Tag: กรรม

คู่กรรม (สอบถาม)

August 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,377 views 2

ผมเคยพิมพ์เรื่องกรรมกับเรื่องคู่ไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความที่เราทนความอยากที่จะมีคู่ไม่ได้นั้นเป็นเพราะผลกรรมเก่าทุกคน เพราะจริงๆ มันมีกรรมใหม่ร่วมด้วย

ถ้ายังไม่เคยได้รับรู้ธรรมะ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการมีคู่นั้นเป็นเหมือนบ่วง ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นทางที่ตรงกับข้ามกับการเป็นบัณฑิต(ผู้รู้ธรรม) แล้วไปมีคู่นั้น ก็เรียกว่าโดนโลกมอมเมา เป็นเพราะแรงกรรมส่วนหนึ่ง แรงกิเลสในขณะนั้นส่วนหนึ่ง หรือจะเรียกว่าผลของกรรมมันบังปัญญาที่เคยมี ให้ปัญญานั้นต่ำกว่ากิเลสก็เลยไปมีคู่

แต่คนที่มาศึกษาธรรมะแล้ว ได้มารู้โทษของการมีคู่แล้ว ได้รู้แล้วว่าทางหลุดพ้นจริงๆ สุดท้ายทุกคนก็จะเป็นโสด ฯลฯ คือรู้แล้วว่าอะไรดี อะไรชั่ว แล้วดันไปเลือกมีคู่ อันนี้จะโมเมอ้างกรรมเก่าไม่ได้แล้วครับ เพราะคุณมีโอกาสตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเอาธรรมะหรือเอากิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำกรรมของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสเท่านั้นแหละ

ถ้าคนมีของเก่ามามาก แล้วได้รู้ธรรมจะหลุดได้ง่ายครับ แต่ถ้าไม่มีนี่อาจจะจมยาวเลย มีคู่ มีลูก มีหลานอะไรกันไปตามเรื่องตามราว

ประเด็นนี้มีใครสนใจจะเสริม หรือสอบถามอะไรเพิ่มเติมไหมครับ? คิดว่าวันหนึ่งจะเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นมาใหม่ครับ

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

November 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,941 views 0

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

วิบาก(ผล) กรรม(การกระทำ) หรือผลของการกระทำในอดีตของเรานั้น จะเป็นสิ่งที่จะจัดฉากให้เราต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้าย หรือสิ่งไม่ดีไม่ร้ายใด ๆ ก็ตามที่เราเคยทำมา

แต่การจะตัดสินใจใด ๆ ต่อเหตุการณ์นั้นคือสิทธิ์ของเรา แม้ว่าฉากเหล่านั้นจะถูกจัดมาอย่างเลวร้ายหรือแสนดีแค่ไหน เราก็ไม่จำเป็นต้องเล่นไปตามบทบาทที่ถูกเขียนมา เพราะเรามีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจทำกรรมใดก็ตามที่จะเป็นกุศล(ความดี), อกุศล(ความชั่ว), ทั้งดีและชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วก็ได้

แต่อิสระเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลส ความโลภ โกรธ หลงจะเป็นสิ่งที่บงการเรา อยู่เหนืออิสระของเรา ให้เราทำกรรมชั่วนั้น กิเลสจึงเป็นตัวบงการให้สร้างกรรมต่างๆ เช่น เมื่อเจอขนมที่ชอบ ถ้าเราไม่หลงในขนมนั้น ก็คงจะมีอิสระเหนือขนมนั้นอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่เราตกเป็นทาสของกิเลส อิสระของเราเลยกลายเป็นอิสระเฉโก กลายเป็นอิสระในการกิน แต่ไม่เป็นอิสระต่อความอยากกิน เพราะพลังของกิเลสนั่นเอง

การอ้างว่าฉันตัดสินใจทำเช่นนั้นเช่นนี้เพราะกรรมเก่า เป็นการโยนความผิดให้ตัวเองในอดีต โยนบาปให้พ้นตัว ทั้งที่ความจริงแล้ว การตัดสินใจทำกรรมใด ๆ ล้วนเกิดจากเหตุสองทาง หนึ่งคือเกิดจากกิเลส สองคือเกิดจากการไม่มีกิเลส ไม่ได้เกิดกรรมเก่าแต่อย่างใด ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๔๗๓ นิทานสูตร )

การเดินทางสู่ความพ้นทุกข์ นั้นต้องรู้จักรู้จริงในความเป็นปัจจุบัน เข้าใจในพลังของอดีต และความเป็นไปได้ในอนาคต ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองว่าการตัดสินใจใดๆที่ได้ทำลงไปนั้น เกิดจากสาเหตุใด เกิดจากกิเลสก็ยอมรับว่ากิเลส ไม่ใช่เฉโก ฉลาดหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่กิเลส แล้วหลงว่าตนไม่มีกิเลสเข้าไปอีก และก็ต้องแยกให้ออกว่ากิเลสตัวไหน แบบใด หาเหตุของมันจึงจะสามารถเข้าไปทำความผิดให้เป็นความถูกได้โดยลำดับ

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,667 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,189 views 1

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

โสด แก่ตัวไปใครจะดูแล

ความแก่และความเจ็บป่วยเป็นปัญหาที่ทำให้คนโสดหลายคนเป็นกังวล แม้ว่าจะไม่ได้คิดมีคู่เพื่อเสพสุขอะไร แต่ก็ยังอยากมีครอบครัวไว้เพื่อประกันอนาคตตัวเอง ซึ่งความกังวลเหล่านี้จะหมดไปหากเข้าใจในเรื่องกรรม

การมีครอบครัว มีคู่ครอง มีลูกหลาน ไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่าจะมีคนดูแลเมื่อยามแก่เฒ่า แม้หน้าตาของมันจะดูเหมือนว่าจะมีในตอนแรก แต่ก็ไม่แน่ว่าสุดท้ายเมื่อถึงเหตุการณ์นั้นจริงจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีให้พบเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ว่าพ่อแม่แก่เฒ่าที่ถูกทิ้งไว้ลำพัง คู่ครองหรือลูกหลานที่เคยหวังว่าจะได้มาช่วยกันกลับต้องเป็นภาระแก่กันและกัน หรือไม่ก็ด่วนจากไปก่อนก็มีถมไป

คนที่มีกรรมที่จะต้องถูกทิ้งให้เดียวดายไปจนแก่ ไม่มีคนดูแล ก็ต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้น ส่วนคนที่มีกรรมที่จะต้องมีคนดูแล ถึงจะมีครอบครัวหรือไม่มีก็ตาม เขาก็จะต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้นเหมือนกัน

ในที่นี้ก็จะกล่าวกันถึงในบริบทที่ไม่พูดถึงกรรมเก่าเลย คือไม่มีกรรมที่จะมีคนมาดูแลเลย เพราะไม่เคยทำกรรมดีนั้นไว้ แล้วเราจะทำอย่างไร กรรมใหม่ที่เราจะทำนั้นจะทำได้ดีแค่ไหน ลองมาเปรียบเทียบกันในมุมคนมีครอบครัวกับคนที่ไม่มีครอบครัวกัน

คนมีครอบครัว(มีคู่)

… ขอบเขตในการทำกรรมดีของคนมีคู่จะกระจุกอยู่ที่คู่ของตน ลูกหลานของตน อย่างดีก็จะไปถึงวงญาติของตน แต่การจะขยายออกไปทำดีกับคนอื่นๆนั้นมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำได้ไม่เต็มที่ กรรมส่วนใหญ่จึงไปมีน้ำหนักตกอยู่กับคู่ครองและลูกหลาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ครองและลูกต้องมาเป็นผู้ใช้กรรมนั้น ความดีที่ทำไปแล้วก็สะสมผลดี เป็นกุศลกรรมให้ตนเองได้รับผลนั้น ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่ง

คนไม่มีครอบครัว(โสด)

… คนโสดนั้นไม่มีข้อจำกัดในการทำกรรมดี สามารถช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ สามารถเอาชีวิต เอาเวลาทั้งหมดไปทำกรรมดีได้เลย ยกตัวอย่างเช่น การดูแลพ่อแม่และญาติก็สามารถทำได้สะดวกกว่าคนคู่ หรืองานจิตอาสา คนโสดก็สามารถเอาเวลาว่างจากการทำงานทั้งหมดไปสร้างกรรมดีได้มากมาย เอาไปดูแลคนอื่นได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคู่ครองหรือลูก ไม่ต้องมีบ่วงหรือภาระที่คอยฉุดรั้งไม่ให้ทำดี

โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นกุศลมาก เช่นการบวช หรือการปวารณาตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น คนโสดก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ สามารถสร้างกรรมดีได้มากเท่าที่เขาจะมีปัญญาทำได้ ซึ่งเรียกได้ว่ามีโอกาสที่จะสร้างกรรมดีได้มากกว่าคนมีครอบครัวมาก ทั้งหลากหลายกว่า ทั้งมีปริมาณมากกว่า และมีโอกาสที่จะได้ไปใกล้ชิดกับหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากกว่าวนเวียนอยู่กับครอบครัวตนเองและหมู่ญาติ

แล้วใครจะดูแลคนโสด?

สัจธรรมที่เราไม่สามารถหนีพ้นได้เลย คือ เรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ไม่ว่าเราจะทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน

นั่นหมายความว่า กรรมดีที่ได้ทำนั้นก็จะดูแลคนทำที่กรรมนั้นเอง กรรมจะจัดสรรเหตุการณ์ให้ได้รับผลกรรมดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ใช้ชีวิตเพื่อดูแลคนอื่น ก็ย่อมจะได้รับผลกรรมนั้น เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ดูแลลูก ก็จะได้รับผลของกรรมดีนั้นในวันใดวันหนึ่ง คนโสดก็เช่นกัน แม้ว่าเขาจะไม่มีคู่ครองหรือลูกหลาน แต่ถ้าหากเขาใช้เวลาที่มีนั้นเสียสละตนเอง ดูแล ช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่น เขาย่อมได้รับผลกรรมเหล่านั้นเช่นกัน

การที่เรามุ่งทำกรรมดีเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเราหวังจะให้ใครเข้ามาดูแลเรา เราเพียงแค่มุ่งทำกรรมดีให้มากที่สุดเท่าที่พอจะมีกำลังทำได้ ส่วนผลนั้นจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามกรรม เราไม่หวังผลดี แต่เรามุ่งทำดี เพราะเรารู้แน่ชัดในใจอยู่แล้วว่า ทำดีก็ต้องได้ดี ไม่ได้ชาตินี้ก็ได้ชาติหน้า

ซึ่งในกรณีที่มีผลกรรมดีมาส่งผลให้มีคนมาดูแลในยามแก่ชราแม้จะโสดนั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ทำกรรมดีไว้มากพอเท่านั้น ทำเท่าไหร่ก็ได้รับผลเท่านั้น ไม่มีขาด ไม่มีเกิน ซึ่งคนที่หลงระเริงในชีวิต ไม่เคยก่อกรรมดี ก็ย่อมไม่ได้รับผลเหล่านั้น ซึ่งจะทำให้เขาเป็นกังวลเรื่องความเป็นอยู่ในอนาคตเช่นกัน

ดังนั้นเมื่อคนโสดกลัวเรื่องอนาคตก็ต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หาสิ่งที่จะมาผูกมัดให้อนาคตของตนมั่นคง หาตัวช่วยให้ตนได้ทำกรรมดี และสุดท้ายก็จะเปลี่ยนจากคนโสดเป็นคนคู่ที่พัฒนาความสัมพันธุ์ไปจนเป็นครอบครัวไปในที่สุด

คนโสดที่เข้าใจเรื่องกรรม จะไม่กังวลในจุดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิ่งใดๆมาประกันอนาคตของตัวเอง เพราะรู้ดีว่ากรรมดีที่เราทำนี่แหละ คือสิ่งที่จะประกันอนาคตของเรา ดังนั้นเขาจึงแสวงหาโอกาสในการสร้างกรรมดี เข้าร่วมกิจกรรมที่จะสร้างกรรมดี อยู่กับหมู่คนที่จะพากันทำกรรมดี และเข้าหาผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสร้างกรรมดี

สรุป…ถ้าถามว่าคนโสดจะพึ่งใคร ก็ตอบว่า ก็พึ่งพากรรมของตัวเองนั่นแล

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)