รักไม่มีเงื่อนไข
รักไม่มีเงื่อนไข
นิยามของความรักนั้นมีมากมายตามแต่ใจของใครจะปั้นแต่งขึ้นมา และนิยามที่ว่า รักแท้นั้นไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ ก็เป็นนิยามหนึ่งที่มีความหมายลึกซึ้งมาก
ในมุมมองของคู่รัก คำว่า “รักไม่มีเงื่อนไข” นั้นดูเหมือนการเฝ้าดูแลเอาใจใส่ ยอมอดทนเสียสละ หวังดีให้กับคู่รักของตนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งก็ถือว่าดีแล้วในเบื้องต้น
แต่คำว่า “รักไม่มีเงื่อนไข” แท้จริงแล้วยังมีนัยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นซ่อนอยู่ นั่นคือการรักโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลย ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นคู่รัก ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นคนรู้จัก ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นมิตรหรือศัตรู ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนเสียด้วยซ้ำ จะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือต้นไม้ แม่น้ำ อากาศ ก็สามารถรักได้หมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆมากั้นขอบเขตของความเมตตาได้
ดังนั้นรักที่ไม่มีเงื่อนไขจึงมีทั้งความลึกและกว้าง ความลึกนั้นคือลึกซึ้งในเนื้อหาสาระ ส่วนความกว้างคือขอบเขตของรักที่กระจายออกไปโดยไม่มีกำแพงของความเห็นแก่ตัวใดๆมากั้นไว้
ถ้าเราสามารถรักได้แบบไม่มีเงื่อนไขได้จริง เราจะไม่ผูกใครไว้กับเรา เราจะไม่เจาะจงว่าจะรักใคร เราจะไม่สร้างเหตุให้เราได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะไม่ไปยึดมั่นสิ่งใดๆทั้งปวงในโลกเลย
การที่รักนั้นยังมีอยู่แค่ในคู่รัก จึงเป็นความรักที่คับแคบ เห็นแก่ตัว สร้างเงื่อนไขว่าจะรักแค่สิ่งที่ตนชอบใจเท่านั้น จะรักแต่คนที่สนองกิเลสให้ตนได้เท่านั้น จะรักแต่คนที่มีประโยชน์สร้างความสุขให้ชีวิตตนเท่านั้น
เมื่อรักนั้นถูกกำหนดกรอบด้วยตัวบุคคล วัตถุ สิ่งของ ความเชื่อ สังคม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ รักนั้นจึงได้ชื่อว่ายังมีเงื่อนไขอยู่นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
27.4.2558
เส้นบางๆของที่ขีดกั้นความหลงผิด
วันนี้ไปร้านหนังสือ เห็นหนังสือศาสนาพุทธกับหนังสือประเภทดูดวง อภินิหาร อำนาจวิเศษ ของขลัง ฯลฯ วางอยู่ติดกัน และนึกได้ว่าพวกมันมักจะถูกวางไว้ติดกันเสมอ เรียกว่ากลืนไปด้วยกันเลยก็ว่าได้
ในความจริงแล้ว พุทธไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย เรียกว่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำ แต่ความจริงในปัจจุบันกลับถูกปะปนจนเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียได้
เส้นที่แบ่งคนที่ถูกตรงกับคนที่หลงผิดอยู่ตรงไหน?
ขีดของคนที่รู้แจ้งกับคนที่หลงมัวเมาตัดกันตรงไหน?
โลกุตระกับโลกียะแบ่งกันด้วยฐานะอย่างไร?
สาระแท้กับสิ่งไร้สาระแบ่งแยกด้วยอะไร?
มาถึงยุคนี้ก็… ตัวใครตัวมันแล้วกัน…
…ศึกษาเพื่อเอาตัวรอดกันไป
การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา
สรุปขั้นตอนปฏิบัติธรรมแบบรวบรัด การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา
สรุปหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนที่สั้นและรวบรัดนั่นคือการทำลายกามด้วยอัตตา และทำลายอัตตาด้วยอุเบกขาตามลำดับ ด้วยหลักใหญ่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายกิเลสในเรื่องนั้นๆได้สิ้นเกลี้ยง
ในตอนแรกเราก็มักจะติดกามกันอยู่ คือการที่ยังไปเสพสุขลวงที่เกิดจากกิเลสยังเป็นความชั่วและเป็นบาปที่หยาบอยู่ และการจะออกจากสุขลวงเหล่านั้นจะต้องใช้อัตตาคือความยึดดีเข้ามาช่วยทำลายกาม เรียกว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงจะไม่ไปเสพสิ่งที่ชั่ว ต้องติดดีขนาดที่ว่าเว้นขาดจากการเสพกามทั้งทางกาย วาจา ใจ คือใช้อัตตาทำลายกามให้สิ้นเกลี้ยงไปก่อนเลย
ทีนี้พอออกจากกามได้ก็จะเหลืออัตตาไว้ กลายเป็นคนติดดี ยึดดี ถือดี คือชั่วไม่ทำแล้ว ทำแต่ดี แต่ก็ยังมีความยึดดีที่เคยใช้ออกจากชั่วนั้นเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ที่ทรมานตนและทำร้ายผู้อื่นอยู่ ดังนั้นเมื่อออกจากกามได้เด็ดขาดแล้ว จึงต้องใช้อุเบกขา หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ปล่อยวางตัวตนเสียก็จะสามารถทำลายอัตตาได้
เมื่อไม่มีทั้งกามและอัตตา ก็จะถือว่าจบกิจในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องๆไป เรื่องไหนทำได้ถึงที่สุดก็คือจบ เช่นกินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียวได้โดยไม่มีกามและอัตตาก็ถือว่าจบในเรื่องนั้นๆไป
นรกของกาม
กามนั้นเป็นสิ่งที่มีภัยมาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละกามเสียก่อน จนกระทั่งให้เว้นขาดจากกามไปเลย กามนั้นส่งผลทั้งกาย วาจา ใจ แม้ว่าเราจะหักห้ามร่างกายไม่ให้ไปเสพกามได้แล้ว แต่ถ้าความรู้สึกลึกๆมันยังสุขอยู่ ใจมันยังอยากเสพอยู่ ก็เรียกได้ว่ายังไม่พ้นจากพลังของกาม ซึ่งกามในระดับของใจนั้นฝังลึกติดแน่น สามารถวัดได้คร่าวๆ จากความรู้สึกยินดี เราเมื่อได้เสพหรือเห็นผู้อื่นเสพกามนั้นๆแล้วเกิดอาการอยากบ้าง เป็นสุขบ้าง อยากเสพอีกบ้าง
ความยากของอัตตา
กามนั้นเป็นเรื่องหยาบที่ยังเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ จึงสามารถกำจัดได้ไม่ยากนัก แต่อัตตานั้นเป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก ล้างได้ยาก การจะล้างอัตตาโดยไม่ศึกษาธรรมะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงจะติดอัตตาอยู่ก็อาจจะจับอาการของตัวเองไม่ได้ง่ายๆ เพราะมันมีความลึก ความละเอียด ความซับซ้อนอยู่มาก นี้เองคือความยากของอัตตา
ความหลงผิดในอนัตตา
การลัดขั้นตอนไม่เป็นไปตามลำดับนั้น จะทำให้เกิดความหลงผิด และจมหนักยิ่งกว่าเดิม เช่นเรายังติดกามอยู่ แต่เราก็ดันไปพิจารณาอุเบกขา เจอของอร่อยก็พิจารณา “ไม่ใช่ตัวเราของเรา, อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, อย่ามีตัวตน,ฯลฯ” ว่าแล้วก็ไปกินของอร่อยอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเสพกามอยู่นั่นเอง เป็นสภาพอนัตตาหลอกๆที่จิตปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพกามเท่านั้น กลายเป็นทิฏฐิเช่นว่า เสพสุขจากกามอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น …ซึ่งมันก็เหมือนคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย แถมยังมีกรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิสะสมไว้เป็นทุนให้ต้องใช้วิบากในภายภาคหน้าอีก
อุเบกขาธรรมะ
การหลงผิดแบบแย่สุดแย่เข้าไปอีกคือการไม่ได้คิดจะปฏิบัติอะไรเลย กามก็ไม่ล้าง อัตตาก็ไม่ล้าง แต่ใช้การอุเบกขาให้ดูเหมือนเป็นผู้มีอนัตตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง คือมองไปว่าการปฏิบัติธรรมก็มีตัวตน จึงทำตนให้ไม่ต้องมีตัวตนตั้งแต่แรก อุเบกขาการปฏิบัติธรรมทั้งหมดไปเลย ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น(แบบคิดไปเอง) ทีนี้พอปล่อยวางธรรมะ ทั้งที่ยังมีกิเลสหนา มันก็ไปนรกอย่างเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้วอุเบกขามันมีเอาไว้จบในตอนท้าย เป็นตัวจบของกิเลส ไม่ใช่ตัวเริ่ม ใครเอาอุเบกขามาทำตั้งแต่เริ่มจะไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นอนัตตาแบบคิดไปเอง เรียกว่าเป็นปัญญาแบบเฉโก คือมีความฉลาดที่พาไปในทางฉิบหาย
– – – – – – – – – – – – – – –
30.4.2558
วิธีเรียนรู้ชีวิต
วิธีเรียนรู้ชีวิตมีสองวิธีกว้างๆ
- คือเรียนรู้จากผู้รู้และประสบการณ์ของผู้อื่น
- คือเรียนรู้ด้วยตัวเอง
คือว่าเรียนรู้นั้นหมายถึงการเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาในใจอย่างแยบคายให้ถึง เหตุปัจจัยที่เกิดผล หรือโยนิโสมนสิการ ดังนั้นไม่ว่าจะวิธีไหน หากไม่เกิดโยนิโสมนสิการ ก็ไม่เกิดการเรียนรู้
1.เรียนรู้จากผู้อื่น
เป็นวิธีเรียนรู้ที่ได้ผลไวที่สุด และเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าเป็นทางที่ตรงที่สุดที่พาพ้นทุกข์ คือต้องเรียนรู้จากผู้รู้สัจธรรมจึงจะพาชีวิตไปสู่ความเจริญ
เมื่อเราเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นแล้วนำมาไตร่ตรองหรือปฏิบัติตาม ย่อมจะได้ผลที่ใกล้เคียง ดังเช่นการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค ก็ย่อมให้ผลไปในทิศทางที่เจริญ ไม่หลงทาง
2.เรียนรู้ด้วยตนเอง
เป็นวิธีเรียนรู้อีกทางที่ได้ผลช้า ถึงช้ามาก ด้วยความไม่รู้และความหลงผิดซึ่งเป็นพื้นฐานของเราแต่ละคน ทำให้ชีวิตเรียนรู้ไปในทางที่ผิดอยู่เสมอ ซึ่งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นการเรียนรู้ด้วยตนเองนี้ส่วนมากเกิดจากอัตตา คือยึดว่าฉันทำได้ ฉันรู้เองได้ ฉันไม่ต้องพึ่งใคร ฉันไม่ต้องมีครู ฉันไม่ต้องมีศาสนา
จึงต้องไปลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเรียนรู้ที่ทำได้ แต่ไม่ดี เพราะสุขน้อย ทุกข์มาก