มังสวิรัติ การกินมื้อเดียว

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

September 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,729 views 1

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

ในบทความนี้ เราจะมากล่าวถึงหิริโอตตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ในมุมมังสวิรัติกันว่าจะเป็นอย่างไร…

เป็นเหตุการณ์เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๖ ในงานรวมญาติครั้งหนึ่ง เมื่อเราตั้งใจที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็จะพยายามบังคับให้กาย วาจา ใจ ของเรานั้นเป็นไปในทางที่เราตั้งไว้ ด้วยกำลังสติและความตั้งมั่นเท่าที่เราพอมี ในขณะนั้น

ในตอนนั้นก็ถือว่าตัวเองนั้นลดความอยากได้ดีพอประมาณแล้ว สามารถกินผักกลางวงเนื้อสัตว์ ที่มีเนื้อย่าง มีปูนึ่ง มีกุ้งเผา มีปลาย่าง ได้สบายๆโดยไม่เกิดความอยากจนกลับไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ตรงนี้เราประมาณไว้ดีแล้วว่าเราไหว ถ้าเป็นช่วงแรกๆ เราอาจจะไม่ไหวก็แยกกันกินให้อิ่มไปก่อน หรืออยู่ห่างเข้าไว้ เพราะเห็นเข้านานๆ ได้กลิ่นที่ลอยมา ก็อาจจะหลงกลับไปกินได้

ทีนี้เราก็เดินไปตักขนมจีนที่ญาติทำมา เป็นขนมจีนน้ำยาทั่วไป เราก็เห็นว่ามีลูกชิ้น แต่เราไม่ตักเอาลูกชิ้นนะ เราเอาแต่น้ำยา พอตักขึ้นมาใส่จานราดลงบนเส้นขนมจีน น้าก็ทักว่า “กินได้หรอ มันมีปลา” !! เราก็หยุดในทันที ยืนนิ่งๆถือจานขนมจีนที่ราดน้ำยามาแล้ว ตอนนั้นตอบน้าไปในความหมายประมาณว่า “ กินไปก่อน ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น” แต่จริงๆ คือตอนตักก็ไม่ได้นึกถึงเนื้อปลาในน้ำยานั้นเลย อาจจะเพราะมันไม่เหลือรูปของปลาแล้วก็ได้ อีกอย่างเราก็ไม่ใช่คนทำอาหารก็เลยไม่รู้ สรุปคือไม่รู้จริงๆไม่ได้นึกจริงๆว่ามีเนื้อปลา

หิริ คือความละอายต่อบาป ในตอนที่ถูกน้าทัก ก็เกิดความละอายต่อบาป รู้สึกไม่ดี แต่ก็ตักมาแล้ว จะเอาไปคืนก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็เลยกินไป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอร่อยอะไร เพราะยังมีความรู้สึกผิดอยู่ในใจ ว่าไม่น่าเลย ไม่น่าเลยเรา พลาดไปแล้ว

โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ในตอนนั้นผมไม่ได้มีสภาวะของโอตตัปปะ ถ้าเป็นคนที่มีภาวะถึงขั้นโอตตัปปะก็จะหาวิธีที่จะไม่กินขนมจีนจานนั้นได้ แต่โอตตัปปะของผมเกิดหลังจากนั้น ขนมจีนน้ำยาจานนั้นเป็นจานสุดท้ายนับตั้งแต่วันนั้น และขนมจีนน้ำยาทุกจานต่อจากนี้ ถ้าผมรู้สึกยังไม่แน่ใจ มีความลังเลสงสัยว่าขนมจีนน้ำยาที่อยู่ตรงหน้านั้นทำจากเนื้อสัตว์หรือไม่ ผมก็จะไม่กินขนมจีนน้ำยาจานนั้นอย่างแน่นอน

หลังจากทีได้ทำพลาดไป คือพลาดไปกินน้ำยาที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบโดยไม่รู้ ก็ไม่ได้รู้สึกดี หรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่กลับทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นว่าอาหารนี้มีปลา ทำให้เราได้คิดว่าครั้งหน้าเราจะปฏิเสธอย่างไร ปัญญานั้นจะเกิดตรงนี้ เกิดเพราะเราเรียนรู้ที่จะไม่ตามใจกิเลส หาทางออกที่ดีกว่าที่เราจะไปเสริมกิเลส

จะเห็นได้ว่าความเจริญหรือปัญญานั้น เกิดจากการที่เราตั้งศีล มีศีล คือตั้งใจไว้ว่าจะละเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ประกอบด้วยสัตว์ ลดเนื้อกินผัก ก็นี่เป็นศีล เป็นตบะที่ผมตั้งไว้ ประกอบด้วยสติและสมาธิที่จะพยายามคงสภาพของการสำรวม ตา หู ลิ้น จมูก ปาก กาย ใจ เอาไว้ ไม่ให้กลับเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อีก เมื่อเราตั้งมั่นในศีลและสมาธิอย่างมีปัญญารู้ว่าการตั้งมั่นในศีลนั้นจะมีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร เมื่อถึงวันหนึ่งปัญญาที่เคยเป็นมรรค(การตั้งข้อสังเกต ข้อปฏิบัติ) จะเจริญเป็นปัญญาที่เป็นผล( ข้อสรุป ความเจริญที่ได้)

คือได้ผลในเรื่องนั้นๆ เกิดปัญญาในขนมจีนน้ำยา จบกิเลสเรื่องขนมจีนน้ำยาเพราะรู้แจ้งชัดแล้วว่ามีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบหลักในน้ำยา ก็ถือว่าได้ปัญญามาอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนรสอร่อยในขนมจีนน้ำยา หรือความชอบในขนมจีนนั้นเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งซึ่งคล้ายๆกัน ก็ต้องไปตั้งศีล ตั้งตบะ จับกิเลสมาฆ่าล้างกันอีกที

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเราได้ประกาศศีล ตบะ หรือความตั้งใจที่จะเลิกเนื้อสัตว์ไปแล้ว ผู้หวังดีรอบข้างก็จะช่วยแนะ ทัก ตรวจสอบเรา ว่าเรายังปฏิบัติดีดังที่หมายมั่นอยู่หรือไม่ ผู้หวังดีหรือกัลยาณมิตรเหล่านี้เอง คือผู้ที่คอยชี้ขุมทรัพย์ ชี้จุดบกพร่องในตัวเราให้เราเห็น ดังนั้นการปฏิบัติไปสู่การลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ ควรจะมีมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยกันแนะ ติ ชม เพื่อไปสู่ความเจริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

August 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,897 views 0

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? จะเรียกว่าการถือศีลได้อย่างไร? แค่เมตตาสัตว์ละเว้นสัตว์ก็สามารถกินมังสวิรัติได้แล้วไม่ใช่หรือ?

ความเมตตา…

การกินมังสวิรัติไม่ได้เป็นเรื่องของความเมตตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการปฏิบัติเพื่อ ลด ละ เลิก กิเลสได้อีกด้วย และในกระบวนการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์หรือล้างกิเลสนั้นจำเป็นต้องนำความเมตตามาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้นการมุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสไม่ใช่ว่าไม่เมตตา ไม่รักสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่ในความเป็นจริงคือยิ่งต้องเมตตาให้มาก เมตตาทั้งสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ เมตตากับกับทุกชีวิตกันเลยทีเดียว

ศีลมังสวิรัติ…

แล้วมังสวิรัติจะเรียกว่าศีลได้อย่างไร มีหลายคนที่ไม่ได้คิดว่าการกินมังสวิรัติคือศีล มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ศีลคือการละเว้นจากสิ่งที่เป็นภัย การตั้งศีลกินมังสวิรัติ คือ เว้นจากภัยที่จะเกิดจากการกินเนื้อเช่น เรื่องสุขภาพ ,วิบากกรรมที่ไปมีส่วนร่วมในการฆ่า ,ความทุกข์จากการที่ไม่ได้เสพเนื้อสัตว์สมใจ ดังนั้นการตั้งศีลกินมังสวิรัติ ก็เพื่อการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยเหล่านี้นั่นเอง

ถ้าจะบอกว่าไม่มีในศีลที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เรามาลองดูศีลข้อ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี คือเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้ว่าเราจะไม่ได้ฆ่าสัตว์โดยตรง แต่การกินเนื้อสัตว์ของเราก็ยังมีส่วนไปตัดชีวิต คือทำให้ชีวิตสัตว์อื่นตกร่วงอยู่นั่นเอง ถ้าเราไม่เสพเนื้อสัตว์มันก็ยังไม่ตาย การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเป็นการผิดศีลข้อ ๑ ในขั้นละเอียดขึ้นมามากกว่าการยึดถือปฏิบัติตามความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นการปฏิบัติอธิศีล คือการขยับฐานของการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยให้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ปลาเป็นในตู้ที่ร้านอาหาร ทางร้านแนะนำเมนูปลา ปลาสด ปลาอร่อย เราก็สั่งปลามากิน เราไม่ได้ฆ่านะ แต่เราไปสั่งให้เขาไปฆ่ามาให้เรา ผิดเต็มประตูอยู่แล้ว ถ้าไม่สั่งปลามากิน ปลามันก็ยังมีชีวิตได้ต่อไปอีกตามกรรมของมัน ถ้ายกตัวอย่างไปถึงปลาที่ตายมาแล้ว ชำแหละมาแล้ว นั่นเขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น เขาก็ฆ่ามาตามอุปสงค์ อุปทาน มีคนซื้อเขาก็ฆ่ามาขายสิ ถ้าไม่มีคนซื้อ เขาก็ไม่รู้จะฆ่าให้เมื่อยทำไม

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม…

คงเป็นประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุด คือมังสวิรัติมันเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? ภาพของการปฏิบัติธรรมที่มีในใจของหลายๆคนคือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่จะเข้าใจ

อย่างที่ยกตัวอย่างในเรื่องของศีลมังสวิรัติ ศีลนี้แหละจะเป็นตัวทำให้เห็นกิเลส เป็นตัวทำให้เห็นผีในตัวเรา ลองตั้งศีลนี้ขึ้นมาดูจะพบว่ากิเลสจะดิ้น ความอยากกินจะชัดเจน กิเลสจะให้เหตุผลมากมายในการทำลายการถือศีลนี้ เช่น…ไปกินเนื้อสัตว์สิไม่มีใครรู้หรอก,เกิดมาครั้งเดียวกินให้เต็มที่,เขาเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา,เรากินสัตว์เขาก็จะได้บุญนะ,เรากินเขาก็ยินดีนะ,ร่างกายเราต้องการสารอาหารนะ ….นี่ก็เป็นตัวอย่างคำสั่งของกิเลส เมื่อเห็นกิเลสดังนี้แล้ว เราก็จะต้องพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอย่างตั้งมั่น ไม่ลดละ เป็นการปฏิบัติไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

ทั้งหมดนี้เพื่อที่เราจะละกิเลสในสามภพ คือ ๑. กามภพ คือสภาวะที่ยังเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อยู่ , ๒. รูปภพ คือสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังมีความอยากที่ชัดเจนแต่อดกลั้นไว้ได้ และ ๓. อรูปภพ คือสภาวะที่ไม่มีความอยากให้เห็นเป็นรูปร่างแล้วแต่จะเหลือแค่อาการที่เบาบาง อารมณ์ขุ่นมัว ไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ฯลฯ ถ้าสามารถละกิเลสจนข้ามสามภพนี้ได้ก็คือว่าประสบความสำเร็จ

ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะเห็นได้ว่าการกินมังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน เพราะการลด ละ เลิกการมีกิเลสนั้นๆ ทำให้เข้าใกล้ความสุขแท้ ดังในบทสวดมนต์ที่เราสวดมนต์กันอยู่บ่อยๆ “อะระหะโต : เป็นผู้ไกลจากกิเลส” ถ้าเราไกลจากกิเลสขึ้นอีกนิด ก็เข้าใกล้ความสุขแท้ขึ้นอีกหน่อย ถ้าไม่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมแล้วจะเรียกว่าอะไร…

– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติสุขจริงหรือ

August 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,609 views 0

มังสวิรัติสุขจริงหรือ

มังสวิรัติสุขจริงหรือ?

คงจะมีหลายคนสงสัยว่า การกินมังสวิรัติจะทำให้มีความสุขจริงหรือ? ชีวิตจะดีขึ้น สะดวกขึ้น สบายขึ้น จริงหรือ ….ภาพที่เห็นคนกินมังสวิรัติอาจจะต่างกันออกไปตามแต่ประสบการณ์ที่แต่ละคนเจอมา

การเริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้นมีหลายสาเหตุ บ้างก็ว่าเมตตาสัตว์ บ้างก็ว่าสุขภาพ บ้างก็ว่าตามพระ พระท่านให้ถือศีลกินเจก็ตามท่านไป แต่สำหรับผม เหตุแห่งการกินมังสวิรัตินั้นมีอย่างเดียวคือ การล้างกิเลส หรือทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ใครกันที่จะสามารถรู้ได้ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เราเกิดทุกข์ทรมานได้มากเท่าไร? หากไม่ได้ลองถือศีลตั้งตบะกินมังสวิรัติสักครั้งในชีวิต เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าเรามีกิเลสมากเท่าไหร่ และไม่มีทางรู้ว่าการขาดหรือการไม่ได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ทำให้เราทุกข์มากเท่าไหร่ นี่แหละที่เขาว่า … “สิ่งนั้นสำคัญกับเราแค่ไหน จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราสูญเสียมันไป” ที่มันสำคัญเพราะกิเลสมันยึดเอาไว้นั่นเอง

แต่การตั้งตบะกินมังสวิรัติไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เป็นเพียงการทดลองที่จะพราก ห่าง ถอยออกจากเนื้อสัตว์ที่เรายึดติด เพื่อให้เราเห็นกิเลสของเราชัดขึ้น ต่อจากนั้นเราจึงใช้การพิจารณาโทษของการติดเนื้อสัตว์ เช่น การฆ่าสัตว์ก่อให้เกิดวิบากบาป กินแล้วเสียสุขภาพเป็นเหตุแห่งมะเร็ง กินแล้วได้บุญเจริญเมตตา อะไรก็ว่ากันไปตามแต่จะคิดได้ ทำด้วยใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อดทนไม่ไปกินเท่าที่จะทำได้ทำไปเรื่อยๆ พลาดไปกินก็กลับมาทำใหม่

แล้วกินมังสวิรัติมีความสุขจริงไหม?

เราอาจจะเคยเห็นคนกินมังสวิรัติแบบกดดัน เครียด ดูใช้ชีวิตลำบาก ยุ่งยาก ไม่มีความสุข กินแล้วเพี้ยน เฮี้ยนกลายเป็นโรคเกลียดเนื้อสัตว์ รักผัก พาลไปเกลียดคนที่ยังกินเนื้อ จนเราไม่อยากจะเข้าใกล้เพราะอยู่ใกล้ทีไรโดนด่าทุกที….อันนี้ต้องเข้าใจว่าเขากำลังพยายามอยู่ เขายังทำไม่สำเร็จ เพราะมีกิเลสหลายตัวต้องฝ่าฟันไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็คือกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุข

หรือเราอาจจะเข้าใจไปเองว่าคนที่กินมังสวิรัติเขาสร้างความลำบากให้ตัวเอง เพราะเรามองจากตัวเราเองที่ยังชอบกินเนื้อถ้าไม่ได้กินเนื้อสักสัปดาห์หนึ่งคงขาดใจตายแน่ๆ ก็เลยมองว่าคนกินมังสวิรัติเขาลำบาก อดทน อดกลั้น อะไรก็ว่ากันไป

จะขอเล่ากันเลยว่าเมื่อเราสามารถเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติได้แล้ว เราจะมีความเข้าใจประมาณนี้ คือ จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ มีความเบิกบานยินดีเต็มใจพอใจที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ความอยากในการกินเนื้อสัตว์จะหมดไป มีความสุขแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สามารถกินมังสวิรัติอย่างต่อเนื่องได้ยาวนาน มีปัญญารู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ทำให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียอย่างไรบ้าง เบื่อที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์ เพราะเห็นโทษของมัน และรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเราตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ขาดแล้ว ไม่ว่าเนื้อสัตว์ไหนๆก็ไม่มีทางทำให้เราเกิดความอยากได้อีก พ้นจากความทุกข์อันเกิดจากความอยากนั้นๆแล้ว

ทีนี้ผลในการดำเนินชีวิตก็จะเริ่มปรากฏ เราไม่ต้องไปเสียเงินเสียเวลาไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาว่าอร่อยที่ไหนอีก ไม่ต้องทุกข์ใจเมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์ที่ไม่ชอบ สุขภาพก็ดีขึ้น โดยเฉพาะการขับถ่าย ในเมื่อการขับถ่ายของเสียเป็นไปอย่างปกติ ร่างกายก็จะปกติ เมื่อร่างกายปกติ คือไม่ป่วย ก็จะมีความปกติสุข คือความสุขที่ไม่ต้องป่วย ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปกิน มันจะกลับหัวกับที่เราเคยเข้าใจเมื่อก่อนไปเลย

เห็นไหมว่าเมื่อเราทำศีลหรือตั้งตบะนี้จนบรรลุผลแล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เป็นความสุขที่เห็นได้ แต่ก็อธิบายได้ยาก ต้องมาลองกันเองว่า “ความสุขแม้ไม่ได้เสพ” นี่มันเป็นอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะให้คิดเอาเอง จินตนาการเอาเองก็คงจะเป็นไปไม่ได้เลย ต้องขยันพากเพียรปฏิบัติจนถึงผลเอง

– – – – – – – – – – – – – – –
7.8.2557
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร

August 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 26,204 views 4

กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร

กินมื้อเดียวแล้วเป็นอย่างไร?

หลายคนคงจะสงสัยว่ากินมื้อเดียวนั้นดีอย่างไร? กินแล้วเป็นอย่างไร? จะมีแรงไหม? จะเป็นโรคกระเพาะไหม? จะขาดสารอาหารจนป่วยไหม?

ในโลกปัจจุบัน การกินอาหารมื้อเดียวนั้นดูจะขัดกับความรู้ที่เราได้เรียนหรือใช้ชีวิตมา ซึ่งส่วนใหญ่เราก็กินสามมื้อกัน แล้วเราก็เชื่อว่ามันดี อันนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อะไรก็ว่ากันไป แต่เมื่อ 2600 กว่าปีก่อนพระพุทธเจ้าท่านได้บอกไว้ว่า กินมื้อเดียวดีที่สุดในโลก (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก : จุลศีล ข้อ 9 และประโยชน์ของการกินมื้อเดียว ๕ )

รู้ขนาดนี้แล้วมันก็ต้องลองทำตามกันหน่อย!! เพราะมีข้อมูลจากพระไตรปิฎกว่ากินมื้อเดียวจะทำให้ เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง อยู่อย่างผาสุก

เมื่อลองบากบั่น พากเพียร พยายามจนสามารถเข้าใจถึงผลของศีลข้อนี้ได้ ก็พบว่ามันดีอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าจริงๆ ผลที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ น้ำหนักลด มีเวลาเพิ่ม ประหยัด สบายตัว ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือกิเลสก้อนใหญ่ก็ลดลงไปด้วย

สุดท้ายก็จะรู้สึกไม่ลำบากใจที่จะไม่ได้กินหลายมื้อ ยินดีเต็มใจที่จะได้กินมื้อเดียวอย่างมีความสุข ถึงจะมีคนจัดมาให้ก็จะยินดีที่จะไม่กิน ความอยากกินหลายมื้อจะหายไป มีความตั้งมั่น มั่นคงว่ามื้อเดียวนี่แหละดีที่สุดในโลก กินตลอดชีวิตกันไปเลย รู้ได้ตามจริงเลยว่ากินหลายมื้อนี่มันลำบากจริงๆ รู้สึกเบื่อ ลำบาก ขยาด…ที่จะต้องไปกินหลายมื้อ และรู้ได้เองว่าเรานี่แหละพ้นความลำบากที่จะต้องกินหลายมื้ออย่างไม่มีวันที่จะกลับไปกินแบบนั้นอีกแล้ว

อันนี้ก็เป็นผลจากการพากเพียรปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ถ้าเราทำมากก็สำเร็จไว ทำน้อยก็ช้าหน่อย บางคนไม่ทำก็ไม่ได้เลย แล้วก็มานั่งสงสัยว่าคนกินมื้อเดียวอยู่ได้อย่างไร? คนกินมื้อเดียวเขาไม่หิวหรอ? เขาจะมีแรงหรอ?อันนี้ก็ตอบให้เลยว่าดีกว่ากินสามมื้อทุกอย่าง

แต่บางคนทำก็ผิดๆถูกๆ ไม่มาไม่ไป เดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนั้น กินมื้อเดียวได้แต่ก็ยังอยากกินหลายมื้ออยู่ เห็นเขากินก็ยังอยากกินอยู่ ไม่มีความสุข ได้แต่กดข่มความรู้สึกไว้ หรือไม่ก็ชอบหาข้ออ้างให้ตัวเองได้กินหลายมื้อก็ว่ากันไป ถือศีลบ้างไม่ถือบ้างตามเหตุปัจจัยของสังคมและโลก ถ้าเกิดอาการนี้ก็คงต้องหาที่ปรึกษา หาผู้รู้ หาโค้ชกันหน่อย เพราะการปฏิบัติที่ไม่มีผู้รู้นี่ก็เหมือนคนไปเที่ยวป่าไม่มีคนนำทาง หลงทางกันเข้ารกเข้าพง เสียเวลาเปล่าๆแต่ใครชอบชมนกชมไม้ก็ไม่ว่ากัน

แต่ก็อย่างว่า… บางคนเขาไม่รีบก็ไม่เป็นไร สบายๆกันไป แต่ก็ต้องบอกตามจริงว่าความสุขที่มากกว่ากินสามมื้อก็คือกินมื้อเดียวนี่แหละ ดีที่สุดในโลก

– – – – – – – – – – – – – – –
29.7.2557
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์