เกลียดความรัก

December 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,512 views 0

greasy cafe – สิ่งเหล่านี้

เกลียดความรัก…

เพลงนี้อธิบายสภาพของอัตตา รักดี เกลียดชั่วได้ดี เป็นมุมมองของคนที่ผิดหวังที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม

แต่เราต่างเกิดมา เพื่อให้คนคนหนึ่ง ทำร้ายและกลืนชีวิตเราไป” ท่อนนี้ของเพลงแสดงสภาพอกหักผิดหวัง มองโลกติดลบอย่างชัดเจน ซึ่งจริงๆแล้วเรานั่นแหละที่เกิดมาเพื่อทำร้ายและกลืนชีวิตตัวเองและผู้อื่นด้วยความอยากได้อยากมีของเรา พอไปมีแล้วไม่ดีดันไปโทษคนอื่นอีก โยนบาปไปเรื่อยเลย….

คนโสดแบบนี้มีเยอะ แต่ก็ไม่เรียกว่าโสดอย่างเป็นสุขหรอก เพราะจิตใจสุมไปด้วยไฟแค้น ความรังเกียจ อาการผลักต่างๆ กิเลสยังมีอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ แล้วยังมีความยึดดีเพิ่มด้วย สภาพจะออกมาดูแข็งๆ โสดแบบขุ่นๆ

แต่การจะออกจากการมีคู่แบบนี้ง่ายนะ ออกด้วยอัตตา เอาอัตตาไปล้างกามนี่แหละ แล้วค่อยล้างอัตตาอีกที จะมารักๆกันอยู่แล้วหลุดพ้นด้วยทุกข์นิดหน่อยนี่ไม่ง่าย สมัยนี้หายาก ยุคนี้มันต้องเจ็บกันแรงๆ โดนกันหนักๆ ถึงจะเข็ด

ยังหาเพลงสมัยนี้ที่ไม่รักไม่เกลียดไม่ได้สักที~

ความฉลาดที่จะกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีเหตุมีผล

December 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,373 views 0

ฉลาดเฉโก คือ กิเลสฉลาด

ไม่ใช่ปัญญาที่พาพ้นทุกข์ แต่เป็นความฉลาดของกิเลสที่พาให้เป็นทุกข์ด้วยการหาช่องในการเสพสิ่งที่ไร้สาระ

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนเพราะกินเนื้อสัตว์ เป็นปัญญาระดับพื้่นๆ คนทั่วไปก็สามารถรู้ได้เข้าใจได้ ว่าการที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่จะไปมีส่วนในการเบียดเบียน

ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความตื้นระดับนี้ ก็อย่าหวังจะมีปัญญาในระดับลึกเลย พระอริยะก็เป็นหวังเลย พระอรหันต์ยิ่งไม่ต้องหวังเลย เพราะนี้มันปัญญาระดับที่คนดีทั่วไปยังเข้าใจได้เท่านั้นเอง ถ้ายังเข้าใจไม่ได้แล้วจะหวังให้ตนเองมีปัญญาสูงกว่านั้นได้อย่างไร

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนกันด้วยการฆ่านี้เป็นเรื่องหยาบ การปฏิบัติธรรมของพุทธต้องเป็นไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆโผล่มาเป็นพระอรหันต์เลย มันต้องละอบายมุขให้ได้ก่อน ศีล ๕ ให้ได้ก่อน การเบียดเบียนตื้นๆเช่นนี้เอาออกให้ได้ก่อน

ไม่ใช่จะมาตีกินว่าฉันบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว หาช่องให้ตัวเองเสพ อันนั้นมันเฉโก กิเลสมันฉลาด มันไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อการเบียดเบียน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ธรรมะมันจะขัดกันวุ่นวายไปหมด มีแต่วาทะว่าฉันนี้เลิศ แต่ไม่ลดการเบียดเบียน

สรุปไว้ก่อนเลยว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็อย่าเฉโกว่าตัวเองมีปัญญามากกว่านั้นเลย ที่ยากกว่านั้นยังมีอีกเยอะ

เดี๋ยวคนเขาจะเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาเทวดา ที่สามารถเบียดเบียนผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกรรมอะไรที่ต้องรับผิดชอบ มันจะพาโง่ พามิจฉาทิฏฐิวุ่ยวายกันไปหมด มันจะแก้ยาก

พระไตรปิฏกมีหลักฐานไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้เจริญในทางพุทธศาสนา ตัวเองก็ต้องไม่ฆ่า และไม่ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังต้องสรรเสริญคุณของการไม่ฆ่านั้นอีก (เล่ม 19 ข้อ 1459)

ถ้าตัวเองยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ มันก็คือการทำให้คนเข้าใจว่าการให้กันด้วยเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นดี มันก็ผิดหลักปฏิบัติทั้งยังขัดกับความรู้สึกของผู้ไม่เบียดเบียนอยู่เนืองๆ

แต่ก็เอาเถอะ… คนปฏิบัติแบบมิจฉา ก็ย่อมได้มิจฉาผลเป็นธรรมดา การที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีหิริโอตตัปปะย่อมเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

คนที่ไม่ยึดติดจะโอนอ่อนไปสู่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เบียดเบียน แต่คนที่ยึดติด กิเลสจะพาเฉโกให้ไปทางเบียดเบียน จะเถียงกิน ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้กิน แม้จะกล่าวตู่ว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ก็ยังกล่าวได้โดยไม่ละอายใจใดๆ เพราะไม่ได้ศึกษามานั่นเอง

สรุปสุดท้ายไว้ว่า สาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนพวกที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่โดยไม่รู้สึกผิดนั้น ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา… (เล่ม 25 ข้อ 29)

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,117 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คิดบวก จนลวงความจริง

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,436 views 0

คิดบวก จนลวงความจริง

คิดบวก จนลวงความจริง

วิธีแก้ปัญหาในชีวิตยอดนิยมวิธีหนึ่งที่ใช้กันในสังคมก็คือ “การคิดบวก” คือการพยายามทำความเห็นให้ไปในแนวทางที่ดี เพื่อที่ตนเองนั้นจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความคิดติดลบเหล่านั้น

การคิดบวกเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กันมากในการบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกและการพัฒนาจิตใจในปัจจุบัน มีผลมากกับจิตใจที่อยู่ในภาวะตกต่ำเซื่องซึม เป็นการดึงจิตให้ขึ้นมาจากภวังค์โดยการผลักให้ไปอยู่ในจุดที่สูงสุด ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คืออยู่ในสภาพที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง อยู่ในสภาพที่สวยงามที่สุด เพื่อให้จิตใจได้เสพสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ

ผลของการคิดบวกนั้นออกมาค่อนข้างดูดี คือสามารถกลายเป็นคนคิดบวก มองโลกสวยงาม ไม่ติดลบ คิดไปในทางที่ดีเสมอๆ ไม่จมอยู่กับทุกข์ ดูเผินๆก็จะเห็นและเข้าใจว่าดี แต่ในความจริงแล้วการคิดบวกนั้นยังซ่อนภัยร้ายอันน่ากลัวไว้อยู่ด้วย

ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้เราคิดบวก ไม่เคยสอนให้เราสะกดจิตตัวเอง ว่าฉันดี ฉันเก่ง ฉันทำได้ เขาไม่ได้คิดไม่ดีกับฉัน เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายฉัน ฯลฯ แต่สอนให้มองความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีการคิดบวกหรือคิดลบใดๆทั้งนั้น มีเพียงแค่ความจริงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่การคาดเดาอนาคต และไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นในอดีต

ในปัจจุบันเรามีข้อความ ข้อคิด คำคมที่เสริมพลังในการคิดบวกมากมาย เช่น ชั่ว 7 ที ดี 7 หน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ไม่เป็นไปตามความจริง เหมือนคำปลอบคนที่กำลังท้อแท้เท่านั้น เพราะในความจริงแล้ว ชั่วมันก็มาเท่าที่เราเคยทำกรรมไว้ เช่นเดียวกันกับดี ถ้าทำมามาก มันก็จะมามาก ไม่จำเป็นต้องสลับกันมา แต่จะมาตามกรรมของเรา ดังนั้นคนที่คิดบวกเช่นนี้ก็จะเกิดอาการอกหักเมื่อเจอกับสภาพที่มีแต่ชั่วอย่างเดียวไม่มีดีเกิดขึ้นเลย คือตอนแรกก็พอจะคิดบวกได้อยู่แต่พอทุกข์มันกระหน่ำเข้ามามากๆก็จะเกิดอาการท้อใจ เช่นคนที่ชีวิตผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฆ่าตัวตาย นั่นเพราะเขาเจอแต่ชั่วเข้ามาในชีวิตจากผลของการกระทำของเขานั่นเอง

บางครั้งการคิดบวกนั้นอาจจะทำให้เกิดสภาพที่ตีกลับจากขาดเป็นเกินก็ได้ เช่นคนมีปมด้อย พอไปศึกษาการคิดบวกมากๆก็ตีกลับ กลายเป็นว่าเอาปมด้อยของตัวเองมาเป็นปมเด่น สุดท้ายก็ติดสุขในปมด้อยและเด่นที่จิตของตัวเองปั้นขึ้นมาอีก กลายเป็นว่าสร้างอัตตาขึ้นมาพันอีกชั้นหนึ่ง ห่างไกลความจริงตามความเป็นจริงเข้าไปอีก ซึ่งจริงๆแล้วการแก้ไขปมด้อยก็คือการแก้ไขจิตที่เป็นทุกข์เพราะปมด้อยนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องผลักปมด้อยให้เป็นปมเด่นแต่อย่างใด

การคิดบวกว่าทำดีมากๆ ช่วยคนมากๆ ทำทานมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์นั้นก็เช่นกัน คนดีที่คิดบวกมักจะเข้าใจเช่นนี้ แต่ความจริงผลของกรรมก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตามใจเช่นนั้น เราจะได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ ไม่ได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ คือทำดีไปแล้วจะได้รับผลแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าตอนไหน ที่นี้คนที่คิดบวกทำดีเพื่อหวังผล มักจะมีจิตโลภซ้อนอยู่ตรงที่ว่าถ้าฉันทำดีมากพอฉันก็จะพ้นทุกข์ไปได้ ซึ่งความจริงมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ใครจะรู้ว่าเราทำกรรมชั่วมาเท่าไหร่ แล้วดีที่ทำไปมันอาจจะไม่มากพอจะมาขั้นให้ชั่วนั้นหยุดหรือพักการส่งผลก็ได้และสุดท้ายคนที่ทำดีเพราะคิดบวกก็จะอกหัก

หรือการคิดบวกว่า ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดีกับเขาแล้ว เขาจะต้องดีตอบเราในวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน เราทำดีจะต้องได้รับผลดี หรือถ้าเราทำผิดแล้วเราทำดีมากๆ เขาก็จะให้อภัย ข้อนี้เหมือนจะดี เหมือนจะถูกตรง แต่ยังมีความเอนเอียงเข้าข้างตนเองอยู่

ในความเป็นจริงแล้ว ถึงเราจะคิดดี พูดดี ทำดีกับใคร ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องดีตอบ ถึงเราจะทำดีทั้งชาติ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำดีอะไรตอบแทนเราเลยก็ได้ หรือเขาจะหันมาทำชั่วใส่เรา ทำร้ายเราก็เป็นไปได้ นั่นเพราะกรรมที่เราทำมามันหนักหนามากกว่าดีที่เราทำในชาตินี้ ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต มีการจองเวรจองกรรมกันมานับชาติไม่ได้ กว่าจะมาซึ้งในรสพระธรรมก็ตอนชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนหน้านั้นท่านทำดีเท่าไหร่ก็ยังโดนทำร้าย นั่นก็เกิดจากกรรมที่ท่านทำมา

ทีนี้คนที่พยายามคิดบวก แต่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็จะคิดดี พูดดี ทำดีแบบหวังผล ไม่รอคอย ไม่ให้อภัย คิดว่าทำดีไปมากๆ แล้วมันก็จะต้องเกิดผลดี แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำเท่าไหร่มันก็ไม่ดี แถมอาจจะยิ่งแย่ขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนคิดบวกอกหักอีกเช่นเคย

ในความจริงนั้น ดีที่ทำไปแล้วก็เป็นกุศลกรรมที่ได้สั่งสมลงไปแล้ว ส่วนผลดีจะเกิดขึ้นแบบไหนเมื่อไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่ควรคิด แต่ควรทำความเข้าใจว่ามูลเหตุของการเกิดสิ่งดีและร้ายในชีวิตนั้นเกิดจากอะไร ก็จะมีแต่เรื่องกรรมเท่านั้นที่ส่งผลให้เราได้รับดีและร้ายนั้นในปัจจุบัน ถ้าเราหยุดทำสิ่งที่ร้าย หันมาทำดี ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตก็จะมีแนวโน้มที่จะเจอสิ่งดีมากขึ้น

ทั้งนี้การคิดบวกก็ยังไม่ใช่แนวทางที่สมควรอยู่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แต่ควรจะคิดเห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรือประสบทุกข์ การแก้ปัญหาที่ดีจึงไม่ใช่การคิดบวกหรือการมองโลกให้สวย แต่เป็นการมองให้เห็นความจริงของปัญหาว่าทุกข์จากอะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร จะต้องดับเหตุอะไรบ้างทุกข์จึงดับ แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ทุกข์นั้นดับไป นี่คือสิ่งที่สมควรเรียนรู้ ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดลบหรือคิดบวกอะไรทั้งนั้น

ถึงแม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ การคิดบวกจึงเหมือนยารสหวานที่จำเป็นต้องใช้กับเด็ก แม้จะมีโทษภัยอยู่แต่ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่จิตใจเข้มแข็งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยารสหวานแบบเด็กอีกต่อไป ควรจะหันมากินยาขม มาศึกษาความจริงตามความเป็นจริง มาศึกษาการแก้ปัญหาให้แจ่มแจ้ง ให้ลึกถึงต้นเหตุ เพื่อที่ปัญหาเหล่านั้นจะได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)