สวัสดีปีใหม่ ด้วยของขวัญจากปีเก่า
การจะมีปีใหม่ที่ดีนั้น การมีต้นทุนที่ดีจากปีเก่าก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ เรียกว่า บุญเก่า, กุศลกรรมเก่า ตามที่ทำมา
ของขวัญจากปีเก่า เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากค่ายพระไตรปิฏกครั้งที่ 27 หลังจากที่ผมขึ้นสอบสภาวธรรม อาจารย์ได้ให้สิ่งที่สำคัญมาก ๆ กับชีวิตผม
ผมพูดในประเด็นเกี่ยวกับความไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยคน อจ. หมอเขียวได้สรุปให้ว่า…
ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเขาไม่ศรัทธา จะสอนกันไม่ได้ คนเรามีจริตที่ต่างกัน ถ้าไม่ใช่ธาตุเดียวกันจะไปด้วยกันไม่ได้ อาจารย์ยกตัวอย่างว่าแม้จะเป็นเอกทัคคะ ก็ใช่ว่าจะสอนลูกศิษย์อีกสายให้บรรลุธรรมได้ คนเขาจะเลือกคนที่เป็นครูบาอาจารย์ของเขาเอง จะข้ามสายกันไม่ได้
เช้าวันต่อมา อาจารย์ยังสังเคราะห์เรื่องศรัทธาให้เพิ่มว่า คนที่ศรัทธา จะไม่ถือสา คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรผิดไปบ้าง คนที่ศรัทธาเขาจะไม่ถือสาเรานั่นเอง ส่วนคนที่เขาไม่ศรัทธาน่ะหรอ? ทำถูกก็ว่าทำผิด ทำดีก็ว่าทำไม่ดี เก่งแค่ไหนก็ห่วยในสายตาของเขานั่นแหละ
ผมได้ธรรมหมวดนี้แล้วเข้าใจทันทีเลย ว่าที่เราเสียพลังงานไปมากมายในแต่ก่อนนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไร คนที่เขาไม่ศรัทธานี่ไม่ใช่งานของเรานะ เราไม่ต้องขยันทำ เราเอาภาระแค่คนที่ศรัทธาเราก็พอ มันมีเพดาน มันมีข้อจำกัดที่ไม่มีวันจะฝ่าไปได้อยู่
แล้วศรัทธาแบบไหนล่ะ? ผมก็เอาศรัทธาที่ตัวเองมีกับอาจารย์มาวัดนี่แหละ ตลอดเวลาเกือบ 7 ปีที่รู้จักอาจารย์มา ผมไม่เคยรู้สึกว่ามีอาการเพ่งโทษถือสาใด ๆ เลย มีแต่การน้อมใจเอาประโยชน์ การปรับใจให้ไปตามในทิศที่ท่านสอน งานเพ่งโทษไม่ใช่งานของผม ไม่ใช่งานของคนที่จะปฏิบัติสู่ความผาสุก สรุป ถ้าได้ประมาณนี้ค่อยเอาภาระก็ได้ ไม่สาย
แล้วผมก็ไม่ได้รีบนะ ไม่ได้มีจิตคิดจะสั่งสอนใคร แบบศิษย์อาจารย์ ใครมาถามก็ตอบไปเท่าที่รู้ ไม่ได้คิดจะสร้างอะไร
แต่ก่อนก็ยอมรับว่ารีบไปบ้าง คือประเมินศรัทธาเขาพลาด ให้เครดิตเขามากไป ส่วนใหญ่ผมจะประเมินเขาสูงเกินความจริงทั้งนั้น มันก็เลยพลาด แต่ปัจจุบันนี่ ไม่ต้องกังวลเลย ใช้เวลากับธรรมะเป็นตัววัด คนศรัทธาจะไม่หวั่นไหวในกาลเวลา คนศรัทธาจะไม่หวั่นไหวในธรรม ดูกันไปนาน ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าว่า ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน
ผมก็จะใช้ความรู้จากของขวัญที่ได้มาจากปีก่อน ดำเนินชีวิตไปในปีใหม่ ผมเชื่อว่าปีใหม่จะเป็นปีที่ดีกว่าเดิม เพราะเราพัฒนาขึ้น รู้มากขึ้น โง่น้อยลง โจทย์จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่
สิ่งที่ได้รับมา เป็นกรรมฐานที่ทรงพลังมาก ๆ จนคิดว่าการดำเนินไปตามทางนี้แหละดี จะยิ่งได้ฝึกฝน ยิ่งได้บำเพ็ญ ที่สำคัญคือคนที่เข้ามาเกื้อกูลกัน จะเป็นคนจริงใจมากขึ้น และคนไม่จริงใจ จะกระเด็นออกไปเร็วยิ่งขึ้น นั่นก็ทำให้ปี 2563 นี้คงไม่ต้องมีเรื่องให้เมื่อยหัวมากนัก
สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ ขอให้เป็นวันเริ่มต้นปีที่ดี ตั้งจิตตั้งใจที่จะทำสิ่งดี เพื่อเป็นต้นทุนสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน มั่นคง และถาวรกันครับ
การเลิกกินเนื้อสัตว์แบบไม่ได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกตรง มีความเสื่อม ความแตกแยก และความทุกข์เป็นปลายทาง
การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นความดีอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงทำได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากมีทางที่ไม่เรียบ ก็จะมีทางที่เรียบอื่นที่จะหลีกเลี่ยงทางไม่เรียบนั้น เหมือนกับคนที่ไม่อยากพัวพันกับคนผิดศีล เขาเหล่านั้นก็ควรจะเดินในเส้นทางที่ไม่ผิดศีล ไม่ยินดีในการผิดศีล ไม่ส่งเสริมให้คนผิดศีล (สัลเลขสูตร เล่ม 12 ข้อ 106)
ทีนี้การไม่กินเนื้อสัตว์นี้ก็เป็นทั้งความดีแบบโลก ๆ ทั่วไปและความดีระดับเหนือโลกเช่นกัน(สำหรับผู้ที่ตั้งจิตไว้ถูก) เพราะมันเป็นพื้นฐานความดีทั่ว ๆ ไป
แต่คนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่สอนให้พ้นทุกข์ได้จริงนั้น จะมีทางไป 2 ทาง คือทางโต่ง 2 ด้าน นั่นคือ กาม และ อัตตา
ทิศของกาม คือ การเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ ดังที่เราจะเห็นได้มากมาย กับคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเวียนกลับไปแตะเนื้อสัตว์ บ้างก็แตะ ๆ นิด ๆ หน่อย แล้วสำนึก บ้างก็ความเห็นผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลยก็มี เพราะทิศของกามมันจะมีแต่สุขลวง มีแต่สุขจากเสพ มันเป็นรสที่หลอกคนไว้ ผูกคนไว้ ทำให้คนเชื่อ หลงเสพ หลงว่าดี หลงว่าเป็นคุณค่า ในการเสพเนื้อสัตว์นั้น ๆ การเวียนกลับมาในทิศของกาม นั้นเหตุเพราะมันทนความอยากไม่ได้ มันไม่สามารถทนกับทุกข์ได้ เพราะไม่เข้าใจความจริงของความทุกข์นั้น ๆ ชีวิตเลยเบนเข็มกลับมาที่กาม ซึ่งเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ยืนอยู่ในสังคม ก็คนที่กินเนื้อสัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่กับทางโต่งฝั่งกามนี้นี่เอง
ทิศของอัตตา คือ การทรมานตนเองด้วยความยึดดี ทิศนี้จะเป็นกลุ่มก้อนของคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ในหลาย ๆ เหตุผล แต่วิธีที่ใช้คือ อดทน ฝืนทน อดกลั้น จะมีความไม่โปร่ง ไม่โล่งภายในใจ ถ้าเป็นอัตตาที่ยังมีกามจัดอยู่ จะทนได้สักพัก แล้วจะดีดกลับไปฝั่งติดกาม กลับไปกินเนื้อสัตว์
แต่ถ้าเป็นอัตตาฝั่งยึดดีจัด ๆ จะเครียด จะเคร่ง กดดัน บีบคั้น จะมีตัวตนที่แรงกล้า จนคนอื่นรู้สึกลำบากใจ คือมันจะเป็นขีดโต่งไปทางยึดดี ถ้าสะสมกำลังมากขึ้น แม้จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ อาจจะไปเพิ่มอัตตา คือมีความอวดดี หลงดี ยกตนข่มท่าน นี่เป็นเหตุที่ทำให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ไปทะเลาะกับคนอื่นเขา เพราะมันมีดีให้ยึด ไปยกตนข่มคนที่เขาด้อยกว่าก็บาปแล้ว ถ้าสะสมอัตตามากขึ้น มันจะปีนเกลียว มันจะเริ่มไปสอย คนที่อยู่สูงกว่า เริ่มแน่ เริ่มเก่งเกินคนอื่น อันนี้จะมี 2 มิติ คือมิติที่หลงตัวเอง กับมิติที่สูงกว่าจริง ๆ ถ้าสูงกว่าจริงจะไม่ผิด แต่ที่ผิดเพราะหลงตัวเองว่าสูง ก็ไปตีตนเสมอหรือเพ่งโทษคนที่เขาปฏิบัติดีกว่า มีศีลสูงกว่า มีปัญญามากกว่า อันนี้ก็เรียกว่าขี้กลากกินหัวทันที เพราะวิบากกรรมจะสาหัสมาก ส่วนใหญ่ก็จะเพี้ยน โง่ หลง ป่วย ตาย ฯลฯ
จะเกิดเป็นความเศร้าหมอง หดหู่ ซึมเศร้า ไม่สดชื่น ชีวิตมันจะเหี่ยว ๆ ไปเรื่อย ๆ จนตายนั่นแหละ ถ้าไม่มีมิตรดีช่วยชี้แนะนี่จบเลย เรื่องโง่นี่มันรู้เองไม่ได้ง่าย ๆ นะ เพราะวิบากกรรมของฝั่งอัตตานี่มันแรง ฝั่งกามมันจะมีโทษประมาณหนึ่ง ถึงจะกินเนื้อสัตว์มันมีอกุศลวิบาก แต่มันจะมีขีดของโทษประมาณหนึ่ง ก็อย่างที่เห็น กินทั้งชีวิตบางคนก็ยังไม่ป่วยไม่ตาย แต่ถ้าโทษของฝั่งอัตตานี่เรียกว่าแรงกว่าป่วยกว่าตาย
ก็เป็นการทรมานตนเองด้วยความยึดดี หรือจะเรียกว่าทำร้ายตัวเองด้วยความโง่ ก็ใช่ สรุปคือ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจะมีทิศไปแค่ 2 ทิศนี้เท่านั้น ที่เหลือคือเวลาและกำลัง ว่าจะไปถึงความทุกข์เศร้าหมองนั้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
ปฏิบัติกันไปเรื่อย ๆ จะรู้เอง ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเองดี ๆ จะรู้ว่ามันทุกข์ มันไม่สดชื่น มันไม่เบิกบาน ต้องรีบปรับทิศ เพราะทางโต่ง 2 ด้าน ยิ่งเดินยิ่งหลง ยิ่งช้ายิ่งนาน
เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?
ถาม : เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?
ตอบ : ในศีลข้อ 1 ภาคขยาย ได้กล่าวถึงประโยคที่ว่า มีความเมตตา มีความเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย อันนี้คือแง่คิดที่เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นมากที่สุด เบียดเบียนน้อยที่สุด ความรักที่มีสภาวะเช่นนี้จะบาง เบา แต่กว้าง และลึกซึ้ง ไม่เหมือนความรักทั่วไป ที่หนัก(ใจ) (กิเลส)หนา แคบ(มักจะเกื้อกูลได้แค่วงแคบ ๆ เช่น คู่ครอง ลูก ฯลฯ) และไม่ลึกซึ้ง (เป็นความรักเสมอสัตว์ทั่วไป ไม่ประเสริฐ ไม่แปลก ไม่พิเศษ เป็นโลกีย์ทั่วไป)
ทุกคนควรจะเป็นโสดจึงจะมีความสุขนั้นหรือ?
ถาม : ทุกคนควรจะเป็นโสดจึงจะมีความสุขนั้นหรือ?
ตอบ : ความโสดเป็นสภาพที่มีภาระผูกพันน้อย จริง ๆ แล้วเป็นสภาพที่สบายที่สุด ดีที่สุด แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงสภาพนั้นได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ใครที่เขาปฏิบัติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่าท่านเหล่านั้นเป็นบัณฑิต แต่จะให้ทุกคนในโลกเป็นบัณฑิตมันเป็นไปไม่ได้ มันเจะเป็นได้ก็เฉพาะแต่ผู้มีปัญญาเท่านั้น คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติถึงขั้นนั้น ๆ ถึงจะอยู่เป็นโสดก็จะโดนเฆี่ยนด้วยความกระหายใคร่อยากไปมีคู่ จึงทำให้เป็นทุกข์ สุดท้ายด้วยความอยากก็ต้องไปแส่หามาเสพ ดังนั้นการจะตอบว่าทุกคนควรจะเป็นโสดจึงจะมีความสุขนั้นก็ตอบได้ทั้งใช่และไม่ใช่ ในมุมที่ตอบว่าใช่คือ สุดท้ายทุกคนก็จะปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ในชาติใดชาติหนึ่ง เมื่อเขามีปัญญา เขาจะปฏิบัติตนไปสู่ความเป็นโสดเอง แต่ไม่ใช่พร้อมกันทุกคน ส่วนที่ไม่ใช่ก็คือ คนที่ยังมีความอยากมาก ๆ ให้เขาอยู่เป็นโสด เขาก็เป็นทุกข์เพราะความอยาก ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้