demand & supply กับการไม่กินเนื้อสัตว์

October 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,605 views 0

เรื่่อง demand & supply นี่ไม่ค่อยได้เขียน เพราะเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ไม่มีใครที่คิดจะเข้าไปขายของกับคนที่ไม่ต้องการหรอก เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ คนที่ไม่กินเขาก็ไม่กิน ผู้ค้าเขาก็ขายให้กับคนที่กิน ธุรกิจมันก็เลยอยู่ได้ ก็อุ้มธุรกิจบาปกันไป

เรื่องผักก็มีชีวิต อันนี้ก็เป็นเหมือนข้อประชด จะว่าไร้เดียงสาก็ใช่ ผักก็มีชีิวิตจริงใครก็เข้าใจ แต่ผักนั้นพัฒนามาถึงแค่พีชนิยาม ยังไม่ถึงจิตนิยาม ไม่มีกรรมครอง ไม่มีเวทนา ไม่มีวิญญาณ

ถ้าสงสัยจริงๆจะลองดูก็ได้ ไปกินแต่ผักสัก 1 เดือน แล้วสลับไปกินแต่เนื้อสัตว์ 1 เดือนไม่มีผัก ผลมันไม่เท่ากันหรอก วิบากมันต่างกันเยอะ ถ้ากินรวมๆมันไม่ชัดว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดีก็ต้องลองแยกดูแบบนี้

เอาแค่ 1 ชีิวิตก็คุณค่าไม่เท่ากันแล้ว ตบยุงกันไปตั้งเท่าไหร่ ทำไมฆ่ายุงแล้วไม่โดนประหารล่ะ? หนึ่งชีวิตเท่ากันนี่? จริงๆแต่ละชีวิตมีพลังงานไม่เท่ากัน มีกรรมไม่เท่ากัน มีน้ำหนักไม่เท่ากันนะ เทียบคนกับคนก็ได้ คนที่เรารักกับคนที่เราเกลียดก็ไม่เท่ากันแล้วใช่ไหม?

จะว่าไปมันก็ซ้อนๆอยู่เพราะจริงๆในความเป็นคนมันเท่ากัน แต่คุณค่าของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความดีงามของคนนั้น ดีมากก็คุณค่ามาก ดีน้อยก็คุณค่าน้อย ซึ่งคนที่สร้างคุณค่านั้นคือตัวเราเอง ซึ่งเกิดจากการไม่เบียดเบียนตนเองผู้อื่น และสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น

 

การวางเฉย

October 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,820 views 0

การวางเฉย” บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรเสมอไป เพราะการวางเฉยนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่นวางเฉยเพราะไม่อยากเสียลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะการติหรือชมอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้เสียโลกธรรมเหล่านั้น

หรือวางเฉยเพราะโง่ ไม่รู้ว่าเรื่องใดควรติ เรื่องใดควรชม เลยทั้งไม่ชมไม่ติ อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อะไรแบบนี้

หรือวางเฉยเพราะมีความเห็นผิด มีความเข้าใจว่าศาสนาพุทธต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ทำตัวเฉยๆดีที่สุด (มิจฉาทิฏฐิ)

การติและการชม

การติและการชม

พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบุคคล ๔ จำพวกคือ

๑. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

๒. บุคคลผู้กล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

๓. บุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

๔. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และกล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม

โปตลิยะปริพาชก ได้ยินก็ทูลว่า ตนชอบใจ บุคคลประเภทที่ ๓ (ไม่ติในสิ่งที่ควรติ ไม่ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวาง,วางเฉย (อุเบกขา)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ชอบบุคคลประเภทที่ ๔ (ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะมีความประณีตกว่า งามกว่า เพราะรู้กาลเทศะในการติและชม ปริพาชกได้ยินดังนั้นก็ทำความเห็นตามพระพุทธเจ้า กล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, เหมือนจุดไฟในที่มืด” และปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ “โปตลิยสูตร ข้อ ๑๐๐)

ความชัดเจนในความเป็นพุทธ

October 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,113 views 0

ถ้ายังมีความเห็นดังเช่นว่า ศาสนาไหนก็สอนเหมือนกัน ทางขึ้นเขามีหลายทาง ทำให้เป็นคนดี พ้นทุกข์ ถึงนิพพานได้เหมือนกัน ความเห็นนั้นยังเป็นความตื้น ความไม่ชัดในสัจจะ ความไม่ชัดเจน ลังเล สงสัย มีความเห็นผิด

พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว คือสัมมาอริยมรรค ศาสนาไหนที่ไม่มีมรรคก็ไม่มีผล และแม้ในทางแห่งมรรคนี้ มารก็มักจะมาล่อลวงให้หลงทางได้เช่นกัน นั่นหมายถึงในมรรคก็ยังมีความลวงอยู่ในผู้ที่ไม่ชัดเจน พาให้หลงทางกันไป

การหลุดพ้นจากกิเลสกับการทำความดีนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การทำความดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส แต่การหลุดพ้นจากกิเลสคือความดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ความเป็นพุทธนั้นต้องชัดเจนในความรู้จริงว่า ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลในโลกแม้จะมีมากมาย แต่สุดท้ายแล้วความรู้ที่จะสามารถพาให้พ้นทุกข์มีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้น

ไม่ใช่รู้เพราะจำเขามา ฟังเขามา แต่เพราะศึกษาและปฏิบัติจนเห็นผลในตนว่านี่แหละ ทางนี้แหละ ทางอื่นไม่ใช่ ทางอื่นไม่เหมือนทางนี้ รู้ชัดในทางปฏิบัติทางนี้ และรู้ข้อดีข้อเสียในทางปฏิบัติทางอื่นว่าทำไมถึงไม่สามารถเข้าถึงมรรคผลอย่างพุทธได้

จะไม่มีความมัว ความไม่ชัด การเหมารวม ฯลฯ ว่าศาสนาอื่นใดหรือผู้ที่ไม่มีศาสนาจะสามารถเข้าถึงธรรมนี้ ได้ดังเช่นผู้ปฏิบัติจนสำเร็จมรรคผลโดยลำดับ

ลงบทความซะดึก

October 17, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,053 views 0

ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เป็นบุญจริงหรือ?” เรียบเรียงประเด็นก็หลายวันอยู่ วันนี้ก็นั่งทวนอยู่อีกสักพัก

บทความนี้ยาวหน่อย ราวๆ 3 หน้า A4 แต่ยาวเพราะยกตัวอย่างเยอะ ค่อยๆ แจกรายละเอียดออกมา ซึ่งนี่ก็สั้นแล้วละนะ ถือว่ายั้งไว้เยอะ ช่วงหลังก็รวบๆไว้พอเข้าใจ

ประเด็นเรื่อง “บุญ” นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะเป็นเรื่องนามธรรม แถมพ่วงกับทิฏฐิอีก จึงลองเรียบเรียงออกมาตามความเห็นความเข้าใจที่ได้ศึกษาและปฏิบัติจนเห็นผล ซึ่งอยู่ภายในบทความนี้

ลองพิจารณากันดูก่อน ถ้าเห็นไม่ตรงกันก็ศึกษาไว้ ก็ถือซะว่าเป็นความเห็นหนึ่งในโลก ถ้าเป็นว่าเป็นประโยชน์ก็ลองศึกษาเพิ่มเติมกันดูได้