ข้อคิด

คู่รักไม่ยั่งยืน เป็นเพื่อนสิยาวนาน

July 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,618 views 0

คู่รักไม่ยั่งยืน เป็นเพื่อนสิยาวนาน

คู่รักไม่ยั่งยืน เป็นเพื่อนสิยาวนาน

….

แม้ว่าเราจะรู้ความจริงดังนี้กันแล้ว

แต่เราก็มักจะแสวงหาสิ่งที่ไม่ยั่งยืน

เมื่อเจอกับคนที่ถูกอกถูกใจเมื่อไหร่

ก็มักจะจับจ้องเอามาเป็นคู่ครองให้ได้

ไม่สนใจว่าจะยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน

ขอเพียงให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนชอบใจก็พอ

….

เรามักจะแบ่งว่าอันนี้คู่รัก อันนี้เพื่อน

จัดสรรปันส่วนให้สองสถานะนี้ไม่มาปนกัน

กันขอบเขตพิเศษไว้สำหรับคู่รักเท่านั้น

ส่วนเพื่อนก็แค่เพียงคบหากันทั่วไป

เลือกเอาสิ่งที่ไม่ยั่งยืนมาเป็นหลัก

แต่กลับปล่อยสิ่งที่ยาวนานเป็นรอง

เพื่อที่จะได้รับความชอบธรรมในการมีคู่

คิดเอาเองว่าเรื่องดีๆในชีวิตทำได้เฉพาะกับคู่

ทั้งที่จริงแล้วความต่างก็คงมีแค่เรื่องสมสู่

กับการสร้างครอบครัวมีลูกมีเต้าเท่านั้น

เมื่ออยากเสพสิ่งเหล่านั้น จึงหาประโยชน์ในการมีคู่

ละทิ้งประโยชน์ของการเป็นเพื่อน หรือลดความสำคัญลง

….

ผู้ที่กำลังออกเดินทางและมีทิศทางสู่การพ้นทุกข์

ความเป็นเพื่อนกับคู่รักจะมีสภาพที่ไม่ต่างกันนัก

เพราะสามารถใช้เพื่อนแทนคู่รักได้ในหลายๆเรื่อง

โดยที่ไม่ต้องไปคิดเรื่องสมสู่ หรือการมีครอบครัว

แต่ถ้าจะให้เลือกก็จะเลือกรับมาเป็นเพื่อน

ซึ่งมีความยั่งยืน ยาวนานกว่าการเป็นคู่รัก

เพราะเพื่อนสามารถ พากันสร้างกุศลกันได้

โดยที่ไม่ต้องมีบาปใดๆมาปะปนให้เสียเวลา

ต่างจากคู่รัก ที่ต้องคอยบำเรอกิเลสกันและกัน

สร้างบาป สร้างอกุศลให้แก่กันและกัน

เป็นตัวขัดขวางการพ้นทุกข์ของกันและกัน

….

เมื่อเห็นจริงดังนั้นเราก็ควรพิจารณาตามความจริง

ให้เข้าถึงคุณประโยชน์ที่แท้จริงของเพื่อน

ให้รู้ถึงโทษภัยของการครองคู่เป็นครอบครัว

ให้ชัดเจนว่าสิ่งใดไม่ยั่งยืน สิ่งใดที่ยาวนานกว่า

ให้ปราศจากอคติ ลำเอียงใดๆในสถานะเหล่านั้น

ให้เว้นขาดจากสิ่งที่เป็นภัย เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์

เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น ชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

25.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่บารมี

July 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,248 views 0

คู่บารมี

คู่บารมี

คนที่จะมาเป็นคู่บุญคู่บารมีจริงๆแล้วสังเกตได้ไม่ยาก เพียงแค่ถือศีลตั้งตบะ ปฏิบัติธรรมให้แกร่งกล้า ถ้าเขาคนนั้นเป็นของจริง เขาก็จะตามมาได้เอง

ในกรณีตัวอย่างของพระนางยโสธรา ซึ่งละทิ้งการประดับแต่งตัว เปลี่ยนมานอนพื้นที่แข็ง กินมื้อเดียว เป็นต้น ซึ่งเป็นบารมีเก่าที่ท่านสะสมมามาก

ส่วนใหญ่คนเรามักจะไม่อยากจะถือศีลปฏิบัติธรรมกัน มักจะพากันให้เสื่อมจากศีล พากันไปชั่ว จึงไม่สามารถวัดได้จริงว่าคนที่หมายปองนั้นเป็นคู่บุญคู่บารมีหรือไม่ เพราะโดยมากก็ลากกันลงนรก พากันมัวเมาในกิเลสทั้งหลาย เป็นคู่เวรคู่กรรมกันเสียมากกว่า

ถ้าอยากลองทดสอบกันจริงๆ ก็ให้ถือศีลให้มั่น ตั้งตบะให้สูงเท่าที่จะทำได้ เลิกกินเนื้อสัตว์ กินมื้อเดียว เว้นจากการสมสู่ ไม่รับบุตรและภรรยา(สามี) คือไม่คบหาเป็นแฟนหรือแต่งงานเลยก็ยิ่งดี เป็นศีลระดับสูงที่จะมาคัดว่าคนนั้นของจริงหรือไม่ ถ้าเป็นพวกคู่บาปคู่เวรนี่เจอศีลนิดหน่อยก็หนีแล้ว แต่ถ้าเป็นของจริงเราตั้งใจปฏิบัติธรรมขนาดไหนเขาจะไม่หนี เขาจะตาม เพราะเขาตามมาหลายชาติแล้ว ชาตินี้เขาก็เลยตามได้สบายๆ แถมเขาจะไม่ผูกมัดเราด้วยสิ่งต่างๆ ยอมปล่อยให้เราคงสถานะเช่นนั้น และยังเอื้อให้เราปฏิบัติได้สูงยิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย แต่คู่เวรคู่กรรมนั้นจะตามไม่ไหว เพราะพลังดีจะกั้นคนชั่วให้ออกจากชีวิตหรือไม่ก็จะกลายเป็นมารที่พยายามผูกมัดเราด้วยสถานะของคนคู่ ยั่วยวนเราให้หลงเสพหลงสุข ให้เสื่อมจากศีล เพื่อให้เขาได้เสพสุขจากเรา

จะเห็นได้ว่าคู่บารมีคือผู้ที่เข้ามาทำให้เรามิทิศทางที่เจริญเติบโตขึ้นในทางธรรม ทำให้พ้นจากวิธีของโลกียะ ไปสู่โลกุตระ ในทางกลับกันคู่เวรคู่กรรมจะเข้ามาฉุดไม่ให้เราโตในทางธรรม ทำให้เราหลงวนอยู่กับโลกียะ มัวเมาอยู่กับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ไม่ปล่อยให้เราพ้นจากความหลงเหล่านี้

คู่บารมีจะอยู่ในสภาพของเพื่อน แม้ต่างเพศก็จะเป็นเพียงเพื่อนเท่านั้น ถึงจะพลาดแต่งงานไปแล้วแต่สุดท้ายจะอยู่กันเหมือนเพื่อน เพราะเป็นสถานะที่ดีที่สุดที่จะพากันให้เจริญ

ในละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๑ ได้มีบทพูดว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ทนทุกข์เล่า” หมายถึงการไม่เห็นแก่ประโยชน์เพียงเล็กน้อย ยอมไม่ครองคู่เพื่อให้ประโยชน์ที่มากกว่ากับผู้อื่น แทนที่จะให้เวลากับคนแค่สองคน ก็เอาเวลาไปใส่ใจกับคนอีกมากจะดีกว่า เมื่อเห็นเช่นนี้ ศิษย์พระพุทธเจ้าทุกคนย่อมสละประโยชน์เพียงเล็กน้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า

การไม่ครองคู่ และคงสถานะเป็นเพียงแค่เพื่อน เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน จึงเป็นความเจริญของผู้ที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

25.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,977 views 0

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง

ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี

คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย

การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล

การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ

ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี

ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์

คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี

ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์

ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย

ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว

เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้

ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้

คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี

เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น

และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ

การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น

ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก

ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส

แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น

ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง

การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้

. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

23.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เกิดมาสวย ใช่ว่าดี

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,846 views 1

เกิดมาสวย ใช่ว่าดี

หลงรูปตัวเองก็ทำให้ตนเองเสียเวลา

คนอื่นมาเห็นแล้วหลงรูปก็ทำให้คนอื่นเสียเวลา

ทำให้คนอื่นหลงรูปก็ทำให้คนอื่นเสียเวลา

….

การทำให้ตนเองและผู้อื่นหลงอยู่ในกามคุณเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย เพราะเป็นการทำให้คนหลงมัวเมาอยู่ในสิ่งไร้สาระ ติดอยู่กับเปลือก เสียเวลาในชีวิตเพื่อบำรุงบำเรอกามเหล่านี้

ตนเองหลงในความสวยงามของตัวเองก็ทำให้เสียเงินเสียเวลาไปกับการเฝ้าบำรุงให้ความสวยงามนั้นคงทน หรือให้มีความงามเพิ่มมากขึ้น ไปยึดติดกับสิ่งที่จะต้องเสื่อมสลายไปในวันใดวันหนึ่ง หวังว่ามันจะต้องสวยอยู่อย่างนี้ตลอดไป ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเป็นทุกข์เพราะความแก่และความเสื่อมจากความงามเหล่านั้นได้ขยับเข้ามาใกล้ทุกวันๆ

แม้แต่ความสวยงามของตัวเองยังเป็นภัยต่อผู้อื่น ผู้ที่ได้พบเห็นความงามก็มักจะหลงในรูป เอาไปเฝ้าฝัน พร่ำเพ้อ เกิดความใคร่อยากจะเสพและอยากครอบครองความสวยงามเหล่านั้นมาเป็นของตน ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียเวลา เสียพลังงานไปคิดเรื่องที่ไร้สาระ เช่นคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้ครอบครองความงามนี้ คิดว่าถ้าได้ครอบครองแล้วจะเป็นสุขแบบนั้นแบบนี้ พูดเรื่องที่ไร้สาระ เช่นพูดหยอกล้อ กระเซ้าเย้าแหย่ ยั่วยวน จีบ ป้อนคำหวาน โกหก โอ้อวด ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองความงามนั้น ทำเรื่องที่ไร้สาระ เช่นการพยายามเอาใจ ไปรับไปส่ง ซื้อของไปให้ จนกระทั่งการขอคบหา ขอแต่งงานหรือการสมสู่เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีจิตยินดีในความสวยความงาม หลงในความงามของตนว่าถ้าเรายิ่งงามก็จะยิ่งมีคนสนใจมาก ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์ มีบริวารมาก จึงพยายามปั้นแต่งเสริมความงามให้คนรักคนหลง เพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้อยากมี เป็นการหลอกตนเองและหลอกผู้อื่นไปในเวลาเดียวกัน ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลาไปกับการบำเรอกิเลส ยั่วกิเลส สนองกิเลส ทำให้ห่างไกลความพ้นทุกข์ไปเรื่อยๆเพื่อแลกกับการเสพสุขลวงที่ได้รับชั่วครั้งชั่วคราว

– – – – – – – – – – – – – – –

25.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)