ปล่อย …แต่ไม่วาง
ปล่อย …แต่ไม่วาง
ได้ดูเนื้อหาของ MV นี้ เป็นเรื่องราวของภรรยาที่โดนยัดเยียดข้อเสนอในการหย่าให้ ในเรื่องที่นำเสนอนั้นเป็นสภาพที่ปล่อยได้ตามชื่อเพลง
ซึ่งในชีิวิตจริงก็มีหลายคนที่ “ปล่อย” ได้มาก การที่คนจะปล่อยสิ่งที่เคยรักและผูกพันมาได้นั้นต้องใช้ “อัตตา” หรือความยึดดีเข้ามาเป็นกำลัง ถ้าไม่ติดดี ถ้าไม่รักตัวเองมากพอ ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ก็จะไม่สามารถปล่อยได้
แม้ว่าจะสามารถปล่อยได้ จนต่อมากลายเป็นคนที่แข็งแกร่ง มีความต้านทานกับความเจ็บช้ำ แต่ก็จะเกิดสภาพยึดดีตามไปด้วย
แต่ที่แย่ที่สุดคือ “กาม” ยังไม่ตาย ความอยากเสพรสสุขในการมีคู่นั้นอาจจะยังไม่ได้ถูกทำลายไป เราจึงมักจะเห็นคนที่เคยผิดหวังจากความรัก วนเวียนกลับไปมีความรักใหม่
สุดท้ายจึงวนเวียนชอบรักชังเกลียดกันอยู่แบบนี้ไม่จบไม่สิ้น ชาตินี้จบไป ชาติหน้าก็มาเล่นกันใหม่ เหมือนกับที่เป็นกันอยู่ในชาตินี้…
การเตือนกันในสังคม
รถคนปกติจอดที่คนพิการ กับการจัดการที่ดีมากของห้างเซนทรัลพระราม 9
http://pantip.com/topic/33834152
เป็นการช่วยเหลือกันที่ดีมาก เตือนกันอย่างละมุนละไม ให้โอกาสในการแก้ตัว ให้คนอื่นได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน
เราอยู่รวมกันในสังคม ปัญหามีมากมาย ก่อนที่จะวางเฉยจากหน้าที่ของพลเมืองดี เราได้ลองทำอะไรสักอย่างแล้วหรือยัง? หรือเราวางเฉยเพราะไม่ใช่เรื่องของฉัน สัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม ทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้นเอง
การปล่อยวางนั้นไม่ใช่การวางเฉยไม่เอาภาระ แต่หมายถึงการเอาภาระแล้วปล่อยวางความดีที่ทำลงไป ไม่เอาดีเลย
ผมอ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่านี่แหละ คือหนึ่งในวิธีที่จะเตือนเพื่อนร่วมสังคมได้โดยไม่ลำบากตัวเองมากจนเกินไป
ผมเคยเจอคนที่ขับรถย้อนศรพยายามลักไก่จนเกิดปัญหา พอมีคนไปเตือนเขาก็ชักปืนออกมาขู่ ในยุคนี้ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องปะทะ หาทางเตือนอย่างมีศิลปะโดยไม่ให้เดือดร้อนตัวเองด้วย
เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา
เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา
คงจะมีเหตุบางอย่างให้คนในยุคนี้ได้เรียนรู้เรื่องราวของความเป็นคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รัก ซึ่งเป็นคู่แบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ใช่ว่าเส้นทางเหล่านี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเราได้ศึกษาจะพบว่าท่ามกลางความรักที่ดูน่าหลงใหลได้ปลื้มนั้น ยังมีความทุกข์และวิบากบาปจำนวนมหาศาลที่ต้องแบกรับอีกด้วย
เราอาจจะเข้าใจผิด หลงคิดว่าถ้าพระพุทธเจ้ามีคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รักแล้วตนจะมีได้บ้าง จึงมักจะยกเจ้าชายสิทธัตถะและนางพิมพาเป็นต้นแบบ โดยไม่ตระหนักว่าสาระสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร เรามักจะยินดีรับรู้เรื่องราวเท่าที่เราอยากเสพเท่านั้น นั้นก็เพื่อให้เราสามารถมีคู่ได้ด้วยความชอบธรรม
ความเป็นคู่นั้นแม้จะรักกันเกื้อกูลกันเพียงใด แต่การผูกกันไว้ด้วยสภาพของ “คู่รัก” ซึ่งจะกลายเป็นกรรมที่ต้องชดใช้กันไปไม่รู้อีกกี่ชาติต่อกี่ชาติ ใช่ว่าคู่บุญคู่บารมีพระพุทธเจ้าจะเกื้อกูลให้เจริญเสมอไป กว่าจะถึงวันที่เราเห็นดังที่ได้เรียนรู้มา ท่านทั้งสองผ่านกันมามากมาย ทั้งพากันทำบาป ทั้งถ่วงความเจริญกัน ทั้งหึงหวง ทั้งทะเลาะ ทั้งเป็นภาระ ทั้งถูกทิ้ง ทั้งเป็นเหตุให้อีกคนเจ็บปวดและตาย กว่าจะแบกกันมาจนถึงชาติสุดท้ายนี่ต้องทนทุกข์ทรมานมากเท่าไหร่ เราคงไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ทำได้เพียงศึกษาข้อมูลบางส่วนเท่านั้น
ถ้าใครอยากรู้ก็ลองนึกดูก็ได้ว่า คู่ที่เราทะเลาะกัน เกลียดกัน ทำร้ายกันนั่นแหละจะมาจองเวรจองกรรมกันทุกชาติไม่จบไม่สิ้น พากันลงนรกไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะปีนป่ายขึ้นมาจากนรก แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ง่าย ต้องผลัดกันแบกกันและกันปีนขึ้นจากเหวนรก บางทีอีกคนก็ฉุด บางทีเราก็ไปฉุดอีกคนลงนรก ใช่ว่าจะพบความสุขความเจริญได้ง่ายนัก
โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ ซึ่งมักเอาเรื่องเกื้อกูลกัน พัฒนาไปด้วยกัน เจริญในธรรมไปด้วยกัน มาบดบังกิเลสคือความอยากมีคู่ของตน กลายเป็นหลอกตัวเองว่าถ้าคู่ไม่ดีก็ไม่ควรมี แต่ถ้าคู่ดีก็มีได้
แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีคู่บุญที่อยู่ในรูปของคู่รักเลย ให้เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่ต้องสะสมโลกวิทูหรือการรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง งานของพระโพธิสัตว์คือเรียนรู้ทุกบท ทุกเหตุการณ์ ทุกเหลี่ยม ทุกมุม ทุกความรู้ในเรื่องโลก แต่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบอกให้เราเรียนรู้แค่ใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น ยังไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้ทั้งป่า
การที่เราจะหาคู่รักมาทำเหมือนเกื้อกูลและเจริญไปด้วยกันนั้นเป็นความเห็นของกิเลสล้วนๆ เพราะแท้จริงแล้วความเกื้อกูลและความเจริญก็สามารถหาได้ในหมู่กัลยาณมิตรเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเป็น “คู่รัก” ให้ต้องสร้างกรรมชั่ว จองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ
แม้พระพุทธเจ้าจะเป็นตัวอย่างของภาพความรักที่เกื้อกูลตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ท่านก็ไม่เคยบอกให้เราไปมีคู่ ไม่มีเหตุผลใดที่สมควรมีคู่ ซ้ำยังบอกให้พยายามออกจากความหลงในเรื่องคู่ ซึ่งคนที่หลงในความรักจะยึดพุทธประวัติมาเป็นที่ตั้ง แต่มักจะไม่เอาธรรมเพื่อความพ้นทุกข์มาศึกษา
หนึ่งในความจริงที่ยากจะปฏิเสธคือ การมีคู่ของพระพุทธเจ้านั้นคือการมีเพื่อให้เห็นทุกข์และเพื่อทอดทิ้งอย่างในพระเวสสันดรชาดกก็เป็นบทเรียนที่ชัดเจนว่ามีไว้เพื่อให้ทิ้ง ให้เห็นว่าสิ่งที่รักที่สุดก็สามารถสละได้ ไม่ใช่การเป็นคู่รักเพื่อเสพสุขแต่อย่างใด
เมื่อเราศึกษาพุทธประวัติแล้วพยายามอย่าเอาอย่างท่านทุกอย่างเพราะแต่ละสิ่งล้วนมีเหตุปัจจัยที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ พึงระลึกไว้เสมอว่านั่นคือบารมีระดับพระพุทธเจ้า ส่วนเราเป็นผู้น้อยต้องประมาณกำลังให้เหมาะสม สิ่งที่เราควรศึกษาและปฏิบัติตามคือคำสอนของท่านหลังจากที่ท่านตรัสรู้ ท่านว่าอย่างไรก็ศึกษาไปตามนั้น ท่านว่าสิ่งใดไม่ควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าไม่ควรอย่างไร ท่านว่าสิ่งใดควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าควรอย่างไร
ผู้มีปัญญาจะรู้ชัดว่าการผูกกันด้วยความเป็นคู่รักนั้นมีแต่ความทุกข์ พวกเขาจึงพยายามออกจากความเป็นคู่นั้น เพราะงานสำคัญในชีวิตนั้นไม่ใช่การหาคู่ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อดับทุกข์ เมื่อมีวิชาดับทุกข์ ศึกษาและปฏิบัติจนทำให้ทุกข์ดับจนสิ้นเกลี้ยงได้แล้ว จะไปลองศึกษาการมีคู่หรือไปเรียนรู้ทุกข์ในมุมอื่นๆ ก็สามารถทำได้ตามประสงค์
– – – – – – – – – – – – – – –
26.6.2558
กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด
กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด
………………………..
ถ้าในปัจจุบันเรายังโสด แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะโสดตลอดไป นั่นหมายความว่าเรายังเปิดประตูต้อนรับวิบากกรรมและเวรภัยทั้งหลายที่จะเข้ามาในชีวิตพร้อมตัวเวรตัวกรรม
แม้ว่าเราจะมี ”ความเห็นผิด” ว่า “โสดก็ได้มีคู่ก็ได้” เป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงผู้ที่หลงวนอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังมีความอยากเสพในปริมาณมากอยู่ กิเลสจะไม่ยอมให้เราปิดโอกาสที่จะได้เสพสิ่งนั้น แม้ว่าเราจะเป็นผู้โหยหาแสวงหาความรัก หรือเจ้าหญิงที่รอคอยเจ้าชายอยู่บนหอคอยอยู่อย่างเงียบๆก็ตาม การที่ยังมีข้ออ้างและเงื่อนไขให้ต้องสละโสดนั้นแหละคือกิเลส
ใช่ว่าคนที่ยังโสดจะโสดได้ตลอดไป เขาหรือเธออาจจะมีเงื่อนไขที่อยากเสพอะไรมากเป็นพิเศษ ดังเช่นประโยคที่ว่า “ถ้าหาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า” สามารถตีความหมายได้สองมุมกว้างๆ ในมุมหนึ่งเป็นประโยคที่แสดงความกระหายในการเสพสุขที่มาก เรียกว่า “โลภ” ก็ว่าได้ เพราะเมื่อมีเงื่อนไขว่าต้องสุขกว่าตอนที่ฉันอยู่คนเดียว ใครบำเรอสุขนั้นได้ ฉันจะไปเป็นคู่ ถ้าไม่มีใครทำได้ฉันก็จะโสด นี้เองที่เรียกว่าไม่ยอมปิดโอกาสให้ตัวเอง ยังวนเวียนอยู่ในกามภพโดยมีเงื่อนไขมากมายเพื่อให้ได้เสพสุขอย่างที่ใจหมาย
เหมือนกับคนที่มีมาตรฐานในความต้องการสูง แม้ภาพลักษณ์จะดูสงบ ไม่โหยหาคู่ แต่กิเลสข้างในมันยังเรียกร้อง เสียงมันดังกึกก้อง อยากได้อยากเสพสุขที่ตนหวังไว้ แต่ก็ไม่มีสุขที่ว่านั้นมาให้เสพเสียที จึงทำได้แค่เพียงทำใจและยอมรับ จึงเกิดสภาพที่เหมือนจะยอมรับว่าโสดก็ได้ มีคู่ก็ได้ (ถ้าเจอคนที่ดีพอ หรือแปลตรงตัวว่าเจอคนที่มีศักยภาพในการบำเรอกิเลส)
ในอีกนัยหนึ่งก็คือการเล่นคำของผู้ที่ก้าวผ่านกามภพอย่างรู้แจ้ง คือรู้ดีกว่าไม่มีอะไรดีกว่าอยู่คนเดียวหรอก จึงแอบเผยความอยากโสดออกมาผ่านประโยคเหล่านั้น ในกรณีนี้เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าจะให้พูด ก็คงจะใช้คำว่า “แล้วมันจะมีอะไรที่สุขกว่าความโสดอีก” แทนคำที่มีความหมายกำกวมที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด
เพราะตามหลักฐานความรู้สู่ความพ้นทุกข์ที่มีปรากฏอยู่นั้น บุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งก็ยังสรรเสริญความโสด “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ดังนั้นการที่ยังมีความเห็นว่าโสดก็ได้ มีคู่ก็ดีนั้น ย่อมไม่ใช่ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่วิสัยของบัณฑิต ไม่ใช่แนวทางของพุทธ ไม่เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญใดเลย
– – – – – – – – – – – – – – –
24.6.2558