Tag: กรรม

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

August 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,335 views 0

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ฉันคงได้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การพลัดพรากจากลา

ได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของหลายสิ่ง

ได้เห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความลวงของสิ่งต่างๆ

ได้เห็นเด็กน้อยในวันนี้เติบโตจนกระทั่งกลายเป็นคนแก่

ได้เห็นคนวัยเดียวกัน และคนที่สูงวัยในวันนี้ จากไปทีละคน

ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วล้วนถูกกรรมกลืนกินไปตามกาลเวลา

ฉันคงได้แต่มองดูการเปลี่ยนแปลงของโลกไปอย่างเงียบๆ

เมื่อฉันนึกถึงวันนั้น ในวันที่ฉันจะมีอายุ ๑๐๐ ปี ในอนาคต

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ราวกับว่าเป็นเรื่องตลก

คนที่เคยรัก ค่อยๆแก่ เจ็บป่วย และตายจากฉันไป

คนที่เคยชัง ก็ค่อยๆ ตายจากโลกนี้ไปเช่นเดียวกัน

คนที่เคยสวย เคยหล่อ ค่อยๆเหี่ยวย่น แก่ชรา และตาย

คนที่รวยล้นฟ้า มีหน้าที่การงานดี มีชื่อเสียง ก็ตายไปเช่นกัน

มันดูเป็นเรื่องตลกที่ฉันยังหลงมัวเมาอยู่กับหลายสิ่งในวันนี้

ในอนาคตข้างหน้า ในวันที่ฉันมีอายุถึง ๑๐๐ ปี

คนที่เคยอยู่ข้างฉัน เป็นเพื่อนฉัน เป็นกำลังใจให้ฉันในวันนี้

ก็คงจะทยอยหายจากชีวิตของฉันไปจนเกือบหมด

คงไม่เหลือใครที่จำอดีตในวันนี้ของฉันได้ แม้แต่ตัวฉันเอง

ตัวตนของฉันย่อมจะถูกกลืนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ฉันในวันนี้ กับฉันในอนาคตก็คงจะไม่ใช่คนเดียวกัน

ในเมื่อฉันได้เห็นว่าความเป็นฉันมันไม่แน่นอนอย่างนี้

ฉันก็ไม่รู้ว่าจะต้องเป็นฉันในแบบทุกวันนี้ไปทำไม

แม้แต่คนรอบตัวฉันก็ไม่แน่นอน ฉันก็ไม่รู้จะยึดไว้ทำไม

ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถูกกรรมและกาลพรากไป

ฉันก็ไม่รู้จะต่อต้านมันไปเพื่ออะไร …

ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน

แล้วฉันจะไปหวังให้สิ่งที่ฉันรัก อยู่กับฉันตลอดไปได้อย่างไร

สิ่งที่ฉันจะทำได้ก่อนที่ฉันจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี ไม่ใช่การไขว่คว้า

แต่เป็นการพยายามปล่อยวางในสิ่งที่ฉันยังยึดมั่นถือมั่น

ปล่อยวางให้ได้ก่อนกรรมและกาลเวลาจะมาพรากมันไป

ถึงฉันจะไม่ยอมปล่อยให้สิ่งที่รักนั้นจากไป

แต่วันหนึ่งมันก็ต้องจากฉันไปอยู่ดี

ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจที่จะลงมือก่อน

ฉันจะไม่รอกรรม ฉันจะไม่รอกาลเวลามาพรากมันไป

ฉันจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นด้วยตัวฉันเอง

ทั้งคนที่ฉันรัก คนที่ฉันชัง และไม่ว่าสิ่งใดที่รัก สิ่งใดที่ชัง

ฉันจะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้น เป็นไปตามธรรมชาติของมัน

ฉันจะอยู่กับสิ่งเหล่านั้น อย่างกลมกลืนไปตามธรรมชาติของมัน

แต่ฉันจะไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาเป็นของฉัน เป็นตัวฉัน เป็นชีวิตของฉัน

ฉันอยากให้เป็นการก้าวไปสู่ ๑๐๐ ปีที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตของฉัน

แม้ว่าฉันอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ตาม…

– – – – – – – – – – – – – – –

28.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก

August 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,298 views 0

ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก

ฉันยอมรับผิด การปลดปล่อยทุกข์จากความผิดหวังในความรัก

ความผิดหวังในความรักนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่หลงติดหลงยึดในความหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นอย่างนั้นและจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

คนที่ผิดหวังมักจะกอดเก็บทุกข์เอาไว้ พร้อมด้วยกิเลสที่คอยเผาใจ คือความโกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ฯลฯ จองเวรจองกรรมอยู่กับผู้ที่ทำให้ต้องพบกับความผิดหวังในความรัก

แต่ถ้าหากเรากลับมาทบทวนดีๆแล้ว ไม่มีใครเลยที่เราสมควรจะโกรธ หรือไปโทษเขา ความผิดหวังที่เราได้รับทั้งหมดนั้นเกิดจากตัวเราเอง เกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง มันถูกต้องแล้วที่เราจะต้องได้รับความผิดหวังนั้น มันเป็นผลของกรรมที่เราจะต้องรับ มันสมเหตุสมผลและยุติธรรมที่สุดในโลกแล้วกับสิ่งที่เราได้รับมา

การยอมรับผิด คือการปลดปล่อยตัวเองออกจากความโกรธเกลียดและความผิดหวังทั้งหลาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมอย่างถ่องแท้จะไม่โทษใครเลย เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ตนเองทำมา เมื่อเข้าใจเช่นนั้นก็จะสามารถยอมรับสิ่งที่ตนเองทำมาได้ด้วยความเต็มใจ ยอมรับผลกรรมนั้นด้วยใจที่เป็นสุข ไม่คิดแค้น ไม่โกรธ ไม่โทษใครอีก

การที่เรายังทุกข์เพราะความผิดหวังในความรักนั่นก็เพราะเราไม่ยอมรับผิด เรามักจะโยนปัญหาออกไปนอกตัวเสมอ พยายามหาคนผิดที่ไม่ใช่เรา บอกกับตัวเองว่าฉันไม่ได้ทำมา คนที่มาทำฉันคนนั้นผิด หรือฉันทำมาแต่ฉันก็ไม่ได้ขนาดนั้น แม้จะคิดและเข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่สามารถสลัดทุกข์ออกจากใจได้ แม้จะโยนความผิดบาปให้กับคนอื่นแต่ก็ไม่ทำให้จิตใจสงบและเป็นสุขได้ เพราะความจริงแล้วเรากำลังโกหกตัวเองอยู่

การโกหกว่าเราไม่ใช่ต้นเหตุของความผิดหวังเหล่านั้นคือสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ ถึงแม้จะโยนความผิดบาปให้กับผู้อื่น แทนที่ปัญหาจะหมดไป แต่กิเลสข้างในกลับโตขึ้น สร้างความโกรธ รังเกียจ พยาบาท สร้างโทสะต่างๆขึ้นมาเผาใจตัวเองให้ทุกข์ซ้ำเข้าไปอีก

ดังนั้นการแก้ปัญหาความทุกข์จากความผิดหวัง ไม่ใช่การหาสาเหตุว่าใครผิด หาไปก็เท่านั้น แม้ว่าเหตุการณ์ในชีวิตจะดูเป็นบทละครที่สร้างให้มีตัวเอกและผู้ร้ายอย่างชัดเจน แต่ความจริงแล้วผู้ร้ายที่สุดก็คือตัวเราเอง เพราะเป็นกรรมของเราเอง ถ้าเราไม่เคยทำชั่วไว้ ก็ไม่มีทางที่ผลของกรรมชั่วนั้นจะกลับมาหาเราได้เลย

เหตุการณ์จะล่อหลอกให้คนที่ไม่เข้าใจกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้งให้หลงผิดไปโทษคนนั้นที คนนู้นที ที่ทำให้ตนผิดหวังช้ำรักต้องประสบทุกข์ มันเป็นเพียงฉากหน้าของละครที่กรรมได้ลิขิตไว้ หากเราพิจารณาเรื่องกรรมและผลของกรรมให้ถ่องแท้ ก็จะพบว่า เรานี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการเขียนบทละครนั้น เป็นผลกรรมของเรา เกิดจากสิ่งที่เราเคยทำมา ไม่มากไม่น้อย ไม่ขาดไม่เกิน

ผู้ที่จะสามารถหลุดพ้นจากนรกแห่งทุกข์ได้ คือผู้ที่ยอมรับผิด ยอมรับว่าเป็นกรรมที่ตนเองนั้นทำมาจริงๆ แม้จะสืบสาวราวเรื่องในอดีตไม่ได้ แม้จะเป็นผลกรรมจากชาติปางก่อน แต่ด้วยปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมจะทำให้ไม่สงสัยแม้แต่นิดเดียวว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราทำมาหรือไม่ เพราะมีเพียงคำตอบเดียวว่าสิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมา เราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา

ดังนั้นการยอมรับผิดด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง จึงทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสที่คอยเผาใจ หลุดพ้นจากการสร้างบาปและอกุศลกรรมจากความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความผิดของผู้อื่น หลุดพ้นจากบ่วงเวรบ่วงกรรมที่คอยผูกมัดไว้ หลุดพ้นจากความหลงผิดที่เคยเป็นมารกัดกร่อนจิตใจมานานแสนนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

July 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,833 views 0

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

กรรมชั่วนั้นหมายถึงเจตนาที่จะทำสิ่งไม่ดี และเมื่อทำกรรมที่ไม่ดีลงไปแล้ว ก็จะสั่งสมกลายเป็นพลังงานที่จะสร้างผลของกรรมนั้นในวันใดก็วันหนึ่ง

ความเข้าใจในเรื่องกรรมนั้นสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก เพราะการเข้าใจว่าสิ่งใดๆล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมา จะทำให้เรายอมรับความจริงตามความเป็นจริงได้ง่าย แต่นั่นหมายถึงส่วนของกรรมเก่า

กรรมเก่าที่ได้รับแล้วก็จะหมดไป ปัญหาคือกรรมใหม่ที่กำลังสร้างนั้นเกิดจากอะไร? การทำดีทำชั่วนั้นมีอะไรเป็นแรงผลักดัน? การทำดีนั้นมีจิตที่ใฝ่ดี มีศีลธรรมเป็นตัวผลัก แต่กรรมชั่วนั้นมีกิเลสเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงว่า หากเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างกรรมชั่ว ให้ต้องวนเวียนมารับผลกรรมชั่วนั้นไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำความเข้าใจที่จะรับต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นไปในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดกรรมชั่วด้วย คือสามารถใช้ได้ทั้งการรับและรุก

การรับกรรมอย่างเข้าใจจะทำให้เราไม่เป็นทุกข์มาก ส่วนการรุกก็คือการหยุดทำกรรมชั่ว แล้วสร้างกรรมดีขึ้นมาแทนที่ในแต่ละวินาทีของชีวิต ให้ละเว้นกรรมชั่วให้น้อยลง และสร้างกรรมดีให้มากขึ้น

ทีนี้ถ้ากรรมดีที่ทำนั้นยังไม่สามารถทำขนาดที่จะทำลายกิเลสได้ ก็จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ มีเชื้อชั่วทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะทำกรรมดีแค่ไหน แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ก็จะบังคับเราให้ทำกรรมชั่วด้วยเช่นกัน ทีนี้กรรมดีกับกรรมชั่วมันไม่ได้หักลบกัน ทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ดังนั้นใช่ว่าเราจะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้างปนกันไป ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเช่นนั้น แต่สอนให้เราหยุดชั่ว คือไม่ทำชั่วเลย แล้วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส

ถ้าเราไม่กำจัดกิเลส เราก็จะเป็นคนดีที่สร้างกรรมชั่วโดยที่ไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ แม้จะเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงขนาดที่ว่าเหตุเกิดแห่งกรรมดีและร้ายนั้นมีที่มาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะถามหาประสิทธิผลที่พอหวังได้ก็คงจะไม่มี

ผู้ที่ทำลายกิเลสได้หมดจะไม่สร้างกรรมชั่วอีกเลย แต่ผลของกรรมชั่วนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลของกรรมชั่วจะไม่มีวันหมดไปเพราะกรรมนั้นเมื่อทำแล้วจะถูกแบ่งส่วนของการรับไปทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่ากรรมใดๆที่เราได้รับอยู่ในชาตินี้ ล้วนแต่เป็นเศษกรรมที่เราทำมาทั้งนั้น นั่นหมายถึงทั้งดีและร้ายที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีผลของกรรมอีกมากมายที่รอส่งผลในภายภาคหน้า

เมื่อรู้ได้เช่นนี้เราก็ควรจะหยุดกรรมชั่วเสียทั้งหมด เพราะแม้เราจะไม่เห็นผลในชาตินี้ แต่แน่นอนว่ามันจะส่งผลไปต่อถึงชาติหน้า เหมือนกับเหตุการณ์ร้ายๆที่เราได้รับมาในชาตินี้โดยที่เราไม่สามารถสืบหาสาเหตุที่เหมาะสมได้เลย

พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก สะสมบารมี ทำดีมามากมายหลายกัป แต่ท่านก็ยังมีผลของกรรมที่ท่านเคยได้ทำชั่วมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้ ที่ยังต้องมารับกันในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักฐานว่ากรรมชั่วนั้นจะติดตามเราไป แม้ว่าเราจะดับกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงแล้วก็ตาม ในจักรวาลนี้คงมีวิธีเดียวที่จะพ้นจากผลของกรรมที่ทำมาได้นั่นคือปรินิพพาน

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการที่เราสามารถทำลายกิเลสได้หมดหรือไม่ ถ้ากิเลสยังไม่หมด ยังไม่จบสิ้น ก็อย่าไปกล่าวกันถึงเรื่องปรินิพพานที่สุดแสนจะไกลตัวให้เสียเวลากันเลย

เพราะแก่นของศาสนาพุทธคือการหลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าการที่เราหลุดพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือโลก เป็นโลกุตระ

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความคาดหวังของพ่อแม่

July 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,867 views 0

ความคาดหวังของพ่อแม่

ความคาดหวังของพ่อแม่

เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน

บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก

คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก

มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น

ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา

พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)