ทำบุญสวยชาติหน้า? กิเลสหนาสวยชาตินี้

November 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,639 views 9

ทำบุญสวยชาติหน้า? กิเลสหนาสวยชาตินี้

ทำบุญสวยชาติหน้า? กิเลสหนาสวยชาตินี้

เราอยู่ในยุคสมัยที่อุดมไปด้วยความรู้ที่ช่วยให้สนองกิเลสได้ง่ายเพียงแค่ควักเงินจ่าย อยากได้อะไรก็ใช้เงินซื้อ ไม่ว่าจะความสุข ความสวยความงาม หรือแม้แต่ความดีก็ตาม

การปรับแต่งรูปร่างหน้าตาในยุคปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติที่สังคมยอมรับ เราสามารถผ่าตัดปรับเปลี่ยนหน้าได้ตามต้องการเท่าที่กำลังเงินจะอำนวย จึงมีคำกล่าวที่ว่า “ทำบุญสวยชาติหน้า ทำหน้าสวยชาตินี้” ข้อความนี้จะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ลองมาอ่านบทวิเคราะห์กันดู

ในพระพุทธศาสนานั้นมีความรู้ที่จะช่วยให้บุคคลผู้ต้องการความงามนั้นสร้างความงามอยู่เช่นกัน นั่นคือการเจริญพรหมวิหาร ๔ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) จะทำให้มีโภคทรัพย์มาก โดยทั่วไปหมายถึงทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบต่างๆในชีวิต ไม่ว่าจะฐานะ มิตรสหาย หรือกระทั่งองค์ประกอบทางด้านร่างกายก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลพลอยได้เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับทรัพย์ทางโลกุตระ

และการเจริญพรหมวิหารนั้นไม่ได้หมายความว่า ทำชีวิตนี้แล้วไปให้ผลในชีวิตหน้า แต่หมายถึงทำเท่าไหร่ก็ให้ผลเท่านั้นทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่า ถ้าเราเจริญพรหมวิหารเราก็จะมีโภคทรัพย์ที่จะเจริญไปโดยลำดับ เราอาจจะเคยสังเกตเห็นคนที่เขาไม่สวยไม่งาม แต่กลับมีเสน่ห์ น่าเข้าใกล้ น่าพูดคุย น่าคบหา เหมือนมีธรรมรังสีเปล่งประกายออกมา จนบางครั้งหลงชอบใจทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบทางร่ายกายของเขาไม่ใช่สิ่งที่เราเคยชอบใจเลยสักนิด

จึงสรุปไว้ก่อนเลยว่า “ทำบุญชาตินี้ ก็งามในชาตินี้แหละ

แต่หลายคนรู้สึกไม่พอใจที่จะต้องทำดีเพื่อรอรับผล ไม่ยินดีรอเวลา ใจร้อน หรือเรียกว่า “โลภ” อยากให้ดีเกิดมากกว่าเหตุปัจจัยที่ควรจะเป็น ที่มันไม่สวยไม่งามมันก็ฟ้องอยู่ในตัวแล้วว่า “เป็นผู้ที่มักโกรธ ผูกโกรธ พยาบาท” ไม่มีพรหมวิหาร ก็ควรจะเร่งสร้างความเจริญขึ้นในจิตใจ

แต่คนส่วนมากไม่ทำเช่นนั้น เขามองข้ามความเจริญทางจิตวิญญาณ แล้วไปสนใจเพียงแค่ร่างกาย บางคนเกิดมามีวิบากกรรมที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะร่างกายไม่สมประกอบ การจะผ่าตัดตกแต่งให้ดำรงชีวิตได้อย่างปกตินั้นก็สามารถเอื้อกันได้โดยไม่ผิดอะไร แต่คนที่มีรูปร่างหน้าตาสมบูรณ์ตามปกติดีอยู่แล้ว จะไปเสริมเติมแต่งให้มันมากขึ้น ให้มันสวยขึ้น ให้มันสมใจยิ่งขึ้น อันนี้มันก็เป็นการสนองกิเลส

ซึ่งการสนองกิเลสในระดับที่ไปผ่าให้มันสวยขึ้น ไปเติมให้มันใหญ่ขึ้น ฯลฯ เป็นกิเลสในระดับที่หยาบมาก รองลงมาคือพวกที่แต่งเนื้อแต่งตัว รองลงมาก็พวกที่แต่งหน้าแต่งตา ถ้าให้ดีก็ไม่ต้องไปแต่งหน้าแต่งตาให้มันเสียเงินเสียเวลาก็จะดีที่สุด

เพราะคนนั้นไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี แล้วหลงว่าร่างกาย เนื้อหนังนั้นเป็นสิ่งเลิศ จึงเกิดการแส่หา ไขว่คว้าสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพมาเป็นของตน ในขั้นเริ่มต้นก็มักจะแต่งหน้า โพสท่า แล้วแต่งรูปให้ดูดี แต่ถ้าสะสมกิเลสไปมาก ๆ ก็จะเริ่มไม่พอใจ จะแต่งหน้าแต่งตาไปทำไม? ผ่าตัดให้มันสวยทีเดียวไปเลยดีกว่าจะได้เสพสมใจ

แท้จริงแล้วมันมีความซ้อนในการเสพความสวยงามอยู่ เพราะถึงจะผ่าตัดมาให้สวยปานใด น้อยคนนักที่จะใช้เวลาทั้งวันในการมองหน้าตาและรูปร่างของตัวเอง โดยส่วนมากก็จะแต่งไปให้คนอื่นเขามองมากกว่า ซึ่งมันมีความหลงโลกธรรมซ้อนเข้าไปว่า สนใจฉันสิ มองฉันสิ ชมฉันสิ จนกระทั่งฝังลึกกลายเป็นอัตตาว่า ฉันสวย ฉันน่าสนใจ ฉันมีคุณค่า แล้วก็หลงมัวเมากับความสุขลวงในคุณค่าของเนื้อหนังเช่นนั้นต่อไป

หลอกตัวเองยังไม่พอ ยังเอากาม (ความสวยงาม) เหล่านั้นไปหลอกคนอื่นต่ออีก ให้เขารัก ให้เขาทุ่มเท ให้เขาหลงงมงายอยู่กับเนื้อหนังที่ถูกตัดต่อปรุงแต่งขึ้นมา อีกฝ่ายก็หลอกซ้อนเข้าไปอีกว่าเนื้อหนังนั้นคือคุณค่า เนื้อหนังนั้นน่าสนใจ ก็บำเรอกิเลสกันไป มันก็เลยหลงวนเวียนกันทั้งสองฝ่าย แก้กันไม่ได้ง่าย ๆ

การทำรูปร่างหน้าตาให้สวยขึ้นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาตามกิเลส จริงอยู่ที่ว่า “ทำหน้าสวยชาตินี้” มันก็ดูสวยขึ้นได้จริงตามสมมุติโลก แต่มันก็มีวิบากบาปซ้อนเข้าไปอีก เพราะถูกเติมแต่งด้วยกิเลส ทีนี้พอเริ่มต้นด้วยกิเลส แล้วเอาไปสนองกิเลส สุดท้ายก็เมากิเลส มันจะมีที่ไปที่ไหน มันก็มีแต่นรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) เท่านั้น

พอไม่ได้ศึกษาธรรมะก็มักจะมองว่าคุ้ม ฉันขอสวยไว้ก่อน เพราะถ้าฉันสวยฉันก็จะได้เสพอะไรอีกหลายอย่าง เช่น หาคู่ได้, มีคนชม, มั่นใจ ฯลฯ นั่นกิเลสทั้งนั้น เป็นการลงทุนที่สุดท้ายยังไงก็ต้องขาดทุน มีแต่เสียกับเสีย มีแต่สุขลวงกับทุกข์แท้ๆ แต่ก็ยังอยากได้อยากมีกัน นี่แหละที่เขาเรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

คุณค่าของคนมันไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา แต่อยู่ที่คุณงามความดีที่ทำ เป็นคนเบียดเบียนโลกหรือทำประโยชน์ให้โลก บ้านเมืองไม่ได้ต้องการคนสวย แต่ต้องการคนดี ถ้าคนดีไปมัวแต่ห่วงสวยแล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำดี ก็มีแต่คนดีที่ยังโง่อยู่เท่านั้นแหละ จึงยอมเสียเวลาอันมีค่าไปกับการมัวเมาในเนื้อหนังที่เสื่อมไปตามธรรมชาติทุกวันๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

November 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,846 views 0

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

วิบาก(ผล) กรรม(การกระทำ) หรือผลของการกระทำในอดีตของเรานั้น จะเป็นสิ่งที่จะจัดฉากให้เราต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้าย หรือสิ่งไม่ดีไม่ร้ายใด ๆ ก็ตามที่เราเคยทำมา

แต่การจะตัดสินใจใด ๆ ต่อเหตุการณ์นั้นคือสิทธิ์ของเรา แม้ว่าฉากเหล่านั้นจะถูกจัดมาอย่างเลวร้ายหรือแสนดีแค่ไหน เราก็ไม่จำเป็นต้องเล่นไปตามบทบาทที่ถูกเขียนมา เพราะเรามีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจทำกรรมใดก็ตามที่จะเป็นกุศล(ความดี), อกุศล(ความชั่ว), ทั้งดีและชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วก็ได้

แต่อิสระเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลส ความโลภ โกรธ หลงจะเป็นสิ่งที่บงการเรา อยู่เหนืออิสระของเรา ให้เราทำกรรมชั่วนั้น กิเลสจึงเป็นตัวบงการให้สร้างกรรมต่างๆ เช่น เมื่อเจอขนมที่ชอบ ถ้าเราไม่หลงในขนมนั้น ก็คงจะมีอิสระเหนือขนมนั้นอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่เราตกเป็นทาสของกิเลส อิสระของเราเลยกลายเป็นอิสระเฉโก กลายเป็นอิสระในการกิน แต่ไม่เป็นอิสระต่อความอยากกิน เพราะพลังของกิเลสนั่นเอง

การอ้างว่าฉันตัดสินใจทำเช่นนั้นเช่นนี้เพราะกรรมเก่า เป็นการโยนความผิดให้ตัวเองในอดีต โยนบาปให้พ้นตัว ทั้งที่ความจริงแล้ว การตัดสินใจทำกรรมใด ๆ ล้วนเกิดจากเหตุสองทาง หนึ่งคือเกิดจากกิเลส สองคือเกิดจากการไม่มีกิเลส ไม่ได้เกิดกรรมเก่าแต่อย่างใด ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๔๗๓ นิทานสูตร )

การเดินทางสู่ความพ้นทุกข์ นั้นต้องรู้จักรู้จริงในความเป็นปัจจุบัน เข้าใจในพลังของอดีต และความเป็นไปได้ในอนาคต ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองว่าการตัดสินใจใดๆที่ได้ทำลงไปนั้น เกิดจากสาเหตุใด เกิดจากกิเลสก็ยอมรับว่ากิเลส ไม่ใช่เฉโก ฉลาดหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่กิเลส แล้วหลงว่าตนไม่มีกิเลสเข้าไปอีก และก็ต้องแยกให้ออกว่ากิเลสตัวไหน แบบใด หาเหตุของมันจึงจะสามารถเข้าไปทำความผิดให้เป็นความถูกได้โดยลำดับ

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

November 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,153 views 0

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

ความรัก บนทางโต่งสองด้าน

ความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากการที่เราหลงไปในทางโต่งสองด้าน ความรักก็เช่นกัน หากยังหลงมัวเมาอยู่กับทางโต่งทั้งสองด้านนั้น ก็ไม่มีวันที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้เลย

ทางโต่งสองด้าน ข้างหนึ่งคือ “กาม” ข้างหนึ่งคือ “อัตตา” ความเป็นกลางบนความรักไม่ใช่การมีคู่โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นความรักที่ไม่เข้าไปหลงเสพหลงสุขมัวเมาในสุขลวงทั้งหลายและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี สรุปคือต้องออกจากความ “ยึดชั่ว” และ “ยึดดี” ให้ได้จึงจะเรียกว่า “กลาง

โดยปกติแล้วคนเรามักจะยึดชั่ว ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับกาม เข้าใจว่าการมีคู่ ได้เสพความเป็นคู่นั้นเป็นสุข จึงยินดีมัวเมาอยู่ในกามเหล่านั้น การจะออกจากกามนั้นต้องพยายามทวนกระแสแรงดึงดูดของกาม ซึ่งจะต้องมีแรงดึงจากอัตตา คือต้องใช้ความยึดดีเพื่อช่วยให้หลุดออกจากกาม

แต่เมื่อยึดดีเข้ามากๆก็มักจะเกินพอดี ด้วยแรงแห่งความยึดดี จึงไหลตกไปสู่ทางโต่งในด้านอัตตา แล้วหลงมัวเมาอยู่กับความยึดดี ยึดมั่นถือมั่นความโสด ดูถูกดูหมิ่น รังเกียจการมีคู่ ซึ่งหากยังมีกิเลสในด้านกามที่สะสมไว้มาก การยึดดีนั้นจะทำให้เกิดความทรมานอย่างมาก คืออยากมีคู่แต่ก็กดข่มไว้ด้วยความยึดดี สุดท้ายเมื่อกามโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะตบะแตก โดนกามดูดกลับไปทางโต่งด้านกาม แล้วจะยิ่งร่วงลงไปในกามที่ลึกกว่าเดิม เหมือนหนังยางที่ยืดจนตึง เมื่อปล่อยก็จะดีดตัวพุ่งออกไปอย่างรุนแรง

กามและอัตตาจึงเป็นทางโต่งที่คนหลงวนไปวนมา อยากมีรักก็มุ่งเสพกาม พออกหักผิดหวังก็หันมายึดดี มีอัตตายึดความโสด พอโสดไม่ได้เสพสักพักก็โหยหวนวนกลับไปหากาม ซึ่งเป็นธรรมชาติของโลกีย์ที่จะมีความวนเวียนเช่นนี้

ผู้ที่ไม่ศึกษาและปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงไม่สามารถพ้นไปจากทางโต่งทั้งสองด้านได้เลย เพราะทั้งกามและอัตตานั้นเป็นพลังของกิเลสที่มีพลานุภาพมากเท่าที่เคยสะสมความหลงผิดไว้ ซึ่งมันก็จะคอยดึงให้เอนไปในทางโต่งข้างใดข้างหนึ่งอยู่เสมอ ไม่สามารถมีความเป็นกลางที่หลุดพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านนั้นได้

ความเป็นกลางคือสภาพของการยึดอาศัยสิ่งที่ดีที่สุด เป็นกุศลมากที่สุด เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือเลือกที่จะอาศัยสภาพของ “ความโสด” ในการดำรงชีวิต ซึ่งจะเข้ากับหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และสอดคล้องกับหลาย ๆ คำตรัสของพระพุทธเจ้า เช่น คู่ครองและบุตรคือบ่วง,บัณฑิตย่อมประพฤติตนเป็นโสด ฯลฯ รวมทั้งเป็นความเจริญไปในทางปฏิบัติของศาสนาพุทธด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

November 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,808 views 0

หาคู่บรรลุธรรม

หาคู่บรรลุธรรม : เมื่อความฝันกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน

ความรักของคนทั่วไปนั้นมักจะไม่มีความซับซ้อนอะไรมาก ตรงไปตรงมา แค่อยากได้ก็หามาเสพ แต่ความรักของนักปฏิบัติธรรมส่วนมากนั้นซับซ้อน มักจะถูกซ่อนไว้ด้วยเหตุผลอันน่าอภิรมย์เสมอ เป็นความอยากที่ซ่อนไว้ใต้ภาพฝันอันสวยงามว่า จะสามารถเจริญไปได้พร้อมๆกับการเสพสุขจากการมีคู่

ซึ่งแท้จริงแล้วการมีคู่นั้นไม่ใช่ความเจริญหรือความประเสริฐแต่อย่างใด มันเป็นเพียงความธรรมดา เป็นไปตามธรรมชาติของความเป็นสัตว์การมีคู่นั้นมีมาตั้งแต่เป็นสัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ ฯลฯ นั่นหมายถึงเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ที่จะมีคู่ ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจแต่อย่างใด

ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้คนหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีชาติ มีชรา มรณะ ฯลฯ หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์อย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกตรงโดยลำดับจะสามารถงดเว้นเรื่องคนคู่ได้ จนกระทั่งยินดีที่จะไม่มีคู่ครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ สวนกระแสธรรมชาติอย่างรุนแรง ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจกันได้โดยทั่วไป และไม่ใช่สิ่งที่จะปฏิบัติกันได้ทุกคน

การหาคู่มาเพื่อความเจริญในธรรมนั้น มีขีดสูงสุดที่จะเจริญได้คือการยอมพรากจากคู่ของคน คือไม่เข้าไปคบหาเชิงชู้สาว ไม่สมสู่กัน ไม่บำเรอกามและไม่สนองอัตตากันและกัน สุดท้ายก็คือไม่ผูกกันด้วยกิเลส นั่นหมายถึงว่าท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาเป็นโสดอยู่ดี

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความเจริญสูงสุดของการมีคู่คือการกลับมาเป็นโสด เป็นสัจจะที่ไม่สามารถลบล้างได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ซึ่งก็ชี้ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่าการไปแสวงหาคู่เป็นความเสื่อม ความโสดคือความเจริญ

แล้วคนที่เข้าใจว่าจะหาคู่เพื่อความเจริญในธรรม ร่วมสร้างกุศลคืออะไร? ก็คือคนที่ไม่เห็นโทษภัยของการมีคู่ หลงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี น่าใคร่น่าเสพ ก็เลยหาคู่มาบำเรอตน ไม่บำเรอกามก็บำเรออัตตา แล้วก็หลงมัวเมาอยู่กับสวรรค์ลวงๆที่ตนสร้างมา ว่ามีคู่สุขจริงหนอ มีคู่ดีจริงหนอ มีคู่ประเสริฐจริงหนอ ว่าแล้วก็ตั้งจิตน้อมเข้าหาประโยชน์ของการมีคู่ สะสมหมักหมมกิเลสพอกใส่ตัวเองด้วยความหลงผิด เห็นว่ากงจักรนั้นเป็นดอกบัว ก็มีแต่จะสะสมทุกข์ บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองเท่านั้นเอง

ทั้งที่ความจริงแล้ว สุขกว่าการมีคู่นั้นยังมีอีกมากมาย แต่ก็มาหลงสุขอยู่กับการมีคู่ เหมือนนักเดินทางที่อยากเดินไปให้ถึงเป้าหมายแต่ก็มาหยุดตรงที่จุดชมวิวข้างทางไม่ยอมไปไหน ถ้าจะให้เกิดความเจริญก็จะต้องกล้าที่จะเดินออกไป กล้าที่จะยอมทิ้งสุขที่น้อยเหล่านั้นไปหาสุขที่มากกว่า สุขที่ไม่ต้องได้ ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นอะไร

เรื่องการมีคู่แท้จริงแล้วก็เหมือนเรื่องโกหก แม้มันจะเคยเกิดขึ้นจริง แต่มันก็ไม่ใช่ของจริง มันเปลี่ยนแปลง แตกหัก เสื่อมสลาย ไม่คงทน ตายไปก็จำไม่ได้ คงเหลือแต่กรรมและกิเลสที่ตกทอดมาเป็นพลังที่หลอกให้คนหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามี เป็นตัวเราของเรา ให้คนหลงไขว่คว้า พยายามแสวงหาคู่กันทุกชาติอย่างไม่จบไม่สิ้น เกิดมาชาติไหนก็ยังต้องหาคู่มาเสพ เพราะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากธรรมชาติ ไม่หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์

การบรรลุธรรมแท้จริงแล้วก็คือการเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่ไร้สาระเป็นสิ่งไร้สาระตามจริง เหมือนกับการที่เห็นเรื่องการมีคู่ไม่ใช่สาระใดๆในชีวิต ถ้ายังไม่สามารถเข้าใจความจริงในระดับนี้ ก็อย่าพึ่งไปคิดให้ไกลเกินตัวว่าจะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเพียงแค่เรื่องคู่ยังหลุดพ้นไม่ได้ แล้วเรื่องอื่นที่ยากกว่าจะผ่านไปได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

31.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)