกัน

ดังนั้นเมื่อคนโสดกลัวเรื่องอนาคตก็ต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หาสิ่งที่จะมาผูกมัดให้อนาคตของตนมั่นคง หาตัวช่วยให้ตนได้ทำกรรมดี และสุดท้ายก็จะเปลี่ยนจากคนโสดเป็นคนคู่ที่พัฒนาความสัมพันธุ์ไปจนเป็นครอบครัวไปในที่สุด

คนโสดที่เข้าใจเรื่องกรรม จะไม่กังวลในจุดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิ่งใดๆมาประกันอนาคตของตัวเอง เพราะรู้ดีว่ากรรมดีที่เราทำนี่แหละ คือสิ่งที่จะประกันอนาคตของเรา ดังนั้นเขาจึงแสวงหาโอกาสในการสร้างกรรมดี เข้าร่วมกิจกรรมที่จะสร้างกรรมดี อยู่กับหมู่คนที่จะพากันทำกรรมดี และเข้าหาผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสร้างกรรมดี

สรุป…ถ้าถามว่าคนโสดจะพึ่งใคร ก็ตอบว่า ก็พึ่งพากรรมของตัวเองนั่นแล

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Run for your lives (Karma) ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม

March 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,059 views 0

Run for yourlives (Karma)  ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม

Run for your lives (Karma) ชีวิตบนทางที่ขีดไว้ด้วยกรรมและผลของกรรม

การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะดีและร้าย ล้วนสั่งสมลงเป็นกรรม เป็นพลังงานที่ถูกสะสมเอาไว้ เพื่อรอวันที่จะส่งผลให้สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นกลับไปสู่ความว่างเปล่า

คนเราทุกคนเกิดพร้อมกับกรรมที่สะสมมาต่างกัน ทำให้คนเราไม่เหมือนกัน กรรมในอดีตจะสร้างผลกรรมให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน และกรรมในปัจจุบันจะสังเคราะห์กับกรรมในอดีตกลายเป็นผลของกรรมในอนาคตต่อไป

การไล่ล่าของกรรมนั้นไม่ต่างอะไรจากหมาไล่เนื้อ มันจะวิ่งไล่เหยื่อของมันจนกว่าจะไล่งับทัน เมื่อไหร่ที่ผลของกรรมได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นกรรมดีก็จะเกิดเรื่องที่ดีมักจะทำให้เป็นสุข ส่วนกรรมชั่วก็จะทำให้เกิดเรื่องร้ายที่จะทำให้เกิดทุกข์

ในส่วนของกรรมดีที่ทำให้เกิดความสุขความสบายนั้นคงไม่ใช่ปัญหาที่ต้องลำบากใจกับมันนัก เพราะปัญหาที่ใหญ่กว่านั่นคือกรรมชั่ว ที่จะพาสิ่งเลวร้ายเข้ามาในชีวิต จะมาในรูปแบบเหตุการณ์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็คงจะเดากันได้ยาก ซึ่งผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดให้เสียเวลา เพราะเราไม่รู้หรอกว่ามันจะออกมาแบบไหน

เรารู้เพียงแค่ว่า ทำไปแล้วต้องได้รับแน่ๆ มันมาแน่ๆ มันจะต้องโดนแน่ๆ ทุกวันนี้กรรมชั่วที่เราทำไว้มันกำลังไล่ล่าเราอยู่ มันกำลังเข้าใกล้เราทีละน้อย คนที่ประมาทก็จะใช้ชีวิตอย่างมัวเมา หลงไปกับความสุขจากการเสพ สะสมกิเลส สะสมกรรมชั่วไปเรื่อยๆ

เมื่อกรรมเก่ารวมกับกรรมใหม่ก็จะเพิ่มพลังในการส่งผลได้มากขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไป หากทำชั่วแล้วผลกรรมนั้นยังไม่ส่งผลก็ให้รู้เลยว่ามีกรรมดีเก่าที่เข้ามาชะลอไว้ แต่เมื่อไหร่ที่ไม่มีกำแพงกุศลมากั้นกรรมชั่วไว้ วันนั้นแหละคือวันที่จะได้ใช้หนี้กรรม

บางคนถูกพรากศักยภาพในการทำกุศลไป เช่นกลายเป็นคนป่วย คนพิการ กลายเป็นอัมพาต จากที่เคยทำกุศล ทำความดีได้ ก็ทำไม่ได้เต็มที่เหมือนเดิมเพราะมีข้อจำกัดมากขึ้น ร่างกายที่สมบูรณ์ครบพร้อมและสุขภาพที่ดีนั้นเอื้อต่อการทำกุศลได้สูงที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสียไปทั้งหมด เพราะชีวิตยังอยู่ จึงพอจะศึกษาและเรียนรู้เรื่องกรรมต่อไปได้

แต่บางคนถูกกรรมพรากชีวิตไป หลายคนจากไปก่อนวัยอันควร เกิดมาก็ยังไม่ทันทำดี ไม่สร้างกุศลให้มากกว่าที่ใช้ไป ไม่ศึกษาธรรม ได้แต่ใช้ชีวิตไปตามกิเลส ตามใครต่อใครตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นคนที่เกิดมาแล้วตายไปฟรีๆ เกิดมาใช้กรรมไปหนึ่งชาติ แต่กรรมที่สร้างใหม่ในชาติที่เกิดก็มีอยู่ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นความชั่ว

แท้จริงแล้วการใช้หนี้กรรมชั่วจะต้องถูกทำให้เกิดสภาพของความทุกข์ ซึ่งเหตุการณ์จะออกมาในแนวทางไหนก็ได้ เขาคนนั้นอาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่อาจจะต้องสูญเสียของรัก คนรัก หรือสิ่งที่สำคัญไปก็เป็นได้

คนที่ทำแต่ความดี แม้ว่าจะละเว้นการทำชั่ว แต่ถ้าไม่เคยศึกษาเรื่องกรรม เรื่องกิเลสเอาไว้ เวลาต้องปะทะกับกรรมที่ส่งผลจะทำให้เกิดสภาพของทุกข์ที่ซ้ำซ้อนและจมอยู่อย่างนั้นจนกว่ากรรมนั้นๆจะส่งผลหมดจึงจะคลายทุกข์ได้ซึ่งอาจจะนานเป็นเดือนเป็นปีหรือจนกระทั่งตายแล้วกรรมก็ยังส่งผลไม่หมด ต้องเกิดมารับกรรมชั่วต่อไปอีกเหมือนกับคนที่หกล้มโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งท่าเตรียมล้ม ต้องทนกับความเจ็บจนหายปวดแล้วจึงจะลุกได้

แต่คนที่ศึกษาเรื่องกิเลสและกรรมจนเข้าใจแล้วจะต่างกันออกไป เหมือนกับคนที่หกล้มแล้วรู้ว่าทำไมจึงล้ม รู้วิธีล้มให้บาดเจ็บน้อยที่สุด และรู้วิธีว่าจะลุกอย่างไรให้ก้าวต่อไปได้ไวที่สุด เพราะรู้ดีว่าผลของกรรมครั้งต่อไปก็กำลังจะไล่ล่าตามมาติดๆเช่นกัน ดังนั้นเขาจึงไม่รอที่จะให้กรรมเหล่านั้นมาไล่ล่า แต่จะเลือกที่จะวิ่งหนีกรรม ทำความดีให้ห่างกรรมชั่วออกไป ทำดีให้มากเพื่อให้ความชั่วนั้นตามไม่ทัน ถึงจะทันก็ทำอะไรไม่ได้มาก

เป็นการทำดีหนีการไล่ล่าของกรรมชั่วเพื่อประโยชน์ของชีวิตนี้ เพื่อที่จะได้ใช้เวลาศึกษาเรื่องกรรมและกิเลสให้ถ่องแท้ไปโดยลำดับโดยไม่ต้องมีเหตุการณ์ที่จะมาพรากชีวิตไปก่อนวันอันสมควร เพราะกว่าจะได้มาเกิดแต่ละครั้งก็ยากแสนยาก เกิดมาก็ใช่ว่าจะได้เจอพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะเจอก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจ ดังนั้นการเกิดมาแต่ละครั้งจึงต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ไม่ใช่เพียงแค่เกิดมาใช้ชีวิตไปตามกิเลสแล้วก็รอวันตายไปตามกรรมเท่านั้น

แต่เป็นชีวิตที่ดิ้นรนต่อสู้ ฝืนกรรม ทำลายกิเลส ไม่ยอมจำนนต่อกิเลสที่มี พยายามจะวิ่งทวนกระแส ซึ่งจะเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถหนีกรรมชั่วที่เคยทำไว้ได้สักพักหนึ่ง และสร้างกรรมดีขึ้นมาเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตนเองและผู้อื่นต่อไปในอนาคต

– – – – – – – – – – – – – – –

29.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันผิดตรงไหน

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,288 views 0

ฉันผิดตรงไหน

ฉันผิดตรงไหน

…เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ

ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งบางคู่ที่ต้องเลิกกันโดยไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทิ้งไว้เพียงความสงสัย มีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความเงียบงันนั้น เสียงในใจกลับดังก้องขึ้นมาว่า” ฉันผิดตรงไหน?

1). ผิดที่ใคร?

ท่ามกลางความสับสนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคู่ที่เลิกรากันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนี้พิศวงงงงวยเหล่านั้น จึงมักจะพยายามคิดหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลที่รับรู้มา เป็นวิธีคิดที่ใช้กันโดยทั่วไป

และโดยทั่วไปคนเรามักจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง เมื่อใช้ความคิดที่ยังมีกิเลสปน แม้ว่าจะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเห็นเพียงความจริงตามที่กิเลสกำหนดให้เห็นเท่านั้น จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ใครผิด ใครเริ่มต้นก่อน ใครทำให้รักของเราต้องเปลี่ยนไป เป็นไปในทิศทางของกิเลสของเรา

เรามีกิเลสมาก ความจริงก็จะบิดเบี้ยวมากตามไปด้วย กิเลสยังสร้างความจริงลวงขึ้นมาเสริมจากเหตุการณ์จริงได้อีก เช่นคู่รักทำอย่างหนึ่ง แต่เราไปตีความว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วปั้นจินตนาการต่อฟุ้งกระจายจนความลวงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปั้นจิตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เรียกว่า “มโนมยอัตตา” คือการปรุงแต่งจิตใจ สร้างภาพมายา ขึ้นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะเห็นความจริงไม่ตรงกัน

เมื่อมีความเห็นต่างเราก็มักจะเชื่อไปในทางที่เราคิด เราเห็น เราเข้าใจ เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีพลังอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าสิ่งที่เห็นและเข้าใจนั่นคือกรรมและกิเลส

2). ผิดที่เขา?

ความผิดเกิดขึ้นจากคนอื่นอย่างชัดเจนก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หากความผิดพลาดนั้นเกิดจากความเข้าใจของเราที่มองเห็นว่าเขาทำผิดนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ยาก

เพราะหากเราไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความเชื่อหรือความเห็นของเราที่ยังมีกิเลสหนาอยู่นั้น ผลของการตัดสินมันก็จะผิดตามไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้วคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถึงจะยอมรับก็รับครึ่งเดียวแต่เวลาคนอื่นทำผิดก็เพิ่มโทษมากขึ้นกว่าความเป็นจริง มองว่าคนอื่นผิดเป็นหลัก ไม่มองพยายามมองหาสิ่งผิดในตนเอง ผลักภาระในกรรมนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมรับกรรมนี้เป็นของตน

การมองว่าความผิดมาจากคนอื่นนั้นเป็นเพราะเรามีอัตตาและไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ในส่วนของการมีอัตตาคือเรามักจะเชื่อว่าเราถูกเสมอ เราไม่เคยผิด คนอื่นผิด ถึงเราผิดเราก็ผิดไม่มาก คนอื่นผิดมากกว่า เราเป็นคนดี เราดีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำทุกอย่างดีแล้ว แต่เขาไม่ทำดีเหมือนเรา

อัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ คือการยึดศักดิ์ศรี ยึดความถูกต้อง ยึดความเป็นใหญ่มาเป็นตัวตนของเราด้วย เมื่อเรามีอัตตามาก เราก็จะเชื่อมั่นมาก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เคลือบด้วยกิเลส เป็นกิเลสแท้ๆ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งผิด ยิ่งยึดก็ยิ่งบาป

เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่าเราถูกเขาผิดมากเข้า ก็จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องกรรมผิดเพี้ยนไปด้วย อัตตานี้เองคือตัวบังทุกอย่างไว้ และโยนความผิดให้คนอื่น ตั้งตนเป็นผู้ถูกกระทำ เอาดีเข้าตน เอาชั่วใส่คนอื่นอย่างแนบเนียน

3). ผิดที่เรา?

คนที่สามารถก้าวข้ามอัตตาได้ก็จะมีโอกาสจะกลับมามองที่ตนเอง การที่เราไม่เพ่งโทษหรือไม่โยนความผิดให้คนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว

ทุกอย่างนั้นมีเหตุในการเกิดและปัญหาของคู่รัก ก็ต้องมีเราเป็นส่วนร่วมในเหตุนั้นด้วยเช่นกัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนไหนแล้วสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เกิดก็อาจจะทราบได้ยาก เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจ ได้แลกเปลี่ยน ได้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน

แม้ว่าเราเองจะยอมรับความผิดพลาดทั้งหมดกลับมาที่ตัวเรา มองตัวเราว่าเป็นคนผิด มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโดยไม่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหายคลางแคลงใจจากคำถามที่ว่า “ฉันผิดตรงไหน?”

แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเราผิดนั้นก็เป็นอัตตาอีกเช่นกัน แต่จะซับซ้อนกว่าในแบบโยนความผิดไปให้คนอื่นเขา ซึ่งคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนผิดและยินดีรับผิด ยอมอมทุกข์นั้นก็เหมือนคนที่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ยึดว่าฉันผิดจึงจะดี ยึดว่าฉันต้องรับทุกข์ทุกอย่างไว้เองจึงจะดี

การยอมรับว่าเราผิดนั้นไม่จำเป็นต้องยึดจนทรมานร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพียงแค่ยอมรับให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าเราผิดพลาดตรงไหน นิสัยใดบ้างที่ไม่ส่งผลดี สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ ก็ยอมรับผิดไปตามจริง แต่ไม่จำเป็นต้องแบกทุกข์และความผิดนั้นไว้เป็นตัวเป็นตนของเรา

เพราะการทำผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ระทมขมขื่น แต่การทำผิดนั้นก็หมายถึงการทำผิดครั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาความผิดในครั้งก่อนมากำหนดความผิดในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุจากความผิดพลาดจริงๆแล้วแก้ไขมันได้ ความผิดแบบเดิมก็จะไม่เกิดอีกในครั้งต่อไป

4). ผิดที่เราก็ได้นะ…

ในการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รัก มักจะไม่ได้ชัดเจนและสามารถมองออกได้ง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เริ่มต้นจากตรงไหน ปัญหาสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยความเป็นคู่รัก จึงมักจะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปแสดงออก บางครั้งอาจจะเหมือนยอมรับแต่ในใจก็ไม่ยอมรับ บางครั้งเหมือนจะไม่ยอมรับแต่จริงๆก็ยอมรับแล้วแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะเสียฟอร์ม

การยอมรับผิดโดยการประชดประชันนั้นเป็นความซับซ้อนของกิเลส เราแสดงออกว่าเรายอมรับผิดแต่ในใจเรากลับมองว่าคนอื่นผิด แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลให้เราไม่ยอมแสดงออก การประชดแบบนี้จะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

หรือหลายคนที่ใช้วิธีเงียบ ปกปิดความรู้สึก ทำเสมือนว่ายอมรับผิด นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ถ้าในใจไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดจากตนเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าตนถูกคนอื่นผิด ก็เหมือนการกดข่มปัญหาไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ปล่อยให้มันสะสมรอวันระเบิดในโอกาสต่อไป

แต่ในบางครั้งที่ปัญหานั้นมีแนวโน้มที่จะลุกลาม การยอมรับผิด ยอมเป็นคนดีรับทุกอย่างไว้เอง เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งหรือบาดหมางกันไปมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นกุศลอยู่บ้าง แม้ในใจจะไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียว แต่หากทำไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นลุกลามบานปลายสร้างปัญหามากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอม

5). ผิดที่กรรม?

กรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนและยุติธรรมที่สุดในโลก เราไม่มีวันที่จะได้รับสิ่งใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใด โดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นมา สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นการถูกเข้าใจผิด การทอดทิ้ง การเลิกรา ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของเรา ซึ่งผลของกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เมื่อไหร่ สิ่งที่เจออาจจะเป็นสิ่งที่ทำในชาตินี้ก็ได้ ชาติก่อนก็ได้ หรือชาติก่อนๆย้อนหลังไปอีกสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติก็ได้ นั่นเพราะผลกรรมที่เราทำไว้ยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด เราจึงต้องมาคอยชดใช้กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง

หลายคนรู้นิยามของกรรม แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ชัดเจน รู้ตามทฤษฏีว่าทุกอย่างที่ได้รับเราทำมา แต่เวลาเจอสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขัดข้องใจหรือสงสัย ก็จะรู้สึกว่ากรรมไม่ยุติธรรม ฉันไม่ควรได้รับกรรมนี้ บ่นคนนู้นด่าคนนี้ มีแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด ลืมมองกลับมาว่าทั้งนี่เป็นกรรมของเราเอง เราทำมาเอง ทั้งหมดเป็นผลงานของเราเองเรานี่แหละตัวแสบเลย ยิ่งได้รับกรรมที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงเราก็เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมามากกว่านั้น เพราะเราจะได้รับเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทั้งหมดในทีเดียว

เช่นเดียวกับรักร้าวที่ไร้คำตอบ การเลิกราที่ไม่มีบทสรุป เราก็ทำมาเอง ในชาติใดชาติหนึ่งเราก็เคยไม่ถูกใจใครแล้วก็ทิ้งเขาเอาตัวรอดมาคนเดียวโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขาเช่นกัน นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าความรักที่จืดจาง หรือกระทั่งรักที่พังทลายลงไปนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

กรรมจะดลให้เราได้รับทุกข์อย่างที่เราเคยทำมา ให้เราอยู่กับความขุ่นข้องหมองใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้เราสงสัยและทุกข์ไปเรื่อยๆ จมอยู่กับทุกข์จากความไม่ปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้คำตอบที่ชัดเจนนั้นด้วย

แต่เมื่อกรรมให้ผลจนหมด จะเหมือนฟ้าเปิด เหมือนเมฆฝนหายไป เราจะสามารถเข้าใจคำตอบของเรื่องราวต่างๆได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก เข้าใจกรรมและผลของกรรมได้เอง ซึ่งอาจจะมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้เช่นกัน

ซึ่งการจะทำให้ผลกรรมหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองด้วยใจจริงเสียก่อน ยอมรับว่าตัวเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีเหล่านั้นด้วยการทำดีให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อกรรมชั่วนั้นส่งผลให้เราทุกข์ ให้เราโง่ ให้เราจมอยู่กับปัญหา กรรมดีก็จะส่งผลให้เราสุข ให้เรามีปัญญา ให้เราออกจากปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการทำดีจะช่วยทำให้ปัญหาได้คลี่คลายเร็วขึ้น ได้คำตอบในชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คำตอบนั้นอาจจะไม่มีคำตอบใดๆเลยก็เป็นได้ อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า มันจบไปแล้วเราจะแบกไว้ทำไม ว่าแล้วจิตใจก็โปร่งโล่งสบายจากการไม่ต้องมานั่งรอคอยคำตอบที่ไม่มีวันจะได้รับ

แต่บางครั้งกรรมก็ซับซ้อนกว่าที่คิด คือสามารถทำให้เราหลงว่าบรรลุธรรมได้ หลงว่าหลุดพ้นได้ จะมีอาการเพี้ยนๆที่เป็นไปในทิศทางเพิ่มกิเลส แต่เจ้าตัวจะเข้าใจว่ามีความสุข เช่นมีความสุขกายสบายใจที่ได้โยนความผิดให้กับคนอื่นด้วยใจเป็นสุข …อาการจะขัดๆเพี้ยนๆแบบนี้ ปากก็บอกว่าเป็นสุข แต่การกระทำจะสร้างบาป มันขัดกันไปมา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นไปเพื่อล้างกิเลส ในกรณีหมดกรรมชั่วจริงๆ คำตอบจะเป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางลดกิเลสอย่างเดียว

ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดคำนวณ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสุดท้ายกรรมจะผ่านพ้นตอนไหน อย่างไร สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่การทำดีให้มาก และการทำดีที่มีผลมากที่สุดก็คือการดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นเสีย

ถ้าเราชัดเจนเรื่องกรรม เราจะไม่กล่าวโทษหรือแม้แต่จะคิดโทษใครเลย จะไม่มีใครผิดเลยนอกจากเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราทำมาเองทั้งนั้น เราจะยินดีรับกรรมนั้นใจที่เป็นสุข เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำมาด้วยความยินดี เพราะได้รับกรรมชั่วแล้ว กรรมนั้นก็หมดไป ชีวิตเราก็จะดีขึ้นเพราะใช้หนี้ไปอีกเรื่อง

6). ผิดที่กิเลส

ตัวการแห่งทุกข์ทั้งหมดก็คือกิเลส กิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความอยากเหล่านั้นแท้จริงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่เพราะความโง่ ความไม่รู้ของเราจึงนำกิเลสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต รับกิเลสเข้ามาเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าฉันคือกิเลส กิเลสคือฉัน เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

เมื่อเรามีกิเลส เราก็จะไปสร้างกรรมชั่วตามแต่กิเลสจะผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาจนและหน้าตาไม่ดี นั่นคือเขาไม่สามารถผ่านมาตรฐานสนองกิเลสของเราได้ คู่ของเราต้องมีความสามารถในการสนองกิเลสของเรามากกว่านี้ นี่คือเรากำลังใช้กิเลสของเราในการวัดคุณค่าของคนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำกรรมเช่นนี้ การที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ถึงแม้เราจะดีแสนดีแต่เขาก็ไม่หันมาสนใจเราเลยก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

หรือ เราคบกันแฟนคนหนึ่ง ด้วยความที่เขามาจีบเรา เราก็ใช้โอกาสเอาแต่ใจ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ซึ่งเรากำลังเพิ่มกิเลสของเราและกำลังทำให้คนอื่นทุกข์ นี่ก็เป็นกรรมชั่วที่เราทำเช่นกัน ซึ่งการที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ไม่ว่าเราจะสนองกิเลสของคู่รักเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยพอ แถมเอาแต่ใจมากขึ้นอีกด้วย ถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เพราะเรามีกิเลสเราจึงสร้างกรรมชั่ว และเรานั่นเองก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วที่เราทำไว้ คนที่มีความเห็นความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาชาติเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ก็จะขยันสนองกิเลส เพิ่มกิเลส ขยันทำชั่ว แล้วก็จะได้มาซึ่งผลกรรมชั่ว ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของเขาต่อไปทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ก็จะไม่รู้ในเรื่องกิเลส แม้จะเป็นทุกข์อยู่ก็จะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นกิเลส ต้องจมอยู่กับความเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคนมาบอกทางแต่ก็เหมือนมองไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน กรรมมันส่งผลแบบนี้ มันบังตาแบบนี้ นี่คือผลกรรมชั่วจากการที่เรามีกิเลส มันบังได้แม้กระทั่งการเห็นทางพ้นทุกข์

ดังนั้นการที่เรามามัวถามคำถามว่าฉันผิดตรงไหน? เลิกกับฉันเพราะอะไร? เป็นการหาคำตอบที่ปลายเหตุ ถึงแม้ว่าเขาจะบอกแต่ก็อาจจะไม่ใช่ความจริง ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจตามที่เขาเข้าใจ กรรมจะบังให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อน ให้เราทุกข์ ให้เราจมอยู่กับคำถาม ที่ไม่มีวันที่จะสามารถเข้าใจและยอมรับในคำตอบนั้นได้

เราจึงควรกลับมาที่เหตุของปัญหาทั้งหมด เหตุของกรรมชั่วที่ดลบันดาลให้เราต้องพบกับความทุกข์แสนสาหัส กรรมชั่วเหล่านั้นก็มาจากกิเลส ดังนั้นการจะพาตัวเองให้พ้นจากคำถามต่างๆ ให้พ้นจากกรรมชั่วเหล่านั้นคือการทำกรรมดีขึ้นมาใหม่ โดยการทำลายเหตุแห่งกรรมชั่วอันคือกิเลสให้สิ้นซาก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์